สสส.เสวนาทัศนะ (ภาคบ่าย)
ครั้งที่ 13/2564
หัวข้อ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในรอบปี 2564
วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564
เวลา 10.00-12.30 น. และ 13.30-16.00 น.
ผู้ร่วมเสวนา
1.พรพนา ก๊วยเจริญ เครือข่ายป่าไม้ – ที่ดิน |
10. สุภัทรา นาคะผิว เครือข่ายด้านสุขภาพ |
2.ศักดา แสนมี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง |
11. สว่าง แก้วกันทา เครือข่ายผู้สูงอายุ |
3.โสภณ หนูรัตน์ เครือข่ายผู้บริโภค |
12. อุษา เลิศศรีสันทัด เครือข่ายผู้หญิง |
4.คมสันติ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายชุมชนเมือง |
13. ลม้าย มานะการ เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ |
5.เอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก |
14. นูรซีกิน ยูโซ๊ะ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ |
6. วาสนา ลําดี เครือข่ายแรงงาน |
15. สุดา บุดชาดี เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ |
7.พุทธิณี โกพัฒน์ตา เครือข่ายแรงงานนอกระบบ |
16. ชูศักดิ์ จันทยานนท์ เครือข่ายคนพิการ |
8. สุทธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ |
17. เชษฐา มั่นคง เครือข่ายสิทธิเด็ก |
9.เรวดี ประเสริฐเจริญสุข เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติ |
18. โยธิน ทองพะวา เครือข่ายเด็กและเยาวชน |
เกริ่นนำ
รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ”ได้ดำเนินการเสวนาต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน มาระยะหนึ่งทั้งในประเด็น“สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย และสังคมโลก” เพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้ทางสังคมในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยให้สมาชิกของสสส.เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแลกเปลี่ยนแนวคิดสิทธิมนุษยชนกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ ในปี 2564 นี้เป็นโอกกาสดีที่สมควรทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในรอบปี อันเป็นที่มาของการเชิญเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 16 เครือข่าย มาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์กันเพื่อสร้างความตระหนักและจัดให้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในโอกาสต่อๆไป
สุภัทรา นาคะผิว เครือข่ายสุขภาพ
สถานการณ์ วิกฤติ โควิด 19 ที่ทั้งโลกและไทยกําลังเผชิญอยู่ได้ให้บทเรียนที่สําคัญกับทุกสังคมว่าความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยาและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหัวใจสําคัญของการผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ในประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพของบุคคล 3 ระบบ คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจประมาณ 5 ล้านคน ระบบประกันสังคมประมาณ 13 ล้านคน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประมาณ 48 ล้านคน ประเด็นคือ แต่ละระบบได้รับสิทธิไม่เท่ากัน นอกจากนี้ยังมีกองทุนเฉพาะกลุ่ม ต่าง ๆ อีก เช่น กองทุนคืนสิทธิตามมติ ครม. 23 มีนาคม 2553[1] กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว (กระทรวงสาธารณสุข) สวัสดิการรักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่และพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ประมาณ 500,000 คน) ในประเทศไทยยังมีคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพอีกจำนวนหลายล้านคน สภาพปัญหาโดยทั่วไปกลุ่มต่างๆยังคงถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV/เอดส์ประมาณ 5 แสนคน ถูกกีดกันโอกาสในการทำงาน เช่น กฎ ก.ตร. ระบุคุณสมบัติต้องห้ามรับราชการตำรวจ ทหารอากาศ และถูกกีดกันโอกาสในการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม คณะพยาบาลศาสตร์ ไม่มีสิทธิสอบเข้าเรียน เป็นต้น กลุ่มแรงงานข้ามชาติยังมีการบังคับตรวจโควิด 19 ในการต่อและขอบัตรอนุญาตทำงาน และหาที่ตรวจยาก นอกจากนี้รัฐบาลกำลังมีการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่เป็นข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ โดยมิได้มีการประเมินภาวะการณ์ของโลกด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการลงทุน ห่วงโซ่อุปทานที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังวิกฤติ โควิด-19 รวมทั้งไม่ได้คํานึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตลอดจนส่งผลกระทบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาใน CPTPP ที่ทำให้ยามีราคาแพง ประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างยากลำบาก
ข้อเสนอของเครือข่าย คือ สิทธิสุขภาพคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า-UHC for all เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพต้องมีมาตรฐานเดียว กองทุนเดียว ซึ่งแม้กฎหมายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองจะบัญญัติว่าให้มีการรวมระบบประกันสุขภาพให้เป็นกองทุนเดียวเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณและบุคลากร และการให้บริการเกิดความเท่าเทียมกันก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ประเด็นต่อมา ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชลอการลงนามใน CPTPP จนกว่าจะมีการศึกษาผลกระทบและจัดทำกรอบการเจรจาที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากความตกลงนี้มีเนื้อหาสำคัญคือมุ่งสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจให้แก่ประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ประเทศไทยแม้จะได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ แต่จะส่งผลกระทบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต่อการเข้าถึงยาและระบบสุขภาพของประเทศ ประการต่อมาหน่วยงานรัฐต้องยกเลิกกฎ ระเบียบ นโยบาย ที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เร่งออกกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ยกเลิกการบังคับตรวจโควิด 19 ในการต่อ/ขอบัตรอนุญาตทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของแรงงาน รวมถึงควรออกมาตรการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ ไม่มีเอกสาร Vaccine for all เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เลือกปฏิบัติ และจัดกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากวัคซีนโควิด 19 ให้ครอบคลุมการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย (กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกันตน)
สว่าง แก้วกันทา เครือข่ายผู้สูงอายุ
สถานการณ์ ผู้สูงอายุในประเทศไทย หมายถึงคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน11,136,059 คน หรือคิดเป็น 16.73%จากจำนวนประชากรทั้งหมด 66,558,935 คน[2] ปัญหาหลักของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเข้าถึงการได้รับบริการสาธารณสุขและเรื่องรายได้ที่เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งหากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ใช่ข้าราชการบำนาญ ยิ่งได้รับผลกระทบมากเพราะไม่มีรายได้ประจำ การจัดการสุขภาพก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ยิ่งอายุมากค่าใช้จ่ายยิ่งสูง แม้ว่าจะสามารถใช้บริการบัตรทอง แต่ก็พบปัญหาอีกว่าจะเดินทางไปใช้บริการได้อย่างไร บ้านอยู่ห่างไกลศูนย์บริการ พาหนะที่จะใช้เดินทาง หากเป็นผู้ป่วยที่เดินไม่ได้หรือติดเตียงยิ่งลำบากมากในการดำเนินชีวิต ปัญหาต่อมาคือการจัดหาอาชีพให้ผู้สูงอายุทำที่หลายๆกระทรวงพยายามดำเนินการอยู่ แต่ก็ติดปัญหาว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ต้องการทำงานประจำ งาน part time ก็ไม่เป็นที่นิยม ผู้สูงอายุก็ขาดโอกาสในการทำงานตามที่ตนเลือกและความถนัด
ข้อเสนอของเครือข่าย เสนอร่วมกับเครือข่ายอื่นๆในการผลักดันให้รัฐบาลจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า เดือนละ 3000 บาท เพราะเห็นว่าเบี้ยยังชีพที่ให้ผู้สูงอายุทุกวันนี้ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเป็นแค่มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย จึงอยากให้รัฐจัดทำกฎหมายบำนาญถ้วนหน้า โดยอิงกับเส้นความยากจนและผลงานในอดีตของผู้สูงอายุที่ได้ดำเนินการเพื่อประเทศชาติ ประการต่อมาอยากเสนอให้อำนวยการให้เป็นไปตามพรบ.การออมแห่งชาติ ที่ยังมีปัญหาสำหรับคนยากจนที่ไม่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายประจำวันได้ ก็ไม่สามารถออมเงินได้ จึงเสนอให้มีการจัดการในระดับจังหวัดให้สามารถออมเงินตามสัดส่วนของรายได้ ประการต่อมาเสนอให้รัฐจัดให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นรัฐบาลดิจิทัลในปี 2566-2570 เนื่องจากผู้สูงอายุมีปัญหาทางด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเสนอให้จัดการอบรมผ่านเครือข่าย กศน.ที่มีอยู่ทุกตำบล นอกจากนี้สามารถดำเนินการผ่านทางชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลได้ด้วยเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ หรือสามารถจัดทำผ่านโครงการ PPP หรือโครงการการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยให้บริษัทเทคโนโลยีโทรคมนาคมลดค่าบริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถประชุมทางไลน์ หรือระบบ zoom ได้ง่าย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ต้องจัดจ้างหรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่
สุดา บุดชาดี เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ
สถานการณ์ ปัญหาของ LGBTQ และกลุ่มคนหลากหลสยทางเพศที่สำคัญและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดคือการถูกเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพและการถูกละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งมักเกิดกับบุคคลข้ามเพศ ข้อมูลของสมาคมฟ้าสีรุ้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงกันยายน 2564 ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการเลือกปฏิบัติเกือบ 50 ราย เฉพาะปีนี้มีจำนวน 19 ราย วิธีการที่ถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่รับเข้าทำงาน โดยอ้างว่ารับเฉพาะสตรี หรือการห้ามแต่งกายตามเพศสภาพ ซึ่งมักเป็นส่วนราชการที่ห้ามคนข้ามเพศแต่งกายเป็นหญิงตามเพศสภาพ เช่น เป็นครูห้ามแต่งเป็นหญิงเข้าสอนในชั้นเรียน การล่วงละเมิดหญิงข้ามเพศในที่ทำงานก็มีปรากฏมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวไม่เคยได้รับการแก้ไขแม้จะเกิดขึ้นมานาน โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นโดยการกระทำของนายจ้างยิ่งทำให้มีปัญหามากขึ้น เพราะกระทบต่อการถูกเลิกจ้างหากมีการร้องเรียน อันเป็นปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ปัญหาต่อมาเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด คนข้ามเพศและพนักงานบริการมักถูกเลิกจ้างก่อน และเมื่อไปสมัครงานใหม่เพื่อเป็นพนักงานขายเครื่องสำอางค์ก็จะได้รับการปฏิเสธ ตลอดจนได้รับการเลือกปฏิบัติจากนโยบายของรัฐ โครงการเราไม่ทิ้งกัน คนทำงานในสถานบันเทิงที่ถูกปิดกั้นไม่ได้รับสิทธิให้เข้าร่วมโครงการ แม้กระทั่งเร็วๆนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยไม่รับรองการจดทะเบียนสมรสของบุคคลข้ามเพศ ซึ่งถือว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักสากลในการก่อตั้งครอบครัวและการเป็นบุคคลข้ามเพศไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติของมนุษย์ที่สามารถถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากเพศหญิงและชาย
ข้อเสนอของเครือข่าย เสนอให้มีการผลักดันทั้งเชิงนโยบายและกฎหมาย ทางนโยบายต้องร่วมมือส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศระหว่างภาครัฐและเอกชนผ่านทางพรบ.ห้ามการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ โดยในกฎหมายฉบับนี้กำหนดห้ามการเลือกปฏิบัติทางการศึกษา การทำงาน การแต่งกายของบุคคลข้ามเพศ ให้คณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศมีการประกาศบังคับใช้การห้ามเลือกปฏิบัติดังกล่าว ที่สำคัญคือ เสนอให้มีการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางทางการศึกษาปี 2551 เพื่อให้การเรียนการสอนในระดับการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาทุกช่วงชั้นให้มีการปรับปรุงให้เคารพสิทธิคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกเหนือไปจากที่มีการปรับปรุงเนื้อหาวิชาสุขศึกษาไปแล้ว
ชูศักดิ์ จันทยานนท์ เครือข่ายคนพิการ
สถานการณ์ คนพิการทั่วประเทศที่มีบัตรคนพิการมีประมาณ 2 ล้าน ห้าหมื่นเก้าพันคน และที่ไม่มีบัตรอีกประมาณ 1.3 ล้านคน ที่ไม่มีบัตรเนื่องจากต้องเข้ารับการประเมินทางการแพทย์ก่อนว่าเป็นคนพิการ และการเข้าถึงสิทธิของคนพิการที่รัฐจะให้บริการต้องมีบัตรคนพิการเท่านั้น ไม่ใช่ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก คนพิการมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย 7 เครือข่าย เช่นคนหูหนวก คนตาบอด คนพิการทางสมอง เป็นต้น และมีชมรมทั่วประเทศกว่า 750 ชมรม ปัญหาโดยรวมของคนพิการคล้ายๆกับเครือข่ายอื่นที่ได้นำเสนอไปแล้ว คือ การเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพได้ยาก ในระบบของ สปสช. มีคนพิการเข้าถึงสิทธิได้ประมาณ 8 แสนคน ที่เหลทออีก 2-3 แสนคนเข้าไม่ถึงเนื่องจากหลักฐานทางทะเบียน เนื่องจากฐานข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุขยังไม่เชื่อมกัน อย่างไรก็ตามแผนปฏิรูปประเทศก็ได้กำหนดไว้แล้วให้ปรับปรุงฐานข้อมูลให้เสร็จภายในปี 2656 นี้ ปัญหาต่อมาของคนพิการคือการถึงระบบการศึกษา คนพิการกว่า 2 แสนคนยังอยู่ในวัยเด็กที่ต้องได้รับการศึกษา คนพิการส่วนใหญ่จบแค่ ป.6 ไม่ได้รับการศึกษาต่อขั้นสูงขึ้นเพราะรัฐอ้างว่าไม่มีครูสอน ทั้งๆที่คนพิการสามารถเรียนร่วมกับคนปกติได้ กฎหมายที่ดูแลคนพิการมี 2 คือ พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และพรบ.ส่งเสริมการจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการ 2551 ที่ทำงานควบคู่ไปกับพรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542. แต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาสำหรับคนพิการสามารถรับผิดชอบดูแลโรงเรียนเฉพาะสำหรับคนพิการได้ประมาณ 4 หมื่นคนเท่านั้น การจัดการให้คนพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติไม่ได้รับการสนับสนุนเลย คนพิการที่เหลืออีกกว่า 2 หมื่นคนไม่ได้รับการดูแล ซึ่งเป็นปัญหามากว่าโรงเรียนเฉพาะคนพิการมีไม่เพียงพอ เช่น หากเด็กอายุ 7 ขวบอยู่จังหวัดแพร่ ต้องนำเด็กไปเข้าเรียนประจำที่เชียงใหม่ซึ่งห่างไกลครอบครัว ถ้าเรียนถึง 12 ปี เมื่อจบการศึกษากลับมาก็จะไม่มีความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว ปัญหาต่อมาคือ รัฐพยายามจะยกเลิกพรบ.การศึกษาของคนพิการ แล้วไปจัดทำเป็นพรบ.การศึกษาพิเศษ โดยอ้างว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่ต้องดูและทั้งเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาสต่างๆ แล้วจะรวมเป็นกฎหมายสำหรับคนด้อยโอกาสฉบับเดียว เครือข่ายคนพิการไม่เห็นด้วย เพราะพรบ.การศึกษาสำหรับคนพิการมีกองทุนเฉพาะ แต่กฎหมายอื่นไม่มี แล้วกฎหมายการศึกษาของคนพิการมีส่วนที่ว่าด้วยห้ามการเลือกปฏิบัติทางการศึกษาต่อเด็กพิการ ร่างกฎหมายใหม่นี้จะตัดหมวดนี้ออก ซึ่งไม่ถูกต้อง ปัญหาต่อมา คือการถูกเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพ รัฐมีเงินที่ได้จากกองทุนที่สถานประกอบการต้องจัดจ้างคนพิการเข้าทำงาน หากไม่สามารถจัดหาได้ต้องส่งเงินเข้ากองทุน ซึ่งมีคนพิการกว่า 7 หมื่นตำแหน่งที่ไม่ถูกจ้างงานในสถานประกอบการ ทำให้มีเงินในกองทุนนี้สะสมกว่า 8 พันล้านบาทต่อปี ช่วงโควิดนี่เพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านต่อปี แต่ถูกนำไปใช้ในการเยียวยาคนพิการกว่า 2 พันล้านบาทและมีการจ้างงานคนพิการมากขึ้น ทำให้เงินกองทุนลดลง ข้อมูลที่เครือข่ายรวบรวมได้ เรื่องการจ้างงานคนพิการ พบว่าภาครัฐมีการจ้างงานคนพิการเพียง 19 % ในขณะที่ภาคเอกชนจ้างคนพิการถึง 94% สถานการณ์ต่อมา คือปัญหาสวัสดิการ คนพิการได้เบี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือน ในช่วงโควิดเครือข่ายเรียกร้องให้เยียวยาคนพิการด้วยเพราะมาตรการเยียวยาของรัฐไม่คลอบคลุมถึงคนพิการ เมื่อเสนอให้ครม.พิจารณา จึงได้เพิ่มอีก 200 บาท โดยให้คนพิการสูงอายุได้รับ 1000 บาท คนพิการทั่วไปได้รับ 800 บวกเงินบัตรสวัสดิการของรัฐ 200 บาท
ข้อเสนอของเครือข่าย ให้ปรับปรุงแก้ไขพรบ.การศึกษาสำหรับคนพิการ ให้รัฐจัดให้คนพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ เพื่อให้เด็กพิการมีโอกาสเรียนสูงขึ้นถึงชั้นปริญญา เมื่อมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้นก็จะทำให้เข้าทำงานได้ทั้งในส่วนราชการและภาคเอกชน และสามารถแก้ปัญหาการไม่จ้างงานคนพิการเพราะไม่มีวุฒิได้ โดยไม่ต้องยุบกฎหมายการศึกษาสำหรับคนพิการ หากจะจัดทำกฎหมายเพื่อการศึกษาพิเศษ ประเด็นต่อมา คือ เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นเรื่องการเดินทาง การขนส่ง ทางลาดสำหรับรถเข็น ห้องน้ำ ฯลฯ เครือข่ายเรียกร้องให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน ไม่เฉพาะคนพิการ ต่อมาขอสนับสนุนเรียกร้องให้จัดทำกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่รวมคนพิการด้วย เพื่อให้ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการทุกเรื่องเช่นคนอื่นๆ
เชษฐา มั่นคง เครือข่ายสิทธิเด็ก จากการจัดอันดับประเทศที่มีการจัดการ 4 ด้านที่เป็นมิตรต่อเด็ก 60 ประเทศโดยใช้เกณฑ์ 4 ประการ คือ สภาพแวดล้อมต่อเด็ก กฎหมายในการปกป้องเด็กจากความรุนแรง ความมุ่งมั่นของรัฐและความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 เป็นรองฟิลิปปินส์ที่อยู่อันดับ 19 ปัญหาคือบ้านเรามีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกายเด็ก ตั้งแต่อายุ 7 เดือน ถึง 18 ปี มีข่าวแทบทุกวันในสื่อมวลชน ซึ่งภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติยังไม่มีกลไกหรือมาตรการการเฝ้าระวังการละเมิดทางร่างกายในครอบครัวต่อเด็ก ประเด็นต่อมาคือการระบาดของโควิด ทำให้เด็กติดโควิดว่า 1 แสนคน ทำให้เด็ก 4 หมื่นคนต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะพ่อแม่ตกงาน เด็กต้องอยู่บ้าน ส่งผลให้เด็กเข้าสู่ระบบแรงงานก่อนวัยอันสมควร พ่อแม่ที่เครียดจากการตกงานก็มาลงที่เด็กอีก เด็กกลุ่มนี้รวมถึงเด็กกลุ่มชาติพันธุ์และเด็กที่มากับพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ประเด็นต่อมาคือการละเมิดต่อเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีมาตรการป้องกันและจัดการให้การชุมนุมของเยาวชนมีความปลอดภัย ปัญหาต่อมาคือ การที่เด็กเล็กได้รับเงินอุดหนุนไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต. ที่กล่าวมายังไม่รวมถึงปัญหายาแสพติด การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เด็กแว๊น. เด็กสก๊อย ฯลฯ ที่ยังมีปัญหาอยู่มาก
ข้อเสนอของเครือข่าย เสนอให้รัฐจัดสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าทุกคน ๆ ละ 600 บาท ต่อเดือน จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการชุมนุมของเด็กและเยาวชน
อภิวัฒน์ ราชรักษ์ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เด็กและเยาวชนยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเฉพาะผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด สภาเด็กฯคาดการณ์ว่ามีเด็กและเยาวชนกว่า 7 แสนคน ขาดแคลนเทคโนโลยีและได้รับผลกระทบจากการเรียนการสอนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นต่อมาเด็กและเยาวชนยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาชีวิตและร่างกาย การคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย การbully ออนไลน์ ทั้งเด็กหญิงและเด็กที่เพศสภาพต่างจากเพศกำเนิด ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกรณีเยาวชนที่ใส่เสื้อเปิดอกขายเครปในจังหวัดหนึ่ง จนกลายเป็นข่าวว่าไม่มีความเมาะสมในการแต่งกายและถูกล่วงเกินทางวาจาและการวิจารณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ประเด็นนี้แสดงว่าสังคมไทยไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย แต่ไปเหยียดหยามการแต่งกายตามเสรีภาพนั้น ประเด็นต่อมาเด็กและเยาวขนได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เช่นการปราบปรามโดยตำรวจ การฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม เป็นต้น
ข้อเสนอของเครือข่าย ให้รัฐเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอของเด็กและเยาวชนมากขึ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออก ทั้งผ่านทางองค์กรที่มีเด็กและเยาวชนเป็นกรรมการตามกฎหมายและการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการชุมนุม ยุติการใช้กฎหมายข้อหาหนักแก่เด็กและเยาวชนซึ่งเกิดกว่าเหตุ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกมากขึ้น
อุษา เลิศศรีสันทัด เครือข่ายผู้หญิง ผู้หญิงยังได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การไม่ได้รับการเยียวยาและไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการถูกละเมิดสิทธิในร่างกาย สถิติความรุนแรงในครอบครัวในสถานการณ์โควิดจากภาครัฐมีมากกว่า 200 รายต่อเดือน และมากกว่า 5000 เรื่องต่อปี ซึ่งมีความยากลำบากในการที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ หรือใช้เวลานานในการสอบสวน การเดินทางก็ไปขอความเป็นธรรมก็ยากลำบาก ทั้งอยู่ไกลและอยู่ในสถานการณ์โควิด กลไกของชุมชนก็ไม่สนใจประเด็นนี้ การจะพึ่งกลไกของกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการติดตามผล การเข้าไม่ถึงบ้านพักของส่วนราชการในจังหวัดที่จัดให้สำหรับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้รับสวัสดิการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ผู้หญิงที่อดทนต่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้ก็มักถูกจับกุมข้อหาทำร้ายหรือพยายามฆ่าสามี บางกรณีเมื่อต้องไปพึ่งหน่วยงานเอกชน เช่นมูลนิธิปวีณา ก็จะได้รับผลกระทบจากการถูกสื่อมวลชนซักถามทั้งแม่และเด็ก กลายเป็นถูกละเมิดซ้ำซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ถูกละเมิด การสอบปากคำไม่มีความเป็นส่วนตัว
ข้อเสนอของเครือข่าย ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากกว่าการพยายามไกล่เกลี่ยเพื่อรักษาครอบครัว จัดให้มีงานรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดทางเพศและความรุนแรงในครองครัวทุกสถานีตำรวจ โดยมีพนักงานสอบสวนหญิงที่ผ่านการอบรมและมีความเข้าใจเรื่อง gender จัดสภาพแวดล้อมเป็นมิตรต่อผู้ถูกละเมิดและให้มีระเบียบพิเศษให้สามารถแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้ทุกสถานีตำรวจ พัฒนากลไกในระดับชุมชนทุกตำบลให้มีเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน มีอาสาสมัครประสานงานในการให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองเมื่อเกิดเหตุ จัดให้กลไกการจัดการเรื่องความรุนแรงต่อสตรีที่บูรณาการกันทุกระดับตั้งแต่หน่วยงานระดับกระทรวง จังหวัด อปท. ชุมชน ที่มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพประสิทธิผล รวดเร็ว มีทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือทันทีและทั่วถึง สุดท้ายคือขอเสนอจัดให้การย้ายถิ่นของแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะกับสตรีมีความปลอดภัย เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่ค่อยได้รับการดูแลเอาใจใส่ รัฐต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ
ลม้าย มานะการ เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เด็กและสตรีมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับปัญหายาเสพติดและปัญหาเศรษฐกิจ ในกรณีที่ผู้ชายในครอบครัวหายตัวไปหรือถูกยิงเสียชีวิต ผู้หญิงต้องรับภาระเป็นหัวหน้าครอบครัวโดยไม่มีทักษะในการประกอบอาชีพใดๆ และต้องออกจากบ้านไปเรียกร้องหาความเป็นธรรมด้วย ทั้งนี้รวมถึงการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจหา DNA กับภรรยาและลูก เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดที่ตามจับอยู่ หรือพ่อบ้านมีชื่ออยู่ใน black list ของฝ่ายความมั่นคง และกรณีขอเข้าตรวจค้นที่บ้านเพราะหัวหน้าครอบครัวหายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ภรรยาและลูกก็ต้องคอบตอบคำถามเจ้าหน้าที่ ปัญหาต่อมาคือ ความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดจากยาเสพติด ยังไม่เคยมีรายงานการศึกษาเป็นทางการว่ามีจำนวนมากเท่าใด แต่จากการลงพื้นที่400 ครอบครัว ใน 2 ตำบล ที่จังหวัดนราธิวาส พบว่ามีปัญหาความรุนแรงมากถึง 10 % ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้จะมีศูนย์ประสานงานสตรีมุสลิมในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ที่รับเรื่องร้องเรียนการถูกละเมิดทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัว แต่กระบวนการยังไม่เป็นมิตรต่อสตรีและไม่มีบุคลากรที่พอจะเข้าใจประเด็นความละเอียดอ่อนในเรื่องเหล่านี้ ปัญหาต่อมาคือการได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐประมาณ 20 โครงการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการดังกล่าว เช่นการจัดทำเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม
ข้อเสนอของเครือข่าย เสนอและเรียกร้องให้ยกเลิกการตรวจ DNA เพราะไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เสนอให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจัดให้มีสถานที่และบุคลากรที่เป็นมิตรต่อการร้องเรียนประเด็นการละเมิดทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวคลอดจนการมีที่ปรึกษาปัญหาครอบครัว การฟ้องหย่า การจัดการทรัพย์สิน เครือข่ายผลักดันให้เกิดศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เพื่อรวบรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่เกิดต่อเด็กและสตรี โดยเชื่อมโยงกับ UN Women ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศอันจะทำให้ภาครัฐมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับภาคเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน เครือข่ายได้ผลักดันจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในจังหวัดภาคใต้ โดยร่วมมือกับกองทัพภาค 4 เพื่อให้ฝ่ายทหารเข้าใจภาคประชาชนที่ทำงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน มากกว่าที่จะมุ่งไปใช้ความรุนแรงจับกุมประชาชน โดยการใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉินฯโดยไม่มีขอบเขต. นอกจากนี้เครือข่ายยังเสนอให้ ศอ.บต.จัดทำหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ขณะนี้กำลังมีการรับฟังความเห็นประชาชนอยู่
นูรซีกิน ยูโซ๊ะ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนชายแดน ในช่วงปี 2562-2564 มีข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการควบคุมตัวอันเนื่องมาจากการใช้พรก.ฉุกเฉิน ดังนี้ ปี 2562 มีจำนวน 167 รายในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา แต่ในปี 63 และ 64 จำนวนลดลงอาจเป็นเพราะฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบประกาศหยุดปฏิบัติการทางอาวุธ และเกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด โดยปี 63 มีจำนวน 53 ราย ขณะที่ปี 64 ลดลงเหลือ 45 ราย แต่มีข้อสังเกตว่าแม้ปี 63และปี 64 จะมีการควบคุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินลดลง แต่กลับมีการวิสามัญฆาตกรรมเพิ่มขึ้นจากการเสียชีวิตภายในสถานที่ควบคุม ประเด็นคือ การค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในสถานที่ควบคุมนั้นกระทำได้ยาก แม้แต่การขอหลักฐานการชันสูตรพลิกศพหรือรายงานสาเหตุการตายทางการแพทย์ ญาติและองค์กรอิสระก็เข้าถึงได้ยาก เมื่อมีการไต่สวนการตายแล้วพบว่าเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ถึงจะมีการจ่ายค่าชดเชยเยียวยา แต่ไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นการกระทำ
ข้อเสนอของเครือข่าย เสนอให้เจ้าหน้าที่ทหารในชั้นปฏิบัติงานในสถานที่ควบคุมต้องผ่านการอบรมให้ทราบขั้นตอนในการช่วยชีวิต การปั๊มหัวใจ การห้ามเลือด หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บและการส่งต่อไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ต้องมีความรู้สิทธิมนุษยชนของผู้ถูกควบคุมตัว เสนอให้การเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์กรณีการตายในห้องควบคุมทำได้ง่าย โดยญาติ สื่อมวลชนในพื้นที่และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง เสนอให้มีอุปกรณ์บันทึกภาพในขณะปฏิบัติหน้าที่ เช่น บันทึกภาพขณะเข้าจับกุม การส่งตัวไปเข้าห้องควบคุม รวมถึงการจับกุมคนร้ายที่ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันความบริสุทธิ์ใจในขณะปฏิบัติหน้าที่ที่ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ อีกประเด็นคือก่อนเข้าห้องควบคุมต้องมีการตรวจร่างกายโดยแพทย์เพื่อบันมึกความแข็งแรงของผู้ถูกควบคุมตัว จะได้ไม่มีปัญหาหากมีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตภายในห้องควบคุม นอกจากนี้ต้องเพิ่มบทบาทให้แพทย์มีอิสระมากขึ้นในการเข้าตรวจในห้องควบคุมตัว ในการจัดทำรายงานทางการแพทย์ เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บ หรืออาการเจ็บป่วย การตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ กรณีการเสียชีวิต รวมถึงการตรวจทางจิตเวชก่อนและหลังการถูกควบคุมตัว
___________________________
[1] มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 เห็นชอบในหลักการจัดสรรงบประมาณในการ ดูแลรักษาจัดบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิโดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหารงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการสุขภาพ เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่จำเป็น รวมทั้งแก้ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุขแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวมาเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน
[2] ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในปี 2562 สืบค้นจากเว็บไซด์ https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30453
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)