สรุปสสส.เสวนาทัศนะ
ครั้งที่ 6/2566
หัวข้อ กองทุนยุติธรรมกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
วันพุธที่ 12 เมษายน 2566
เวลา 11.00-12.30 น.
ผู้ร่วมเสวนา
เกริ่นนำ
พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2559 มาจนถึงวันนี้มีการบังคับใช้เป็นเวลากว่า 7 ปี โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 วรรค 2 กำหนดไว้ว่าต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามกรอบระยะเวลา 5 ปี และครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้กฎหมายกองทุนยุติธรรมอยู่ในขณะนี้
การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยกองทุนยุติธรรมในปัจจุบันยังมีอุปสรรคที่ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า และยังไม่สอดคล้องกับหลักการและแนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น เด็กเยาวชน ผู้พิการ นักโทษ ซึ่งต้องมีมาตรช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจง หรือความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ให้บริการแก่ประชาชนโดยผ่านกลไกการระงับข้อพิพาททางเลือก และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice processes) หรือ ด้านผู้ให้บริการด้านกฎหมาย ยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และองค์กรสาธารณประโยชน์ สถาบันวิชาการ องค์กรวิชาชีพ ที่เข้ามามีบทบาทให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายภายใต้ระบบของกองทุนยุติธรรม เป็นต้น นอกจากนี้กองทุนยุติธรรมควรดำเนินการให้สอดคล้องกับสิทธิเข้าถึงความยุติธรรม (the right to access to justice) สิทธิในการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (the right to a fair trial) ตลอดจนสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วย
เพื่อให้การบริหารงานกองทุนยุติธรรมโดยสำนักงานกองทุนยุติธรรม มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลในการช่วยเหลือทางกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าวรายการ “สสส.เสวนาทัศนะ” จึงเห็นความจำเป็นของการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 จึงกำหนดจัดเสวนาขึ้นในหัวข้อ “กองทุนยุติธรรมกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”
ตั้งแต่การก่อตั้งกองทุนยุติธรรมดำเนินภารกิจอะไรไปแล้วบ้าง
ผอ.มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ “กองทุนยุติธรรม” ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ความช่วยเหลือการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ก่อนหน้าที่กองทุนฯจะมีสถานะทางกฎหมายนั้น กองทุนฯดำเนินการภายใต้ระเบียบกระทรวงยุติธรรม มีงบประมาณจำกัดปีละประมาณ 20 ล้านบาท และเงินทุนไม่มีลักษณะทุนหมุนเวียน จึงทำงานได้ค่อนข้างจำกัด จนกระทั่งปี 2556-57 ช่วงที่มีการผลักดันให้มีการปฏิรูปประเทศมีการเสนอจากภาคประชาชนให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย เมื่อมีการจัดทำเป็นกฎหมายกองทุนทำให้สามารถมีงบประมาณจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดินอย่างเดียว เช่น จากเงินที่ศาลสั่งบังคับกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ค่าธรรมเนียมศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและค่าปรับตามคําพิพากษาในคดีอาญา เงินที่มีผู้บริจาค ดอกผลของเงินที่ได้รับ เป็นต้น โดยเงินใช้จ่ายของกองทุนมักจะได้กลับคืนมาใช้หมุนเวียนในภารกิจ เช่น เงินจากการให้ยืมไปประกันตัว เมื่อคดีสิ้นสุดในชั้นศาลใด และตัวผู้นั้นไม่หลบหนี ศาลก็คืนเงินจำนวนนี้ให้ เงินที่ได้กลับคืนมาก็ไม่ต้องส่งคืนคลังสามารถหมุนเวียนนำมาใช้ได้อีก และตัวกองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีการบริหารงานเป็นอิสระ ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้สามารถทำงานได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนประมาณปีละ 4000 กรณี ซึ่งมากกว่าช่วงแรกที่จัดตั้งกองทุนค่อนข้างมาก บุคลากรของกองทุนจะอยู่ในส่วนกลางจำนวนหนึ่ง และสามารถของความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ยุติธรรมจังหวัดส่วนหนึ่ง โดยกองทุนมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกจังหวัด บางกรณีก็ขอให้เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไปช่วย รวมถึงพาหนะต่างๆ ถ้าในส่วนกลางก็ใช้รถของสำนักงานปลัด ในต่างจังหวัดก็ใช้รถของยุติธรรมจังหวัด จึงทำให้สามารถทำงานได้คล่องตัว
ข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการแก้ไขปรับปรุงพรบ.กองทุนยุติธรรม
มีข้อเสนอ 3-4 ประเด็น ประเด็นแรกเรื่องคณะกรรมการกองทุน ที่มาจากภาคราชการเป็นส่วนใหญ่ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีภาคประชาสังคมคนเดียว คือ จากสภาทนายความ ซึ่งในการพิจารณาคำร้องจะมีคณะอนุกรรมการช่วยเหลือประจำจังหวัด พิจารณาก่อน หากไม่อนุมัติ ก็จะส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการกองทุนฯ ให้ความเห็นชอบ ข้อเสนอที่ได้จากการรับฟัง คือให้มีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะใหม่ที่ไม่ใช่คณะอนุกรรมการชุดเดิมที่พิจารณาไม่อนุมัติความช่วยเหลือ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ข้อดีคือ การมีคณะกรรมการอุทธรณ์คณะใหม่จะทำให้มีการทบทวนคำวินิจฉัยเดิมได้รอบคอบขึ้น ข้อเสียคือหากคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาอย่างไรแล้วผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ยื่นใหม่อีกไม่ได้ ประการต่อมามีข้อเสนอว่าถ้อยคำในการที่อนุกรรมการจะพิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือหรือไม่นั้น ในระเบียบใช้ถ้อยคำที่ทำให้พิจารณายากขึ้น เช่นมีคำว่า คณะอนุกรรมการต้องพิจารณา ควรพิจารณา อาจพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง ต้องแก้ไขให้ถ้อยคำพิจารณาได้ง่ายขึ้น อนุกรรมการผู้พิจารณาเข้าใจตรงกันและเป็นธรรมต่อผู้ร้องขอ ข้อเสนอต่อมาในเรื่องของคณะกรรมการส่วนกลางที่จำนวนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจำนวน 6 คนนั้นมีจำนวนน้อยกว่ากรรมการที่มาโดยตำแหน่งจากภาครัฐ และอนุกรรมการในระดับจังหวัดมีสัดส่วนของภาคประชาชนน้อยกว่าบุคลากรภาครัฐ จึงมีข้อเสนอให้ปรับปรุงสัดส่วนให้ใกล้เคียงกันของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือฯ นอกจากนี้มีข้อเสนอให้อนุกรรมการระดับจังหวัดมีอำนาจเพิ่มขึ้น จากในระเบียบปัจจุบันที่ให้อำนาจพิจารณาแค่ 2 ประเด็น คือ การให้ความช่วยเหลือคดีอาญาและการให้ปล่อยชั่วคราว ภายในวงเงิน 5 แสนบาทต่อราย ซึ่งมีปัญหาว่าหากวงเงินที่ใช้เกิน 5 แสนบาทเศษไปไม่มาก ก็เช่น 5 แสน 2 พันบาท ก็ต้องส่งเรื่องมาที่ส่วนกลาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอีกนาน ข้อเสนอคือให้เพิ่มอำนาจอนุกรรมการในระดับจังหวัดให้สามารถพิจารณาวงเงินได้มากกว่า 5.แสนบาท สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายได้ด้วย
สำหรับการช่วยเหลือคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นหมายถึงการให้ความช่วยเหลือเสริมสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือ จำเลยที่ศาลยกฟ้องเพราะเป็นแพะ สามารถขอรับเงินเยียวยาจากกองทุนเป็นการเสริมเงินเยียวยาค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหากินเพราะถูกขัง วันละ 500 บาท รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเพราะบาดเจ็บ หรือค่าเยียวยาการขาดประโยชน์อื่นๆ ถ้าพิสูจน์ได้ในช่วงที่ตกเป็นผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน กลุ่มที่สอง เยียวยาผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังเกินกำหนดในคำพิพากษา ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่คำนวณวันปล่อยตัวผิดพลาด หรือมีความผิดพลาดคลาดเคลื่นอื่นๆทำให้กลายเป็นคุมขังเกินกำหนดโทษที่ศาลกำหนด กลุ่มที่สาม คือ ผู้ต้องขัง และเยาวชนที่ถูกคุมตัวในสถานคุมขังหรือสถานควบคุมเยาวชนถูกเจ้าหน้าที่ในที่ควบคุมหรือคุมขังทำร้ายร่างกาย หรือได้รับความเสียหายจากการถูกลงโทษตามระเบียบของสถานควบคุมนั้น ซึ่งมีข้อเสนอ 2 ประการ คือให้เปลี่ยนถ้อยคำให้ชัดเจนสำหรับกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือ หรือจะขยายความคำว่าสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางว่าหมายถึงกรณีอย่างไร
ประเด็นอื่นๆเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกองทุนฯคือ ภารกิจของกองทุนจะเพิ่มเติมมากกว่า 4 ภารกิจหรือไม่ ประเด็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เราไม่มีทนายความประจำ แต่มีทนายความอาสาจากสภาทนายความและทนายความที่ขึ้นบัญชีไว้กับกองทุน ซึ่งกองทุนฯไม่มีความสามารถในการดูแลทนายความเหล่านั้น จึงมีข้อเสนอว่ากองทุนควรเป็นผู้ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือตามภารกิจและทำตัวชี้วัดความสำเร็จเท่านั้น
หลักการและแนวทางของสหประชาชาติว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
ไพโรจน์ พลเพชร การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายปรากฏชัดเจนในข้อเสนอแนะสหประชาชาติว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายและในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ตั้งแต่ถูกจับกุมต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน มีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว มีทนายความหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้รับสิทธิในความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายที่ภาครัฐมีเครื่องมือและกลไกที่มากกว่าประชาชน นี่เป็นหลักการที่กองทุนยุติธรรมพยายามทำให้เป็นไปตามหลักสากล และยังมีภารกิจเรื่องการให้ความรู้ทางกฎหมายซึ่งยังมีภาพไม่ค่อยชัดจนว่าได้ดำเนินการไปอย่างไร นอกจากใช้งบประมาณไม่มากนักในการให้หน่วยงานต่างๆทำโครงการขอรับการสนับสนุน สิ่งที่อยากเห็นในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรม คือ การบริหารงานที่เป็นอิสระ และการกำกับดูแลให้มีหน่วยงานต่างๆสามารถเข้ามาขอรับการสนับสนุนจากกองทุนได้โดยง่าย ทั้งสภาทนายความ ภาคประชาสังคม และบุคคล โดยกองทุนเป็นเพียงกำกับดูแลให้การให้ความรู้ทางกฎหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอรับการสนับสนุน กองทุนไม่ต้องทำโครงการเอง เช่นการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่กลุ่มเฉพาะ อย่างเด็ก สตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว มีองค์กรภาคเอกชน มีทนายความที่มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือทางกฎหมายและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่กลุ่มเหล่านี้อยู่แล้ว กองทุนควรพิจารณาสนับสนุบงบประมาณและเครื่องมือต่างๆที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนหน่วยงานเหล่านี้ ซึ่งมีกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่แทนรัฐในการอำนวยความยุติธรรม หรือคดีสิ่งแวดล้อม คดีแรงงาน กรณีเหล่านี้มีองค์กรภาคประชาสังคมให้ความช่วยเหลืออยู่ ทำอย่างไรให้กองทุนยุติธรรมขยายความช่วยเหลือไปยังกรณีเหล่านี้
ในช่วงปี 2555-2558 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก็มีการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย พร้อมๆกับที่กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำกฎหมายกองทุนยุติธรรม ซึ่งในกฎหมายของ คปก.นั้นไม่ได้เสนอในรูปของกองทุน กองทุนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยเสนอหลักการว่าต้องให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายได้โดยง่าย กองทุนเป็นเสมือนการจัดสรรงบประมาณเปรียบเทียบได้กับการมีค่าหัวของประชาชนในการเข้าถึงหลักประกันด้านสาธารณสุขของ สปสช. ที่สปสช.รับเงินงบประมาณแผ่นดินมาแจกจ่ายให้กับหน่วยบริการคือโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ แล้วรัฐก็ประเมินว่างบประมาณจำนวนนี้จะแจกจ่ายให้ประชาชนกี่คนในแต่ละจังหวัด เพื่อคิดเป็นค่าหัวต่อคนต่อปีงบประมาณ ตามลักษณะของพื้นที่ ลักษณะของโรคในท้องถิ่น สปสช.จะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบว่าหน่วยบริการสาธารณสุขให้บริการครบถ้วน ถูกต้อง และใช้จ่ายงบประมาณตามแผนหรือไม่ เช่นเดียวกันอยากเห็นการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายมีหน่วยบริการทั่วประเทศ มาจากหลากหลายภาคส่วน ดังนั้นกองทุนยุติธรรมควรปรับปรุงให้กองทุนทำหน้าที่แบบนี้ สำหนับงบประมาณนอกจากได้รับจากงบประมาณแผ่นดินทุกปีแล้ว ควรได้รับจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วย เช่น งบจากค่าปรับในคดีต่างๆ ที่ศาลพิพากษา เงินที่ผู้ประกันตัวหลบหนีแล้วถูกริบจากศาล ต้ควรนำเงินเหล่านี้มาใช้ในการดำเนินงานของกองทุน ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
กองทุนยุติธรรมจะดำเนินงานโดยอิสระได้อย่างไร
ไพโรจน์ พลเพชร สำหรับเรื่องความเป็นอิสระของกองทุนนั้น หากกองทุนยังอยู่ภายใต้สายบังคับบัญชาในกระทรวงยุติธรรม แม้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่ก็ยังไม่ถือว่ามีอิสระเท่าที่ควร กองทุนเป็นนิติบุคคลนั้นดีแล้ว แต่ควรมีกฎหมายรองรับให้คณะกรรมการเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม โดยมีกฎหมายออกเป็นพระราชบัญญัติให้กองทุนเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งการออกแบบให้เป็นอิสระอาจหมายถึงทำให้กองทุนยุติธรรมเป็นองค์การมหาชน หรือองค์กรในรูปแบบอื่นๆ
ผอ.มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ โดยหลักของความเป็นอิสระนั้นมีรูปแบบการบริหารงาน 2 แบบ คือ ตัวกองทุนเป็นนิติบุคคล ก็มีอิสระในการบริหารแบบหนึ่ง อีกแบบคือ ให้คณะกรรมการกองทุนเป็นอิสระ ซึ่งการจัดการกองทุนจะมีความเป็นอิสระ คล่องตัวกว่า แต่กองทุนยุติธรรมในปัจจุบันมีลักษณะเป็นลูกผสม คือ มีรัฐมนตรีเป็นประธาน ปลัดกระทรวงเป็นผู้บริหาร และรองปลัดที่ได้รับมอบหมายเป็นเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักงาน เป็นผู้ช่วยเลขาฯ การขออนุมัติต่างๆจะส่งผ่านเลขานุการ คือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายไปที่ปลัดกระทรวง ทำให้ดูเหมือนเป็นสายงานบังคับบัญชาที่ยืดยาวกว่ากองทุนอื่นๆที่รัฐจัดตั้งขึ้น ดังนั้นหากจะให้กองทุนแยกออกไปอิสระเลย ก็จะต้องมาดูเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆและบุคลากร เพราะเราใช้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรม และบุคลากรของกระทรวงในต่างจังหวัด ที่ทำให้เป็นข้อดีที่เราไม่ต้องไปจัดหาบุคลากรเอง การดำเนินคดีก็มีกองกฎหมายของกระทรวงให้ความช่วยเหลือ พาหนะก็ใช้ของส่วนกลาง ต่างๆเหล่านี้เป็นข้อดีของการบริหารกองทุนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ข้อเสนออื่นๆในการปรับปรุงแก้ไขพรบ.กองทุนยุติธรรม
ไพโรจน์ พลเพชร ภารกิจเรื่องงานศึกษาวิจัย กองทุนยุติธรรมควรมีภารกิจในเชิงวิจัยและพัฒนา โดยอาศัยข้อมูลจากการให้ความช่วยเหลือฯในแต่ละปีที่มีเป็นจำนวนมาก เอามาเรียบเรียงและสังเคราะห์ ก็จะทำให้เห็นทิศทางว่าคดีที่ให้ความช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นกรณีอย่างไร ปัญหาของเรื่องนั้น คืออะไร เพื่อนำไปสู่การเสนอทางออกที่กองทุนหรือกระทรวงจะได้จัดทำเป็นนโยบายและโครงการที่จะแก้ไขประเด็นเหล่านั้น ซึ่งการที่กองทุนอยู่ภายใต้กระทรวงฯทำให้การทำงานวิชาการเป็นไปได้ยากขึ้น หากกองทุนอยู่ภายใต้กฎหมายการให้ความเหลือทางกฎหมาย จะทำให้การทำงานในเชิงวิชาการทำได้กว้างขวางขึ้น ประเด็นต่อมา คือ ภารกิจด้านการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนต้องมีการปรับปรุง เพราะหากประชาชนมีความรู้ทางกฎหมาย ประชาชนจะพึ่งตัวเองได้เพิ่มขึ้น ชุมชนจะเข้มแข็งในระยะยาว อันเป็นการป้องกันมิให้ประชาชนต้องพึ่งพารัฐเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ขณะเดียวกันตัวกองทุนก็ไม่ต้องให้ความรู้เอง แต่กระจายภารกิจไปให้องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด กองทุนทำหน้าที่เพียงการบริหารจัดการให้การให้ความรู้ทางกฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ที่กองทุนไม่ต้องขึ้นทะเบียนทนายความ แต่กระจายงบประมาณไปยังองค์กรหรือสำนักงานกฎหมายให้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือทางคดี วิธีการคือ ให้สำนักงานกฎหมายหรือองค์กรเอกชนที่ต้องการทำโครงการมาเสนอกองทุนว่าสามารถให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ปีละกี่คดี มีความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเป็นพิเศษ ใช้งบประมาณเท่าไร มีการบริหารโครงการและงบประมาณอย่างไร โครงการสิ้นสุดเมื่อไร ทางกองทุนก็ตรวจสอบหรือจัดทำความเห็นว่าสำนักงานหรือองค์กรใดมีคุณสมบัติและมีความเชี่ยวชาญตามที่ตรวจสอบ ก็ให้ความเห็นชอบให้สำนักฎหมายหรือองค์กรนั้นเป็นผู้รับคดีไปดำเนินการ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการกองทุนก็ทำการประเมินผล ปัญหาคือ หากจะทำแบบนี้ กฎหมายกองทุนยุติธรรมยังไม่เปิดช่องให้ทำได้ ต้องไปแก้ไข
ผอ.มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ ข้อเสนอที่จะให้กองทุนเป็นฝ่ายสนับสนุนหน่วยงานหรือองค์กรอื่นที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นผู้รับไปดำเนินการ โดยกองทุนไม่ต้องดำเนินการเองก็เป็นส่วนหนึ่งในความคิดของกองทุนอยู่แล้ว จากการดำเนินงานในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พอจะเห็นว่าการช่วยเหลือทางกฎหมายไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือจนถึงขั้นดำเนินคดีในชั้นศาล บางกรณีแค่เพียงให้คำปรึกษาเบื้องต้น บางกรณีเราก็ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท บางกณีก็แค่การช่วยเหลือด้านการปล่อยชั่วคราว ดังนั้นการมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ชำนาญในเรื่องนั้นๆมาเป็นผู้รับช่วงไปดำเนินการ. กองทุนน่าจะจัดการในกรณีเหล่านี้ได้ตามที่เสนอ
ส่วนกรณีกลุ่มผู้ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือกรณีพิพาทเล็กๆน้อยๆระหว่างบุคคลในชุมชนที่อยู่ติดกัน เช่นทะเลาะกันเรื่องที่จอดรถ ความเดือดร้อนรำคาญเพื่อนบ้าน กองทุนยังไม่ได้มีนโยบายในการดำเนินการกรณเหล่านี้ แต่หากเป็นกรณีที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – พม. มีอำนาจตามกฎหมายเป็นเจ้าภาพในกรณีนี้ กองทุนจะเป็นเพียงหน่วยประสานงานกับพม.ให้เข้ามาดำเนินการต่อ เราอาจแค่นั่งรถไปเป็นเพื่อนผู้ร้องให้ไปพบ พม. หรือ พาไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะหลายกรณีผู้มาร้องเรียนไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือแค่เรื่องทางกฎหมาย แต่อาจต้องการความช่วยเหลือทางจิตเวชหรือสังคมจิตวิทยาอย่างอื่นที่เราค้นพบจากการซักถามข้อมูล บางกรณีผู้ร้องและคู่กรณีไม่ต้องการการดำเนินคดี เพียงต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็จะเสนอให้ไกล่เกลี่ยกันโดยทั้งสองฝ่ายยินยอม แต่ถ้าไกล่เกลี่ยแล้วไม่สำเร็จ กองทุนก็จะส่งต่อให้หน่วยงานอื่นหรือช่วยจัดการเรื่องการดำเนินคดี กองทุนจะทำงานประสานงานอย่างใกล้ชิดกับยุติธรรมชุมชนในทุกจังหวัด การดำเนินการนี้เช่นมีระเบียบของกองทุนให้สามารถดำเนินการได้
ข้อเสนอต่อการให้ความช่วยเหลือคดีสิทธิมนุษยชน
ไพโรจน์ พลเพชร จริงๆแล้วความหมายของสิทธิมนุษยชนมีความกว้างมาก ทั้งการละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายถูกทำร้าย บาดเจ็บ ไปจนถึงการละเมิดต่อที่ดิน ที่อยู่อาศัย กองทุนควรทบทวนจุดมุ่งหมายที่ดำเนินการอยู่ว่าต้องการมุ่งไปให้ความช่วยเหลือในด้านใด ตามที่ดำเนินการอยู่เช่นว่า ให้ความช่วยเหลือกรณีที่นับวันจำคุกผิดพลาด ทำให้ผู้นั้นถูกขังเกินกำหนดในคำพิพากษา ต้องถือว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายเพราะเป็นการเอาคนไปขังไว้ไม่ให้ได้รับอิสรภาพ โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ ซึ่งหากจะดำเนินการต่อไปควรมุ่งไปให้ความช่วยเหลือคดีละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกาย การถูกทรมาน การทำร้ายร่างกายให้ได้รับอันตราย บาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมถึงการถูกขังเกินกำหนดด้วย
ข้อเสนอต่อการให้ความรู้ประชาชนทางกฎหมาย
ผอ.มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ เป็นภารกิจที่กองทุนไม่ได้ดำเนินการเองแต่สนับสนุนให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นมาดำเนินการ ซึ่งได้สให้การสนับสนุนประมาณปีละ 120 -130 โครงการ ถือว่ายังไม่มากเท่าที่ควร กระจายกันออกไปทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โครงการที่ได้รับการสนับสนุน เช่น มูลนิธิของคนพิการ มูลนิธิด้านผู้หญิง ฯลฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านนั้นอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือ ศูนย์ยุติธรรมชุมชนภาคประชาชน ศูนย์ไกล่เกลี่ยในท้องถิ่นตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่สนับสนุนให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เนื้อหาของการอบรมก็จะเป็นเรื่องที่ชุมชนประสบเป็นประจำ เช่น เรื่องหนี้สิน กฎหมายที่ดิน กฎหมายในชีวิตประจำวัน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นต้น รูปบบการอบรมมีทั้งการบรรยาย การอภิปรายและการอบรมเชิงปฏิบัติการ สำหรับประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ยุติธรรมชุมชน โดยสรุปคือเห็นด้วยว่ากองทุนไม่ควรดำเนินการเอง แต่จะต้องปรับปรุงเรื่องการจัดการบริหารการสนับสนุนให้ง่ายต่อการดำเนินงาน ตัดข้อจำกัดเรื่องการรายงานทางการเงินที่ยุ่งยากเพราะให้งบประมาณสนับสนุนไม่มาก แต่ต้องมีรายงานหลายขั้นตอน ใช้เวลามาก ห้ามใช้จ่ายผิดประเภท เป็นต้น
ไพโรจน์ พลเพชร กองทุนยุติธรรมควรปรับปรุงเรื่องการบริหารงานภายในให้มีความเป็นอิสระ และต้องเป็นผู้สนับสนุนให้มีหน่วยงานหลายฝ่ายเข้ามารับผิดชอบภารกิจอย่างกว้างขวางทั้งในภารกิจด้านการให้ความช่วยเหลือทางคดี การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองอันเป็นการสร้างความเข้มแข็งหรือเป็นการเสริมศักยภาพให้แก่ชุมชนได้พึงตนเองได้
ผอ.มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ ในระยะสั้นกองทุนต้องปรับปรุงระบบการยริหารงานภายในให้มีประสิทธิภาพ การประชุมอนุกรรมการ ระบบการให้การสนับสนุน การรายงานติดตามผลการดำเนินโครงการจากองค์กรภายนอก และการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรภายในองค์กร รวมถึงการประสานงานระหว่างบุคลากรของกระทรวงยุติธรรมที่เข้ามารองรับภารกิจของกองทุนกับบุคลากรของกองทุน ให้ทำงานลดขั้นตอนต่างๆลง และใช้เวลาในการประสานงานลดลงแต่ได้เนื้องานที่มีประสิทธิภาพ ในระยะยาวคงต้องรับข้อเสนอต่างๆที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นมาดำเนินการจัดหมวดหมู่ให้กองทุนมีภารกิจตามที่คาดหวังและมีความยืดหยุ่นในการรองรับภารกิจตามที่ประชาชนได้คาดหวัง บางเรื่องสามารถดำเนินการได้ทันทีจากระบบการแก้ปัญหาภายใน บางข้อเสนอตองไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกองทุนซึ่งคงต้องใชระยะเวลาพอควร แต่ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีการดำเนินงานกองทุนมาตั้งแต่ปี 2559 จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 7 ปี นั้นถือว่ากองทุนยุติธรรมมีพัฒนาการในการดำเนินภารกิจด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งเราคงต้องมีการพัฒนาต่อไป และหวังว่ากองทุนจะได้รับการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาคประชาชนด้วย
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)