สรุปสสส.เสวนาทัศนะ (ภาคเช้า)
ครั้งที่ 13/2564
หัวข้อ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในรอบปี 2564
วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564
เวลา 10.00-12.30 น. และ 13.30-16.00 น.
ผู้ร่วมเสวนา
1.พรพนา ก๊วยเจริญ เครือข่ายป่าไม้ – ที่ดิน | 10. สุภัทรา นาคะผิว เครือข่ายด้านสุขภาพ |
2.ศักดา แสนมี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง | 11. สว่าง แก้วกันทา เครือข่ายผู้สูงอายุ |
3.โสภณ หนูรัตน์ เครือข่ายผู้บริโภค | 12. อุษา เลิศศรีสันทัด เครือข่ายผู้หญิง |
4.คมสันติ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายชุมชนเมือง | 13. ลม้าย มานะการ เครือข่ายผู้หญิงชายแดนใต้ |
5.เอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก | 14. นูรซีกิน ยูโซ๊ะ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ |
6. วาสนา ลําดี เครือข่ายแรงงาน | 15. สุดา บุดชาดี เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ |
7.พุทธิณี โกพัฒน์ตา เครือข่ายแรงงานนอกระบบ | 16. ชูศักดิ์ จันทยานนท์ เครือข่ายคนพิการ |
8. สุทธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ | 17. เชษฐา มั่นคง เครือข่ายสิทธิเด็ก |
9.เรวดี ประเสริฐเจริญสุข เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติ | 18. โยธิน ทองพะวา เครือข่ายเด็กและเยาวชน |
เกริ่นนำ
รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ”ได้ดำเนินการเสวนาต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน มาระยะหนึ่งทั้งในประเด็น“สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย และสังคมโลก” เพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้ทางสังคมในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยให้สมาชิกของสสส.เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยและประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแลกเปลี่ยนแนวคิดสิทธิมนุษยชนกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ ในปี 2564 นี้เป็นโอกกาสดีที่สมควรทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทยในรอบปี อันเป็นที่มาของการเชิญเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 16 เครือข่าย มาร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์กันเพื่อสร้างความตระหนักและจัดให้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในโอกาสต่อๆไป
พรพนา ก๊วยเจริญ เครือข่ายป่าไม้ – ที่ดิน
สถานการณ์ ปัญหาสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินป่าไม้ไม่ดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยขอยกกรณีปัญหา 3 กรณีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังคงต้องการได้รับความชัดเจนในการหาทางออกร่วมกันระหว่างประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนและรัฐบาล นั่นคือปัญหาที่ดินที่บ้านบางกลอย ป่าแก่งกระจานที่เป็นประเด็นทับซ้อนระหว่างป่าอนุรักษ์ กลุ่มชาติพันธุ์และสิทธิในความเป็นมนุษย์ กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่ EEC หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)[1] และเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา กรณีบางกลอยนั้นชาวบ้านที่อพยพมาอยู่พื้นที่ที่กรมป่าไม้จัดไว้ให้ตั้งแต่ปี 2539 และตัดสินใจย้ายกลับขึ้นไปอยู่ที่บ้านใจแผ่นดินที่เคยทำมาหากินมากว่า 100 ปี ติดชายแดนไทย– พม่า เพื่อกลับไปทำไร่หมุนเวียนเนื่องจากการทำกินในพื้นที่บางกลอยนั้นไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตอยู่ได้ ส่งผลให้มีการจับกุมดำเนินคดีกว่า 30 ราย โดยถูกกีดกันในการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้พบทนายความ ถูกบังคับให้รับสารภาพว่าบุกรุกป่าอนุรักษ์ ภาครัฐยังมีอคติกับชาติพันธุ์ ไม่ได้รับการดูแลด้านสาธารณสุข เด็กๆขาดสารอาหารเป็นจำนวนมาก โดยไม่สามารถเข้ามาในเมืองเพื่อเข้ารับการรักษาเนื่องจากไม่รู้ภาษาไทย และค่ารถแพง ไม่มีปัจจัยในการเดินทาง กรณีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ในที่ดิน EEC นั้นมีกฎหมายผังเมืองบังคับใช้อยู่แล้วก่อนจัดให้มีโครงการนี้ แต่ปรากฏว่า คสช.ได้ออกกฎหมายใหม่เพื่อจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แตกต่างไปจากที่กฎหมายผังเมืองกำหนด เช่น เปลี่ยนแปลงให้พื้นที่สีเขียวที่ใช้เพาะปลูกกลายเป็นเขตสีม่วงหรือเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีชุมชนที่ได้รับผลจากการถูกบังคับให้ขายที่ดินหรือถูกเวนคืนโดยไม่ยินยอม เพื่อนำที่ดินไปเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม กลายเป็นคนไร้ที่ดินหรือต้องเช่าที่ดินของตนเองเพื่อทำมาหากิน กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ทำลายวิถีชีวิตชุมชนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตามหลักสิทธิการมีส่วนร่วม กรณีของเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ไม่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช.ได้จัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศกว่า 30 โครงการ
ข้อเสนอของเครือข่าย กรณีบางกลอยแม้มีการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบปัญหาต่างๆ โดยมีนายธรรมนัส เป็นประธาน แต่เมื่อถูกปลดออกก็ยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ศักดา แสนมี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง
สถานการณ์ ขอเสริมที่พรพณา พูดกรณีบ้านบางกลอยนั้นมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย และขออธิบายเพิ่มด้วยว่าชนเผ่าพื้นเมืองนอกจากกลุ่มชาติพันธุ์บนภูเขาแล้วยังรวมไปถึงพี่น้องชนเผ่าที่อยู่ในทะเลในภาคใต้ด้วย ปัญหาสำคัญของชนเผ่า โดยเฉพาะชาวเขายังคงเป็นเรื่องการถูกดำเนินคดีในข้อหาบุรุกป่าตามกฎหมายป่าไม้ และพรบ.อุทยานแห่งชาติ ซึ่งยังคงมีการจับกุมอยู่ทุกวัน
ข้อเสนอของเครือข่าย เครือข่ายเสนอต่อรัฐบาลให้ยุติการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจับกุมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ อุทยาน เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถดำรงวิถีชีวิตตามปกติได้ ประเด็นต่อมาเครือข่ายเสนอให้มีกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมุ่งหมายให้มีสภาของชนเผ่าเป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนและจัดทำข้อเสนอต่อรัฐ และกำลังมีการเสนอกฎหมาย คุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ที่จะมีการแถลงข่าวในช่วงเช้านี้ที่รัฐสภา
เอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
สถานการณ์ นอกจากการได้รับผลกระทบโดยการละเมิดวิถีชีวิตของชุมชนผ่านกฎหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจทั่วประเทศแล้ว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยังเผชิญปัญหาจากกฎหมายเหมืองแร่ โครงการจัดทำโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ส่งผลต่อมลภาวะในการทำเกษตรทางเลือกในพื้นที่ดังกล่าว ปัญหาต่อมาคือสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำ แต่การกระจายออกไปสู่ตลาดทำได้ยากหรือทำไม่ได้เพราะติดขัดเรื่องการขนส่ง ตลาดรองรับ พ่อค้าคนกลางที่ไม่เข้ามารับผลผลิตในพื้นที่
ข้อเสนอของเครือข่าย เครือข่ายมีข้อเสนอหลายเรื่องต่อรัฐบาลแล้ว แต่รัฐไม่รับฟังและมีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมมากกว่า อยากให้รัฐบาลรับฟังปัญหาของเกษตรกรมากขึ้น
โสภณ หนูรัตน์ เครือข่ายผู้บริโภค
สถานการณ์ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของเครือข่ายผู้บริโภค ที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิดสภาองค์กรของผู้บริโภคโดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 46[2] ซึ่งเครือข่ายได้ต่อสู้มาอย่างยาวนานตั้งแต่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 2550 และเพิ่งดำเนินการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภค 150 องค์กรไปจดทะเบียนเป็นคณะผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคมีบทบาทในการเป็นปากเสียงของผู้บริโภคในกิจการต่างๆ 8 กลุ่มกิจการ ได้แก่ การเงินการธนาคาร อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ การขนส่งและยานพาหนะ สินค้าและบริการทั่วไป สื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลบีสารสนเทศ อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย บริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม บริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภคมีสำนักงานอยู่ใน 12 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะจัดทำให้ครบทุกจังหวัดในปีหน้า สำหรับเป้าหมายในปี 2564 สภาฯให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสินค้าและบริการ 4 กลุ่ม คือ ผลักดันให้กำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม การคัดค้านการเข้าร่วมลงนามใน CPTPP ที่ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสูงเกินจริง ค่าเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้าจะสูง รวมถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนับแต่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่สภาฯประมาณ 3000 เรื่อง โดยมากเป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการประกันภัยโควิด หรือกรณีโรงงานสารเคมีระเบิดเมื่อเร็วๆนี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับการเยียวยาจากการที่บ้านเรือนรอบๆโรงงานได้รับความเสียหาย โดยบริษัทประกันภัยอ้างว่าไม่อยู่ในการคุ้มครองความเสียหายของบริษัท หรือการฉ้อโกงจากการสั่งซื้อสินค้า ทางสภาฯก็ต้องเป็นตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายไปเจรจากับบริษัทประกันบ้าง ไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้าง โดยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาสภาฯได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วม.MOU ระหว่างสภาฯกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจเอกชน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ ผู้ต้องการร้องเรียนสามารถติดต่อได้ทาง เฟสบุ๊ค “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ซึ่งสามารถร้องเรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมงหรือโทรศัพท์ 0811349216 ในเวลา 9.00-17.00 น.
คมสันติ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายชุมชนเมือง
สถานการณ์ เครือข่ายทำงานกับคนจนเมือง คนเร่ร่อน หรือคนไร้บ้านและเครือข่ายที่ดิน พบว่ามีผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยทั่วประเทศกว่า 1 ล้านครัวเรือน ในขณะที่ข้อมูลของการเคหะแห่งชาติระบุว่ามีกว่า 2.3 ล้านครัวเรือน ซึ่งข้อมูลของนักวิชาการ อ.เดชรัช ระบุว่ามีกว่า 4 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สาเหตุที่คนไทยไร้ที่อยู่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ปี 2504 ที่คนยากจนในภาคเกษตรต้องขายที่นาเข้ามาหางานในเมืองใหญ่ แล้วกลับไปไม่ได้ ต้องเผชิญชะตากรรมในเมือง กลายเป็นคนยากจนในเมือง ในขณะที่มีที่ดินในความครอบครองของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจอยู่เป็นจำนวนมากที่ควรนำมาพัฒนาให้แก่คนยากจนแต่ไม่มีการดำเนินการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทยมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2.3 แสนไร่ ใช้เป็นที่ดินเพื่อการเดินรถประมาณ 1.98 แสนไร่ และเป็นที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 3 หมื่น 6 พันไร่ ซึ่งจะมีคนจนพักอาศัยใกล้สถานีรถไฟเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้เคยทำงานเป็นกรรมกรในการโยนฟืนให้หัวรถจักรไอน้ำในอดีต จึงมีบ้านพักใกล้สถานีที่การรถไฟอนุญาตให้พักอาศัยได้ จนปัจจุบันกลายเป็นชุมชนแออัดที่สามารถพบเห็นได้ทุกสถานี ใน 36 จังหวัด คิดเป็น 39000 ครัวเรือน คนรุ่นลูกหลานก็ยังอยู่มาจนปัจจุบัน แต่เปลี่ยนอาชีพเป็นคนทำงานรายวัน รับจ้างต่างๆ คนกวาดขยะ ขับรถเมล์ ฯลฯ ไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยที่อื่นได้ เครือข่ายจึงเสนอขอแบ่งปันที่ดินของการรถไฟที่ยังใช้ประโยชน์เพื่อการพาณิชย์แต่ยังไม่ได้ใช้มาให้ชาวบ้านที่ไร้ที่อยู่อาศัย เพื่อให้คนจนเมืองเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอยู่ใกล้ที่ทำงานในเมือง โดยขอเช่าในราคาถูก แต่การรถไฟยังไม่ตกลง เนื่องจากที่ดินบางพื้นที่ เช่น แถวมักกะสัน ประมาณ 400 ไร่ ให้ธุรกิจเอกชน (ซีพี) เช่าไป 150 ไร่ ทำรายได้ให้มากกว่า หรือที่สงขลา การรถไฟมีแผนที่จะทำรถไฟรางคู่ ก็จะต้องไล่รื้อชุมชนรอบๆสถานีอีกประมาณ กว่าพันครอบครัว เพื่อจะทำทางไปสู่ท่าเรือน้ำลึก โดยจะเชื่อมกับเขตอุตสาหกรรมพิเศษ อ.จะนะด้วย การไล่รื้อชุมชนแออัดในเมืองใหญ่และการจัดการที่ดินในเขตป่า ส่งผลให้มีการอพยพของชนเผ่าพื้นเมือง เช่นที่เชียงใหม่มีชนเผ่าอพยพเข้ามาทำงานในเมืองและต้องอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดมากขึ้น เป็นเรื่องที่ขัดแย้งต่อวิถีชีวิตของชนเผ่ามาก
ข้อเสนอของเครือข่าย ขอเรียกร้องให้รัฐนำที่ดินของรัฐมาจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ไร้ที่อยู่ เช่น เจรจากับการรถไฟจัดสรรที่ดิน 20 ไร่บริเวณมักกะสัน แบ่งปันทำเป็นห้องพักให้คนจนครอบครัวละ 50 ตารางเมตร และขอให้ใช้นโยบายแบ่งปันที่ดินให้คนจนเมือง ขอแบ่งปันที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆแต่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว
วาสนา ลําดี เครือข่ายแรงงาน
สถานการณ์ เครือข่ายทำงานกับคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ในช่วงโควิดนี้มีปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในด้านการจ้างงาน ถูกเลิกจ้าง นายจ้างปิดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง หรือเสนอมาตรการให้ลาออกเองเพื่อหลบเลี่ยงการต้องปฏิบัติกฎหมายแรงงาน ซึ่งตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่กระทรวงแรงงานแถลงต่อสาธารณะของการเลิกจ้างต่างๆ คือประมาณ 4 แสนคน แต่ความเป็นจริงก็คงมากกว่านี้ ซึ่งอาจถึง 8 แสนคน แม้รัฐบาลนี้จะพยายามแก้ไขโดยการจ้างงานแก่ผู้จบใหม่ ให้ทำในส่วนราชการเป็นการชั่วคราว โดยจ้างเป็นรายวันให้ในอัตราวันละ 300 บาท จากเกินกู้ต่างประเทศ แต่ก็ยังเป็นแค่บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและไม่ครอบคลุมคนว่างงานที่ถูกเลิกจ้าง การจ้างงานชั่วคราวเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการทำงานตามที่ตนเลือก เพราะอาจต้องไปทำงานที่ไม่ตรงสาขาที่เรียนและไม่ยั่งยืน ประเด็นต่อมาคือการไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างมานานหลายปีแล้ว ในขณะที่ค่าครองชีพสูงมากทุกปี อีกประเด็นคือการไม่มีสหภาพแรงงานที่สามารถต่อรองการจ้างงานได้ ทำให้ไม่สามารถต่อรองต่างๆ ได้ เช่น เงินประกันสังคมที่นายจ้างและรัฐบาลลดยอดการนำเงินสมทบเข้ากองทุน คนทำงานไม่ต้องการสวัสดิการแบบลดแลกแจกแถม แต่ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนและยั่งยืนต่อผู้ใช้แรงงานทุกคน การดำเนินคดีในศาลแรงงานก็มีมากขึ้นแต่ไม่สามารถเรียกเงินค่าชดเชยจากนายจ้างได้
พุทธิณี โกพัฒน์ตา เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
สถานการณ์ แรงงานนอกระบบ คือคนที่ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน เช่น ผู้ทำการผลิตที่บ้าน ลูกจ้างทำงานบ้าน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หมอนวด ช่างเสริมสวย คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด ในปี 2563 -2564 นี้ถึง 21.2 ล้านคน เนื่องจากการถูกเลิกจ้างในระบบ และการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานของผู้ประกอบการ ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 4% ปัญหาของแรงงานนอกระบบที่พบในปี 2564 ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล การฉีดวัคซีน การเยียวยาโดยมีเงื่อนไข ผู้ประกอบอาชีพอิสระประกันสังคม ม.40 การลดเงินสมทบของผู้ประกันตน ม.40 นาน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ส.ค.64–ม.ค.65 สิทธิในการเข้าถึงแหล่งทุน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่รัฐจัดให้ ทั้งธนาคารออมสิน ไม่มีผู้ค้ำประกันเพราะเป็นอาชีพหาบเร่แผงลอยหรือขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ส่งผลให้ไม่มีหลักประกันการทำงาน ขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ทำงานหนักมากกว่า 10 ชั่วโมง ไม่มีเวลาการฝึกอาชีพ พัฒนาความรู้ เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี สิทธิในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย โดยเครือข่ายแรงงานนอกระบบได้เข้ายื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงานเมื่อ 7 ธันวาคม 2563 จนกระทั่งมีการจัดตั้ง คณะทำงานติดตามและประสานการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ซึ่งคณะทำงานฯได้แต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาแนวทางการพัฒนาสิทธิประโยชน์และขยายขอบเขตของผู้ประกันตนมาตรา 40 (เฉพาะกิจ) ส่งผลให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย 0% กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้าน 12 งวด เริ่ม ต.ค.64
ข้อเสนอของเครือข่าย รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ฉบับที่ 189 อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน ค.ศ. 2011 อนุสัญญา ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่ทำงาน รัฐต้องมีการประกันการว่างงานสำหรับแรงงานนอกระบบ ปรับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกมาตราให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ ที่มีการบริหารโดยผู้ประกันตน และในคณะกรรมการมีสัดส่วนของผู้ประกันตนทุกมาตรา ลดเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม สิทธิในการประกอบอาชีพ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต้องเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว และร่วมกันพัฒนาแนวทางในการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร แก้ไขกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการประกอบอาชีพออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน เช่น กำหนดอัตราค่าตอบแทนรายชิ้น ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น จัดสรรงบประมาณ สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นของรัฐโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการเพื่อให้บริการมอเตอร์ไซต์รับจ้าง และการขายสินค้าและบริการ แทนการใช้แอพพลิเคชั่นของเอกชนที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในการเข้าร่วม ขยายความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 33 แก่ลูกจ้างทำงานบ้าน อันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ อันเกิดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สุดท้ายเสนอให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน เช่น ลาคลอดบุตร กำหนดชั่วโมงทำงานที่ชัดเจน เป็นต้น
สุทธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ
สถานการณ์ แรงงานข้ามชาติก่อนเกิดสถานการณ์โควิดมีจำนวนประมาณ 4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน 3 สัญชาติ คือ พม่า สปป.ลาวและกัมพูชา และมีสัญชาติอื่นๆบ้าง งานที่แรงงานข้ามชาติทำ คืองานไร้ฝีมือที่คนไทยไม่ทำแล้ว เช่น ประมง การขายอาหาร ทำงานบ้าน สวนยาง ซึ่งมักจะได้รับค่าจ้างรายวันโดยไม่เต็มจำนวนตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด คนงานข้ามชาติมักไม่ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน เช่น ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลหากได้รับอุบัติเหตุในการทำงาน ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ได้รับการเยียวยาจากกฎหมายประกันสังคมหากถูกเลิกจ้าง
ข้อเสนอของเครือข่าย ให้ขยายการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้คนงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนเพื่อการต่อรองกับนายจ้าง และมีข้อเสนอเหมือนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ คือ รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO 87,98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง สุดท้ายคือ รัฐต้องจัดการขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติที่คนทำงานต้องจ่ายค่านายหน้าตั้งแต่ 10000-15000 บาท แล้วถูกจับกุม ควรจัดทำให้คนเหล่านั้นได้ลงทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องแก้ไขระเบียบให้สามารถลงทะเบียนได้ง่าย ใช้ภาษาของประเทศต้นทาง ที่ไม่ใช่ภาษาไทย รวมถึงคนที่เคยทำงานแล้วต่ออายุไม่ทันหรือมีปัญหาในการต่ออายุ ก็ต้องทำให้ทราบว่ามีทะเบียนอยู่ในประเทศไทย เพื่อการยืนยันตัวตนและจำนวนที่แท้จริงของแรงงานข้ามชาติ ในการบริหารจัดการการให้บริการด้านสาธารณสุขและอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์
เรวดี ประเสริฐเจริญสุข เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติ
สถานการณ์ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ และชุมชน เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและความสมดุลของระบบนิเวศ เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการทรัพยากรและธรรมาภิบาล ในที่นี้ขอให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็น คือ ความหลากหลายของทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และวิถีชีวิตประมงชายฝั่งในภาวะโลกร้อน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญในฐานะที่เราเป็นประเทศส่งออกอาหารทะเลในลำดับต้นๆของโลก แต่ปรากฏว่ามีชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินริมทะเลชายฝั่งเพื่อเลี้ยงปากท้อง กลับต้องเผชิญปัญหาจากความไม่สมดุลในการจัดการทรัพยากรทางทะเล เพราะรัฐให้ความสำคัญกับธุรกิจประมงขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีการจับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก โดยไม่มีการตรวจสอบ รวมไปถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่ต้องการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อการอุตสาหกรรมและการจัดทำโครงการท่าเรือน้ำลึก โดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศชายฝั่งที่กำลังล่มสลาย สัตว์น้ำเล็กๆจะสูญพันธุ์และเติบโตไม่ทันต่อความต้องการของตลาด เช่น ที่จะนะ หรือชลบุรี และโครงการ EEC เป็นต้น การที่ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างการจัดการประมง การท่องเที่ยว การขุดเจาะน้ำมัน
ข้อเสนอของเครือข่าย ข้อเสนอของเครือข่าย คือการเสนอให้มีธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มานานกว่า 10 ปี แต่รัฐไม่มีระบบในการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ การเขียนให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นแค่คำสวยๆ ที่ไม่เกิดผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ ซึ่งเครือข่ายคงต้องทำงานกับชาวบ้านที่ไร้สิทธิไร้เสียงให้สามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่าที่มีอยู่ และคัดค้านการบริหารจัดการของรัฐที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลดังกล่าวให้ได้ต่อไป
[1] โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี )เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปี หรือที่เรียกว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด โครงการ อีอีซี มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด
ในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา แผนการพัฒนาอีอีซี เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ ทั้งทางกายภาพและทางสังคม เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ , ข้อมูลจากเว็ปไซต์ EEC https://www.eeco.or.th/th/government-initiative/why-eec
[2] มาตรา 46 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง
บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งอำนาจในการเป็น ตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)