สสส.เสวนาทัศนะ
ครั้งที่ 12/2564
หัวข้อ สิทธิในชีวิตและร่างกายกับความรุนแรงในครอบครัว
วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน 2564
เวลา 11.00-12.30 น.
ผู้ร่วมเสวนา
เกริ่นนำ
ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทุกวันในทุกสังคมทั่วโลก สำหรับสังคมไทยความรุนแรงในครอบครัวรู้จักกันดีในกรณีสามีทำร้ายร่างกาย ทุบตีภรรยา หรือคู่ชีวิต หรือการทำร้ายร่างกายกันระหว่างคนรักโดยมีสาเหตุที่หลากหลาย ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า ‘สถิติความรุนแรงในครอบครัว’ ปีงบประมาณ 2564 ระหว่างเดือน ต.ค.2563 – พ.ค.2564 มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 1,492 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 81% แบ่งเป็น ความสัมพันธ์สามี-ภรรยา 39% วัยกลางคน 32.4% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 32.1% ซึ่งมักไม่ดำเนินคดีสูงถึง 78% ปัญหาที่พบ เป็นการทำร้ายร่างกายมากที่สุดถึง 64.5% รองลงมาคือ จิตใจ 31.4% และเรื่องเพศ 3.6% ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้น คือ ยาเสพติด สุรา อาการหึงหวง การมีโทสะ การรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากกว่า การมีปัญหาสุขภาพทางจิต และความเครียดทางเศรษฐกิจทั้งนี้สถานที่เกิดเหตุมักเกิดภายในบ้านของตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดการระบาดหนักอีกครั้งในระลอกที่ 2 และ 3[1] กรณีสามีทำร้ายร่างกายภรรยาหรือคู่ชีวิตหรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ถือเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้เรื่องเช่นนี้ไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ถูกทำร้าย ด้วยทัศนคติที่ว่า “เป็นเรื่องภายในครอบครัว” “เรื่องของผัวเมียคนอื่นอย่ายุ่ง เดี๋ยวหายโกรธกันแล้วก็รักกันเหมือนเดิม”รายการ สสส.เสวนาทัศนะ จึงขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหัวหัวข้อ สิทธิในชีวิตและร่างกายกับความรุนแรงในครอบครัว
สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปัจจุบัน
ธนวดี ท่าจีน ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 – ปัจจุบันมีมากกว่า 3 หมื่นราย ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อนหญิงนั้นได้รับการร้องเรียนปีละไม่น้อยกว่า 600 เรื่อง แต่ในช่วงโควิดข้อมูลตั้งแต่ มกราคม–กันยายน 2564 ปรากฏว่ามีมากขึ้นถึงประมาณ 1800 เรื่อง โดยสามารถแบ่งสาเหตุการร้องเรียนออกเป็น 3-4 กลุ่มๆ แรกถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวซึ่งมีปริมาณมากถึง 80% กลุ่มที่สองเป็นเรื่องการถูกล่วงเกินทางเพศ ทั้งการใช้วาจา การลวนลามทางร่างกายไปจนถึงการถูกข่มขืน และรุมโทรม กลุ่มที่สามเป็นการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยมากเป็นแม่ที่อายุน้อยเป็นเยาวชน รวมไปถึงการหลอกว่าให้ออกไปเจอกัน แล้วเอาเพื่อนมารุมโทรม กลุ่มที่สี่เป็นเรื่องการหาประโยชน์จากผู้หญิงเพื่อการค้าประเวณี รวมไปถึงการแบล็คเมลทางเพศ เช่น เป็นแฟนกันแล้วถ่ายคลิปขณะมีเพศสัมพันธ์กัน เมื่อฝ่ายหญิงจะขอเลิกก็ข่มขู่ว่าจะเปิดเผยคลิป หรือการล่อลวงผ่านการคบกันทางโซเชียลมีเดีย การถูกหลอกจากชายต่างชาติว่ารักอยากแต่งงาน ขอให้ไปอยู่ด้วยกันแต่หลอกให้ส่งเงินค่าเครื่องบินมาให้ แล้วปิดเฟสบุ๊คหนีหายไป เป็นต้น ประเด็นที่สำคัญของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมิใช่แค่เรื่องการทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงการทำร้ายทางจิตใจ เช่นแต่งงานกันแล้วมีหญิงอื่น หรือเอาหญิงอื่นมาอยู่ในบ้านหรือไปมีหลายบ้าน เพื่อทำร้ายจิตใจ ไม่ยอมให้เงินใช้ ไม่ยอมให้ออกไปหาเพื่อน เป็นต้น ความรุนแรงในครอบครัวส่งผลกระทบต่อเด็กที่เป็นลูกด้วยที่จะกล่าวถึงต่อไป
ประภาส ลี้เวหน ขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว เพราะเป็นครอบครัวคนจีนแบบเก่าที่มีวัฒนธรรมยอมรับลูกชายมากกว่าลูกสาว คุณแม่เป็นลูกสาวในครอบครัวถูกคนในครอบครัวห้ามทำโน่นนี่ ถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้เรียนหนังสือและทางบ้านเป็นคนเลือกคู่ให้ ซึ่งคุณแม่ไม่ยอมรับ แต่เมื่ออยู่ไม่ได้เพราะคุณพ่อมีหลายเมียและทะเลาะกับแม่ ทำร้ายแม่ ๆ จึงหนีออกจากบ้านขณะตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกอย่างยากลำบาก จนทำให้ลูกอย่างผมขาดความอบอุ่น โตมากับอบายมุขทุกอย่าง ซึ่งกว่าจะผ่านพ้นวงจรสีเทาออกมาได้ก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด แม้ทุกวันนี้ยังเจอเหตุการณ์ที่คนในครอบครัวกระทำความรุนแรงต่อลูกให้เห็นอยู่เสมอ แต่เรายังไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ
ดร.ญาดา ธงธรรมรัตน์ ประสบการณ์ของการทำงานจิตเวชพบว่าผู้หญิงมารับบริหารมากกว่าชาย ซึ่งสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่าสัดส่วนของสตรีเข้ารับบริการทางจิตเวชทั่วโลกมากเป็น 1 ใน 4 ของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่ผู้ชายมีสัดส่วนแค่ 1 ใน 9 สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์นั้นมีทั้งเป็นผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากสถานพยาบาลอื่นและเป็นกลุ่มที่มารับบริการโดยตรงที่โรงพยาบาล ส่วนมากเป็นผู้ได้รับผลกระทบและรักษาจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวทางร่างกายมาแล้ว แต่อาการทางจิตใจยังต้องรักษา รวมถึงผู้ได้รับผลทางจิตจากความเครียดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือจากโรคภัยอื่นๆด้วย เช่นภาวะซึมเศร้า หรือมีอาการอยากฆ่าตัวตาย เพียงแต่ยังไม่ได้ทำสถิติของการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่พอจะประมวลภาพกว้างๆได้ว่าผู้มารับบริการที่เกิดจากปัญหาถูกทำร้ายในครอบครัวนั้น อาการจะซับซ้อนและเป็นมาอย่างยาวนาน เช่น กรณีป้าศรี ถูกสามีซ้อมเมื่อเมาสุรา หรือเมื่อแกหาเงินมาได้สามีก็แย่งเอาเงินไปกินเหล้า เมื่อทะเลาะกันก็มักจะถูกทำร้ายทุกครั้ง ตั้งแต่แต่งงานกันมาจนมีลูกโตแล้ว ป้าศรีจึงขอแยกไปอยู่กับลูกและปวารนาว่าจะไม่ไปเผาผีสามีที่ทำร้ายตนเอง เจอหรือได้ยินอะไรที่เกี่ยวกับสามีจะทนไม่ได้มีอาการทางจิต เมื่อลูกสาวเอาอัฐิของพ่อมาไว้ที่หิ้งพระในบ้านพอป้าศรีทราบก็มีอาการกำเริบ ต้องได้รับการบำบัดอยู่นานจนอาการดีขึ้น หรืออีกกรณีคือแม่ใหญ่ของคหบดีที่เอาเมียน้อยมาอยู่ในบ้านถึง 28 คน และจะหวงแม่ใหญ่มากไม่ยอมให้ไปไหนเอาแต่ใจ ถ้าขัดใจจะถูกซ้อม และถูกซ้อมมานานกว่า 30 ปี จนมีอาการตัวสั่นเมื่อได้ยินเสียงสามี ถึงที่สุดทนไม่ได้เพราะสามีบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นให้ดู จนต้องหนีออกจากบ้านมาหลบซ่อนตัว มารักษาที่โรงพยาบาลก็กลัวตัวสั่นออกจากห้องน้ำไม่ได้ เพราะคิดว่าสามีมาตาม กรณีผู้ชายมาบำบัดก็มี เพราะหญิงไทยไปหลอกฝรั่งให้มาแต่งงานจนขายทรัพย์สินที่ต่างประเทศย้ายมาอยู่เมืองไทย แต่ผู้หญิงก็หลอกเอาทรัพย์สินและไปมีชายอื่น ทะเลาะกันจนบีบคอผู้หญิงตาย เพราะเกิดความแค้นสะสมที่ถูกหลอกจนหมดตัว ก็กำลังดูแลรักษาทางจิตเวชอยู่ในปัจจุบัน
สาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว
ธนวดี ท่าจีน จากงานวิจัยของกลุ่มเพื่อนหญิงพบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัว กลุ่มแรกสาเหตุมาจากวัฒนธรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ยึดถือระบบชายเป็นใหญ่ การเลี้ยงดูในวัยเด็กให้เด็กชายเป็นผู้นำ เด็กหญิงต้องเรียบร้อย ระบบชายเป็นใหญ่ถือว่า ผู้ชายมีหลายเมียหรือเจ้าชู้ ก็ไม่มีใครว่า แต่พอฝ่ายหญิงไปมีกิ๊กหรือคนอื่นก็จะถูกประณาม หรือการถือว่าภรรยาและลูกเป็นสมบัติของชาย การขายลูกขัดดอกยังดำรงอยู่ สาเหตุประการต่อมาคือขาดการให้ความสำคัญต่อการอบรมก่อนแต่งงาน เพื่อฝึกทักษะของการครองเรือน การเลี้ยงดูบุตร การจัดการปัญหาอย่างสร้างสรรค์เมื่อมีปัญหาในครอบครัว โดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งภาครัฐต้องจัดให้มีการอบรมในเรื่องนี้ให้กว้างขวาง ปัจจัยต่อมาคือตัวกระตุ้นต่างๆ ธุรกิจสีเทา สถานเริงรมย์ สุรา ยาเสพติด การไปพบชายหรือหญิงคนใหม่ที่นำครอบครัวไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ การติดการพนัน ก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ทะเลาะวิวาทกันนำไปสู่ความรุนแรงและนำไปสู่การไปเจอหญิงคนใหม่ เพื่อนหญิงไม่ได้แก้ปัญหาทางจิตใจให้หญิงที่สามีไปติดพันหญิงอื่นเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลหญิงที่เป็นเมียน้อยด้วย เพราะหากมีลูกกันก็เกิดปัญหามาสู่เด็กและผู้หญิงทั้งสองคน ที่ผู้ชายเป็นตัวสร้างปัญหา เมื่อหญิงถูกทำร้ายก็ปกป้องตัวเองทำร้ายผู้ชายกลับ บางกรณีก็มีการใช้อาวุธต่อสู้กันผู้หญิงก็ถูกจับฐานทำร้ายร่างกายเพราะใช้มีดแทงผู้ชาย เพื่อนหญิงก็ต้องไปช่วยเหลือทางคดี หรือให้ความช่วยเหลือทางคดีหากต้องฟ้องหย่า ในที่นี้ขอเสนอทางออกให้ผู้หญิงที่เจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้ไปร้องเรียนอัยการ ไปร้องกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น โทรหมายเลข 1300[2] หรือโทรฯมาที่กลุ่มเพื่อนหญิง 0-2513-1001 (อัตโนมัติ 5 สาย)
กลุ่มเพื่อนหญิงขอเรียกร้องให้โรงเรียนทำหน้าที่เชิงรุกในการคัดกรองเด็กที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น ครูควรดูแลว่าถ้าเห็นเด็กคนไหนดูซึมเศร้า ดูไม่ร่าเริง ครูจะต้องพิจารณาไปเยี่ยมบ้านเด็กบ้าง เพราะเด็กอาจถูกทำร้ายหรือถูกล่วงเกินทางเพศจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวก็ได้ หรือพ่อแม่มีปัญหาทำร้ายร่างกายกัน แล้วมาลงที่ลูกทำให้เด็กหวาดกลัว หากพบปัญหาดังกล่าวก็แจ้งไปที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว พัฒนาการสังคมฯจังหวัดที่มีอยู่ทุกจังหวัดให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยามาดูแล ถ้าครูมีฐานข้อมูลนี้ในโรงเรียนก็สามารถป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้
ประภาส ลี้เวหน ในช่วงชีวิตวัยรุ่นตอนปลายได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา ทั้งหวยเถื่อน บ่อน ซ่อง การใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ เมื่อมองย้อนกลับไปก็ทำให้เข้าใจเยาวชนในวัยเดียวกันว่า เด็กซึมซับความรุนแรงมาจากการเลี้ยงดูและเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว ส่งผลต่อวุฒิภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ขาดที่พึ่งทางจิตใจ เมื่อมีคนชักชวนไปในทางไม่ดีก็เข้าถึงง่าย อ่อนไหว หนีออกจากบ้าน ไปเข้าบ่อนจนสามารถทำเงินได้เยอะ แต่ไม่สามารถถอนตัวออกจากอบายมุกได้โดยง่าย ต้องค่อยๆถอนตัว ปรับจิตใจให้เข้มแข็ง จึงเข้าใจกรณีคุณเอ็กซ์ที่ทำร้ายภรรยา จนแม่ภรรยาไปจ้างคนมาฆ่า เพราะทนเห็นลูกถูกทำร้ายบ่อยๆไม่ไหว คุณเอ็กซ์คงถูกเลี้ยงดูมาจากครอบครัวที่มีปัญหาการใช้ความรุนแรงกัน ประการต่อมาพ่อแม่มักจะฝากความหวังไปที่ลูก อยากให้ลูกเป็นนั่นเป็นนี่ เรียนให้เก่งๆ จนกดดันลูก มีความเครียดเพื่อทำตามความต้องการของพ่อแม่ จนบางครั้งลูกจะรู้สึกต่อต้านแต่ทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ยิ่งถ้าพ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อลูกเพื่อบังคับให้ลูกเป็นอย่างที่ตนต้องการ เด็กยิ่งเครียดหากไม่มีทางออกก็จะกลายเป็นปมทางจิตใจ เข้าใจว่าคุณเอ็กซ์คงถูกพ่อที่เป็นนักกีฬาระดับชาติ บังคับให้ซ้อมกีฬาจนเครียด แต่ทำอะไรพ่อไม่ได้ จึงเกิดการสะสมความเครียดมาระบายที่ครอบครัวที่อ่อนแอกว่า เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางทราบได้ว่าผู้ชายคนไหนมีปมในเรืองความเครียดสะสมมาจากการเลี้ยงดูและความคาดหวังจากครอบครัวในวัยเด็ก จนกว่าจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ได้เห็นได้รับทราบพฤติกรรมการแก้ไขปัญหาเมื่อนั้น จึงจะทราบว่าเราคงอยู่ร่วมกับชายคนนั้นไม่ได้หรือต้องทนอยู่ด้วยกันเพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาคนๆนั้น ดังนั้นการเลี้ยงดูในครอบครัวในช่วงวัยเด็กจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเด็กเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา การที่พ่อแม่ห้ามลูกทำอะไรตามความถนัดหรือความสนใจของตนเอง จะทำให้เด็กไม่มีเสรีภาพในการเลือกดำเนินชีวิต และเกิดความเครียดสะสมส่งผลกระทบจะไปตกที่เมื่อโตขึ้นจะไปมีพฤติกรรมระบายความเครียดโดยการทำร้ายร่างกายผู้ใกล้ชิดที่อ่อนแอกว่า
ดร.ญาดา ธงธรรมรัตน์ ความรุนแรงทางเพศในทัศนะขององค์การอนามัยโลกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท[3] คือ
1) ความรุนแรงทางร่างกาย (Physical violence) หมายถึง การได้รับบาดเจ็บโดยผู้กระทําความรุนแรง
ในรูปแบบการเฆี่ยนตี เตะ กัดหรือวิธีอื่นทําให้ผู้ถูกกระทําได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ต้องคํานึงบริบทของแต่ละวัฒนธรรมด้วยและเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ใช่อุบัติเหตุ มักเกิดจากผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้หญิงต้องพึ่งพิงรายได้ทางเศรษฐกิจจากผู้ชาย เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจก็เครียด ดื่มสุรา ของมึนเมา จนครองสติไม่อยู่ ใช้กำลังทำร้ายคนในครอบครัว
2) ความรุนแรงทางเพศ (Sexual violence) หมายถึง การกระทําใด ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ผู้ถูกกระทําเป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้กระทํา หรือตกลงยินยอมร่วมและการกระทํานั้น อาจใช้กําลังบังคับข่มขู่หรือหลอกล่อ ชักชวนให้สิ่งตอบแทน เกิดขึ้นได้แม้แต่ในคู่สมรสที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา บางครั้งภรรยาถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ แม้จะมีกฎหมายออกมาห้ามบังคับภรรยามีเพศสัมพันธ์ แต่ในททางปฏิบัติก็ไม่ได้รับการบังคับใช้ หรือแม้แต่เด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวก็ถูกล่วงเกินทางเพศตั้งแต่อนาจารไปจนถึงข่มขืน
3) ความรุนแรงทางจิตใจ (Psychological violence) หมายถึง การทําร้ายจิตใจ ควบคุมบังคับอย่างไม่มีเหตุผล ทําให้ได้รับความอับอาย การด้อยค่าหรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่นการด่าทอ พูดส่อเสียด หรือกระทำด้วยวาจาต่อหน้าธารกำนัลในที่สาธารณะ จากประสบการณ์ที่พบเห็นในการทำงานที่โรงพยาบาลคือ กรณีผู้ชายมีภรรยามากกว่า 1 คน แล้วพามาอยู่ด้วยกัน บางกรณีมีภรรยาถึง 28 คน ดังที่กล่าวมาในตอนต้น รวมถึงการคาดหวังให้ภรรยาต้องเลี้ยงดูบุตรแบบนั้นแบบนี้ ให้ได้ตามที่ฝ่ายชายต้องการ ถ้าทำไม่ได้ หรือลูกไม่เป็นไปตามที่พ่อต้องการ ก็จะโทษว่าเป็นความผิดของแม่จนเกิดการใช้ความรุนแรง
4) ความรุนแรงที่เกิดจากสภาพการเงิน ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือการละเลย/ทอดทิ้ง (Deprivation or neglect) โดยไม่สามารถดูแลเอาใจใส่และคุ้มครองอย่างเหมาะสมเพียงพอ รวมถึงการทอดทิ้งทางกาย เช่น ไม่ให้อาหารอย่างเพียงพอ ไม่ดูแลยามเจ็บป่วย ไม่ให้สิ่งจําเป็นแก่การดํารงชีพหรือสุขอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจและ/หรือปฏิบัติต่อผู้ถูกกระทําในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือ พัฒนาการของในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน
สาเหตุของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมาจากอาการทางสมองที่เก็บกดหรือมีอาการทางจิตและอารมณ์ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นความผิดปกติทางสมอง คนบางคนถ้าใครทำอะไรผิดใจหรือขัดใจก็ใช้ความรุนแรงตอบโต้ทันที อันนี้มาจากการควบคุมตนเองไม่ได้ เพราะสมองมีปัญหา ประการต่อมาเป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้และการเลียนแบบที่ละเล็กละน้อย จนกลายเป็นซึมซับพฤติกรรมนั้นๆมาใช้เมื่อโตขึ้น เช่น ลูกเห็นพ่อทำร้ายแม่แล้วพ่อมักจะได้เงินไปกินเหล้า เห็นพฤติกรรมนี้ซ้ำๆกัน ก็เก็บไว้ในความทรงจำมาทำเองเพื่อเลียนแบบ หรือการเลี้ยงดูที่ศูนย์เด็กเล็ก เด็กเห็นเพื่อนที่เกเรแล้วมักจะแย่งของเล่นของเพื่อนมาได้ ก็จะจดจำมาเลียบแบบการเกเรตามเพื่อน หรือการถ่ายภาพลูกเพื่ออวดเพื่อนๆ ส่งไปในสื่อออนไลน์หรือการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เด็กเล็กในที่สาธารณะที่ใครๆก็เห็นสรีระเปลือยของเด็ก อันนี้อันตรายมากเพราะคนบางคนมีภาวะทางจิตผิดปกติ ไม่สามารถยับยั้งช่างใจได้เมื่อเห็นเด็กไม่ใส่เสื้อผ้า ก็จะไปล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก ซึ่งบางประเทศถือเป็นความผิดทางกฎหมายที่พ่อแม่เปิดเผยสรีระของเด็กในที่สาธารณะ สาเหตุต่อมาของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวคือระบบพฤติกรรมในชุมชน เช่น ชุมชนแออัดมียาเสพติดหรือธุรกิจสีเทามากมาย เพื่อบ้านทะเลาะตบตีกันในครอบครัว หรือเพื่อนๆในชุมชนที่ชักชวนกันไปทำในสิ่งไม่ดี ก็จะทำตามๆกันไปหรือรู้สึกว่าจะทำอะไรก็ทำได้ เพราะเห็นคนอื่นๆในชุมชนก็ทำกันมาเป็นปกติ ประการสุดท้ายสังคมในระดับชาติ นานาชาติมีกฎระเบียบกฎหมายอะไรที่ควบคุมดูแลให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำร้ายหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง
ผลกระทบทางจิตใจของผู้ได้รับความรุนแรงในวัยเด็กจะเกิดโรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง รวมถึงอันตรายต่างๆ เกิดโรคซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย จากปัญหาอารมณ์ทางลบ สัมพันธภาพในครอบครัว ปัญหาการกิน การนอน และพฤติกรรมทางสังคมที่ผิดปกติ การใช้สุรา สารเสพติด การพนัน จะมีมากขึ้น
หากเป็นเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจะมีอาการซึม บางคนจะมีอาการพูดคล้ายเด็กเพิ่งหัดพูด น้ำเสียงเปลี่ยนไปเป็นเสียงเล็กๆ ทั้งที่เคยร่าเริง เรียนเก่ง พ่อแม่หรือครูต้องคอยสังเกตและสอบถาม ไม่ดุด่าเมื่อพบเด็กมีอาการดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องสังเกตสรีระภายนอกว่าร่างกายมีร่องรอยฟกช้ำที่ไหนบ้างหรือไม่ และที่สำคัญบริเวณอวัยวะเพศ เด็กจะไม่กล้าบอก ไม่กล้าเล่า จนเวลาล่วงเลยไปนาน เพราะผู้กระทำอาจข่มขู่ ไม่ให้บอกใคร ขู่จะทำร้าย จะฆ่าให้ตายถ้าบอกพ่อแม่ เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานที่สามารถร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ กรณีได้รับความรุนแรงทางครอบครัว ได้แก่ เว็บไซด์เพื่อนครอบครัว และสายด่วนพม. 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หากต้องการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วน ก็โทร 191 ศูนย์วิทยุของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือไปขอคำปรึกษาที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต เพื่อขอคำปรึกษาได้อาจไม่ใช่เรื่องความรุนแรงในครอบครัว แต่เป็นปัญหาอื่นทางจิตใจ
เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลกกลับยิ่งพบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น เพราะคนจะอยู่บ้านไม่สามารถออกไปทำงานหรือสังสรรค์หรือเข้าสังคม จนเกิดความเครียดมาระบายกับคนในครอบครัว เรียกว่าเกิดภาวะ shadow pandemic โดยมีรายงานว่านับแต่การแพร่ระบาดโควิด -19 ช่วง 6 เดือนแรกเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง
สุดท้ายเราสามารถตัดวงจรการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ หากบุคคลในครอบครัวปรับเปลี่ยนนพฤติกรรมด้วยการพูดจาไม่กร้าวร้าวต่อคนรุ่นต่อๆมา เช่นรุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ หากมีการใช้วาจารุนแรงต่อกัน รุ่นพ่อสามารถตัดวงจรความรุนแรงโดยไม่ใช้วาจารุนแรงต่อลูกของตน ขอให้ดูจากภาพที่แสดงนี้ เราสามารถสร้างสังคมที่ปราศจากหรือปลอดจากความรุนแรงในครอบครัวได้
การป้องกันและเสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติต่อมิติทางเพศ ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม
ประภาส ลี้เวหน ในช่วงวัยรุ่นเป็นผู้นำการสวดมนต์ในโรงเรียน แต่เนื่องจากเสียงในช่วงนั้นเล็กแหลมเหมือนผู้หญิง เพื่อนๆพากันล้อเลียนจนเกิดการต่อต้านทุกอย่างในสังคม ไม่เข้าเรียน แม้จะเป็นคนเรียนเก่งระดับห้องคิง ก็เลยเกเร แอนตี้เพื่อร่วมห้อง แอนตี้อาจารย์ จนหันเหไปทำอย่างอื่น ที่เป็นปมบาดแผลในใจ ไม่ยอมรับคนอื่น เอาแต่ใจตนเอง จนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็ยังเกเร แอนตี้การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย จนเรียนจบไปทำงาน และต้องไปนำเสนองานต่อลูกค้าแล้วไปตัดสินลูกค้า เพราะเชื่อมั่นตัวเองเกินไป ซึ่งเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งสังเกตว่าจริงๆแล้วเราไม่น่าเป็นพวกเชื่อมั่นตนเองสูงตนถึงขั้นต่อต้านสังคม แต่น่าจะมีอะไรบางอย่างติดอยู่ในใจที่กลายเป็นปม จึงแนะนำให้เราค้นหาปมในใจหรือบาดแผลภายในจิตใจให้เจอ เราจึงกลับมาคิดทบทวนจนพบว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็ก การที่เห็นแม่ได้รับความรุนแรงจากพ่อและครอบครัวฝั่งคุณพ่อที่มีวัฒนธรรมเคร่งครัดต่อผู้หญิง เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เรามีพฤติกรรมต่อต้านสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นปมทางจิตใจ เมื่อพบแล้วก็ค่อยๆเข้าใจตัวตนของเรา ยอมรับปมและเปิดบาดแผลทีละเรื่องๆ เพื่อเยียวยาตัวเอง จนกระทั่งเราสามารถก้าวพ้นสิ่งที่ทำให้เกิดปมจนเข้าใจว่านี่คือสาเหตุของปัญหาการต่อต้านสังคม สาเหตุที่ต้องการหลีกหนีตนเองจากความวุ่นวายที่ไม่อยากพบเจอในครอบครัวหันไปหาอบายมุข ดังนั้นทางออกของการป้องกันและเสริมสร้างค่านิยมและทัศนคติต่อมิติทางเพศ ที่สำคัญคือ การสร้างความสมดุลของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบภายในครอบครัว การไม่สร้างเงื่อนไขให้มีการใช้ความรุนแรงและรู้ตัวเองตลอดเวลาว่าตนเองเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง จากการที่ประสบปัญหาและสามารถแก้ไขปมทางจิตใจจนเข้าใจและหลุดพ้นได้ ในช่วงชีวิตที่เหลือจึงขอปวารณาตนเองที่จะรับใช้ผู้อื่นที่เผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ผู้ที่ได้รับชตากรรมดังกล่าวก้าวข้ามพ้นและบรรเทาใจให้ข้ามความหมองหม่นจนกลับมาใช้ชีวิตปกติสุขได้
จากประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นพบว่าบุคคลที่มีความรู้มีการศึกษาหรือเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมักจะมีความซับซ้อนทางจิตที่จะยอมรับปมในจิตใจหรือปรับปรุงทัศนคติและพฤติกรรมของตนมากกว่าบุคคลที่อยู่บนฐานรากของปิรามิด แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ธนวดี ท่าจีน สังคมไทยในปัจจุบันยังมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องภายในครอบครัว เป็นเรื่องส่วนตัว จึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเช่นว่านี้มิให้ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องเข้าแทรกแซงเพื่อความสงบสุขของชุมชน การใช้ความรุนแรงในครอบครัวทุกวัน ย่อมจะส่งผลกระทบต่อบุคคลและชุมชนโดยรวม ไม่มากก็น้อย ทั้งต่อเด็กที่จะเติบโตมากลายเป็นปัญหาของชุมชนและสังคม ต่อวุฒิภาวะของคนในชุมชน ประเด็นต่อมาต้องปรับปรุงคุณภาพและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเช่น ตำรวจ ในการรับเรื่องร้องทุกข์เมื่อรับแจ้งความว่ามีความรุนแรงในครอบครัวและไปถึงที่เกิดเหตุทันทีเมื่อได้รับแจ้ง อย่างน้อยไประงับเหตุและต้องมีมาตรการอบรมทักษะในการจัดการความรุนแรงทั้งระบบ โดยร่วมมือกับนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หน่วยงานด้านครอบครัว เยาวชนและสวัสดิการสังคม เพื่อหาทางนำผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบเข้าสู่กระบวนการบำบัดเยียวยาทันทีป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำ ประเด็นต่อมาคือการพัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุและการเยียวยาเบื้องต้นควรมีอยู่ในทุกท้องที่ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถให้บริการได้ทั่วถึงทันทีเมื่อเกิดเหตุ และสามารถจัดระบบการส่งต่อเชื่อมโยงกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ต้องบูรณาการกันในงานด้านการป้องกันและช่วยเหลือเมื่อมีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น โดยต้องจัดระบบให้มีกระบวนการรับแจ้งเหตุ กระบวนการไกล่เกลี่ยและกระบวนการบำบัดเยียวยาอย่างชัดเจน ทั่วถึง รวมทั้งสามารถแยกแยะให้ได้ว่าครอบครัวใดควรใช้มาตรการหรือวิธีการป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร
ดร.ญาดา ธงธรรมรัตน์ ขอเสนอให้มีมาตรการจัดการศึกษาเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายให้แก่เด็กได้เข้าใจ ในเรื่องเนื้อตัวร่างกายที่ห้ามใครมาแตะต้อง ประเด็นต่อมาต้องมีการอบรมเรื่องเพศศึกษาและครอบครัวให้แก่ผู้ที่กำลังจะแต่งงานรวมถึงวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้เข้าใจระบบการดำเนินชีวิตแบบครอบครัว การเกื้อกูลช่วยเหลือกัน ไม่เอาเปรียบกัน ให้อภัย อดทน อดกลั้น เพราะแต่ละคนมมขากภูมิหลังที่แตกต่างกันเมื่ออยู่ด้วยกันก็อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เมื่อเผชิญปัญหาความขัดแย้งจะแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างไร เพื่อมิให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ โดยเฉพาะจากภาพสไลด์ตัวอย่างข้างต้นต้องตัดวงจรความรุนแรงจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกให้ได้ ให้มันจบที่รุ่นลูกของเรา อีกประเด็นคือ ต้องมีการเรียนการสอนเรื่องการสื่อสารภายในครอบครัว เพื่อให้มีการปรับปรุงเรื่องการสื่อสาร ไม่ให้พูดจาประชดกันไปมา สื่อสารให้เข้าใจเจตนาของการกระทำและพูดกันให้ชัดเจนว่าหมายถึงเรื่องนี้โดยอีกฝ่ายต้องเรียนรู้เทคนิคการเป็นผู้ฟังที่ดี รวมถึงการจัดการอารมณ์และความเครียดเพื่อมิให้มีความเครียดสะสม จนระเบิดออกมา
_________________________
[1] ‘วิกฤติโควิด’ปัจจัยเสี่ยงความรุนแรงในครอบครัว ทำสถิติปี 64 พุ่งกว่า 1.4 พันราย ,สำนักข่าวอิศรา วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 , https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/99838-isranews-v.html
[2] ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 24ชม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ https://1300thailand.m-society.go.th/
[3] กรอบแนวคิดและนิยามการกระทําความรุนแรง https://www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/report2_11_3.pdf
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)