สรุปสสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 5/2565 หัวข้อ ศ.เสน่ห์ จามริกกับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 5/2565

หัวข้อ ศ.เสน่ห์ จามริกกับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2565

เวลา 11.00-12.30 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. รศ.ดร.โคทม อารียา นักวิชาการด้านสันติวิธี
  2. ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  3. อ.สุนี ไชยรส รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
  4. ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  5. สดใส สร่างโศรก นักกิจกรรมสังคมด้านสุขภาวะ

 

เกริ่นนำ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนแรกได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2565 ศ.เสน่ห์เป็นนักรัฐศาสตร์ที่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน ทำงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะเป็นคนแรกๆ ที่อธิบายความหมายของสิทธิชุมชนจนได้รับการยอมรับทั่วไปในสังคม สสส.เสวนาทัศนะจึงขอเชิดชูเกียรติ ศ.เสน่ห์ จากมริก ด้วยการเสวนากับผู้เคยทำงานร่วมกับอาจารย์หลากหลายบทบาท มานำเสนอเพื่อเป็นการไว้อาลัยในโอกาสที่จะมีการพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 19 เมษายน 2565 ณ เมรุวัดโสมนัสวรวิหาร

บทบาทในฐานะผู้ก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

รศ.ดร.โคทม อารียา ในปี 2516 มีการชุมนุมเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อ.เสน่ห์เห็นว่านักวิชาการควรสนับสนุนการต่อสู้ของนักศึกษาจึงรวบรวมนักวิชาการหลายท่าน เช่นศ.ระวี ภาวิไล ก่อตั้งเป็นสหภาพเพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากท่านจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษและหลายประเทศก็มีการรวมตัวกันรูปแบบ Union for Civil Liberty เพื่อทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน จึงคุ้นเคยกับการรวมตัวในรูปสหภาพและใช้ชื่อ Union for Civil Liberty หรือสหภาพเพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยศ.เสน่ห์รับเป็นประธานคนแรก ต่อมามีประธานคนใหม่คือ อ.พฤฒิสาณ  ชุมพล ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นสมาคมในภายหลัง จนถึงในปี 2519 มีความแหลมคมของการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพ ก็มีแนวทางในการต่อสู้สองกระแส คือตอบโต้ความรุนแรงด้วยการจับอาวุธขึ้นสู้หรือจะต่อสู้อย่างสันติวิธี ศ.เสน่ห์เขียนบทความไว้ในหนังสือ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริกกับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ที่สสส.จัดพิมพ์ตอนหนึ่งว่า “ตอนนี้ (หมายถึง2518) บ้านเมืองมีปัญหา เรายังไม่มีท่าทีเรียนรู้และเท่าทัน”และประโยคต่อไป “ยอมสยบความคิดจิตใจของเราอยู่ภายใต้ระบเผด็จการ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วไม่มีทางที่จะคิดหรือเห็นอะไรได้เกินไปกว่าอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนและสมุนบริวาร”[1] คือนั่นเป็นข้อเขียนในปี 2518 แต่นี่คือปี 2564 ข้อความที่ ศ.เสน่ห์เขียนไว้ว่า ยอมสยบความคิดจิตใจของเราอยู่ภายใต้ระบเผด็จการ ที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนและสมุนบริวาร นั้นแสดงว่าศ.เสน่ห์ เห็นว่าเผด็จการเป็นปัญหาของบ้านเมือง และท่านได้ต่อสู้กับเผด็จการมาตั้งแต่เป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุในปี 2535 และหลังจากนั้นก็ยังยืนหยัดในการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพมาจนถึงวันที่ถึงแก่กรรม หากเราจะสืบทอดคุณูปการที่ท่านทำไว้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ สิทธิชุมชน เราต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อ และต้องเรียนรู้และเท่าทันเพื่อมิให้ยอมสยบความคิดอยู่ภายใต้เผด็จการ อย่างที่ท่านเขียนไว้ เพราะท่านมองสิทธิมนุษยชนในมุมกว้างที่เชื่อมโยงกับหลากหลายมิติ เช่น การเชื่อมโยงคำสอนทางพุทธศาสนากับสิทธิมนุษยชน เชื่อมโยงสิทธิชุมชนในฐานะที่เป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น

            ในช่วงที่ท่านเป็นประธานสสส.นั้น แม้จะเป็นนักวิชาการที่ดูเหมือนเป็นนักทฤษฎี แต่ท่านก็เปิดโอกาสให้กรรมการได้มีโอกาสในการเรียนรู้และจัดกิจกรรมในด้านต่างๆตามความถนัดของกรรมการและอยู่ในอาณัติตามธรรมนูญของสสส. ทั้งความสนใจในเรื่องอาชีวะอนามัย การปฏิรูปที่ดิน ปัญหากรรมกร ที่บางครั้งการดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ไม่เป็นที่ถูกใจนักศึกษาในยุคนั้นและได้รับการโจมตีว่า สสส.ไม่สนใจปัญหาด้านประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญหลัง 14 ตุลา แต่หลังจากนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 สำนักงานของสสส.ก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าตรวจค้นและปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่าเจ้าหน้าที่ได้ยึดเอกสารเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ประชาธิปไตย ซึ่งแสดงว่าประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคนั้น

            กล่าวโดยสรุปก็ต้องให้เกียรติแก่ศ.เสน่ห์ ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนองค์กรแรกในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีอายุยืนยาวมาถึง 49 ปี ในปีนี้  ซึ่งต้องถือว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในยุคแรกๆของการก่อตั้ง สสส. ยังคงมีความไม่ซับซ้อนมากนักในเรื่องของนโยบายสาธารณะ การสร้างเขื่อนหรืออะไรต่างๆ แต่ยังคงต่อสู้กับปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาค่าแรงและสิทธิกรรมกร ปัญหาสิทธิสตรีก็ยังเพิ่งเริ่มต้น ซึ่งเรายังเห็นหลายปัญหายังคงดำรงอยู่จนปัจจุบันและต้องจัดกิจกรรมกันต่อไปเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ที่ศ.เสน่ห์ได้วางรากฐานไว้ ในฐานะองค์กรเอกชนองค์กรแรก ก็ขอให้มีกำลังใจในการดำเนินงานต่อไปและต้องช่วยกันคัดค้านกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นองค์กรเอกชนที่รัฐไทยในยุคนี้กำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น

บทบาททางวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ในแง่บทบาทที่เป็นนักวิชาการในม.ธรรมศาสตร์ ผมเข้ามาเป็นลูกศิษย์อ.เสน่ห์ที่คณะรัฐศาสตร์ในปี 2512 ซึ่งขณะนั้นเปิดสาขาวิชาใหม่คือโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา ก่อนอื่นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์เล็กน้อยที่นับแต่รัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ในปี 2500  ธรรมศาสตร์ก็ถูกครอบงำโดยฝ่ายทหารและข้าราชการระดับสูง มีอธิการบดีเป็นทหาร คณบดีหลายคณะก็มาจากข้าราชการระดับสูง ที่คณะรัฐศาสตร์สมัยก่อนปี 2512 จะมี 2 ภาควิชาคือ การปกครองที่สอนให้ไปเป็นปลัดอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด และสาขาการทูตที่จบแล้วไปเป็นทูตานุทูตอยู่ต่างประเทศ ดังนั้นรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ คือจัดการเรียนการสอนเพื่อให้บัณทิตจบออกมาเพื่อรับใช้ระบบราชการซึ่งเป็นเผด็จการ เมื่อศ.เสน่ห์กลับมาจากต่างประเทศก็มาเปิดโครงการใหม่นี้สอนทฤษฎีการเมืองการและปรัชญาการเมืองซึ่งเป็นวิชาที่สอบผ่านยาก เพราะเป็นการสอนในเชิงเพื่อให้เข้าใจปรัชญาแนวคิดของการบริหารบ้านเมืองของนักคิดนักปรัชญาในยุคต่างๆ ที่สำคัญคือไม่เน้นให้ออกไปรับใช้ระบบราชการ มีการสอนเรื่องประวัติความเป็นมาของระบบราชการ ที่ไม่เน้นกฎหมาย ระเบียบที่ให้อำนาจฝ่ายปกครอง อาจารย์ที่มาสอนวิชาในโครงการนี้เป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับการคัดเลือกจากอ.เสน่ห์ ไม่ใช่อาจารย์ในคณะ และอาจารย์ที่เป็นอาสาสมัครจากประเทศคานาดา ตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนก็ถ่ายเอกสารมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งทฤษฎีต่างๆทางด้านสังคมนิยมมากมายที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน ทำให้นักศึกษาสนุกสนานกับการเรียนที่ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในชั้นเรียนจากการได้รับมอบหมายให้อ่านตำรามาก่อนเข้าห้องเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้ที่จะวิพากย์วิจารณ์การเมืองการปกครองของประเทศต่างๆกันอย่างกว้างขวาง นี่เป็นคุณูปการด้านหนึ่งของศ.เสน่ห์ในด้านวิชาการในคณะรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อนักศึกษารุ่นนั้นที่ผ่านการเรียนแผนกนี้ เช่น ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ แผนกนี้ได้ยุบตัวลงไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เนื่องจากมีการเปิดกว้างทางการเมืองที่ส่งผลต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยและมีอาจารย์ใหม่ๆที่จบกลับมาสานต่องานทางด้านวิชาการ

            นอกคณะรัฐศาสตร์ ศ.เสน่ห์ก็ได้ทำงานศึกษาวิจัยไว้มากมายหลายประเด็นพิมพ์เป็นหนังสือที่ใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบัน เช่น การเมืองไทยกับการพัฒนารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองไทยผ่านการต่อรองทางอำนาจในรัฐธรรมนูญ ศ.เสน่ห์มองว่าพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยเป็นผลพวงของการต่อรองการได้อำนาจรัฐ มิใช่สูตรสำเร็จตายตัวในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองว่าเมื่อได้รัฐธรรมนูญแล้ว บ้านเมืองจะไม่มีปัญหา สิ่งที่น่าเสียดาย คืองานวิจัยเล่มนี้มีผู้ทำการศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์กันน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่ทำการต่อยอดเลย แม้แต่นักวิชากรดังๆ เช่น ศ.นิธิ ศ.ชาญวิทย์ อ.เจตนา ฯลฯ คือไม่มีการศึกษาวิจารณ์ข้ามสาขา ไม่มีการวิจารณ์หรือนำข้อเสนอของศ.เสน่ห์ไปต่อยอดทำให้ข้อเสนอต่างๆที่ได้นำเสนอในงานวิจัยนี้ไม่ถูกนำมาเขียนถึงในแวดวงวิชาการ ที่สำคัญและได้ยินบ่อยมากคือมีคนชอบพูดว่างานของศ.เสน่ห์ อ่านไม่รู้เรื่อง อ่านยาก ซึ่งถือว่าเป็นอคติอย่างหนึ่ง ที่อ.เบน แอนเดอสัน บอกว่านักวิชาการไทยเอาแต่ความคิดของตัวเองไม่อ่านงานของคนอื่น ในทัศนะผมถือว่าไม่ยาก เพราะเขียนเป็นภาษาไทย แม้จะอ้างอิง concept ตะวันตกแต่เป็นการเขียนในบริบทสังคมไทย เช่นงานที่เคยทำร่วมกับศ.เสน่ห์คือ สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์สากล เป็นงานเขียนเรื่องทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่ถูกครอบโดยระบบทุนนิยม และอุตสาหกรรม ซึ่งศ.เสน่ห์มองว่าเราไม่มีทางนำกรอบความคิดแบบตะวันตกมานำเสนอว่าต้องมีเสรีภาพ เสมอภาพและภราดรภาพ การอ้างปฏิญญาสากลฯก็ดีหรือหลักการสหประชาชาติต่างๆ มาอธิบายว่าสังคมไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและยอมรับ concept เหล่านี้    เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่สังคมไทยยังถูกครอบด้วยกรอบอื่นๆ ศ.เสน่ห์เสนอว่าสังคมไทยจะเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้ชาวบ้านต้องปลดปล่อยตนเองจากกรอบแบบตะวันตกแล้วหันมาดูสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติที่ปลดปล่อยตนเอง งานด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของศ.เสน่ห์จะไม่ศึกษาและมีข้อเสนออะไรที่ไม่ใช่การปลดปล่อยตนเองของชาวบ้าน หลัง 14 ตุลา ที่ขบวนการนักศึกษาและฝ่ายต่างๆที่เข้าไปหาชาวบ้านในยุคนั้นแล้วเรียกว่าเป็นการสร้างประชาธิปไตย จริงๆแล้วศ.เสน่ห์มองว่ากลับเป็นการไปครอบงำชาวบ้าน ไม่ใช่ไปปลดปล่อย เพราะเป็นการไปทำให้ชาวบ้านเชื่อหรือทำตามสิ่งที่นักศึกษาคิดและต้องการ เช่น ไปตั้งกลุ่มชาวนา เคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ หรือให้ชาวบ้านมาเดินขบวน เป็นต้น ศ.เสน่ห์เรียกการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในช่วง 14 ตุลา ว่าเป็นการปฏิวัติก็จริง แต่ไม่ใช่การถอนรากถอนโคนระบบสังคมอะไรเลยนอกจากเป็นการประกาศว่าสังคมไทยไม่พอใจระบอบการปกครองแบบเก่าที่มีรัฐราชการหรือระบอบอมาตยาธิปไตยในขณะนั้นเป็นใหญ่ การที่มีคนออกมาเดินขบวนกันเป็นแสนๆคน เพราะไม่พอใจระบอบอมาตยาธิปไตย แต่ศ.เสน่ห์ใช้คำว่าสังคมไทยถูกครอบงำโดย”ระบบราชการแบบราชูปถัมภ์” แต่ไม่มีใครใช้คำนี้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทย ต้องเรียกร้องและต่อสู้กับ”ระบบราชการแบบราชูปถัมภ์” ไม่ใช่ไปเรียกร้องเรื่องอื่นๆ แต่ไม่มีใครสนใจ ศ.เสน่ห์มักพูดเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจรัฐที่มีการเปลี่ยนมือผู้คุมอำนาจรัฐ โดยไม่เปลี่ยน”ระบบราชการแบบราชูปถัมภ์” จะไม่ใช่การปฏิวัติประชาธิปไตยที่แท้จริง นักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะไม่มีทางได้ประชาธิปไตย และการปราบปรามโดยใช้กำลังโดยฝ่ายอำนาจนิยมก็จะเกิดขึ้นอีกต่อไปไม่มีทางหมด ในงานวิชาการเกี่ยวกับประชาธิปไตยทั้งหลายของ     ศ.เสน่ห์มักเขียนไปในแนวทางให้ต่อสู้เพื่อโค่นล้ม”ระบบราชการแบบราชูปถัมภ์” มิใช่ต่อสู้กับเผด็จการทหาร ตราบใดที่ระบบราชการยังไม่ลดอำนาจตัวเองลง และยอมรับกฎ กติกาของการใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้นำของรัฐในต่างประเทศยอมรับกติกานี้ แต่ผู้นำหรือผู้ปกครองของไทยไม่ยอมรับ ประชาธิปไตยของไทยจึงไม่มีความสถาพร (stable) เพื่อจะทำให้เกิดความสถาพร ศ.เสน่ห์เห็นว่าต้องกลับไปสู่ชาวบ้าน หรือสามัญชน เพราะสามัญชนคือคนที่สร้างเสรีภาพ สามัญชนต้องเป็นหลักในการปลดปล่อยตนเองและสร้างประชาธิปไตยขึ้น

            ประเด็นสุดท้าย คือ ที่มีหลายคนพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของศ.เสน่ห์ในฐานะนักวิชาการและนักประชาธิปไตย ที่ไม่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร 2549 เนื่องจากศ.เสน่ห์ไม่ได้มองเหมือนนักประชาธิปไตยและภาคประชาชนอื่น โดยไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นตัวแทนของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเราเหมือนในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ศ.เสน่ห์เห็นว่ารัฐธรรมนูญของไทยเป็นแค่การต่อรองทางอำนาจของผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัยเท่านั้น ซึ่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เวลานั้นหลังปี 40 จนถึงปี 49 มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายชุดแต่ก็ไม่ปฏิบัติตามสาระสำคัญของรัฐรรมนูญ 40 ศ.เสน่ห์จึงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปว่าก็รัฐธรรมนูญได้ถูกฉีกไปแล้วก่อนการรัฐประหาร เราจึงไม่จำเป็นต้องปกป้องรัฐธรรมนูญอีกต่อไป อย่างไรก็ตามแม้จะมีคำอธิบายไปแนวทางนี้ แต่ก็เชื่อว่าหลายฝ่ายยังคงติดใจประเด็นนี้อยู่เพราะคิดเห็นต่างกันว่ารัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญ รัฐประหารคือรัฐประหาร ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญโดยนัยะแบบที่ศ.เสน่ห์คิดเสมอไป

บทบาทในงานด้านสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ศ.เสน่ห์ก่อตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาขึ้นเพื่อสืบทอดงานที่ยังไม่เสร็จจากโครงการ Ldap ของคานาดา ในช่วงปี 2533 ก่อนที่จะปิดโครงการ มีศ.ยศ สันตสมบัติ เป็นผอ.ด้านการวิจัย ผมเข้ามาช่วยงานอ.ยศในยุคนั้น ประเด็นที่เราทำคือการเข้าไปศึกษาวิจัยผลกระทบโครงการคชก. ที่ประชาชนถูกอพยพจากป่าไปอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำกินไม่ได้ เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ในหลายจังหวัดในภาคอิสานมีหลวงพ่อประจักษ์ ต่อสู้กับรัฐในการให้คนอยู่ในป่าเสื่อมโทรมได้ ไม่ยอมย้าย ภาคเหนือ และภาคใต้ก็มีภาคประชาชนรวมกลุ่มกันดำเนินการเจรจาต่อรองให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ศ.เสน่ห์ลงไปคลุกคลีอยู่กับประชาชนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ทั่วประเทศ เพื่อเรียนรู้และหาทางนำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหา เพราะ ศ.เสน่ห์มองว่าปัญหาที่ทำกินเป็นหัวใจของการดำรงชีพของชาวบ้านที่เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐท้องถิ่น อำนาจรัฐระดับชาติและเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมโลก จึงพยายามนำเสนอให้สังคมเห็นปัญหานี้แบบองค์รวมไม่แยกเป็นส่วนๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ  ศ.เสน่ห์มักพูดเสมอว่าป่าบ้านเราไม่เหมือนป่าที่อื่นในโลก เพราะเราเป็นป่าเขตร้อนชื้นที่มีเพียง 7% ในโลก และป่าร้อนชื้นจะเป็นแหล่งอาหารและยารักษาโรคที่เปรียบเสมือนเป็นซุปเปอร์มาเก็ตของชาวบ้าน ที่เก็บกินเก็บใช้ไม่มีวันหมด หรือกรณีที่ศ.เสน่ห์จัดทำโครงการศึกษาเรื่องป่าชุมชนเพื่อดูว่ากฎหมายที่มีอยู่ส่งเสริมสิทธิของชาวล้านและชุมชนในการมีส่วยนร่วมในการการจัดการป่าอย่างไร ซึ่งมี ศ.บวรศักดิ์ อุวรรโณและศยามล ไกยูรวงศ์เป็นผู้รับผิดชอบ แล้วพบว่าชุมชนนั้นสามารถจัดการป่าของชุมชนมาแต่โบราณไม่เคยมีปัญหา แต่พอเรารับกฎหมายแบบตะวันตกมาใช้ในเรื่องสิทธิ ทำให้สิทธิของชุมชนหายไปเพราะตะวันตกเน้นสิทธิของปัจเจกชนมากกว่าชุมชน งานวิจัยพบว่าที่ดินในที่ไม่มีบุคคลใดเป็นเจ้าของ กฎหมายถือว่าที่ดินนั้นเป็นของรัฐหมด นี่แสดงว่ากฎหมายไทยไม่ยอมรับสิทธิความมีอยู่ของชุมชน งานวิจัยนี้พบว่าสิทธิชุมชนในภาคเหนือและภาคอีสานได้รับการจัดการผ่านการใช้ประโยชน์โดยชุมชน ตราบใดที่ชุมชนยังใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ใด ชุมชนก็มีสิทธิร่วมกันในที่ดินผืนนั้น และในระหว่างที่ชุมชนยังคงใช้ประโยชน์อยู่ ชุมชนจะออกกฎเกณฑ์เป็นกติกาประกาศให้ทราบร่วมกันว่าทุกคนในชุมชนจะสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพยากรของชุมชนได้อย่างไร เมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์นั้น สิทธิของชุมชนก็หมดไปด้วย ตัวอย่างของสิทธิชุมชนที่เข้มแข็ง ที่ศ.เสน่ห์ มอบให้อ.อานันท์ กาญจนพันธ์ อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์ ทำและอ.ไปเยี่ยม คือที่บ้านแม่หาน อ.แม่สะเรียง เป็นพื้นที่ของชาวปกากะยอ มีโครงการสัมปทานไม้ แต่ชาวบ้านคัดค้านอย่างเข้มแข็ง ได้พบพ่อหลวงต่วนที่ไม่ได้รับการศึกษาใดๆ ถามว่าที่ดินมีจำกัดแต่ประเพณีปกากะยอทำไร่หมุนเวียนกันแบบนี้ จะแบ่งการใช้ที่ดินกันอย่างไรให้เป็นธรรม เพราะประชากรก็เพิ่มขึ้นทุกปี พ่อหลวงต่วนตอบแบบไม่คิดเลยว่า ก็แบ่งให้คนตุ๊กก่อน คือ ให้คนที่ทุกข์ยากหรือจนที่สุดก่อน ในขณะที่รัฐในสมัยหนึ่งจัดการที่ดิน สปก. 4-01 โดยมีเป้าหมายให้กระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกร จำได้ว่ารัฐมนตรีของพรรครัฐบาลประกาศว่าใครที่ลงทะเบียนกับโครงการ สปก.นี้ ถือเป็นเกษตรกร ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็ได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน เพื่อให้คนทุกคนมีสิทธิได้รับการจัดสรรดิน สปก.เท่าเทียมกัน แล้วปรากฏว่ามีญาติพี่น้องนักการเมืองและผู้มีอันจะกินทั้งหลายได้รับที่ดิน สปก.ไปครอบครอง จนรัฐมนตรีคนนั้นต้องลาออกไป นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความยุติธรรมของชาวบ้านและของรัฐที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรือในนิยามคำว่าป่า ตามกฎหมาย หมายถึงที่ดินที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ดังนั้นที่รกร้างว่างเปล่า ที่ไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย ก็ถือเป็นป่า แต่ในวิถีของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวปกากะยอ ป่าคือชีวิต พวกเข้าทำไร่หมุนเวียนที่จัดสรรกันในชุมชนว่าจะทำไร่บริเวณหนี่งและย้ายไปทำอีกที่หนึ่งไปเรื่อยๆเป็นวงกลม ที่ดินที่ร้างจากการทำไร่ที่เวียนย้ายไปทำที่อื่นก็จะมีต้นไม้เติบโตกลายเป็นป่า เมื่อกลับมาทำไร่ใหม่ก็ต้องบุกร้างถางป่าที่เคยทำเมื่อ 6-7 ปีก่อน ปรับให้โล่งเพื่อการเพาะปลูก วนเวียนเป็นประเพณี ดังนั้นที่โล่ง ไม่มีต้นไม้ขึ้น กฎหมายบอกว่าคือป่า แต่ชาวบ้านถือว่านี่คือที่ทำกินของชุมชน เพราะเมื่อเข้าไปในพื้นที่โล่งที่มีแต่ตอไม้ กลับพบว่ารอบๆตอไม้เหล่านั้นจะมีสมุนไพรหรือไม้เล็กๆเกิดขึ้นนำไปใช้เป็นผักเป็นยาได้ แต่ถ้าดูจากภายนอกจะมองเหมือนเป็นภูเขาหัวโล้น นี่คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รัฐและคนเมืองไม่เข้าใจ

            นอกจากนี้ศ.เสน่ห์ยังให้ความสนใจเรื่องเกษตรทางเลือก ที่ไม่ใช้สารเคมี แต่อ.เรียกว่าเป็นการสร้างตลาดทางเลือก โดยพยายามเชื่อมโยงให้เกษตรกรในชนบทนำผลผลิตทางเกษตรมาขายในเมือง หาตลาดให้และเพื่อทำให้เป็นการลดช่องว่างระหว่างคนเมืองกับชนบทและคนมีฐานะกับเกษตรกรที่ยากจน ให้คนเมืองได้เห็นคุณค่าของคนชนบท

            บทบาทต่อมาคือ ศ.เสน่ห์พยายามประสานงานให้ฝ่ายต่าง ๆได้มาทำงานร่วมกัน เช่นนำภาคธุรกิจเอกชนมาทำงานในโครงการป่าชุมชนกับองค์กรชาวบ้าน นำข้าราชการกรมป่าไม้ที่เห็นคุณค่าของคนอยู่กับป่ามาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน นำนักวิชาการจากหลายสาขา หลายมหาวิทยาลัยมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงวิชาการเพื่อสัมมนาหาทางแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การต่อยอดให้ชุมชนนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นของชุมชน แม้กระทั่งฝ่ายการเมือง ศ.เสน่ห์ก็ไปพบเพื่อขอความเห็นในเวทีสัมมนาของรัฐสภาให้เห็นคุณค่าของประเด็นคนอยู่กับป่าได้

            ศ.เสน่ห์เป็นบุคคลที่มีความเป็นมนุษย์และเห็นคุณค่าของบุคลากรมาก ท่านเห็นทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ลูกน้อง เห็นคุณค่าของนักธุรกิจที่เห็นใจคนยากคนจน เมื่อมีงบประมาณของ Ldap ที่นำมาตั้ง LDI เหลืออยู่ประมาณ 300 ล้านบาท ท่านก็จัดทำเป็น small grant มอบเป็นทุนให้องค์กรต่างที่ทำงานส่งเสริมสิทธิชุมชน เกษตรกรรมทางเลือกหรือตลาดทางเลือก เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่คนเล็กคนน้อยที่ทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม สุดท้าย แม้ศ.เสน่ห์ได้ริเริ่มประเด็นสิทธิชุมชนมานานกว่า 30 ปี แต่งานเหล่านั้นยังไม่สามารถตกผลึกเป็นที่ยุติ ในสังคมเพราะเรายังเห็นการที่ประชาชนถูกโต้แย้งสิทธิในการอยู่และทำกินในเขตป่าอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามต้องขอชื่นชมและอนุโมทนาที่ท่านได้ปักหมุด เริ่มให้สังคมได้พอมีที่ยืนในการจัดการป่า ที่ดินและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมและเข้าใจชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตอยู่กับป่าสามารถมีศักดิ์ศรีในความเป็นคนได้บ้าง ที่คนรุ่นหลังต้องสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านต่อไป

            สุดท้ายอยากบอกว่าช่วงที่ทำงานกับศ.เสน่ห์ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทุกคนอยากไปทำงานทุกวัน อยากแลกเปลี่ยนกับท่าน อยากได้ฟังคำชี้แจงและการวิจารณ์การทำงานจากท่าน ศ.เสน่ห์จะอยู่ในใจเราตลอดไปและจะขอสานต่องานของท่านต่อไป

สดใส สร่างโศรก ดิฉันได้มีโอกาสทำงานวิจัยกับศ.เสน่ห์ในโครงการสิทธิชุมชนศึกษา[2] ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงปี 2546-2549 ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อหาทางออกเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินและป่าระหว่างรัฐกับชาวบ้าน เพื่อตอบปัญหาคนอยู่กับป่าและการแก้ไขปัญหาของชุมชน ในช่วงนั้นรัฐมีโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาลงแม่น้ำมูนและชี ตามโครงการโขง-ชี-มูน คำถามสำคัญของงานวิจัยนี้คือ ชุมชนเป้าหมาย (บ้านหนองดู่ ลุ่มน้ำชี จังหวัดขอนแก่น)จะพัฒนาศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ประเด็นคือรัฐมองว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนแล้วจะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เหนือเขื่อน ซึ่งรัฐมองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ แต่ข้อเท็จจริง คือพื้นที่บริเวณนี้คือป่าบุ่ง ป่าทามที่ไม่เคยมีนิยามไว้ในงานศึกษาใดๆมาก่อน กรมป่าไม้ก็ไม่รู้จัก แต่มันเป็นวิถีชุมชนแบบชาวบ้านที่อยู่มานานในที่ดินแถบนี้ ได้ใช้ประโยชน์จากป่าในการเป็นอาหารและยารักษาโรค รวมถึงจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหาร ฯลฯ สิ่งที่ชาวบ้านในโครงการต้องต่อสู้กับรัฐด้วยข้อเท็จจริง การเดินขบวน ยื่นข้อเรียกร้อง หลายครั้ง การจัดสัมมนาของนักวิชาการโครงการนี้และนักวิจัยที่เป็นภาคประชาสังคม ทำให้รัฐยอมรับสิทธิของชุมชนในการมีอยู่เหนือที่ดิน ส่วนที่ถูกน้ำท่วมรัฐก็ยินยอมจ่ายค่าชดเชยที่ไม่สามารถทำกินในที่ดินดังกล่าว และรัฐก็ได้เรียนรู้ว่า ในการจ่ายค่าชดเชยนั้นไม่ใช่จ่ายให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่รัฐต้องจ่ายให้บุคคลทุกคนที่ได้รับและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะนี่คือสิทธิของชุมชนที่ต้องสูญเสียที่ทำกิน และสูญเสียวิถีชีวิตที่ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้ในระยะเวลาอันสั้น ชุมชนเป็นรากฐานของชีวิตเมื่อต้องได้รับผลกระทบทุกคนในชุมชนจึงมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการได้รับค่าชดเชย งานวิจัยชิ้นนี้ได้สร้างคุณูปการแก่ชาวบ้านในชุมชน นักวิจัยในพื้นที่ที่มาจากองค์กรพัฒนาเอกชนและตัวชาวบ้านเอง ที่ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพราะชาวบ้านได้ศึกษาทบทวนองค์ความรู้ของตนเองในชุมชน ประวัติชุมชนและสิทธิมนุษยชนที่ได้เรียนรู้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการ ทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจในการยืนยันสิทธิของชุมชนที่มีฐานทางวิชาการรองรับ

            ศ.เสน่ห์ในช่วงที่ทำงานวิจัยนี้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเป็นกันเองกับทุกคน รับฟังชาวบ้านและนักวิจัยมาก เป็นผู้จุดประกายให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในการนำเสนอข้อมูลของตนเองที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ชาวบ้านมีความมั่นใจในการนำเสนอข้อมูลเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาครัฐ ด้วยการนำข้อมูลทางวิชาการมานำเสนอต่อรัฐ

            สุดท้ายอยากบอกว่า ศ.เสน่ห์เป็นนักวิชาการที่กล้าหาญ กล้าผลักดันให้นักวิจัยและชาวบ้านที่ทำวิจัยด้วยทำงานต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งและวิกฤติในพื้นที่ และผลพวงของการทำงานสิทธิชุมชนได้ปรากฏในช่วงนี้ เช่นกรณี เขื่อนราศีหัวนา พื้นที่ลำน้ำมูน ที่รัฐบาลได้นอมรับสิทธิชุมชนและยอมจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชุมชน ศ.เสน่ห์จะอยู่ในใจของนักเคลื่อนไหวและชาวบ้านตลอดไป

 

บทบาทในฐานะประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สุนี ไชยรส สิ่งที่ได้เรียนรู้จากศ.เสน่ห์ในการทำงานที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือความมั่นคงในทางวิชาการ แม้งานของกรรมการสิทธิฯจะไม่ใช่งานเชิงวิชาการ เพราะต้องลงไปคลุกคลีกับปัญหาสิทธิมนุษยชนทุกแง่มุม แต่ศ.เสน่ห์ได้ทำให้ข้อเสนอต่างๆของกรรมการสิทธิฯมีแง่มุมทางวิชาการรองรับ แม้หลายคนจะมองว่างานเจียนทางวิชาการของศ.เสน่ห์อ่านยากก็จริง แต่เอย้อนกลับไหปอ่านและค่อยๆคลี่ตัวอักษรออกมา ก็จะพบว่าเป็นงานเขียนที่มีความลุ่มลึก จึงอาจทำให้คนธรรมดาอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ แต่จะย้อนไปพูดถึงช่วงที่ศ.เสน่ห์วิจารณ์การปฏิวัติ 14 ตุลา 16 นั้น อ.มองว่าจุดเด่นของ 14 ตุลา มี 2 ข้อ คือขบวนการนักศึกษาไม่ต้องการได้อำนาจรัฐ เป็นการต่อสู้ที่ต้องการได้รับความเป็นธรรมจริงๆ และสองเป็นการต่อสู้เพื่อเปิดโปงการใช้อำนาจฉ้อฉล ทุจริตของผู้มีอำนาจและอภิสิทธิ์ชน หลังจากนั้นจึงเกิดการรวมพลังเป็น 3 ประสาน คือ กรรมกร ชาวนา และนักศึกษาในการออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้าน จนผู้มีอำนาจไม่พอใจเกิดการปราบปรามในช่วง 6 ตุลา 19 อย่างที่เราทราบกัน ซึ่งอ.ให้ความสำคัญแก่การปฏิวัติเดือนตุลามาก

            ในงานด้านสิทธิชุมชน ศ.เสน่ห์เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเรามีมากมายแต่ถูกแย่งชิงไปเป็นของฝ่ายทุน ชาวบ้านในชุมชนไม่มีอำนาจในการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และรัฐก็ยังขับไล่ไม่ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องต่อสู้กันในวิถีทางสันติ และแนวทางทางการเมือง ศ.เสน่ห์เห็นว่าการต่อสู้ทางทรัพยากรเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ต้องทำควบคู่ไปกับการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ที่แยกจากกันไม่ได้ โดยไม่ต้องเลือกว่าสิทธิอะไรมาก่อน เพราะสิทธิทั้งสองประการเป็นหัวก้อยของเหรียญเดียวในช่วงทำงานที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของชุมชนทั้งกรณีท่อก๊าซไทยมาเลเซีย ที่อ.จะนะ จ.สงขลา กรณีโรงไฟฟ้าบ้านกรูด- บ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการถูกปราบสลายการชุมนุม  เป็นตัวอย่างที่ศ.เสน่ห์ย้ำว่าถ้าไม่มีสิทธิทางการเมือง การต่อสู้เพื่อสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมจะมีความยากลำบากอย่างยิ่ง ศ.เสน่ห์จึงให้ความสำคัญกับการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิทางการเมืองด้วย งานของกรรมการสิทธิฯจึงให้ความสำคัญต่อการจัดทำรายงานสถานการณ์ในกรณีนี้เป็นอย่างมาก ศ.เสน่ห์เห็นว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วรัฐบาลไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับว่ารัฐบาลได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปแล้ว ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด  ตอนที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 40 ศ.เสน่ห์ก็รู้สึกคับข้องใจอย่างมาก เนื่องจากว่าหลักการต่างๆที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 40 นั้นดีมาก หากจะมีการร่างใหม่ก็ไม่ควรที่จะให้มีสาระสำคัญด้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญ 40 บัญญัติ จึงมีการไปรณรงค์รับฟังความเห็นประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 50 ทั่วประเทศและจัดพิมพ์เผยแพร่ความเห็นต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน

            ศ.เสน่ห์เห็นความสำคัญของสิทธิชุมชนโดยเฉพาะสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือชนเผ่า คือเมื่อมีการประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง[3] อ.ตื่นเต้นมากเพราะถือว่าการรณงค์ของชนเผ่าในประเทศไทยยังไม่ค่อยได้ผล ต้องอาศัยหลักการและได้รับการยืนยันสิทธิในระดับสากลมาช่วย จึงได้สั่งให้พิมพ์ปฏิญญาฯดังกล่าวออกเผยแพร่ เพราะถือว่านี้คือประเด็นที่เชื่อมโยงกันของระดับสากลมาสู่ระดับชาติและท้องถิ่น ที่ทุกฝ่ายควรศึกษาและนำไปปฏิบัติ

            ศ.เสน่ห์ให้ความสำคัญต่อรัฐธรรมนูญในหมวดกระบวนการยุติธรรมเพราะถือเป็นเสาหลักของสิทธิมนุษยชน บทความหลายเรื่องของอ. สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของคนยากจนและเป็นผู้เสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไทยกลับไปรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร[4] ซึ่งฝ่ายตุลาการบอกว่าหากจะให้มีการแก้ไขคำพิพากษาคงทำไม่ได้ ต้องไปแก้ไขกฎหมาย อ.ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่าคำพิพากษาออกมาโดยง่าย แต่พอจะให้แก้ไขกลับทำได้ยากเพราะต้องไปออกเป็นกฎหมาย ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย

            บทบาทที่สำคัญในฐานะประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอยกตัวอย่าง 2 ประเด็น ศ.เสน่ห์ย้ำว่า กรรมการสิทธิฯ คือต้องสร้างวัฒนธรรมของการคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และ 2.เปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน ในระยะยาวต้องทำให้ได้ และกรรมการสิทธิฯต้องดูแลสิทธิมนุษยชนทุกเรื่อง โดยเฉพาะสิทธิของคนเล็กคนน้อย หลายคนบอกว่ากรรมการสิทธิต้องทำงาน”เชิงรุก”ไม่ใช่”เชิงรับ” แต่ศ.เสน่ห์เห็นว่าต้องทำทั้งสองทาง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะการสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ คือ งาน”เชิงรุก”ที่ต้องทำในระยะยาว ส่วนงาน”เชิงรับ”คือการรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกเรื่องของปะชาชนคนเล็กคนน้อย จึงเห็นว่าศ,เสน่ห์ไปทั้งลงพื้นที่ในชนบทและไปพบรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นด้วย เพราะอนุกรรมการที่มาจากนักวิชาการ องค์กรเอกชนและปราชญ์ชาวบ้านล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มาช่วยตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญ 60 ไปปิดกั้นการตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งอยากฝากอ.สุชาติว่า การตั้งอนุกรรมการในกรรมการสิทธิฯเป็นเรื่องจำเป็นมาก กรรมการสิทธิฯไม่ควรติดกับดักตรงนี้เพราะจะทำให้งานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทำได้อย่างจำกัดไม่รอบด้านด้วยกำลังกรรมการแค่ 6-7 คนเท่านั้น

            ประการสุดท้ายศ.เสน่ห์ไม่ได้เป็นนักวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นนักบริหารที่มีความกล้าหาญในการตัดสินใจด้วย หลายเรื่องเป็นการบริหารภายในสำนักงานที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์กร อ.ก็สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาด จนกระทั่งถูกฟ้องคดีในศาลนับ 10 คดี แต่ปัจจุบันคดีเหล่านั้นก็เสร็จสิ้นไปแล้ว นอกจากนี้ศ.เสน่ห์ยังให้คุณค่าแก่สื่อมวลชนที่มารอทำข่าวชาวบ้านที่มาร้องเรียกที่สำนักงานกรรมการสิทธิฯ โดยจะเปิดการแถลงข่าวให้สื่อทราบทุกเรื่องที่เปิดเผยได้ ให้ความเป็นกันเองกับสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่งานของกรรมการสิทธิฯ ศ.เสน่ห์เปิดโอกาสให้กรรมการสิทธิฯทุกคนสามารถแถลงข่าวในประเด็นที่ตนรับผิดชอบโดยไม่ปิดกั้น และเปิดแถลงข่าวทุกครั้งที่มีประเด็นโต้แย้งกับนโยบายของรัฐบาล กรรมการสิทธิฯในยุคนั้นจึงถือว่าเป็นฝ่ายค้านนโยบายรัฐแทบทุกเรื่อง ทั้งหมดนี้คือคุณูปการสำคัญของศ.เสน่ห์ จามริก

[1] เสน่ห์ จามริก หลักการสิทธิ เสรีภาพ หลังการปฏิวัติตุลาคม 2516 ,ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริกกับสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย หน้า 47 ,สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดพิมพ์ 2564

[2] บทสรุปผู้บริหารโครงการวิจัยสิทธิชุมชน สืบค้นจากเว็บไซด์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้ที่ chrome-extension://oemmndcbldboiebfnladdacbdfmadadm/https://dric.nrct.go.th/Search/Download/205926/203382/1/2

[3] สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples:   UNDRIP)  ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.  2550 สาระสำคัญขอปฏิญญาฯ เข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ International Work Group for Indigenous Affairs : chrome extension ://oemmndcbldboiebfnladdacbdfmadadm/https://www.iwgia.org/images/publications/new-publications/UN_Declaration_on_the_RIghts_of_Indigenous_Peoples_Thai.pdf

[4] โปรดดูคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 สรุปว่า คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนจึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้