สืบเนื่องจากกรณีนางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา นีละไพจิตร ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยก่อนหน้านี้นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย ได้ยื่นหนังสือขอลาออกไปด้วยเหตุผลเดียวกัน ในเรื่องบรรยากาศในการทำงานที่ไม่สร้างสรรค์ประกอบกับเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๒ นายชาติชาย สุทธิกลม ได้ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) จึงทำให้ปัจจุบันคงเหลือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพียง ๓ คนจากจำนวนทั้งสิ้น ๗ คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงว่า จะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการทำหน้าที่เป็นการชั่วคราวให้ครบเจ็ดคน นั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) เห็นว่า
๑. โดยที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ โดยการกำหนดให้องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาต้องมีผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหา ทั้งยังกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งการกำหนดหลักการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการปารีสว่าด้วยสถานะของสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Paris Principles Relating to the Status of National Institutions for the Promotion and Protection of Human Rights) ดังนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันที่ได้มาโดยไม่เป็นตามหลักการปารีสต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายให้คณะกรรมการดังกล่าว ทำหน้าที่เพียงชั่วคราวในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น เพื่อรอให้ให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาทำหน้าที่ต่อไป
๒. ขณะนี้คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการสรรหาตามลำดับกำลังดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจะมีการให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ในระหว่างวันที่ ๒-๓ สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจึงคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมที่เหลืออีกจำนวน ๔ คน เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ และคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน ๒-๓ เดือน อีกทั้งแม้จะเหลือกรรมการอยู่เพียง ๓ คน ไม่ถึง ๔ คน ก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ แต่เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา ๒๐ ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดที่ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดจะร่วมกันแต่งตั้งบุคคลมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนชั่วคราวเพื่อให้มีจำนวนครบ ๗ คน ตามข้อเสนอของประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ด้วยเหตุผลตามความเห็นดังกล่าว สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) จึงขอเสนอแนะดังนี้
๑. ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดควรยุติการแต่งตั้งบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดชั่วคราวให้มีจำนวนครบ ๗ คน ตามข้อเสนอของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้การสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์หลักการปารีส รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๒. คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยจะต้องพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์และผลงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นที่ประจักษ์ของบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ ควรตระหนักถึงเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอันเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๒
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)