คำไว้อาลัยดร.แดนทอง บรีน (พ.ศ. 2476-2567)

สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของดร.แดนทอง บรีน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งถึงแก่กรรมในวันที่ 10 กันยายน 2567 ด้วยอายุขัย 91 ปี แดนทองเป็นอดีตประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนไทยซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) ระหว่างปีพ.ศ. 2550 ถึง 2555

ปารีส, 13 กันยายน 2567 แดเนียล บรีนเกิดเมื่อ พ.ศ. 2476 ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายแดนทอง บรีน หลังจากท่านได้รับสัญชาติไทยในปี พ.ศ. 2535

แดนทองมีประวัติการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ จบการศึกษาด้านฟิสิกส์ในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลนด์ และระดับปริญญาเอกในด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร เขาทำงานในตำแหน่งด้านวิชาการและบริหารให้กับสถาบันการศึกษาในหลายแห่งทั้งในประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และไทย โดยได้เริ่มทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ในปีพ.ศ. 2513 และหลังจากนั้นได้ย้ายถิ่นฐานมาประเทศไทยในปีพ.ศ. 2516

แดนทองเป็นที่รู้จักในวงการการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ จากการอุทิศตนให้กับการรณรงค์เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต และเข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการต่อต้านโทษประหารชีวิตหลายครั้ง

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่แดนทองเป็นผู้นำสสส.ในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพของเรือนจำ ซึ่งรวมถึงการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขัง ตลอดจนความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ให้เกิดการยกเลิกโทษประหารในประเทศไทย แดนทองยังได้เขียนรายงานหลายเล่มซึ่งบันทึกสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำไทย และศึกษาแง่มุมต่างๆของโทษประหารชีวิตในประเทศ โดยเฉพาะมิติทางศาสนาของโทษประหารชีวิต ใช้ปรับใช้กับผู้หญิง และการใช้โทษประหารชีวิตอย่างไม่ได้สัดส่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งชาวมาเลย์-มุสลิมอยู่อาศัย

แดนทองยังได้สร้างแรงบันดาลใจแก่นักกิจกรรมรุ่นใหม่ให้ทำงานเพื่อพัฒนาปรับปรุงสภาพเรือนจำ รวมถึงจากการมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานเพื่อเผยแพร่รายงานสภาพเรือนจำร่วมกันระหว่าง FIDH และ สสส. ซึ่งนำไปสู่การจัดทำรายงานสภาพเรือนจำประจำปีของประเทศไทยต่อมา

แม้ว่างานของเขาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับประเทศไทย แต่แดนทองยังได้ร่วมทำงานในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั่วทวีปเอเชียแลระดับโลก

เขาได้ร่วมก่อตั้งสถาบันการศึกษาชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Regional Institute of Community Education หรือ SEARICE) ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่มีสำนักงานใหญ่ประจำอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์เพื่ออุทิศให้แก่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เน้นส่วนร่วมจากทางชุมชน

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 แดนทองได้เข้าร่วมกระบวรการติดตามตรวจสอบที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลประเทศไต้หวันและคณะผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อประเมินการปรับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ในระหว่างเดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2566 แดนทองยังได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียสี่ครั้งในฐานะตัวแทนของ FIDH เพื่อร่วมสังเกตการณ์และรายงานการพิจารณาคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองต่อนายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซีย ซึ่งนำไปสู่ลงโทษจำคุก 5 ปีและการจำคุกของอันวาร์ในที่สุด

FIDH จะจดจำแดนทองสำหรับการอุทิศตนแก่ผู้อื่น สติปัญญา อารมณ์ขัน ตลอดจนความมุ่งมั่นอันหนักแน่นในงานด้านสิทธิมนุษยชน ถึงแม้แดนทองจะจากเราไป แต่ตำนานของเขาจะอยู่กับพวกเราตลอดไป

ที่มา: FIDH