สรุปสสส.เสวนาทัศนะ
ครั้งที่ 7/2565
หัวข้อ สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนหลังโควิดและความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน
วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2565
เวลา 09.30-11.00 น.
เกริ่นนำ ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เพื่อรายงานความก้าวหน้าของกิจกรรม รายงานงบดุลและเปิดโอกาสให้สมาชิกได้พบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรรมการและระหว่างสมาชิกด้วยกัน ทุกปีก่อนการประชุมจะจัดรายการเสวนา โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ข้อมูลแก่สมาชิกตามสถานการณ์ของสิทธิมนุษยชนในขณะนั้น ในโอกาสที่การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ สสส.จึงกำหนดจัดเสวนาเพื่อประเมินว่าสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดโควิด -19 และสงครามรัสเซีย -ยูเครน จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร จึงจัดให้มีการเสวนาหัวข้อ สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนหลังโควิดและความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน ณ ห้องประชุมโรงแรมไอบิสสไตล์ กรุงเทพ โดยมีสาระสำคัญปรากฏตามข้อสรุปนี้
ผู้ร่วมเสวนา
ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผลกระทบของสงครามรัสเซีย– ยูเครน สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์อะไรในระดับโลก
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อ.ณรงค์ชี้ให้เห็นว่าก่อนจะวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์และการต่อสู้ระหว่างจักรวรรดิ 2 ฝ่าย คือฝ่ายสหรัฐและยุโรปฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายจักรวรรดิรัสเซีย โดยขอนำเสนอประเด็นที่สำคัญ 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการสร้างประเทศรัสเซียที่ถือเป็นจักรวรรดิหนึ่งที่รวบรวมรัฐอิสระเล็กๆ 15 ชาติมาเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ในปี 1922 ภายใต้การนำของเลนินที่ได้สถาปนาการปกครองระบอบสังคมนิยมขึ้น เมื่อรัสเซียเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองนั้นสหรัฐอเมริกาต้องพึ่งพากองกำลังจากรัสเซียในการต่อสู้กับจักรวรรดิเยอรมนีที่มีฮิตเลอร์เป็นผู้นำ หลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงเกิดจักรวรรดิใหม่คือ สหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ผู้ชนะสงครามมิใช่ฝ่ายสัมพันธมิตรฝ่ายเดียว แต่มี 2 ฝ่าย คือฝ่ายสัมพันธมิตรที่รวมสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส และฝ่ายรัสเซีย สหรัฐอเมริกาสร้างประเทศมาด้วยระบอบทุนนิยม แต่รัสเซียเป็นสังคมนิยม ทั้งสองจักรวรรดิจึงต่อสู้แย่งชิงการนำกันเพื่อเป็นผู้ครอบโลกตั้งแต่นั้นมา
ประเด็นที่สอง ในการต่อสู้ของค่ายโลกเสรีกับจักรวรรดิโซเวียต เราต้องรู้จักทฤษฎีสมคบคิด และรู้จักเครื่องมือของจักรวรรดิสหรัฐและยุโรปในเผยแพร่ระบอบทุนนิยมหรือการใช้เศรษฐกิจแบบการตลาด เพื่อป้องกันการแพร่ขยายของระบอบสังคมนิยมที่นำโดยจักรวรรดิโซเวียต เครื่องมือที่สำคัญของสหรัฐ คือก่อตั้งองค์กรกึ่งเปิดกึ่งปิดขึ้น เรียกว่า CFR[1] ย่อมาจาก Council On Foreign Relations หรือ สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยรวบรวมบุคคลชั้นหัวกะทิทุกสาขาอาชีพมาประชุมกันเพื่อวางยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติการใดๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้สหรัฐ ในยุโรปนั้นมีการก่อตั้งหลายองค์กร เช่น องค์กรฟรีเมสัน Freemasonry[2] ในอังกฤษ ที่เกิดจากการรวมตัวของพวกช่างหิน หรือ องค์กร Skull and Bones สมาคมหัวกะโหลกและกระดูกไขว้เป็นสมาคมที่ก่อตั้งในมหาวิทยาลัยเยลในปี 1832 หรือ องค์กร Illuminati หรือสมาคมอิลลูมินาติ มาจากภาษาลาติน แปลว่า การรู้แจ้ง เป็นอีกหนึ่งสมาคมที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นต้น
กล่าวโดยเฉพาะองค์กร CFR มีเอกสารที่ออกในที่ประชุมในปี 1941 ระบุว่า ต้องสกัดการเติบโตของพรรคบอลเลวิค หรือพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ที่รวมศูนย์ทางเศรษฐกิจไว้ในมือรัฐที่มีพรรคเดียว ไม่มีตลาด ไม่มีนายทุน การรวมศูนย์เช่นนี้เป็นอันตรายต่อระบบทุนนิยมเสรี ต่อระบบการตลาด องค์กร CFR จึงวิเคราะห์ต่อไปว่า ถ้าปล่อยให้บอลเชวิคมีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรปตะวันออกที่รัสเซียยึดครองหมดแล้ว อาจจะลามไปถึงยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตกที่ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมกำลังเติบโตในหลายประเทศ จากนั้น CFR จึงร่วมมือกับ รอคกี้ เฟลเล่อร์และเดล คาร์เนกี้ กำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อต้านอิทธิพลของ บอลเลวิค โดยเสนอต่อประธานาธิบดีรูสเวลล์ว่า หลังสงครามโลกนี้สหรัฐต้องเป็นผู้นำในการสร้างพื้นที่ The Grand Area หรือพื้นที่อันไพศาลของทุนนิยม ซึ่งต่อมายุทธศาสตร์นี้ถูกเรียกว่าเป็น New World Oder เพื่อบรรลุแนวทางดังกล่าวให้เป็นจริง CFR ได้ตั้ง multi-national agencies ขึ้น และต่อมาได้ก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และ ธนาคารโลก หรือ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ International Bank for Reconstruction and Development – IBRD ตามข้อเสนอของนายเฮนรี เด็กซ์ไวท์ นักเศรษฐศาสตร์ระดับสูงในกระทรวงการคลังสหรัฐ ภารกิจของ IMFและ IBRD คือ พยายามจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกโดยสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่โดยใช้สกุลเงินดอลล่าร์ เป็นระบบเงินตราแลกเปลี่ยนทางการค้าทั่วโลก ทำให้โซเวียตรู้ดีว่า. นี่คือการตั้งองค์กรขึ้นต่อต้านทางเศรษฐกิจกับรัสเซียและประเทศสังคมนิยม ที่รัสเซียหนุนหลัง ในปี 1949 รัสเซียจึงได้ก่อตั้ง Comecon – Council for Mutual Economic Assistance สภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของของต่อสู้กันทางเศรษฐกิจของจักรวรรดิสองฝ่าย ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ฝ่ายจักรวรรดิสหรัฐเห็นว่าเพื่อต้องการขยายอิทธิพลและป้องกันพื้นที่อันไพศาลของทุนนิยมไปทั่วโลก สหรัฐต้องจัดให้มีกองกำลังทางทหารไว้เพื่อการคุ้มกันภัยด้วย จึงก่อตั้ง NATO ในปี 1949. โซเวียตจึงได้ก่อตั้ง WATO หรือ Warsaw Pact หรือ สนธิสัญญาวอซอ ขึ้น นี่คือการชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้กันของจักรวรรดิสองระบอบได้ดำเนินการกันมาอย่างยาวนานแล้ว ทั้งต่อสู้กันทางเศรษฐกิจและทางทหาร จักรวรรดิโซเวียตมีจุดอ่อนให้ฝ่ายสหรัฐโจมตีได้ในเรื่องความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องสูญเสียทหารและพลเรือนไปกว่า 10 ล้านคน ทั้งยังต้องเป็นหนี้ที่ต้องชดใช้แก่สหรัฐ 60 ปี ทำให้ความสามารถในการผลิตอาวุธต่างๆลดน้อยลงเรื่อยมา เป็นเหตุให้โซเวียตต้องถูกแบ่งแยกอาณาจักรต่างๆ 15 รัฐเป็นประเทศอิสระ หนึ่งในนั้นคือ ยูเครน สร้างความเจ็บปวดให้. โซเวียตอีกครั้ง ในสมัยนายคิสซินเจอร์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่ายสหรัฐเริ่มเห็นว่าต้องมีการกระชับหรือปรับปรุง New World Order เสียใหม่เพราะกำลังจะมีมหาอำนาจเกิดขึ้นท้าทายอำนาจสหรัฐ คือ จีนและรัสเซีย พื้นที่ต่างๆใน grand area ของสหรัฐกำลังหวั่นไหว จึงมีข้อเสนอให้ 1.ต้องสร้างระเบียบ new world order ขึ้นมาใหม่ 2. ต้องปฏิรูปประเทศสหรัฐอย่างรอบด้าน 3. ต้องแก้ไขสนธิสัญญาที่สหรัฐทำกับประเทศต่าง 4. เพิ่มความมุ่งมั่นในการร่วมมือกับยุโรป ในนาโต 5.ร่วมมือกับอินเดีย 6. เพิ่มการลงทุนในองค์การระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ 7. สร้างเงื่อนไขต่างๆเพื่อกำจัดอิทธิพลของรัสเซีย 8. ลดความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง ลดความช่วยเหลือซาอุดิอาระเบีย 9.หยุดความสัมพันธ์กับจีนทุกด้าน 9. แข่งขันกับจีนโดยต้องใช้กระแสระหว่างประเทศเพื่อลดอิทธิพลของจีน 10.เพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆเพื่อทำให้เห็นว่าได้รับประโยชน์ร่วมกัน 11.กระชับอิทธิพลใน grand area ดังนั้นรัสเซียและจีนจึงจับมือกันไม่ยอมรับการ reshape new world order ในครั้งนี้ แต่ร่วมมือกันประกาศจัดตั้ง new world order ใหม่ด้วยการ reset new world order เปลี่ยนแกนนำจากสหรัฐมาเป็นจีนและรัสเซีย โดยจัดให้มีเครือข่ายความตกลงระหว่างประเทศใหม่ๆ ที่เรียกว่า collective leader ดูได้จากสนธิสัญญาเซี่ยงไฮต์ ที่มีประเทศต่างๆเข้าร่วม 8-10 ประเทศ นำโดยกลุ่มประเทศ BRICS คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ สาระสำคัญของสนธิสัญญาเซี่ยงไฮต์ คือ ประเทศใดซื้อสินค้าจากจีน จีนจะรับซื้อสินค้าของประเทศนั้นด้วยเงินสกุลท้องถิ่นเป็นการตอบแทน เช่น หากไทยขายทุเรียนให้จีนด้วยเงินหยวน จีนจะขายเครื่องจักรต่างๆให้ไทยโดยไทยสามารถจ่ายเป็นเงินบาท ไม่ต้องพึ่งดอลล่าร์ ในขณะที่ยุโรปสร้างเงิน สกุลคริปโตขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นสกุลกลางในการทำธุรกรรม แต่จีนกลับไปสร้าง CBDC – Central Bank Digital Currency ขึ้นมาตอบโต้ คือ การจ่ายเงินผ่าน block chain ของรัฐบาล ไม่ใช้เงินสด
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนำไปสู่ข้อสรุปในประเด็นที่สามว่า นี่คือ การสร้าง 1 สงคราม 7 สนามรบ หมายถึงสงครามครั้งเดียวเพื่อการจัดระเบียบโลกใหม่ กระทำภายใต้ 7 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่การค้า 2. พื้นที่การลงทุน 3.พื้นที่เงินตรา 4.พื้นที่ทางความรู้และเทคโนโลยี สหรัฐห้ามการลงทุนทางเทคโนโลยีจากจีนในสหรัฐ ไล่นักศึกษาจีนที่ศึกษาด้านเทคโนโลยีกลับบ้าน 5.พื้นที่ soft power สงครามข่าวสาร 6.พื้นที่ด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพ เสรีภาพสู้กับเผด็จการ 7.พื้นที่สงครามในสนามรบจริง อันเป็นบทที่ต้องทำความเข้าใจว่าสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของบริบท 1 สงคราม 7 พื้นที่เท่านั้น สงครามในสนามรบจริงเกิดขึ้นทุกวันอาจขยายไปสู่ในคาบสมุทรโกลันก็ได้ แม้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบลง แต่การต่อสู้กันระหว่างจักรวรรดิหรือมหาอำนาจจะดำรงอยู่ ขึ้นกับว่าใครจะเป็นผู้นำใน new world order
ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สงครามรัสเซีย-ยูเครนขอเรียกว่าเป็นสงครามเพื่อการรุกราน เป็นการรุกรานของประเทศใหญ่ต่อประเทศเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ในยูเครน และไม่ใช่ประเด็นว่าเป็นสิทธิมนุษยชนของตะวันตกหรือไม่ เพราะในยามสงครามหรือในความขัดแย้งรุนแรงเหยื่อรายแรกคือความจริง เราไม่มีทางรู้ว่าในขั้วสงครามนั้นขัดแย้งกันด้วยสาเหตุอะไร หรืออย่าถามว่าใครอยู่เบื้องหลังสงคราม พ่อค้าอาวุธได้รับประโยชน์จากสงครามหรือใครบ้างได้รับประโยชน์ ซึ่งเราตอบไม่ได้ ข่าวจากทางรัสเซียอ้างว่าสงครามที่บุกยูเครนเพราะยูเครนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซีย แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งนั้นยูเครนเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ยูเครนผลิตข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ส่งออกกว่าครึ่งในโลก ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นแหล่งน้ำมันที่ท่อส่งน้ำมันจากรัสเซียพาดผ่านยูเครนไปสู่ยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญของรัสเซีย ดังนั้นยูเครนจึงมีความสำคัญต่อรัสเซีย การอ้างเรื่องยูเครนขอเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ก็เป็นประเด็นที่รัสเซียอ้างขึ้นเพื่อรุกรานยูเครน เพราะเกรงว่าตนจะไม่ปลอดภัย ไม่นับสิ่งที่อ.ณรงค์ให้ข้อมูลว่ายูเครนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย ซึ่งต้องไม่ลืมว่ารัฐอิสระทั้ง 15 รัฐภายใต้การปกครองของรัสเซียนั้นไม่เคยได้ลิ้มรสของเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเลย ดังนั้นเมื่อยูเครนและรัฐอิสระต่างๆแยกตัวเป็นรัฐอิสระจากรัสเซีย ก็ได้รับรู้ถึงเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ยูเครนเองมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะชาวยูเครนมีการเติบโตแบบประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วมสูงมาก ชาวยูเครนไม่เคยทราบว่าสิทธิเสรีภาพในการเสพสื่อนั้นเป็นอย่างไรภายใต้รัสเซีย การได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง โปร่งใสเป็นอย่างไร การใช้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดการพัฒนาทางการเมืองของตนเองจึงมีสูงมากในช่วง 10 ปี นับแต่เป็นประเทศเอกราช ขอเชิญให้ทุกท่านเข้าไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งทางเว็ปไซต์ หนังสือชื่อ คู่มือการมีส่วนร่วมของพลเมือง: บทเรียนจากยูเครนถึงไทยในกระแสตรวจจับคอรัปชั่น[3] หัวใจของชาวยูเครนคือความโปร่งใสและการตรวจสอบผู้นำของตนเอง เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ซึ่งทำไม่ได้ในยุคที่รัสเซียปกครอง ดังนั้นชาวยูเครนจึงออกมาต่อต้านการรุกรานของรัสเซียเพราะรู้ดีว่าการอยู่ภายใต้รัสเซียชีวิตความเป็นอยู่ของตนจะถูกจำกัดให้ไม่มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในภาวะความขัดแย้งไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ในภาคใต้ของเราการรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้คืออะไร คนมุสลิมหัวรุนแรง แล้วเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ จากประสบการณ์ที่ลงไปใกล้ชิดชาวมุสลิมกลับพบว่าคนมุสลิมในภาคใต้อยากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเช่นเดียวกับที่ชาวยูเครนต้องการ การเข้าถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสามารถตรวจสอบได้จึงเป็นส่วนสำคัญในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่การสร้างข่าวลวง ข่าวเท็จจาก IO ที่เราทราบดีว่าดำเนินการโดยภาครัฐที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้
สำหรับประเด็นผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนภายใต้ระเบียบโลกใหม่นั้น ประเด็นแรกคือการกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน ซึ่งในบ้านเราก็ยังคงมีปัญหานี้อยู่เช่นกัน ที่งบประมาณจำนวนหนึ่งถูกนำไปใช้โดย IO เพื่อสร้างข่าวลวงข่าวเท็จต่างๆ ผลกระทบประเด็นต่อมาคือกรณีที่อาจมีมหาอำนาจขั้วใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือรัสเซียนั้น อยากจะตั้งคำถามชวนคิดว่าเราจะไว้ใจมหาอำนาจใหม่ได้อย่างไร ดูได้จากจีน ที่ไม่เข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง – ICCPR ขณะนี้จีนมีการลงทุนในลาว กัมพูชาหลายโครงการมูลค่ามหาศาล แต่ก็มีการขับไล่ประชาชนท้องถิ่นออกจากที่ทำกินเพื่อให้โครงการต่างๆจากจีนเข้าพัฒนาและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างสะดวก โดยจีนอ้างว่านี่จะทำให้คนจีนมีเศรษฐกิจดีขึ้น นี่เป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งที่ต้องถูกตั้งคำถาม ประเทศจีนยกเลิกการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2561 ซึ่งอาจจะทำให้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิงอยู่ในตำแหน่งสูดสุดไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ โดยคาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ผ่านกระบวนการปิดในการประชุมใหญ่สภาประชาชนแห่งชาติในปีหน้าซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี กรณีเช่นนี้ชาวจีนจะตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลได้อย่างไร จะตรวจสอบว่ามีการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสได้หรือไม่ อยากเชิญให้อ่านหนังสือเรื่อง “ปรัชญากับอนาคตของประชาธิปไตยไทย”ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2553 โดย อ.อุกฤตฏ์ แพทย์น้อย ที่เปิดประเด็นให้ถกเถียงกันเรื่องประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อนาคตประชาธิปไตยไทยคือต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศในอนาคต ผลกระทบประเด็นต่อมากรณียูเครน คือ ผลกระทบต่อประชาชนและระบบที่สำคัญต่อมนุษย์ 5 กลุ่ม ๆ แรก คือต่อเด็กและเยาวชน ข้อมูลของUN พบว่าทุก ๆ วันจะมีเด็กเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน ตอนนี้ผ่านไป 100 วันแล้ว มีเด็ก 200 – 500 คนที่ตายและได้รับบาดเจ็บ กลุ่มที่สองคือเกิดผู้อพยพและผู้ลี้ภัยไปสู่โปแลนด์กว่า 3.5 ล้านคนนับแต่ 22 กุมภาพันธ์ กลุ่มที่สามคือกระทบต่อระบบอาหารโลก รายงานขององค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติระบุว่า มูลค่าของอาหารในโลกสูงขึ้น 20% นับแต่เกิดสงครามเนื่องจากการทำลายแหล่งผลิตอาหาร กลุ่มที่สี่คือระบบพลังงานโลก ที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก และสุดท้ายส่งผลต่อระบบสุขภาวะและความมั่นคงของสันติภาพ ซึ่งกระทบต่อชีวิตและสุขภาวะของมนุษย์ทั่วโลก เวลาที่เรามองเรื่องความมั่นคงของมนุษย์คงมิใช่ความมั่นคงทางกายภาพเท่านั้นแต่รวมถึงความมั่นคงด้านสุขภาวะด้วย
ผลของการระบาดของโควิด -19 ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อยากให้เรามองปัญหาแบบเศรษฐศาสตร์การเมือง คือ มองภาพรวมหรือภาพกว้างเหมือนนกที่เห็นภาพรวมของปัญหาแล้วค่อยลงมามองเป็นส่วนๆในรายละเอียดว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไรและจะแก้ไขอย่างไร จึงขอเสนอวิธีการมองปัญหาเป็น 4 ประเด็น คือ ประเด็นแรกมองภาพรวมของประวัติศาสตร์ของการเกิดปัญหาก่อนที่จะมองว่าปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นเพื่อหาทางออกให้ตรงกับต้นตอของปัญหาและหาทางทำให้เกิดความสมดุลจึงจะหาทางออกของปัญหาได้ ประเด็นที่สองคือการมองถึงผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล หรือ individual interest และขณะเดียวกันต้องมองให้เห็นผลประโยชน์ของชาติโดยต้องตีความว่าอะไรคือผลประโยชน์ของชาติที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของจักรวรรดินิยม สุดท้ายเรากำลังมองประชาธิปไตยทางการเมืองที่ต้องเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ โดยแยกจากกันไม่ได้ การบริโภค การดำรงชีวิตของผู้คนในโลกต้องอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจ ที่ต้องมีเรื่องของเศรษฐกิจการตลาดและทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วมันคืออะไร เราจะต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองได้อย่างไร ถ้าปากท้องเรายังไม่ได้รับการดูแล ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจไม่ว่าที่ไหนในโลก คือที่ดิน ชาวนาชาวไรjซึ่งเป็นพ]เมืองส่วนใหญ่ในโลกต้องมีที่ดินเป็นของตัวเองนี่คือปัจจัยการผลิต หากไม่มีที่ดินแล้ว เกษตรกรก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้
ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้เกิดขึ้นได้จาก 2 สิ่ง คือ เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ และเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่บางครั้งเราทำให้สิ่งที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ของขึ้นราคาก็บอกว่าเป็นเพราะของนั้นมีคนต้องการมาก จนจัดหามาสนองความต้องการของคนไม่ทัน นี่คือเรื่องปกติ แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ความต้องการสินค้ามากนั้นมาจากคนหรือเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะถ้าความต้องการสินค้ามาจากคนก็ต้องอธิบายว่ามาจากพฤติกรรมของคนไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ วิธีคิดเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำทางความคิด เช่นเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้าน ซึ่งจำเป็น ไม่ได้ชี้ว่าอะไรถูกหรือผิด แต่อยากให้คิดและมีวิธีมองปัญหาจาก 4 ประเด็นนี้
การจะตอบปัญหาว่าโควิดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร ต้องวิเคราะห์ให้ได้ก่อนว่าเกิดขึ้นของโควิดเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์หรือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ส่วนจะบอกว่าเป็นเพราะมหาอำนาจสร้างโควิดขึ้นมาหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ แต่อยากให้มองว่าถ้าโควิดเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ก็แก้ไขไม่ยากเพราะเรามีเทคโนโลยี่ที่ทันมสมัยควบคุมและจัดการได้ไม่ยาก แต่ถ้าเกิดจากฝีมือมนุษย์สร้างขึ้นนี่จะลำบากเพราะคนที่จะแก้ไขอย่างไร ฝ่ายที่สร้างขึ้นมาต้องหาทางโต้ตอบให้มันแพร่กระจายต่อไป ประเด็นต่อมาคือหากจะแก้ไขการแพร่ระบาดจะทำอย่างไร เพราะไม่ว่าจะวิเคราะห์แล้วว่าเกิดจากธรรมชาติหรือจากคน วิธีการแก้ไขปัญหาก็จะแตกต่างกัน นี่คือปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อน ขอทิ้งประเด็นนี้ไว้ก่อน
ประเด็นต่อมาหากจะพูดถึงวิธีการแก้ไขก็ต้องเกี่ยวข้องกับอธิปไตยของผู้บริโภค นั่นคือ ผู้บริโภคต้องรับรู้ข้อมูลทั้งหมดของอาการต่างๆ ข้อมูลผลกระทบ ผลข้างเคียงของการได้รับวัคซีน และมีสิทธิเลือกได้หรือไม่ว่าจะใช้วัคซีนตัวไหน ไม่ใช้ตัวไหน ซึ่งหากเคารพสิทธิของผู้บริโภคแสดงว่านี่คือการการมองถึงผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล แต่ถ้ารัฐบอกต้องบังคับทุกคนต้องฉีดวัคซีนแสดงว่ารัฐใช้วิธีแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ ถ้าคุณไม่ฉีด แปลว่าคุณไม่คำนึงถึงส่วนรวม จะเห็นได้ว่าหลักติดและวิธีแก้ปัญหาเป็นเรื่องยากที่จะสร้างสมดุลได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความอยู่รอดของมนุษยชาติ ซึ่งหมายถึงความอยู่รอดของทั้งปัจเจกชนและส่วนรวมไปพร้อมๆกัน วิธีมองปัญหาที่แตกต่างกันโยไม่สมดุลนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ต่างกัน ฝ่ายจีนมองว่าต้องคำนึงถึงส่วนรวม มนุษยชาติหรือสังคมโดยรวมจะอยู่รอด ส่วนตัวมาทีหลัง แต่โลกเสรีนิยมจะมองว่าความอยู่รอดของปัจเจกบุคลต้องมาก่อน ถ้าปัจเจกอยู่รอดสังคมก็รอด นี่เป็นปัญหาระดับโลกของการมีวิธีคิดต่างกันนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างกัน เราจึงพบว่าในหลายปัญหาจะมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แต่ไม่แก้ไขเชิงโครงสร้าง โดยตัดประเด็นความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์และโครงสร้างออกไปเพื่อให้ปัญหาเฉพาะหน้าได้รับการแก้ไขก่อน ส่งผลให้เกิดการสะสมปัญหาทางโครงสร้าง
วิธีคิดในการแก้ไขปัญหาโควิดต้องตอบให้ได้ว่าเรามีสิทธิรู้ข้อมูลหรือไม่และเรามีอิสระหรือมีสิทธิที่จะเลือกหรือไม่ ทำไมควรเลือกทำไมไม่ควรเลือก ทำไมต้องทำตามนโยบายรัฐบาลหรือไม่ทำตามด้วยเหตุผลอะไร ต้องอธิบายให้ได้ เช่น มีข่าวมาจากทางยุโรปว่าไม่ควรฉีดเข็ม สามและสี่ เพราะจะเกิดผลข้างเคียง ถามว่าเรามีสิทธิรู้ข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ และเรามีสิทธิเลือกไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่ อย่างไรก็ตามเราควรมีอาวุธหลายชนิดไว้ป้องกันตัว ไม่ใช่มีแค่ชิ้นเดียว เปรียบเสมือนชุดความคิดหลายชุดเพื่อใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา แล้วเลือกใช้วิธีการต่างๆหลายแบบที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหานั้นๆ โดยต้องสรุปความคิดให้ได้ว่าทางออกของปัญหานั้นจะใช้เครื่องมือใดในการแก้ไขให้เกิดสมดุลและเหมาะสมที่สุด
ในสถานการณ์โควิดแน่นอนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การตัดสินใจว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นจะปกป้องตัวเองหรือส่วนรวม และเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งตอบไม่ได้ แต่ที่แน่ๆโควิดทำให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิคือคนเล็กคนน้อยที่มีฐานทางเศรษฐกิจต่ำ ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็ฉวยโอกาสจำกัดสิทธิด้านอื่นๆของประชาชนด้วย เช่นเสรีภาพในการชุมนุม เป็นต้น สุดท้ายเวลพูดถึงประชาธิปไตยนั้นต้องไม่ลืมว่ารากฐานของประชาธิปไตยคือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึง คน 1 คน ควรมี 1 ปัจจัยการผลิต ได้แก่แรงงาน ที่ดินและทุนที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน ทุนนิยมทำให้ปัจจัยการผลิตตกไปอยู่ที่นายทุนไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ทำไมนายทุนถึงสามารถมีโรงงานหลายโรงงาน แต่กรรมกรเป็นลูกจ้างได้แค่โรงงานเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะกฎระเบียบที่เรียกว่าสถาบัน ที่รวมทุกอย่างในสังคมเข้าไว้ด้วยกันทั้งกฎหมาย ระเบียบ แนวปฏิบัติ ต่างๆที่มนุษย์เป็นผู้กำหนดและเป็นตัวจำกัดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ทำไมชาวนาควรกำหนดราคาข้าวได้เองโดยไม่ต้องผ่านโรงสี ทำไมไม่จัดระบบให้ชาวนาชาวไร่สามารถขายผลผลิตทางการเกษตรในปั๊มนำมันทั่วประเทศได้ ทำไมเราจึงจัดสรรที่ทำกินให้นายทุนได้เป็นหมื่นๆไร่ แต่ชาวนาไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับทุนนิยมมากกว่าคนส่วนใหญ่ ซึ่งหากย้อนไปในประวัติศาสตร์จะพบว่าสาเหตุมาจากประเทศเราพัฒนามาด้วยแนวทางที่กำหนดโดยธนาคารโลกที่มีสหรัฐอยู่เบื้องหลัง ผ่านแนวคิดของ USOM และแนวทางที่กำหนดโดย CFR ว่าอุษาคเนย์เป็นตลาดที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมียางพาราและดีบุกที่สำคัญยิ่งต่อการผลิตอาวุธ ดังนั้นจึงมีการผูกขาดในการผลิตดีบุก การแพร่กระจายของโควิดก็เช่นกัน เราถูกจำกัดการรับรู้ เช่น ทำไมไม่เลือกวัคซีนหลายชนิด ทั้งนี้เป็นเพราะคนไทยไม่ถูกวิเคราะห์ให้เชื่อมโยงของสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบ ศึกษาเป็นเรื่องๆไม่เชื่อมโยงกัน หลังสงครามยูเครนและโควิดจึงต้องหันกลับไปสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจคือพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน และสร้าง social democracy หรือ civil state – รัฐพลเมืองให้ได้ ในทางเศรษฐกิจเราต้องสร้าง”เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม”ให้ได้
ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ขอเสริมสิ่งที่อ.ณรงค์พูดไปแล้วว่าเราถูกสอนให้คิดให้เรียนเป็นต่อนๆ แยกเป็นส่วนๆโดยไม่ถูกสอนให้มองความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ต่างๆแบบองค์รวม เราจึงมองเห็น “ชาติ”แม้จะมีที่มาจากการรวมกันของประชาชน แต่เรามองไม่เห็น “คน”แต่ละคนที่รวมกันเป็นชาติ ความมั่นคงของชาติจึงถูกทำให้เสียงดังกว่าความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้นเราต้องมองปรากฏการณ์ทั้งสองส่วนประกอบกันโดยไม่แยก โควิดและสงครามความขัดแย้งรัสเซีย- ยูเครนยังไม่หมดไป แต่เราจะรับมือกับความรุนแรงอย่างไร ความรุนแรงของโควิด เกิดจากเรายอมรับข้อมูลด้านเดียวทางการแพทย์คือแผนปัจจุบัน แต่เรามีทางเลือกทางการแพทย์อีกหลากหลายทั้งแบบอิสลาม แบบเยอรมนี และแผนไทยที่ใช้สมุนไพร ทำไมเราไม่ใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายทางการแพทย์ จึงเกิดความขัดแย้งและอึดอัดที่ถูกสั่งมาจากกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้การแพทย์แบบเดียว เช่น การรับหรือไม่รับวัคซีนควรเป็นการตัดสินใจของปัจเจก แต่คนๆนั้นต้องได้รับข้อมูลที่รอบด้าน
สสส.จะมีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์หลังโควิดและความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน
ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อยากให้สสส.ไปเรียนรู้จากหนังสือ 2 เล่มเพื่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เล่ม ๆแรกเป็นของคุณ ลาต้า เรื่องภาคประชาสังคมกับการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่พูดถึงตัวแบบ 3 ประการในการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน หนึ่งดูสภาพความเป็นจริงแล้วแปรเปลี่ยนให้เป็นงานที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำงานในเชิงลบ สองต้องทำงานด้วยความโปร่งใส ให้สามารถตรวจสอบได้ สามต้องตระหนักรู้ค่านิยมของสังคมเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อีกเล่มคือแปลโดยอ.วีระ สมบูรณ์ ชื่อการทุจริตและสิทธิมนุษยชน เล่มนี้ให้มุมมองว่าการทุจริตเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร โดยเชื่อมโยงกับการถือครองที่ดิน การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น ที่สำคัญสสส.ต้องเชื่อมโยงให้เห็นเป็นองค์รวมว่าคนตัวเล็กบนโลกเชื่อมโยงกับโครงสร้างและสิทธิมนุษยชน โดยอาศัยมุมมองร่วมของสิทธิมนุษยชนคือสุขภาวะที่ดีของสังคม ที่ต้องมองควบคู่ไปกับเรื่องปากท้อง การมีสุขภาพและการมีชีวิตที่ดี เช่น โรงพยาบาลควรกระจายไปอยู่ในชุมชนไม่ใช่อยู่ห่างไกลผู้คนส่วนใหญ่ เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เป็นต้น
รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ สสส.ควรพิจารณาประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อยจากปัญหาสงครามและโควิด คนเล็กๆเหล่านี้ได้รับผลกระทบ 3 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับปัญหาพลังงานและสุขภาวะ โดยเฉพาะพลังงานถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนในสหรัฐ 7 บริษัทที่เรียกว่า 7 sister ได้แก่ เอ็กซ์ซอน เชฟรอน เท็กซาโก โมบิล การ์ฟออย เชลล์และบริติชปิโตรเลี่ยม ซึ่ง 5 ใน 7 บริษัทก็รวมกันเป็น 2 บริษัท ดังนั้นปัจจุบันจึงมี 3 บริษัทที่ผูกขาดการค้าปิโตรเลี่ยมทั่วโลกที่ผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันถึง 80% ราคาน้ำมันจะขึ้นลงไม่ใช่กำหนดโดยกลุ่มโอเป็คหรือเป็นเพราะสงครามรัสเซีย เมื่อดูโครงสร้างของโลกแล้ว ในบ้านเราประชาชนก็ถูกครอบงำโดยเผด็จการทุนสามานย์ ทำให้คนเล็กๆถูกแย่งชิงตลาดไปหมด ประเด็นต่อมาการค้าอาวุธก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในโลกนี้ด้วยที่มหาอำนาจเป็นผู้ผูกขาดอีก ทั้งสหรัฐ รัสเซีย อังกฤษ และยุโรปหลายประเทศอยู่ได้เพราะสงครามและการค้าอาวุธ ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่บริจาคน้ำมันหรือกำไรมาให้ประเทศยากจนบ้าง ทั้งๆที่ร่ำรวยมหาศาล แต่ระบบทุนนิยมสอนว่าถ้าไม่จ่ายเงินก็ไม่ขายหรือให้น้ำมัน ศรีลังกากำลังจะล้มละลายมีเรือน้ำมันมาจอดที่ท่าเรือ แต่ไม่มีเงินก็ไม่ส่งน้ำมันให้ จอดอยู่ที่ท่าเรือเฉยๆ และที่สำคัญทุนสามานย์ไม่มีค่ายทางการเมือง มีแต่ค่ายกำไรและขาดทุน โดยร่วมมือกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่ายเสรีนิยมหรือค่ายสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ทุนนิยมร่วมมือกันหมดและประเทศเล็กๆ คนเล็กๆจะอยู่ได้อย่างไร ทุนสามานย์ในบ้านเราก็ร่วมมือกับทุนโลกและใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการทำกำไรให้ตนเอง จ่ายค่าหัวในการเลือกตั้งตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา และไปกู้เงินต่างชาติมาแจกเงินให้แก่ประชาชนเพื่อให้ไม่ต้องทำมาหากินหรือไปหาเงิน ท่านทราบหรือไม่ว่าบ้านเราเป็นหนี้เงินกู้กว่า 11ล้านล้านบาทแล้วในปัจจุบัน ซึ่งอีก 70 ปีก็ยังชำระหนี้ไม่หมด ดังนั้นสสส.ต้องตระหนักประเด็นเหล่านี้ในการดำเนินกิจกรรมต่อไป ขอฝากไว้ด้วย
[1] โปรดดู รู้จัก 5 “องค์กรลับ” ของโลกที่อันตราย https://www.abnewstoday.com/7566
[2] อ้างแล้ว
[3] พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ในเว็ปไซต์ deep south watch ,18 มีนาคม 2018 https://deepsouthwatch.org/th/node/11780
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)