สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 10/2565

หัวข้อ จาก14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 บทบาททหาร รัฐธรรมนูญและคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยไทย

วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565

เวลา 11.00-12.30 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย
  2. อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 1
  3. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ และณัชปกร นามเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ประเด็นการเสวนา

         เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยยุคใหม่ของไทยนับแต่ 2475 ที่เกิดจากกระแสการต่อต้านระบอบอำนาจนิยมและทหาร นำมาสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ที่ส่งผลกระทบมาถึงเหตุการณ์      6 ตุลาคม 2519 ที่ปฏิเสธไม่ได้ถึงอิทธิพลของระบบอำนาจนิยมทหาร และการสร้างวาทกรรม “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”    มาถึงปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ในยุค 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันนั้นต่างเติบโตและเข้าสู่สังคมในหลายมิติ จวบจนถึงยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ได้ก้าวเข้ามาท้าทายสังคมไทยอีกคำรบหนึ่ง ด้วยวาทกรรม “ให้มันจบที่รุ่นเรา” รายการ”สสส.เสวนาทัศนะ” จึงขอเชิญทุกท่านร่วมทบทวนสถานการณ์ของประชาธิปไตยไทยภายใต้อิทธิพลของระบบทหาร ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และบทบาทของคนรุ่นใหม่ต่อประชาธิปไตยของไทย

รัฐธรรมนูญสำคัญอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เราคงไม่ต้องการมาหาคำอธิบายทางวิชาการว่ารัฐธรรมนูญคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศไทย ในบทบาทของไอลอว์ที่รณรงค์เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ต้องการทำให้สังคมเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคือกรอบของการได้อำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญจะเป็นฉบับที่ดีหรือไม่อยู่ที่การเข้าสู่อำนาจรัฐว่าเข้ามาอย่างไร เมื่อเข้ามาแล้วใช้อำนาจเป็นคุณหรือโทษต่อประชาชน ตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นได้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยหากรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติว่าด้วยการเข้าสู่อำนาจโดยประชาชน มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้พอสมควร มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาตนเองพอสมควร ก็พอจะรับได้ว่าถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีได้ แต่ถ้าเป็นในทางตรงข้าม เราจะเห็นได้ว่ามีวงจรที่ไม่ต้องการเข้ามาสู่อำนาจทำให้ต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นไม่ได้ ผู้คนในบ้านเมืองก็จะอยู่กันด้วยความยากลำบาก

            เหตุการณ์14 ตุลา 2516 นั้นต้องยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อได้มาแล้วก็ยังถือว่าไม่สมบูรณ์แต่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง แต่การเกิดรัฐประหารวนในปี 2519    และการเรียกร้องให้ทหารกลับกรมกองในปี 2535 ก็ได้รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็มีรัฐประหารอีกในปี 2549 และ     ปี 2557 เราจะวนเวียนกันอยู่แบบนี้ทำให้เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ อำนาจนิยมทหารก็กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงยังไม่ได้เห็นรัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง     จึงต้องเรียกร้องกันตลอดเวลา ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 2516 จนจะครบรอบ 50 ปีแล้วปัจจุบันเราก็ยังต้องเรียกร้องกันอยู่ เพราะผู้ได้อำนาจรัฐไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เมื่อใดที่ประชาชนเข้มแข็ง ผู้มีอำนาจรัฐก็จะยอมปล่อยอำนาจลงชั่วคราว แต่ก็ยังควบคุมกลไกทุกอย่างและทำให้ประชาชนไม่เข้มแข็ง จนถึงขั้นเอาอำนาจกลับไปเป็นของฝ่ายตนอีกทุกครั้ง นี่คือจุดอ่อนของประชาธิปไตยของไทย

อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ถ้าเราดูปรากฏการณ์สังคมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ก็ดีและการที่สภาผู้แทนฯลงมติว่าจะใช้เกณฑ์ 500  หรือ 100 ในการได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ล้วนมีที่มาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น หัวใจของรัฐธรรมนูญนั้น มี 2 ประการคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพและกระบวนการและสถาบันของอำนาจรัฐ เช่นที่มาของสมาชิกรัฐสภา การจัดตั้งพรรคการเมือง วิธีการเลือกตั้ง เป็นต้น

            ช่วงก่อน 14 ตุลา 16  ประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบอบทหาร ประชาชนโหยหาสิทธิเสรีภาพมาก เพราะทหารปกครองบ้านเมืองมาตั้งแต่ปี 2501 ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ นิสิตนักศึกษาและประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด ปี 2506 เป็นต้นมาจอมพลถนอมเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลสฤษดิ์[1] จึงมีการเรียกร้องให้มีเสรีภาพมากขึ้นและเรียกร้องให้สภาร่างรัฐธรรมนูญรีบดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ในช่วงนั้นมีนายทวี บุณยเกตุเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจอมพลถนอมก็จัดให้มีรัฐธรรมนูญในปี 2511 นักศึกษาในขณะนั้นก็ดีใจที่มีรัฐธรรมนูญ จึงออกหนังสือเล่มละบาทฉบับต้อนรับรัฐธรรมนูญเพื่อจำหน่าย แต่วันต่อมารัฐบาลประกาศขึ้นค่าโดยสารรถเมล์จาก 25 สตางค์เป็น 50 สตางค์ นักศึกษาจึงจัดเดินขบวนคัดค้าน แล้วถูกตำรวจจับ เจ้าของโรงพิมพ์จึงกลัวว่าตนจะมีความผิดไปด้วยเพราะมีการจับกุมจึง ไม่ยอมให้เอาหนังสือออกไปจากโรงพิมพ์ สิ่งที่น่าเสียใจก็คือ นักศึกษาคิดว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วควรต้องมีการเฉลิมฉลอง เพราะบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยแล้วเนื่องจากมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้นเพราะเนื้อหาของรัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นประชาธิปไตยด้วย แต่ในความเป็นจริงนั้นรัฐธรรมนูญ 2511ยังมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตามถือว่ามียังดีกว่าไม่มี ที่สำคัญคือในยุคนั้นสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษายุคนี้เติบโตมาพร้อมกับการเรียนรู้ว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างมากของหลายฝ่าย จึงซึมซับว่าความเป็นประชาธิปไตยของประเทศมิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เพราะเรามีรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะได้เห็นว่าเรามีการเลือกตั้งที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ตามบทเฉพาะกาล รวมถึงสถาบันต่างๆของชาติก็ปรากฏในรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นเมื่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญยังมีความไม่เป็นธรรม ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย นักศึกษารุ่นนี้จึงออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ สิ่งที่อยากเห็นให้เกิดขึ้นคือพัฒนาการของของการปกครองประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) หมายความว่า เป็นระบอบที่ให้อำนาจกษัตริย์ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีคณะรัฐบาลเข้ามาบริหารการปกครอง

ณัชปกร นามเมือง  ไอลอว์ให้ความสนใจเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2557 จึงอยากเห็นว่าคณะรัฐประหารจะจัดทำรัฐธรรมนูญอย่างไรในการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จที่ได้มาคราวนี้ ไอลอว์ได้ติดตามมาโดยตลอดจนมีการจะทำประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ซึ่งพอมองเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะสร้างปัญหาทางการเมือง เพราะสวนทางกับความต้องการของประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบอำนาจรัฐทำได้อย่างมีข้อจำกัด และการมีส่วนร่วมของประชาชนลดน้อยลง ไอลอว์จึงเริ่มเรียกร้องให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 60 และเชิญชวนให้คนมาร่วมรณรงค์บนท้องถนน แม้ว่าช่วงตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจก็มีคำสั่งห้ามชุมนุมตั้งแต่  5 คนขึ้นไป ใครฝ่าฝืนถูกจับกุม ถูกนำตัวไปไว้ในค่ายทหารได้นาน 7 วัน แต่เมื่อมีการเลือกตั้งคำสั่งคสช.ที่ละเมิดเสรีภาพต่างๆก็ยกเลิกไป ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย เราเห็นคลื่นของเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวท้าทาย คสช. เคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จนมาถึงการเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก       ให้ปฏิรูปสถาบันและปล่อยผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง  เมื่อทิศทางการเมืองไทยมาถึงจุดนี้ ไอลอว์จึงได้ริเริ่มเสนอให้มีการณรงค์ล่ารายชื่อให้ประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1 แสนคน ต้องยอมรับว่าเป็นจำนวนไม่มาก และวิธีการก็ยุ่งยาก ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน แต่ก็ยังมีคนพร้อมที่ลงชื่อ

อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ในช่วงของการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงก็มีความพยายามรณรงค์ล่ารายชื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน และก็ได้กว่า 1 แสนรายชื่อ แต่พอมีการตรวจสอบรายชื่อแล้วก็ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เหลือรายชื่อเพียง 7 หมื่นกว่าราย ซึ่งในขณะนั้นข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่สามารถนำไปสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แต่การณรงค์ของไอลอว์ในยุคนี้ สามารถผลักดันให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปสู่การพิจารณาในสภาฯได้ แม้จะตกไปก็ตาม แสดงให้เห็นว่าในยุคตั้งแต่ 14 ตุลา 16 เป็นต้นมาชีวิตของนักกิจกรรมไทยทุกยุคสมัยยังคงต่อสู้หรือรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ซึ่งกำลังจะครบ 50 ปี ของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในปีหน้านี้  พวกเรายังคงต้องหมกมุ่นหรือวุ่นวายกับเรื่องรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด

อำนาจนิยมแบบทหารมีอิทธิพลอย่างไร ต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยไทย

อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ย้อนกลับไปในปี 2512 ในยุคที่จอมพลถนอมยึดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ และทหารยังมีอำนาจอยู่ จอมพลถนอมประกาศให้มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก นักศึกษาก็ออกมาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้ก็ไปไม่รอด จอมพลถนอมจึงยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ทำให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบทหารอย่างเต็มรูปอีกครั้ง จึงกล่าวได้ว่าขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยก่อน 14 ตุลา เกิดขึ้นเพราะจอมพลถนอมยึดอำนาจตัวเอง ในขณะที่บ้านเมืองเริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง        ที่นักศึกษาประชาชนได้ลิ้มรสเสรีภาพได้เต็มที่ แต่ต้องมาสดุดลง จนกระทั่งเกิด 14 ตุลา ทหารยอมกลับเข้ากรมกอง และถูกปฏิเสธบทบาทอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จะไปไหนมาไหนต้องถอดเครื่องแบบไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นทหาร แม่ค้าไม่ขายข้าวแกงให้ แต่ในความเป็นจริงทหารยังกุมอำนาจทางการเมืองอยู่ในยุคที่อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการประนีประนอมกับอำนาจเก่า โดยยอมให้พลอ.อ.ทวี จุลละทรัพย์เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งต้องถือว่าพลอ.อ.ทวี เป็นทหารในกลุ่มของจอมพลถนอมที่ถูกหาว่าเป็นทรราชย์ จนต้องอพยพออกไปต่างประเทศตามคำแนะนำของสถาบัน ดังนั้นเมื่อนักศึกษาประชาชนเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพลถนอม ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือด้วยดีจากรัฐบาล อ.สัญญา เนื่องจากฝ่ายทหารยังมีอำนาจผ่านพลอ.อ.ทวี ผ่านนายกฯสัญญา และเป็นฝ่ายตีโต้ขบวนการนักศึกษากลับมามีอำนาจอีกครั้งในช่วง 6 ตุลา 19 ดังนั้นที่พวกเราดีใจว่าทหารกลับเข้ากรมกองนั้นเป็นเพียงฉากหน้า แต่ความจริงเป็นการกลับไปตั้งหลักเพื่อตอบโต้ ในช่วงนั้นฝ่ายทหารมีการส่งข้อมูลระหว่างกันและออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะว่า ศูนย์กลางนิสิตฯมีการคอรัปชั่นบ้าง มีความขัดแย้งกันระดับแกนนำบ้าง เพื่อสร้างกระแสให้สังคมเกิดความสงสัย อีกประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายทหารยังต้องการแทรกแซงอำนาจรัฐเพราะอ้างว่ามีปัญหาจากคอมมิวนิสต์ มีข้ออ้างบ้างว่ารัฐบาลคอรัปชั่น ต่างจากสมัยนี้ที่ทหารมักอ้างว่าฝ่ายนักการเมือง พรรคการเมืองคอรัปชั่น จึงเข้ามาแทรกแซง โดยถือว่าระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้งนั้นไม่สุริต ทหารเป็นสถาบันเดียวที่สามารถนำชาติไปสู่ความเป็นประเทศพัฒนาได้ จึงไม่ยอมออกจากการเมือง มาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2491 จนถึง 6 ตุลา 19

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ในยุคปัจจุบันตั้งแต่ 2557 ที่คสช.เข้ามายึดอำนาจก็อ้างเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองและการคอรัปชั่น ประกอบกับมีประชาชนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุน เพราะเชื่อว่าทหารจะปราบโกงได้ จึงทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองได้อย่างง่ายดาย กลายเป็นฮีโร่ของคนบางกลุ่ม โดยส่วนตัวยังมีความเชื่อมั่นว่า การเข้ามาสู่อำนาจรัฐได้นั้นต้องมาตามวิถีทางประชาธิปไตย ผ่านระบบการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องสร้างความตระหนักให้ประชาชนเชื่อว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคน เราจึงจะสามารถลดบทบาทของทหารมิให้ตัดตอนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ แต่อย่างไรก็ตามการบีบให้ทหารออกจากการเมืองก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา ซึ่งตอนนี้ประชาชนคงเริ่มเห็นแล้วว่าอำนาจนิยมแบบทหารในการปกครองบ้านเมืองนั้นไปไม่รอด

ณัชปกร นามเมือง หากพูดตามตรงก็คือเราไม่จำเป็นต้องมีทหารก็ได้ บ้านเมืองเราคงไม่ต้องร่างรัฐธรรมนูญกันบ่อยๆเพราะมีการฉีกรัฐธรรมนูญโดยกองทัพ หากจะให้ชัดเจนคือต้องให้การเมืองนำการทหาร เพื่อให้ทหารอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ต้องปฏิรูปกองทัพเป็นประการแรก ประการที่สองคือบทบาทของศาลต้องไม่รองรับอำนาจทหารที่ทำการรัฐประหาร ถ้าทุกครั้งที่มีการรัฐประหารแล้วประชาชนมีการฟ้องต่อศาลอาญาหรือศาลรัฐธรรมนูญ และศาลลงโทษฐานก่อการกบฏทุกครั้ง น่าจะทำให้ทหารออกจากการเมืองได้ง่ายขึ้น

            ประเด็นต่อมาคือเราต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยว่า ห้ามมีการนิรโทษกรรมให้แก่การยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร ซึ่งเคยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2517 มาแล้ว[2] ซึ่งแม้จะเขียนไว้เช่นนี้ ทหารก็ยังยึดอำนาจในปี 2519 ฉีกรัฐธรรมนูญอีก ทำให้บทบัญญัตินั้นใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันคือ การสร้างค่านิยมร่วมของประชาชนให้หวงแหนและรักษารัฐธรรมนูญ ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ ประชาชนต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และทำตามระบบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เชื่อเรื่องคนดีปกครองบ้านเมือง แต่ต้องเชื่อว่าระบบการเมืองที่ดีเราประชาชนสร้างขึ้นได้และต้องช่วยกันปกป้อง เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นคุณค่าร่วมของคนในชาติ

อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย บทเรียนจาก 14 ตุลาที่สำคัญที่ต้องจารึกไว้ก็คือ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนลุกฮือขึ้นล้มล้างอำนาจเผด็จการทหารด้วยมือเปล่า  สอง ประชาชนทั่วไปมีความตื่นตัวทางการเมืองและประชาธิปไตยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะที่ในยุคนั้นคนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองมีไม่ถึง 3 พันคน โดยมากคือทหารและนักการเมือง บทบาทของทหารจึงลดลง และไปซุ่มกำลังและความคิดในการโต้กลับนักศึกษาและประชาชน เช่นพลตรีสุตสาย (เทพหัสดิน) ก็ไปตั้งกองกำลังกระทิงแดงจากนักศึกษาอาชีวะขึ้นมาเพื่อใช้อาวุธกับนักศึกษาฝ่ายศูนย์นิสิตฯที่ล้มเผด็จการ ฝ่ายทหารที่เคยสู้รบด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ออกไปเตรียมสงครามจิตวิทยาแย่งชิงมวลชน โดยการก่อตั้ง กอ.รมน. ขึ้นมาแทนกองบัญชาการต่อต้านคอมมิวนิสต์ (บก.ตค.) ทำให้ทหารมีบทบาททางการเมือง เพราะสามารถเข้าแทรกแซงขบวนการสหภาพแรงงานและภาคประชาชนได้อย่างเปิดเผยตามกฎหมาย

            สำหรับความคิดที่จะให้ทหารออกไปจากการเมืองนั้นมีการศึกษา วิจัยและข้อเสนอแนะมากมายหลังพฤษภา35 เช่น เสนอให้ยกเลิกสถานีวิทยุทหาร ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ทหารมีสถานีวิทยุมากที่สุดในโลกกว่า100 สถานีก็ว่าได้ ทหารควรมีวิทยุได้เพื่อกิจการภายในของทหารเท่านั้น ไม่ใช้วิทยุเพื่อการพาณิชย์และทางการเมือง และ ต้องห้ามนายพลต่างๆที่มีตำแหน่งสูง เช่น ผบทบ. แม่ทัพภาค ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน จะอ้างว่าพูดในนามส่วนตัวไม่ได้เพราะให้สัมภาษณ์ขณะแต่งชุดทหารอยู่ หากจะให้สัมภาษณ์ ต้องไม่ใส่เครื่องแบบ เป็นต้น และไม่มีประเทศไหนยอมให้นายทหารออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหรือในที่สาธารณะ ยกเว้นเป็นกรณีที่มีปัญหาใหญ่ๆ ด้านความมั่นคงของชาติ เช่น ถูกรุกรานโดยต่างชาติ เป็นต้น  ซึ่งน่าจะไปศึกษาข้อเสนอเหล่านี้มารณรงค์ให้เป็นจริงต่อไป

            ข้อเสนอในยุค 14.ตุลาในการปฏิรูปกองทัพ คือ ทำให้ทหารเป็นมืออาชีพด้านการรบและปกป้องอธิปไตยของชาติ แบบญี่ปุ่น คือ เป็นกองกำลังปกป้องตนเอง ไม่ใช่กองทัพ ซึ่งกองกำลังของญี่ปุ่นนั้น เป็นมืออาชีพด้านการรบมาก และมีขนาดใหญ่กว่ากองทัพของบางประเทศด้วย สอง ทำให้กองทัพมีขนาดเล็กลง เพราะการศึกสงครามสมัยใหม่ไม่ต้องใช้กำลังมาก ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ยิงขีปนาวุธข้ามประเทศ ข้ามทวีปกันแล้ว สามคือยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ประเด็นเหล่านี้เคยมีการเสนอมาแล้ว แต่ทำได้ยาก โดยเฉพาะผู้คนยังสนับสนุนการรัฐประหารอยู่ เช่น ในปี 2534 มี สส.กลุ่มหนึ่งนำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารในขณะนั้น เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ยังเป็นสส.อยู่ในสภาฯ แต่พอเกิดรัฐประหารตัวเองตกงาน คณะรัฐประหารล้มเลิกรัฐธรรมนูญและยุบสภา แต่สส.กลับไปยินดีกับคณะรัฐประหาร ไปชื่นชมที่ทหารเข้ามาแก้วิกฤต ที่ต้องบอกว่าขณะนั้นไม่มีเรื่องอะไรในบ้านเมืองที่เป็นวิกฤตเลย แสดงว่าการปฏิรูปกองทัพ ประชาชนต้องเห็นด้วย ต้องสนับสนุน นับเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะการปฏิรูปต่างๆในประเทศไทยที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ไม่เคยสำเร็จ ตั้งแต่ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบราชการ การมีรัฐธรรมนูญ 2540 หลายคนก็ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ แต่ก็ยังไม่เห็นว่ามีการปฏิรูปอะไรได้มาก นอกจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนยาวที่สุด  ใช้มาจนถึงปี  2549 และอีกฉบับที่มีอายุยืนยาวคือรัฐธรรมนูญปี 2521 หลัง 6 ตุลา ที่ใช้มาถึงปี 2534   

ก้าวต่อไปของภาคประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ช่วงนี้จะเห็นว่าการมีส่วนร่วมในการชุมนุมบนท้องถนนลดน้อยลกว่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2563-2564 และกำลังเข้าสู่ช่วงของการรณรงค์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2566 ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ภาคประชาชนต้องประเมินสถานการณ์ก่อน แต่ข้อรียกร้องที่จะต้องรณรงค์ต่อไปคือ การปฏิรูปสถาบันเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ติดคุกได้ ถือเป็นข้อสำคัญในสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ จุดเด่นของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในการรณรงค์ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องแก้ไชรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันและปฏิรูปกองทัพ มีความชัดเจนในประเด็นข้อเสนอ มีเยาวชนระดับมัธยมตื่นตัว ตระหนักรู้ในการใช้สิทธิและเสรีภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อด้อยคือไม่สามารถระดมผู้คนมาร่วมชุมนุมได้มากตามที่ต้องการ ประเด็นที่อาจจะเด่นมากคือการเสนอให้ปฏิรูปสถาบัน ที่มีการเปิดข้อมูลพื้นฐานทำให้ผู้คนรับรู้มากขึ้น แม้จะมีคนบอกว่าข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันหรือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันนั้นยังไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยรวมของชาติก็ตาม แต่ในมุมคนรุ่นใหม่ถือว่าเป็นต้นตอของปัญหาทางการเมืองที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ประเด็นที่คนรุ่นนี้เรียกร้องการปฏิรูปต่างๆ ให้มันจบที่รุ่นเรา นั้น ในช่วงนี้เห็นว่ายังเป็นขั้นตอนของการนำเสนอข้อมูลให้เกิดการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง การบอกว่าให้มันจบที่รุ่นเรา คงมิได้หมายความว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เราหวังว่าจะค่อย ๆ เกิดการสะสมความรับรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้

ณัชปกร นามเมือง ในการรณงค์เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏฺรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แม้ว่าจะยังมีคนเข้าร่วมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญระดับแสนคน แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการเข้าถึงสิทธิในการเข้าชื่อเสนอรัฐธรรมนูญด้วยเทคโนโลยี่ โดยการยื่นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แทนที่ต้องถ่ายเอกสารเป็นจำนวนมากเช่นในอดีต ที่สำคัญต้องใช้เวลาในการสื่อสารอีกมาก อีกประเด็นคือเวลาพูดถึงคนรุ่นใหม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นการผลักภาระให้คนรุ่นใดรุ่นหนึ่งหรือไม่ ซึ่งไม่ควรใช้คำว่าคนรุ่นใหม่ เพราะทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดประชาธิปไตยกันทุกคน สิ่งที่ควรสื่อสารเผยแพร่มากกว่า คือการทำให้เป็นสมัยใหม่ หรือ modernization ไม่ว่าคุณจะเป็นคนยุคไหนต้องเข้าใจว่าขณะนี้เรากำลังเข้าสู่การทำให้เป็นสมัยใหม่ ที่มิใช่การปกครองแบบอำนาจนิยม แต่เป็นประชาธิปไตย มิใช่ผลักภาระหรือหน้าที่การทำให้เป็นสมัยใหม่ไปให้คนรุ่นนี้

การทำให้เป็นสมัยใหม่นั้นในบางประเทศเริ่มตั้งคำถามถึง ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย มีจริงหรือ แต่ในขณะที่บ้านเรายังต่อสู้กันระหว่างความคิดอนุรักษ์นิยม กับประชาธิปไตย ซึ่งโลกสมัยใหม่ไปไกลกว่าแล้ว ขณะนี้ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าของภาคประชาชนในการรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควร อย่างน้อย 2 เส้นทาง ทางที่หนึ่ง คือ มีคนตั้งกลุ่ม reset Thailand เพื่อให้มีการลงประชามติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ และทางที่สองมีความพยายามผลักดันให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายเพื่อการปฏิรูปต่างๆ โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปการเมืองได้ ซึ่งเมื่อใกล้การเลือกตั้งคงจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น และภาคประชาชนต้องมาจัดลำดับดูว่าแนวทางใดจะมีความสำคัญหรือจะผลักดันตามแนวทางใดก่อนหลัง

สุดท้ายนี้ภาคประชาชนต้องนำข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่เสนอมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ การหยุดระบอบ คสช.หรือให้พลเอกประยุทธ์ออกไปจากการเมือง ปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปสถาบัน ทั้งสามประเด็นต้องนำไปสู่นโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องชัดเจนว่ามีขั้นตอนอย่างไรที่จะยุติการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ จะทำอย่างไรกับวุฒิสภา จะล้มล้างเครือข่ายที่ คสช.ตั้งขึ้นได้อย่างไร รวมถึงการตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย ต้องไปทำให้ชัดเจน ต่อมาคือต้องไปศึกษาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไรให้มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือต้องปฏิรูปอะไรบ้างที่ง่ายต่อความเข้าใจของทุกฝ่าย อาจจะนำข้อเสนอ 10 ข้อ ที่เคยนำเสนอที่มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์       ศูนย์รังสิต มาพิจารณาซึ่งอาจมีข้อเสนอมากกว่า 10 ข้อก็ได้ ประเด็นเหล่านี้ต้องนำเสนอต่อพรรคการเมืองและขยายไปสู่วงกว้างให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น

อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย คนรุ่นใหม่ในความเห็นผมคือคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นๆ ในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่มีทุกชาติ แล้วแต่ยุคสมัย แต่ต้องถือว่าคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน ในช่วง 14 ตุลา ก็เป็นคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นที่ออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ มาถึงยุคนี้ต้องขอชื่นชมว่ามีความกล้าหาญมาก อาจมากกว่ารุ่น 14 ตุลา แต่กล้าหาญคนละแบบ ที่ว่ากล้าหาญนั้นดูที่อายุที่แตกต่างจากรุ่น 14 ตุลาคนรุ่นนี้อายุน้อยมากเป็นนักเรียนระดับมัธยมที่ออกมา   ท้าทายระบบเก่า ทั้งระบบในโรงเรียน ระบบการศึกษาและออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่กล้าหาญมากและมีแนวโน้มว่าอาจจะลงไปถึงนักเรียนระดับประถมด้วย ต้องชื่นชม สำหรับประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมการรณรงค์ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา ก็ไม่ไม่มากแค่ 10 % ต้นๆ ที่มาชุมนุม คือนักเรียน นิสิตนักศึกษา ดังนั้นจึงถือว่ายังมีคนเข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยไม่มาก การจะทำให้ประชานเข้าร่วมได้มากขึ้น คงต้องหาวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและกระจายไปยังประชาชนที่รวมกันเป็นกลุ่ม ชมรม สมาคมต่างๆให้มากขึ้น การรวมตัวของประชาชนเพื่อสร้างความตื่นตัวทางการเมืองนั้น หมายถึงประเด็นที่รณรงค์ต้องเป็นสิ่งที่กระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเราด้วย เช่นในประเทศฝรั่งเศส มีการจัดตั้งองค์การภาคประชาชนเกือบล้านองค์การ ในรูปสมาคมต่างๆทางการเมือง เมื่อมีการรณรงค์เรียกร้องอะไร องค์การเหล่านี้ก็จะเข้าร่วม ทำให้มีคนมากมายในการจัดชุมนุมและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ดังนั้นเราต้องมาศึกษาวิธีการต่างๆให้คนเข้าร่วมรณรงค์ทางการเมืองเพิ่มขึ้น ภาคประชาชนของไทยอาจยังไม่คุ้นเคยกับการจัดตั้งเป็นองค์การเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งอาจจำเป็นต่อไปในอนาคต ที่สำคัญเราต้องประสานกับคนทุกรุ่น ที่เคยประสบผลมาแล้วในอดีตคือ กรรมกร ชาวนา และนักศึกษา ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของคนทุกรุ่นต้องมีการจัดตั้งเพื่อประสานงานกันในการณรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย มิใช่ผลักภาระไปให้คนรุ่นนี้เท่านั้น

 

///////////////////////////

[1] ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม ในปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ถือว่าเป็นสมัยที่ 2 โดยในช่วงนี้จอมพลถนอม กิตติขจร มีอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารอย่างแท้จริง ประกอบกับระยะเวลาผ่านมา 5 ปี ที่อยู่ในทางการเมืองจึงมีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ได้พยายามดำเนินนโยบายเจริญรอยตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะการใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย      พ.ศ. 2502 (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ภายหลังการทำรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 (ฉบับที่ 8) ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลจึงได้รักษาการในระหว่างรอการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เป็นวันเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรไทย : รายละเอียดโปรดดู เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า 

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A1_%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%88%E0%B8%A3_(%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A5)

[2] โปรดดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 4 การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทํามิได้