ข้อกังวลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากนานาชาติล้นหลามในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยสหประชาชาติ

 

ในกระบวนการ UPR รอบที่สาม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะทั้งหมด 278 ข้อ โดยรัฐบาลรับข้อเสนอแนะ 194 ข้อและกล่าวว่าจะให้คำตอบเกี่ยวกับข้อเสนอที่เหลืออีก 84 ข้อภายในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ครั้งที่ 49 (เดือนมีนาคม 2565)

FIDH iLaw มูลนิธิมานุษยะ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ และสสส. เรียกร้องว่าอย่างน้อยรัฐบาลจะต้องยอมรับข้อเสนอแนะที่เหลือทั้งหมดซึ่งได้รับมาที่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

ส่วนต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์การตอบสนองเบื้องต้นของรัฐบาลต่อข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนบางประเด็นที่ได้รับเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

นอกจากข้อเสนอแนะในประเด็นข้อกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ [โปรดดูด้านล่าง, กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์] ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะกว่า 18 ข้อที่เรียกร้องให้ทำการเคารพเสรีภาพในการแสดงออก โดยรัฐบาลยอมรับเพียงเจ็ดรายการเท่านั้น ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองจากการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือการฟ้องปิดปาก (strategic lawsuits against public participation; SLAPP)

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับข้อเสนอแนะอีกจำนวน 14 ข้อที่เรียกร้องให้ทำการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งรัฐบาลยอมรับเพียงสามรายการเท่านั้น

แม้ที่ผ่านมากลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะออกแถลงการณ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับอ้างว่าประเทศไทยยึดมั่นในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights; ICCPR) และยังคงเคารพเสรีภาพในการพูด การแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบอย่างเสมอมา

ท่ามกลางการปราบปรามแกนนำและผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงเยาวชนด้วยนั้น รัฐบาลได้อ้างว่าตนเอง “พยายามอำนวยความสะดวกแก่ทุกขบวนการที่รณรงค์เรียกร้องการปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ โดยให้พื้นที่และโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา” ตลอดจนเห็น “ความสำคัญของการรับฟังเสียงคนหนุ่มสาวในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา หรือเป็นสิ่งที่พวกเขาสนใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

แม้รัฐบาลจะได้กระทำการหลายอย่างเพื่อพยายามจำกัดเสรีภาพของสื่อบางสำนักโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ แต่รัฐบาลกลับอ้างว่า “สื่อมีอิสระในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนหลายช่องทาง”

กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์

ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) จำนวน 12 ข้อ โดยแทบทั้งหมดเรียกร้องให้มีการแก้ไข และมีหนึ่งข้อเรียกร้องให้ยุติการจับกุมและการดำเนินคดีเยาวชนด้วยมาตรา 112 นอกจากนี้ ประเทศออสเตรเลียยังได้แสดงความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 อีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้คำตอบต่อข้อเสนอแนะทั้ง 12 ข้อภายในเดือนมีนาคม 2565 แต่ในระหว่างนี้ แถลงการณ์จำนวนมากของตัวแทนรัฐบาลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในกระบวนการ UPR เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นั้นกลับทำให้เกิดข้อกังขาต่อความจริงใจของทางการไทย

ในวันเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญประเทศไทยได้วินิจฉัยว่าการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยถือเป็นการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข แต่รัฐบาลกลับอ้างว่า “การถกเถียงในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของกลไกรัฐสภาและรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการพิจารณาข้อกฎหมายที่สำคัญมากนี้”

มากไปกว่านั้น แม้ว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จะมีประชาชนอย่างน้อย 156 คนถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 โดยในบางคดีนั้นตั้งข้อหากับการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ด้วย เช่น การแต่งชุดไทย หรือใส่เสื้อครอปท็อป แต่รัฐบาลก็กล้าที่จะแถลงว่า “เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องประเมินด้วยความระมัดระวัง” ในการบังคับใช้มาตรา 112

ภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ท่ามกลางการโจมตี การคุมขังโดยพลการ และการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลกลับอ้างว่า “นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับการเน้นเป็นกลุ่มพิเศษที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม” และรัฐบาล “ได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับบทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

รัฐบาลรับข้อเสนอแนะห้าข้อจากทั้งหมดแปดข้อที่เรียกร้องให้มีมาตรการรับรองพื้นที่ภาคประชาสังคม การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกระบวนการสืบสวนการกระทำการคุกคามและการโจมตีพวกเขา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอแนะจำนวนเก้าข้อที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ (NGO) โดยรัฐบาลอ้างว่าร่างกฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้าง “ความโปร่งใสที่มากกว่าเดิมและขยายกรอบการกำกับดูแลและส่งเสริมการทำงานขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่างครอบคลุมมากขึ้น”

โทษประหารชีวิต

แม้รัฐบาลจะอ้างซ้ำหลายครั้งว่าไทยมีความ “มุ่งมั่นที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต” แต่นี่กลับเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลชะลอการยอมรับข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดความคืบหน้าในการยกเลิกโทษประหารชีวิต เช่น การให้มีการผ่อนเวลาการประหารชีวิต หรือการให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองฉบับที่สอง (Second Optional Protocol to the ICCPR; OP2-ICCPR) ทั้งนี้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะว่าด้วยโทษประหารชีวิตเพียงเจ็ดข้อจาก 23 ข้อ

รัฐบาลได้ย้ำข้อโต้แย้งซ้ำซากที่ว่า “ประชาชน[ไทย]ส่วนใหญ่สนับสนุนโทษประหารชีวิต” และยังอ้างว่าทางการไทยนั้น “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้พยายามให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับแนวโน้มของนานาชาติและความสำคัญของสิทธิในการมีชีวิต” แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับความพยายามนี้แต่อย่างใด

สภาพเรือนจำ

รัฐบาลรับข้อเสนอแนะทั้งสองรายการที่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพเรือนจำและการปฏิบัติต่อนักโทษด้วยความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติต่อนักโทษในประเทศไทยก็ยังคงต่ำกว่ามาตรฐานสากลขั้นต่ำ โดยสภาพเรือนจำที่ย่ำแย่อยู่แล้วนั้นยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19ในเรือนจำทั่วประเทศ

การทรมานและการบังคับสูญหาย

รัฐบาลรับข้อเสนอแนะทั้งหมด 14 ข้อเกี่ยวข้องกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและการดำเนินคดีในข้อกล่าวหาดังกล่าวทั้งหมด การตรากฎหมายที่ทำให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา และการให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment; OP-CAT) ทั้งนี้จากข้อเสนอแนะที่รัฐบาลรับดังกล่าวนั้น มีจำนวนแปดข้อที่กล่าวถึงการตรากฎหมายให้การทรมานและการบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญา และเรียกร้องให้มีการสร้างกลไกเพื่อป้องกันความผิดนี้

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้รับข้อเสนอแนะหกข้อจากทั้งหมดเจ็ดข้อที่เรียกร้องให้ทางการไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance; ICPPED) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกล่าวแย้งว่าจะให้สัตยาบันหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย ซึ่งกำลังรอให้สภาอนุมัติ แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่รับข้อเสนอแนะหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้มีการสืบสวนคดีการอุ้มหายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2557 เช่น วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

ผู้ลี้ภัย

รัฐบาลไม่รับข้อเสนอแนะหกข้อเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งได้แก่ ข้อเสนอแนะสองข้อที่เรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย(Convention relating to the Status of Refugee) ข้อเสนอแนะหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติใช้มาตรการปกป้องผู้ลี้ภัย และข้อเสนอแนะอีกหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้ทางการไทย “หยุดส่งผู้ลี้ภัยเมียนมาร์กลับประเทศ”

ทั้งนี้ รัฐบาลอ้างว่าได้ให้ความคุ้มครองแก่ “ผู้ที่หนีจากความขัดแย้งและต้องการลี้ภัยชั่วคราวในประเทศไทย” แต่คำแถลงนี้ขัดแย้งกับหลายเหตุการณ์ที่ทางการไทยส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ โดยล่าสุดนั้นไทยได้ส่งผู้ลี้ภัยสองรายกลับกัมพูชาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เพียงหนึ่งวันก่อนกระบวนการ UPR ของไทย [1]

การให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน

นอกจากข้อเสนอแนะว่าด้วยการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญต่างๆ [โปรดดูข้างบน; โทษประหารชีวิตการทรมานและการบังคับสูญหายผู้ลี้ภัย] ประเทศไทยได้รับ (แต่ไม่รับ) ข้อเสนอแนะสองข้อที่เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่รับข้อเสนอแนะหนึ่งข้อเกี่ยวกับการให้สัตยาบันพิธีสารรับเลือกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Optional Protocol to the ICCPR; OP-ICCPR) และให้คำตอบที่ย้อนแย้งต่อเรื่องการให้สัตยาบันพิธีรับเลือกสารกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Optional Protocol to the International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights; OP-ICESCR) แม้ว่ารัฐบาลจะยอมรับข้อเสนอแนะหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้ไทยให้สัตยาบันต่อ OP-ICESCR แต่ในกระบวนการ UPR รัฐบาลกลับแถลงว่าจะ “รักษาจุดยืนในฐานะประเทศที่ไม่ใช่รัฐภาคี” ต่อพิธีรับเลือกสารดังกล่าว

การเยือนโดยกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN special procedures)

รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้ประเทศไทยรับรองการเยือนไทยของกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้คำมั่นอย่างเป็นทางการว่าจะประกาศเชิญในหลักการต่อกลไกพิเศษสหประชาชาติ ซึ่งเคยส่งให้ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554

แม้จะมีคำร้องจำนวนมากและหลายครั้งจากกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ประเทศไทยกลับตอบรับการเยือนจากคณะทำงานสองกลไกเท่านั้น ได้แก่ ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิในน้ำดื่มที่ปลอดภัยและสุขอนามัย (Special Rapporteur on the human right to safe drinking water and sanitation) (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2556) และคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Working Group on Business and Human Rights) (มีนาคม-เมษายน 2561)

ทั้งนี้ รัฐบาลระบุว่าการไม่สามารถ “ต้อนรับการเยือนประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ” นั้นเป็นผลมาจาก “ข้อห้ามไม่ให้ชุมนุมและมั่วสุมในช่วงสองปีที่ผ่านมาเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19”