สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 8 /2566

หัวข้อ ความหลากหลายทางเพศ : คนเท่ากัน

วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566

เวลา 11.00-12.30 น.

ผู้ร่วมเสวนา

  1. ชัชชญา(บลูม) สิริวัฒกานนท์ ผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศ กลุ่ม Nonbinary Thailand
  2. ณัฐกมล ศิวะศิลป ทนายความด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ Intersex Thailand     

เกริ่นนำ เดือนมิถุนายนของทุกปีเป็น ’Pride Month’ ที่จะมีการจัดกิจกรรมและเดินขบวนพาเหรดเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคม เช่น การแก้ไขกฎหมาย หรือ การยุติการเลือกปฏิบัติจากเรื่องอคติทางอัตลักษณ์ อันสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏในสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศ ที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศอีกหลายฉบับ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ และความเสมอภาคของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย  รายการสส.เสวนาทัศนะ จึงถือโอกาสนี้พูดคุยและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของบุคคล นำเสนอกลุ่มต่างๆที่มีกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการยอมรับสิทธิมนุษยชนของบุคคลหลากหลายทางเพศและประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องเนื่องในเดือน Pride Month นี้

ก่อนเข้าสู่คำถามหลักของการเสวนา เมื่อถามว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มีจิตใจและบุคลิกภาพหรือเพศสภาพที่แตกต่างจากเพศกำเนิดอย่างไร ชัชชญา(บลูม) สิริวัฒกานนท์ กล่าวว่าเป็นเรื่องแล้วแต่บุคคล บางคนอาจรู้ตัวตั้งแต่เด็ก บางคนก็อายุ 20 หรือ 30 หรือ 60 ปีไปแล้วก็มี แต่จากข้อมูลงานวิจัยพบว่าบุคคลจะรู้ตัวว่ามีเพศสภาพแตกต่างขากเพศกำเนิดตั้งแต่ 5-7 ขวบเป็นต้นไป ณัฐกมล ศิวะศิลปะ บอกว่าคนที่เป็น อินเตอร์เซ็กส์ หมายถึง ภาวะเพศกำกวม เป็นภาวะของสิ่งมีชีวิตที่โครโมโซมเพศ, อวัยวะเพศ และ/หรือ ลักษณะเฉพาะทางเพศไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นหญิงหรือชายอย่างชัดเจน หรือมีลักษณะทางชีวภาพของทั้งเพศหญิงและเพศชาย จนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ โดยมีทั้งการเกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ ปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งลักษณะด้านอื่นๆ ที่ค่อยๆ ปรากฏเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งคนที่เป็นอินเตอร์เซ็กส์นี้จะรู้ว่าตนเองเป็นต่อเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ อายุตั้งแต่ 13-15. ปี ซึ่งร่างกายจะพัฒนาไปทำให้พบว่าตนเองมีลักษณะไม่ตรงว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย โดยมีคุณลักษณะ 5 ประการประกอบกันคือ โครโมโซม อวัยวะสืบพันธุ์ทั้งภายนอกและภายใน ต่อมเพศ และฮอร์โมน

ในทางปฏิบัติการเรียกคนที่เป็นอินเตอร์เซ็กส์และนอนไบนารีว่า “กระเทย” ต้องถามเจ้าตัวก่อนว่ายอมให้เรียกเช่นนั้นได้หรือไม่ แต่หากเติมคำว่า ไอ้หรืออีนำหน้าแล้วลงท้ายด้วยควาย จะกลายเป็นคำด่าทันทีและถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ต้องไม่ใช้คำนี้พร่ำเพรื่อ แม้คนข้ามเพศหรือคนหลากหลายทางเพศจะเรียกคนในชุมชนตัวเองว่ากระเทย แต่หากคนนอกชุมชนจะใช้คำนี้ต้องถามเจ้าตัวบุคคลเหล่านั้นก่อน

สถานการณ์โดยรวมของการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

คนหลากหลายทางเพศได้รับการละเมิดจากคนรอบข้างตั้งแต่ภายในครอบครัว ที่ไม่ยอมรับ ถูกล้อเลียนจากเพื่อนๆในโรงเรียน ในเผจของนักเรียนเลวก็มีข้อมูลเผยแพร่ว่า lgbtq  ควรปฏิบัติตัวอย่างไร น้องๆบางคนที่ถูกล้อเลียนนั้นบางครั้งถูกทำร้ายจนทำให้เกิดความซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน  ในกลุ่มคนที่เป็น intersex แม้แต่การเข้าห้องน้ำหญิงในที่สาธารณะก็มักจะถูกแม่บ้านห้าม บอกว่ากระเทยห้ามเข้า เพราะเกรงว่าจะไปทำร้ายผู้หญิง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะถูกเข้าใจเช่นนี้ แต่ในระยะหลังผู้คนโดยทั่วไปก็เข้าใจมากขึ้น ในประเทศไทยหลายปีก่อนองค์การ UNESCO[1] ได้จัดทำคู่มือ แนวปฏิบัติสากลทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษาโดยใช้แนวทางที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับเพศวิถีศึกษา รวมถึงผลลัพธ์เชิงบวกที่ต้องการให้เกิดขึ้น ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นของการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา โดยสร้างความตระหนักต่อประเด็นสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งประเด็นเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน สร้างความพร้อมให้ครูและเสริมสร้างศักยภาพองค์กรในการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ผู้คนในสังคมควรได้รับการเรียนรู้ที่จะทำให้เข้าใจคนหลากหลายทางเพศและปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเป็นมนุษย์ ในคู่มือนี้ระบุว่ากว่า 80% ของคนหลากหลายทางเพศจะถูกล้อเลียนและกลั่นแกล้ง จนถึงได้รับความรุนแรง

ในกลุ่มคนข้ามเพศมีงานศึกษาจากแบบสอบถามที่จัดทำโดยผู้ก่อตั้งกลุ่ม intersex พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม   100 % ตอบว่าเคยถูกล่วงละเมิดจากคนรอบข้าง ทั้งการจับกัน จับหน้าอก โดยผู้กระทำมักอ้างว่าล้อเล่น แต่ที่จริงคือการละเมิดทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่ชอบ ไม่พอใจและโกรธมาก แต่กลับได้รับคำตอบว่าทำไมซีเรียสจัง ซึ่งตรงนี้ต้องโทษระบบการศึกษาในบ้านเราที่ยังไม่ก้าวหน้าในประเด็นการคุกคามทางเพศ

การละเมิดออนไลน์ก็มีมากเช่นกัน ในหน้าวอลล์ของ Intersex ถึงกับมีนักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาออกมาโพสต์ใน account ของเรา เมื่อเปิดตัวว่าเป็น intersex ว่าคนที่เป็น intersex  เป็นผู้มีความผิดปกติทางยีน หรือเป็นเหมือนร่างกายสร้างเม็ดหรือตุ่มไฝขึ้นมาเป็นสิ่งแปลกปลอม ต้องกำจัดออกไป “การเขียนแบบนี้เป็นการคุกคามแบบหนึ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนที่มีการศึกษา แต่เป็นเรื่องทัศนคติ หรืออคติของบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับความรู้ใดๆเลย” ณัฐกมล ศิวะศิลปะ กล่าว ซึ่งชัชชญา(บลูม) สิริวัฒกานนท์ เสริมว่า ในเผจกลุ่ม nonbinary ก็มักมีคนเข้ามาโพสต์โดยชายจริงหาเรื่องว่าพวกเราไม่มีตัวตน ไม่ควรเกิดมาเป็นผู้ชาย หรือแม้แต่น้องๆบางคนก็ถูกคุกคามในเฟสบุ๊คส่วนตัว คนเหล่านี้เป็นนักเลงคีบอร์ด ไม่ทำอะไรนอกจากยั่วยุและชวนทะเลาะ บางคนถึงกับขู่ว่าจะมาหาที่บ้านให้รออยู่อย่าไปไหน ถ้าเราตอบโต้ออนไลน์ การคุกคามอย่างอื่นที่เคยพบก็คือการตัดต่อภาพ เอาหน้าเราไปใส่ในตัวตนคนอื่นให้ดูขบขัน ซึ่งเราตรวจสอบยากว่าเป็นใคร แม้จะถือว่าผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ แต่ทางเราก็กำลังติดตามเพื่อหาตัวคนกระทำมาลงโทษให้เป็นตัวอย่าง  การบล็อกหรือลบชื่อบุคคลนั้นจากเพื่อน ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะคนเหล่านนี้จะไปเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนภาพใช้แอ๊ปอวตาร กลับมาอีก เพื่อกลั่นแกล้งรังแกเราอีก ซึ่งเราเสียเวลามาก

การมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะทำให้สามารถป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิฯดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร

ปัจจุบันมีกฎหมายเพียงฉบับเดียวที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 คือ พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558[2] ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่ชัดเจน และเพื่อให้บุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้รับความคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ขณะนี้เครือข่ายความหลากหลายทางเพศกำลังผลักดันให้มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ที่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ในสภาผู้แทนฯแล้ว แต่มีการยุบสภา ทำให้ต้องรอว่ารัฐบาลใหม่จะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่หรือไม่ นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาชน 10 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายพนักงานบริการ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ใช้ยา เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง และเครือข่ายแรงงาน เคยผลักดันให้มีร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ….. ฉบับประชาชน 12,000 รายชื่อ[3] แต่ถูกตีตกไปเพราะนายกฯบอกว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณ เสนอไม่ได้

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ยังคงต้องการมีกฎหมานคำนำหน้าชื่อนาม เพื่อให้คนๆนั้นสามารถดำเนินชีวิตและมีตัวตนตามที่ตนเลือก เช่น การระบุในบัตรประชาชน ใน pass port นำหน้าชื่อตามเพศสภาพของตน รวมถึงอยากให้มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดคนที่คุกคามพวกเราออนไลน์ หรือการข่มขู่คุกคามทางกายภาพ เพิ่มเติมด้วย ณัฐกมล ศิวะศิลปะ กล่าว นอกจากนี้แม้จะเชื่อว่ากฎหมายเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคม แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคืดการปรับทัศนคติของคนในสังคมด้วย  เช่น บางโรงงานไม่รับคนที่เป็นทอมเข้าทำงาน โดยอ้างว่าจะมาก่อเรื่องชู้สาวในโรงงาน หรือบางโรงเรียนถามว่าทำไมคนข้ามเพศถึงมาเป็นครู ทำไม่ไม่ไปเป็นนางโชว์หรือทำอาชีพอื่น แต่ถามว่ามันใช่หรือไม่ที่มีปัญหาเฉพาะคนที่เป็นทอม หรือคนข้ามเพศ หรือคนที่เป็นหญิงรักหญิง จริงๆแล้วทุกเพศสภาพก็สามารถก่อเรื่องชู้สาวได้มิใช่หรือ หรือทำไมไม่ไปตั้งคำถามเรื่องเป็นครูกับคนที่เป็นชายจริง หญิงแท้ นี่เป็นเรื่องทัศนคติเหมารวมที่ต้องแก้ไขควบคู่ไปกับการมีกฎหมายด้วย ขณะเดียวกันสมควรมีการจัดการในระดับการศึกษาของชาติว่าควรยอมรับความแตกต่างของบุคคลไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา เพศ ที่แตกต่างกันของผู้คน ซึ่งจะช่วยเสริมทัศนคติของการมองคนเท่าเทียมกันโดยถ้ามีการเหยียดหยามกัน ต้องสามารถร้องเรียนหรือใช้สิทธิทางกฎหมายได้ อย่างง่ายด้วย ชัชชญา(บลูม) สิริวัฒกานนท์ กล่าวเพิ่มเติม

กลุ่มมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องอย่างไรเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมที่หลากหลายทางเพศ

ณัฐกมล ศิวะศิลปะ เสนอว่า ควรจัดให้มีวิชาสิทธิมนุษยชนหรือห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนทุกระดับ  ตั้งแต่อนุบาลไปเลย ส่วน ชัชชญา(บลูม) สิริวัฒกานนท์ เสนอว่าหน่วยงานที่ใช้อำนาจตามกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – พม. ควรมีการจัดอบรมให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชุมชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถปฏิบัติและเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้องในการป้องกันและแก้ไขเมื่อมีการละเมิดต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้หวังว่าการเผยแพร่และอบรมกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ลดอัตราการเลือกปฏิบัติและทำให้คนที่เกี่ยวข้องลดอคติในการปฏิบัติต่อผู้คนได้มากขึ้น สำหรับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอยากเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ โดยมีการรวมตัวเป็นภาคีสมรสเท่าเทียม อยากผลักดันให้มี”กฎหมายสมรสเท่าเทียม”ที่แตกต่างจากของกระทรวงยุติธรรมที่ตกไปเพราะมีการยุบสภา กฎหมายสมรสเท่าเทียมของภาคีมีสาระสำคัญคือ คู่สมรสถ้าเป็นข้าราชการก็สามรถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เหมือนคณสมรสชายหญิง มีทรัพย์สินร่วมกันตามกฎหมายครอบครัวและมรดก ซึ่งรับมรดกได้ ธนาคารให้กู้ยืมเงินได้ เช่น กู้ซื้อบ้านที่จะใช้ชีวิตร่วมกันในอนาคต กฎหมายอีกฉบับที่อยากเห็นคือคำนำหน้าชื่อ และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่ห้ามแพทย์จัดการผ่าตัดอวัยวะให้แก่เด็กที่เกิดมามีเพศกำกวม โดยให้แจ้งในสูติบัตรว่าเป็น intersex ทั้งนี้เพื่อให้เด็กที่โตขึ้นมาสามารถเลือกเองว่าตนจะมีเพศใด และสามารถกำหนดคำนำหน้านามตนเองได้ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ที่สำคัญควรมีคำนำหน้าชื่อกลางๆที่นอกเหนือ นาย นาง นางสาว โดยใช้คำว่า “นาม” เช่น นาม ณัฐกมล ศิวะศิลปะ เป็นต้น ที่สำคัญคือการอยากให้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและแบบเรียนในวิชาสุขศึกษา ให้มีชุดความคิดที่ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ กลุ่มนอนไบนานรี่อยากเห็นการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ให้เข้าใจบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะมีปัญหาเพื่อไปพบแพทย์ของบุคคลดังกล่าวที่พบเจออคติ และมีคำถามที่กระทบจิตใจบุคคลหลากหลายทางเพศ สุดท้ายแล้ว ผู้ร่วมเสวนาทั้งสอง กล่าวว่า คนหลากหลายทางเพศไม่ต้องการเรียกร้องให้สังคมเข้าใจความเป็นเพศที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากเพศปกติทุกเรื่อง ทุกประเด็น แต่ขอให้มองว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นมนุษย์หรือเป็นคนปกติ โดยเฉพาะคนที่เป็นชายแท้ ต้องให้เกียรติและเคารพความเป็นมนุษย์ของคนหลากหลายทางเพศ

————————————————————————————–

 


[1] สืบค้นจาก https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000368655

[2] ค้นได้จาก https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/018/17.PDF

[3] โปรดดู บทความ“ขจัดการเลือกปฏิบัติ” จากหลักการสู่ความพยายามให้เป็นกฎหมาย ,  วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จากเว็บไซต์ ประชาไท : https://prachatai.com/journal/2021/10/95652