ที่ สสส.  018/2566

                                                                         5    กันยายน  2566

เรื่อง   ข้อเสนอการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

สิ่งที่ส่งมาด้วย  ข้อเสนอการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 1 เล่ม

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านการส่งเสริมและคุ้มครอง             สิทธิมนุษยชน ตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย ได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องคุ้มครองและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันมีสาเหตุสำคัญมาจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในชั้นเจ้าพนักงาน หรือชั้นของการสืบสวนสอบสวน และการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนส่งฟ้องของพนักงานอัยการ เพื่อร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง  ในชั้นพิจารณาคดีของศาล และภายหลังมีคำพิพากษาที่ผู้ต้องโทษต้องเข้าสู่เรือนจำ และการปล่อยผู้ต้องโทษคืนสู่สังคม เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ กติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ในการจัดทำข้อเสนอนี้ สสส. ได้จากการประสานความร่วมมือ จัดเวทีรับฟังและประมวลข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของเครือข่ายประชาชนหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ สมาชิก สสส. ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรประชาสังคม ทนายความ อัยการ และนักวิชาการ ในทุกภูมิภาคในช่วงปี 2562-2563   และประมวลจัดทำรายงานข้อคิดเห็นและเสนอแนะต่อการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังที่แนบมาพร้อมจดหมายฉบับนี้ สสส.หวังว่าข้อเสนอนี้ จะได้รับการพิจารณาจากท่าน เพื่อจัดทำเป็นนโยบายและปรับปรุงกฎหมายในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป

  1. ปฏิรูปงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

            (1.1) แยกงานตำรวจ ซี่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสายงานบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) และงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสายงานยุติธรรมออกจากกัน โดยให้งานสอบสวนเป็นหน่วยงานอิสระจาก  สตช. เพื่อถ่วงดุลการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจ ค้น จับกุม กับ การสอบสวนคดี โดยให้งานสอบสวนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสายงานยุติธรรมเช่นกัน ซึ่งนอกจากเพื่อให้พนักงานสอบสวนมีความก้าวหน้าเติบโตในสายงานแล้ว ยังสามารถพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญงานสอบสวนอีกด้วย

             (1.2) กระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจของ สตช. ทั้งขอบเขตภาระกิจในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยและงานบุคคล ไปอยู่ในระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยยกเลิกกองบัญชาการตำรวจภาค 9 ภาค กระจายกำลังพลไปประจำโรงพัก เพื่อให้บุคลากรทำงานได้อย่างเต็มที่         

 ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ให้ตำรวจจังหวัดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจ สตช. ทบทวนคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยคืนอำนาจดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดังเดิม

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นการสอบสวน (ชั้นเจ้าพนักงาน)

             (2.1) ให้พนักงานอัยการรับผิดชอบกำกับดูแลการสอบสวนคดีของพนักงานสอบสวน เพื่อมุ่งค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาและตรวจสอบการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างมีประสิทธิภาพ และประกันสิทธิของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดี ทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหา พยาน และสังคม

             (2.2) ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียง อย่างต่อเนื่องในขณะที่มีการตรวจค้น จับกุม และการสอบปากคำผู้ต้องหา หรือพยาน รวมทั้งขณะลงปฏิบัติงานในพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมในภายหลัง

             (2.3) ให้มีพนักงานสอบสวนหญิง และตำรวจหญิงทุกสถานีทั่วประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนเพศหญิงและเด็กหญิง ได้โดยตรง รวมทั้งบุคลากร เช่น ล่ามภาษาและล่ามภาษามือ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ให้ถ้อยคำ ทนายความที่ปรึกษาด้านกฎหมายแก่ผู้ให้ถ้อยคำ รวมทั้งจัดให้มีห้องสอบสวนให้เป็นสัดส่วน ปลอดภัย เก็บความลับแต่สามารถตรวจสอบได้   

  1.   ปฏิรูปงานอัยการ

             (3.1)   ให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลงานสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนแต่เริ่มแรก เช่น การแจ้งข้อหา การขอออกหมายศาล การค้น การจับกุม ควบคุมตัว การสอบปากคำ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งต่อพนักงานอัยการทันทีเพื่อให้สามารถเข้าไปติดตาม ช่วยเหลือและตรวจสอบได้

  • ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการ (กอ.) โดยให้มีสัดส่วนของ

คณะกรรมการอัยการมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอก   โดยมาจากสถาบันวิชาการด้านนิติศาสตร์และสิทธิมนุษยชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นข้าราชการอัยการ

  • ให้สำนักงานอัยการสูงสุดรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อรัฐสภา
  • ให้เผยแพร่เหตุและผลการสอบสวนคดีความผิดต่อแผ่นดิน ที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง

หรือสั่งฟ้องคดีอาญาต่อสาธารณะ 

  1. ปฏิรูปงานด้านนิติวิทยาศาสตร์

             (4.1)   ให้โอนงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติเวชวิทยาไปสังกัดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้เจ้าหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยให้มีอำนาจหน้าที่ร่วมสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลและตรวจสอบได้ในกระบวนการสอบสวน

             (4.2)   ให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิยาศาสตร์ พ.ศ.2559 ในเรื่องอำนาจหน้าที่ร่วมสอบสวนคดีอาญา ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์  ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการให้บริการ ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกแพทย์สภา และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านจิตวิทยา แพทย์ นิติเวชศาสตร์ สิทธิมนุษยชน และด้านสตรีและเด็ก จำนวน 5 คน เป็นกรรมการ

  1. ปฏิรูปการพิจารณาคดีของศาล ให้ศาลใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี เพื่อให้มีการตรวจสอบการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ โดยให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจในการตรวจสอบค้นหาความจริงนอกเหนือจากพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจในการตรวจสอบค้นหาความจริงนอกเหนือจากพยานหลักฐานในศาลชั้นต้นและนั่งพิจารณาคดีได้
  2. ระบราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและมีมนุษยธรรม และไม่ตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในรูปแบบใด และยกระดับการดำเนินงานเพื่อทำให้สภาพของเรือนจำ สอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ
  3. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง 3 ฉบับ ประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยปัจจุบันมาตรการภายใต้กฎหมายทั้งสามฉบับได้ประกาศใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วอย่างยาวนาน  ส่วนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 นอกจากถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำรัฐประหารของผู้นำกองทัพบางคน แล้วยังได้ถูกประกาศใช้ตามพื้นที่ชายแดนต่าง ๆ ด้วย นอกจากจากนี้ ที่ผ่านมากฎหมายทั้งสามฉบับ ยังถูกนำมาใช้ในการจัดการกับการชุมนุมสาธารณะขนาดใหญ่ สำหรับพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานโดยแท้ของกองทัพนั้น ทำให้การบริหารราชการในกิจการพลเรือนถูกครอบงำโดยกองทัพ ดั้งนั้นควรมีการทบทวนบรรดากฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

 

             เรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และหากมีความคืบหน้าของข้อเสนอดังกล่าว หรือมีประเด็นที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง

                                                                                      ขอแสดงความนับถือ

                                                                                  (นายศราวุฒิ  ประทุมราช)

                                                              ประธานกรรมการสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ติดต่อ : นายอนุชา วินทะไชย ผู้จัดการสมาคมฯ

โทร 022754231-2 มือถือ 0830796411 Email:uclthailand@gmail.com