ภาคอีสาน(ใต้): ประชุมครั้งที่3 วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 จังหวัดสุรินทร์

ครั้งที่ 3  การประชุมเวทีอนุภูมิภาคอีสานใต้ (ภาค 3) เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ มูลนิธิพัฒนาอีสาน ตำบลตาอ็อง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ผู้เข้าร่วม 47 คน

ผลการดำเนินงาน :

        จากการเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “ปัญหาและข้อเสนอในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ของอนุภูมิภาคอีสานใต้ (ภาค 3) ทำให้ได้ข้อเสนอแนะจากการประชุมดังนี้

1) ควรลดทอนความเป็นโทษทางอาญาบางประเภทที่ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม ไม่ได้กระทบต่อศีลธรรมอันดี และไม่ได้กระทบต่อความปลอดภัย เสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง โดยใช้โทษทางปกครองแทน หรือวิธีการกำหนดโทษปรับอย่างสูง

2) ควรปฏิรูประบบศาลทหารให้พิจารณาเฉพาะความผิดที่เกี่ยวข้องกับวินัยของทหารหรืออาญาศึกเท่านั้น แต่หากเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนควรจะใช้ระบบศาลยุติธรรม หรือศาลอาญาในการพิจารณาคดีเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

3) การพิจารณาคดีในชั้นศาล ควรรับฟังพยานหลักฐานจากทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหาในการนำเสนอพยานหลักฐาน ไม่ใช่การรับฟังจากพนักงานสอบสวนเพียงอย่างเดียว และให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และนิติเวชศาสตร์ การมีส่วนร่วมของอัยการในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล การพิจารณาคดีมีความตรงไปตรงมา และมีความยุติธรรม

4) กรณีคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความรุนแรงในครอบครัว กระบวนการยุติธรรมควรมีมาตรการในการปกป้อง และคุ้มครองผู้ถูกกระทำให้มีความปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ซึ่งอาจจะใช้กลไกการทำงานในระดับชุมชน

5) การฟ้องหมิ่นประมาทที่เกี่ยวกับผลประโยชน์สาธารณะ หรือการฟ้องปิดปาก (SLAPP Case) ไม่ควรถูกฟ้องเป็นคดีอาญา เพราะในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 423 กำหนดไว้ว่า “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะรู้ได้” และสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของชาวบ้านอนุภูมิภาคอีสานใต้ (ภาค 3) คือ การแสดงความคิดเห็นลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook)

6) ควรสนับสนุนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิการเข้าถึงทางกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้แก่ การประกันตัวเพื่ออิสรภาพ และการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ประชาชนได้มีความรู้ทางกฎหมายในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของตัวเอง รวมทั้งสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ได