สรุปสสส.เสวนาทัศนะ
ครั้งที่ 1/2566
หัวข้อ วันเด็กกับสิทธิเด็กไทย
วันพุธที่ 18 มกราคม 2566
เวลา 11.00-12.30 น.
ผู้ร่วมเสวนา
เกริ่นนำ
วันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมทุกปี ได้รับการประกาศให้เป็นวันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 นี้ตรงกับวันที่ 14 มกราคม ทุก ๆ ปีจะมีคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีประกาศเพื่อรำลึกถึงและเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เด็กๆและทุกครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญของเด็กที่ถือเป็นอนาคตของชาติเสมอมา คำขวัญวันเด็กในปีนี้ คือ “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในระหว่างการระบาดของโควิด 19 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น ในปี 2562-2564 มีจำนวน 15,000-16,000 ราย โดยร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ พบว่าในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 เด็กทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น การถูกละเมิด ความรุนแรงด้านต่างๆ การถูกแสวงประโยชน์ การถูกกีดกันจากสังคม รวมถึงการถูกแยกจากผู้ปกครอง และจากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า เด็กไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์สูงมากขึ้น โดยเด็กส่วนใหญ่มักไม่ได้เล่าให้ผู้ปกครองฟังและมากกว่าร้อยละ 47 ที่ไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มของสิทธิเด็กในปี 2566 สสส.เสวนาทัศนะ จึงกำหนดจัดในหัวข้อ วันเด็กกับสิทธิเด็กไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา จากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กมาแลกเปลี่ยนและเสวนากันในครั้งนี้
ภาพรวมสถานการณ์สิทธิเด็ก
จเด็ด เชาว์วิไล ในรอบปีที่ผ่านมามีเด็กอายุตั้งแต่ 10-20 ปี ถูกข่มขืนและล่วงเกินทางเพศเพิ่มขึ้น โดยผู้ละเมิดเป็นบุคคลในครอบครัว และคนใกล้ตัวเอง เช่นพ่อแท้ๆ พ่อเลี้ยง อา ปู่ รวมถึงครูในโรงเรียนตามที่มีข่าวมีจำนวนมากขึ้น พ่อแม่ที่ทราบเรื่องมักไม่กล้าเอาผิดครู เพราะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และผู้บริหารก็ออกมาปกป้องครู หรือไปโทษเด็กว่ากุเรื่องขึ้นเองบ้างหรือเด็กมีปัญหากับครูบ้าง ทางมูลนิธิก็มีทนายความเข้าช่วยเหลือ แต่มักไม่ค่อยอยากให้เป็นคดีความ เพียงแต่อยากเห็นการแก้ไขและการป้องกันในระยะยาว อย่างไรก็ตามก็มีการดำเนินคดีหลายราย ขณะนี้อยู่ในชั้นศาล ส่วนราชการที่มีปัญหา คือ ตำรวจที่มักไม่รับแจ้งความและพยายามเสนอให้มีการไกล่เกลี่ย ถ้าเด็กโตหน่อยตำรวจก็จะมองว่าเป็นเรื่องชู้สาว ไกล่เกลี่ยกันได้ และบางหน่วยงานมักอยากให้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนเป็นข่าวก็มักจะนำเด็กมาแถลงต่อสื่อมวลชน ปิดหน้าปิดตาใส่หมวกไม่ให้เห็นใบหน้า การดำเนินการเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพียงเพื่อต้องการให้เป็นข่าว ซึ่งมูลนิธิไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถือเป็นการละเมิดเด็กเสียเอง มูลนิธิก็พยายามร้องเรียนไปที่ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
เรื่องการละเมิดเด็กออนไลน์ที่น่ากลัวมาก คือการถูกล่อลวงให้เล่นพนันทางเว็บไซต์ ที่มีมากขึ้น นอกเหนือจากการล่อลวงให้ถ่ายคลิปเปิดเผยร่างกายแล้วเอาไปแบล็คเมล รวมถึงการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า เหล้า การจูงใจให้เข้าถึงยาเสพติด การล่อลวงว่ามีงานที่ได้เงินเพื่อให้เด็กเป็นคนเดินยา เพราะตำรวจมักไม่สงสัยเด็ก เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ต้องรีบสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กโดยเร็ว แต่เนื่องจากพ่อแม่หรือครอบครัวที่ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำย่อมไม่มีเวลาอบรมดูแลลูกหลานได้อย่างทั่วถึง เด็กก็จะกลายเป็นเหยื่อของการกระทำที่ผิดกฎหมายได้ง่าย
เชษฐา มั่นคง จากสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อต้นรายการบอกว่ามีเด็กถูกทำร้ายและละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้น 1 หมื่น 5พันคนถึง1 หมื่น 6พันคนนั้น ความจริงน่าจะมีมากกว่านั้น ซึ่งมูลนิธิได้ศึกษาพบว่าเด็กเล็กทั่วประเทศมีจำนวนประมาณ 42 ล้านคน มีสถิติเด็กถูกทำร้ายร่างกาย 100 คนต่อชั่วโมง เป็นการทำร้ายทางร่างกายถูกทุบตี ด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง อันเป็นการทำร้านจิตใจที่มิใช่การล่วงเกินทางเพศอย่างเดียว โดยมากมักเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่ยังอยู่ในวัยรุ่น ยังไม่บรรลุนิติภาวะพอมีลูกก็ไม่รู้ว่าจะจัดการเลี้ยงดูลูกอย่างไร ก็มักใช้อารมณ์กับเด็ก กล่าวเฉพาะในช่วง. สถานการณ์โควิดที่เด็กต้องอยู่บ้าน ยิ่งถูกทำร้ายทุบตีมากขึ้น เพราะพ่อแม่จะเครียดที่ไม่มีงานทำหรือมีการเมาสุราหรือเมายา ทั้งนี้ไม่รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากบุคคลภายนอก เช่น กรณีกราดยิงและฆาตกรรมที่หนองบัวลำพู
สำหรับวันเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นฟินแลนด์ จะให้ความสำคัญก่อนวันเด็ก 1 สัปดาห์จะมีการคิดประเด็นว่าในปีนั้นจะรณรงค์ในประเด็นอะไรเพื่อให้สังคมยอมรับและมีส่วนร่วม เช่น ในปี 2012 เน้นประเด็นการอยู่อย่างมีความสุข 2013 เน้นเรื่องเด็กพิการ 2014 รณรงค์เรื่องสิทธิในการเล่น 2015 รณรงค์เรื่องความยากจน 2016 เรื่องความเท่าเทียม ซึ่งประเทศไทยไม่เคยให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้มาก่อน นอกจากจัดแสดงอาวุธหรืองานสันทนาการ
ประเด็นต่อมาในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการจับกุมดำเนินคดีกรณีที่เด็กและเบาวชนออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 12 ที่เรียกร้องให้รัฐภาคีประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยอิสระของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติทางศาลหรือทางการปกครองที่มีผลกระทบต่อเด็ก
สำหรับทศวรรษที่ผ่านมามูลนิธิฯมีผลงานด้านการให้ความช่วยเหลือแรงงานเด็ก ทั้งเด็กไทยและต่างชาติ ปรากฏว่ามีการละเมิดสิทธิในด้านแรงงานและละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายเด็กอย่างมาก มีทั้งกรณีทุบตีทำร้ายแรงงานที่เป็นเยาวชน(อายุ 18 ปี)ไม่ทำตามที่นายจ้างสั่งกรณีทำงานบ้านก็จะถูกเอาเตารีดนาบหลัง การไม่จ่ายค่าจ้าง การกักขังหน่วงเหนี่ยวบังคับใช้แรงงาน ส่วนมากอยู่ในอาชีพประมงซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ อีกกรณีคือเด็กที่ถูกทำร้ายในครอบครัวที่อยู่ในชุมชน ที่มักถูกทำร้ายจากพ่อแม่ที่เครียดจากปัญหาเศรษฐกิจและการต้องอยู่บ้านเพราะโควิด อยากฝากผู้ชมด้วยว่าอย่านิ่งเฉยหากพบเด็กถูกทำร้ายในที่สาธารณะ ต้องรีบแจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ด้านการคุ้มครองเด็ก เพื่อแยกเด็กออกมาจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายเพื่อให้เด็กได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจอย่างเหมาะสม
อีกประเด็นของการละเมิดเด็ก คือการละเมิดทางเพศทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่พ่อแม่มักอ้างว่าจำเป็นต้องให้ลูกใช้มือถือเพื่อความสะดวกในการติดต่อกันและเพื่อให้ลูกได้เข้าถึงสื่อออนไลน์ต่างๆอันเป็นการพัฒนาเด็ก แต่ในความเป็นจริงเด็กเล็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือเลย เพราะเมื่อเด็กเข้าถึงสื่อเด็กจะไม่ทราบว่าสื่อช่องทางไหนดีหรือไม่หรือถูกหลอกให้หลงเชื่อจากการล่อลวงด้วย profile เป็นภาพดารา ถ้าผู้ปกครองไม่ได้ดูแลตลอดเวลาเด็กจะหลงเชื่อโดยง่าย ตลอดจนการที่ปัญหาเด็กถูกเพื่อนล้อเลียนกลั่นแกล้ง bully ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น บางครั้งถึงขนาดทำร้ายร่างกายกันหรือถึงขั้นทนไม่ไหวจนฆ่าตัวตายตามที่ปรากฏเป็นข่าวก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ รวมถึงการที่สื่อกระแสหลักเชิดชูเด็กที่เป็น ยูทูปเบอร์ ในด้านหนึ่งก็เป็นการให้กำลังใจเด็กที่มีความสามารถ แต่อีกด้านหนึ่งจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กหมกมุ่นกับการทำ content เพื่อให้ตัวเองมีที่ยืนในสื่ออนไลน์ และเป็นสิ่งที่อาจไม่เหมาะแก่เด็กทุกคนให้เป็นยูทูปเบอร์ได้ดีขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ซึ่งเด็กอาจไม่สามารถแยกแยะได้ว่าตนเองมีความถนัดในการเป็นยูทูปเบอร์ได้หรือไม่ แทนที่จะใช้ความสามารอื่นๆที่ตนถนัด จะได้ประโยชน์เต็มที่มากกว่า
สาเหตุของการละเมิดสิทธิ
จเด็ด เชาว์วิไล ระบบชายเป็นใหญ่ในสังคมและระบบอำนาจนิยมถือเป็นหัวใจสำคัญของการละเมิดสิทธิเด็ก โดยเฉพาะกรณีที่ผู้บริหารหรือบุคคลที่มีตำแหน่งใหญ่โตมักอาศัยความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ตนเองใหญ่กว่าพ่อแม่เด็ก หรือบางกรณีเป็นการอาศัยช่องว่างที่เด็กมีปัญหาภายในครอบครัว เช่น พ่อแม่เลิกกัน หรือ อยู่กับปู่ย่าตายาย แล้วเด็กรู้สึกว้าเหว่ ครูก็จะเข้าหาทำตัวตีสนิทให้เด็กไว้วางใจ จนกระทั่งล่วงเกินทางเพศเด็ก ซึ่งเด็กไม่มีทางที่จะขัดขืนหรือจำต้องยอมเพราะมีความทับซ้อนของอำนาจค้ำอยู่ ไม่กล้าร้องเรียน ไม่กล้าบอกใคร เพราะบางทีเมื่อเด็กไว้วางใจหรือจนกระทั่งเกิดความรู้สึกที่ดีกับครู แต่ครูอาศัยที่กรณีเด็กไว้วางใจฉวยโอกาสละเมิดเด็กเสียเอง บางกรณีถูกครูล่วงเกินมาตั้งแต่สมัยมัธยม พอเข้ามหาวิทยาลัยมีความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นอยากจะดำเนินการกับครูที่ฉวยโอกาสก็ทำไม่ได้ เพราะหลักฐานต่างๆก็หาไม่ได้หรือหายไปแล้ว เป็นต้น นี่เป็นเหตุให้ระบบอำนาจนิยมฝังรากลึกในสังคมไทย
กล่าวได้ว่าระบบอำนาจนิยมเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร ที่เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เราไม่อาจวิเคราะห์ได้ว่าการที่พ่อแม่ทำร้ายหรือล่วงเกินทางเพศลูกตัวเองเป็นปัญหาทางจิตวิทยา แต่เป็นเพราะการไม่สามารถหาทางออกจากปัญหาที่รุมเร้าได้จึงไประบายกับลูกตัวเองหรือภรรยาที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า อันเป็นผลพวงจากอำนาจชายเป็นใหญ่และการรวมศูนย์อำนาจของรัฐที่ไม่กระจายไปสู่ท้องถิ่น ปัญหาเหล่านี้มันเชื่อมโยงพัวพันเป็นวงจรเดียวกัน คือ รัฐรวมศูนย์ไม่กระจายอำนาจไปให้ชุมชน ปัญหาเศรษฐกิจอันเกิดจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลวจากการรัฐประหาร ระบบชายเป็นใหญ่ที่เริ่มมาจากนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารรัฐที่เป็นชาย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุของความรุนแรงต่อเด็กและบุคคลในครอบครัวจะวนเวียนกันอยู่ในวงจรเหล่านี้ ระบบชายเป็นใหญ่สร้างเสริมให้เกิดค่านิยมว่าพ่อแม่ ครูตีลูกเพื่ออบรมสั่งสอนได้ คนยากจนไม่เคยได้รับการปรับค่าแรง อันเป็นผลมาจากการบริหารประเทศ เด็กและเยาวชนไม่มีทางออกก็ออกมาชุมนุมทางการเมือง 2-3 ปีที่ผ่านมาเด็กๆและเยาวชนตื่นตัวเรื่องการไม่ยอมรับระบบอำนาจนิยม ทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน จึงมาเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหา แต่ก็ถูกรัฐจับกุมดำเนินคดีเหมือนเป็นอาชญากร ซึ่งไม่ควรต้องเกิดปัญหาเช่นนี้ หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางระบอบการปกครองและแก้ไขค่านิยมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนจะไม่หมดไปและยิ่งจะทวีความขัดแย้งอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย
เชษฐา มั่นคง ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาทางจิตวิทยาของผู้กระทำความรุนแรงแน่นอน แต่เกิดจากปัญหาค่านิยมชายเป็นใหญ่ หรือค่านิยมที่ว่าผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน เป็นเด็กต้องเชื่อฟังอย่าเถียง เป็นต้น แต่จะขอนำเสนอประเด็นที่ทำให้เด็กและเยาวชนต้องได้รับแรงกดดันอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิเด็กในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เป็นสิ่งท้าทาย 6 ด้าน คือ 1. ความผันผวนและความซับซ้อนของโลกใหม่ 2. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง ผ่านเทคโนโลยี 3. เด็กจะต้องเผชิญกับการก้าวข้ามสังคมโลก ที่จะไม่สนใจปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ได้ 4. ความไม่ลงรอยกันระหว่างวัยหรือ รุ่น generation มีความคิดเห็ฯ พฤติกรรม วิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันของคนต่างวัยที่แต่ละ gen ก็มีความคิด รับข่าวสาร ค่านิยม ความเชื่อ ที่แตกต่างกัน มีแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่เป็นของคนรุ่นนั้นๆ โดยไม่เข้าใจคนรุ่นที่ต่างจากรุ่นตนเอง 5. ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทั่วโลกเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยหรือมีคนในวัยใดวัยหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป เช่นมีคนสูงอายุมกกว่าเด็กเกิดใหม่ ประชากรโตไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คนในวัยทำงานที่สามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจะลดน้อยลงเพราะคนเกิดน้อยลง ในประเทศไทยมีประชากรเกิดใหม่ปีละ 3 แสนคน ซึ่งจำนวนเด็กเกิดใหม่จะค่อยๆลดลงทุกปี ความท้าทายสุดท้ายที่เด็กจะต้องเผชิญคือความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกสูงขึ้น เห็นได้ว่าจำนวนครัวเรือนที่ยากจนมีจำนวนมากกว่าจำนวนครัวเรือนที่ร่ำรวย และจำนวนคนที่ร่ำรวยก็จะร่ำรวยยิ่งๆขึ้นแต่จำนวนไม่มาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับครัวเรือนที่ยากจน ในเด็กจำนวน 5 แสนคน 10% จะเป็นคนที่มีจะกิน แต่ในขณะที่ 10% ของคนไทย 2.18 ล้านคน เป็นเด็กในครอบครัวยากจน ความห่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจจึงเป็นความผันผวนที่เด็กจะต้องเผชิญอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเด็กในชุมชนแออัด และในชนบทที่ไม่มีโอกาส จะยิ่งได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น และที่ยิ่งน่าเป็นห่วงคือ ที่บ้านเด็กก็ถูกทำร้ายล่วงเกิน ที่โรงเรียนก็มีกรณีเด็กต้องใช้เรือนร่างในการแลกเกรดกับครู ไปวัดก็ไม่ปลอดภัยถูกพระสงฆ์ล่วงเกินอีก ทำให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กแทบจะไม่มีแล้วในสังคม
การละเมิดสิทธิเด็กมีสถิติไม่มาก แปลว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กส่วนใหญ่ในประเทศ
จเด็ด เชาว์วิไล สิ่งที่เราเห็นและแลกเปลี่ยนกันในวันนี้เปรียบเสมือนเป็นปรากฏการณ์ของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นยอดออกมาให้เห็น แต่รากฐานของปัญหาภายใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งนั้นฝังลึกและซับซ้อนมายาวนาน เราจึงเห็นปัญหาแต่เพียงส่วนเดียวและดูเหมือนไม่กระทบเด็กส่วนใหญ่ แต่ความจริงไม่ใช่ ความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงเกินทางเพศทั้งเด็กหญิงเด็กชายมีขึ้นทุกวัน สถิติที่รัฐหรือพวกเราเก็บต่างๆดูมีจำนวนน้อย แต่แน่นอนว่ามีอีกมากที่เด็กจะไม่กล้าร้องเรียนด้วยเหตุจากอำนาจนิยม และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารจะสังเกตเห็นว่ามีเยาวชนระดับมัธยมออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองจากปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน ปัญหาในการแสดงความคิดเห็น ก็ถูกจับกุมคุมขัง ไม่ยอมให้ประกัน สิ่งที่เด็กออกมาเรียกร้องเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเกิดจากภายใต้ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเราต้องปล่อยให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัย แต่เราไม่เห็นกลไกรัฐทำหน้าที่จัดการหรือรับฟังปัญหาของเด็ก
เราจะแก้ไขด้วยการจัดระเบียบทางการศึกษาได้หรือไม่ เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาไม่ออกมาขนับรับฟังสิ่งที่เด็กและเยาวชนเสนอ แม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากกรุงเทพมหานครที่รองผู้ว่าฯสานนท์ เริ่มพูดคุยกับภาคประชาสังคม เปิดพื้นที่ในกทม.ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการเสนอประเด็นต่างๆที่อยากให้แก้ไข เช่น มีการทำ MOU ให้มีพื้นที่ปลอดภัย จัดทำโรงเรียนต้นแบบความปลอดภัย เป็นต้น สิ่งที่เราเสวนากันอยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบเก่าที่ไม่ปรับตัว จึงต้องรื้อหรือทลายระบบเก่าเสีย แล้วหาคนที่พร้อมจะมารับฟังและเปิดพื้นที่ให้จ้าของปัญหามีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็งให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ มีส่วนร่วม ภาคประชาชนเสนอให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าก็ดี ส่งเสริมให้ครอบครัวมีลูกด้วยการให้สวัสดิการลาคลอดจริงจัง ให้พ่อลาไปดูแลลูกได้ จัดศูนย์เลี้ยงดูเด็กในที่ทำงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำด้วย ฯลฯ จึงเห็นว่ารัฐที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะพร้อมรับผิดต่อประชาชนเจ้าของอำนาจมากกว่ารัฐบาลที่มาจากอำนาจรัฐประหาร ตอนนี้ทุกคนรอความหวังในรัฐบาลใหม่ รอเลือกตั้งเพราะหมดหวังกับรัฐบาลนี้
เชษฐา มั่นคง ปัญหาที่ปรากฏนี้มีไม่น้อยเลย เรายังไม่รวมที่เกิดขึ้นจากเด็กไร้สัญชาติที่มีอีกมาก ในขณะที่ช่วงโควิดมีโรงงานเป็นจำนวนมากปิดตัวลง พ่อแม่ต้องย้ายกลับไปชนบท แล้วเด็กก็ต้องติดตามไปด้วย มีจำนวนมากที่ไม่มีการจัดทำสถิติไว้ ว่ามีคนตกงานเยอะเด็กก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย นี่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง
ถ้าจะพูดถึงการแก้ไขด้วยระบบการศึกษาอยากจะบอกว่า การศึกษาของเรากระจุกตัวอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่พื้นที่การเรียนรู้สมัยใหม่นั้นสามารถอยู่รอบๆโรงเรียนก็ได้ เช่น ในชุมชน ที่บ้าน ในโรงงาน ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ฯลฯ ที่เด็กเข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัย โดยต้องปรับปรุงกลไกของรัฐให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและ active กว่านี้ เช่น ขณะนี้มีหน่วยราชการที่เป็นศูนย์ดูแลเด็กเล็กอยู่ 9 หน่วยงาน ไม่รวมเอกชน มีศูนย์ดูแลเด็กทั่วประเทศประมาณ 5.2 หมื่นแห่ง ที่ดูแลเด็กเล็กได้ 2.4 ล้านคน ในขณะที่มีเด็กเล็กทั่วประเทศประมาณ 4.1 ล้านคน ส่งผลให้เด็กเล็กอีก 1.9 ล้านคนตกหล่นไม่ได้รับการดูแล ไปอยู่กับปู่ย่า ตายายบ้าง หรือญาติพี่น้องบ้าง พออายุครบ 2 ขวบ 6 จึงเอามาเข้าศูนย์เด็กเล็กได้ ทำให้ช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ขวบครึ่งไม่ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ทั้งๆที่รัฐสามารถดูและเด็กได้ครบทุกคน แต่อ้างว่าไม่มีงบประมาณ ซึ่งภาคประชาชนก็เสนอทางออกให้ว่าสามารถจัดสรรงบประมาณมาได้ และไปเสนอให้กทม.จัดโครงการนำร่องให้กทม.จัดทำศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้สอดคล้องกับเวลาทำงานและเวลาเลิกงานของพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่ในวัยทำงานและมีรายได้น้อยมีทางเลือกในการส่งลูกให้ศูนย์ดูแล โดยไม่ต้องไปจ้างคนมาเลี้ยงหรือส่งไปให้ญาติพี่น้องดูแล อันจะทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนการปรับปรุงการศึกษาในระบบนั้น คงต้องปรับที่คุณภาพของบุคลากรหรือครูและผู้บริหารทางการศึกษาให้มีคุณภาพและไม่ละเมิดเด็กเสียเอง มีระบบตรวจสอบ รับเรื่องร้องเรียนและลงโทษที่มีประสิทธิภาพ ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้อย่างจริงจัง
ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก
บทบาทของชุมชน
จเด็ด เชาว์วิไล มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีอาสาสมัครที่อยู่ในชุมชนในกรุงเทพฯประมาณ 10 ชุมชน และในต่างจังหวัดบางจังหวัดที่เราทำงาน เช่น อุบลราชธานี ชุมพร เป็นต้น คอยเฝ้าระวังเมื่อเกิดเหตุทำร้ายร่างกายในครอบครัวหรือการละเมิดทางเพศต่อเด็กในชุมชน อาสาสมัครซึ่งผ่านการอบรมและมีความรู้ทางกฎหมายในเบื้องต้นจะรีบเข้าแทรกแซงครอบครัวหรือเหตุการณ์นั้น มิให้ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงที่แก้ไขไม่ได้ โดยอาจเข้าไปเตือนให้หยุดการกระทำ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่เกิดเหตุ โดยบุคคลที่จะใช้ความรุนแรงไม่อาจอ้างได้ว่านี่เป็นเรื่องภายในครอบครัวหรือเป็นเรื่องของผัวเมีย เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ใครทำร้ายกันได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ สามีภรรยา หรือใครก็ตาม บางครั้งอาสาสมัครก็ต้องประสานงานกับสหวิชาชีพตามกฎหมายในการเข้าระงับเหตุ และต้องสอบหาข้อเท็จจริงจากเด็ก เช่น ในกรณีที่พ่อหรือผู้ชายในครอบครัวละเมิดทางเพศต่อเด็ก สหวิชาชีพจำเป็นต้องแยกเด็กออกจากครอบครัว ซึ่งหากไม่มีสหวิชาชีพเข้าร่วม อาสาสมัครก็ไม่มีอำนาจพาเด็กออกจากครอบครัวได้ เป็นต้น อันนี้เป็นบทบาทที่ชัดเจนของมูลนิธิฯ ซึ่งวิธีการในการเข้าถึงเพื่อระงับเหตุรุนแรง ก็ใช้มาตรการหลายแบบแล้วแต่กรณีที่เผชิญเฉพาะหน้า แต่อย่างน้อยคือการเตือนสติผู้กระทำว่าเขาไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่กระทำความรุนแรงเช่นนั้นได้ และอาจถูกดำเนินคดีด้วย ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็จะทราบว่ามีอาสาสมัครอยู่ในชุมชนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือและดำเนินการในเบื้องต้นเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นในชุมชน การมีอาสาสมัครนี้ ที่ผ่านมาเราเคยจัดอบรมอาสาสมัครในชุมชนแล้วปล่อยให้ดำเนินการเอง ซึ่งทำเข่นนี้มีบทเรียนว่าไม่มีประสิทธิผล ต้องจัดสรรงบประมาณลงไปให้อาสาสมัครด้วยและประสานงานกับภาครัฐให้เข้าใจและเข้ามาร่วมกับอาสาสมัครในการป้องกันและเผชิญปัญหาร่วมกัน ยิ่งเราขยายการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ ย่อมมิใช่ว่าเป็นเพราะเกิดปัญหามากขึ้น แต่เป็นเพราะมีการขยายการเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอันเป็นพื้นฐานของความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน ให้เข้มแข็งและดูแลกันเองได้
เชษฐา มั่นคง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ก็มีโครงการอบรมอาสาสมัครในชุมชนเช่นกัน แต่เราใช้กลไกของรัฐที่มีในชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) เป็นต้น ในการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิเด็กในชุมชน ซึ่งงบประมาณในการอบรมและการเฝ้าระวังก็มาจากกองทุนต่างๆในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นเอง อีกโครงการเป็นกิจกรรมที่ทำกับนักเรียนในชุมชน เรียกว่าโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน เมื่อมีเด็กคนไหนไม่มาเรียนหรือขาดเรียน ครูและเพื่อนๆในโรงเรียนจะรีบไปหาที่บ้านเพื่อสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งบางครั้งเป็นกรณีเด็กเจ็บป่วยโดยไม่มีใครดูแลหรืออาจถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บจนไม่กล้ามาโรงเรียน หรืออื่นๆ อันเป็นการเฝ้าระวังความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งก็จะมีการอบรมครูในชุมชนให้หมั่นสังเกตเด็กในโรงเรียน หากมีลักษณะไม่ร่าเริงหรือเงียบขรึมหรืออาการผิดปกติ ครูจะเข้าหาเด็กเพื่อขอข้อมูลโดยไม่ทำให้เด็กหวาดกลัวเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใหญ่บ้าน ครู ไม่ได้ลงไปในชุมชนไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนลูกบ้าน เขาจะรู้สึกไม่สบายใจ อันนี้มาจากการไปทำงานอย่างต่อเนื่องจองมูลนิธิฯจนคนในชุมชนเกิดความรู้สึกมีสำนึกในการเฝ้าระวังความรุนแรง
ข้อเสนอต่อนโยบายของรัฐ
จเด็ด เชาว์วิไล ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีนี้ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดนำเสนอว่าจะมีมาตรการต่อการดูแลเด็กและสตรีอย่างไรที่ชัดเจน แต่อยากเห็นการนำเสนอนโยบายเรื่องการเสริมสร้างสวัสดิการให้แก่ครอบครัว เข่น นโยบายลาคลอดได้ทั้งแม่และพ่อหลังการคลอด โดยได้รับค่าตอบแทน อยากให้มีการเพิ่มวันลาคลอดให้เป็น 180 วัน จากเดิมที่ลาคลอดได้ 90 วัน ที่ใช้มานานกว่า 30 ปี สวัสดิการลาคลอดต้องมาพร้อมกับสวัสดิการศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เพื่อให้มีสถานที่ดูแลเด็กที่มีคุณภาพในสถานประกอบการซึ่งหากพ่อลาคลอดไม่ได้อย่างน้อยก็จะมาเยี่ยมลูกได้ง่ายขึ้น และมาพร้อมกับเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นี่คือสวัสดิการที่เป็น package นอกจากนี้ยังต้องให้ความคุ้มครองดูแลเด็กได้รับความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ ภายในครอบครัว มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในชุมชน เพื่อให้พ่อแม่ที่มีรายได้น้อยไม่ต้องเป็นห่วงสวัสดิภาพในชีวิตของบุคคลในครอบครัวอีกต่อไป นี่คือสิ่งที่อยากเห็นและต้องทำให้ได้จริงในรัฐบาลชุดต่อไป
เชษฐา มั่นคง ที่จริงเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าที่บางพรรคการเมืองชูเป็นนโยบายในขณะนี้ เกิดจากการที่ภาคประชาชนไปรณรงค์ต่อพรรคการเมือง โดยขอให้มีการอุดหนุนเด็กเล็กแรกเกิดถึง 6 ขวบเดือนละ 3000 บาท (ขณะนี้ได้คนละ 600 บาทต่อเดือน) ซึ่งใช้งบประมาณสำหรับอุดหนุนเด็กเล็ก 4.1 ล้านคนแค่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลมีงบกลางกว่าแสนล้านบาท ที่สามารถกันเงินจำนวนนี้มาใช้จ่ายได้ทันที แต่รัฐบาลนี้ไม่ยอมดำเนินการ ก็ยังจะขอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ประเด็นที่สองอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีการปรับปรุงหลักการเรียนการสอนที่เพิ่มทักษะชีวิตของเด็กให้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง ไม่ใช่สอนให้ท่องจำอย่างเช่นในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องเลิกชื่นชมคนเรียนเก่งแลต่ไม่สามารถใช้ทักษะในการแก้ไขปัญหาชีวิตได้ เช่น กรณีเด็กฆ่าตัวตายเพราะได้คะแนนไม่ดีในบางวิชา หรือ ถูกเพื่อน bully ถูกหลอกให้เป็นหนี้พนัน ฯลฯ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ รวมถึงต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนมิให้จบออกไปเพื่อเป็นแพทย์ พยาบาล วิศวะ ศาล อัยการ เท่านั้น ยังมีอาชีพอื่นๆที่ใช้ทักษะในการใช้มือ ใช้ขา หรือการเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษ เด็กพิการ ต่างๆให้สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้ในสังคมด้วย
ประเด็นต่อมาคือ เสนอให้พรรคการเมืองผลักดันรัฐสวัสดิการให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทย เพื่อให้คนเล็กคนน้อยมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาประเทศได้โดยไม่พะวงเรื่องสุขภาพ หรือเมื่อตกงาน หรือต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพง เพราะรัฐจัดสวัสดิการให้มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ รวมถึงเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าด้วย และเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และเด็กลูกคนทำงานต่างชาติ ต้องได้รับเงินอุดหนุนเช่นกัน
วันเด็กแห่งชาติอยากเห็นการจัดงานวันเด็กอย่างไร
จเด็ด เชาว์วิไล และเชษฐา มั่นคง เห็นร่วมกันว่าควรไปสอบถามเด็กก่อนวันเด็กว่าเด็กอยากให้จัดอะไรแก่เด็ก โดยต้องยกเลิกการแสดงต่างๆที่ทำให้เด็กซึมซับความรุนแรง ทั้งการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ การโชว์ต่างๆที่ไม่เหมาะสมแก่วัยของเด็ก
ความเห็นจากผู้ชม : เมื่อเด็กไทยเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ควรพิจารณาลงทะเบียนเด็กต่างด้าวที่เกิดในไทย ให้สัญชาติ ให้การศึกษา ทำงานในไทยได้ อย่างถูกกม.เด็กถูกทำร้าย ถูก sexual abuse กันมากมาย ในทุกโรงเรียน ทุกห้องเรียนการ bully ก็มีมากขึ้น จนกลายเป็นว่าเด็กเรียนรู้การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ละเมิดสิทธิมนุษยชนคนอื่นกันแต่เด็ก กระทรวงศึกษาควรกำหนดให้ทุก รร. มีกล่องรับเรื่องร้องทุกข์ ที่กระทรวงมี กก. เป็นผู้ทำหน้าที่เปิดกล่องรับเรื่องร้องเรียนเอง เข้าไปจัดการเอง
รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความละเอียดอ่อน ไม่เข้าใจปัญหาของเด็กเยาวชน ผู้นำก็มีแต่ความกระด้าง แข็งกร้าว อันเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็ก
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)