สรุปประเด็น สสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 9/2564

หัวข้อ บทบาทศาลยุติธรรมกับความคาดหวังของประชาชน

วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00-11.30 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล
  2. สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา/ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  3. ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ คณะนิติศาสตร์ ผอ.หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีและการตรวจสอบภายใน

สัณหวรรณ ศรีสด กล่าวถึง ความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม  มีฐานมาจากหลักนิติธรรม (rule of law) โดยเฉพาะหลักเรื่องการแบ่งแยกอํานาจ โดยถูกระบุในตราสารระหว่างประเทศ เช่น หลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ (United Nations’ Basic Principles on the Independence of the Judiciary) กฎบัตรสากลของผู้พิพากษา (Universal Charter of the Judge) และระบุไว้ในตราสารระดับภูมิภาค เช่น ข้อเสนอแนะเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา (Recommendation on the Independence of Judges) ของสภาแห่งยุโรป (Council of Europe)  มติเรื่องการเคารพ และการเสริมสร้างความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ที่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน และสิทธิประชาชนแห่งแอฟริกา (African Commission of Human Rights and People’s Rights – ACHPR) คําแถลงกรุงปักกิ่งว่าด้วยหลักการของความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในภูมิภาค (Beijing Principles) เป็นต้น ความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีมีเกณฑ์ที่เป็นตัวชี้วัด 3 ประการ คือ 1.ความเป็นอิสระเชิงสถาบัน หมายถึง สถาบันตุลาการที่เป็นอิสระจากอํานาจฝ่ายอื่นๆ ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยพิจารณาว่าการขาดกลไกที่เป็นอิสระที่ทําหน้าที่ในการสรรหาผู้พิพากษาและในการดูแลวินัยของผู้พิพากษานั้นเป็นการจํากัดความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ ในกรณีของประเทศสโลวาเกีย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเห็นว่า การแต่งตั้งผู้พิพากษาโดยรัฐบาลด้วยการรับรองทางรัฐสภา อาจจะมีผลกระทบทางลบต่อความเป็นอิสระของตุลาการได้  2. ความเป็นอิสระเชิงปัจเจกบุคคล หมายถึงผู้พิพากษาแต่ละบุคคลต้องมีความอิสระจากการครอบงำโดยสมาชิกตุลาการคนอื่นๆ รวมทั้งผู้บังคับบัญชา การทบทวนคําพิพากษาของผู้พิพากษาต้องทําโดยศาลที่สูงกว่าเท่านั้น ไม่ใช่โดยหัวหน้าระดับที่สูงขึ้นไป 3. ผู้พิพากษาต้องมี “ความเป็นกลาง”หรือไม่เอนเอียง ซึ่งมีความหมายตามตัวอย่างที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปมีคำวินิจฉัยว่า การไต่สวนคำร้องและในชั้นพิจารณาคดีดำเนินการโดยตุลาการคนเดียวกันต่อเนื่องกัน อาจจะก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นกลางของศาล หรือคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสิทธิของประชาชนแห่งทวีปแอฟริกามีความเห็นว่า คณะตุลาการที่ประกอบด้วยผู้

พิพากษาหนึ่งคนและสมาชิกของกองทัพไม่สามารถถูกมองได้ว่าทรงความเที่ยงธรรม

            การตรวจสอบภายในเกี่ยวกับโทษทางวินัย ปรากฏอยู่ในหลักการบังกาลอร์ที่กำหนดว่าผู้พิพากษาสามารถถูกปลดออกจากตําแหน่งได้หากประพฤติผิดอย่างรุนแรง กระทําละเมิดทางวินัย หรือก่ออาชญากรรม หรือไร้ความสามารถ  รัฐต้องให้เหตุผลออย่างชัดเจนที่จะใช้ในการปลดผู้พิพากษา และการจะสั่งปลดต้องดําเนินการโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระและมีความเที่ยงธรรมที่ดําเนินการด้วยวิธีการไต่สวนที่เป็นธรรม คณะกรรมการสอบวินัยผู้พิพากษาต้องเป็นกลาง ส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้พิพากษา อาจจะเป็นการผสมกัน ระหว่างผู้พิพากษาที่ทํางานอยู่กับผู้พิพากษาที่เกษียณแล้ว และต้องมีคนนอกด้วยเพื่อให้เกิดความ โปร่งใส  การไต่สวนผู้พิพากษาต้องโปร่งใสต่อสาธารณะ ควรให้สาธารณชน นักวิชาการ นักกฎหมายมอนิเตอร์ขั้นตอนการตรวจสอบทางวินัยได้ รวมถึงพิจารณาตั้งคณะกรรมการทบทวนวินัย  และสามารถยื่นเรื่องได้ให้คณะกรรมการนี้เป็นคนทบทวนได้ (ปฏิญญาอิสตันบูลเรื่องของกระบวนการการดําเนินการของตุลาการ) นอกจากนี้ในทางสากลยังมีข้อเสนอแนะให้ศาลต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของคู่ความในคดี เช่น พัวพันกับการทุจริต หรือมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่นผู้พิพากษาอาจมีส่วนร่วมกับอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผ่านวิธีการ เช่นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมาน การปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย การบังคับให้สูญหาย การคุมขังตามอําเภอใจ การบังคับโยกย้ายผู้คนโดยไม่สมัครใจ หรือการตัดสินลงโทษบุคคลผ่านกระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม กรณีดังกล่าวศาลต้องรับผิดด้วยการชดเชยเยียวยาแก่เหยื่อ และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์   ก่อนที่จะไปดูว่าศาลมีอิสระในการพิจารณาคดีหรือไม่นั้นต้องย้อนกลับไปดูรากเหง้าของปัญหาก่อนว่าระบบการดำเนินคดีนั้นเป็นการดเนินคดีโดยรัฐหรือประชาชน เพราะในประเทศที่พัฒนาระบบยุติธรรมอย่างดี เช่นในเยอรมนีนั้น การดำเนินคดีโดยเฉพาะคดีอาญาเป็นการดำเนินคดีโดยรัฐ เป็นกระบวนการเดียว ที่ทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจ อัยการ ศาล โดยไม่แยกเป็นส่วนๆ ในประเทศที่ใช้ระบบ civil law หรือประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายจะไม่แยกกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนๆแบบในบ้านเรา ศาลต้องทำหน้าที่ไต่สวนและค้นหาความจริงในคดีตรวจสอบการได้พยานหลักฐานของอัยการและตำรวจ ตำรวจเป็นผู้จับกุมและอยู่ภายใต้การทำงานร่วมกับอัยการในการแสวงหาพยานหลักฐาน ในขณะที่ระบบ common law ศาลทำหน้าที่พิจารณาโทษเท่านั้น การตัดสินถูกผิดเป็นหน้าที่ของลูกขุน ในระบบของศาลไทยนั้นยังถือว่าไม่มีความเป็นอิสระเพราะศาลต้องดำเนินคดีภายใต้ข้อจำกัดของนโยบายและกฎหมาย บางคดีมีบัญชีกำหนดอัตราโทษที่เรียกกันว่า “ยี่ต๊อก” เช่นคดียาเสพติด ครอบครองเท่านั้นเท่านี้เม็ดจะลงโทษกี่ปีขึ้นไป  หรือการเขียนคำพิพากษาต้องส่งให้หัวหน้าศาลเป็นผู้ตรวจสอบก่อน เป็นต้น ในขณะที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  229 กำหนดให้ศาลต้องกระตือรือล้นในการค้นหาความจริง ต้องสืบพยานเองเพื่อให้ได้รู้ข้อเท็จจริงที่อยู่นอกเหนือสำนวน แต่ศาลก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากกมาตรานี้ กลายเป็นว่าสำนวนที่ตำรวจและอัยการฟ้องมาอย่างไร ศาลก็พิจารณาไปตามนั้น เป็นการดำเนินคดีแบบแยกส่วน เพราะฉะนั้นประชาชนจึงอยากเห็นศาลตัดสินอย่างตรงไปตรงมาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้ต้องการให้เป็นอย่างอื่น เพราะกฎหมายของเรานั้นทัดเทียมอารยประเทศ แต่แนวปฏิบัติของเราต่างหากและนโยบายของฝ่ายบริหารของศาลที่ทำให้เกิดปัญหาในความไม่ค่อยอิสระ

            ส่วนกระบวนการตรวจสอบภายในนั้น ในบ้านเรายังคงใช้ระบบร้องเรียนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษาอาวุโสและผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้ว รวมทั้งมีนักวิชาการด้วย ซึ่งระบบตรวจสอบภายในของบ้านเราก็ยังพอจะเป็นที่พึ่งได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ควรพิจารณาคือ กระบวนการเข้าสู่การเป็นผู้พิพากษา ที่มีระเบียบวินัยและจรรยาบรรณของตุลาการที่เคร่งครัดคนจะเข้ามาเป็นผู้พิพากษาต้องมีคุณธรรมมากกว่าข้าราชการอื่นๆ จึงไม่ค่อยพบว่ามีการไล่ออกเพราะทุจริต และแม้จะมีข่าวการไล่ออกก็ไม่ลงรายละเอียดของพฤติการณ์อย่างชัดเจน

สมชาย หอมลออ ศาลถือเป็นเสาหลักของสังคมประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายที่มีคำพิพากษาศาลฎีการองรับการยึดอำนาจรัฐโดยการรัฐประหารว่าผู้ใด คณะใดยึดอำนาจรัฐได้ย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถออกกฎหมายได้ใช้อำนาจแทนฝ่ายนิติบัญญัติได้ ประชาชนและศาลต้องยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหารที่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย ประเด็นนี้เองที่ทำให้ประชาชนเกิดความกังขาในศาลหรือระบบตุลาการว่าจะมีความเป็นอิสระได้อย่างไรภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น คำสั่งคณะรัฐประหารให้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงบางคดี เช่น ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ต้องขึ้นศาลทหาร และแม้ปัจจุบันคดีที่กระทำผิดตามมาตรา 112 ก็มักไม่ให้ประกันตัว ทั้งๆที่ยังต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในสายตากฎหมาย ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการใช้กฎหมายความั่นคง 3 ฉบับ ตั้งแต่กฎอัยการศึกที่ให้ควบคุมตัวใครก็ได้ 7 วันโดยไม่ต้องมีหมาย ไม่ได้พบทนายความ แล้วถูกควบคุมตัวต่อได้อีกไม่เกิน 30 วัน ตามพรก.ฉุกเฉิน รวมไปถึงมีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารจนถึงขั้นเสียชีวิตอย่างมีข้อสงสัย หรือจำต้องยอมรับสารภาพเพราะถูกข่มขู่ ทรมานร่างกายหรือใช้กระบวนการสอบสวนนอกระบบกฎหมายทำให้จำต้องรับสารภาพ กรณีเหล่านี้ไม่สามารถใช้กระบวนการทางศาลในการตรวจสอบความชอบของการจับกุมและดำเนินการอย่างผิดกฎหมายได้ และเห็นด้วยกับอ.ธานีที่ว่าบางครั้งกฎหมายก็ทำให้ศาลไม่มีความอิสระในการพิจารณาคดี เช่น มาตรา 226/1 เรื่องให้ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานที่แม้จะได้มาโดยมิชอบ

            สิ่งที่ศาลต้องได้รับตรวจสอบจากประชาชนในปัจจุบันทำได้ยากมากขึ้นกว่าในอดีต เช่น การเข้าฟังการพิจารณาคดีทำได้ยากทั้งจากสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์คดี เพราะศาลจะห้ามจดบันทึกคำให้การ ห้ามสื่อมวลชนเข้าฟัง ทั้งๆที่เป็นคดีที่ไม่มีการพิจารณาลับแต่อย่างใด ทำให้ข้อมูลที่ออกมาสู่สาธารณะได้ไม่ครบถ้วน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงควรให้การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยทำได้จริงเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสอบกระบวนพิจารณาได้

ส่วนกระบวนการตรวจสอบภายในนั้น เห็นว่าระบบของเราค่อนข้างดี เมื่อเร็วๆนี้ก็มีข่าวว่ามีการไล่ออกผู้พิพากษาระดับสูงที่ทำการทุจริตว่าเรียกรับเงิน แม้จะไม่ลงรายละเอียดอะไรมาก ด้วยวงการศาลมักจะมองว่าการเปิดเผยสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างความมัวหมองแก่วงการตุลาการมากกว่าเป็นเรื่องดี แต่เราต้องสร้างบรรทัดฐานให้ม่ให้เห็นว่ายิ่งมีการตรวจสอบภายในของศาลต้องมีความโปร่งใสมากเท่าใด มีการปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบมากเท่าใด ย่อมเป็นการทำให้เกิดการเข้าถึงการตรวจสอบได้มากขึ้นเท่านั้น เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ประชาชน ในสังคมปัจจุบันนั้น ข้อมูลข่าวสารไม่สามารถปกปิดได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน เช่นคดีผู้การโจ้ที่ไปซ้อมทรมานผู้ต้องหาในห้องสอบสวนที่มีคลิปข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ที่ผ่านมาสังคมได้รับข้อมูลผ่านการซุบซิบ ผ่านโซเชียลมีเดียที่ปรุงแต่งข้อมูงจริงบ้างเท็จบ้างผสมปนเปกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น บวกอารมณ์ความรู้สึกที่มีทัศนคติต่อเรื่องนั้นๆ ทำให้ข้อมูลข่าวสารถูกบิดเบือนมากกว่า ดังนั้นการเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในการตรวจสอบและโปร่งใส อันเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง

 

ข้อเสนอแนะ

สมชาย หอมลออ ผู้พิพากษาต้องมีความรู้คู่คุณธรรม ดังนั้นกระบวนการเข้าสู่การเป็นผู้พิพากษาจึงต้องเข้มข้น เสนอว่าผู้จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องมีประสบการณ์ทางกฎหมายหรือทางคดีมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และควรมีอายุไม่น้อยกว่า 35ปี เพื่อให้มีประสบการณ์ทางวิชาชีพมากกว่าผู้ที่เพิ่งเรียนจบ คนรอบข้างจะทราบดีว่าคนๆ นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ด้วย และถ้าเปิดเผยประวัติของผู้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาต่อสาธารณะจะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น เพื่อให้สังคมช่วยตรวจสอบว่ามีความรู้คู่คุณธรรมเหมาะสมแล้วหรือไม่ ประการที่สอง ศาลต้องพิจารณาให้สังคมตรวจสอบได้ผ่านกระบวนการสังเกตการณ์การพิจารณาคดีหรือ  court watch เพราะศาลจะระมัดระวังในการดำเนินกระบวนพิจารณามากกว่าเมื่อไม่มีใครมาสังเกตการณ์ ส่งผลให้กระบวนพิจารณามีความเป็นธรรมมากขึ้น ประการต่อมา ศาลต้อง active ในกระบวนการค้นหาความจริงโดยการใช้มาตรา 228 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ให้ศาลสามารถเรียกใครหรือให้ใครส่งพยานหลักฐานมาที่ศาลโดยไม่ต้องให้คู่ความฝ่ายใดต้องอ้างหลักฐานชิ้นนั้นหรือบุคคลนั้นเป็นพยาน เช่นในคดีวิสามัญฆาตกรรม  คดีค้ามนุษย์ คดีแรงงาน ที่ให้ศาลสามารถใช้ระบบไต่สวนค้นหาความจริงได้ แต่ศาลไม่เคยใช้กฎหมายที่ให้อำนาจในการทำหน้าที่นี้ ส่งผลให้ประช่าชนที่ยากไร้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในดคี เพราะยากจนไม่มีเงินจ้างทนายความที่มีความสามารถมาแก้ต่างได้ ประการสุดท้าย คือ ศาลอุทธรณ์ต้องเป็นศาลไต่สวนพิจารณาคดี เพื่อให้ศาลเห็นหน้าพยาน หรือผู้ต้องหาที่ให้การต่อศาล จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ศาลจะนั่งอ่านแต่สำนวนแล้วจินตนาการว่าเกิดอะไรขึ้นตามคำฟ้องที่มาสู่ศาล หรือส่งเรื่องไปให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบ หรือผู้พิพากษาที่ไม่ได้นั่งพิจารณาแต่เป็นหัวหน้าศาลมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาที่ตนไม่ได้นั่งสืบพยานในคดี อันเป็นเหตุให้เจ้าของสำนวนต้องประท้วงด้วยชีวิต

            ถึงที่สุดศาลต้องตีความโดยใช้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมสูงสุด โดยตีความให้เป็นคุณแก่ผู้ที่ถูกเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย เช่นในคดีจ่ายเงินค่าเซ้งห้องไปแล้ว แต่ถูกฟ้องว่าผิดสัญญาเช่า ศาลก็ตีความว่าการเซ้งคือค่าเช่าล่วงหน้า ไม่ใช่เงินกินเปล่าดังที่ประชาชนเข้าใจ

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ข้อเสนอประการแรก คือ ให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตัวเอง ประการที่สอง ปรับกระบวนการพิจารณาให้เป็นไปตามระบบ civil law แบบประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ มิใช่ใช้แบบครึ่งๆกลางๆอย่างที่เป็นอยู่ที่บิดเบี้ยวมายาวนาน ประการที่สาม ยกเลิกการแทรกอซงจากภายนอก เช่น ใช้บัญชีอัตราโทษหรือยี่ต๊อกลง ให้ใช้กฎหมายเป็นหลัก ประการต่อมา ในคดีบางประเภทควรมีผู้พิพากษาสมทบที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นคดีการตายทางการแพทย์ หรือคดีที่เกี่ยวกับสารเคมีหรือทางวิศวกรรม ต้องมีบุคคลภายนอกมาเป็นศาลผู้พิจารณาคดี ประการต่อมาต้องยกเลิกการกำหนดโทษปรับขั้นต่ำขั้นสูงที่เป็นบทบังคับศาล เพราะในหลายประเทศโทษปรับไม่เหมาะสมสำหรับคนยากจน ควรหันไปใช้อัตราโทษที่บังคับตามฐานานุรูปของผู้กระทำผิด (day fine) สุดท้ายต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพิจารณาคดี ทั้งการบันทึกวิดีโอ การใช้คลิปหรือเทคโนโลยีอื่นๆ ในการรับฟังพยานหลักฐาน รวมถึงการเปิดเผยคำพิพากษาทุกคดีให้เข้าถึงได้ออนไลน์

สัณหวรรณ ศรีสด ขอเน้นย้ำว่าผู้พิพากาษาต้องเป็นอิสระ ดังนั้นต้องตัดระบบที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเข้ามาแทรกแซงในกระบวนการแต่งตั้งตรวจสอบผู้พิพากษาและตุลาการ ปรับปรุงระบบศาลทหารที่ผู้พิพากษายังคงอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยกระทรวงกลาโหม ประการต่อมากรณีในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบภาคใต้ ต้องให้ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการดำเนินกระบวนพิจารณามากขึ้น ไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงของฝ่ายความมั่นคงและทหาร ส่วนระบบการตรวจสอบภายในก็ควรทำให้ระบบ ก.ต. มีความเป็นอิสระมากขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของบุคคลภายนอกมากขึ้น

 

———————————————-