สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 10/2564

หัวข้อ กรณีถุงดำ ถึงเวลาต้องมีกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหายได้แล้ว

วันพุธที่ 1 กันยายน 2564

เวลา 13.30-15.00 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  2. พิกุล พรหมจันทร์ ผู้เสียหาย
  3. พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม – สปยธ.
  4. อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

เกริ่นนำ การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นประเด็นสำคัญของการสอบสวนที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นับแต่กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร คุณบิลลี่ พอจะลี รักจงเจริญ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และกรณีถุงดำ เหตุเกิดที่สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่ประชาชนทั่วประเทศเห็นภาพและเสียงจากกล้องวงจรปิดอย่างชัดเจน กรณีเหล่านี้เป็นคำถามว่าสมควรมีกฎหมายว่าด้วยห้ามการทรมานและการบังคับให้สูญหายได้หรือยัง อันเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนที่ สสส.ได้รณรงค์มาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของการเสวนาในครั้งนี้ หัวข้อ กรณีถุงดำ ถึงเวลาต้องมีกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหายได้แล้ว เพื่อสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานสอบสวน ติดตามความคืบหน้าและสาระสำคัญของร่างกกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหาย และการผลักดันให้ร่างฯนี้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนและเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบงานสอบสวนที่ทรงประสิทธิภาพ

การซ้อมทรมานและการอุ้มหายที่ผ่านมาจนถึงกรณีถุงดำ สะท้อนปัญหาอะไรของกระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานสอบสวน

พิกุล พรหมจันทร์ กรณีซ้อมทรมานในจังหวัดกาฬสินธุ์มีมานานแล้วก่อนที่จะเกิดเหตุกับหลานชายในช่วงปี 2546-2549 มีกว่า 300 เรื่อง แต่ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ โดยมีคดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่เพียง 33 เรื่อง กรณีของหลานชายคือนายเกียรติศักดิ์ อายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองกาฬสินธุ์ที่มีส่วนพัวพันกับยาเสพติดจับกุมและซ้อมทรมานเพื่อให้ช่วยเหลือเป็นสายและขายยาเสพติดให้ตำรวจกลุ่มนี้ แต่หลานชายไม่ยอมจึงถูกขังอยู่ 7 วันที่โรงพัก โดยไม่แจ้งผู้ปกครองและไม่ส่งศาลแล้วซ้อมทุกวันจนเสียชีวิต จากนั้นนำไปแขวนคอที่กระท่อมกลางนาที่ร้อยเอ็ด เพื่ออำพรางคดี สภาพศพที่ยื่นต่อศาลคือกะโหลกร้าว ซี่โครงหัก และลูกอัณฑะทั้งสองข้างบวมและมีเลือดไหล คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ญาติเป็นโจทก์ร่วม ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นายเป็นจำเลยว่ามีส่วนร่วมในการซ้อมทรมาน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกันให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-3 แต่แก้ให้ลดโทษจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 50 ปี และพิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 4 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ลงโทษประหารชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 5-6 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบฯ แต่แก้ว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 7 ปีนั้น เห็นว่าหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 5-6 ไว้คนละ 5 ปี แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงชั้นศาลฎีกากลับมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยศาลได้ให้เหตุผลอ้างถึงพยานโจทก์ที่มีเพียงปากเดียวว่าไม่ใช่ประจักษ์พยาน ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ โดยวิเคราะห์ถึงคำให้การโดยละเอียดหลายครั้งว่ามีพิรุธ ไม่น่าเชื่อถือ กับจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธโดยตลอด จึงน่าสงสัยว่าร่วมกระทำผิดจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ญาติๆผิดหวังกับคำพิพากษาศาลฎีกามาก สิ่งที่ผิดสังเกตในคดีนี้มีหลายประการ เช่น ก่อนอ่านคำพิพากษาฎีกาพยานที่เห็นเหตุการณ์ถูกฆ่าปิดปากไป 2 คน และต้องคุ้มครองพยานอีก 1 คน โดยไม่กล้าชี้ตัวตำรวจในศาล และวันนัดฟังคำพิพากษามีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป 30 วันเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มาฟังคำพิพากษาและศาลออกหมายจับจำเลยที่ 1 แต่พอวันอ่านจริงเราเห็นว่าทางจำเลยหน้าตาสดใสยิ้มแย้มกันทุกคน คล้ายๆกับรู้คำตอบของคดีแล้วว่าศาลจะยกฟ้อง เป็นต้น คดีนี้ต่อสู้คดีมากกว่า 14 ปี ทางรัฐและญาติใช้เงินไปมากมาย แต่สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย คดีถุงดำที่นครสวรรค์น่าจะเป็นกรณีที่เอาผิดตำรวจได้ เพราะมีหลักฐานชัดเจน ไม่เหมือนคดีของหลานที่มีการใช้ถุงดำคลุมหัวเหมือนกัน ตำรวจ 3-4 คนรุมกระทืบเด็กในห้อง แม่เด็กที่มาเยี่ยมลูกที่โรงพักมองทะลุเข้าไปเห็นในห้องสอบสวน แต่ไม่มีหลักฐานวงจรปิดขณะกำลังซ้อมเป็นหลักฐาน หากมีหลักฐานแบบนครสวรรค์จะเป็นประโยชน์ต่อคดีมาก หลังจากศาลชั้นต้นตัดสินญาติก็ได้ส่งคำพิพากษาไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อหวังจะให้ลงโทษทางวินัยตำรวจชุดนี้ และให้แก้ไขปัญหาการซ้อมทรมาน แต่ผบ.ตร.ยุคนั้นนอกจากไม่ลงโทษทางวินัยแล้ว ยังเลื่อนตำแหน่งพร้อมประกาศเกียรติคุณให้ตำรวจกลุ่มนี้อีกด้วย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  มูลนิธิทำงานในภาคใต้โดยรับเรื่องร้องเรียนการซ้อมทรมานมาตั้งแต่ปี 2548 โดยเรื่องที่ได้รับว่ามีการซ้อมทรมานมีตั้งแต่ใช้ถุงดำคลุมหัวแล้วซ้อม การให้นั่งในห้องแอร์ที่ลดอุณหภูมิจนเย็นจัด การให้นั่งตากแดด การสอบสวนทั้งกลางวันกลางคืนโดยไม่ให้นอนและอีกหลายวิธีการ แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเหมือนนครสวรรค์ที่จะยื่นศาลให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ ญาติจึงไม่สามารถจินตนาการได้ว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างไรในห้องขัง รู้แต่ว่าผู้ถูกจับมีการแสบตา หน้าตาท่าทางอิดโรย เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าถูกซ้อมก็ไม่มีใครเชื่อถือ นอกจากพยานหลักฐานหาไม่ได้แล้ว ทัศนคติของผู้พิพากษาก็มีส่วน เพราะในคดีที่ถูกฟ้องเมื่อจำเลยอ้างว่าถูกซ้อมให้รับสารภาพ ถูกบังคับให้ให้การเป็นปฏิปักษ์แก่ตนเอง ศาลจะเขียนในคำพิพากษาว่าไม่มีใบรับรองแพทย์ หรือใบแจ้งความ เมื่อไม่มีหลักฐานศาลจะไม่เชื่อว่ามีการซ้อมทรมาน จึงไม่ค่อยมีคดีขึ้นสู่ศาล ทางออกของการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานก็คือ ต้องแก้ไขปัญหาการสอบสวนทั้งระบบ โดยให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปตรวจสอบและรับรู้การจับกุม การควบคุมตัวอย่างมีประสิทธิภาพ

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร การใช้ถุงพลาสติกในการสอบสวนน่าจะมีมา 20 ไม่เกิน 30 ปีที่ผ่านมา ที่จริงในยุคผมนี่จะใช้กระสอบคลุมหัว แต่หากย้อนไปในอดีตสมัยโบราณบ้านเรามีการใช้จารีตนครบาลโดยถูกกฎหมาย เพื่อหาหลักฐานในการกระทำผิด หาหลักฐาน หาความลับ หลังรัชกาลที่ 5 จึงมีการยกเลิกจารีตนครบาล แม้จะยกเลิกมาแล้วก็ยังมีตำรวจนอกแบบอยู่มาก และยิ่งหลังการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาใหม่ๆ การสอบสวนมีฝ่ายปกครองเข้ามารับทราบ จับผู้ต้องหาได้ต้องส่งอำเภอ ตำรวจตอนนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยก็ต้องฟังคำสั่งนายอำเภอ ไม่มีอำนาจสอบสวนเอง จนกระทั่งมายุคจอมพลสฤษดิ์ ราวปี 2506 จึงอยากให้ตำรวจมีอำนาจของตัวเอง เลยมีการให้อำนาจการสอบสวนมาอยู่ที่ตำรวจ ไม่ต้องพึ่งมหาดไทย เพราะตำรวจสมัยก่อนเรียนและสอนแบบทหาร ตำรวจก็ย้ายมาจากทหาร อำนาจสอบสวนในกรุงเทพณและต่างจังหวัดจึงโอนมาเป็นของตำรวจตั้งแต่นั้นมา จนเกิดการร้องขอความเป็นธรรมมากมายว่าตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบ ในปี 2509 จึงมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอาจคานอำนาจของตำรวจ โดยให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนร่วมกับตำรวจทุกคดี จนถึงปี 2523 ก็มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยให้เพิ่มคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติให้ฝ่ายปกครองเข้ามาสอบสวนด้วย ทำให้การร้องเรียนเรื่องตำรวจซ้อมหรือทารุณผู้ต้องหาลดลง เพราะนายอำเภอและผู้ว่าสามารถเรียกสำนวนการสอบสวนมาดูได้ ตำรวจจึงไม่ค่อยกล้าทำอะไรนอกลู่นอกทาง จริงๆแล้วตำรวจถูกปลูกฝังความคิดแบบอำนาจนิยมมาตั้งแต่เรียนโรงเรียนเตรียมทหารในช่วงวัยเด็ก อายุ 17-18 ปี พอเข้ามาเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจหลักสูตรการเรียนการสอน ก็ยังมีกลิ่นของทหารติดอยู่ การฝึกทางปราบปราม การออกกำลัง การยิงปืน เป็นการฝึกแบบทหาร แต่ทางวิชาการตำรวจได้ปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต ไม่ใช่นิติศาสตร์ ความคิดและทัศนคติแบบทหารจึงติดตัวมาตั้งแต่วัยรุ่น เช่น คติที่ว่าการไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน หรือ คำสั่งผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์ หรือไม่มีอะไรที่ตำรวจทำไม่ได้ เป็นต้น ฝึกแบบทหารคือการฝึกไปรบ ไปฆ่าในสงคราม แต่งานของตำรวจคือปราบปรามโจรผู้ร้ายและอำนวยความสงบให้เกิดในท้องที่ ดังนั้นจึงควรมีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมตำรวจขึ้นเพื่อสอน อบรมเรื่องงานสอบสวน แยกมาจากโรงเรียนเตรียมทหาร ปัญหาต่อมาคือคนที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจกลับมาคุมงานด้านการสอบสวนและเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจ ที่งานสอบสวนขึ้นโดยตรงต่อหัวหน้าสถานี แทนที่จะเป็นคนที่เรียนมาทางด้านนิติศาสตร์ กรณีผู้กำกับถุงดำนั้นเป็นทั้งฆาตกรและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน สามารถสอบสวนคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัด  และคดีผู้กำกับถุงดำนี้ ทำการสอบสวนผู้ตายอยู่ถึงเกือบ 20 วัน ก่อนที่จะปรากฏหลักฐานเป็นคลิปการทรมาน ดังนั้นจึงมีเวลามากพอที่จะทำลายพยานหลักฐานต่างๆ เช่น ไม่มีบันทึกการจับกุม การตายในความควบคุมเจ้าพนักงานไม่แจ้งให้ฝ่ายต่างๆ เช่นอัยการ แพทย์และฝ่ายปกครองมาร่วมชันสูตรพลิกศพ[1] ประเด็นคือ เมื่ออำนาจการสอบสวนอยู่ที่ผู้กำกับสถานีตำรวจและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน งานสอบสวนจึงไม่มีอิสระ เพราะพนักงานสอบสวนมีอำนาจตามกฎหมายในการออกหมายค้น หมายจับ อำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายเช่นนี้เป็นดาบสองคมที่สามารถปกปิดความผิดของตนเองได้ จึงต้องยกเลิกความคิดที่ท้าทายให้ผู้เสียหายจากการทรมานไปฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะทำไม่ได้ ประชาชนผู้สียหายไม่สามารถหาหลักฐานไปดำเนินคดีตำรวจที่ซ้อมทรมานตนได้

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ จากการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในปัจจุบัน พบว่าการซ้อมทรมานในภาคใต้ลดลงกว่าหลายปีที่ผ่านมา หากนับจากปี 2547 ที่มีกรณีปล้นปืน ก่อนหน้านี้เราจะได้รับการร้องเรียนว่าผู้ถูกจับตามกฎหมายความมั่นคงหรือกฎหมายพิเศษใน 3 จังหวัดภาคใต้และจังหวัดสงขลาบางอำเภอ ถูกซ้อมทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ให้เดินเท้าเปล่าบนพื้นที่ราดด้วยน้ำแล้วให้ถอดรองเท้าแช่น้ำแล้วเอาไฟฟ้าช็อต ให้อยู่ในเต็นท์กลางแดด ฯลฯ ดังที่เราเคยได้ยินมาตลอด  ประเด็นสำคัญก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐก็มักจะอ้างว่าเราปฏิบัติต่อผู้ถูกคบคุมตัวด้วยความระมัดระวังแล้ว ญาติไม่มีหลักฐานในช่วงของการควบคุมตัว 7 วันตามพรบ.กฎอัยการศึกว่าผู้ถูกจับได้รับการปฏิบัติอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายรวมทั้งศาลด้วยมักอ้างว่า คนเหล่านี้ยังไม่ใช่ผู้ต้องหาตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงจะใช้สิทธิเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองยังไม่ได้ เช่น ไม่สามารถใช้สิทธิร้องขอให้ศาลไต่สวนว่าถูกควบคุมตัวโดยมิชอบตามมาตรา 90[2] กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีสิทธิพบทนายความ ญาติ หรือคนที่รู้จักไว้วางใจ เป็นต้น หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเคยเสนอให้แก้ไขด้วยการติดกล้องไว้ที่เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวและสอบสวน เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลบันทึกภาพเหล่านี้ จะเปิดเผยต่อเมื่อมีเรื่องร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานต่อญาติ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการต่อข้อเสนอนี้

            สำหรับร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ น่าจะเป็นเครื่องมือในการป้องกันการซ้อมทรมานและสร้างหลักประกันมิให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปิดบังซ่อนเร้นพยานหลักฐานที่กระทำต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัว ให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น

2.ความคืบหน้าและสาระสำคัญของร่างกกฎหมายห้ามทรมานและอุ้มหาย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นับแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)และในปี 2555 ได้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้มีกฎหมายเพื่อรองรับให้เป็นไปตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับ จนกระทั่งในปี 2557 ภายหลังที่เราต้องไปรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีข้อเสนอให้ประเทศไทยต้องเร่งจัดทำกฎหมายต่อต้านการทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาทั้งสองฉบับเพื่อให้การซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นอาชญากรรม ขณะเดียวกันใน      ปี 2557 เกิดกรณีอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคน เช่น ทนายสมชาย และคุณบิลลี่ กระทรวงยุติธรรมจึงได้ริเริ่มจัดทำร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญรวมเป็นฉบับเดียวกัน ด้วยเห็นว่าอนุสัญญาทั้งสองฉบับมีเนื้อหาและมาตรการคล้ายๆกัน เหตุที่ประเทศไทยยังไม่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ เพราะไปอ้างต่อสหประชาชาติว่าขอให้ปรับปรุงกฎหมายภายในให้เรียบร้อยก่อนจึงค่อยให้สัตยาบัน ดังนั้นการซ้อมทรมานและการอุ้มหายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจึงยังไม่เป็นอาชญากรรมในกฎหมายไทย

            แต่ร่างฯของกระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพราะเกิดการรัฐประหาร ภาคประชาชนจึงนำร่างฯของกระทรวงยุติธรรมมาปรับปรุงในปี 2563 และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการได้นำร่างฯของพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกลมารวมกับร่างฯของภาคประชาชนพิจารณาเป็นร่างฯของคณะกรรมาธิการ ถือเป็นร่างฯที่แปลกมากเพราะพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมมือกันลงนามเสนอร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน และพิจารณาเสร็จสิ้นในต้นปี 2654 ปัจจุบันร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มี 4 ฉบับที่รอการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร คือ ร่างฯของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำร่างฯของกระทรวงยุติธรรมมาปรับปรุงประเด็นอำนาจในการสอบสวน ร่างฯของพรรคประชาชาตินำร่างกระทรวงยุติธรรมมาปรับปรุงให้กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมถึงกฎหมายความมั่นคงที่ใช้อยู่ในภาคใต้ ร่างฯของคณะกรรมาธิการฯ(ร่างของภาคประชาชน)และร่างฯของกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล

            สาระสำคัญของร่างฯคณะกรรมาธิการฯที่สำคัญๆ ได้แก่ ให้การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม โดยมีเหตุพิเศษคือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม ลงโทษบุคคลนั้น ข่มขู่คุกคาม หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ ผู้กระทำมีโทษหนักกว่าการทำร้ายร่างกายระหว่างเอกชนกับเอกชน ให้มีคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียน กำหนดนโยบายเยียวยา ตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว และป้องกันการละเมิด ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวนโดยทำงานร่วมกับพนักงานอัยการในการสอบสวนหาพยานหลักฐานต่างๆ และการฟ้องคดีให้ดำเนินการโดยศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ใช้ระบบไต่สวนในกระบวนพิจารณาเช่นเดียวกับศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีความ active ในการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งภาคประชาชนก็หวังว่าผู้พิพากษาศาลคดีทุจริตจะมีความรู้เรื่องอนุสัญญา 2 ฉบับ ให้เข้าใจและดำเนินการไต่สวนค้นหาความจริงได้ตามหลักการที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือ กฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดในการณีที่มีการทรมานและอุ้มหายโดยผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เพื่อเป็นการป้องกันการรู้เห็นเป็นใจ หรือรู้แล้วก็ไม่ห้าม หรือเกิดเหตุแล้วปกปิดความผิดของลูกน้อง

ข้อแตกต่างระหว่างร่างฯคณะกรรมาธิการกับร่างของกระทรวงยุติธรรมก็คือ ร่างของกรรมาธิการจะมีบทที่ว่าด้วยห้ามมีการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายเพราะเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติ และมีบทบัญญัติว่าด้วยการลงโทษอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรมและที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของมนุษย์[3] โดยมีนิยามกำหนดเป็นหลักการไว้ มีคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีความหลากหลายของกรรมการ ห้ามการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หากผู้นั้นอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตเมื่อกลับไปประเทศต้นทาง ประเด็นต่อมาการจับกุมและการควบคุมตัวต้องมีฝ่ายปกครองและอัยการเข้ามาร่วมรับทราบ การสอบสวนผู้ถูกจับกุมต้องกระทำต่อหน้าทนายความ หากไม่ดำเนินการห้ามศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการนั้น โดยมีอัยการเข้าร่วมการสอบสวนด้วย ประเด็นต่อมาคือการตัดอำนาจของปปท.และปปช.เนื่องจากหลายกรณีที่เมื่อมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะต้องส่งเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปรากฏว่ามีความล่าช้ามากและบางครั้งมีการเหมือนเป็นการฟอกตัวผู้กระทำผิดที่ไม่ถูกชี้มูลความผิดหรือจำนวนผู้กระทำผิดลดลง ที่สำคัญร่างของ กรรมาธิการไม่มีอายุความ ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ปรากฏในร่างกระทรวงยุติธรรม

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ร่างกฎหมายฉบับคณะกรรมาธิการนี้ถือเป็นร่างกฎหมายที่ก้าวหน้ามาก ถ้ามีการประกาศใช้เป็นกฎหมายตามที่มีเนื้อหาสำคัญๆดังที่คุณพรเพ็ญกล่าวถึง เพราะสามารถเอาผิดต่อผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดได้และเป็นการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลุแก่อำนาจ ที่กฎหมายอาญาไม่ได้ระบุไว้ เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ไม่มีร่องรอยของการถูกทำร้าย เช่นการถูกคลุมหัว ถ้าไม่ตายก็ไม่สามารถหาหลักฐานมากถ้าไม่มีคลิปดังที่เกิดขึ้นที่นครสวรรค์ นอกจากนี้นิยามของการทรมานตามร่างฯฉบับนี้ ก็มีความกว้างขวาง ว่าการทรมานให้รวมถึงการกระทำด้วยวิธีการใดๆ รวมถึงการทรมานทางจิตใจด้วย การทรมานหมายรวมกึง ข่มขู่หรือขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม  เช่น จับเขามาแล้วแกล้งเอาปืนมายิงที่ข้างหู โดยไม่ใส่กระสุน นี่ก็เป็นการข่มขู่ เข้าข่ายการทรมานตามความหมายนี้แล้ว ซึ่งทำให้ผู้กระทำต้องได้รับโทษ แต่ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ การเอาปืนมายิงข้างหูก็จะไม่เป็นความผิดทางอาญา ผิดแค่ทางวินัย และการกระทำเช่นนี้ก็กระทำได้ยากขึ้น เพราะเมื่อมีการจับกุมบุคคลใด ร่างฯพรบ.     มาตรา 30 บอกว่าให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องแจ้งการควบคุมดังกล่าวต่อนายอำเภอและพนักงานอัยการแห่งท้องที่ที่มีการควบคุมตัวทราบทันที โดยให้นำตัวบุคคลดังกล่าวไปยังที่ทำการของผู้ควบคุมตัวทันที และการควบคุมการสอบสวนทางคดีให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ ในขณะที่ปัจจุบันตำรวจจับกุมเอง สอบสวนเอง ดังนั้นจะทำอย่างไรกับบุคคลที่ถูกจับหรือพยานหลักฐานก็ได้ ถ้าจะทุจริตไม่ตรงไปตรงมา หรือแม้แต่การโอนคดีไปให้กองปราบสอบสวนก็ตาม ก็ยังถือว่าอำนาจการสอบสวนอยู่ในมือตำรวจอยู่ดี ก็ยังไม่มีความเป็นธรรมเพียงพอในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจหน่วยต่างๆ นอกจากนี้ในคดีการบังคับสูญหายกฎหมายนั้น กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนี้ก็ไม่สามารถดำเนินการทางคดีอะไรได้ เพราะไม่มีศพมายืนยัน แต่ร่างฯพรบ.ฉบับคณะกรรมาธิการสามารถเอาผิดไปถึงแค่การปกปิดหรือปิดบังสถานที่ควบคุมตัว การปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวต้องแจ้งให้ญาติทราบ จะเคลื่อนย้ายสถานที่ควบคุมก็ต้องแจ้งญาติหรือหรือบุคคลที่ผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจทราบถึงข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเคลื่อนย้ายและสถานที่ปลายทางที่รับตัว ประเด็นสำคัญอีกประการของร่างฯฉบับนี้ คือ เจ้าหน้าที่ไม่อาจอ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม ความไม่มั่นคงของรัฐ หรือสถานการณ์พิเศษใด เพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จะเห็นว่าร่างฯแบบนี้แม้จะฟังดูเป็นอุดมคติ แต่กฎหมายดีๆอย่างนี้จะผ่านสภาหรือไม่ผ่านก็ต้องติดตาม และอยากจะถามว่าใครไม่เห็นด้วยกับร่างฯนี้ขอให้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่ดีอย่างไร ตรงไหน ความจริงร่างฯฉบับก่อนที่ตกไปก่อนหน้านี้ เป็นร่างที่ดีเช่นกันแต่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับผบ.ตร.คัดค้าน อ้างว่าจะทำให้คดียากเสพติดพุ่งสูงขึ้นเพราะรีดเอาหลักฐานพยานได้ยาก รัฐบาลเลยถอนร่างฯออกจากสภา

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ โดยหลักการของเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายนั้น จะเอาร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แต่อย่าลืมว่าร่างของคณะกรรมาธิการฉบับนี้ที่ลงนามเสนอโดยนายสิระ เจนจาคะ นั้นเป็นการนำเอาร่างของสส.รังสิมันต์ โรม เข้ามาเป็นหลักในการพิจารณาและพิจารณารวมไปกับร่างของกระทรวงยุติธรรมและร่างฯขององค์กรภาคประชาสังคม ร่างฯนี้จึงถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและภาคประชาสังคม นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการจัดทำกฎหมาย แต่ปัญหาที่พบก็คือเกรงว่าร่างฯนี้จะไปถูกนำเสนอเข้าสภาในสมัยการประชุมเดือนกันยายนนี้ เพราะยังมีความสับสนการประชุมวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านที่จะผลักดันกฎหมาย เพราะจะต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในช่วงกลางเดือนกันยายนและมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับรอเข้าสู่วาระพิจารณาในสภา สิ่งสำคัญที่ขอเรียกร้องตอนนี้คืออยากเห็นรัฐบาลมีความจริงใจในการนำร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาในสภาโดยเร็ว ก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 กันยายน เพื่อว่าเมื่อผ่านขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว ช่วงปิดสภาคณะกรรมาธิการวิสามัญจะได้มีเวลาเพียงพอในการแปรญัตติเพื่อถกเถียงกันในประเด็นสำคัญๆ เพราะในทางปฏิบัติร่างฯนี้เสนอเข้ามาตั้งแต่มกราคม 2564 และวิปรัฐบาลได้ส่งร่างฯให้คณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งคณะฯกลั่นกรองได้แก้ไขแล้วส่งกลับมายังวิปรัฐบาล วิปรัฐบาลได้ส่งต่อมาให้รัฐสภาแล้วรออยู่ ถ้ารัฐบาลจริงใจก็เพียงแต่ส่งหนังสือให้ประธานสภาหยิบยกร่างฯพรบ.ป้องกันและปราบปราการทรมานฯนี้ ขึ้นพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งสามารถทำได้ และหลายๆรัฐบาลก็เคยเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณาเป็นการเร่งด่วนมาแล้วหลายยุครัฐบาลที่ผ่านมา

            ปัญหาประการต่อมาคือ ในการพิจารณาแปรญัตติในวาระที่สองนั้น อาจมีบางประเด็นสำคัญที่ตกไปหรือสิ่งที่ภาคประชาชนอยากได้ก็ไม่ได้ เช่นเรื่องการไม่มีอายุความ หรือการเอาผิดผู้บังคับบัญชา อย่างไรก็ตามคิดว่าควรให้กฎหมายนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ก่อน แม้จะไม่สมบูรณ์ตามที่เราคาดหวัง ในระยะต่อไปก็ค่อยมาพิจารณาปรับปรุบแก้ไขเพิ่มเติมอีกก็ได้ แต่อย่างน้อยประเด็นที่ต้องไม่ให้ตกไปและพอที่จะยอมรับได้ คือ เรื่องที่บุคคลใดพบเห็นการทรมานหรืออุ้มหายก็สามารถร้องเรียนต่อศาลให้ตรวจสอบการควบคุมตัวผู้ถูกจับหรือไต่สวนผู้ดูแลสถานที่ควบคุมตัวได้ หรือ การห้ามส่งตัวผู้ถูกควบคุมตัวข้ามแดน หากพบว่าผู้นั้นจะมีอันตรายแก่ชีวิต การบังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐที่จับกุมตัวต้องบันทึกวันเวลาสถานที่ของการมาถึงสถานที่ควบคุม การย้ายถานที่ควบคุม ต้องแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ผู้นั้นไว้วางใจทราบ ตลอดจนการบันทึกข้อมูลการตรวจร่างกายด้วย รวมถึงการดำเนินคดี การฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการซ้อมทรมานและการอุ้มหายต้องให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบ ประเด็นต่างๆเหล่านี้นับเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่ไม่ควรให้ตกไปในกฎหมาย

พิกุล พรหมจันทร์ เมื่อได้ฟังเนื้อหาสาระของร่างฯฉบับนี้แล้ว ก็รู้สึกเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านที่ไม่รู้กฎหมายมาก เพราะมีข้อที่กำหนดว่าการจับบุคคลใดต้องมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นรับทราบด้วยคือฝ่ายปกครองและอัยการ และโดยเฉพาะในกรณีที่มีการย้ายสถานที่ควบคุม จะต้องมีการระบุถึงสถานที่ปลายทางที่รับตัว และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการย้ายสถานที่ควบคุมตัวนั้น เนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นกับหลานชายที่กาฬสิทธุ์นั้น มีการเบิกตัวหลานชายออกไปจากห้องขัง โดยผู้มาพาออกไปก็ไม่ใช่พนักงานสอบสวน เป็นแค่จ่าคนหนึ่งที่นำตัวออกไป ถามว่ามีอำนาจอะไรในการพาตัวออกไปจากที่คุมขังแล้วพาไปไหนก็ไม่มีใครรู้ มารู้อีกทีเจอเป็นศพถูกแขวนคอในกระท่อม นอกจากนี้กรณีที่มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นมานานแล้วจนมาถึงเหตุการณ์ที่นครสวรรค์นั้น แสดงว่าผู้บังคับบัญชาจะต้องรู้เห็นเป็นใจที่ทำให้เกิดขึ้น การที่กฎหมายเขียนไว้ว่าให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบการกระทำของลูกน้องก็จะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์มาก

การผลักดันให้ร่างฯนี้เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนและเป็นการปฏิรูปงานสอบสวนที่ทรงประสิทธิภาพ

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จริงๆแล้วสาระสำคัญต่างๆที่พดคุยกันในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ออกสู่สาธารณะในรูปสื่อต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งทางสื่อมวลชนและเว็ปไซต์ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้ผู้สนใจร่างฯฉบับนี้อ่านทำความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมาย จากนั้นไปพบสส.ในเขตของท่านเพื่อสอบถาว่าได้ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนี้หรือไม่ และสส.จะโหวตให้ร่างนี้ผ่านออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายหรือไม่ ถ้าสส.ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแล้ว ก็ช่วยไปผลักดันให้ร่างของพรรคการเมือง 3 ร่าง และร่างของกระทรวงยุติธรรมออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายด้วย เพื่อให้การซ้อมทรมานและอุ้มหายเป็นความผิดอาญาและผู้กระทำรวมถึงผู้รู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำต้องมีความผิดได้รับโทษตามกฎหมายนี้

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร สปยธ.ก็จะเผยแพร่หลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป และอาจเข้าไปล็อบบี้ในสภาด้วย เนื่องจากสปยธ.ไม่เห็นราบละเอียดของร่างกระทรวงยุติธรรม จึงไม่ทราบว่ามีกรปรับปรุงอะไรไปบ้าง แต่จะพยายามเผยแพร่ประเด็นสำคัญของร่างคณะกรรมาธิการฯเพราะเห็นว่ามีเนื้อหาสำคัญที่เป็นความก้าวหน้าของการปฏิรูประบบงานสอบสวนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อยากเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมโดยรมต.สมศักดิ์ เทพสุทินพิจารณาถอนร่างของกระทรวงยุติธรรมออกไป เพราะร่างของกระทรวงยุติธรรมมีสาระสำคัญน้อยกว่าร่างของภาคประชาชนและคณะกรรมาธิการ ที่สำคัญอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีจริงใจผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาผู้แทนในสมัยนี้

พิกุล พรหมจันทร์ ใจจริงอยากจะเรียกร้องให้กฎหมายนี้ผ่านออกมาโดยเร็ว แต่คงจะไม่ไปหาสส.ที่กาฬสินธุ์บ้านเกิด เพราะนายตำรวจและคณะที่เกี่ยข้องกับการตายของหลานชายยังคงอยู่ในพื้นที่ ไม่ถูกย้ายไปที่ไหน และมีตำแหน่งสูงขึ้นด้วย หากจะมารณรงค์กฎหมายฉบับนี้กับสส.จะขอมาที่รัฐสภา สะดวกและปลอดภัยกว่า

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ในฐานะสส.เคยตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทินเมื่อปี 2562 ที่กระทรวงยุติธรรมเคยเสนอร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ว่าจะนำเข้าสู่สภาโดยเร็วได้หรือยัง รัฐมนตรีสมศักดิ์ก็รีบตอบว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่และขอถอนร่างฯนี้ออกมาก่อน ตั้งแต่นั้นกระทรวงยุติธรรมจึงเพิ่งมาเสนอร่างกฎหมายนี้ใหม่และรอเข้าสู่การพิจารณาในสภา ซึ่งต้องของเรียนว่าแม้จะเข้าสู่วาระพิจารณาของวภาฯแล้วก็ตามก็ยังอยู่ในวาระท้ายๆที่ยังรอคิวกฎหมายฉบับอื่นๆพิจารณาก่อนอีกมาก ประเด็นนี้จึงอยู่ที่รัฐบาลว่าจริงใจจะเร่งนำเสนอให้รัฐสภาโดยเร่งด่วนหรือไม่ ขณะที่ตรวจสอบกับฝ่ายวระเบียบวาระการประชุมสภา ก็ยังไม่เห็นว่าร่างกฎหมายห้ามทรมานฯจะเข้ามาพิจารณาในเร็วๆนี้ หากรัฐบาลจริงใจกระบวนการคือ นายกฯต้องส่งสัญญานให้วิปรัฐบาลหยิบยกร่างกฎหมายนี้แล้วส่งให้ประธานชวน หลีกภัย สั่งบรรจุร่างกฎหมายเป็นการเร่งด่วน ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจหยิบยกร่างกฎหมายใดขึ้นมาพิจารณาเร่งด่วนโดยพลการ ดังนั้นในฐานะสส.จะเร่งติดตามให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่วาระพิจารณาในสมัยประชุมนี้ให้ได้

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ขอแนะนำหนังสือ เมื่อผมถูกทรมาน จึงตามหาความยุติธรรม เป็นการรวบรวมประสบการณ์การเรียกร้องหาความยุติธรรมให้บุตรชายที่ถูกจับกุมและซ้อมทรมานให้รับสารภาพในสิ่งที่ตนเองไม่ได้กระทำ เหตุเกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี ผู้สนใจติดต่อได้ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม https://crcfthailand.org/

 

_____________________

 

[1] ดูมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทําการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐไม่มี หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้  ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของเอกชน หรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ให้ พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทําบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันทีและให้แพทย์ดังกล่าวทํารายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสํานวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่ง การกระทําผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้น การชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดําเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖

ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทําการชันสูตรพลิกศพทราบ และก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดย ชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทําได้

ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทําของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นําบทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวันแต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ 

เมื่อได้รับสํานวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทําคําร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทําการไต่สวนและทําคําสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทําร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทําร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสํานวน ถ้ามีความจําเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ให้พนักงาน สอบสวนปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานอัยการ

ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกําหนดวันที่จะทําการไต่สวนไว้ที่ ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลขอให้ศาลส่งสําเนาคําร้องและแจ้งกําหนดวันนัดไต่สวน ให้สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายตามลําดับ อย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทําได้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนําพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ

เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกําหนดวันที่จะทําการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิ ยื่นคําร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนําสืบและนําสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดําเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ให้ศาลตั้งทนายความขึ้นเพื่อทําหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย

เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นําสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติมหรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือ ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทําคําสั่ง แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้นําสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้ง หรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

คําสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น

เมื่อศาลได้มีคําสั่งแล้ว ให้ส่งสํานวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดําเนินการต่อไป

แพทย์ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานผู้ได้ทําการชันสูตรพลิกศพ และผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตามมาตรานี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรา 173

[2] กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 90  เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ขอให้ปล่อย คือ

(1) ผู้ถูกคุมขังเอง

(2) พนักงานอัยการ

(3) พนักงานสอบสวน

(4) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี

(5) สามี ภรรยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง

เมื่อได้รับคำร้องดั่งนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลันและถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

 

[3] ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….  (ฉบับคณะกรรมาธิการฯ ) มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าด้วยประการใดอันก่อให้เกิดอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มิใช่การทรมาน ทั้งนี้ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติจาก หรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย