สรุปสสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 11/2565
หัวข้อ ก้าวให้พ้นความรุนแรงจากความเห็นต่าง
วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00-12.30 น.

ผู้ร่วมเสวนา

  1. ศรีสุวรรณ จรรยา สมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
  2. อ.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์
  3. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย

            มนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยธรรมชาติที่เกิดมาแล้วสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และใช้ชีวิตอย่างปกติสุข โดยไม่มีใครมีอำนาจโดยชอบในการทำร้ายร่างกายหรือเข่นฆ่าได้ตามอำเภอใจ สิทธิในการไม่ถูกทำร้ายและถูกฆ่านั้นต้องได้รับการปฏิบัติไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันด้วยเหตุใด อาทิ เชื้อชาติ  ผิว  เพศ  ภาษา  ศาสนา  ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด  เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม  ทรัพย์สิน  กำเนิด  หรือสถานะอื่นๆ โดยรัฐมีหน้าที่ที่จะเคารพและประกันสิทธฺที่จะไม่ถูกทำร้ายร่างกายและเข่นฆ่าคนทุกคน แต่ปรากฏว่าสังคมไทยโดยรวมทั้งรัฐและปัจเจกชนยังไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติตามหลักการนี้ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกัน เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หลายปีก่อน และที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้กรณีการทำร้ายนายศรีสุวรรณ จรรยาและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ “รายการสสส.เสวนาทัศนะ” จึงขอถือโอกาสนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลที่เคยถูกทำร้ายร่างกายเพราะความเห็นต่างและนักวิชาการด้านความรุนแรง เพื่อค้นหาคำตอบและเตือนสติสังคมว่า การทำร้ายร่างกายกันด้วยเหตุผลจากความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไปในสังคมไทย โดยหัวข้อเสวนาคือ ก้าวให้พ้นความรุนแรงจากความเห็นต่าง

ถูกใช้ความรุนแรงเพราะเห็นต่างทางการเมือง

นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ตอบคำถามประเด็นการถูกทำร้ายกายว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาตนถูกทำร้ายและใช้ความรุนแรงเนื่องจากตนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐบาลด้วยรูปแบบที่หลากหลาย นายสิรวิชญ์ยังกล่าวต่อว่ามีคนบางคนในโลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนคนที่ทำร้ายตน

“ทำไมไม่เอาให้ตาย ยั้งมือเกินไปหรือเปล่า โดนจับหรือยังเดี๋ยวลงขันสู้คดีให้ มีความเห็นประมาณนี้เยอะมาก สะท้อนให้เห็นว่าความเกลียดชังสามารถส่งเสริมให้มนุษย์คนหนึ่งส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง ทั้งที่ตัวเองบอกว่าไม่ชอบความรุนแรง คนไทยจะเป็นนิสัยอย่างนี้ ปากว่าตาขยิบ เราไม่ชอบความรุนแรง แต่เราสะใจ” นายสิรวิชญ์กล่าว

ชั่งน้ำหนักแล้วว่าโดนทำร้ายเพราะหมั่นไส้มากกว่า

นายศรีสุวรรณ จรรยา สมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตอบคำถามประเด็นการโดนทำร้ายว่ามีว่า ที่โดนทำร้ายน่าจะเป็นเพราะอีกฝ่ายหมั่นไส้ตนมากกว่า แต่แน่นอนว่าย่อมต้องมีสาเหตุมาจากความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งสาเหตุน่าจะเป็นเพราะตนไปร้องเรียนคนที่อีกฝ่ายสนับสนุน การที่เขามาทำร้ายเพื่อให้ตนเลิกทำการร้องเรียนตรวจสอบบุคคลต่าง ๆ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตนคิดว่าการไปยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ เป็นวิธีการที่สังคมยอมรับได้

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าถ้าเราไม่ใช้มาตรการติดตามตรวจสอบ หรือยื่นร้องเรียนให้คนที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงไปตรวจสอบ มันจะมีวิธีการอื่นใดอีกที่เป็นที่ยอมรับ” นายศรีสุวรรณกล่าว

นอกจากนี้นายศรีสุวรรณยังกล่าวถึงการดำเนินคดีคู่กรณีที่ทำร้ายตนว่าจะต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการเลียนแบบ

“ผมคิดว่าเราต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด อย่างน้อยให้เป็นแบบอย่าง หรือเป็นเยี่ยงอย่างในสังคม ว่าคนเหล่านี้ออกมากระทำได้แล้วไม่มีผลกระทบ ไม่มีเอฟเฟคอะไรเลย ผมเกรงว่าจะเกิดกรณีเลียนแบบกัน”

“เหมือนอย่างกรณีของธนาธรที่ถูกล็อคตัวในที่สถานที่สาธารณะ หรือชุมชน ก็ยังมีการกล้าไปกระทำอย่างนั้นได้ อันนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดวิสัย ที่ผิดปกติ สังคมไทยไม่ควรจะยอมรับประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะมีแนวคิดทางฝ่ายไหนก็ตาม” นายศรีสุวรรณกล่าว

ชวนพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น

อาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะนักสังคมศาสตร์สามารถสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น (เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างทางการเมือง) ได้ 2 ประการ

ความรุนแรงทางการเมืองมีหลายรูปแบบ เช่น ความรุนแรงโดยรัฐ ที่รัฐดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่วิจารณ์รัฐ หรือความรุนแรงระหว่างประชาชน เป็นต้น

ปฏิกิริยาของคนในสังคมที่เห็นคนที่มีความคิดเห็นต่างทางเมืองถูกทำร้าย คือ ความรู้สึกสะใจ

โดยอาจารย์ชญานิษฐ์อธิบายความรู้สึกสะใจของผู้คนตามกรณีของนายสิรวิชญ์และกรณีของนายศรีสุวรรณว่า กรณีของนายสิรวิชญ์ที่ถูกทำร้ายแล้วมีคนสะใจ มีสาเหตุมาจากการที่การเคลื่อนไหวของนายสิรวิชญ์ไปท้าทายหรือละเมิดระเบียบสังคม คุณค่าที่พวกเขาเหล่านั้นเชื่อถือ ทำให้พวกเขามองว่านายสิรวิชญ์ไม่ใช่คนที่อยู่ในสังคมเดียวกับพวกเขา เมื่อนายสิรวิชญ์ถูกทำร้ายพวกเขาเหล่านั้นจึงแสดงความสะใจได้อย่างไม่รู้สึกอันใด

กรณีของนายศรีสุวรรณ เป็นภาพสะท้อนของความอัดอั้นกับกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขารู้สึกว่ารัฐมีเครื่องมือที่จะใช้จัดการกับคนที่เห็นต่างอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการที่นายศรีสุวรรณไปฟ้องร้องคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลก็กลายเป็นว่าส่งเครื่องมือให้กับรัฐใช้จัดการคนที่เห็นต่างได้ทันที แต่ขณะเดียวกันคนกลุ่มนั้นก็ไม่ได้รับรู้ว่านายศรีสุวรรณฟ้องร้องทุกฝ่าย เขาเห็นแค่นายศรีสุวรรณฟ้องร้องแต่ฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐบาล ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้านายศรีสุวรรณใช้ความรู้ทางกฎหมายช่วยชาวบ้านต่อกรกับอำนาจรัฐได้ ตนก็แทบจะมั่นใจว่ากระแสสังคมต่อนายศรีสุวรรณที่ถูกทำร้ายจะไม่เป็นอย่างที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพก็ต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงทางกายภาพ

นายสิรวิชญ์กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า ถ้าเขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางกายภาพหรือการทำร้ายร่างกายกับเรา เราก็ไม่สามารถตอบโต้เขากลับด้วยความรุนแรงทางกายภาพได้ อย่างไรก็ตามการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหา

ต่อมานายสิรวิชญ์กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างว่า ตนไม่ปฏิเสธว่าความรุนแรงที่นายศรีสุวรรณใช้เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างโดยการใช้กฎหมาย แต่ตนยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายศรีสุวรรณเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากรัฐหรือฝ่ายที่เห็นด้วยกับรัฐจะมีข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับคนที่เห็นต่างจากรัฐ

“ถ้าเราเริ่มการใช้ความรุนแรงเมื่อไร ปฏิบัติการอีกฝั่งหนึ่งก็คือจากฝั่งรัฐหรือฝั่งที่สนับสนุนรัฐ ก็จะใช้.     การปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับคุณศรีสุวรรณเป็นตัวเปิดในการใช้ (ความรุนแรง) กับนักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามรัฐเสมอ      โดยอ้างว่าก็มีคนมาใช้ความรุนแรงกับคุณศรีสุวรรณ”

โดยนายสิรวิชญ์ยกตัวอย่างกรณีของเค ร้อยล้าน ที่บุกเข้าไปล็อกคอนายธนาธร ตามด้วยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก 3-4 คนที่ถูกลอบทำร้าย

“ถ้าเราเปิดเมื่อไร รัฐก็พร้อมใส่เราเมื่อนั้น โดยใช้ข้ออ้างเหล่านี้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งต่อให้คุณเชื่อในสันติวิธีหรือไม่เชื่อ แต่ต้องยอมรับว่าถ้าเราเปิดด้วยความรุนแรงเมื่อไร ปฏิบัติการที่มันกลับมาจากฝั่งนู้น โดยใช้ข้ออ้างที่เราทำ     กับคนที่เราคิดว่าเป็นคนฝ่ายเขา มันจะมาแบบเพิ่มดับเบิลทวีคูณ” นายสิรวิชญ์กล่าว

แนวทางที่คนเห็นต่างคุยกันได้โดยไร้ความรุนแรง

“เราไม่ควรเห็นด้วยกับความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร” อาจารย์ชญานิษฐ์กล่าว ก่อนจะอธิบายถึงแนวทางการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยปราศจากความรุนแรงว่า ในความคิดของตนต้องเริ่มจากการที่กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ฐานรากต้องเรียกความน่าเชื่อถือที่สูญเสียไปคืนกลับมาด้วยการผดุงความเที่ยงธรรมให้ปรากฏอย่างเด่นชัด ทำให้คนที่เห็นด้วยและเห็นต่างจากรัฐรู้สึกได้รับความเป็นธรรม ถูกคุ้มครองด้วยอำนาจรัฐ ไม่ได้ถูกกดขี่

สื่อมวลชนมีบทบาทในการแก้ปัญหา

อาจารย์ชญานิษฐ์กล่าวถึงขั้นต่อมาจากการที่กระบวนการยุติธรรมไทยเรียกความน่าเชื่อถือกลับมา คือ การกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชนโดยหน่วยงานรัฐ พรรคการเมืองและภาคประชาสังคม โดยให้นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง เป็นกลาง และไม่ปรุงแต่งเรื่องราวที่เกิดขึ้น

“บทเรียนจากสังคมไทย เราเพิ่งผ่านเดือนตุลามาไม่นาน ถ้าดิฉันเข้าใจไม่ผิด เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งทางการเมืองไทย เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีส่วนไม่มากก็น้อยจากการปลุกระดมของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง แล้วตอนนี้เราอยู่กับการทำงานของสื่อมวลชน กึ่งสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่นำเสนอภาพของคนที่คิดเห็นต่างทางการเมืองอย่างน่าเกลียดน่ากลัว ทำไมเราคิดว่าเราห่างไกลจากความรุนแรงที่มันจะเกิดขึ้น”

“เพราะฉะนั้นถ้าจะชี้ชวนว่าทำอย่างไรถึงจะก้าวให้พ้นความรุนแรงทางการเห็นต่าง เราอาจจะต้องมาชวนกันตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน”

แต่อาจารย์ชญานิษฐ์ก็อธิบายเพิ่มเติมว่า ตนไม่ได้โทษสื่อมวลชนเพียงอย่างเดียวเนื่องจากตนเชื่อว่า หน่วยงานรัฐหรือสื่อมวลชนที่มีอำนาจมาก ความรับผิดชอบจะต้องมากตาม ขณะเดียวกันประชาชนและภาคประชาสังคมก็ต้องใคร่ครวญว่าการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งสำคัญของการเป็นสังคมประชาธิปไตย

“พื้นฐานสำคัญอันหนึ่งคือการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากเราให้ได้ จริง ๆ มันพูดเหมือนง่าย แต่ว่า.   ทำไม่ง่าย ก็คือการฝึกความอดทนอดกลั้นที่จะฟัง คือฉันไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูดเลย แต่ว่าฉันก็ต้องทนฟังคุณให้ได้” อาจารย์ชญานิษฐ์กล่าว

โดยทัศนะนี้ของอาจารย์ชญานิษฐ์สอดคล้องกับแนวทางการขจัดความรุนแรงจากความเห็นต่างที่นายศรีสุวรรณแสดงทัศนะว่า สื่อมวลชนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์หรือสื่อกระแสหลักต้องให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น และต้องมีการควบคุมกำกับดูแล นำเสนอข้อมูลโดยดำรงอยู่ในจรรยาบรรณของสื่อ ไม่นำเสนอข้อมูลเท็จ หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด

แก้ที่การศึกษาและผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ

ขณะเดียวกันนายสิรวิชญ์เสนอแนวทางการแก้ไขความรุนแรงจากความเห็นต่างว่า จะต้องแก้จากระบบการศึกษาเนื่องจากมีการใช้ความรุนแรงตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน เพราะสถานศึกษามีส่วนผลิตในการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ คุณครูในโรงเรียนที่มีความเชื่อว่าการที่จะทำให้เด็กเป็นเด็กดีได้จะต้องใช้การตีเพื่อให้เด็กได้ดี โดยต้องผลักประเด็นเหล่านี้ให้เป็นวาระของชาติถึงทิศทางของสังคมไทยที่ต้องการเป็นสังคมที่ปราศจากความรุนแรงหรือไม่ และต้องลงมือดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้เป็นเพียงวาทกรรมที่สวยหรูจับต้องไม่ได้

“ถ้าสังคมไทยต้องการจะแก้ปัญหาความรุนแรง ทุกส่วนจะต้องผลักดันประเด็นให้เป็นระดับชาติ แล้วเจาะไปที่ระบบการศึกษา แล้วก็ทำอย่างจริงจัง อย่าทำแค่ว่าเป็นวาทกรรมสวยหรู ทำอย่างจริงจังเท่านั้นเอง”

นายสิรวิชญ์ กล่าวทิ้งท้าย

ขอขอบคุณสำนักข่าวอิศรา https://www.isranews.org/article/isranews/113575-isranews-91.html

วิดีโอ: https://www.facebook.com/845823472249099/videos/661639459009818