สรุปสสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 3/2565 หัวข้อ ร่างกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหาย กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 3/2565

หัวข้อ ร่างกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหาย กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565

เวลา 13.30-15.00 น.

ผู้ร่วมเสวนา

  1. อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  2. พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม/กรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
  3. สมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

 

เกริ่นนำ รายการสสส.เสวนาทัศนะ เคยจัดเสวนาในประเด็นกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหาย เมื่อเดือนกันยายน 2564 ในหัวข้อ กรณีถุงดำ ถึงเวลาต้องมีกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหายได้แล้ว ซึ่งในช่วงนั้นร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นอนุกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันร่างฯดังกล่าวได้ผ่านการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 3 เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดยมีการแก้ไขปรับปรุงชื่อร่างและสาระสำคัญบางประการ รายการสสส.เสวนาทัศนะ จึงขอรายงานให้ทราบความคืบหน้าและขอให้จับตาการพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อให้ร่วมกันพิจารณาว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไรต่อร่างพรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย นี้

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

สมชาย หอมลออ ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ๒ ฉบับ คืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทําอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแล้วโดยการภาคยานุวัติ และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ที่ไปลงนามรับรองไว้ แต่ยังไม่เข้าเป็นภาคี ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติว่ารัฐจะเข้าเป็นภาคีในกฎหมายหรือตราสารระหว่างประเทศฉบับใดต้องดำเนินการจัดทำกฎหมายภายในให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงเป็นที่มาของการต้องจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ได้ นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย ห้ามการซ้อมทรมาน ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสาระสำคัญของร่างฯพอสรุปได้ดังนี้

  1. กำหนดให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นอาชญากรรมมีโทษอาญา หากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นความผิดร้ายแรง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต ทั้งกรณีการทรมานและการอุ้มหาย ส่วนการกระทำที่โหดร้ายฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี โดยมีข้อสังเกตว่าไม่มีโทษประหารชีวิต เพราะเป็นกฎหมายที่อนุวัติการตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ถือว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ การลงโทษประหารต้องหลีกเลี่ยงมิให้นำมาใช้หรือใช้ให้น้อยที่สุด และควรได้รับการยกเลิกไปในที่สุด
  2. องค์ประกอบของการทรมาน คือ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือ จิตใจ โดยมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
  • ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
  • ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำ หรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม
  • ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
  • เหตผุลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่ารูปแบบใด เช่น กระทำการทรมานเพราะบุคคลนั้นมีเชื้อชาติ ศาสนา ที่แตกต่างอันเป็นการเลือกปฏิบัติ
  1. ส่วนการกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมายถึง กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใด ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อัน เป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ โดยไม่ต้องถึงขั้นมีเหตุผลพิเศษเป็นการกระทำการทรมาน เช่นกรณีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่จับมาแล้วเอาสุนัขมาเฝ้าหน้าห้อง การกระทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีมนุษย์ เพราะชาวมุสลิมไม่ยอมรับสุนัข หรือไปจับตัวใครมาแล้วเอามาประจานรอบๆสวนสาธารณะหรือนำตัวไปแห่ตระเวนไปตามท้องถนนในเมือง ก็เข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีมนุษย์
  2. สำหรับความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญูหาย ที่เราเรียกว่าอุ้มหาย หมายถึง เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว จับ ขัง หรือลักพาบุคคลใด หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิด ชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเจตนาพิเศษเหมือนการทรมาน
  3. ให้คดีทรมานและอุ้มหายมีอายุความถึง 40 ปี โดยเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อรู้ชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหาย เพราะเหตุว่าเป็นความผิดร้ายแรงที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมิใช่กระทำด้วยตัวคนเดียว แต่อาจเป็นขบวนการที่ถูกสั่งการโดยผู้นำในระบอบเผด็จการ จึงควรต้องมีอายุความยาวที่สุดแตกต่างจากคดีอาญาโดยทั่วไป
  4. ให้นิยาม “ผู้เสียหาย”ไว้อย่างกว้างขวางขึ้น โดยให้รวมถึง สามี ภริยา ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียน (แต่ไม่รวมถึงคู่ชีวิตที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ) บุพการี ผู้สืบสันดาน และผู้อยู่ในอุปการะ ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียน ถือเป็น “ผู้เสียหาย” คือให้ดูตามสภาพความเป็นจริงว่าผู้นั้นเป็นครอบครัวเดียวกัน อุปการะเด็กตามความเป็นจริง แม้ไม่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม ก็สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและให้ได้รับการเยียวยาได้ด้วย
  5. ให้มีกลไกป้องกันการทรมาน การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมฯ ในรูปของคณะกรรมการ มีอำนาจนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่ต้องสงสัยว่าจะมีการซ้อมทรมานหรือมีการจับคนมากักขังเพื่อจะพาไปที่อื่นแล้วทำให้หายสาบสูญไป กำหนดนโยบายเยียวยา และป้องกันการละเมิด โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนผู้เสียหาย ภาคประชาสังคมผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ พิสูจน์หลักฐาน กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน โดยมีสัดส่วนเท่าๆกัน กระบวนการได้มาของคณะกรรมการฯ มีความยึดโยงกับประชาชน จึงบัญญัติให้มีกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จากผู้ได้รับการสรรหาซึ่งเป็นบุคคลที่มีมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และ ประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสิทธิมนุษยชน อันเป็นการป้องกันมิให้กรรมการที่ได้มาเกรงใจเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำทรมานหรือทำการอุ้มหาย และกรรมการมีความอิสระในการทำงานมากขึ้น
  6. มาตรการในการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่บัญญัติไว้ในร่างฯนี้ เช่น ต้องบันทึกภาพ
    และเสียงในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมต้องแจ้งต่อหน่วยงานอื่นด้วย คือ แจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที รวมทั้งต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวโดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ข้อมูลอัตลักษณ์ ชื่อ นามสกุล หรือตำหนิรูปพรรณ วัน เวลา และสถานที่ของการถูกควบคุมตัว และข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำการควบคุมตัว หากจะมีการปล่อยตัว ต้องบันทึกวัน เวลา และสถานที่ของการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวและผู้มารับตัวผู้ถูกควบคุมตัวเป็นต้น
  7. การสอบสวนคดีทรมานและอุ้มหายให้พนักงานอัยการเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจ และให้มีหลายหน่วยงานข้าร่วมการสอบสวน เช่น ให้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษนอกจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นพนักงานสอบสวนได้ด้วย ที่สำคัญเมื่อพนักงานอัยการสอบสวนแล้วเสร็จก็ให้สามารถส่งฟ้องเองต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้เลย ไม่ใช่ฟ้องศาลอาญา โดยไม่ต้องส่งไปให้ ปปช. ก่อน ซึ่งเหตุผลคือ ศาลคดีทุจริตฯเป็นศาลที่ใช้ระบบบไต่สวน ที่ผู้พิพากษาสามารถใช้อำนาจเรียกพยานหลักฐานในความครอบครองของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมายังศาลได้ หรือเรียกบุคคลใดหรือพยานหลักฐานในความครอบครองของบุคคลใดมายังศาลก็ได้ ทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องเสียเวลาในการออกหมาย คดีก็สามารถพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว คล้ายการพิจารณาคดีในศาลปกครอง
  8. แม้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็อยู่ภายใต้อำนาจศาลคดีทุจริตฯด้วย เท่ากับว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารกระทำความผิดฐานทรมานและอุ้มหาย

อังคณา นีละไพจิตร เท่าที่ดูสาระสำคัญของร่างฯนี้ เห็นว่าได้นำสาระสำคัญของอนุสัญญา ทั้ง 2 ฉบับ มาใส่ไว้ในมาตราต่างๆ ค่อนข้างจะครบถ้วนแล้วประมาณ 80% แต่ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า กรณีที่ประเทศไทยไปยอมรับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือ ICCPR นั้นต้องเข้าใจว่าเรามีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้กฎหมายภายในสอดคล้องกับตัวสนธิสัญญาแต่ละฉบับนั้นๆ ซึ่งเราต้องนำหลักการสำคัญ เช่น การสันนิษฐานว่าเป็นผู้ไม่มีความผิด  เราก็เอาไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แต่สำหรับร่างฯนี้ถือเป็นการร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ เพื่ออนุวัติการให้เป็นเป็นตามอนุสัญญา 2 ฉบับ วิธีการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นมี 2 วิธี คือ การไปลงนามเข้าเป็นภาคีด้วยวิธีการให้สัตยาบันก่อนแล้วจึงมาจัดทำกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ในสนธิสัญญานั้น หรืออีกวิธี คือ การลงนามรับรองสนธิสัญญาไว้ก่อนว่าเราจะภาคยานุวัติหรือเข้าเป็นภาคีในภายหลังต่อเมื่อมาจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับสนธิสัญญานั้นแล้ว กรณีกฎหมายห้ามทรมานฯนี้ ประเทศไทยภาคยานุวัติอนุสัญญาห้ามการทรมานฯไปก่อน ส่วนอนุสัญญาว่าด้วยการทำให้บุคคลสูญหาย นั้นเราไปลงนามไว้แต่ยังไม่ภาคยานุวัติ จึงเป็นที่มาว่าเราต้องจัดทำกฎหมายห้ามการบังคับให้สูญหายฯเสียก่อน แล้วจึงไปทำหนังสือแสดงความจำนงที่จะผูกพันตามอนุสัญญา

            กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายที่แตกต่างจากกฎหมายที่เราเคยมีอยู่หลายเรื่อง เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้บังคับบัญชาหากทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนกระทำหรือได้กระทำความผิดฐานกระทำทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือกระทำให้บุคคลหายสาบสูญและไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น กฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านสิทธิมนุษยชนทัดเทียมกับนานาชาติ แต่ก็ค่อนข้างเป็นห่วงการอภิปรายแสดงความเห็นในชั้นสมาชิกวุฒิสภา ได้ฟังหลายท่านแสดงความเห็นอย่างไม่เข้าใจสาระสำคัญของ นิยามการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายที่ต้องเขียนไว้ในร่างฯอย่างละเอียดว่าอย่างไรคือการทรมาน อย่างไรคือการลงโทษที่โหดร้ายหรือการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือในร่างฯนี้บัญญัติว่าให้การกระทำอุ้มหายเป็นความผิดต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงความผิดนั้นสามารถเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ โดยที่ยังไม่ทราบว่าใครคือผู้กระทำ แต่เมื่อกฎหมายนี้ใช้บังคับ และมีการร้องเรียนให้สอบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐทำให้คนหายไป จากการสอบสวนทำให้ได้ความจริงเช่นนั้น ก็สามารถใช้กฎหมายนี้ดำเนินคดีแก่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นได้ แต่สว.ท่านหนึ่งไปอภิปรายว่ากฎหมายนี้เขียนไว้ให้สามารถย้อนหลังเป็นโทษแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น เพราะหลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการให้การทำให้บุคคลสูญหายโดยเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นความผิดต่อเนื่อง โดยขณะกระทำไม่ทราบว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว ทราบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ทราบเป็นต้นไป ถือเป็นกฎหมายที่มีความพิเศษกว่ากฎหมายอาญาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

            สาระสำคัญอีกประการ คือ สิทธิที่จะทราบความจริงซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องคนหาย กรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียโดยชอบด้วยกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพควบคุมตัว เช่น ญาติ ผู้แทนหรือทนายความ
หรือคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ มีสิทธิร้องขอ
ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำการจำกัดเสรีภาพรับผิดชอบบุคคลให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพควบคุมตัวหากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพควบคุมตัว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่ตนเองมีภูมิลำเนา ศาลอาญาหรือศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่เชื่อว่ามีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย           ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือพบเห็นผู้ถูกกระทำให้สูญหายครั้งสุดท้าย แล้วแต่กรณี เพื่อให้ศาลสั่งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้  สิทธิที่จะทราบข้อมูลของญาติที่ถูกรัฐจับตัวไปแล้วไม่ทราบชะตากรรม เป็น absolute rights หรือสิทธิสัมบูรณ์ที่ปรากฏในอนุสัญญาเจนีวา ที่ไทยเป็นภาคีแล้วและอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องตอบญาติให้ทราบว่าจับไปควบคุมไว้ที่ไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ต้องแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการชดเชยเยียวยาให้กลับสู่เสมือนอยู่ในสภาพเดิม – restitution หมายถึง รัฐต้องดูแลชดเชยเยียวยา ดูแลลูก และครอบครัวของผู้สูญหาย ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเสมือนไม่เคยสูญหายมาก่อน สาระสำคัญอีกประเด็นคือ ร่างฯนี้กล่าวถึงห้ามการส่งบุคคลใดกลับไปสู่การได้รับอันตรายถึงชีวิต (มาตรา 12)[1] ซึ่งสอลคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกตนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ประการต่อมาอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯยังบัญญัติว่าความรุนแรงหรือการทรมานที่เกิดต่อบุคคลเพราะเพศสภาพก็อยู่ในความคุ้มครองของอนุสัญญาฯ และร่างกฎหมายฉบับนี้ก็บัญญัติเรื่องการทรมานเพราะเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลไม่ว่าเรื่องใด[2] ก็ต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ด้วย

            สุดท้ายขอเพิ่มเติมในเรื่องของการดำเนินคดีที่ร่างฯนี้บัญญัติให้ญาติของผู้เสียหายเป็นผู้มีอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้ถูกทรมานฯด้วยเพราะเหตุว่าบางครั้งในการทรมาน ผู้ถูกกระทำไม่ทราบว่าใครคือผู้กระทำเนื่องจากถูกคลุมหัว นอกจากนี้ยังต้องมีการประเมินสภาพจิตใจด้วย โดยให้มีการรักษาพยาบาล และการประเมินโดยแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ และแพทย์ทางจิตเวชศาสตร์ที่รับรองโดยแพทยสภา รวมทั้งให้มีการจัดทำบันทึกทางการแพทย์

รวมทั้งตลอดจนการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เพื่อกำหนดให้ศาลสั่งให้มีการฟื้นฟูจิตใจในการฟ้องคดีด้วย ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดีจะมีความเข้าใจหลักกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ศาลต้องมีหน้าที่ไปศึกษาสาระสำคัญของอนุสัญญาฯทั้ง 2 ฉบับและตัวพรบ.เอง เพื่อให้สามารถไต่สวนหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องในคดี และยุคนี้มีผู้พิพากษาที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ น่าจะสามารถเรียนรู้และเข้าในกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดีสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

            กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นกฎหมายที่เติมเต็มในช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ในเรื่องของผู้เสียหายที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าภรรยาหมายรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาแม้ไม่จดทะเบียนสมรส เป็นการช่วยให้ภรรยาสามารถฟ้องร้องแทนสามีที่หายสาบสูญได้ ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินคดีแทนได้ ทั้งกรณีคุณบิลลี่และกรณีสมชาย นีละไพจิตร เพราะศาลถือว่าเมื่อไม่มีหลักฐานยืนยันว่าถูกฆ่า ต้องถือว่ายังไม่ตาย การฟ้องคดีต้องมาดำเนินการเอง ตัดสิทธิมิให้ภรรยาเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ

พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่าร่างกฎหมายที่กำลังเสวนาอยู่นี้ ยังไม่ใช่ร่างที่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะกำลังอยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา ทำให้อาจมีการแก้ไขในมาตราใด อย่างไรก็ได้ เรายังยึดถือร่างนี้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าวุฒิสภาคงต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนด้วย แต่ขอยึดแนวทางของร่างฯนี้ในการเสวนา ร่างกฎหมายนี้ใช้บังคับในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการอุ้มหายหรือทรมานใครในการปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุม ย่อมทำไม่ได้ เช่นกรณีเพชรซาอุที่มีการจับลูกศรีธนขัณฑ์ไปซ้อมทรมาน ทำเป็นฆาตกรรมอำพราง อยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ แต่ถ้าเป็นเจ้าพนักงานไปรับจ้างเก็บหนี้แล้วไปซ้อมทรมานลูกหนี้ อย่างนี้ก็ไม่เข้าข่าย ไปทรมานลูกหนี้เพราะไม่จ่ายต้นและดอก ไม่เข้าข่ายตามร่างฯนี้ คำถามที่เกิดขึ้นว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้กลวิธีในการปกปิดความผิดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งตอบได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังมากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างน้อยการรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาต้องระมัดระวังว่า ตนอาจต้องรับผิดชอบการกระทำตามคำสั่งนั้น ถ้ามีการกระทำเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้

กลไกต่างๆ ตามร่างฯนี้จะเป็นรูปแบบที่ทรงประสิทธิภาพได้อย่างไร

สมชาย หอมลออ รูปแบบคณะกรรมการตามกฎหมายนี้คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้นจะมีประสิทธิภาพแค่ไหนอยู่ที่เจตนารมณ์ของประธานกรรมการ และองค์ประกอบของคณะกรรมการ ซึ่งตามร่างนี้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และมีกรรมการมาจากบุคคลหลายฝ่าย มีนักจิตวิทยา นักสิทธิมนุษยชน ตัวแทนผู้เสียหายจากการทรมาน และถูกทำให้สูญหาย และมีส่วนราชการในสัดส่วนที่พอๆกัน มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาตามที่คณะกรรมการต้องการ ก็พอจะทำให้คณะกรรมการชุดนี้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ดีกว่ารูปแบบคณะกรรมการในกฎหมายอื่นๆ ที่มักมีสัดส่วนของส่วนราชการมากกว่าฝ่ายอื่นๆ นอกจากนี้กลไกการฟ้องคดีที่กำหนดให้ผู้เสียหายเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐต่อศาลคดีทุจริตได้ ก็จะเป็นการอุดช่องว่างที่ผู้เสียหายไม่มีส่วนร่วมหรือไม่สามารถเข้ามาในคดีได้เช่น ในคดีอาญาทั่วไป

อังคณา นีละไพจิตร ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ คิดว่ากลไกที่มีตามร่างฯน่าจะเพียงพอ ที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะสิทธิที่ได้รับทราบความจริงของผู้ถูกจับว่าถูกนำตัวไปไว้ที่ไหน มีความเป็นอยู่อย่างไร บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหรืออยู่สบายดี ญาติก็ต้องได้รับคำชี้แจงและได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่ถูกต้อง รวดเร็ว ส่วนรูปบบคณะกรรมการตามร่างนี้ มีหลากหลายภาคส่วน มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความรู้ความสามารถเต็มประสิทธิภาพ

พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ คิดว่ากฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน ถ้าไม่มีการแก้ไขให้มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปในชั้นวุฒิสภา อย่างน้อย 80% มีประโยชน์แน่นอน ก่อนเข้ารายการหลายวันก่อนได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนเข้ามาหาและแลกเปลี่ยนความเห็นกันว่า ถ้าร่างฯออกมาแบบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจะทำงานลำบากมากขึ้น จึงได้อธิบายไปว่า ท่านต้องเปลี่ยนความคิด ถ้าคิดเช่นนั้น แต่ต้องคิดใหม่ว่าร่างฯนี้จะเป็นกรอบการทำงานที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อย่าไปเข้าใจว่าหลักสิทธิมนุษยชนจะเป็นอุปสรรคทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยาก เพราะนี่คือกรอบที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะมีแนวทางที่คุ้มกันมิให้ทำงานผิดพลาด ป้องกันตัวเองจากการทำตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของหัวหน้า เพราะการไม่ทำตามคำสั่งที่มิชอบคือเกราะป้องกันตัวเอง ให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบตัวเองหากสั่งการให้ดำเนินการผิดไปจากที่กฎหมายกำหนด ขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐปรับเปลี่ยนความคิดมากขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ยังตั้งใจทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน และขอให้องค์กรเอกชนที่ทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐทำใจให้เป็นกลาง อย่ามองว่าเจ้าหน้าที่รัฐมุ่งแต่จะกระทำผิดกฎหมาย เพราะมีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่อยู่ในกรอบ แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่โดยอยู่ในกรอบของกฎหมาย

ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร

สมชาย หอมลออ ถ้าดูจากร่างฯนี้จะเห็นว่ามีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดำเนินการมายาวนานได้แต่ไม่บรรลุผล แต่มาปฏิรูปสำเร็จในกฎหมายนี้ เพราะ มีการบัญญัติให้หลายหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบการสอบสวนคดีซ้อมทรมาน ละเมิดศักดิ์ศรีมนุษย์และอุ้มหาย การฟ้องคดีในศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ใช้ระบบไต่สวน ทำให้การค้นหาความจริงในกระบวนการสอบสวนและค้นหาพยานหลักฐานทำได้รวดเร็วและง่ายขึ้น เพราะระบบไต่สวนเป็นกระบวนการที่เมื่ออัยการฟ้องร้องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ผู้ใดหรือกลุ่มใดกระทำผิด เป็นหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาต้องไปแสวงหาพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหาว่าข้อเท็จจริงไม่ใช่ดังที่ถูกกล่าวหา ส่วนฝ่ายผู้เสียหายก็ไม่ต้องไปหาพยานหลักฐานการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายเอง เป็นหน้าที่ของอัยการและศาลที่จะนำข้อเท็จจริงและหลักฐานมาพิจารณาในคดี ทำให้การพิจารณาคดี รวดเร็วยิ่งขึ้น ถือว่านี่คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จอย่างน่าพอใจ

อังคณา นีละไพจิตร ที่จริงร่างฯนี้เป็นกฎหมายปฏิรูปอยู่ในตัวเองจนเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายฝ่ายตกใจหรือเกรงว่าจะปฏิบัติตามได้จริงจังแค่ไหน ในชั้นกรรมาธิการ ได้เชิญศาลมาร่วมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งศาลก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามหากมีการบัญญัติให้ฟ้องคดีในศาลคดีทุจริตฯ ศาลพร้อมจะศึกษาอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ จึงคิดว่าไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐกังวลว่าจะทำงานไม่ได้ ถูกตีกรอบโดยกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นการพิสูจน์ว่ากฎหมายนี้เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแน่นอน และถือเป็นความก้าวหน้ามากของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในบ้านเรา ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายส่วน รู้สึกว่าการปฏิรูปกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้บางหน่วยงานและไปลดอำนาจหน้าที่ของบางหน่วยงาน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายปฏิรูปต่างๆ เกิดความรู้สึกว่าถูกล่วงล้ำ comfort zone หรือไปทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับความสะดวกใจในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ คือทำอย่างที่เคยทำมาก่อนแล้วไม่ได้ ไม่เคยชินกับการปรับตัวและไม่สะดวกใจ ไม่พอใจที่จะปฏิบัติตามแนวทางใหม่ที่กฎหมายบัญญัติ อย่างไรก็ตามอยากเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยกฎหมายฉบับนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีความกล้าหาญในการประกาศที่จะเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ถ้าพิจารณารอบด้านแล้วกล้าทุบโต๊ะในภาษาพูดนั่นเอง เราคงไม่อยากเห็นว่าเวลาไปรับฟังความเห็นหน่วยงานต่างๆแล้ว ทุกฝ่ายไม่พอใจที่จะเปลี่ยนแปลง อยากทำงานแบบเดิมๆ การปฏิรูปไม่มีทางเกิดขึ้นหากจะดำเนินการแบบเดิมๆ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ยังคงยินดีที่จะรับฟังและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ ซึ่งคิดว่าเราคงจะปฏิรูปกฎหมายต่างๆได้แน่นอน

ประเด็นเสวนา

  1. กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร
  2. ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำกฎหมายนี้อย่างไร
  • ประสบการณ์ในการเป็นกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างฯ
  • บรรยากาศในการประชุม และผลการประชุม
  1. ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากกฎหมายฉบับนี้
  • ข้อสังเกต ข้อควรระวังและสิ่งที่คาดหวัง (ทั้งด้านบวกและลบ)
      ——————————————————————————

[1] ร่างฯของกรรมาธิการ มาตรา 12  ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือจากการถูกกระทำให้สูญหาย

[2] โปรดดูร่างฯของกรรมาธิการ มาตรา 5 (4) มาตรา 5  ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

(2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำ
ของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม

(3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

(4) เหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมไม่ว่ารูปแบบใด

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน