สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 2/2566

หัวข้อ พัฒนาการของทหารกับการเมือง : จากอินโดนีเซีย พม่าถึงไทย

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566

เวลา 11.00-12.30 น.

ผู้ร่วมเสวนา

  1. ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2. ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เกริ่นนำ

         เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพพม่านำโดยพลเอกอาวุโสมินอ่อง หล่าย ได้เข้าควบคุมตัว ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ประธานาธิบดี วิน มยิ้น และผู้นำระดับสูงในพรรค NLD อีกหลายคน หลังจากนั้นประกาศยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน นำประเทศเข้าสู่การปกครองด้วยระบอบทหาร และจับกุมคุมขังประชาชน นักศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และผู้ออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ ส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปี ที่พม่ายังคงอยู่ภายใต้ระบอบทหาร เมื่อหันมามองดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย กลับพบว่ากองทัพอินโดนีเซียกลับเข้าสู่กรมกองและไม่มีการรัฐประหารอีกเลยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี มาแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีการรัฐประหารและมีรัฐบาลสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารมาจนปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนทางการเมือง และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างมากมาย อะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กองทัพอินโดนีเซียกลับเข้าสู่ความเป็นทหารอาชีพ ไม่เข้ามามีอิทธิพลโดยตรงและโดยอ้อมหรือเข้าแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยและพม่าต้องเรียนรู้และดำเนินการเพื่อนำประเทศไปสู่การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งที่ทหารลดบทบาทลงเป็นเพียงข้าราชการประจำที่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง รายการสสส.เสวนาทัศนะ จึงกำหนดจัดเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาการของทหารกับการเมือง : จากอินโดนีเซีย พม่าถึงไทย” เพื่อร่วมกันศึกษาและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน และนำเสนอทางออกที่ห่างไกลการรัฐประหารในอนาคต โดยเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองและบทบาทของทหารในอินโดนีเซียและพม่า มาแลกเปลี่ยนกันในครั้งนี้

ภาพรวมบทบาทของทหารกับการเมืองในพม่าและอินโดนีเซียจากอดีตถึงปัจจุบัน   

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ กองทัพพม่ามีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่ยุคก่อนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ คือเป็นยุคที่กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลเข้ายึดพม่า นายพลอองซาน ผู้นำทางทหารและได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษกู้ชาติของพม่าก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ช่วง ค.ศ. 1942-1945 ได้ริเริ่มปฏิบัติการขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกไปจากพม่า โดยร่วมกับอูนุและนายพลเนวินจัดตั้ง ‘กลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์’ (Anti-Fascist People’s Freedom League: AFPFL) โดยมีอองซานเป็นผู้นำ ซึ่งต่อมา AFPFL กลายเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพล ทำให้กองทัพพม่าได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างมากที่ต่อสู้กับญี่ปุ่นที่มีแสนยานุภาพทางทหารมากกว่า จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม 1948 ซึ่งก่อนได้รับเอกราชไม่กี่เดือนนายพลอองซานและนายทหารผู้นำกลุ่ม AFPFL ก็ถูกลอบสังหารเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญในทางการเมืองการทหารในพม่า สาเหตุที่เกิดการลอบสังหาร. นายพลอองซานเนื่องจากนายพลอองซานต้องการสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในพม่าหากภายหลังได้รับเอกราขจากอังกฤษ จึงได้เดินสายไปพบชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อจัดทำสนธิสัญญาที่เรียกว่า”สนธิสัญญาปางโหลงหรือสนธิสัญญาปางหลวง” ที่มีเนื้อหาสำคัญคือพม่าจะรวบรวมชาติพันธุ์ต่างๆขึ้นเป็นประเทศใหม่คือ สหภาพพม่าเป็นระยะเวลา 10 ปี หลังได้รับเอกราช และนายทหารของแต่ละชาติพันธุ์สามารถขึ้นเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพได้ จากนั้นทุกชาติพันธุ์ที่ร่วมลงนามจะสามารถแยกเป็นรัฐอิสระจากสหภาพพม่าได้ อันทำให้เกิดความไม่พอใจในทหารกลุ่มอื่นๆที่ไม่อยากให้มีการแยกเป็นรัฐอิสระ เพราะมีหลักปรัชญาหนึ่งที่ฝ่ายทหารยึดมั่นมาตลอดคือ ชาติพันธุ์พม่ามีความสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าชาติพันธุ์อื่น และประเทศจะแบ่งเป็นส่วนๆหรือจะมีชาติพันธุ์ใดแยกเป็นรัฐอิสระไม่ได้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการของสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ เมื่อนายพลอองซานเสียชีวิต การรวมชาติและกระบวนการสันติภาพในพม่าจึงเริ่มสั่นคลอนและไม่เป็นเอกภาพ ผู้นำกองทัพคนใหม่ที่ขึ้นมาแทนก็ไม่มีใครที่มีบุคลิกพิเศษที่ทุกฝ่ายยอมรับ ในขณะที่อูนุ[1]ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังพม่าได้รับเอกราช และนายพลเนวินซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากสนธิสัญญาปางหลวง แต่อูนุมีความใกล้ชิดและเห็นใจกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเหตุให้นายพลเนวิน เริ่มไม่พอใจ จึงไปบังคับให้อูนุลงจากตำแหน่งและมอบอำนาจให้ตนเองรักษาการ โดยเนวินเรียกว่าเป็นรัฐบาล care center government โดยขอเวลา 2 ปี (พ.ศ.2501-2503) เนวินให้สัญญาว่าในระยะเวลา 2 ปีนี้จะดูแลประเทศเป็นอย่างดี ให้โอกาสอูนุไปทำอย่างอื่น หรือจะไปวิปัสสนาที่ไหนก็ได้ เพราะอูนุเป็นคนเคร่งศาสนา หลังจากครบกำหนด 2 ปีมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ อูนุก็ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในครั้งนี้ระบบการเมืองของพม่าเริ่มมีประธานาธิบดี โดยมอบให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเวียนกันมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีที่เปรียบเสมือนเป็นประมุขของรัฐ แต่ไม่มีอำนาจบริหาร เมื่ออูนุเข้ามาบริหารประเทศได้ชูนโยบายให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและจะทำตามสนธิสัญญาปางหลวงที่ให้ชาติพันธุ์ต่างๆแยกเป็นรัฐอิสระ ส่งผลให้เนวินซึ่งไม่พอใจอยู่แล้ว จึงก่อรัฐประหารและปิดประเทศ ในปี 1962 (พ.ศ.2505) นับแต่นั้นมากองทัพพม่าจึงมีบทบาททางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีคำขวัญว่า กองทัพมีความสำคัญต่อการปกป้องชาติ กองทัพพม่าต้องสนับสนุนลัทธิชาตินิยม ชาติพันธุ์พม่ายิ่งใหญ่เหนือกว่าชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ดังนั้นประเทศพม่าจะอยู่โดยไม่มีกองทัพไม่ได้ ถ้าเราเห็นพัฒนาการแบบนี้ จะทำให้เห็นว่านี่คือเหตุผลที่ทำไมกองทัพพม่าหรือตั๊ดมะด่อ จึงเข้ามามีบทบาททางการเมืองในปัจจุบัน ที่นายพลมินอ่องหล่าย ก็ยังยึดหลักการนี้ที่มองว่ารัฐบาลพลเรือนอ่อนแอ ต่างชาติเข้าแทรกแซงพม่า กองทัพจึงต้องเข้ามาปกป้องชาติจากภัยทั้งปวงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล พัฒนาการทางการเมืองและการทหารของอินโดนีเซีย[2] นั้นคล้ายคลึงกับของพม่านั่นคือเริ่มจากยุคที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ และย้อนไปถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่กองทัพอินโดนีเซียถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองกำลังของญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองดินแดนของตะวันตก เป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคอาณานิคมนั้น เนเธอร์แลนด์ไม่เคยคิดจัดตั้งกองกำลังทหารขึ้นในอินโดนีเซียเลย แต่เมื่อสงครามโลกยุติลงกองทัพอินโดนีเซียที่ญี่ปุ่นจัดตั้งมีทหารจำนวนมหาศาลจากหลายฝ่ายทั้งชาวมุสลิม ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็มีบทบาทมากในการเรียกร้องเอกราช ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า 4 ปี และประชาชนอินโดนีเซียให้การยอมรับอย่างกว้างขวาง จนได้รับการยอมรับว่ากองทัพเป็นผู้สร้างชาติก็ว่าได้ นับแต่ยุคซูการ์โนที่เป็นวีรบุรุษกู้ชาติของอินโดนีเซียเป็นต้นมา ตั้งแต่ยุคซูการ์โนประชาชนถือว่าทหารมี power ต่อประเทศชาติ ทหารอินโดนีเซียจะมีอำนาจล้นฟ้าในยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โตซึ่งเป็นทหารในยุคหลังได้รับเอกราช โดยมีคำเรียกบทบาทของกองทัพอินโดนีเซียว่า dwifungsi หรือ ‘บทบาทหน้าที่สองอย่าง’ หรือ    2 ประการ[3] คือ

ด้านแรก คือด้านสังคมและการเมือง ในยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต กองทัพมีที่นั่งในสภาผู้แทนประชาชน 75 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง โดยได้รับการแต่งตั้งจาก ซูฮาร์โตและเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ

ด้านที่สอง คือด้านเศรษฐกิจ โดยกองทัพได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจเพื่อหารายได้เข้าหน่วยกรมกองของตน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ การทำธุรกิจของกองทัพนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ยุค 1950 หลังปี 1965 ทหารเริ่มทำธุรกิจอย่างเป็นทางการ โดยกองทัพมีสหกรณ์ของเหล่าทัพต่างๆ เพื่อลงทุนทางด้านธุรกิจ   มีการตั้งคณะกรรมการกลางสหกรณ์ของตัวเอง และตั้งกลุ่มธุรกิจที่ประกอบด้วยนายทหารนอกราชการและนายทหารประจำการ นอกจากนี้ในสมัยซูฮาร์โตนั้นทหารยังมีบทบาทในการค้ำจุนให้ซูฮาร์โตกลับมาเป็นประธานาธิบดีได้หลายสมัย ตลอดจนใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่พยายามจะลุกขึ้นต่อต้านซูฮาร์โต จนทหารที่ได้รับการยกย่องเชิดชูในยุคเรียกร้องเอกราชกลับกลายเป็นถูกประณามจากประชาชนอินโดนีเซียเองและนานาชาติว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เช่น ใช้กำลังปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลและชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างเข้มข้น เป็นเหตุให้เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ต้มยำกุ้งในปี 1997-1998 ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นเรียกร้องให้ซูฮาร์โตจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจและคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน จนกระทั่งซูฮาร์โตต้องลาออกจากตำแหน่งและฝ่ายทหารเองก็ได้รับการประณามและประชาชนไม่ยอมรับบทบาทอีกต่อไป

หลังซูฮาร์โตพ้นจากอำนาจได้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองและกองทัพขนานใหญ่ โดยมีการเสนอให้กำจัดการคอร์รัปชันในกองทัพ ปรับปรุงระบบการเลื่อนตำแหน่งที่โปร่งใส การปรับโครงสร้างทางองค์กร และลดบทบาททางการเมืองของกองทัพลง ในยุคของประธานาธิบดีอับดุลระห์มัน วาฮิด (1999-2001) ซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ลดจำนวนที่นั่งของทหารในสภาผู้แทนราษฎรลงได้ และต่อมาไม่มีที่นั่งของทหารในสภาฯเลย และค่อยๆมีการลดบทบาทของทหารลง โดยไม่ได้รับการแต่งตั้งให้บริหารรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกระบบ “บทบาทหน้าที่สองอย่าง”ของทหารลง อินโดนีเซียสามารถปฏิรูปกองทัพให้ออกจากการเมืองได้สำเร็จในปี 2009 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 กว่าปี นับแต่ซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่ง ปัจจุบันทหารอินโดนีเซียไม่มีหน้าที่ ไม่มีบทบาททางการเมือง ทางเศรษฐกิจ อีกแล้ว ทหารมีหน้าที่อย่างเดียวคือป้องกันประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ หากทหารต้องการเล่นการเมืองก็ต้องลาออกจากกองทัพ มาตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อสมัครรับการเลือกตั้งจากประชาชนเช่นพลเรือนอื่นๆ นอกจากนี้ทหารและตำรวจต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ กองทัพพม่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษหรือญี่ปุ่นเพราะกองทัพพม่ามีปรัชญาที่ยึดถือกันต่อๆมาว่ากองทัพคือผู้ปกป้องชาติ ในยุคเผด็จการทหาร SPDC ในปี 2004 นั้นมีป้ายคำขวัญติดอยู่ทั่วไปในร่างกุ้ง เช่น กองทัพคือผู้ปกป้องชาติ กองทัพพร้อมจะฆ่าทุกคนที่สร้างความเสียหายต่อความมั่นคงของชาติ ดังนั้นกองทัพพม่าจึงเข้มแข็งและพร้อมที่ออกมาแทรกแซงทางการเมืองเมื่อเห็นว่ารัฐบาลพลเรือนอ่อนแอ ในยุคที่มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาล NLD ที่ผ่านมาเพราะกองทัพไม่เชื่อว่าประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ความเจริญในมือของ NLD จึงต้องออกมาปกป้องชาติจากความล้มเหลวทางการเมืองในมุมมองของทหาร นอกจากนี้กองทัพยังมีความเชื่อว่าการแทรกแซงของต่างชาติจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ เราจึงเห็นว่าเมื่อเกิดพายุไต้ฝุ่นนากิสถล่มพม่านั้น กองทัพหรือรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้นไม่ยอมรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติเลย ทั้งๆที่ประชาชนพม่าตายไปกว่าแสนคน กองทัพก็ไม่ยอมให้ UN  และ ASEAN เข้ามาให้ความช่วยเหลือ และล่าสุดแม้แต่ฉันทามติของอาเซียน 5 ข้อ[4] ที่เรียกร้องให้มินอ่อง หล่ายคืนอำนาจให้ประชาชน กองทัพพม่าก็ไม่ให้ความสนใจ เพราะมองว่าการแทรกแซงของต่างชาติ NLD และ อ่องซาน ซูจี รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการแยกเป็นรัฐอิสระ ล้วนเป็นภัยร้ายแรงคุกคามความมั่นคงของชาติ

จากกรณีของอินโดนีเซียและพม่ามีบทเรียนอะไรต่อกองทัพไทยให้ยอมรับการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ก่อนจะตอบคำถามนี้ขอยกตัวอย่างจากสิงคโปร์ ที่มีกองทัพและฝ่ายการเมืองที่เข้มแข็ง ผู้นำกองทัพสิงคโปร์ปัจจุบันตำแหน่งอาจเทียบเท่ากับผู้บัญชาการทหารบกนั้น เป็นนายทหารที่อายุประมาณ 40 ไม่เกิน 50 ปี และเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธ เรียนรู้เรื่องการบริหารงานบุคลากร และไม่มีความเกี่ยวพันเป็นพี่เป็นน้องหรือเป็นรุ่นนั้นรุ่นนี้เลย เป็นทหารอาชีพที่พร้อมที่จะทำการรบได้เมื่อมีคำสั่งจากรัฐบาลพลเรือน และมีความเป็นนักวิชาการด้วย โดยมีความรู้ทุกเรื่องที่มิใช่เรื่องการทหารอย่างเดียว ดังนั้นบทเรียนจากพม่าและอินโดนีเซียนั้น ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ ไม่ก้าวก่ายการบริหารประเทศ ไม่แทรกแซงทางการเมืองใดๆ นายทหารของไทยมีความรู้แต่เรื่องทหารอย่างเดียวและนายทหารทั้งของไทยและพม่า ยังวนเวียนอยู่กับประวัติศาสตร์สมัยพระนเรศวร บุเรงนอง การเรียนการสอนในกองทัพของไทยยังให้ท่องจำ เสมือนอยู่ในยุคจารีตนิยมที่ไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในโลก เช่น กรณีมีเครื่องบินรบของพม่ารุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย แต่ทหารไทยไม่คิดที่จะส่งเครื่องบินไปสกัดกั้นหรือส่งหนังสือไปประท้วง จนกระทั่งต้องมีหลายฝ่ายตักเตือนจึงมีการดำเนินการประท้วงไป

ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล บทเรียนของอินโดนีเซียนั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายทหารหรือกองทัพเองลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเอง     ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากสำหรับทหารของประเทศไทยและพม่า ต้องยอมรับว่าทหารของอินโดนีเซียที่อยากปฏิรูปกองทัพให้เป็นมืออาชีพและมีอิทธิพลในการผลักดันดังกล่าว เป็นนายทหารฝ่ายพิราบที่ทุกฝ่ายยอมรับและถอดเครื่องแบบมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คือ พลเอกซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน พลเอกซูซิโล บัมบัง ได้รับการยอมรับจากทหารเป็นอย่างมาก ประกอบกับการปฏิรูปประเทศก่อนหน้านั้นประชาชนให้การสนับสนุนให้ทหารออกจากการเมืองเพราะได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความกดดันจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพในยุค    ซูฮาร์โต นอกจากนี้ในสมัยของพลเอซูซิโล บัมบังนั้นสนับสนุนให้ทหารเป็นนักวิชาการมากขึ้น โดยตัวท่านเองได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพด้วย สิ่งที่นายทหารอินโดนีเซียมีมากกว่านายทหารชาติอื่นๆคือการยอมรับเสียงของประชาชน ในสมัยซูฮาร์โตนั้นขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้โดยอ้างว่าเพราะประชาชนเรียกร้อง ประชาชนยอมรับ แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศในปี 1998 ประชาชนเรียกร้องให้ ซูฮาร์โตลงจากอำนาจ ซูฮาร์โตก็อ้างว่าเมื่อประชาชนไม่ยอมรับ ก็ขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงจากอำนาจ โดยไม่มีการจี้ให้ลงจากอำนาจหรือไม่มีทหารทำการปฏิวัติรัฐประหารแบบประเทศอื่น

            ประการต่อมาที่เชื่อมโยงกับเรื่องประชาชนไม่ยอมรับอำนาจทหารและคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในพม่าและไทยได้ก็คือ วัฒนธรรมไม่ยอมรับการปกครองโดยทหารอีกต่อไป ประชาชนเองมีประสบการณ์ในการถูกปราบปรามอย่างรุนแรง บอบช้ำและไม่ยินดีที่จะถูกทหารปกครองอันเป็นผลจากสมัยซูฮาร์โต หากไปสอบถามชาวอินโดนีเซียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายที่นิยมศาสนา ก็มักจะได้รับคำตอบทำนองว่าไม่เอาอีกแล้วระบอบการปกครองโดยทหารหรือระบอบที่ไม่สามารถตรวจสอบทหารได้  ซึ่งมีประชาชนคิดแบบนี้มากกว่าประชาชนที่ชื่นชอบระบอบซูฮาร์โต แต่ต้องยอมรับว่าทหารยังมีบทบาทมากในวงการธุรกิจเพราะยังมีธุรกิจหลายอย่างที่อยู่ในมือทหาร แม้ว่าบางส่วนจะโอนมาเป็นของรัฐแล้ว และไม่มีการแต่งตั้งให้ทหารเข้ามาบริหารในรัฐวิสาหกิจแบบสมัยซูฮาร์โตแล้วก็ตาม แต่ทหารยังคงทำธุรกิจโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นเป็นตัวแทน หรือในธุรกิจสีเทาก็ยังอยู่ภายใต้การดูแลของทหาร กล่าวโดยสรุปแม้ว่าทหารจะไม่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างไม่ถูกต้องเหมือนในอดีต แต่ต้องยอมรับว่าทหารบางส่วนก็ยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอำนาจเลย โดยปัจจุบันประธานาธิบดีโจโควี ก็ยังแต่งตั้งนายพลปราโบโว ให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพลปราโบโวเป็นทหารนอกราชการที่เคยมีประวัติในการสั่งให้ลักพาตัวนักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวมาก่อน เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักทั้งการลักพาตัวและลอบสังหาร ในช่วงติมอร์ เลสเตร์ เรียกร้องเอกราช อีกทั้งนายพลปราโบโว ยังเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโจโควี และเป็นอดีตลูกเขยอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต

            ประเด็นสุดท้ายเชื่อว่าทหารอินโดนีเซียยุคนับแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่มีทางเข้าสู่การเมืองโดยทางลัดแบบในยุคของซูฮาร์โต และเชื่อว่าทหารอินโดนีเซียจะไม่มีการกระทำรัฐประหารอย่างแน่นอน

           

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ทหารพม่านี้เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรงและไม่ใช่นำผลประโยชน์เข้ากรมกองเหมือนทหารอินโดนีเซีย แต่ทหารพม่าทำธุรกิจเป็นการส่วนตัว ธุรกิจที่ทำเงินอย่างมหาศาลคือธุรกิจน้ำมัน MOGE หรือ  Myanmar Oil and Gasoline Enterprise เป็นการร่วมทุนระหว่างกองทัพพม่ากับบริษัทน้ำมันข้ามชาติ นอกจากนี้ก็ยังมีการร่วมทุนในธุรกิจเบียร์ ที่ร่วมกับบริษัทของญี่ปุ่นในการผลิตเบียร์ ยี่ห้อต่างๆ และธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆเช่นห้างสรรพสินค้า สายการบิน รวมไปถึงธุรกิจสีเทา ต่างๆทั้งค้าอาวุธ ยาเสพติด บ่อนพนัน ฯลฯ

ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อการปฏิรูปกองทัพไทย

ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะให้ทหารทำการปฏิรูปตนเองแบบทหารอินโดนีเซีย แต่มีประเด็นที่น่าจะริเริ่มและผลักดันในประเด็นเล็กๆก่อน เช่น ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ที่อินโดนีเซียไม่มีการเกณฑ์ทหารแล้ว ประการต่อมาคือ ลดตำแหน่งนายพลของแต่ละกองทัพลง คือทำให้กองทัพมีขนาดเล็กลง ตลอดจนลดอำนาจของกองทัพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหาร เช่น ไม่แต่งตั้งนายพลเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ     ที่สำคัญต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้คนไทยไม่ยอมรับการปกครองโดยทหารหรือไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ไม่แน่ใจว่าทหารไทยจะยึดถือแนวทางการปฏิรูปตามโมเดลแบบพม่าหรือใครยึดโมเดลของใคร แต่นับแต่การรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น คณะรัฐประหารพม่าได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้บทบัญญัติที่ให้ที่นั่งฝ่ายทหาร 25 ที่นั่งในสภาลุตต่อถูกยกเลิกไปด้วย และยังไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้พลเอกมินอ่อง หล่าย ประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 6 เดือน นับแต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงก็ตาม ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการรัฐประหารจะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคม หมายความว่าอาจมีการเลือกตั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนกรกฎาคมหรืออาจภายในเดือนสิงหาคม ปีนี้ แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนมิถุนายน ปีนี้ ซึ่งแน่ใจได้ว่ากองทัพไทยไม่ควรเลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นในทางการเมืองโดยทหารพม่า และเห็นด้วยกับข้อเสนอทุกประการที่อ.อรอนงค์ นำเสนอเกี่ยวกับการลดบทบาททางการเมืองของกองทัพไทยแบบค่อยเป็นค่อยไป และขอเพิ่มเติม 2 ประเด็น คือ ควรพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนายร้อยให้ทันสมัย และต้องให้หลายฝ่ายสามารถตรวจสอบการดำเนินงานของกองทัพได้ ทั้งในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานและการบริหารบุคลากรระดับสูงการแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆภายในกองทัพ และควรต้องเน้นให้กองทัพมีการพัฒนาให้ทหารมีความเป็นมืออาชีพในด้านการรบและการป้องกันประเทศ แทนที่จะส่งเสริมให้ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยยังไม่ลาออกจากเครื่องแบบ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

[1] 4 มกราคม พ.ศ.2491 พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการ หลังถูกปกครองอยู่ถึง 63 ปี มีการเลือกตั้งในพม่า  อู นุ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อครบ 10 ปี กลุ่มชาติพันธุ์ลุกขึ้นทวงสัญญาปางโหลง เพื่อขอแยกเขตการปกครอง ขอปกครองตนเองตามที่สัญญาไว้ ในปีพ.ศ.2500 อู นุ ประกาศปฏิเสธที่จะให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวเป็นอิสระตามข้อตกลงปางโหลง เกิดกบฏชนกลุ่มน้อย มีสงครามยืดเยื้อยาวนาน เช้าวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2505 นายพลเนวินก่อรัฐประหาร เข้าปกครองพม่าแบบเผด็จการสังคมนิยม ขอปิดประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ขอยกเลิกสัญญาปางโหลง และแต่งตั้งสภาปฏิวัติ (Revolutionary Council) อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นทหารทั้งหมดขึ้นมาบริหารประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ

[2] รายละเอียดโปรดดู อรอนงค์ ทิพย์พิมล ,ย้อนดูเส้นทางการปฏิรูปกองทัพ อินโดนีเซียนำทหารออกจากการเมืองอย่างไร? จากเว็ปไซต์ the 101 world : https://www.the101.world/evolution-of-indonesian-army/

[3] อ้างแล้ว

[4] เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2021 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เห็นชอบฉันทามติ 5 ข้อในการหาทางออกจากวิกฤตความรุนแรงในเมียนมา ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ดังกล่าว มีดังนี้

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

  1. การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
  2. ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกเป็นสื่อกลางของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
  3. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)
  4. ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โปรดดูเว็ปไซด์เดอะ standard https://thestandard.co/asean-reach-five-consensus-end-violence-in-myanmar/