สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 2/2565 หัวข้อ รัฐบาลกับกระบวนการแก้ปัญหาประชาชน : บทเรียนจาก P-Move

สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 2/2565

หัวข้อ รัฐบาลกับกระบวนการแก้ปัญหาประชาชน : บทเรียนจาก P-Move

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565

เวลา 13.30-15.00 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. จำนงค์ จิตรนิรัตน์. ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move
  2. สุนี ไชยรส      รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสังคม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
  3. ปรีดา คงแป้น      กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  4. นิกร วีสเพ็ญ      ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

 

เกริ่นนำ

         ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อประชาชนไม่สามารถพึ่งกลไกของรัฐในระดับจังหวัดได้เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการพัฒนาโครงการและการจัดการของรัฐบาล ประชาชนที่เดือดร้อนจึงจำเป็นต้องเข้ามาร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรีในกรุงเทพฯเพื่อให้นายกรัฐมนตรีลงมารับหนังสือร้องเรียนและนัดหมายการเจรจาว่าจะดำเนินเป็นขั้นตอนอย่างไรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและเพื่อการวางมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทางออกหนึ่งที่รัฐบาลหลายชุดดำเนินการก็คือการตั้งคณะกรรมการเพื่อสำรวจและหาทางออกแก่ปัญหานั้นๆ โดยมีคณะกรรมการเป็นชุดๆหรือประเด็นไป กรณีของกลุ่มพีมูฟหรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมก็เช่นกัน กลุ่มพีมูฟเข้ามาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามแก้ไขปัญหาของกลุ่มที่เคยมาร้องเรียนไว้แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า รายการ สสส.เสวนาทัศนะครั้งนี้จึงขอนำเสนอในประเด็น “รัฐบาลกับกระบวนการแก้ปัญหาประชาชน : บทเรียนจาก P-Move” เพื่อร่วมกันทบทวนบทบาทของรัฐในการแก้ไขปัญหาประชาชนกรณีพีมูฟและศึกษาบทเรียนการเรียกร้องให้รัฐลงมารับฟังและติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

การเรียกร้องของ P-move สะท้อนอะไรในการแก้ไขปัญหาของรัฐ

จำนงค์ จิตรนิรัตน์  พีมูฟเป็นกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนจากโครงการของรัฐ 8 เครือข่ายที่รวมตัวกันตั้งแต่ประชาชนทางเหนือที่เป็นชาติพันธุ์และทางใต้ชาวเล รวมถึงพี่น้องที่อยู่ทางตะวันออก ตะวันตก ที่เผชิญปัญหาร่วมกันในเรื่องที่ดินทำกินอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาของรัฐ ถูกป่าทับที่ทำกิน การทำประมง การเรียกร้องสัญชาติ รวม 15 เรื่อง และเป็นการรวมตัวกันของประชาชนที่ต่อเนื่องมาจากการเรียกร้องของสมัชชาคนจนในอดีต แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา โดยเราเริ่มรวมตัวกันในปี 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเร่งดำเนินการออกโฉนดชุมชนให้ชาวบ้าน ประมาณ 400 พื้นที่ และรัฐบาลได้ดำเนินการประกาศแห่งเดียว คือ ที่บ้านคลองโยง หมู่ที่ 8 ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม[1] และมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมขึ้นมาตรวจสอบประเด็นที่ร้องเรียน  โดยคณะกรรมการชุดนี้ก็อยู่ตลอด จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการอนุมัติโฉนดชุมชนเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง แม้กระทั่งในรัฐบาลประยุทธ์ พีมูฟก็เคยมาติดตามเรียกร้องขอทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ซึ่งช่วงนั้นยังเป็นรัฐบาลภายใต้คณะการรัฐประหาร ประเด็นที่พีมูฟเรียกร้องส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัญหาเชิงนโยบายของรัฐ เช่นเรื่องธนาคารที่ดินที่มีการตั้งขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมาติดตามให้สามารถใช้อำนาจดำเนินการให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นจริง รัฐบาลนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านคนจน ดังนั้นการเรียกร้องของพีมูฟแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล รับเรื่องร้องเรียนแต่ยังติดขัดเรื่องระเบียบต่าง

            หากจะพูดตามตรงการตั้งคณะกรรมการของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาทางนโยบายยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง จนกว่าจะมีการนำเข้าไปเป็นมติของคณะรัฐมนตรี ติดขัดข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ เช่นแม้จะมีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แต่ยังไม่มีประเด็นเรื่องโฉนดชุมชนในกฎหมายนี้ พีมูฟก็เสนอให้นำมาตรา 4 ของคทช.มาใช้บังคับ ซึ่งตอนนี้รัฐมนตรีอนุชาที่เข้ามาพบกับพีมูฟก็รับปากว่าจะไปดำเนินการตามที่เรียกร้อง

 

สุนี ไชยรส ในอดีตนั้นตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมารัฐบาลมักตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นยังไม่มีใครรับผิดชอบก็ต้องให้คนกลางที่ประชาชนเสนอว่าอย่างน้อยมีคนของฝ่ายเดือดร้อนเข้าร่วมเป็นกรรมการร่วมกับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่หยุดดำเนินการชั่วคราว เช่น รัฐจะมีการอพยพหรือไล่รื้อชุมชนแออัด จะมีการการจับกุมประชาชนที่ทำกินในเขตป่า ก็ให้หยุดไล่รื้อเพื่อรับฟังความเห็นและเพื่อเจรจากันก่อน พีมูฟก็มาถึงจุดนี้ที่อยากให้มีการเจรจากันก่อนเพราะเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นประเด็นปัญหาจะถูกนำมาถกเถียงกันทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทุกกรณีที่เรียกร้องอาจยังไม่สำเร็จทันที แต่ก็จะมีการขับเคลื่อนเดินหน้าและสร้างพลังให้ฝ่ายประชาชน ที่รัฐต้องเรียนรู้ว่าการเจรจาไม่ใช่ทำกันเป็นรายกรณี แต่ประชาชนมากันเป็นกลุ่มประเด็นเพื่อบอกรัฐว่ามีประชาชนจำนวนมากเดือดร้อน กฎหมายออกมาทีหลังทับที่อยู่ที่ทำกินประชาชน โครงการของรัฐไม่มีการรับฟังประชาชนเจ้าของพื้นที่หรือฟังแบบไม่ให้มีส่วนร่วม

            บทเรียนของปากมูลที่มีคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้ง แต่มีการประชุมกันน้อยมาก แม้มีมติของคณะกรรมการให้รัฐดำเนินการแต่หน่วยงานรัฐไม่ทำตาม กรรมการฝ่ายประชาชนเลยลาออกกันหมดเพื่อบอกให้รัฐทราบว่า คณะกรรมการไม่มีอำนาจทำให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมติ รัฐต้องลงมารับผิดชอบปัญหาเอง กรณีปากมูลก็ยังไม่คืบหน้ามาจนปัจจุบัน กรณีบางกลอยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาที่มีรมต.ธรรมนัสเป็นประธาน กำลังจะไปได้ด้วยดีเพราะกรรมการเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหา แต่พอคุณธรรมนัสลาออกก็มีการตั้งคุณวราวุธเป็นประธานประชุมกัน ซึ่งมีการนำข้อมูลมาคลี่กันทำให้เห็นว่าชาวบ้านบางกลอยอยู่ที่นี่มาก่อน หน่วยงานรัฐทุกฝ่ายยืนยันและยอมรับข้อมูลตรงกันก็แก้ปัญหาได้ประเด็นหนึ่ง แต่การจับกุมทางอาญาจะทำอย่างไร ที่ออกหมายจับไปแล้วและที่กำลังสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ชาวบ้านไม่ใช่อาชญากร

บทเรียนที่ได้จากการเป็นกรรมการหลายชุดของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน คือ คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นใครมีอำนาจจริงหรือไม่ องค์ประกอบของคณะกรรมการต้องไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับเรื่องที่ตนได้รับแต่งตั้ง และกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งและประธานต้องมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา มิเช่นนั้นการตั้งคณะกรรมการก็จะเป็นเพียงแค่การซื้อเวลาเพื่อยืดระยะเวลาของปัญหาออกไปเท่านั้น ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนและเป็นข้อเสนอของพีมูฟด้วย คือข้อเสนอให้ปฏิรูปการถือครองที่ดินเพื่อกระจายการถือครองโดยจัดการปฏิรูประเบียบคณะกรรมการจัดการที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.ให้เป็นกฎหมาย แต่พอมีกฎหมายคทช.แล้วรัฐบาลไม่มีความมุ่งมั่นในการกระจายการถือครองที่ดินจนเกือบจะยุบสำนักงาน คทช. ประเด็นนี้ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะไม่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานั่นเอง อย่างไรก็ตามการจัดการปัญหาในรูปของคณะกรรมการยังถือว่ามีความจำเป็นอยู่มากเพื่อให้เกิดการนำทั้งกฎหมายและข้อเท็จจริงมาถกเถียงกันเพื่อหาข้อยุติที่จะนำเสนอเป็นนโยบายให้รัฐบาลนำไปแก้ไขต่อไป

ปรีดา คงแป้น กสม.มีภารกิจ 3 ประการในการรับเรื่องร้องเรียนคือ หนึ่งรับมาแล้วให้คำปรึกษาและประสานงานให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปแก้ไขปัญหา สแงรับเรื่องมาแล้วพิจารณาส่งต่อหากเห็นว่าเป็นภารกิจของหน่วยงานอื่นหรือมีการร้องเรียนมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน และสามรับเรื่องไว้ตรวจสอบเอง โดยมีระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และสามารถขยายระยะเวลาออกไปอีกได้หากกระตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ

            กรณีของพีมูฟมีการร้องเรียนไปหลายหน่วยงานและร้องมาที่ กสม.ด้วย โดยขณะนี้กสม.ลงพื้นที่กรณีบางกลอย และติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการตามที่รัฐบาลแต่งตั้ง กรณีอื่นๆของพีมูฟมีความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาเพราะมีหลากหลายประเด็น กลุ่มที่เดือดร้อนก็เป็นผู้ที่ได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิต ทั้งกรณีชาติพันธุ์ในภาคเหนือและกลุ่มชาติพันธุ์ทางทะเล ปัญหานโยบายของรัฐในการจัดการที่ดิน  ที่สำคัญเมื่อกสม.รับเรื่องแล้วลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ได้เห็นสภาพจริงของพื้นที่ที่มีปัญหา ได้พบเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆมาให้ความเห็นและข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายต่างๆ  เช่น ในกรณีบางกลอย เมื่อลงไปในพื้นที่ได้พบเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ชะลอการจับกุมชาวบ้านไว้ก่อน เพราะกสม.กำลังประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการที่รัฐบาลเพิ่งแต่งตั้ง ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี และหน่วยงานของรัฐก็ให้ความร่วมมือในการจัดส่งเอกสารข้อมูลมาให้เมื่อทำหนังสือขอไป กสม.มีอำนาจตามกฎหมายพอสมควรหากหน่วยงานไม่ให้ข้อเท็จจริงก็จะทำเรื่องรายงานต่อนากยกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และรายงานต่อสาธารณะ แต่ยังไม่เคยต้องทำขนาดนี้

นิกร วีสเพ็ญ สสส.ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนมาเป็นเวลากว่า 40 ปีมองเห็นว่ากลไกสำคัญของการแก้ปัญหาประชาชน  เช่นกรณีพีมูฟนี้ คือความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่บริหารในขณะนั้น ถ้ารัฐบาลไม่สนใจหรือไม่ตั้งใจแก้ปัญหา ไม่ว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมากี่ชุดก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ บางกรณีปัญหาสามารถจบลงในระดับจังหวัดได้ แต่กลไกระดับจังหวัดไม่กล้าตัดสินใจ จึงมีการเข้ามาร้องเรียนในส่วนกลาง ตัวอย่างกรณีเขื่อนปากมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำไมทุกปี ชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องให้กรมชลประทานเปิดประตูเขื่อนเพื่อการระบายน้ำเพื่อให้สัตว์น้ำได้ดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวิถีประมงริมแม่น้ำตลอดสาย

            ข้อเสนอของ สสส. คือควรกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นแทนที่จะต้องให้การแก้ปัญหาโดยอาศัยมติครม. ซึ่งจะมีปัญหาทุกรัฐบาลว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารก็อาจยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงมติเดิมของรัฐบาลชุดก่อน ทำให้การแก้ปัญหาไม่ยั่งยืน หากมติครม.ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประชาชนสามารถฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ เพื่อทำให้ประชาชนมีที่พึ่งทางศาลอีกทางหนึ่ง

การแก้ปัญหาการถูกดำเนินคดี

จำนงค์ จิตรนิรัตน์ ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์นี้มีประชาชนถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ อยู่กว่า 4 หมื่นคดี ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ทำมาหากินในที่ดินที่ถูกขีดเส้นว่าเป็นเขตป่าสงวน เป็นอุทยาน และเขตคุ้มครองสัตว์ป่า มาก่อนการประกาศเป็นเขตป่ามีเป็นจำนวนกว่า  4 พันหมู่บ้าน ทำให้ผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุกทันที ส่งผลต่อวิถีชีวิตเนื่องจากการถูกจับกุมตามนโยบายทวงคืนผืนป่าโดยคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557[2] และคำสั่งคสช.ที่ 66/2557[3] ซึ่งคำสั่งนี้ระบุว่าใครทำกินก่อนปี 2557 ก็ให้ทำกินต่อไป หากทำกินหลังจากนี้ถือว่าเป็นผู้บุกรุก ในขณะที่หลายพื้นที่ของเครือข่ายพีมูฟ ทำกินมาตั้งแต่ปี 2504 คำสั่งคาช.นี้มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะผู้ปฏิบัติในพื้นที่ลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน แล้วเห็นสภาพว่ายังเป็นป่าอยู่เพราะยังไม่ถึงฤดูเพาะปลูก และมีสภาพเหมือนเสื่อมโทรมบ้าง บางพื้นที่ปลูกข้าวโพดหรือพืชผักอยู่ ก็ไปรวบรวมผู้ที่ทำมาหากินได้ ประมาณ 100 กว่าไร่ แล้วทำเรื่องว่าบุกรุปป่าสงวน จึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงมีคดีกว่า 4 หมื่นคดี เราจึงนำเสนอในการเรียกร้องคราวนี้ว่าชาวบ้านที่ทำกินในเขตป่าสงวนทับที่ทำกินดั้งเดิมนี้ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นชุมชนที่ทำกินโดยสุจริต ไม่ควรถูกดำเนินคดี จึงเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่กลุ่มเหล่านี้ โดยรัฐบาลได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอนี้ โดยมีทั้งกรมป่าไม้ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็เห็นพ้องตรงกันว่าควรนิรโทษกรรมกลุ่มชาวบ้านที่ถูกจับกุมเพราะป่าสงวนทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย แล้วเสนอให้ครม.มีมติรับทราบ โดยระหว่างนี้ขอให้ประชาชนทำกินไปก่อนเพื่อแก้ไขความยากจน หากจะใช้เวลาดำเนินการเรื่องการนิรโทษกรรมซึ่งมีแนวโน้มที่ดีที่ฝ่ายการเมืองมีความมุ่งมั่นที่จะใช้การเมืองนำในการแก้ปัญหา และกรณีพี่น้องชาวเลในแถบอันดามันมีหลักฐานปรากฏในบันทึกว่าอาศัยและทำกินอยู่ในทะเลแถบนี้มานานตั้งแต่สมัยมีนักเดินเรือชาวโปรตุเกสมาค้าขายสมัยอยุธยาแล้ว แต่พอมายุคปัจจุบันมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติล้อมรอบทะเลและเกาะที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่ จึงมีปัญหามากว่าทำลายวิถีชีวิตของคนเหล่านี้ และเมื่อถูกจับกุมยิ่งเป็นภาระและสร้างปัญหาให้พวกเขามากมาย

สุนี ไชยรส จริงๆแล้วยังไม่ค่อยเห็นว่ารัฐบาลจะจริงจังมากในการแก้ไขปัญหาพีมูฟ แม้คุณจำนงค์จะบอกว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่คุณอนุชา รับปากจะแก้ปัญหาและนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. เพราะยังไม่เห็นว่านายกรัฐมนตรีมีนโยบายอะไรที่ชัดเจน ข้อร้องเรียนของพีมูฟต้องให้นายกฯและรัฐบาลทั้งคณะลงมาแก้ไข เนื่องจากปัญหาที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่กระทบวิถีชีวิตประชาชนจากป่าสงวนเท่านั้น แต่มีที่ดินประเภทอื่นๆที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐด้วย เช่น ที่ดินในเขตทหาร ที่สาธารณประโยชน์และที่ดิน สปก. เหล่านี้สร้างภาระให้แก่ประชาชน มีคดีเป็นหมื่นๆคดีที่จับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่มีการยึดที่ดินไปแล้ว รัฐต้องแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน โดยการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ถูกจับกุม ซึ่งเรื่องการจับกุมประชาชนว่าบุกรุกที่ของรัฐมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพราะพีมูฟเพิ่งนำมาร้องเรียน รัฐจึงต้องถือเป็นนโยบายในการจัดการที่ดินที่อยู่ในความดูแลของตนทั้งหมดว่าไปทับที่อยู่ที่ทำกินประชาชนตรงไหนบ้าง แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง รวมไปถึงต้องจัดทำนโยบายที่ต้องไม่มีการไล่รื้อประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ของการรถไฟ ที่ราชพัสดุ ให้ได้ จะแก้ไขโดยกฎหมายหรืออย่างไรก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปดำเนินการ

            อีกข้อเสนอของพีมูฟเรื่องการเสนอกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายตามพรบ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชน รวมทั้งมีร่างฯของพรรคการเมืองและของรัฐบาลรวม 5 ฉบับที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรองกฎหมายนี้ เพื่อให้เข้าไปสู่กระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ที่ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องให้นายกฯลงนามรับรองก่อน โดยรวมแล้วรัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับทั้งเรื่องกฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายกระจายการถือครองที่ดิน กฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงกำไรที่รัฐบาลผลักดันเข้ามาอย่างเร่งด่วน ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตลอดจนกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการถ้วนหน้าของเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ

ปรีดา คงแป้น ข้อเสนอของพีมูฟที่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายหรือเสนอให้มีกฎหมายใหม่ๆนั้น กสม.ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น เสนอความเห็นต่อรัฐบาลให้ผลักดันกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ กฎหมายการควบคุมองค์กรเอกชนหรือองค์กรไม่แสวงกำไร ซึ่งถือเป็นภารกิจของ กสม.โดยตรงตามกฎหมายที่ต้องให้ความเห็นเมื่อมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ ที่ผ่านมา กสม.ได้มีคณะทำงานที่พิจารณาเสนอความเห็นทางกฎหมายต่อร่างกฎหมายหลายฉบับมาแล้ว เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองตามพรบ.อุทยานแห่งชาติ ซึ่งการจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายต่างๆนั้นมีทั้งกรณีที่ประชาชนร้องเรียนมาและกรณีที่ กสม.หยิบยกขึ้นพิจารณาเอง

ข้อเสนอต่อรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาประชาชนกรณีพีมูฟ

สุนี ไชยรส เสนอให้พีมูฟร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆในการกดดันให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอของภาคประชาชนให้กว้างขวางกว่ามายื่นข้อเรียกร้องเฉพาะในกลุ่มของตน เพราะข้อเรียกร้องของพีมูฟ ครอบคลุมหรือเชื่อมโยงกับปัญหาหลากหลายกลุ่ม ทั้งเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ชาติพันธุ์ รวมถึงพีมูฟต้องร่วมมือกับเครือข่ายแรงงาน พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้ประเด็นปัญหาคลี่คลายทั้งในระดับนโยบายและนิติบัญญัติ

ปรีดา คงแป้น ข้อเสนอของพีมูฟส่วนใหญ่เป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นสะสมมายาวนานจากนโยบายและกฎหมายของรัฐ ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับฟังปัญหาของประชาชนจึงเป็นเรื่องดีที่ต้องดำเนินการให้เกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลและประชาชนที่เดือดร้อน โดยต้อง 1.มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายให้มีอำนาจดำเนินการได้ รัฐบาลต้องแต่งตั้งคนที่มีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาให้รับฟังทุกฝ่าย มีทัศนะเชิงบวกเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในการจัดการกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อทางออกของปัญหา 2. กำหนดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา โดยต้องไม่มีประเด็นว่าหน่วยงานขาดเตครื่องมือและบุคลากร ที่รัฐบาลต้องกำหนดเชิงนโยบายให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันได้ หน่วยราชการจะอ้างว่าแก้ไขปัญหาตามที่เรียกร้องไม่ได้เพราะติดขัดต่อระเบียบต่างๆ คงไม่ได้แล้ว เพราะหากเป็นแนวทางของรัฐบาลที่มีระยะเวลากำหนดให้สำเร็จก็ต้องหาช่องทางที่จะดำเนินการตามหลักกฎหมาย ซึ่งในคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งต้องมีนักวิชาการด้านกฎหมายหรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ และมีทัศนคติที่ดีในการตีความและใช้กฎหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาให้ได้ตามกำหนด

นิกร วีสเพ็ญ ข้อเสนอของคุณปรีดาเรื่องการกำหนดระยะเวลาในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการในหลายๆกรณีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการก็จริง แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้แก้ไขให้แล้วเสร็จไว้ รูปแบบของคณะกรรมการจึงมีการประชุมตามช่วงเวลาว่างของประธานและกรรมการ ส่วนประเด็นที่พีมูฟเสนอให้นิรโทษกรรมคดีที่มีการจับกุมชาวบ้านนั้น ควรต้องมีการปฏิรูปตำรวจก่อน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปฏิรูปภายใน 1 ปี ตั้งแต่ปี 60 แล้วปัจจุบันยังไม่สำเร็จ การจับกุมเริ่มที่ตำรวจ ถ้าตำรวจปฏิบัติตามนโยบายและระงับการจับกุมไว้ก่อนก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง

            ประเด็นต่อมาเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนอย่าให้เป็นแค่นโยบายที่ใช้เพื่อการหาสียงให้ได้เข้าสู่สภาฯแล้วไม่ดำเนินการอะไร

บทเรียนการแก้ไขปัญหาประชาชนกรณีพีมูฟ

จำนงค์ จิตรนิรัตน์ บทเรียนจากการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กรณีกรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง จังหวัดอุบลราชธานีทับที่ทำกินชาวบ้าน มีการชดเชยความเสียหายจากการไม่ได้ทำกินให้ชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว กำลังรอเจราจาให้แก้ไขกรณีที่นำท่วมบางส่วนในที่ทำกินแล้วทำนาไม่ได้ โดยเรียกร้องให้ปล่อยน้ำออกจากอ่าง แต่ทำไม่ได้ ชาวบ้านจึงเจรจาให้จัดหาที่ทำกินให้ใหม่ ขณะนี้กรมชลประทานก็กำลังจัดหาที่ทำกินให้ทดแทนตามมติครม.เมื่อปี 61 แต่ยังไม่สำเร็จ

            ข้อเรียกร้องของพีมูฟมีจุดเด่นที่เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย กฎหมายและการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ โดยอาศัยแนวทางของบทความอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพราะมีการรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของเด็กเล็กตั้งแต่เกิด สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายการถือครองที่ดิน ที่ทำกินในเขตทะเลของชาวเล คุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ไปจนถึงคุณภาพชีวิตของกลุ่มด้อยโอกาสในสังคม อันนี้มีส่วนทำให้รัฐบาลยอมรับฟังปัญหาและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อให้แก้ไขปัญหา พีมูฟคงต้องไปร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆที่เผชิญปัญหาเดียวกัน ต่อไป เช่นเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายเด็ก ชนเผ่า ผู้สูงอายุ เราได้รับความเอาใจใส่จากสาธารณะมากขึ้น เพราะสื่อมวลชนเข้ามาติดตามทำข่าวพีมูฟจนมีประชาชนเข้ามาเยี่ยมชมและบริจาคเครื่องบริโภค รวมทั้งอุดหนุนสินค้าของพีมูฟ ถือเป็นการชุมนุมที่สนุกสนานและได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า

            คณะกรรมการที่มีคุณอนุชาเป็นประธานนี้มีการตั้งกรอบเวลาไว้ว่าต้องมีข้อเสนอต่อรัฐบาลภายใน 60 วัน ซึ่งคาดว่าอนุกรรมการทุกชุดซึ่งตั้งตามประเด็นปัญหาที่เรียกร้องจะจัดทำข้เสนอให้กรรมการได้ราวกลางเดือนมีนาคม และคณะกรรมการจะสรุปข้อเสนอภายในเดือนมีนาคม แล้วส่งให้ ครม.ที่พลอ.ประวิทย์ รองนายกฯเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณา ซึ่งเป็นบทเรียนที่ดีของการเรียกร้องของประชาชนที่คิดว่าคงใช้เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาในโอกาสต่อไป ที่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และประธานมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา

สุนี ไชยรส การที่คุณอนุชา นาคาศัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานการแก้ไขปัญหาพีมูฟ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้ได้ โดยได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการว่า เราคงไม่ต้องศึกษาทางวิชาการเพิ่มเติมอีกแล้ว ว่าจะกระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมอย่างไร จะแก้กฎหมายป่าไม้ที่ดินอย่างไร ตอนนี้อยู่ที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างไรเพื่อคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าและมีมาตรการในการแก้ไขในระยะยาว ต่อยอดจากรายงานการศึกษาที่มีข้อเสนอชัดเจนที่สุด แล้วนำไปใช้ว่าทำได้จริงอย่างไร ติดขัดปัญหาอย่างไร

            ประเด็นต่อมาที่เป็นบทเรียนคือ การแก้ไขปัญหา โดยให้คณะกรรมการชุดคุณอนุชาลงพื้นที่ ร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งมีแผนจะไปกันเดือนมีนาคมนี้

นิกร วีสเพ็ญ การเรียกร้องของประชาชนไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุได้ง่ายถ้าไม่มีเครือข่ายหลายเครือข่ายมาร่วมมือกัน ดังกรณีพีมูฟ ที่มีการเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างเครือข่ายและการเข้ามามีส่วนร่วมของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

 

[1] นายกฯมอบโฉนดชุมชนสหกรณ์บ้านคลองโยง เว็ปไซต์ผู้จัดการ https://mgronline.com/local/detail/9540000019109

[2] https://www.forest.go.th/protectexpert/wp-content/uploads/sites/107/2019/01/001-64-2557-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89.pdf 

[3] https://www.forest.go.th/protectexpert/wp-content/uploads/sites/107/2019/01/002-66-2557-%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89.pdf