สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 4/2565 หัวข้อ บทบาททนายความกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 4/2565

หัวข้อ บทบาททนายความกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

วันอังคารที่ 5 เมษายน 2565

เวลา 13.30-15.00 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
  2. ทนายความคอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
  3. สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ICJ
  4. ทนายความนิกร วีสเพ็ญ ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

 

เกริ่นนำ  ในช่วงที่ผ่านมามีทนายความหลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและประเด็นการเสียชีวิตของดารานักแสดงชื่อดัง จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ขณะเดียวกันทนายความถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและปกป้องหลักนิติธรรมตามกฎหมายและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ในทางสากลทนายความยังมีหน้าที่ในการอํานวยความยุติธรรมอีกด้วย ทั้งนี้ ตามหน้าที่พื้นฐานของทนายความในการบริหารความยุติธรรม ทนายความยังมีหน้าที่ “เทิดไว้ซึ่งหลักการสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศ ท้ายที่สุด ทนายความจะต้อง “ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและอย่างสุดความสามารถ โดยสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานและจรรยาบรรณที่ได้รับการยอมรับของวิชาชีพนักกฎหมาย ในทุกขณะจิต” (หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ) ในฐานะที่สสส.จัดรณรงค์เรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตั้งแต่ในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ จึงเห็นควรสำรวจบทบาทของทนายความในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในการเสวนาครั้งนี้

ทนายความมีบทบาทอย่างไรในปัจจุบัน

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ทนายความเป็นผู้รับผิดชอบแทนลูกความในการดเนินคดีทั้งคดีแพ่งและอาญา โดยทำหน้าที่ซักถามตรวจสอบข้อมูลและค้นหาข้อเท็จจริงของเรื่องที่เป็นปัญหา เมื่อทราบรายละเอียดแล้ว ก็ให้คำแนะนำทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของทนายความในเรืองนี้ หลังจากนั้นเมื่อคดีดำเนินมาสู่ชั้นศาลก็เป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนทางศาล เช่นการยื่นพยานหลักฐานต่อศาล ยื่นรำร้อง คำให้การหรือเตรียมเอกสารสำคัญในคดีแทนลูกความเพื่อให้ศาลพิจารณาและซักถามเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เป็นปัญหา จุดนี้เป็นบทบาทประการที่หนึ่งของทนายความในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ประการที่สองทนายความมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งหากเห็นว่าเรื่องที่ขัดแย้งนั้นพอที่จะตกลงกันได้หรือเป็นเรื่องที่สามารถยุติลงได้ด้วยการพูดคุย สนทนา โดยใช้กฎหมายที่ถืออยู่ ในทางปฏิบัติปัญหาทางกฎหมายที่มาสู่ศาลไม่จำเป็นต้องมีทนายความในการดำเนินคดี แต่หากมีทนายความก็จะมีความได้เปรียบกว่าฝ่ายที่ไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความเป็นอาชีพที่อิสระไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการบงการของฝ่ายใดก็ตาม ที่สำคัญทนายความยังเป็นผู้ที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หากลูกความถูกรัฐดำเนินคดีด้วย ดังนั้นทนายความจึงเป็นผู้สร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม          ขอเพิ่มเติมอีกประเด็นคือ ในทางสากลมีหลักการที่เรียกว่า equal arms หรืออาวุธที่เท่าเทียม ซึ่งหมายถึงในการต่อสู้คดีทุกครั้งทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันต้องมีความเสมอภาคกันในการต่อสู้คดี มีเครื่องมือหรืออาวุธที่เสมอกัน ซึ่งในคดีอาญานั้นฝ่ายหนึ่งคือรัฐที่มีตำรวจ อัยการและเครื่องมือที่เหนือกว่า รัฐอาจไม่ให้ประกันทำให้ไม่สามารถออกไปหาหลักฐานมาต่อสู้คดี และรัฐมีมีเอกสารหลักฐานในความครอบครองที่สามารถเรียกมานำเสนอต่อศาลได้ง่ายกว่า ย่อมได้เปรียบมากกว่า ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาก็ต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐที่หรือข้อมูลที่มีอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานทุกหน่วยงานของรัฐได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศไทยเราใช้ระบบกล่าวหา ที่มีหลักการว่าทุกฝ่ายที่เสนอประเด็นมาสู่ศาลต้องมีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าข้อมูลที่นำมาสู่ศาลนั้นมีความน่าเชื่อถือตามที่กล่าวอ้าง เพื่อให้ศาลเชื่อ แต่จะทำอย่างไรหากประชาชนต้องต่อสู้กับรัฐที่มีอำนาจ มีข้อมูลและองคาพยพที่เหนือกว่า ก็ต้องเป็นไปตามหลัก equal arms ที่ประชาชนต้องมีทนายความเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเพื่อให้สามารถต่อสู้ได้อย่างเท่าทียมกันตามหลักการนี้ ที่ผ่านมาในอดีตมักมีการสั่งสอนตามๆกันมาว่าทนายความทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ในปัจจุบันคงไม่เพียงพอที่ทนายความจะทำหน้าที่เพียงเท่านี้ เพราะปัจจุบันมีความรับรู้ของสังคมผ่านทางสื่อและช่องทางต่างๆมากมายที่ทำให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถปกปิดหริอดำเนินการขัดต่อหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งทนายความคงไม่สามารถทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปเฉพาะที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่ต้องไปไกลจนถึงขั้นอำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนทั้งกฎหมายภายในประเทศและตามหลักสากลด้วย ดังเช่นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในขณะนี้ที่ประชาชนต้องการทราบข้อเท็จจริงว่าดาราคนนั้นเสียชีวิต จากเหตุใด ทำให้มีการค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตจากบุคคลหลายฝ่าย      ไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น เนื่องจากคดีอาญามีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระมัดระวังตัวมากขึ้นในการทำหน้าที่

ทนายความนิกร วีสเพ็ญ บทบาทหน้าที่ของทนายความในปัจจุบันโดยปกติคือการทำหน้าที่ในการต่อสู้คดีในศาลอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้รับชัยชนะในคดี แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นทนายความจะต้องมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปให้ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงเกิดอะไรขึ้น เป็นไปตามข้อกล่าวหรือไม่ใช่ มีอะไรจริง อะไรไม่จริง ข้อเท็จจริงใดถูกต้องต้องนำไปสู่การต่อสู้ให้ศาลเห็นด้วย หรือข้อกฎหมายใดยังล้าสมัยก็ต้องเสนอให้ปรับแก้ไขเพื่อให้เป็นกฎหมายที่มีความยุติธรรม เช่น ขณะนี้คดีส่วนใหญ่ที่ทำให้มีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากจนเกินความจุปกติของเรือนจำที่จะรับได้ คือ คดียาเสพติด ที่มีจำนวนจำเลยที่ศาลตัดสินแล้วกว่าสี่แสนคน ขณะที่เรือนจำทั่วประเทศมีศักยภาพในการรับจำนวนผู้ต้องขังได้เพียง 2 แสนคน ประเด็นคือ การทำงานของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นต้นคือตำรวจและอัยการไม่ประสานงานกัน เป็นเหตุให้บางคดีที่มียาเสพติดในครอบครองเพื่อเสพเล็กๆน้อยๆ ก็ถูกจับ และส่งฟ้อง คดีเหล่านี้ รวมถึงคดีอื่นๆด้วยหากมีการหาข้อเท็จจริงตั้งแต่ชั้นพนักงานอัยการร่วมกับตำรวจ ก็จะสามารถทำให้หลายคดีมีการดำเนินคดีรวดเร็วขึ้น และหลายคดีก็อาจไม่ต้องฟ้องร้อง อัยการไม่ใช่มีหน้าที่แค่เอาผู้ถูกฟ้องคดีให้ติดคุกอย่างเดียว ต้องหาหลักฐานข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหาด้วย ทนายความก็เช่นกันต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง มิใช่สร้างข้อเท็จจริงขึ้นมานำไปใช้ในการต่อสู้คดี หรือมีการเกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน หรือในชั้นอัยการ พอมาถึงชั้นศาลก็ถูกศาลเกลี้ยกล่อมอีกให้รับสารภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงเห็นว่าในหลายกรณีเมื่อข้อเท็จจริงไม่ถูกนำมาแสดงต่อศาล เป็นเหตุให้มีการลงโทษจำเลย แต่พ่อจำเลยไม่เชื่อว่าลูกกระทำผิดตามที่ถูกฟ้อง ก็ประท้วงโดยกระโดดอาคารศาลฆ่าตัวตาย เราคงไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก

นอกจากนำเสนอข้อเท็จริงของลูกความในการต่อสู้หรือฟ้องคดีแล้ว ทนายความจะต้องนำเสนอว่ากฎหมายใด มาตราไม่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน เพื่อไม่ให้มีการบังคับใช้กฎหมายนั้นสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนด้วย อีกประเด็นก็คือ ทนายความมีองค์กรวิชาชีพ คือ สภาทนายความ คอยตรวจสอบมรรยาท หรือจริยธรรม เพื่อกำกับดูแลให้ทนายความมีคุณธรรมและปฏิบัติตามมาตรฐานของวิชาชีพ ทนายความต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาตามข้อกำหนดแห่งวิชาชีพเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม

ทนายความคอรีเยาะ มานุแช ที่ผ่านมาทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่เผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยติธรรมมาก ทั้งกรณีเป็นบุคคลต่างชาติ ไม่รู้ภาษา ไม่เข้าใจกฎหมายไทย ฯลฯ เมื่อแรงงานต่างชาติออกมาพูดหรือเรียกร้องว่าถูกละเมิดสิทธิในระหว่างการทำงาน นายจ้างมักอาศัยช่องว่างทางกฎหมายฟ้องว่าลูกจ้างแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานทำให้นายจ้างเสียหาย ก็ไปฟ้องลูกจ้างในข้อหาหมิ่นประมาทนายจ้าง เสียเวลาในการต่อสู้คดีหลายปีมาก เมื่อต้องใช้เวลาในการดำเนินคดี ทำให้ลูกจ้างแรงงานต่างชาติไม่สามารถต่อสู้คดีได้นาน เพราะต้องทำมาหากิน ก็มักจะย้ายไปหางานในจังหวัดอื่น เมื่อจะมาศาลก็เสียเวลาเดินทางเพราะย้ายไปทำงานจังหวัดอื่นแล้วก็ทิ้งคดีไปหลายกรณี สำหรับบทบาททนายความในการช่วยเหลือคดีแรงงานข้ามชาตินั้น ทนายความต้องยืนยันหลักการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม    สิทธิในการมีล่ามที่จะสามารถเข้าใจข้อกฎหมายและกระบวนพิจารณาในศาล ทนายความต้องมีความกล้าหาญ   ในการชี้ข้อผิดพลาดในระหว่างการดำเนินคดี ทั้งในศาลและในเรือนจำ ราชทัณฑ์มักกำหนดให้ทนายความจะพบลูกความได้ต้องมีใบแต่งทนายความก่อนจึงจะอนุญาตให้พบลูกความได้ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่เป็นเงื่อนไขที่ราชทัณฑ์กำหนดขึ้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงทำจดหมายถึงกรมราชทัณฑ์ให้ทราบถึงปัญหานี้ ทางราชทัณฑ์ก็รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไข หรือในกรณีสุขอนามัยของผู้ต้องขังในเรือนจำต้องได้รับการปรับปรุง      ให้ ดีขึ้น ทนายความที่พบว่าลูกความเจ็บป่วยแต่ไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็ต้องเรียกร้องให้ราชทัณฑ์ดำเนินการนำ  ผู้เจ็บป่วยไปพบแพทย์ อันนี้ถือเป็นบทบาททนายความที่ควรจะเป็นด้วย ประการต่อมาคือการใช้สิทธิโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของศาล โดยเฉพาะการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีการเมือง ที่ศาลมักตั้งเงื่อนไขประหลาดที่ไม่เคยปรากฏ.   มาก่อน ศาลมักใช้ดุลพินิจขังเป็นหลักปล่อยเป็นข้อยกเว้น หรือในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นคนต่างชาติปล่อยเงินกู้นอกระบบ 2 หมื่นบาท ศาลก็ให้ประกันแต่กำหนดวงเงินประกันถึง 2 แสนบาท ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องปล่อยชั่วคราวที่ระบุว่าให้ศาลพิจารณาว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่ จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปข่มขู่พยานหรือไม่ แต่กรณีแบบนี้ผู้ต้องหาคงไม่ละเมิดข้อห้ามที่กฎหมายบัญญัติเพราะเขาต้องการทำมาหากินอยู่ในเมืองไทย ไม่หลบหนีแน่นอน การกำหนดวงเงินประกันที่ไม่สอดคล้องกับอัตราโทษก็เป็นประเด็นที่ทนายความต้องโต้แย้งศาลด้วย

            ประเด็นต่อมาทนายความมีมรรยาทกำกับอยู่ที่จะต้องไม่เปิดเผยความลับของลูกความ ทั้งข้อมูลส่วนตัวของลูกความและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีของลูกความ แต่ในคดีดังที่เป็นข่าวในขณะนี้จะเห็นได้ว่าทนายความ.    ยังไม่ดำเนินการตามมรรยาทข้อนี้ ที่สำคัญในเรื่องความเป็นอิสระในการประกอบวิชาชีพ เห็นว่าทนายความก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระพอสมควร เช่นในการพบปะลูกความ เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้ทนายความ   ได้เข้าถึงลูกความโดยไม่มีการมายืนใกล้ ๆ เพื่อรับฟังการพูดคุยระหว่างทนายความกับลูกความ แต่มีประเด็นที่ยังสงสัยอยู่ว่าทนายความควรเป็นอิสระจากเนติบัณฑิตยสภาหรือไม่  เพราะทนายความไม่ควรสวมเสื้อครุยของเนติบัณฑิต หรือการแต่งกายของทนายความสตรีที่สภาทนายความออกระเบียบให้ทนายความสตรีต้องใส่กระโปรง  แต่ในความเป็นจริงการสวมกางเกงของทนายความสตรีในการปฏิบัติหน้าที่มีความคล่องตัวกว่า เพราะบางครั้งทนายความสตรีอาจต้องเดินทางไปในพื้นที่กันดาร ใส่กระโปรงคงไม่สะดวก นี่เป็นประเด็นเรื่องความเป็นอิสระของทนายความที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขด้วย

บทบาททนายความตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

สัณหวรรณ ศรีสด ทนายความภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ มีบทบาท 2  ประการ คือ ทนายความมีบทบาทในการผดุงไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมผ่านการเป็นผู้แทนคู่ความ และผ่านการดำเนินคดีเชิงรุก ในบทบาทในการผดุงไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมผ่านการเป็นผู้แทนคู่ความนั้น ทนายความมีหน้าที่ทำให้สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหาได้รับการเคารพ คุ้มครองสิทธิที่จะปลอดจากการคุมขังตามอำเภอใจ (เช่น การทำคำคัดค้านการจับกุม การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีหมายเรียกตัวผู้ที่ถูกจับกุมมายังศาลเพื่อให้ศาลไต่สวนว่าการจับกุมนั้น ชอบด้วยกฎหมาย) ให้คำปรึกษาและเป็นผู้แทนผู้เสียหายที่ได้รับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและญาติในการดำเนินคดี  และพิสูจน์ต่อศาลว่ากฎหมายใดที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ซึ่งบทบาทนี้เป็นการทำหน้าที่อย่าง active เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม บทบาทที่ไม่ค่อยเห็นในศาลไทย คือ บทบาทในการพิสูจน์ว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม แม้ว่าในคดีการเมืองปัจจุบันก็พอจะมีกรณีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญอยู่บ้างแต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับบทบาทของทนายความในต่างประเทศ เช่นที่เกาหลีมีการชุมนุมของเกษตรกรและมีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดไปที่ตัวและศีรษะชาวนาคนหนึ่งจนเสียชีวิต (รถฉีดน้ำดังกล่าว สตช.นำมาใช้ในบ้านเรา) ทนายความกลุ่มหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลเกาหลียุติการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงในการ

 

ควบคุมฝูงชนในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีได้วินิจฉัยว่า การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเช่นนี้เป็นการฝ่าฝืนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากจะมีการใช้รถฉีดน้ำจะต้องเป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมนั้นมีการฝ่าฝืนกฎหมายหรือใช้ความรุนแรงในการชุมนุมเท่านั้น เป็นเหตุให้กรมตำรวจของเกาหลีเลิกใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงในการควบคุมฝูงชนในการชุมนุมแล้วไปแสวงหามาตรการใหม่ๆ ในการดำเนินการดังกล่าว ช่วงที่เกาหลีเป็นเผด็จการ ทศวรรษที่ 1960 1970 และ 1980 มีการจับกุมคุมขังทางการเมืองโดยไม่ชอบมากมาย มีทนายความกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน โดยช่วยเหลือกลุ่มนักโทษทางการเมืองและนักสิทธิแรงงานที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากรัฐ เนื่องมาจากละเมิดกฎหมายด้านความมั่นคงและการชุมนุม ทนายกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐ  ในยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี      ค.ศ. 1987 ทนายความกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มทนายความเพื่อสังคมประชาธิปไตย” (Minbyun) โดยมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ในช่วงปีค.ศ. 1988 ถึง 1994 ทนายกลุ่มนี้ได้ทำคดีประมาณ 600 คดีโดยเป็นตัวแทนของผู้ถูกดำเนินคดี 1,200 คน ภายใต้กฎหมายความมั่นคงของประเทศและกฎหมายการชุมนุม ในยุคที่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ทนายกลุ่มนี้ก็ได้รวมตัวกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มอื่นๆและ เริ่มต้นสนับสนุนการทำงานทางด้านสิทธิด้านอื่นๆ เช่น สิทธิสตรี สิทธิผู้บริโภค การคุ้มครอง สิ่งแวดล้อม และความยุติธรรมทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการฟ้องคดีต่อรัฐบาลญี่ปุ่นที่นำผู้หญิงเกาหลีไปเป็นนางบำเรอทหารญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรารู้จักกันในนามคดี comfort women ด้วย

            ทนายความมิได้มีบทบาทในการผดุงไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในประเทศเท่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1980 มีกลุ่มทนายความในเมืองมินนิโซต้าประเทศสหรัฐอเมริกา มีความกังวลเกี่ยวกับการสังหารนักการเมืองคนสำคัญของประเทศฟิลิปปินส์รวมถึงกรณีที่ต้องสงสัยว่ามีการเสียชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกหลายคดีทั่วโลกที่สุดท้ายไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จึงสนับสนุนและผลักดันให้มีการร่างมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวนกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมายขึ้น จนกลายเป็นหลักการสหประชาชาติเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนและการป้องกันกรณีการเสียชีวิต โดยพลการ และโดยรวบรัด อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือ พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการปรับปรุงแก้ไขในปี 2016 (ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ที่ www.icj.org/wp-content/uploads/2019/10/versal-Minnesota-Protocol-Advocacy-2017-THA.pdf?fbclid=IwAR3tQJqi8lcDHJq9-4aLHBYRQRcviaozy7JO750iTPLDpmbfgxdjZ8s0uZw )

            ประเด็นสุดท้ายคือหลักการว่าด้วยความเป็นอิสระของทนายความ ตามหลักพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาททนายความ UN Basic Principles on the Role of Lawyers  ที่กำหนดว่า ทนายความต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพของตนได้โดยปราศจากการข่มขู่ การขัดขวาง การรังควาน หรือการแทรกแซง.         ที่ไม่ชอบธรรม ทั้งทางการบริหาร ทางเศรษฐกิจ หรือทางอื่นใด โดยทนายความต้องมีอิสระจากการไม่ถูกดำเนินคดีเพราะการว่าความหรือการช่วยเหลือลูกความ ทนายความสามารถเดินทางและให้คำปรึกษากับลูกความของตนได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งความลับของการติดต่อสื่อสารระหว่างทนายความกับลูกความต้องได้รับการเคารพ ในประเทศไทยก็มีกรณีที่หลายปีก่อนมีบริษัทแห่งหนึ่งฟ้องนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมทนายความว่าทำให้บริษัทเสียหาย แต่ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องทนายความจำเลยในคดีโดยให้เหตุผลว่า จำเลยได้กระทำการตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากลูกความโดยสุจริต ไม่ได้ละเมิดต่อบริษัท หรือกรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ว่ามีการดักฟังทางโทรศัพท์การสนทนาระหว่างทนายความกับลูกความในคดีการเมือง ดังนี้เป็นการละเมิดความเป็นอิสระของทนายความ ส่วนสุดท้ายคือกรณีที่ทนายความแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้วถูกดำเนินคดีหรือถูกร้องเรียนให้องค์กรวิชาชีพตรวจสอบมรรยาท กรณีเช่นนี้ หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ ระบุว่า ทนายความเองก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่มีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพ ในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขามีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการอภิปรายในเชิงสาธารณะในเรื่องกฎหมาย การบริหารความยุติธรรม และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเข้าร่วมหรือจัดตั้งองค์การในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับสากล อีกทั้งเข้าร่วมการประชุมโดยไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดในทางวิชาชีพด้วยเหตุที่มาจากการกระทำตามกฎหมาย หรือการเป็นสมาชิกขององค์การที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งทนายความสามารถกระทำได้ ทนายความมีเสรีภาพในการแสดงออก ความเชื่อ การรวมตัว และการชุมนุม ทนายความควรที่จะสามารถกล่าวกับสาธารณชนเกี่ยวกับกิจการสาธารณะต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะในฐานะทนายความเองก็ดีหรือในฐานะส่วนตัวก็ตามให้สอดคล้องกับกฎหมาย มาตรฐาน และจรรยาบรรณของวิชาชีพกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างของไทยคือ กรณีที่ทนายความอานนท์ นำภา ถูกร้องเรียนให้ถอดถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพราะไปร่วมชุมนุมและปราศรัยทางการเมืองแล้วถูกแจ้งข้อหาในคดีด้านความมั่นคง กรณีเช่นนี้ย่อมขัดต่อหลักการสหประชาชาติดังกล่าว ส่วนกรณีที่ว่าทนายความจะเลือกข้างทางการเมืองได้หรือไม่นั้น โดยหลักแล้วย่อมกระทำได้ หากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ขัดต่อจรรยาบรรณของวิชาชีพด้วย ความเป็นอิสระของทนายความจะแตกต่างจาก       ผู้พิพากษาในแง่ที่ว่าผู้พิพากษาต้องมีความเป็นกลางด้วย เพราะผู้พิพากษาต้องคำนึงถึงกฎหมายและข้อเท็จจริงและมีความเป็นธรรม หากผู้พิพากษาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่อาจถูกฟ้องทางคดี แล้วต้องพิจารณาพิพากษาคดีนั้นๆ จะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม แต่ทนายความไม่ต้องเป็นกลาง

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ เห็นด้วยว่าหากเป็นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง เช่นเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทนายความในฐานะปัจเจกบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเข้าร่วมการชุมนุม เพราะเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมชุมนุมที่ต้องมีการปราศรัย หากทนายความแสดงความเห็นในการปราศรัยก็ต้องรับผิดชอบคำพูดนั้น ไม่ให้ละเมิดกฎหมายหรือบุคคลอื่น ส่วนว่าทนายความหรือองค์กรวิชาชีพทนายความจะเข้าร่วมการชุมนุมที่สนับสนุนการทำรัฐประหารหรือเข้าร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นคงทำไม่ได้ ดังที่ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติฯ ได้ชี้ไว้ว่า สมาคมเหล่านี้จะต้องไม่ “เข้าร่วมในการเมืองแบบเลือกข้าง” ซึ่งสามารถนําไปสู่ “การทําให้ความเป็นอิสระของวิชาชีพนักกฎหมายตกอยู่ในความเสี่ยง” ผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติฯ จึงได้แยกแยะระหว่าง “การเข้าร่วมในการปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งมีนัยยะทางการเมือง” กับ “การเข้าร่วมในการเมือง” ซึ่งสภาทนายความของไทยนั้นแม้ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง ก็มีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพที่กำหนดว่า ทนายความจะต้องซื่อสัตย์ต่อลูกความ ต้องไม่ปฏิบัติตัวให้เป็นที่น่ารังเกียจต่อศาลและทนายความคนอื่น ขณะเดียวกันสภาทนายความของไทยก็มีแนวปฏิบัติไว้ว่าตัวองค์กรวิชาชีพต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เอาองค์กรเข้าไปผูกพันทางการเมืองแบบเลือกข้าง ประเด็นนี้ก็เห็นว่ายังมีความระมัดระวังอยู่

ทนายความนิกร วีสเพ็ญ ประเด็นเรื่องความเป็นกลาง ไม่เลือกข้างขององค์กรวิชาชีพทนายความนั้น ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะทนายความเข้าสู่การเมืองในสภาผู้แทนราษฎรมากมาย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงเรื่องความเป็นกลาง คืออำนาจตุลาการ เช่นศาลรัฐธรรมนูญ ที่รู้สึกว่ายังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลางในหลายกรณีต่างยุคต่างสมัย หลายกรณีทางการเมืองก็ดี หรือการณีที่ต้องมีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนก็ดี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ค่อยคงเส้นคงวา ไม่มีมาตรฐานคล้ายกับว่าฝ่ายบริหารหรือสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากรัฐประหารเป็นผู้เลือกเข้ามา พอมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของฝ่ายบริหารที่ต้องวินิจฉัยก็อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการอย่างอิสระได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะองค์กรวิชาชีพทนายความที่ดำเนินการอะไรบ้างหรือไม่ หากมีปัญหาเกิดกับทนายความตามที่ทนายความคอรีเยาะกล่าวถึง คือแทนที่สภาทนายความจะเข้าไปจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ทนายความกลับปล่อยให้ทนายความแต่ละคนเผชิญปัญหาโดยลำพัง ซึ่งไม่ถูกต้อง หากยังไม่มีการปฏิรูปทนายความให้ทำหน้าที่ได้สอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย ผู้ได้รับผลกระทบก่อนคือประชาชนที่ต้องพึ่งพิงทนายความ หากอัยการทำหน้าที่เพียงนำคนเข้าคุก ทนายความก็ทำหน้าที่เพียงเพื่อให้ได้เงินค่าทนายเท่านั้น โดยยังไม่เกิดการปฏิรูปการค้นหาความจริงของทุกฝ่าย เพื่อนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ที่ต้องได้รับความยุติธรรมแล้ว กระบวนการยุติธรรมคงไปไม่รอด กระบวนการค้นหาความจริงต้องทำในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม มิใช่ตำรวจส่งสำนวนมาถึงอัยการแล้วมีเวลาอ่านสำนวนเพียง 2-3 วันต้องส่งฟ้อง จึงควรปฏิรูปให้คดีให้คดีใหญ่ๆนั้นอัยการเข้ามาในคดีตั้งแต่ต้น เพื่อร่วมมือกับตำรวจในการค้นหาความจริง ให้ข้อเท็จจริงยุติในชั้นตำรวยและอัยการจึงค่อยส่งฟ้องต่อศาล ปัจจุบันคดีมาสู่ศาลโดยที่ศาลก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงมาก่อนก็สั่งคำร้องหรือดำเนินกระบวนพิจารณาไปทั้งๆที่ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ เหล่านี้จึงเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่นกฎหมายป่าสงวนทับที่ทำกินชาวบ้าน ในหลายพื้นที่ ต้องมีการนำข้อเท็จจริงของการอยู่อาศัยในที่ทำกินมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเห็นและมีข้อยุติตั้งแต่ในชั้นตำรวจและอัยการ เพื่อมิให้มีการฟ้องขับไล่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่นั้นก่อนรัฐประกาศเป็นป่าสงวน จึงจะเป็นการสร้างความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

บทบาททนายความในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

สัณหวรรณ ศรีสด ทนายความในปัจจุบันมีส่วนร่วมอยู่แล้วในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เห็นได้จากในคดีการเมืองที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหรือสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและภาคี พยายามเรียกร้องหรือโต้แย้งสิทธิให้แก่ผู้ต้องหาในการขอให้ได้รับการประกันตัวก็ดี ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการออกหมาย การต้องมีทนายความมาอยู่ด้วยเมื่อถูกจับกุมหรือต้องถูกสอบสวน ฯลฯ ที่น่าเป็นห่วงคือตัวกฎหมายของไทยบางส่วนแม้จะล้อมาจากกฎหมายระหว่างประเทศหรือบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้าใจและปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทนายความจึงต้องอาศัยการดำเนินคดีและใช้หลักการสากลในการเรียกร้องโต้แย้งสิทธิให้แก่ลูกความเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมจะต้องหันมาปฏิบัติตามหลักกฎหมายและหลักสากล จึงจะถือว่าทนายความเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ มีงานวิจัยของสกว.โดยดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม มีข้อเสนอ 9 ข้อ ที่สำคัญคือ 1. กระบวนการยุติธรรมในภาพรวมมีบทบาทหลักในการป้องกันอาชญากรรมและรักษาความสงบสุขในบ้านเมือง 2. ต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3. มีกระบวนการเพื่อการอำนวยความยุติธรรม 4.ดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ 5.ต้องเปิดรับการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากประชาชน 6. บุคลากรต้องมีทัศนคติที่ดีในการอำนวยความยุติธรรม 7.ต้องรักษาภาพลักษณ์ในการดำเนินงานเพื่อสร้างความยุติธรรม 8.พัฒนาความรู้ให้เท่าทันกับการพัฒนาสังคม เช่น การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ และนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการพิสูจน์การกระทำผิด 9.สร้างความน่าเชื่อถือในการดำเนินบทบาทในการสร้างหลักนิติธรรม ขณะนี้เห็นว่าต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง ข้อเสนอจากงานวิจัย 9 ข้อนั้นจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบต่างๆเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ปัจจุบันนี้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารก็มีปัญหา กระบวนการยุติธรรมก็ต้องเป็นหลักในการดึงความน่าเชื่อถือกลับมาสู่สังคม

ทนายความนิกร วีสเพ็ญ อยากเห็นทนายความมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก ปฏิรูปในความหมายกว้างคือ การทำให้ดีขึ้น นอกจากว่าความในศาลเพื่อช่วยลูกความให้ได้รับความเป็นธรรมแล้ว จึงขอเชิญชวนทนายความและองค์กรวิชาชีพทนายความมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไชกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพื่อการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

ทนายความคอรีเยาะ มานุแช  ขอเรียกร้องให้สภาทนายความออกมาทำงานเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมากกว่านี้ แม้ที่ผ่านมาจะทำได้ดีแล้ว ทั้งการฝึกอบรมทนายความ การมีทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจหรือที่ศาล แต่ควรเข้ามารับผิดชอบหรือทำงานในเชิงรุก เช่น การให้ความช่วยเหลือทางคดีที่เป็นประเด็นร้อนหรือเรื่องที่ประชาชนต้องการความยุติธรรมและกรณีนั้นจะส่งผลกระทบต่อส่วนรวม

 

                       

_____________________