การจัดชั้นผู้ต้องขังของกระทรวงยุติธรรม

เอื้อประโยชน์กับผู้ต้องโทษคดีทุจริตคอรัปชั่น????

 

         ชั้นผู้ต้องขังคือเครื่องบ่งบอกความประพฤติของผู้ต้องโทษในเรือนจำว่า ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมีความประพฤติเช่นไร ชั้นผู้ต้องขังมีความสำคัญสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูไปสู่อิสรภาพกลับไปสู่สังคมภายนอกอยู่ร่วมกับครอบครัวได้เร็ว กว่าโทษที่ถูกกำหนดตามคำพิพากษาของศาล คนภายนอกทั่วไปอาจเคยได้รับฟังมาว่า ผู้ต้องขังบางคนถูกตัดสินให้ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ต้องโทษจริงเพียงแค่ ๑๕ – ๒๐ ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ บางคนถูกศาลตัดสินจำคุก ๒๐ ปี แต่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเพียงแค่ ๕ ปี ก็ได้รับการปล่อยตัวกลับไปสู่สังคมภายนอกมีคำกล่าวของเจ้าพนักงานในเรือนจำที่กล่าวต่อผู้ต้องขังอยู่ ตลอดเวลาตั้งแต่ก้าวแรกเข้าสู่เรือนจำคือ “ขอให้ผู้ต้องขังทำชั้นผู้ต้องขังให้ดี และเมื่อได้เป็นผู้ต้อง ขังชั้นเยี่ยมแล้ว ก็ให้รักษาชั้นของตนให้ได้”

         ประโยชน์ที่ผู้ต้องขังจะได้รับจากการมีชั้นผู้ต้องขังเช่น

1) การได้รับการลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวาระโอกาสต่างๆ ซึ่งผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมจะได้รับการลดโทษมากกว่าผู้ต้องขังชั้นอื่นที่มีชั้นต่ำกว่าในคดีความผิดประเภทเดียวกันเช่นชั้นเยี่ยมอาจได้รับการลดโทษลงหนึ่งในสองของโทษ, ชั้นดีมากได้รับการลดโทษลงหนึ่งในสามของโทษ, ชั้นดีได้รับการลดโทษลงหนึ่งในสี่ของโทษ, ชั้นกลางได้รับการลดโทษลงหนึ่งในห้าของโทษส่วนชั้นต้องปรับปรุง และชั้นต้องปรับปรุงมากจะไม่ได้รับการลดโทษ

2) การได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกโดยชั้นเยี่ยมจะได้รับการลดวันต้องโทษเดือนละ 5 วัน, ชั้นดีมากได้รับการลดโทษเดือนละ 4 วัน, ชั้นดี ได้รับการลดวันต้องโทษเดือนละ 3 วัน

3) การได้รับการพักการลงโทษ โดยนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมอาจได้รับการพักการลงโทษไม่เกินหนึ่งในสามของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด, ชั้นดีมากอาจได้รับการพักการลงโทษไม่เกินหนึ่งในสี่ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด, ชั้นดีอาจได้รับการพักการลงโทษไม่เกินหนึ่งในห้าของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด

         แต่เดิมชั้นผู้ต้องขังตามกฎกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 แบ่งชั้นผู้ต้องขังออกเป็น 6 ชั้นคือ ชั้นเยี่ยม, ชั้นดีมาก, ชั้นดี, ชั้นกลาง, ชั้นเลว และชั้นเลวมาก ผู้ต้องขังที่เข้าใหม่ที่ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจะถูกจัดชั้นเป็นนักโทษชั้นกลางทุกคดี แล้วค่อยๆ ขยับเลื่อนจากชั้นกลางขึ้นไปเป็นชั้นดี, ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ต่อมาภายหลังมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับราชทัณฑ์ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฉบับเก่า และออกเป็นพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.๒๕๖๐ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ออกกฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.๒๕๖๒ แบ่งชั้นผู้ต้องขังเป็น ชั้นเยี่ยม, ชั้นดีมาก, ชั้นดี, ชั้นกลาง, ชั้นต้องปรับปรุง, ชั้นต้องปรับปรุงมาก (เปลี่ยนชื่อจากชั้นเลว, เลวมาก เป็นชั้นต้องปรับปรุง และชั้นต้องปรับปรุงมาก) และกำหนดหลักเกณฑ์การจัดชั้นไว้ในข้อ ๓ ของกฎกระทรวงดังนี้

         ข้อ ๓ นักโทษเด็ดขาดเข้าใหม่ ให้จัดอยู่ในชั้นกลาง เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

         (๑) นักโทษเด็ดขาดสัญชาติไทยซึ่งถูกคุมขังนอกประเทศไทยมาแล้วไม่เกินสามปี เมื่อรับโอนตัวมาคุมขังในประเทศไทย ให้จัดอยู่ในชั้นกลาง

         (๒) นักโทษที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิ่มโทษฐานกระทำความผิดซ้ำหลังจากเคยต้องโทษมาแล้วเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้วออกไปกระทำความความผิดอีก ให้จัดอยู่ในชั้นต้องปรับปรุง

         (๓) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านักโทษเด็ดขาดซึ่งเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษแล้ว กลับมากระทำความผิดอีกภายในห้าปีนับแต่วันที่พ้นโทษจำคุกคราวก่อน ให้จัดอยู่ในชั้นต้องปรับปรุง

         (๔) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านักโทษเด็ดขาดซึ่งเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษแล้ว กลับมากระทำความผิดและต้องโทษจำคุกในคราวนี้อีกเป็นครั้งที่สามหรือมากกว่า ให้จัดอยู่ในชั้นต้องปรับปรุงมาก

         (๕) นักโทษเด็ดขาดซึ่งกระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ คดีสะเทือนขวัญ หรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้จัดอยู่ในชั้นต้องปรับปรุงมาก

         การเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นต้องปรับปรุงมากตาม ข้อ ๓ (๕) ข้างต้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ หลังจากที่มีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้าราชการ หรือนักโทษการเมืองที่ต้องโทษในคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบหลายคนที่ถูกศาลตัดสินจำคุกหลายสิบปี แต่จำคุกอยู่ไม่นานก็ได้รับการลดโทษลงเหลือโทษจำคุกอีกไม่ถึง 10 ปี ก็ใกล้จะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ หรือมีนักโทษในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือความผิดต่อชีวิตและร่างกายที่เมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว กลับมากระทำความผิดอีกจนเป็นที่เดือดร้อนของสังคม

         การถูกจัดเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นปรับปรุงมากตาม ข้อ ๓ (๕) ถือว่าเป็นชั้นนักโทษต่ำสุด ๆ เพราะนักโทษเด็ดขาดที่ถูกจัดอยู่ในชั้นนี้ จะไม่ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นเวลานานถึง 3 ปี เมื่อได้รับการเลื่อนชั้นก็จะต้องได้รับการเลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นชั้นต้องปรับปรุงก่อนที่จะได้ขึ้นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ทำให้สูญเสียโอกาสได้รับการลดโทษในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ รวมทั้งการสูญเสียโอกาสได้รับการลดวันต้องโทษ หรือการพักโทษ

         วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดโทษความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ คดีสะเทือนขวัญ หรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน พ.ศ.๒๕๖๓ โดยกำหนดว่าผู้ต้องขังที่กระทำความผิดในคดีประเภทใดบ้างจะต้องถูกจัดชั้นเป็นผู้ต้องขังชั้นต้องปรับปรุงมากตาม ข้อ ๓ (๕) แห่งกฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.๒๕๖๒ ดังนี้

         ข้อ ๑ ความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ คดีสะเทือนขวัญ หรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชนดังต่อไปนี้ ให้จัดชั้นนักโทษเด็ดขาดเข้าใหม่อยู่ในชั้นต้องปรับปรุงมาก

         (๑) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

         (ก) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามมาตราที่กำหนด

         (ข) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามมาตราที่กำหนดไว้

         (ค) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามมาตราที่กำหนดไว้

         (ง) ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ตามมาตรา ๒๘๘ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา ๖๙

         (จ) ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ตามมาตรา ๒๘๙

         (ฉ) ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง ตามมาตรา ๓๑๓

         (ช) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามมาตรา ตามมาตราที่กำหนดไว้

         (๒) ความผิดฐานผลิต นำเข้าหรือส่งออก หรือผลิต นำเข้าหรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จาคุกตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไป ถึงตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

         ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง กำหนดโทษความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ คดีสะเทือนขวัญ หรือคดีที่เป็นที่สนใจของประชาชน พ.ศ.๒๕๖๓ ที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนามในประกาศ ก่อให้เกิดปัญหา และข้อกังขาดังนี้

         ๑) ปัญหาในทางปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ และเรือนจำในการตีความเพื่อจัดชั้นผู้ต้องขังให้กับนักโทษเด็ดขาดเข้าใหม่ ที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่มาต้องโทษเป็นครั้งแรกและถูกศาลตัดสินตามความผิดที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงยุติธรรม ต้องถูกจัดชั้นเป็นนักโทษชั้นต้องปรับปรุงมาก ตามข้อ ๓ (๕) แห่งกฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ.๒๕๖๒ ทั้งที่เป็นการกระทำความผิดครั้งแรก หรือเป็นการกระทำโดยการหลงผิดเพียงชั่วขณะ หรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลับถูกตัดโอกาสที่จะได้รับการจัดชั้นให้อยู่ในชั้นกลางเหมือนเช่นกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับเก่า ซึ่งจะทำให้การจัดชั้นผู้ต้องขังโดยเรือนจำ หรือกรมราชทัณฑ์จัดเอาผู้กระทำความผิดไม่ใช่อาชญากรโดยสันดานลงไปเป็นผู้ต้องขังชั้นต้องปรับปรุงมาก เป็นการผิดเจตนารมณ์ในการปรับพฤตินิสัยเพื่อคืนคนดีสู่สังคม เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างไม่เป็นธรรม

         ๒) ข้อกังขาเกี่ยวกับประกาศกระทรวงยุติธรรมดังกล่าว คือไม่มีการรวมเอานักโทษที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งจะเป็นคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการ และนักการเมือง ทั้งที่ความผิดในหมวดดังกล่าว บางคดีมีอัตราโทษสูงถึงชั้นประหารชีวิต หรือต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และความผิดในการทุจริตคอรัปชั่น ก็เป็นต้นตอแห่งความเสื่อมของสังคม และการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นการคดโกงเงินภาษีของประชาชนไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง กลุ่มบุคลลเหล่านี้กลับไม่ถูกจัดชั้นเป็นผู้ต้องขังชั้นต้องปรับปรุงมากตาม ข้อ ๓ (๕) แห่งกฎกระทรวง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ต่อไปในอนาคตจะเป็นบรรดาข้าราชการ และนักการเมืองที่แม้ศาลจะตัดสินลงโทษจำคุก ๔๐ – ๕๐ ปี แต่ก็จำคุกไม่นานก็จะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษออกมาเหมือนนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงคนก่อน ๆ ที่ได้รับสิทธิพิเศษมาแล้ว

         ข้อกังขาดังกล่าว เป็นเรื่องที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะต้องตอบคำถามต่อสังคม ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับข้าราชการ หรือนักโทษการเมืองที่ต้องโทษในความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่

 

                                                                                          การวิก มามีชัย