เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ร่วมด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดงานเสวนาสถานการณ์การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศไทย ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวเปิดงานโดยชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการคุกคามต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะรูปแบบใหม่คือการใช้กฎหมายและใช้การฟ้องคดีระงับการแสดงความคิดเห็น หรือมีชื่อที่รู้จักในวงกว้างว่าการฟ้องคดีปิดปาก หรือ การฟ้องคดี SLAPPs เกิดขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้จัดงานในวันนี้ขึ้น เนื่องจากการปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นต้องใช้ความรู้เพียงพอ ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก สนส. จึงจัดทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ความรู้ และหาแนวทางแก้ไข จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการฟ้องคดีปิดปาก เพราะการฟ้องปิดปากคือการหยุดการเคลื่อนไหว ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมาก และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมากในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา งานเสวนานี้ และงานวิจัยคงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน และทำให้ทุกคนตื่นรู้ และทุกคนจะได้เสนอความเห็นว่าจะเดินหน้าปกป้องคนเหล่านี้ได้อย่างไร

สนส. เปิดเนื้อหารายงานวิจัยเกี่ยวกับการฟ้องคดีปิดปาก

บัณฑิต หอมเกษ นำเสนอถึงรายงาน “ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี”

SLAPPs หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation คือการฟ้องคดีเพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ คนเข้าใจมากว่าเป็นการฟ้องเฉพาะคดีในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ในความเป็นจริงแล้วมีข้อหาอื่นด้วย เช่น ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือพ.ร.บ.ชุมนุม หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดเรื่อง SLAPPs มาจากการศึกษาวิจัยของอาจารย์ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้นำไปสู่การมีกฎหมาย Anti-SLAPPs ซึ่งในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีกฎหมาย Anti-SLAPPs แล้ว 32 รัฐ

คดี SLAPPs มีข้อแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ คดี SLAPPs มีแนวคิดเพื่อแปลงข้อพิพาทในเรื่องประเด็นสาธารณะ ไปเป็นข้อโต้แย้งทางกฎหมาย พอเป็นความผิดทางกฎหมาย เรื่องก็จะย้ายสู่พื้นที่ของศาลคือการตัดสินถูกผิดโดยกฎหมาย และจะทำให้ความเสียหายที่เป็นความเสียหายต่อสาธารณะเป็นความเสียหายต่อส่วนตัว ซึ่งคดี SLAPPs ในบริบทของประเทศไทยจะแตกต่างกับของต่างประเทศตรงที่ ในต่างประเทศจะเป็นคดีแพ่ง แต่ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาญา เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท

SLAPPs ไม่ใช่แค่การฟ้องเพื่อดำเนินคดี แต่เป็นการส่งข้อความกับสังคมด้วยว่าอย่ามายุ่งกับประเด็นนี้ หรือแม้กระทั่งการฟ้องโดยรัฐก็เช่นกัน หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา เป็นการสื่อสารกับสังคมว่าอย่ามายุ่งกับเรื่องนี้ ซึ่งระยะยาวจะส่งผลต่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคมด้วย

การดำเนินคดีในลักษณะนี้มีกลไกในการสร้างภาระให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่นการฟ้องในพื้นที่ห่างไกลผู้ต้องหาหรือจำเลย ส่งผลต่อภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงมีการเลื่อนคดีด้วย และจะพบการฟ้องคนเป็นจำนวนมากๆ และการฟ้องคดีอาญาเป็นการสร้างความกดดันมากกว่าคดีแพ่งเนื่องจากมีกระบวนการมากมาย มีกลไกมากมายในการสร้างภาระ เช่นการขอประกันตัว หลักประกัน เป็นต้น

ปัจจุบันมีชั้นไต่สวนมูลฟ้องที่เพิ่มมาตรา 161/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขึ้นมาใหม่ ให้ศาลพิจารณาคำฟ้องและพิจารณายุติคดีได้เลยในชั้นนั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ กลไกเป็นอย่างไรจึงยังไม่รู้ แต่การที่จะ Anti-SLAPPs มันต้องมีกลไกที่สร้างความสมดุล การที่ทิ้งภาระไว้ที่ศาลอย่างเดียว ไม่มีหลักประกันเลยว่าจะรักษาสมดุลของสิทธิของทั้งสองฝั่งได้ ในต่างประเทศมีกลไกมากมาย เช่น ให้ยื่นคำร้อง ให้ศาลไต่สวนอย่างไร ภาระการพิสูจน์ของใครเป็นอย่างไร จะมีความชัดเจนทั้งหมด

ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขการฟ้องคดีปิดปาก

กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาควรยกเลิก ให้มีเฉพาะความผิดทางแพ่งเท่านั้น และเราควรนำแนวคิดเรื่อง Anti-SLAPPs ในต่างประเทศมาพิจารณาด้วย คือ เราควรแก้ทั้งกฎหมายแพ่งและอาญา กฎหมายแพ่งเราควรเพิ่มทั้งเรื่อง กำหนดขอบเขตว่าเราควรฟ้องแค่ไหน และให้คนที่ถูกฟ้องสามารถยื่นคำร้องว่าคดีนี้เป็น SLAPPs เพื่อให้มีการวินิจฉัยและจบคดีโดยเร็ว ภาระการพิสูจน์ต้องกำหนดให้ชัด

SLAPPs เป็นการลดทอนทรัพยากรให้ผู้ที่ถูกฟ้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้นหากศาลตัดสินว่าเป็น คดี SLAPPs มันควรมีการชดเชยเยียวยา รวมถึงการลงโทษผู้ฟ้อง และการที่ให้ศาลสามารถกำหนดโทษอื่นๆได้ด้วย มิฉะนั้นจะต้องฟ้องกลับเอง การฟ้องกลับเองก็ต้องใช้ทนาย ซึ่งยังคงเป็นการสร้างภาระอยู่ดี อีกทั้งยังมีอาจการกำหนดบทบาทอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้ชัดเจนว่า หากเป็นคดี SLAPPs สามารถทำให้คดีจบโดยเร็ว (อ่านรายงานฉบับเต็ม รายงานข้อเสนอแนะการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการมีส่วนร่วมสาะารณะจากการถูกดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ)

กลไกมาตรา 161/สามารถหยุดการฟ้องคดีปิดปากได้จริงหรือไม่?

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า “มีความกังวลเรื่อง มาตรา 161/1 เนื่องจากใช้เฉพาะกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ แต่ถ้าหากว่าราษฎรย์ไปร้องทุกข์ให้อัยการเป็นโจทก์ กรณีนี้ใช้ไม่ได้ และมาตรานี้อยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงมองว่าเป็นเรื่องของดุลพินิจศาลล้วนๆ ในเรื่องของการไต่สวนมูลฟ้องกลไกนี้ใช้ได้แค่ไหน ศาลมักจะมองว่าถ้าต้องวินิจฉัยว่าเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาในคดีเต็มเลยไม่ใช่ชั้นนี้ ซึ่งความตั้งใจของเราที่จะกำจัดคดีประเภทนี้ไปโดยเร็ว อาจจะเป็นไปไม่ได้”

ทนายภาวิณี ชุมศรี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “ในฐานะเป็นทนายความรับช่วยเหลือคดี ส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาญา ก็ตั้งคำถามว่าทำไมคดีไม่ลดลงเลย และจะทำอย่างไรให้คดีลดน้อยลงไป ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการทำงานของเรา ทำอย่างไรที่ให้คนไม่ถูกกลั่นแกล้งโดยใช้คดีความ

กรณีมาตรา 161/1 เห็นว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการปกป้องผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเลย และเห็นด้วยว่ากฎหมายนี้เป็นอำนาจของศาล เพราะเป็นกรณีที่ศาลเห็นเอง ศาลเรียกเอกสารเข้ามาดู และจากประสบการณ์ ไม่มีหรอกคดีที่โจทก์เข้ามาฟ้องเอง ซึ่งก็มักจะผ่านตำรวจ อัยการ ก็จะไม่ผ่านม.161/1 จึงเป็นกลไกที่จับต้องยาก และถ้าดูวรรคสองจะเห็นเจตนาว่าต้องการจะใช้กับคนที่ถูกดำเนินคดีอาญา เป็นคนไม่ดี และเห็นว่าคนที่เป็นผู้ร่างควรจะออกมาให้ความเห็นว่ามีเจตนารมณ์อย่างไร และส่วนเราก็ต้องออกมาผลักดันให้มีการ Anti-SLAPPs ต่อไป มาตรานี้มีแล้วดี เนื่องจากอย่างน้อยก็ได้นับหนึ่ง มีการได้เสนอปัญหา แต่จะทำอย่างไรให้มีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

เป้าหมายของการฟ้องคดีแบบนี้คือการให้หยุดพูด และบอกคนอื่นด้วยว่าอย่าพูด ส่วนเรื่องผลกระทบด้านอื่นไม่ได้สนใจ นอกจากที่เราจะสู้กันในทางคดีแล้ว เราต้องสื่อสารกับสังคมด้วยให้เข้าใจเพื่อให้เห็นว่าการดำเนินคดีในลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์อีกแบบหนึ่ง”

ภายในงานมีผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการเมือง ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นแรงงาน และประเด็นจังหวัดชายแดนใต้ มาร่วมบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง และผลกระทบที่ตนเองได้รับจากการที่ตกเป็นเป้าในการใช้การฟ้องคดีปิดปากเป็นเครื่องมือให้หยุดแสดงความคิดเห็นในประเด็นนั้นๆ

ชลธิชา แจ้งเร็ว จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีช่วงหลังจากที่เกิดการรัฐประหาร ตอนนั้นเป็นนักศึกษา เนื่องจากมีสถานการณ์ทางการเมืองจึงลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร เป็นการยืนยันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน ตอนนั้นกิจกรรมที่แสดงออกจะมีรูปแบบไม่ได้เยอะเพราะเป็นนักศึกษา เช่นการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารทัศนคติของเราในประเด็นทางการเมืองว่าถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และหลังจากนั้นก็ถูกใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม และถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา นอกจากการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ก็มีการจัดเสวนาวิชาการ และการจัดการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ มีการใช้กฎหมายหลายฉบับมาดำเนินคดีกับ เช่น พ.ร.บชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ.จราจรทางบก และพ.ร.บ.การใช้เครื่องขยายเสียง เป็นต้น ทำให้เกิดความวุ่นวาย และทำให้รู้สึกว่าการชุมนุมแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาถูกดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 7 คดี ที่ไม่รวมคดีเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558, มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นความผิดที่โทษค่อนข้างสูง และค่อนข้างน่ากลัว

จากนั้นก็มีคดี ARMY เดินขบวนหน้ากองทัพบก เป็นคดีที่น่าสนใจ เพราะเจ้าหน้าที่พยายามนำกฎหมายทุกฉบับมาใช้กับเรา และคดีใหม่ล่าสุดคือคดีที่ร่วมกับคุณธนาธร เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นการจัดกิจกรรมไม่ยอมรับอำนาจศาลทหาร ชุมนุมหน้าสน.ปทุมวัน ตอนนั้นคุณธนาธร และหลายคนมาให้กำลังใจ ตอนที่โดนก็ตกใจ นึกไม่ออกว่าคดีอะไร เพราะเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นอกจากการถูกดำเนินคดีความ เป้าหมายอีกอย่างคือไม่อยากให้เราไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง

กฤษกร ศิลารักษ์ เคลื่อนไหวกับชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันถูกดำเนินคดีอยู่ 2 คดี คดีแรกเกิดขึ้นในปลายปี 2560 ผู้ว่าอุบลจะเรียกประชุมเพื่อปิดเขื่อนปากมูล เขาไม่เห็นด้วยเพราะน้ำท่วมอยู่ เลยโพสต์ข้อความ จึงถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 กันยายน 2562

คดีที่ 2 นัดสืบพยานวันที่ 24-26 กันยายน 2562 คดีนี้เรียกว่าคดีดอนคำพวง ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 8 ธันวาคม 2559 เขาไปรู้ว่าสำนวนที่ตำรวจกับอัยการร่วมกันทำเอื้อประโยชน์ให้แก่จำเลยในคดีนั้น มีการดึงเอกสารจากสำนวน โดยทำสำนวนให้อ่อน ก่อนวันที่ศาลจะพิพากษา ผมก็เอาหลักฐานที่เป็นข้อสำคัญของคดีเผยแพร่ทางเฟสบุ๊ค และวันที่ศาลตัดสินคือให้ปรับสองแสน จำคุกสองปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษ ผมเลยโพสต์เกี่ยวกับคำพิพากษา จึงถูกดำเนินคดี

ในช่วงการต่อสู้คดีที่ผ่านมา เขาพยายามต่อสู้หลายทาง มันน่ากลัวที่มีคนระดับผู้ว่า ศาล ผู้พิพากษาเป็นผู้กล่าวหา ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว และตลอดเวลาที่เขาทำการเคลื่อนไหว 2 คดีที่ผ่านมาก็ทำให้เขารู้ว่าต่อไปคงมีการดำเนินคดีอีก เพราะมันเป็นความตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือตลอดเวลา

สุธารี วรรณศิริ นักวิจัยสิทธิมนุษยชน เล่าว่า มูลเหตุเกิดจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา14 คนเกรงว่าจะไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ และได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ จากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำจริง และยังมีการยึดเก็บเอกสารประจำตัวที่นายจ้างไม่มีสิทธิทำได้ จึงมีการสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย และระหว่างนี้แรงงานก็ได้มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และกสม.มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ ซึ่งในระหว่างนั้นนายจ้างได้แจ้งความต่อตำรวจว่าแรงงานมีการขโมยเอกสารคือบัตรตอกลงเวลางานไป ซึ่งเป็นบัตรที่แรงงานนำมาให้เจ้าหน้าที่ดูว่ามีการทำงานจริง และนายจ้างยังแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย

เธอได้เข้าไปสังเกตการณ์คดี มีการทำรายงานเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจยุติการดำเนินคดี สุดท้ายมีการดำเนินคดีกับเธอ และนักข่าว นักวิชาการอีกหลายท่านด้วย จากการพูดถึง และเรียกร้องสิทธิของแรงงาน และนักปกป้องสิทธิด้วย ปัจจุบัน มีคดีอย่างน้อย 14 คดีที่ถูกบริษัทฟ้องร้อง และมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 22 คน จะเห็นได้ชัดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้กระบวนการทางกฎหมายคุกคามเพื่อต้องการให้ยุติการเคลื่อนไหวหรือพูดถึงประเด็นสาธารณะ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าว่า บริบทของสามจังหวัดคือมีการใช้กฎหมายพิเศษให้อำนาจทหารในการจับค้นคุมขัง และการตรวจสอบทำได้ยากมาก บันทึกต่างๆ ที่ได้จากการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน และการดำเนินการต่างๆ ให้รับสารภาพ ข้อมูลต่างๆ ที่เราได้เป็นเพียงเบื้องต้น และเราทำงานเรื่องการต่อต้านการทรมาน เราต้องการข้อมูลที่ชัดเจน เราก็มีการสอบข้อเท็จจริงเมื่อเขาถูกส่งตัวออกมาจากทหาร

ก่อนรัฐประหาร เราได้รวบรวมข้อมูลการซ้อมทรมานว่าการมีการกล่าวอ้างอย่างนั้นจริงหรือไม่ และเราจะแก้ไขได้อย่างไร และจัดส่งให้แก่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ เพราะไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน ซึ่งเราอยากจะบอกให้สหประชาชาติทราบว่าไทยทำอะไรไปแล้วบ้าง และมีการทำข้อเสนอให้แก่รัฐบาลไทย หลังจากนั้นจึงถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกอรมน. ทั้งที่ในรายงานฉบับนั้นไม่มีชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย หลังจากนั้นมีความพยายามที่จะดำเนินคดีต่อญาติผู้เสียหายด้วย และมีกรณีที่ผู้เสียหายเองถูกดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จด้วย และศาลลงโทษจำคุกหนึ่งปี

ผลกระทบจากการตกเป็นเป้าหมายของการฟ้องคดีปิดปาก

กฤษกร กล่าวว่า “คดีที่ผมเจอ พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานนาน 1 ปี ไม่ส่งฟ้องสักที คดียาวนานทำให้เสียเวลา และต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลในการไปศาลหรือไปพบพนักงานสอบสวนแต่ละครั้ง”

ชลธิชา เล่าว่า “นอกจากถูกดำเนินคดีความแล้ว ศาลหรืออัยการมักจะเลื่อนคดี มีคดีน้องจากเชียงใหม่ช่วงคนอยากเลือกตั้ง บินจากเชียงใหม่มาเพื่อพบศาลหรืออัยการ ปรากฏว่าศาลและอัยการเลื่อนนัดเราตลอด เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้เกิดการเสียเวลาเป็นอย่างมากในการเดินทาง และนอกจากเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ยังเสียรายได้ที่ต้องได้รับจากการทำงานด้วย

การถูกดำเนินคดีเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการคุกคาม แต่ยังมีรูปแบบของการคุกคามอื่นๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น ทหารมาหาที่บ้าน การที่ทหารมาทำให้คนในหมู่บ้านมีทัศนคติไม่ดีกับเรา บางทีไม่ได้มาคุยแค่กับเรา แต่มาคุยกับเพื่อนบ้านเราด้วย ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับชุมชนของเรา ทำให้เรารู้สึกว่า เวลาที่เราไม่อยู่บ้าน คนที่อยู่บ้านเราจะปลอดภัยหรือเปล่า

และรู้สึกโมโหทุกครั้งที่มีคนบอกว่าคดีที่เราโดนเป็นคดีทางการเมือง ไม่ต้องกลัวหรอกเพราะไม่ติดคุก แต่มันคือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทำไมเราต้องไปอยู่ในเรือนจำ หรือถูกละเมิดสิทธิในเรือนจำ มันส่งผลกระทบด้านจิตใจ และเรารู้สึกไม่ปลอดภัยในประเทศไทย ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาอื่นๆ อีก และคิดว่าผู้ที่เคลื่อนไหวหลายคนประสบเรื่องผลกระทบด้านจิตใจ และไม่จำเป็นว่าผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต้องเป็นฮีโร่ และต้องเข้มแข็ง อยากจะให้ตั้งคำถามว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเพราะออกมาเคลื่อนไหวนี้ เราจะช่วยเหลือเยียวยากันอย่างไร”

ทางด้านสุธารี กล่าวว่า “เหตุผลที่เราต้องรวบรวม และเปิดเผยข้อมูลในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเราต้องการแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ จากการที่มีการรร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคการเกษตร ก็ได้นำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานของรัฐในการปกป้องสิทธิแรงงานด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียกร้องสิทธินี้ และในส่วนการดำเนินคดีความกับนักปกป้องสิทธินี้ กระทรวงยุติธรรม หรือกรมคุ้มครองสิทธิก็มีความพยายามที่จะทำงานร่วมกับนักปกป้องสิทธิมากยิ่งขึ้นในการแก้ปัญหา สิ่งที่เราทำไม่ได้ต้องการเป็นปฏิปักษ์ แต่ต้องการให้มีการเคารพซึ่งกันและกันของมนุษย์ และแนวทางแก้ไขร่วมกัน

ที่มา: http://naksit.net