สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 6/2565 หัวข้อ มาเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดกันเถอะ

 สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 6/2565

หัวข้อ มาเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดกันเถอะ

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2565

เวลา 13.30-15.00 น.

ผู้ร่วมเสวนา

1.ไพโรจน์ พลเพชร         อดีตกรรมการครป./ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน -สสส.

  1. ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

3.พิณทอง เล่ห์กันต์         เครือข่ายผู้หญิงอีสาน

4.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา         สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่

เกริ่นนำ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะมาถึงในวันที่ 22พฤษภาคม 2565 นี้ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมคนกรุงเทพฯจึงได้เลือกตั้งผู้ว่าฯของตัวเอง แต่จังหวัดอื่นจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดบ้างจะได้หรือไม่ อะไรคือเหตุผลที่คนต่างจังหวัดไม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯได้เอง เป็นเพราะส่วนกลางไม่โอนอำนาจให้ หรือ ต้องมีกฎหมายมารองรับ หรือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเหตุผลอื่นๆเรื่องความมั่นคงของประเทศ ที่รัฐราชการส่วนกลางเกรงว่าถ้าปล่อยให้เลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดได้แล้วประเทศไทยจะแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ไม่ใช่ราชอาณาจักรหนึ่งเดียวตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สสส.เสวนาทัศนะ จึงขอนำเสนอการเสวนาหัวข้อ มาเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดกันเถอะ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อดีข้อเสียและเหตุผลที่แท้จริงว่า ถ้าจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดจะดำเนินการได้อย่างไร

ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล การเลือกตั้งผู้ว่าฯถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการราชการส่วนภูมิภาค คือเปลี่ยนผู้ว่าฯที่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาดไทยมาเป็นให้ประชาชนเลือก แต่อีกประเด็นที่ควรพิจารณาไปพร้อมกันและเป็นสิ่งที่สังคมไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นจากกระแสเรียกร้องให้มีจังหวัดจัดการตนเอง นั่นคือ ควรจะยุบราชการบริหารส่วนภูมิภาค ไปด้วยหรือไม่ หมายความว่า การบริหารบ้านเมืองของเราจะมีแค่ 2 ส่วนคือส่วนกลาง ที่มีกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ กับ ส่วนท้องถิ่น คือมี องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและอบต. ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น และเห็นด้วยว่าควรดำเนินการทั้งสองระบบไปพร้อมๆกันหรือพยามยามทำให้เปลี่ยนแปลงในระยะยาว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือโครงสร้างของการบริหารงาน ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดแม้มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของส่วนกลางก็จะไม่เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นได้ เพราะผู้ว่าฯยังต้องรับนโยบายมาจากส่วนกลางและยังต้องดูแลอบจ. เทศบาลและอบต.ตามโครงสร้างเดิม ก็จะทำให้บริหารงานไม่ได้ดีตามนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง การจัดโครงสร้างแบบเดิมนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องการรวมศูนย์อำนาจมาส่วนกลางเพื่อให้ส่วนกลางแต่งตั้งผู้จะไปบริหารราชการในจังหวัด และให้กระทรวงทบวงกรมส่งข้าราชการไปประจำจังหวัดทุกจังหวัดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าฯ การบริหารประเทศโดยใช้โครงสร้างแบบนี้ไม่ทันสมัย ไม่เอื้อต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ไม่ทันต่อความเติบโตของเมืองที่โตขึ้นทุกวัน ที่ต้องการการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯหากไม่เปลี่ยนโครงสร้างให้เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

            จริงๆแล้วหากจะเทียบเคียงกันว่าถ้ากรุงเทพฯเลือกตั้งผู้ว่าฯได้  จังหวัดอื่นก็ควรเลือกผู้ว่าฯของตนเองได้ ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจังหวัดนั้นจะมีศักยภาพของการเจริญเติบโตมากหรือไม่ มีประชากรมาก เก็บภาษีท้องถิ่นได้มากหรือไม่ ก็จัดการเลือกตั้งได้ ไม่เป็นปัญหา เพราะกรุงเทพฯเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งแรกในปี 2518 ซึ่งสมัยนั้นกรุงเทพฯยังไม่มีความเจริญมาก ไม่มีประชากรมาก และไม่มีการจัดเก็บภาษีได้มากมายเช่นในปัจจุบัน กรุงเทพฯค่อยๆเจริญเติบโต การบริหารราชการของกรุงเทพฯก็เติบโตไปพร้อมกับความเจริญของกรุงเทพฯ ดังนั้นจังหวัดใหญ่ๆทั่วประเทศในขณะนี้ เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี เป็นต้น จังหวัดเหล่านี้ก็มีทรัพยากรและความเจริญเติบโตมากกว่ากรุงเทพฯเมื่อปี 2518 และหากจะถามว่าที่กรุงเทพฯได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯก่อนจังหวัดอื่นๆนั้นเป็นเพราะกรุงเทพฯจัดเก็บภาษีได้มากกว่าจังหวัดอื่นนั้น คงไม่ใช่คำตอบเพราะการที่กรุงเทพฯเก็บภาษีได้มากกว่าจังหวัดอื่นเป็นเพราะกรุงเทพฯเอาทรัพยากรจากที่อื่นมารวมศูนย์ไว้ต่างหาก บริษัทใหญ่ ๆ ส่วนราชการทั้งหมด การลงทุนต่างๆ รวมศูนย์ในกรุงเทพฯ ลองกระจายอำนาจองค์กรนี้ออกไปให้ทุกจังหวัด เชื่อว่าทุกจังหวัดจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และนำไปพัฒนาความเจริญของจังหวัดได้ทัดเทียมหรืออาจจะเจริญมากกว่ากรุงเทพฯด้วยก็เป็นได้

ไพโรจน์ พลเพชร โครงสร้างการปกครองของเราแบ่งส่วนราชการออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ราชการบริหารส่วนกลาง คือกระทรวง กรมต่างๆ 2.ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ที่เป็นจังหวัด อำเภอ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่ขึ้นกับผู้ว่าฯภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และ 3.ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลและสภาองค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ประเด็นคือ ตอนนี้ปัญหาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ปากท้อง อาชีพ น้ำ ไฟ ล้วนไปขึ้นหรือรวมศูนย์ที่ส่วนกลางคือกระทรวงต่างๆและรัฐมนตรี เมื่อเกิดปัญหาเหล่านั้นในระดับอำเภอหรือจังหวัด ทำไมราชการส่วนภูมิภาคในระดับอำเภอและจังหวัดจัดการไม่ได้ เรื่องจัดการขยะ หรือจราจรในกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯจัดการปัญหาการจราจรไม่ได้ เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯ แต่อยู่ที่ตำรวจ หรือแม้แต่เรื่องรถเมล์ อำนาจการแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯ แต่ไปอยู่กับขส.มก.และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนกลาง จึงเห็นได้ว่าเวลาชาวบ้านมรปัญหาก็ต้องมาร้องที่ทำเนียบ เป็นการรวมศูนย์อาจมาตั้งแต่สมัย ร. 5 แล้ว เหตุที่จังหวัดและอำเภอจัดการไม่ได้ เพราะกรมต่างๆ 42 กรมที่รับผิดชองอยู่ในส่วนกลาง งบประมาณก็อยู่ส่วนกลางไม่กระจายไปสู่ท้องถิ่น

            จุดเปลี่ยนของการกระจายอำนาจอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีบทบัญญัติในการปฏิรูปการกระจายอำนาจที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. กำหนดความสัมพันธ์ของอำนาจระหว่างส่วนท้องถิ่นกับประชาชนในท้องถิ่น โดยกำหนดให้ที่มาของฝ่ายบริหารของท้องถิ่น คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีของเทศบาล นายกอบต. นายกเมืองพัทยาและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติของท้องถิ่น คือสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกระดับก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง 2. มีการจัดสรรงบประมาณ 35 % ให้ท้องถิ่นจากงบประมาณแผ่นดินที่ทำให้ท้องถิ่นสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามความต้องการของท้องถิ่น ไม่ต้องรออนุมัติจากส่วนกลาง 3. ให้มีกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจเพื่อถ่ายโอนอำนาจของส่วนกลางบางส่วนไปให้ท้องถิ่นดำเนินการเอง และที่สำคัญคือการบัญญัติให้รัฐบาลสนับสนุนจังหวัดที่พร้อมในการจัดการตนเองให้สามารถดำเนินการได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กฎหมายดังกล่าวซึ่งออกมาใช้บังคับในปี 2544 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย ตัวอย่างเช่น อำเภอจะขอขุดลองคูคลองเพื่อการระบายน้ำยามฝนตกป้องกันน้ำท่วม จะทำไม่ได้ต้องไปขออนุญาตกรมชลประทานก่อน หรือการถ่ายโอนเรื่องการให้บริการสาธารณสุข ที่ปัจจุบันกลายเป็นรพ.สต. ย่อมาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (เดิมคือสุขศาลา ต่อมาเป็นสถานีอนามัย) กระทรวงสาธารณสุขก็เข้ามากำกับดูแล โดยไม่ปล่อยมือให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเรื่องการศึกษาก็ยังไม่มีการถ่ายโอนอำนาจ   ที่สำคัญคือมีการลดงบประมาณที่จะให้ท้องถิ่นลงเหลือแค่ 28% อันจะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจน้อยลง แม้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบ กทม.จะสามารถจัดการบางเรื่องได้ เช่นมีโรงพยาบาลของตัวเอง มีโรงเรียนแพทย์เอง และมีโรงเรียนระดับประถมและมัธยมเอง แต่บางเรื่องยังไม่มีการโอนอำนาจมาให้ กทม. ในทางหลักการแล้วบ้านเราควรมีการปกครองแค่ 2 รูปบบ คือราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น โดยโอนงานจากส่วนกลางมาที่จังหวัด เทศบาล และอบต. ที่สำคัญต้องโอนงบประมาณมาด้วย แต่ปัจจุบันส่วนกลางยังไม่ยอมโอนมาให้ เช่น การจัดเก็นภาษี ตอนนี้ภาษีมูลค่าเพิ่ม -VAT ที่ท้องถิ่นเก็บได้ ต้องส่งเข้าส่วนกลางทั้งหมดแล้วส่วนกลางจึงจัดสรรมาให้ท้องถิ่น ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวเบี่ยงเบนไม่ยอมให้การกระจายอำนาจสัมฤทธิ์ผล ตามที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 50 วางรากฐานไว้ รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 บัญญัติให้ท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองได้ ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมการปกครองตนเองทุกระดับ รวมทั้งให้ประชาชนท้องถิ่นสามารถเข้าชื่อเสนอกันถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้ แต่ทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ในรัฐธรรมนูญ 60

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่มีความตื่นตัวเรื่องการผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เรารู้สึกว่าส่วนกลางกดทับไม่ปล่อยอำนาจให้เราจัดการตนเอง จึงรวมตัวกันตั้งคำถามและจัดกิจกรรมในนามของ “ภาคีรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่”ซึ่งเป็นการรวมตัวของบุคคลหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วน องค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจเอกชน อดีตครู ข้าราชการ บำนาญ ชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ ลักษณะกิจกรรมคือเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบาย แบบสภาประชาชน โดยใช้การเสวนาออนไลน์บ้าง การจัดเวทีไปยื่นข้อเรียกร้องต่อจังหวัดบ้าง และในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ภาคีจะจัดเวทีจำลองการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ไปพร้อมๆกับการลงคะแนนจริงที่กรุงเทพฯ โดยการสมมติชื่อบุคคลที่อาศัยฐานจากผู้สมัครผู้ว่ากทม.แล้วเอานโยบายมาเป็นตัวตั้ง ให้นาย ก ข ค หมายเลขนี้ นโยบายแบบนี้ให้คนไปลงคะแนนเสียง

            กิจกรรมที่ผ่านมาในรอบ 10 ปีนั้นเป็นการรวบรวมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการตนเองของประชาชนในจังหวัด แม้ว่าจะดูเหมือนไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นเพราะการถูกกดทับจากระบบราชการที่รวบอำนาจไว้ และมีประเพณีของระบบอุปถัมภ์ที่ให้รางวัลแก่คนในระบบ เช่น การรับบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งราชการก็ให้รางวัลโดยเอาคนใกล้ตัวให้เข้ารับราชการ แต่ในปี 2556 ได้นำเสนอ “ร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร” ด้วยการเข้าชื่อประชาน 2 หมื่นรายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร แต่พอเกิดการยุบสภาฯร่างกฎหมายดังกล่าวก็ตกไปด้วย โดยยังไม่มีการหยิบยกร่างฯนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ในรัฐบาลชุดใดเลยหลังจากนั้น.     ที่สำคัญที่หลายท่านบอกว่าผู้ว่าฯที่ กทม.มาจากการเลือกตั้งหรือผู้ว่าฯจากการแต่งตั้ง มีอำนาจจำกัด เพราะต้องทำตามกฎหมายและนโยบายจากส่วนกลางนั้น ภาคีฯจังหวัดเชียงใหม่จะไม่สนใจว่าผู้ว่าฯจะมีอำนาจหรือติดขัดข้อกฎหมายในเรื่องใดบ้างในการทำงานพัฒนาท้องถิ่น แต่เราขอให้ได้มีผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งก่อน แล้วค่อยไปแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคเหล่านั้น ในรัฐบาลนี้ ภาคีฯยังไม่ได้ยื่นเสนอให้มี “ร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร”อีกครั้ง เพราะมีการประเมินกันว่ารัฐบาลนี้ยังไม่เห็นความสำคัญของการปกครองตนเอง นอกจากนี้มีการวิเคราะห์กันว่ารัฐบาลอาจมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ไม่เกินสิ้นปี 2565  เราจึงขอทำงานความคิดกับภาคประชาชนและประชาสังคมให้เข้มแข็งก่อน หากจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคการเมืองใดมีนโยบายสนับสนุนจังหวัดปกครองตนเองก็จะนำเสนอให้พรรคการเมืองนั้นรับไปผลักดันต่อไป อย่าลืมว่าภาคประชาสังคมในเชียงใหม่มีประสบการณ์ของการจัดทำร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร เพื่อให้เราหลุดพ้นจากวงจรผู้ว่าฯแต่งตั้ง เรามีประสบการณ์กับการทำงานร่วมกับอบต. เทศบาล อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ทุกส่วนติดกับดักของการต้องฟังส่วนกลาง ตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นหากเรามีผู้ว่าฯที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน เราเชื่อมั่นว่า ภาคประชาชนจะสามารถเข้าถึงการบริหารงานท้องถิ่นของเราเองได้ เราจะว่ากล่าวตักเตือนหรือนำเสนอแผนงานพัฒนาจังหวัดของเราผ่านผู้ว่าฯที่เราเลือกเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราเคยตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดการปัญหาไฟป่าและกลุ่มควันมลพิษในอากาศ รวมตัวกันโดยใช้ชื่อ”สภาลมหายใจเชียงใหม่”โดยเสนอให้ผู้ว่าฯจัดการปัญหามลพิษจากกลุ่มควันไฟป่าแบบองค์รวม ถ้าจะตั้งคณะกรรมการก็ต้องมีกรรมการจากทุกภาคส่วน การจัดการเรื่องนี้จังหวัดต้องไม่ฟังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯฝ่ายเดียว ประชาชนในพื้นที่ที่อยู่กับป่าทราบดีว่าจะจัดการไฟป่าอย่างไร เช่น คนที่อยู่ในเขตป่าเบญจพรรณ จะทราบดีว่าใบไม่ร่วงมาก ช่วงไหนแล้วเขาจัดการใบไม้ร่วงก่อนที่จะเกิดไฟป่าอย่าไร ป่าดงดิบจัดการอย่างไร แต่ปัญหาของ “สภาลมหายใจเชียงใหม่”กลับเป็นว่ามีการโยกย้ายผู้ว่าฯถึง 2 คน ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี ทำให้การดำเนินงานประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆสะดุดอยู่ พอเปลี่ยนผู้ว่าฯคนใหม่มาก็ต้องมาเริ่มต้นประสานงานใหม่ งานเลยไม่ต่อเนื่อง นี่เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เราต้องเลือกผู้ว่าฯของเราเอง

พิณทอง เล่ห์กันต์ เครือข่ายผู้หญิงอิสานไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง แม้จะเป็นเรื่องใหม่ก็จริงแต่เป็นการเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนโดยรวม ที่เครือข่ายฯดำเนินกิจกรรมอยู่ เครือข่ายฯอยากถามกลับว่าจริงๆแล้วทำไมต้องมาตั้งคำถามว่าประชาชนพร้อมหรือไม่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะคนชนบทอยู่กับการเลือกตั้งท้องถิ่นมาโดยตลอด และเครือข่ายต้องถามว่าทำไมกรุงเทพฯเลือกผู้ว่าฯได้ ทำไมจึงมีกฎหมายเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯแบบกทม.เท่านั้น ทำไมต่างจังหวัดจะเลือกไม่ได้ จะมีกฎหมายเฉพาะจังหวัดอื่นได้หรือไม่ ถ้ารัฐตอบตำถามนี้ไม่ได้แปลว่ารัฐยังไม่มีความพร้อมสำหรับการกระจายอำนาจให้ประชาชน ทั้งๆที่ประชาชนรออยู่ ประชาชนในท้องถิ่นอาจไม่มีความรู้ทางกฎหมายหรือระเบียบต่างๆ แต่เราอยู่กับปัญหา อยู่กับการเรียกร้องให้รัฐจัดการปัญหาต่างๆ ทั้งๆที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการ คำถามที่ว่าประชาชนไม่พร้อมสำหรับการเลทอกตั้งผู้ว่าฯ จะพบว่ามีมายาคติอยู่ 2-3 ประการคือประชาชนไม่มีความรู้ ประชาชนเป็นเหยื่อนักการมือง ประชาชนยังขายเสียงเพื่อเงิน สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงคือ การขายเสีงเป็นเพราะนักการเมืองเอาเงินมามอบให้ชาวบ้านเอง ขึ้นราราเอง ชาวบ้านก็รับ แต่สิทธิในการเลือกเป็นของชาวบ้าน ไม่ใช่ว่าพอรับเงินใครมาแล้วต้องเลือกคนนั้น เพราะจ่ายกันทุกคน ชาวบ้านก็รับมาจากทุกคน นักการเมืองเองก็ต้องตอบปราชาชนให้ได้ด้วยว่าคุณพร้อมจะทำงานเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนด้วยหรือยัง

            กิจกรรมที่เครือข่ายได้ดำเนินการรณรงค์ให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็คือ เรื่องการเก็บภาษี เพื่อนำเงินจากภาษีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนท้องถิ่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯอาจเป็นแค่ส่วนเล็กๆส่วนเดียวของเรื่องการกระจายอำนาจ จะให้ชาวบ้านได้เลือกผู้ว่าฯในจังหวัดเอง แต่ไม่ให้มีอำนาจในการจัดการเรื่องต่างๆ การมีผู้ว่าฯในจังหวัดก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะอำนาจในการจัดการยังอยู่ที่ส่วนกลาง สิ่งที่เครือข่ายเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ คือ การกระจายการเก็บภาษีในท้องถิ่น โดยต้องไม่ใช่ภาษีที่เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่มากมาย เรากำลังมองว่าภาษีที่ควรเป็นของท้องถิ่นต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บแล้วต้องไม่ส่งคืนไปส่วนกลาง ทำไมภาษี 7% ที่ได้จากร้านสะดวกซื้อในจังหวัดทั้งหมด ไม่คืนมาให้จังหวัดหรือท้องถิ่นนั้นๆ บริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น คนท้องถิ่นจะรู้ปัญหาว่าเค้าขาดแคลนคืออะไร เรื่องไหนที่จะเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ คนท้องถิ่นต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ทำไม่ได้ เพราะงบประมาณที่ได้จากการจัดเก็บภาษีที่มีอยู่ไม่เพียงพอ สิ่งที่ได้ยินมาโดยตลอดคือ อคติที่ว่า ถ้ามีการเลือกผู้ว่าฯในจังหวัด ผู้ว่าฯจะตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง จะเกิดการคอรัปชั่น ซึ่งอาจเป็นไปได้ในการเลือกตั้งครั้งแรกๆ แต่เมื่อคนท้องถิ่นทราบก็จะสามารถตรวจสอบหาและทางป้องกันมิให้เกิดการคอรัปชั่นในการเลือกตั้งคราวต่อไป เพราะคนท้องถิ่นต้องการงบประมาณที่ได้จากการจัดเก็นภาษีมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ภาษีที่ได้จากโรงจำนำก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ทำไมต้องส่งคืนส่วนกลาง เพราะฉะนั้นเครือข่ายอยากเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯที่มาพร้อมกับการกระจายการเก็บภาษีมาให้ท้องถิ่นด้วย ท้องถิ่นเห็นปัญหาและอยากเห็นการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า โดยได้รับงบประมาณที่เพียงพอในการนำมาใช้ในท้องถิ่น

การเลือกตั้งผู้ว่าฯเป็นการตัดราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกไหรือไม่

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล ปัจจุบันนี้เรายังอยู่ในระบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ที่ราชการบริหารส่วนกลางคือรัฐบาลมอบอำนาจผ่านมติ ครม.มาสู่จังหวัด ผู้ว่าฯที่มหาดไทยแต่งตั้งรับบโยบายมา ก็สั่งการเป็นทอดๆให้อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรับไปปฏิบัติ ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยที่โรงสร้างของราชการบริหารส่วนภูมิภาคยังดำรงอยู่แบบนี้ ถือว่าไม่ใช่รูปแบบการกระจายอำนาจที่แท้จริง สิ่งที่อยากเห็นก็คือ เมื่อได้ผู้ว่าฯในจังหวัดใดแล้ว สมมติว่าคือจังหวัดนครสวรรค์  รัฐบาลกลางโดยมติคณะรัฐมนตรีจะต้องประกาศให้ทุกกระทรวงโอนอำนาจของตัวเองไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายอำเภอและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็โอนมาขึ้นกับผู้ว่าฯ ส่วนราชการใดที่มีที่ทำการอยู่ในจังหวัดและอำเภอพร้อมจะทำงานต่อก็ให้ย้ายไปขึ้นกับผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนราขใดไม่พร้อมก็โอนกับไปกระทรวงของตน เจ้ากระทรวงแต่ละกระทรวงจะต้องถ่ายโอนอำนาจไปให้ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ว่าฯและทำงานในเชิงที่ปรึกษาและงานธุรการ ให้คำแนะนำในการจัดการงบประมาณ การบริหารภาษีต่างๆ การบริหารงานบุคคากรในจังหวัด อำเภอ ที่สำคัญเรื่องสำคัญๆ อันเป็นภารกิจของรัฐบาลกลางก็ยังคงอยู่ คือ เรื่องการดูแลความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม การต่างประเทศ เป็นต้น

            สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงในเชิงวิชาการที่ต้องพิจารณาคือ เราอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯภายใต้โครงสร้างการบริหารราชการส่วนภูมิภาคแบบเดิม หรือต้องการให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารราชการแบบตัดอำนาจราชการส่วนภูมิภาคออกไป ถ้าเป็นแบบเดิมคือได้ผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งภายใต้โครงสร้างแบบเดิม ก็จะเกิดปัญหาว่า ผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งจะเป็นอิสระจากมหาดไทยหรือส่วนกลางได้อย่างไร จะทำความต้องการของท้องถิ่นหรือต้องฟังคำสั่งจากส่วนกลาง ผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งไม่ฟังคำสั่งจากส่วนกลางได้หรือไม่ ถ้าประชาชนในจังหวัดต้องการการพัฒนาแบบหนึ่ง แต่รัฐบาลกลางสั่งการลงมาอีกแบบหนึ่ง ผู้ว่าฯจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงมีการเสนอว่า ถ้าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินให้อำนาจเป็นของผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองที่ได้ริเริ่มรณรงค์กันมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน โดยตัดอำนาจจากส่วนกลางให้ทำหน้าที่แค่ 3-4 ประการที่เป็นอำนาจของส่วนกลางอย่างแท้จริง ดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามก็มีบางฝ่ายเสนอว่า ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯให้ได้ก่อน โดยมีหลักประกันความเป็นอิสะจากส่วนกลาง หากยังไม่สามารถจัดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เป็นการกระจายอำนาจแบบจังหวัดจัดการตนเองได้ในวันนี้ โดยให้ผู้ว่าฯมีอำนาจบางส่วน ประชาชนมีอำนาจเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติหรือกฎหมายของท้องถิ่น และมีอำนาจถอนถอนผู้ว่าฯได้     เป็นต้น หากดำเนินการตามเงื่อนไขแบบนี้ก็พอจะรับได้ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯและเปลี่ยนโครงสร้างให้เต็มตามรูปแบบให้มีราชการบริหารส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นตามที่คาดหวัง ที่เป็นห่วงกันว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดจะทำให้ประเทศไทยแตกแยกเป็นรัฐอิสระ นั้นไม่เป็นความจริง ประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวและมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหลายประเทศ ก็มีผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง แล้วไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เช่น ญี่ปุ่น มีราชการส่วนกลางที่เล็กๆ มี 12 กระทรวง และจังหวัดทั้งหมด 47 จังหวัดล้วนบริหารคล้ายกับกรุงเทพมหานคร คือบริหารราชการโดยผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ผู้ว่าฯมีอำนาจเต็ม จัดเก็บภาษีเอง มีสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ อังกฤษและฝรั่งเศสก็เช่นกัน ในโลกนี้ถ้าอยากให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ท้องถิ่นมีความเจริญเติบโต พึ่งตนเองได้ ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 เราต้องต่อสู้กับลักทธิล่าอาญานิคม ร.5 จึงทรงตัดสินใจรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งมีความเหมาะสมมากในสมัยนั้น เพราะประชากรเราก็มาก ทรัพยากรก็มีเพียงพอไม่ต้องแย่งชิงกัน แต่ปัจจุบันสถานการณ์โลกและของประเทศเปลี่ยนไปมาก การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะมีการแย่งชิงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะระบบทุนนิยม มีจำนวนประชากรมากขึ้น มีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น เราต้องปรับยุทธศาสตร์การบริหารราชการของเราให้เกิดมีการพัฒนา มีการเจริญเติบโตไปที่จังหวัด ให้แต่ละจังหวัดเจริญเติบโตไปตามความต้องการของคนในจังหวัดเหมือนในญี่ปุ่นและประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวทั้งหลาย ผู้คนในท้องถิ่นก็จะมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเอง เกิดความเข้มแข็งในการแข่งขันกับจังหวัดอื่นๆเพื่อพัฒนาไปพร้อมๆกัน

พิณทอง เล่ห์กัน คงไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องที่ว่าถ้ามีเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดแล้วจะทำให้ประเทศแบ่งออกเป็นรัฐอิสระ คนที่คิดแบบนี้เท่ากับไม่เห็นหัวประชาชนในท้องถิ่น ไม่เชื่อมั่นคนในท้องถิ่นว่าจะมีศักยภาพในการดูแลตนเอง

ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล การจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดได้นั้น สามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ให้ไปแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 ระบุให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขบางประการไว้ด้วย เช่น หลักประกันความเป็นอิสระ เงื่อนไขการใช้อำนาจให้มีความศักดิ์สิทธิ์ โดยต้องให้ส่วนราชการทุกส่วนในจังหวัดต้องขึ้นต่อผู้ว่าฯ ไม่ใช่รับคำสั่งจากส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา โดยผู้ว่าฯไม่มีอำนาจเหนือศาล หรือเหนือทหารในการรักษาความมั่นคง ที่ยังคงเป็นอำนาจหลักของรัฐบาลส่วนกลาง แต่ตัวแปรที่สำคัญจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯได้ก็ต้องเสียสละด้วย ได้แก่ พรรคการเมือง ข้าราชการส่วนกลางระดับสูง ภาคธุรกิจเอกชน ฝ่ายต่างๆเหล่านี้ต้องออกมายืนยันว่าจะสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้จะได้รับผลกระทบต่ออำนาจของตนเองที่จะถูกลดอำนาจลง ตามที่กฎหมายที่จะแก้ไขได้กำหนดความสัมพันธ์ใหม่ นี้ ภาคธุรกิจเอกชนต้องเสียสละผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับไปให้ประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น เสียสละที่จะกระจายรายได้ของตนเองไปให้ท้องถิ่นเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์แทนที่จะผูกขาดประโยชน์ที่จะได้รับไว้ที่ตนฝ่ายเดียว สุดท้ายชะตากรรมของประเทศอยู่ที่การกระจายอำนาจสำเร็จ ถ้าทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี บ้านเมมืองเราก็จะวนเวียนอยู่ในระบบแบบนี้ที่ไม่เห็นอนาคตของการพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 ไพโรจน์ พลเพชร การจะกระจายอำนาจให้เกิดประสิทธิผลโดยเร็วนั้น ภาคประชาชนต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ ที่ผ่านมาแม้จะมีการยืนยันว่าประชาชนพร้อมแล้วสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้นยังไม่เพียงพอ แพราะเป็นการผลักดันหรือตื่นตัวภายในกลุ่มหรือประชากรเพียงกลุ่มเดียว ต้องกระจายการตื่นตัวการรับรู้ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเป็นแม่แบบของการพัฒนาประเทศ ก่อนที่จะมีการไปแก้ไขกฎหมายอะไรต่างๆ ต้องกระจายความรับรู้หลักการและประโยน์ต่างๆของการกระจายอำนาจให้ประชาชนทุกวงการในท้องถิ่นให้มีการตื่นตัว และมีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ในวงแคบ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจนิยมที่ติดอยู่ในความรับรู้ของประชาชนไทยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ต้องปรับเปลี่ยน mind set  ตรงนี้ก่อน ถ้าในหัวของประชาชนยังคงรอการเปลี่ยนแปลงจากผู้มีอำนาจ ไม่ยืนยันสิทธิของตนเอง ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และที่สำคัญคนในจังหวัดแต่ละจังหวัดทุกรุ่น ทุกวัย ทุกอาชีพ จะต้องรวมตัวกันเพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ ไม่ใช่ไปรอให้คนรุ่นใหม่ฝ่ายเดียว นอกจากนี้การจะไปผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯได้นั้น ผู้คนในจังหวัดต้องรู้ก่อนว่าจะต้องให้ผู้ว่าฯเป็นอิสระได้อย่างไร ผู้ว่าฯมีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้ มีข้อจำกัดอะไร ฯลฯ เมื่อทราบหลักการต่างๆและทุกฝ่ายในจังหวัดเห็นเป็นเสียงเดียวกันแล้วจึงจะเกิดพลังของการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องไปแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ ฝ่ายธุรกิจและฝ่ายอื่นๆ แต่ขอให้ภาคประชาชนที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวประเด็นนี้เข้มแข็งในประเด็นก่อน

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เห็นด้วยว่าภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้ต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้น ขณะเดียวกันเห็นด้วยว่าเราควรทำอย่างอื่นไปพร้อมๆกัน เช่น สัปดาห์ที่แล้วภาคีฯได้เชิญพรรคการเมือง 17 พรรคเข้าร่วมเสวนาว่าพรรคการเมืองจะสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯหรือไม่ ปรากฏว่ามีพรรคการเมืองส่งผู้แทนเข้าร่วมเสวนาแค่ 6 พรรค พรรคที่รณรงค์ประกาศว่าจะได้สส.แบบ landslide ก็ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วม ก็แสดงว่าพรรคการเมืองยังไม่สนใจประเด็นเรื่องนี้ ภาคปราชนและประชาสังคมก็คงต้องรณรงค์กระจายความรับรู้ในประเด็นนี้ต่อไปให้กว้างขวางมากขึ้น

พิณทอง เล่ห์กัน ภาคประชาชนจะต้องผลักดันให้เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯเป็นกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนฯให้ได้ และควรทำไปพร้อมๆกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนด้วย

ไพโรจน์ พลเพชร ขอเสริมประเด็นเดียว ที่บอกว่าต้องขยายการรับรู้ของประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้มแข็งนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องรณรงค์ให้ภาคประชาชนเข้มแข็งก่อนแล้วจึงไปผลักดันกับฝ่ายอื่นๆ แต่หมายความว่าเราต้องเร่งปรับกระบวนการรับรู้หลักการเรื่องการจัดการตนเองให้ชัดเจน เพราะถ้าเรายังไม่ชัดเจนในหลักการแล้วการรณรงค์ของเราจะไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายอื่นๆ ขณะเดียวกันเราต้องขยายการรับรู้หลักการต่างๆในเรื่องนี้ไปยังกลุ่มประชาสังคมอื่นๆให้เกิดการรับรู้เท่าเทียมกัน มิใช่รับรู้กันเพียงในวงจำกัดเท่านั้น