สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 9/2565

หัวข้อ ก้าวต่อไปของการบังคับใช้กฎหมายห้ามการทรมานและทำให้บุคคลสูญหาย

วันพุธที่ 7 กันยายน 2565

เวลา 11.00-12.30 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สสส.
  2. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

เกริ่นนำ สสส.เสวนาทัศนะเคยจัดเสวนาเพื่อติดตามการจัดทำกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการติดตามกรณีผู้กำกับโจ้ซ้อมทรมานผู้ต้องหาโดยใช้ถุงดำคลุมศีรษะจนผู้ต้องหาหายใจไม่ออกเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ และอีกครั้งเมื่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและกำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญา 2 ฉบับที่ประเทศไทยไปรับรองและเข้าเป็นภาคี นั่นคือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) โดยประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯในวันที่ 1 พฤศจิกายน  2550  และลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการอุ้มหายในวันที่ 9 มกราคม 2555 บัดนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในวันที่ 9 สิงหาคมและส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร และในวันที่ 24 สิงหาคม สภาผู้แทนราษฎรได้ยืนยันเห็นชอบกับการแก้ไขของวุฒิสภา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป สสส.เสวนาทัศนะจึงเห็นควรจัดเสวนาเพื่อให้เห็นภาพว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างไรต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติอย่างไร โดยมีผู้ร่วมเสวนา 2 คน  คือ ไพโรจน์ พลเพชร  ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สสส. และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ประเด็นสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหายตามพรบ.นี้  

ไพโรจน์ พลเพชร ขอเสนอสาระสำคัญในมุมของผู้เสียหายดังนี้

ก.มาตรการป้องกันการทรมานและการถูกอุ้มหาย

  1. กฎหมายนี้ได้นิยามความหมายของผู้เสียหายไว้กว้างกว่าในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ โดย

ให้รวมถึง สามี ภริยา ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียน (แต่ไม่รวมถึงคู่ชีวิตที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ) บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียน ถือเป็น “ผู้เสียหาย” คือให้ดูตามสภาพความเป็นจริงว่าผู้นั้นเป็นครอบครัวเดียวกัน อุปการะเด็กตามความเป็นจริง แม้ไม่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม ก็สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและให้ได้รับการเยียวยาได้ด้วย

  1. ฐานความผิดตามกฎหมายนี้มี 3 ประการ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจจับกุมและสอบสวน

กระทำการทรมานต่อร่างกายหรือจิตใจ 2. กระทำการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น จับไปแล้วเรียกมาสอบสวนตีสาม เพื่อไม่ให้ได้หลับได้นอน เอาไปตากแดดนานๆ จับไปขังในห้องแอร์ที่เย็นจัดโดยไม่ให้ใส่เสื้อผ้า เป็นต้น และ 3. การทำให้บุคคลที่ถูกจับหายตัวไป โดยไม่แจ้งให้ญาติทราบควบคุมตัวไว้ที่ไหน โดยการกระทำดังกล่าวต้องมีเจตนาที่จะรีดเอาข้อมูลเพื่อให้บุคคลนั้นรับสารภาพ หรือซัดทอดคนอื่นว่าเป็นผู้กระทำผิด

  1. เมื่อถูกจับกุมกฎหมายบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การ

จับกุมจนกระทั่งนำตัวมาส่งพนักงานสอบสวนหรือว่าปล่อยตัวไป

  1. เจ้าหน้าที่ที่จับกุมต้องทำบันทึกว่าใครเป็นหัวหน้าที่สั่งการให้ทำการจับกุม เจ้าหน้าที่ที่รับตัวผู้ถูกจับ

มาควบคุมต่อจากการจับกุมต้องทำบันทึกสภาพร่างกายและจิตใจก่อนนำตัวเข้าห้องขังและภายหลังนำตัวออกจากห้องขัง

ข. การสอบสวนและการเข้าถึงการใช้สิทธิทางศาล

  1. กฎหมายบัญญัติให้มีหน่วยงาน 4 หน่วยงานที่สามารถทำการสอบสวนเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทรมานหรืออุ้มหาย คือ พนักงานสอบสวนของตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับนายอำเภอหรือผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ อัยการและพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยให้ผู้เสียหายสามารถไปแจ้งความที่หน่วยงานใดก็ได้ให้ทำการสอบสวนและหน่วยงานนั้นต้องแจ้งให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อให้พนักงานอัยการเข้ามาเป็นผู้กำกับดูแลการสอบสวน
  2. ญาติ ตัวผู้เสียหายและผู้เสียหายเอง สามารถร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนฝ่ายเดียว เมื่อมีการร้องว่ามีการทรมานหรือจะมีการอุ้มหาย และศาลมีอำนาจสั่งให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุม สั่งให้พบญาติ สั่งให้เข้ารับการรักษาพยาบาล หรือสั่งปล่อยบุคคลนั้น
  3. บุคคลใดก็ได้หากทราบว่ามีการทรมานหรืออุ้มหายให้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้ตรวจสอบกรณีร้องเรียนนั้นๆ และมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากคณะกรรมการฯ
  4. ให้ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลรับฟ้องและพิจารณาคดีทรมานและอุ้มหาย โดยศาลนี้ให้ใช้ระบบไต่สวนในการค้นหาความจริง ซึ่งศาลสามารถเรียกให้หน่วยงานส่งตัวผู้ถูกจับกุมหรือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นบันทึกการจับกุม มาให้ศาลพิจารณาได้ ทำให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว
  5. เจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกหาว่ากระทำทำการทรมานหรืออุ้มหายบุคคลใด ให้นำตัวมาขึ้นศาลคดีทุจริตและ

ประพฤติมิชอบ ไม่ใช่ขึ้นศาลทหาร

  1. ผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลยหรือมีส่วนรู้เห็นในการทรมานหรืออุ้มหายหรือทราบการกระทำ

ทรมานและอุ้มหายแต่นิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดำเนินการอันเป็นความผิดตามกฎหมายนี้

  1. ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับทราบความคืบหน้าของกรณีที่ร้องเรียน หรือข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการ

จับกุม บันทึกการจับกุม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานนั้นๆ ต้องเปิดเผยให้ทราบ เช่น รวมถึงได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินคดีด้วย

ค.การเยียวยา

  1. ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ในการแจ้งให้ผู้เสียหายทรายว่าตนมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและการเยียวยา และผู้เสียหายต้องแจ้งให้อัยการทราบว่าตนประสงค์ของใช้สิทธิได้รับการเยียวยา
  2. ผู้เสียหายสามารถร้องศาลขอให้มีการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นได้ โดย ขอให้ยุติการทรมาน หรือการกระทำที่โหดร้าย ฯ ให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุม ขอให้ญาติ ทนายความ หรือบุคคลที่ไว้ใจได้พบเป็นส่วนตัว ขอให้มีการรักษาพยาบาลและการประเมินโดยแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์และแพทย์ทางนิติจิตเวชศาสตร์ ทำบันทึกทางการแพทย์และการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

ข้อห่วงใยต่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อมีการจับกุมบุคคลใดและญาติทราบว่ามีการทรมานเกิดขึ้นในที่คุมขัง  ผู้ถูกทรมานอาจมีบาดแผลปรากฏตามร่างกาย บางครั้งการทรมานก็ไม่ปรากฏบาดแผล แต่ส่งผลทางจิตใจ หรือญาติไม่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกจับ หรือไม่สามารถมาเยี่ยมได้เพราะอยู่ห่างไกลก็ดี หรือมาเยี่ยมแล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุม เมื่อญาติแจ้งว่าผู้ถูกควบคุมตัวได้รับการทรมาน เจ้าหน้าที่ก็มักจะขอทราบว่ามีหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ว่ามีการทรมาน เช่น ถามหาว่ามีใบรับรองแพทย์หรือไม่ มีภาพถ่ายบาดแผลหรือไม่ หากเป็นการทรมานที่ไม่ปรากฏบาดแผลหรือญาติมาทราบหลายวันแล้ว บาดแผลหายไป เหล่านี้เป็นต้น ก็ยังเป็นความกังวลใจว่าหากกฎหมายห้ามการทรมานฯบังคับใช้เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกฎหมายมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการควบคุมตัวอาจใช้ระยะเวลายาวนานตามกฎหมายแต่ละฉบับที่แตกต่างกัน เช่น ถูกควบคุมตามกฎหมายความมั่นคง กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน หรือกฎหมายยาเสพติด และหากญาติอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีภาคประชาสังคมช่วยตรวจสอบ จะมีหลักประกันอย่างไรว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความเคยชินที่เคยปฏิบัติกันมา เพราะกฎหมายห้ามทรมานฯ มีแนวปฏิบัติที่มีมาตรฐานสูงสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ

            ประการที่สอง ในระหว่าง 120 วันที่กฎหมายยังไม่บังคับใช้ เป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะยังไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่กฎหมายกำหนด จึงอยากเห็นว่าให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนไว้ก่อน หากมีกรณีทรมานหรืออุ้มหาย เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัยหาได้ง่าย การติดกล้องเพื่อบันทึกภาพและเสียงก็ทำได้อยู่แล้ว เพราะเราก็เห็นตำรวจจราจรติดกล้องไว้ที่หมวก และความตื่นตัวของการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายก็มีให้เห็นในสื่อต่างๆ ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยากนัก

            ประการที่สาม การทรมานในปัจจุบัน มักไม่ค่อยเห็นบาดแผล แต่เป็นการทรมานทางจิตใจที่กระทำต่อบุคคลในครอบครัว เช่น เอาตัวภรรยามาข่มขู่ต่อหน้าว่าจะฟ้องกลับข้อหาแจ้งความเท็จ เป็นต้น จึงอยากเห็นว่าต้องมีเจ้าหน้าที่ทางนิติวิทยาศาสตร์ นิติจิตเวช มาช่วยประเมินผลกระทบทางจิตใจ ต่อกรณีดังกล่าวเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความบรรเทาทางจิตใจ และสามารนำผลจากการประเมินดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินคดีหรือการร้องเรียนคณะกรรมการฯเพื่อให้มีการเยียวยาทางจิตใจด้วย รวมถึงที่ผ่านมามีปัญหาว่าไม่มีใครอยากเป็นพยานในการรู้เห็นการทรมานหรืออุ้มหาย ก็เกรงว่าเมื่อกฎหมายใช้บังคับ ควรมีการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองพยานด้วย เพื่อให้มีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้อย่างเต็มที่โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ หลายกรณีในอดีต ผู้เสียหายและพยานถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องกลับหาว่าแจ้งความเท็จ แม้จะต่อสู้คดีจนศาลยกฟ้องซึ่งใช้เวลานาน การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการทำร้ายจิตใจผู้เสียหายและพยานมาก

            ประการที่สี่ เรื่องกำหนดอายุความในการฟ้องคดีเดิมกร่างของสส.บัญญัติให้อายุความเรื่องการทรมานและอุ้มหาย คือ 40 ปี แต่กรรมาธิการสว.แก้ไขเป็นว่าให้อายุความสำหรับทรมานคือ 20  ปี และอายุความของการอุ้มหายให้เริ่มนับตั้งแต่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย ซึ่งการที่จะทราบชะตากรรมของผู้สูญหายอาจต่อเนื่องยาวนานจนไม่สามารถหาพยานหลักฐานได้ อีกประการเรื่องที่ถูกสว.ตัดออกไปคือเรื่องการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น มิให้นำมาใช้กับกฎหมายนี้ แปลว่าถ้าเจ้าหน้าที่กระทำผิดตามกฎหมายนี้ แต่ได้รับการนิรโทษกรรมตามกฎหมายอื่นก็เป็นไปตามกฎหมายนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการทรมาน หรือกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมฯและอุ้มหายก็ไม่ต้องรับผิดหรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนี้  เพราะได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้ว ซึ่งในทางสากลไม่ยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นโมฆะ และต้องถือว่าเราไม่ยอมรับกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือไม่จึงตัดเรืองนิรโทษกรรมออกไป ถ้าไม่ตัดออกกฎหมายนิรโทษกรรมการกระทำตามกฎหมายนี้ก็ยังถือว่าเป็นความผิดที่ถูกฟ้องลงโทษได้

            ข้อห่วงใยสุดท้ายที่ยังไว้วางใจไม่ได้ ก็คือ แม้ร่างกฎหมายนี้จะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯและรอการลงพระปรมาภิไธยก็ตาม แต่ตามรัฐธรรมนูญนั้นเมื่อสภาฯเห็นชอบร่างกฎหมายแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้     5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย ระหว่างนี้หาก 1) นายกรัฐมนตรี หรือ 2) สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนั้นของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ของวุฒิสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน เห็นว่าร่างกฎหมายมีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็สามารถให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า มีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ตัดข้อความนั้นออกไป หลังจากนั้นให้ทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าข้อความนั้นเป็นสาระสำคัญก็ให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป

แต่หากร่างกฎหมายนี้พระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือพ้นไปแล้ว 90 วันไม่ได้พระราชทานคืน ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันอีกครั้ง หากที่ประชุมร่วมกันของ ส.ส. และ ส.ว. ลงมติยืนยันร่างกฎหมายนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าอีกครั้ง ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยอีกภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เลย จะเห็นได้ว่ายังมีอีกหลายขั้นตอนเพราะไม่ทราบเลยว่าจะทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อใด

 

กราฟฟิก : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

            อย่างไรก็ตามขอพูดถึงข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ว่า ในมาตรา 13 บัญญัติห้ามการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากเชื่อว่าบุคคลนั้นหากถูกส่งกลับไปจะได้รับอันตรายหรือถูกกระทำทรมาน หรือถูกกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีหรือถูกกระทำให้สูญหายจากรัฐต้นทาง โดยเฉพาะกรณีที่บุคคลนั้นหลบหนีภัยทางการเมืองจากประเทศต้นทางมายังประเทศไทยก็ควรต้องให้บุคคลนั้นได้รับสิทธิในการลี้ภัยในประเทศไทยหรือจะขอไปอยู่ประเทศที่สาม

ไพโรจน์ พลเพชร ขอเพิ่มเติมเรื่องการตัดเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ที่วุฒิสภาตัดอนุมาตรานี้ออกไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะคณะกรรมการฯที่จะมาตรวจสอบการกระทำต่างๆตามกฎหมายนี้จะมีแต่ภาครัฐซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง ระดับปลัดกระทรวง ถึง 8 กระทรวง แม้จะมีบุคคลภายนอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย ด้านนิติวิทยาศาสตร์ และสื่อมวลชน ก็ตาม การที่ตัดผู้แทนผู้เสียหายออกมิให้มีส่วนในองค์ประกอบคณะกรรมการ ก็ทำให้การมีส่วนรับรู้ในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายของผู้เสียหายขาดหายไป

ก้าวต่อไปขององค์กรสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เนื่องจากกฎหมายนี้มีบทบัญญัติว่าให้บังคับใช้หลังจาก 120 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภาคประชาสังคมขอเรียกร้องว่าในระหว่างระยะเวลานี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้ ไปออกระเบียบและแนวปฏิบัติให้สอดคล้องตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยเฉพาะองค์กรสิทธิจะต้องติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ ติดตามการร้องเรียน บทบาทในการเสนอแนะทางนโยบายต่อรัฐบาลและบทบาทอื่นๆที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย     อีกส่วนหนึ่งคือกฎหมายนี้มอบให้งานสอบสวนเป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองด้วย จึงอยากเห็นว่าหน่วยงานทางปกครองจะจัดอบรมพนักงานฝ่ายปกครองให้เรียนรู้และเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายนี้ โดยเฉพาะฝ่ายปกครองที่อยู่ในต่างจังหวัด ต้องมีการประสานงานการสอบสวนจากส่วนกลางจึงต้องมีความรู้เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง สามารถรับเรื่องร้องเรียนเบื้องต้นได้ สิทธิในการร้องเรียนต้องขยายให้กว้างขวางขึ้น ไม่ทำตามวิธีการเดิมๆ เช่น ผลักภาระไปให้ผู้เสียหายต้องไปขอใบรับรองแพทย์มาก่อน ขอภาพถ่ายอาการบาดเจ็บ หรือมีความเกรงใจหน่วยงานรัฐในพื้นที่ด้วยกัน เป็นต้น อยากเห็นว่าเมื่อผู้เสียหายไปร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นในค่ายทหาร โดยฝ่ายทหารปฏิเสธที่จะให้เยี่ยม ผู้เสียหายก็นำกฎหมายฉบับนี้ไปยื่นร้องเรียนต่อฝ่ายปกครอง หรืออัยการในพื้นที่เพื่อให้รับเรื่องไว้ตรวจสอบ ถ้า DSI อยู่ใกล้ๆในพื้นที่ก็ไปหา คือประชาชนสามารถใช้ช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบการมรมานหรือการอุ้มหายได้หลายช่องทางจากหลายหน่วยงาน

            สุดท้ายคืออยากเห็นคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ การฝึกอบรมของทหาร ได้ทำการศึกษาเรียนรู้กฎหมายนี้ให้ถ่องแท้ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเข้าใจและตนเองในฐานะผู้ปฏิบัติไม่กระทำการละเมิดกฎหมายนี้ เพราะกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองการกระทำที่สุจริต และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีเพียงส่วนน้อยที่ละเมิดกฎเกณฑ์ไปกระทำผิด และขอชื่นชมกรมสอบสวนคดีพิเศษที่สามารถสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่าไม่ในกรณีการหายตัวไปของคุณบิลลี่ และ ขอบคุณศาลทุจริตฯที่สามารถลงโทษอดีตผู้กำกับโจ้ และตำรวจที่เกี่ยวข้องในกรณีถุงดำ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้จะยังไม่มีกฎหมายห้ามทรมานฯบังคับใช้ก็ตาม

ไพโรจน์ พลเพชร กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะเป็นฝ่ายเลขานุการในการบังคับใช้กฎหมายนี้ ในแง่การเตรียมออกข้อบัญญัติ ระเบียบต่างๆ ที่เรียกรวมๆว่า”อนุบัญญัติ”ให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ออกระเบียบว่าด้วยการร้องเรียน การสรรหาคณะกรรมการ สรรหาผู้เชี่ยวชาญต่างๆที่จะมาทำหน้าที่กรรมการ ออกระเบียบว่าด้วยการประเมินทางจิตใจ องค์กรต่อมาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองนายอำเภอทุกอำเภอ ฝ่ายทหาร อัยการ ศาล ต้องมีองค์ความรู้ตามกฎหมายนี้ ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้ นอกจากนี้กรมคุ้มครองสิทธิฯต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปโดยราบรื่น ที่สำคัญหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องปรับ mind set  ในการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายนี้ จะปฏิบัติตามความเคยชินที่เคยปฏิบัติกันมาเช่นเดิมไม่ได้

            ภาคประชาสังคมเป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันให้กฎหมายนี้มีสาระสำคัญดังที่กล่าวมา ก็ยังต้องติดตามการบังคับใช้กฎหมายนี้อยู่ รวมถึงต้องเป็นผู้จัดอบรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกฎหมายนี้ได้ง่าย โดยศึกษาและฝึกอบรม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดทำอนุบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งภาคประชาชนที่เข้าร่วมสัมมนากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 1-2 กันยายนที่ผ่านมาก็ได้เสนอขอเข้ามีส่วนร่วมในการจัดทำ อนุบัญญัติร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ก็หวังว่ากรมคุ้มครองสิทธิฯจะเร่งจัดทำอนุบัญญัติให้สำเร็จโดยมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ก่อนที่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา