สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 6/2564

หัวข้อ สิทธิได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหา จำเลย หลักการและแนวปฏิบัติ

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2564

เวลา 13.30-15.00 น.

ผู้ร่วมเสวนา

  1. ผศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2. การวิก มามีชัย ทนายความ

เกริ่นนำ รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ” ในคราวนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “สิทธิได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหา จำเลย หลักการและแนวปฏิบัติ” เนื่องจากในสถานการณ์ทางการเมืองยุคโควิด ที่ยังคงมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และมีแกนนำในการจัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกจับกุมอันเนื่องมาจากการชุมนุมหลายครั้ง หลายคดี โดยไม่ได้รับการประกันตัว ถูกนำตัวไปขังในเรือนจำเป็นเหตุให้หลายคนได้รับเชื้อโควิดภายในเรือนจำ อันเป็นการขัดหลักการที่ว่า ผู้ต้องหา /จำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด ก่อนศาลมีคำพิพากษาจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดแล้วไม่ได้[1]

หลักกฎหมายไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิได้รับการประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลย

ผศ.สาวตรี สุขศรี ในทางประวัติศาสตร์ของกฎหมายไทยหลักการที่ว่า “ปล่อยเป็นหลัก คุมขังเป็นข้อยกเว้น”เพิ่งเป็นที่รู้จักในราว 2478 มานี่เอง เมื่อก่อนเราก็ใช้คำว่าประกันตัว หรือสิทธิในการประกันตัวที่หมายถึง การได้รับการประกันหรือให้คำมั่นว่าจะกลับมาปรากฏตัวต่อศาลหรือเจ้าหน้าที่ที่จับกุมหรือจะกลับมาเข้าสู่กระบวนพิจารณาอีกครั้ง โดยคำมั่นที่ว่าอาจจะเป็นหลักทรัพย์ เงินสด หรือบุคคลหรือทั้ง 3 อย่าง นี่คือแนวคิดเริ่มแรกของกฎหมาย แต่ต่อมาก็มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขในสัญญาว่า ผู้ได้รับการประกันตัวจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไม่ไปข่มขู่พยาน จะไม่ไปก่อพยันตรายอย่างอื่น หลักการปล่อยเป็นหลัก คุมขังเป็นข้อยกเว้นมาจากหลังปี 2540 ตามที่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีการเผยแพร่หลักสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง มีการรับรองสิทธิมนุษยชนไว้หลายประการในรัฐธรรมนูญ และในปี 2548 ก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยมีหลักการในทางอาญาหลายประการ เช่น หลักมิแรนดา หรือสิทธิที่จะนิ่งหรือไม่ให้การก็ได้ หลักที่เจ้าพนักงานต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบในขณะจับกุม และหลักอื่นๆที่คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและจำเลยอีกหลายเรื่อง รวมทั้งหลักเรื่องปล่อยเป็นหลักด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าหลักการเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

สำหรับการดำเนินคดีอาชญากรรมในประเทศไทยนั้นใช้วิธีการตามหลักการ 2 ประการ คือก่อนหน้าปี 2540 ใช้วิธี crime control หมายถึงใช้กฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด แสวงหาพยานหลักฐานโดยเร็ว พิสูจน์โดยเร็ว แต่ละเลยสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลย มุ่งเน้นเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ   แต่หลังจากปี 2540 เริ่มมีการใช้หลักการ due process of law หมายถึง กระบวนการตั้งแต่จับกุม สอบสวน การฟ้องร้อง การพิจารณาคดีในศาล ต้องให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ทุกขั้นตอน อันเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งการปรับเปลี่ยนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็เป็นกระบวนการตามหลัก due process นี้ ในทางปฏิบัตินั้นสามารถดูได้ว่าเป็นการดำเนินการตามหลัก due process  ในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการหรือศาล หรือไม่ โดยดูได้จากตัวกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรและดูจากแนวปฏิบัติ โดยกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็น ไปตามหลัก due process แล้วไม่มีปัญหา ทั้งเรื่องสิทธิในการมีทนายความ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้ไปเตรียมหลักฐานมาต่อสู้คดี มีสิทธิให้การหรือไม่ก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจยังมีปัญหาอยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ปฏิบัติ ซึ่งยังกลับไปใช้วิธีการ crime control ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับลายลักษณ์อักษรที่มีอยู่ ยกตัวอย่างการให้ประกันตัวในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีการใช้กันอย่างสับสนอยู่ 2 มาตรา คือ มาตรา  108[2] และ มาตรา 108/1[3]  ซึ่งมาตรา 108 เขียนไว้ว่า ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ ประกอบ คือ 1.ความหนักเบาแห่งข้อหา 2.พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด 3.พฤติการณ์ต่างๆ   แห่งคดีเป็นอย่างไร 4.เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด 5.ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ 6.ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่ 7.ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้ มาตรา 108 เป็นเพียงการพิจารณาประกอบว่าในการจะให้ประกันหรือปล่อยตัวชั่วคราวนั้นมีความจำเป็นอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง 6-7 ประการ แต่ถ้าจะไม่ให้ประกันหรือไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุผลที่ไม่ใช่ตามมาตรา 108 แต่ต้องใช้เหตุผลตาม 108/1  ซึ่งให้เหตุผลไว้เพียง 5 ประการเท่านั้น คือ การสั่งไม่ให้ประกันจะกระทำได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ 1.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี  2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เช่นจะไปทำลายพยานหลักฐานสำคัญ 3.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น 4.ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ 5.การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล ซึ่งในการพิจารณาไม่ให้ประกันต้องใช้เกณฑ์ตามมาตรา 108/1  แต่มักมีการนำมาตรา 108 มาใช้อย่างไขว้เขวกันในระดับปฏิบัติจึงกลายเป็นปัญหามาก เพราะสองมาตรานี้จะมีเกณฑ์ที่คล้ายกันบางเรื่อง เช่น ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่ กับความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอหรือหลักประกัน แต่ไม่มีเรื่องความหนักเบาแห่งข้อหา เราจึงมักเห็นว่าเมื่อมีการพิจารณาขอประกันก็จะนำเอาประเด็นเรื่องความหนักเบาแห่งข้อหามาใช้เป็นเหตุผลว่าเมื่อข้อหาหนักผู้ต้องหาอาจหลบหนี จึงไม่ให้ประกัน ซึ่งทำแบบนี้ไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักคิดของกฎหมายวิธีพิจารณาความ ดังจะเห็นได้ในคำสั่งคำร้องที่ผ่านมาว่าศาลมักจะใช้เหตุผลแบบนี้ในการไม่ให้ประกันตัว แต่ถามว่าคดีที่มีอัตราโทษสูงหมายถึงอัตราโทษจำคุกกี่ปี ก็ไม่มีเขียนไว้ในมาตรา 108 แต่ไปเขียนไว้ในมาตรา 110[4] ว่า ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งมาตรานี้มีความหมายว่าถ้าจะปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน แต่จะไปบอกว่าคดีที่มีอัตราโทษสูงหมายถึงคดีที่มีโทษแค่ไหนก็บอกไม่ได้ อยู่ที่ดุลพินิจของศาล

การวิก มามีชัย ในเรื่องการประกันตัวนั้นข้อตั้งข้อสังเกตทางกฎหมายเล็กน้อย กล่าวคือ ความย้อนแย้งหรือขัดกันของข้อความตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองสิทธิในการประกันตัวไว้ใน

มาตรา 29[5] ที่ว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษา อันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือ จำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี และขอให้ดู

วรรคท้ายของมาตรา 29 ที่บัญญัติว่าคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียก หลักประกันจนเกินควร แก่กรณีมิได้ “การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” จากข้อความข้างต้นของมาตรา 29 นี้แสดงว่ามีเหตุผลเดียวเท่านั้นที่จะไม่ให้ประกันคือ การควบคุมหรือคุมขังไว้เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี ในขณะที่มีความย้อนแย้งของข้อความในวรรคท้ายเขียนไว้อีกว่า การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แปลว่าการจะไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 คือมี 5 เหตุผลที่จะไม่ให้ประกันตัว ตามที่อ.สาวตรีกล่าวไปแล้ว นี่คือประเด็นแรก ประเด็นที่สองเท่าที่เป็นทนายความในคดีอาญาจะเห็นว่าศาลให้ประกันตัวเป็นส่วนใหญ่กว่า 90% โดยมีประชาสัมพันธ์ศาลคอยให้คำแนะนำในการประกันตัวเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และการให้ประกันก็ทำได้รวดเร็ว เช่น ยื่นเช้า บ่ายก็สั่งลงมาแล้ว และทำได้ง่ายใช้บัตรประชาชนและหลักทรัพย์ตามที่ประชาสัมพันธ์ศาลแนะนำ ส่วนในการขอประกันในชั้นสอบสวนของตำรวจค่อนข้างยากกว่าประกันในชั้นศาล   แต่เดิมตำรวจจะส่งตัวมาขอฝากขังหรือขอประกันที่ศาลในบ่ายวันศุกร์ เพื่อให้ติดวันหยุด ปัจจุบันศาลก็มีเวรวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็เกิดความสะดวก รวมถึงการขอประกันทางออนไลน์ก็ได้ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาคนก่อน เกี่ยวกับแนวทางสำหรับปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ.2563[6] แต่ปัญหาที่พบมากคือ หลักทรัพย์ของประชาชนที่จะขอประกันนั้นไม่ค่อยมี เพราะเป็นคนยากจน ทางออกคือไปขอความช่วยเหลือเหลักทรัพย์ในการประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม สังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่ให้การสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งไปยื่นคำขอได้ที่ยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานกองทุนยุติธรรมที่อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กองทุนฯนี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ยากจน ที่ไม่มีหลักทรัพย์หรือไม่มีเงิน ตัดปัญหาต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบที่เสียดอกเบี้ยแพง แต่ข้ออ่อนของกองทุนคือ ใช้เวลานานในการพิจารณาคำร้องขอประกัน อาจกินเวลากว่า 1 เดือน อีกแหล่งหนึ่งที่จะใช้บริการได้ที่ศาล      คือการใช้บริษัทประกันอิสรภาพ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ประชาสัมพันธ์ศาลจะคอยประชาสัมพันธ์ว่ามีบริษัทนี้คอยให้ความช่วยเหลือเรื่องการให้เช่าหลักประกัน ซึ่งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาศาลได้แถลงสถิติการปล่อยชั่วคราวย้อนหลัง[7]ปรากฏข้อมูลการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ดังนี้ ปี 2563 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณาทั้งสิ้น 237,875 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 217,094 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.26 ปี 2562 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณา ทั้งสิ้น 217,903 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 200,713 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.11 ปี 2561 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณา ทั้งสิ้น 235,404 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 214,444 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.10 ปี 2560 จำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณา ทั้งสิ้น 227,687 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 212,653 คดี คิดเป็นร้อยละ 93.40 ถือเป็นการให้ประกันมากกว่าไม่ให้ประกัน คดีที่ไม่ได้ประกันอีกประมาณ 10% นั้นส่วนใหญ่เพราะเป็นคดียาเสพติด ทั้งคดีที่เป็นผู้ส่งยาหรือเป็นผู้ค้ารายย่อยๆ ก็ตาม ก็มักจะไม่ได้รับการประกันตัวเพราะศาลถือว่าเป็นคดีที่เป็นภัยต่อส่วนรวม   มีคดีหนึ่งที่เป็นปัญหาไม่ได้รับประกันเป็นเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งกันของบ้านใกล้เรือนเคียงแล้วมีการแจ้งความข้อหาบุกรุก ทำร้ายร่างกาย จำเลยได้รับการประกันตัวและศาลนัดฟังคำพิพากษา แต่เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายผิดบ้าน จำเลยจึงไม่ทราบนัดไม่มาศาล ทนายความก็ไม่ทราบนัดและติดว่าความที่ศาลอื่น จึงไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลสั่งเพิกถอนหลักทรัพย์ประกันตัวและทำให้จำเลยต้องเข้าไปอยู่เรือนจำนานกว่า 2 เดือน ศาลอุทธรณ์จึงอนุญาตให้ประกัน ซึ่งความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลส่งผลให้จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวและศาลก็ไม่รับฟังเหตุผลของทนายความที่แถลงว่าไม่ทราบนัด เนื่องจากส่งหมายผิดบ้าน เหตุการณ์เช่นนี้ก็ยังปรากฏอยู่บ้างซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

ประกันเป็นหลัก คุมขังเป็นข้อยกเว้น ในประเทศที่ใช้ระบบ civil law และ common law

ผศ.สาวตรี สุขศรี ระบบ civil law หมายถึง ประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายแบบ เยอรมนี ฝรั่งเศส ส่วนระบบ common law หมายถึงประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี เช่นอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยเรา identified ตัวเองว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบบ civil law แต่หลังปี 2540 ก็นำหลักการของระบบ common lawมาใช้ในแง่ของการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา

ระบบ civil law นั้นถือได้ว่าไม่ค่อยได้นำหลักปล่อยเป็นหลัก คุมขังเป็นข้อยกเว้นมาใช้มากนัก เพราะประเทศเหล่านี้จะยึดหลักความจำเป็นในการเอาตัวไว้ในอำนาจรัฐ เพื่อการสอบสวนหรือการหาพยานหลักฐานมากกว่า โดยศาลจะดูพฤติการณ์แวดล้อมและพยานหลักฐานต่างๆที่ได้มาว่าเพียงพอที่จะดำเนินคดีต่อไปและเมื่ออนุญาตให้ประกันตัวแล้ว ผู้นั้นจะกลับมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไปหรือไม่ และการให้ประกันก็จะไม่พิจารณาเรื่องหลักประกันมากมายนัก แต่จะเน้นการกำหนดเงื่อนไขบางประการให้ต้องดำเนินการ เช่น ต้องมารายงานตัวตามที่ศาลกำหนด ห้ามเข้าพื้นที่บางเขต หรือห้ามพบปะบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวข้องในคดี เช่น พยาน เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นแบบที่บ้านเราเผชิญอยู่มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะมีการเรียกหลักทรัพย์ สูงเกินไป คุกมีไว้ขังคนจน จะไม่เกิดขึ้น ในระบบของฝรั่งเศสมี”สำนักงานปล่อยตัวชั่วคราว”รับผิดชอบการตรวจและรวบรวมพยานหลักฐานและทำความเห็นเสนอต่อศาลว่ามีความจำเป็นว่าควรให้ประกันหรือไม่ ถ้าจะให้ประกันจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีหลักประกันพิเศษ ระบบของเยอรมนีมี “สำนักงานอาชญวิทยาแห่งสหพันธรัฐ” สำนักงานนี้มีเจ้าพนักงานไปสืบเสาะประวัติของผู้ต้องหาหรือจำเลยว่ามีพฤติการณ์อย่างไร แล้วส่งให้ศาลเพื่อให้ศาลใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาว่าควรให้ประกันหรือไม่ ซึ่งในระบบของประเทศที่ใช้ civil law อาจไม่ปล่อยตัวง่าย ๆ เท่ากับประเทศที่ใช้  common law แต่การนำคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ค่อนข้างยากด้วยเช่นกัน จะจับจะฟ้องคดีกันค่อนข้างยาก มีระบบการกลั่นกรองหลายชั้น เช่น มีการชลอฟ้อง แต่เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วก็ต้องดูว่าจะเอาตัวไว้เพื่ออะไร ต่างจากบ้านเราที่อะไรๆก็เป็นคดีอาญาไปหมด ไม่ว่าคดีเล็กๆน้อยๆ จึงทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลค่อนข้างมาก ซึ่งการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นมีความสำคัญมากในคดีอาญาที่จะต้องให้ผู้ถูกจับสามารถประกันตัวออกไปหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้

            ในฝั่งประเทศ commom law เช่นสหรัฐอเมริกา จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับการให้ประกันเป็นหลักเป็นอย่างมาก จะไม่ให้ประกันก็ต่อเมื่อเป็นคดีที่มีโทษหนักถึงประหารชีวิต ที่ต้องเป็นข้อยกเว้นที่จำเป็นจริงๆ จึงจะไม่ให้ประกัน และที่สหรัฐฯเองก็มี “ศูนย์ปล่อยตัวชั่วคราว”คล้ายๆกับในฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งจะมีการสืบเสาะหาข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยนำเสนอต่อศาล และในระบบของอเมริกาจะมีการกำหนดกรอบในการใช้ดุลพินิจของศาลในการอนุญาตให้ประกันตัว ที่แตกต่างจากบ้านเราที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจอย่างไรก็ได้ และสำนักงานปล่อยตัวชั่วคราวในประเทศตะวันตกทั้ง 2 ระบบ จะทำหน้าที่อยู่ 2 ประการ คือ การสืบเสาะหาประวัติของผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อรวบรวมเสนอต่อศาล และ ติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวตามที่ศาลกำหนด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเมื่อต้องมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ส่วนประเด็นว่าหน้าที่ประการที่สองเรื่องการติดตามเงื่อนไขการประกันตัว อาจจะคล้ายกับงานคุมประพฤติในบ้านเราหรือไม่ ตอบได้ว่างานคุมประพฤติคงไม่ใช่ลักษณะงานเหมือนสำนักงานปล่อยตัวชั่วคราว เพราะสำนักงานคุมประพฤติน่าจะมีภารกิจที่มากกว่า ขณะเดียวกันสำนักงานปล่อยตัวชั่วคราวจะมีความเป็นอิสระและเป็นกลางมากกว่าการติดตามตัวหรือการถอนประกันที่เป็นอำนาจของตำรวจในกฎหมายไทย

            ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 มีโครงการของศาลยุติธรรมที่ทดลองดำเนินการนำร่องในศาล 7 แห่ง ชื่อ โครงการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว โดยผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เข้าเงื่อนไขสามารถยื่น คำร้องขอเข้าร่วมโครงการประเมินความเสี่ยง เงื่อนไขของโครงการ ได้แก่ 1. ผู้ถูกกล่าวหาหรือฟ้องในความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เช่น ครอบครองเมทแอมเฟตามีน ครอบครองกัญชา ผลิตพืชกระท่อม ลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง วิ่งราวทรัพย์บุกรุกในเวลากลางคืน 2. มีบุคคลอ้างอิงสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เป็นอย่างดี หากมีการประเมินแล้วว่าครบองค์ประกอบของการเข้าร่วมโครงการ ศาลจะพิจารณาให้ประกันได้โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเลย เพื่อแก้ปัญหาที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจนที่มีปัญหามากในบ้านเรา

การวิก มามีชัย ในฐานะทนายความก็เคยมีประสบการณ์ในการให้ลูกความเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะจำเลยเป็นคนยากจนและคิดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม จึงทำคำร้องยื่นต่อศาลๆก็สอบถามพฤติการณ์และบอกให้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อทำเรื่อง และให้สาบานตัวว่าจะไม่หลบหนีและมาศาลเมื่อศาลนัด ในลักษณะของคดีที่ชาวบ้านเป็นผู้กระทำก็ไม่คิดจะหลบหนีไปไหน ก็คิดว่าโครงการแบบนี้มีประโยชน์         อีกประการหนึ่งเมื่อพิจารณาโดยรวมกฎหมายของเราค่อนข้างดีแล้วแต่ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นปัญหา เช่น กรณีที่ชาวบ้านมีไม้พะยูงไว้ในครอบครองถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมมาส่งศาลเพื่อขอฝากขัง แต่เมื่อทนายความไปถ่ายภาพส่งให้ศาลดูว่าบ้านของจำเลยไม่มีรั้วและอยู่ติดชายป่า ไม้ที่อยู่ในที่ดินของจำเลยก็จริงแต่ไม่ใช่ของจำเลยมีขบวนการลักลอบตัดไม้นำมาทิ้งไว้ เมื่อศาลไต่สวนทราบเช่นนี้ก็เข้าใจบอกให้ไปทำเรื่องขอประกันตัว ก็ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวในวันเดียวกันนั้น ถึงที่สุดแล้วปัญหาการประกันตัวอยู่ที่ดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งขึ้นอยู่กับทัศนคติต่อตัวจำเลยในคดีนั้นๆ เพราะแม้บางคดีมีโทษหนักถึงประหารชีวิตแต่ก็ยังได้รับการประกันตัวก็เคยมีมาแล้ว

แนวปฏิบัติของการประกันตัวในคดีทางการเมืองกับคดีอาญาโดยทั่วไป

ผศ.สาวตรี สุขศรี นับแต่มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และตามที่คุณการวิกยืนยันข้อมูลว่าศาลอาญาให้ประกันตัวกว่า 90% ในคดีอาญาทั่วๆไป ก็เชื่อได้ว่าเป็นไปตามนั้น แต่นับแต่เกิดรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมือง    การชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร การชุมนุมเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ การได้รับการประกันตัวมีน้อยมาก โดยเฉพาะคดี 112 จนเกิดการตั้งคำถามว่าเรายึดหลัก  presumption of innocence จริงหรือ คดีแบบนี้เป็นแค่การแสดงความคิดเห็น ไม่ได้ไปฆ่าใครตาย ทำไม่จึงไม่ให้ประกันตัว ถ้าให้ตั้งข้อสังเกตก็คงจะเป็นทำนองว่าศาลใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันระหว่างคดีอาญาธรรมดากับคดีการเมืองในการไม่ให้ประกันหรือไม่ เบื้องหลังของการไม่ให้ประกันเป็นการนำอุดมคติทางการเมืองของตนมาใช้หรือไม่ ทั้งๆที่เมื่ออ่านคำสั่งคำร้องก็เห็นเป็นเช่นนั้น เช่น ใช้อัตราโทษเป็นเกณฑ์ว่าคดีมีโทษสูงหากปล่อยไปแล้ว จะหลบหนี หรือหากปล่อยตัวไปผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดซ้ำแบบเดิมอีก การให้เหตุผลที่ไม่ให้ประกันตัวเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าผู้พิพากษาได้ตัดสินตามฟ้องไปแล้วว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง หรือ ไม่เข้าใจกฎหมายมาตรา 108 และ มาตรา 108/1 และคดี 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยในงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เคยสอบถามนายตำรวจที่เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองการดำเนินคดี 112 ซึ่งคณะกรรมการนี้จะเป็นผู้พิจารณาหลักฐานทั้งหลายที่พนักงานสอบสวนส่งมาเพื่อกลั่นกรองก่อนจะส่งความเห็นไปยังพนักงานอัยการว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ โดยผู้ให้ข้อมูลให้ข้อมูลว่าในช่วงเวลาหนึ่งมีการแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 เป็นจำนวนหลายพันคดี และบอกว่าส่วนใหญ่เป็นการแจ้งให้ไปสอบสวนแต่ไม่มีหลักฐานอะไรให้ดำเนินการต่อได้ ต้องยุติการสอบสวนไป จึงสรุปว่าเป็นการแจ้งข้อหาทางการเมืองมากกว่าที่ต้องการจะดำเนินคดีจริง งานวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการแจ้งข้อหา 112 ที่มีจำนวนมากนั้นมีจำนวนมากผิดปกติกว่าในสถานการณ์การเมืองปกติ นอกจากนี้หลังรัฐประหารปี 2557 มีคดีที่ต้องขึ้นศาลทหารตามประกาศ คสช.ที่รวมคดี 112 ด้วย จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าคดี 112 เป็นคดีการเมือง

            การไม่ให้ประกันตัวโดยศาลให้เหตุผลว่าเพราะผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดซ้ำ เช่นไปชุมนุมอีก หรือจะไปแสดงความคิดเห็นแบบเดิมอีก นั้น ไม่ปรากฏว่าเป็นไปตามกฎหมายมาตราไหนอันเป็นเหตุไม่ให้ประกัน เพราะการจะไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามมาตรา 108/1 ที่มี 5 ประการ และไม่ใช่กรณีที่จะไปตีความเข้า (3)ของ108/1 ที่ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น เพราะ108/1 (3) ต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงจะไปก่อเหตุร้ายอื่น ที่ไม่ใช่การกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ดังนั้นหากศาลใช้เหตุผลที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายเช่นนี้ก็ต้องถูกตั้งคำถามจากสังคมเป็นธรรมดา

การวิก มามีชัย คดีการเมืองเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะผู้ต้องหาก็คงทราบดีว่าตนเองกำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐที่มีเครื่องมือมากมายในการจัดการปัญหาความมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคปราบปรามคอมมิวนิสต์  ในอดีต เหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับในการชุมนุมนั้น เราไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรจึงไม่ขอฟันธง แต่จากการติดตามข่าวเป็นเพราะศาลเห็นว่าถ้าให้ประกันตัวจะไปก่อเหตุซ้ำ แต่เมื่อดูจากเหตุผลที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาให้สัมภาษณ์เสมือนเป็นการเฉลยข้อสอบว่าศาลจะให้ประกันตัวก็ได้หากผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขมาให้ศาลพิจารณาเช่นว่าจะไม่ไปกระทำการแบบเดิมซ้ำอีก ซึ่งกรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และพรรคพวกนั้น ที่เสนอเงื่อนไขว่าจะไม่ไปกระทำการซ้ำอย่างนั้นอย่างนี้อีก ศาลก็ให้ประกัน ดังนั้นหากจะให้ประกันทนายความก็ต้องเขียนคำร้องให้เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 108 ดังที่อ.สาวตรีกล่าวถึง 7 องค์ประกอบ และเพิ่มเติมข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาจะไม่ไปกระทำอย่างนี้อีก อย่างไรก็ตามไม่อาจคาดเดาได้ว่าการที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวหลายคนที่ผ่านมา ทั้งๆที่ไม่ยอมให้ประกันตัวเลยกว่า 2 เดือน เป็นเพราะมีการเสนอเงื่อนไขตามที่อธิบดีผู้พพากษาศาลอาญาแนะนำหรือเป็นเพราะมีแรงกดดันจากมวลชนภายนอกหรือเกิดจากการอดอาหารประท้วงของเพนกวิ้น

ผศ.สาวตรี สุขศรี ในระบบกฎหมายไม่ว่าของประเทศใด ไม่มีบทบัญญัติที่ว่าให้เป็นหน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้เสนอเงื่อนไขมาให้ศาลพิจารณาว่าจะไม่กระทำอย่างนั้นอย่างนี้อีก แล้วศาลจึงจะให้ประกัน ในระบบกฎหมายของไทยเขียนไว้แต่เพียงว่าให้เป็นดุลพินิจของศาลในการพิจารณาว่าสมควรจะให้ประกันและศาลเป็นคนใช้ดุลพินิจในการกำหนดเงื่อนไขเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามที่มีข่าวว่าศาลเป็นผู้บอกให้ผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขมาให้ศาลพิจารณา และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องกระทำเช่นนั้น ประการที่สองที่ศาลมีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องปฏิบัติว่าจะไม่ไปกระทำความผิดเดิมซ้ำอีกนั้น เป็นการผิดหลักการตามรัฐธรรมนูญเรื่อง presumption of innocence เพราะผู้ต้องหายังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดแต่ศาลไปตัดสินแล้วว่าอย่ากระทำความผิดเดิมซ้ำ แล้วจะให้ประกัน นี่เป็นวิธีคิดที่ผิด นอกจากนี้หากศาลใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายหรือดำเนินกระบวนพิจารณาผิดหลักกฎหมาย ในระบบของเยอรมนีมีบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายอาญาให้ลงโทษบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งศาลด้วยที่ใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนความยุติธรรม โดยไม่ใช่ไปแขวนไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กต.หรือหน่วยงานใดของศาล ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินคดีอาญากับผู้พิพากษาที่บิดเบือนความยุติธรรมได้ สำหรับในบ้านเราก็มีความยินดีที่ได้ทราบว่ามีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งกำลังเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการบิดเบือนกฎหมาย[8] ขณะเดียวกันต้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานที่ออกคำสั่งต้องมีความสำนึก รับผิดต่อการสั่งคดีของตนเอง หากเรื่องใดมีกฎหมายกำหนดให้ใช้ดุลพินิจโดยแท้ก็เป็นไปตามนั้น แต่หากกฎหมายเขียนกำหนดไว้แล้วแต่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือมีคำสั่งผิดหลักการอันส่งผลเสียหายต่อคู่ความ ศาลหรือเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมผู้นั้นต้องรับผิดชอบ

การวิก มามีชัย คิดว่าในยุคปัจจุบันศาลเองก็คงได้รับเสียงสะท้อนที่เป็นบทเรียนจากการปฏิบัติหน้าที่ที่สังคมเกิดคำถามว่ามี 2 มาตรฐาน ในคดีการเมือง ซึ่งในอดีตนั้นคดีการเมืองไม่ค่อยเป็นที่สนใจของสังคม แต่ในปัจจุบันแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง มีการชุมนุมกดดันศาล มีการอดข้าวประท้วงต่างๆ  น่าจะส่งผลต่อการปรับทัศนคติของศาลบ้างไม่มากก็น้อย

การดำเนินการที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจต้องมีการคิดถึงความจำเป็นว่าบ้านเราสมควรมีการจัดตั้งสำนักงานปล่อยตัวชั่วคราวแล้วหรือไม่ เพราะอาจต้องดูสถิติการให้ประกันในคดีอาญาปกติที่สูงถึงกว่า 90% ในหลายปีที่ผ่านมา และต้องคำนึงถึงงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายด้วย ขณะเดียวกันคดีการเมืองอาจมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอาญาธรรมดา ดังนั้นจึงอาจฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก อย่างไรก็ตามการมีสำนักงานนี้ขึ้นมาในบ้านเราเมื่อดูงบประมาณแล้วเห็นว่าทำได้ ก็อาจเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ดีอยู่แล้วให้ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น ส่วนการจะแก้ไขปัญหาการประกันตัวในคดีการเมืองหรือคดีอาญาธรรมดานั้น ประเด็นแรก คงต้องจัดให้มีกระบวนการยอมรับผิดในการดำเนินการของศาลที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายหรือมีการบิดเบือนการใช้กฎหมายแล้วเกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งต้องมีการทบทวนว่าควรจะมีกฎหมายลักษณะนี้หรือไม่ด้วย      แต่แน่นอนว่าการให้เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมรวมทั้งศาลต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกหลักกฎหมายนั้น อาจทำให้มีคดีไม่มากมายนักขึ้นสู่ศาลก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามควรต้องมีกลไกหรือเครื่องมือที่เหมาะสมให้แก่ผู้เสียหายด้วย ประการต่อมาคงต้องเรียกร้องให้ทางศาลคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้มากขึ้น โดยไม่เห็นแก่ว่าคดีนั้นเป็นคดีอาญาหรือคดีการเมือง

การวิก มามีชัย ยังไม่ค่อยเห็นด้วยว่าสมควรจะมีกฎหมายลงโทษหรือให้ผู้พิพากษาต้องรับผิดชอบการสั่งคดีของตนเอง เพราะจะเป็นการผลักภาระไปให้ผู้พิพากษาที่ต้องเข้ามารับผิดชอบสำนวนนั้นๆ ในวันนั้น ทั้งๆที่ตนไม่ใช่เจ้าของสำนวน แต่เห็นว่าควรใช้วิธีการณรงค์ให้สังคมเกิดความตระหนักในเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิได้รับการประกันตัวไม่ว่าในคดีอาญาหรือคดีการเมือง การเรียกร้องให้ศาลหรือกดดันให้ศาลเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ก็จะเป็นการทำให้ศาลไม่เป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าศาลได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่ให้ประกันในคดีการเมืองแล้ว และเชื่อว่าคงจะมีการปล่อยตัวให้ได้รับการประกันตัวทั้งหมดในเร็วๆนี้ อันเป็นผลจากการตรวจสอบของสังคม ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

คำถามจากผู้ชมรายการ กรณีที่ถูกจับเป็นผู้ต้องหาและภายหลังไม่ใช่คนร้ายที่กระทำผิด คือเป็นแพะรับบาป     จะดำเนินการเรียกค่าเสียหายได้อย่างไร

ผศ.สาวตรี สุขศรี สามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตามพรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งขณะนี้กำลังมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ปัญหาของฎหมายนี้คือผู้ที่เป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดทางอาญา จะเรียกค่าเสียหายได้ต่อเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิด จึงจะได้รับค่าตอบแทน แต่หากศาลพิพากษายกฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หรือกรณียังเป็นที่สงสัย ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ก็ไม่สามารถได้รับการเยียวยา ซึ่งในทางปฏิบัติมีคดีที่ยกฟ้องด้วยเหตุที่ศาลสงสัยในพยานหลักฐาน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยแบบนี้มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่ค่อยเป็นธรรมนัก

__________________________________________________________

[1] มาตรา 29 บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้

ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้

[2] มาตรา ๑๐๘ ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ ประกอบ

  (๑) ความหนักเบาแห่งข้อหา

  (๒) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

  (๓) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

  (๔) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

  (๕) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

  (๖) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่

  (๗) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของ  พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณีศาลพึงรับประกอบการ วินิจฉัยได้

  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอํานาจสั่งให้ ปล่อยชั่วคราวหรือศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้

  ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราว หรือ ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูก ปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจ เกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้

[3] มาตรา ๑๐๘/๑ การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

  (๑) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

  (๒) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

  (๓) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

  (๔) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

  (๕) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจงเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหา หรือ จำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

[4] มาตรา ๑๑๐ ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้

ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้

การเรียกประกันหรือหลักประกันตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้ และต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่ได้ใช้กับผู้ถูกปล่อยชั่วคราวประกอบด้วย  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของประธานศาลฎีกา แล้วแต่กรณี

[5] มาตรา ๒๙  บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

  ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า บุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

  การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

  ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้

  คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

[6] โปรดดูเว็บไซต์สำนักประธานศาลฎีกา https://opsc.coj.go.th/th/file/get/file/20200714b2e93fadcf0f2ebd3c975b41f9035dbc142749.pdf

[7] โปรดดูหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/928622

[8] ก้าวไกล เปิดตัวร่างแก้ไข ป.อาญา เอาผิด ‘ศาล-ผู้พิพากษา’ บิดเบือนกม. โทษสูงสุดคุก 20 ปี  เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ มติชน วันที่ 12 พฤษภาคม 2564  https://www.matichon.co.th/politics/news_2719506