แถลงการณ์สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
ขอสนับสนุนให้ประธานศาลฎีกายกเลิกการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.)

ตามที่มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ผู้พิพากษาระดับสูง 2 ท่าน ได้ทำบันทึกข้อความถึงประธานศาลฏีกาในฐานะประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และประธานกรรมการตุลาการ เพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ว.ป.อ.) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิบไตยสำหรับนักบริหาระดับดับสูง (ป.ป.ร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หรือหลักสูตรอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน  เนื่องจากเห็นว่า หลักสูตรอบรมต่าง ๆ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดแก่การปฏิบัติงานของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดหลักสูตรนี้ทำให้ความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อศาลยุติธรรมลดลง นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการสากลว่าด้วยความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมของผู้พิพากษา หรือตุลาการ และสอดคล้องกับจริยธรรมตุลาการ ดังต่อไปนี้

 

  1. หลักการพื้นฐานว่าด้วยความเป็นอิสระของศาล (Basic Principle on the Independence of the Judiciary 1985) รับรองโดยองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรม และ การปฏิบัติต่อผู้กระทําความผิด กำหนดหลัก “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา”คือความอิสระของ ศาลในฐานะที่เป็นสถาบันหนึ่งของอำนาจอธิปไตย และความอิสระของผู้พิพากษาหรือคณะตุลาการในการตัดสินคดี

    ความเป็นอิสระเชิงสถาบัน หมายถึง อิสระจากอํานาจฝ่ายอื่นๆ  โดยศาลจะต้องได้รับการประกันโดยรัฐและจะต้องมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของประเทศ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและองค์กร อื่นๆ ทุกองค์กรที่จะต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามหลักการว่าด้วยความเป็นอิสระของศาลและผู้พิพากษารายบุคคล (รวมถึงความเป็นอิสระจากสมาชิกตุลาการคนอื่นๆ ด้วย)

    ความเป็นอิสระในเชิงคดี หมายถึง ทั้งตุลาการและผู้พิพากษาที่ประกอบเป็นคณะตุลาการจะต้องไม่อยู่ภายใต้อํานาจรัฐอื่นๆ ในขณะเดียวกัน “การทรงความเที่ยงธรรม” หมายถึง สภาพจิตใจของผู้พิพากษาหรือคณะตุลาการต่อคดีและต่อคู่คดี ศาลพึงตัดสินคดีด้วยความยุติธรรม บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและเป็นไปตามกฎหมาย โดยปราศจากการตัดทอน การใช้อิทธิพลโดยมิชอบ การชักนํา การกดดัน การข่มขู่หรือแทรกแซง ไม่ว่าด้วยโดยตรงหรือโดยอ้อมจากบุคคลใดๆ หรือ เพื่อวัตถุประสงค์ใด

  1. ประมวลจริยธรรมตุลาการ กำหนดหน้าที่สำคัญของผู้พิพากษาคือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรมถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณีทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเองและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ

  2. หลักสูตรการอบรมผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของตุลาการหรือผู้พิพากษาตามหลักการพื้นฐานและประมวลจริยธรรมดังกล่าว ในการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความเป็นธรรม แม้การพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม โดยมีบุคลากรทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสื่อสารมวลชน ภาคธุรกิจเอกชน องค์การประชาชน เข้าร่วมกัน จะเป็นประโยชนในการช่วยเพิ่มสมรรถนะการปฏิบัติงานของบุคลากร และเกิดเครือข่าย ความร่วมมือในการประสานงาน แต่การอบรม บ.ย.ส.อาจมีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการ สร้างเครือข่ายและการช่วยเหลือกันในทางที่มิชอบ อันจะกระทบต่อหลักความยุติธรรมได้

ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงเห็นความจำเป็นต้องยกเลิกหลักสูตร บ.ย.ส. และยกเลิกการส่งตุลาการหรือผู้พิพากษาไปเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่จัดโดยหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมอาจจัดการฝึกอบรม หรือให้มีหลักสูตรการเรียน หรือฝึกอบรมได้ โดยจัดเป็นหลักสูตรเฉพาะสำหรับตุลาการหรือผู้พิพากษา โดยมีวิทยากร หรือผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงาน หรือภาคส่วนต่างๆเป็นผู้บรรยาย หรือแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับตุลาการหรือผู้พิพากษาได้ และควรกำหนดกรอบการดำเนินงานของหลักสูตรการอบรมสำหรับตุลาการ หรือผู้พิพากษาให้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน นิติธรรมและประชาธิปไตย การพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานศาลยุติธรรม โดยการสร้างทัศนคติของตุลาการหรือผู้พิพากษาที่เปิดกว้างต่อประชาชนทุกกลุ่มและสังคม และที่สำคัญเพื่อให้ยึดมั่นในกรอบจรรยาบรรณของตุลาการ หรือผู้พิพากษาอย่างเคร่งครัด

 

ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

 

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ณ วันที่ 17  มกราคม 2568