สรุปเสวนา สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 8/2564

หัวข้อ แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับประชาชน 

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 

เวลา 11.00-12.30 น.

ผู้ร่วมเสวนา

1. รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน- Ilaw

3. ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษา สสส.

เกริ่นนำ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เคยจัดรายการ “สสส.เสวนาทัศนะ”หลายครั้งในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีข้อสนอเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง รวมทั้งติดตามการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่เสนอโดย ไอลอว์ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อเมื่อเร็วๆนี้ แต่น่าเสียดายที่ร่างของไอลอว์ที่ประชาชนต้องการตกไป และเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐสภาโหวตผ่านร่างแก้ไขเพียงร่างเดียวเรื่องแก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. จากร่างรัฐธรรมนูญ 13 ร่าง “สสส.เสวนาทัศนะ” ครั้งนี้จึงขอเสนอในหัวข้อ “แก้รัฐธรรมนูญอย่างไรจะเป็นประโยชน์กับประชาชน”

สถานะของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับที่ผ่านมา  

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ขอตั้งข้อสังเกตเร็วๆ คือ ประการแรกจะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ 11 ฉบับ จาก 13 ฉบับนั้นได้รับการโหวตจากสส.ด้วยคะแนนเสียงเกินครึ่ง คือ 367 คะแนน ซึ่งแปลว่าถ้าไม่มีเสียงจากสว.แล้วทุกร่างน่าจะผ่านความเห็นชอบในการรับหลักการ ประการที่สองน่าสังเกตว่าร่างปิดสวิตช์ สว.ของพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนโหวตถึง 455 เสียงโดยมีเสียงจากสว.เข้าร่วมโหวตด้วย 15 เสียง จะเห็นได้ว่าสภาผู้แทนฯต้องการปิดสวิตช์ สว.ในการเลือกนายกฯและแม้แต่ร่างที่เป็นที่ถกเถียงหรือมีแรงเสียดทานกันมาก เช่น การรื้อมรดก คสช.ก็ยังได้รับการโหวตมากถึง 327 เสียง คือเกินครึ่งของสส.ด้วยซ้ำไป จะเห็นได้ว่าทุกร่างฯนี้ได้รับการโหวตให้ผ่านเกินครึ่งของจำนวน สส.ในสภาฯ แต่ปรากฏว่าเสียงของสว.ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อให้คัดง้างเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกจากประชาชน หรือเป็นกลไกที่ปฏิเสธเสียงของประชาชน (counter majoritarian mechanism) กลับแสดงพลังทำให้ร่างฯต่างๆกลายเป็นเสียงข้างน้อย แสดงว่าสว.ทำหน้าที่ได้อย่างเข้มข้นมาก ที่น่าสนใจคือร่างที่ผ่านในวาระที่ 1 มีเพียงร่างฯเดียวของประชาธิปัตย์เป็นเรื่องการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ซึ่งในอดีตนั้นเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นเรื่องระบบการเลือกตั้งจะถูกนำมาเป็นประเด็นในการแก้ไขทุกครั้งซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกแก้ไขมากที่สุดถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา คือ ในปี 2475 ปี 2490 ปี 2521และปี 2550 ประเด็นคือการแก้ไขระบบเลือกตั้งครั้งนี้จะทำได้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ ซึ่งไม่ค่อยแน่ใจนักแม้จะผ่านวาระหนึ่งไปแล้ว เหตุผล คือ ประการแรกตัวร่างเขียนไว้หละหลวมมาก โดยเขียนแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ 2540  มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สส.เขต 400 คน สส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขมาแค่ 2 มาตรา คือมาตรา 83 จำนวนสส.แต่ละระบบและมาตรา 91 เรื่องวิธีการคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งหากจะแก้ไขระบบการเลือกตั้งทั้งระบบให้สำเร็จได้จะต้องแก้ไขจำนวน 8 มาตรา คือ มาตรา 83 85 86 90-94 ประเด็นคือ จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่เพราะมี 2 แนวการวิเคราะห์ แนวแรกคือมองว่าพลังประชารัฐแตกกับสว.แล้ว เนื่องจากไม่โหวตให้ร่างฯของพลังประชารัฐ ทั้งๆที่คนทั่วไปคิดว่านี่คือทีมเดียวกัน แต่ในอีกแง่หนึ่งคือ เป็นเพราะผู้เสนอร่างฯ(ไพบูลย์ นิติตะวัน) เสนอแก้ไขหลายเรื่องรวมในมาตราเดียว รวมทั้งตัดมาตรา 244 และ 245 ที่เป็นเรื่องการปราบโกงออกไป สว.เลยแก้เผ็ดโดยไปโหวตให้ร่างของประชาธิปัตย์ สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมจู่ๆสว.กว่า 200 เสียงเทคะแนนให้ปชป.คงไม่ใช่เพราะเห็นตรงกันทุกคน แต่น่าจะมาจากการมีธงอะไรบางอย่างหรือไม่ และข้อที่น่าสังเกตต่อไปคือ ปชป.มีความตั้งใจจะแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้งระบบหรือไม่เพราะเสนอแก้ไขแบบหละหลวมแค่ 2 มาตรา ซึ่งยังไม่มีคำตอบสำหรับประเด็นนี้ ประเด็นต่อมา คือ จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากการผ่านวาระที่หนึ่ง และคุณไพบูลย์ฯได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91) โดยขอให้ดูในชั้นพิจารณาในวาระที่ 2 เพราะมีปัญหาว่าร่างฯที่ตกไปในวาระรับหลักการจะสามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้โอกาสในการแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้งระบบก็ต้องตกไป พิจารณาแก้ไขแค่ 2 มาตรา แต่ในทางกลับกันหากกมธ.ใจกว้างนำกลับเข้ามาพิจารณาอีกครั้งก็จะเกิดอภินิหารทางกฎหมายที่สามารถบอกได้ว่าจะมีการปรับแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้งระบบ ซึ่งเราคงต้องติดตามการประชุมวาระที่สองที่จะเกิดขึ้นในต้นเดือนสิงหาคม เมื่อพิจารณาเสร็จ ต้องทิ้งไว้ 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (5) ก่อนจะลงมติในวาระสามซึ่งก็คงจะราวปลายเดือนสิงหาคม และคงจะต้องติดตามด้วยว่าจะมีร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. สว.ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ยืดเวลาออกไปอีก หากฟังที่พลังประชารัฐให้ข่าวคือคาดว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ได้ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2565 แปลว่าหากพปชร.อยากให้มีการเลือกตั้งก็อาจมีการยุบสภาฯในช่วงเวลานั้น ในวงเล็บว่าถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นก่อน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ขอวิจารณ์ที่มาของรัฐธรรมนูญ 60 ก่อน ว่ามีที่มาไม่ถูกต้องและมีการโกงประชามติ สร้างความกังขาแก่คนทั่วไป ได้แก่ มีการแต่งตั้งสว. 250 คนให้ทำหน้าที่โหวตประยุทธ์เป็นนายกฯ เลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เลือกกกต.เอง มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20  ปี สืบทอดอำนาจ ประการต่อมา เรื่องสิทธิเสรีภาพที่ไม่ครบถ้วน คือโดยสรุปรัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาทุกเรื่อง เมื่อจะมีการแก้ไขให้ตรงตามหลักการที่ควรจะเป็นก็ควรให้มีการจัดทำโดยคณะบุคคลที่ชอบธรรม มาตามวิถีทางประชาธิปไตย อย่างน้อยควรมีกระบวนการเลือกตั้ง สสร.เพื่อให้เข้ามาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีกระบวนการทำประชามติ ต้องมีบรรยากาศทางการเมืองเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการร่าง   มีการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน นี่คือสิ่งที่เราพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขในรอบแรก แต่ก็ถูกคว่ำไป ครั้นมาถึงการแก้ไขรอบที่สองนี้ก็ถูกปิดประตูโดยสภาฯว่าห้ามเสนอให้มีการเลือกสสร.อีก แม้พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้มีการเลือก สสร. แต่ก็ไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระพิจารณา ส่วนร่างที่เข้ามาสู่การพิจารณาในรอบนี้มี 2 ประเภท ๆ แรกคือ การเสนอกระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยตรง การปิดสวิตช์สว. เลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยกเลิกการ     นิรโทษกรรม คสช.และเรื่องอื่นๆ อีกประเภทคือ เสนอเพื่อการหาเสียง เช่น พรรคภูมิใจไทยเสนอเรื่องรายได้ถ้วนหน้า ซึ่งไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่ถามว่ามันต้องรีบเร่งเสนอในช่วงเวลานี้เลยหรือ เพราะไม่เคยมีการนำเสนอแนวคิดอะไรหรือรับฟังความคิดเห็นมาก่อน จะจัดหางบประมาณมาได้อย่าไร มีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องต้องนำมาพิจารณาประกอบ ฯลฯ แล้วจะมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแบบนี้ก็ได้หรือ ตอนเลือกตั้งครั้งก่อนก็ไม่เคยหาเสียงในประเด็นนี้แล้วจู่ๆมานำเสนอ หรือพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เสนอกลับหัวกลับหางจากที่อปท.จะทำอะไรก็ได้ที่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ มาเป็นให้อปท.จะทำอะไรก็ได้ที่กฎหมายไม่ห้าม เช่นการซื้อวัคซีน ถ้ากฎหมายไม่ห้ามก็ทำได้ เป็นต้น ถามว่าข้อเสนอแบบนี้ทำไมต้องมาทำในช่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะดูเป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหา ควรเสนอแบบนี้มานานแล้ว แต่ทำไมต้องใช้โอกาสนี้มานำเสนอไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยรวมร่างแก้ไขเรื่องการปกครองท้องถิ่นก็ไม่ได้แย่อะไร แต่อธิบายเหตุผลที่ทำไมต้องแก้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ในสภาฯ ซึ่งในที่สุดร่างฯหาเสียงเหล่านี้ก็ตกไปโดยไม่มีคำอธิบายอะไรที่ชัดเจน สว.ก็โหวตไม่เอา ที่น่าแปลกใจคือการโหวตรับร่างของประชาธิปัตย์แต่ไม่รับร่างฯของเพื่อไทย ทั้งๆที่เพื่อไทยมีรายละเอียดที่ดีกว่าในประเด็นเดียวกันเรื่องที่มาของการได้สส.เข้าสู่อำนาจ ในขณะที่ร่างของประชาธิปัตย์เรียกได้ว่าชุ่ย เพราะไม่มีรายละเอียดอะไรเลย เขียนง่ายๆแค่ 2-3 ย่อหน้าแบบขอไปที คล้ายๆกับว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมืองหรือไม่ที่ร่างหนึ่งเขียนอย่างละเอียด ในขณะที่รับอีกร่างที่ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย ร่างฯของประชาธิปัตย์เขียนหลักการและเหตุผลสั้นๆ ว่าหลักการคือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไข มาตรา 2 มาตรานี้แค่นั้น ทั้งๆที่ควรเขียนให้เป็นหลักการว่าทำไมจึงควรแก้ไขมีปัญหาอย่างไร ที่จะตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนได้  การเขียนเช่นนี้แสดงว่าในวาระที่สองจะไม่สามารถแปรญัตติไปยังมาตราอื่นๆได้เลย เพราะรับหลักการเพื่อขอแก้ไขแค่ 2 มาตรานี้เท่านั้น ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไป ก่อนที่จะมีการเปิดรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นที่คาดหมายกันว่าพรรคเพื่อไทยและพปชร.จะจับมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พรรคใหญ่จะเติบโตขึ้นและพรรคเล็กๆจะหายไป พรรคกลางๆก็จะเหลือน้อยลง เป็นเหตุให้ภูมิใจไทยและก้าวไกลโหวตรับร่างฯนี้ เพราะประเมินแล้วว่าแก้มาตรานี้เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง(คราวต่อไป)อย่างเดียว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สว.ยังอยู่ สว.ยังเป็นผู้. ลงมติเลือกนายกฯ กกต.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกฯยังคงอยู่ กลไกสืบทอดอำนาจ คสช.ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตามคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ถ้าเพียงแค่การแก้ไขปัญหาระบบเลือกตั้ง ก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ไพโรจน์ พลเพชร การที่รัฐสภารับหลักการเพียงร่างฯเดียวนั้น ถือว่านี่คือการประลองกำลังกันระหว่าง สส.และสว.เพราะจะเห็นว่าร่างฯของพรรคการเมืองทั้งหลายทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ต้องการจำกัดอำนาจสว. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือหมวดสิทธิเสรีภาพ ถูกสว.ตีตกหมด ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีมาตราที่ต้องการจัดการนักการเมืองที่โกงกินบ้านเมืองยังคงมีอยู่ต่อไป แม้พปชร.จะเสนอให้ตัดออกอย่างที่อ.สิริพรรณกล่าว นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งถือว่าเป็นกติกาของผู้ชนะจึงสร้างกลไกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงข้างมากต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุมโดยข้าราชการประจำ การปฏิรูปประเทศและรวมทั้งองค์กรอิสระทั้งหลาย องค์กรเหล่านี้ถูกระบบราชการเข้าไปควบคุมหมดเลย นัยะของการคุมแบบนี้ก็คือการสร้างกลไกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเสียงข้างมากของประชาชน ถามว่ากลไกแบบนี้มีในประเทศอื่นๆหรือไม่ คำตอบคือ มี เช่น พม่า ที่กำหนดบทบาทให้ทหารเข้ามามีที่นั่งในสภา ประเด็นต่อมาคือพรรคการเมืองมีความมุ่งมั่นต่อการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งคำตอบอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะก่อนหน้าปี 40 มีพรรคการเมืองมากมาย รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการให้มีพรรคใหญ่ๆเพียงไม่กี่พรรคเพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งก็ปรากฏว่ากติกาดังกล่าวทำให้เป็นจริงได้ พรรคใหญ่ก็ต้องการแบบนี้ เหตุผลที่ทำไมจึงไปเอาร่างของประชาธิปัตย์ที่ไม่สมบูรณ์ ก็เพราะฝ่ายสว.ต้องการปฏิเสธพรรคเพื่อไทย และเชื่อว่าจะมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการเพื่อให้พรรคใหญ่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในทางเทคนิคสามารถแปรญัตติได้แม้ร่างฯจะไม่สมบูรณ์ และพปชร.โดยเลขาธิการพรรคคนใหม่ก็ประกาศชัดว่า พรรคจะได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลคราวต่อไปถ้ามีการเลือกตั้ง ประกอบกับนักการเมืองทุกคนทุกพรรคต่างก็มีเจตจำนงชัดเจนในเรื่องระบบการเลือกตั้ง ดังนั้นเชื่อว่าจะมีการแปรญัตติแก้ไขระบบการเลือกตั้งได้อย่างแน่นอน เพื่อให้กลับไปสู่ระบบการเลือกตั้งแบบปี 40 

ข้อเสนอประเด็นสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ขอต่อประเด็นเรื่องระบบการเลือกตั้งอีกเล็กน้อย เพราะจริงๆแล้วระบบการเลือกตั้งหรือการเข้าสู่อำนาจนั้นเป็นแค่ส่วนเล็กๆของรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้กันมาก หากจะดูกำหนดระยะเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาร่างของปชป.นั้น คือจะพิจารณาเสร็จราวปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเมษายน ปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะครบวาระ 1 ปี แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าจะไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองระหว่างนี้ด้วย จึงเชื่อว่ารัฐสภาจะแก้ไขระบบเลือกตั้งให้ทันก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะสามารถใช้อภินิหารทางการเมืองแก้ไขให้ได้ตามที่ฝ่ายสส.ต้องการ แม้ร่างของปชป.จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม และพปชร.ก็ต้องการระบบเลือกตั้งสส.แบบเขต 400 เขต ซึ่งหากจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สมรภูมิสส.แบบเขตจะต้องต่อสู้กันอย่างเข้มข้น ซึ่งจะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือเพื่อไทยและพลังประชารัฐ บวกกับพรรคการเมืองที่มีพื้นที่ดั้งเดิมในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ภูมิใจไทยในจังหวัดทางอีสานใต้ ประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ชาติไทยพัฒนาในภาคกลาง เช่นสุพรรณบุรี เป็นต้น ข้อเสนอนี้ทำให้พรรคขนาดกลางและเล็กจะไม่สามารถแทรกตัวเข้ามาได้ ซึ่งจากการแก้ปัญหาโควิดที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ดังที่เป็นอยู่ ก็ยังสงสัยว่า พปชร.จะได้ที่นั่งตามที่ต้องการหรือไม่ เนื่องจากเครดิตของพรรคลดลงโอกาสที่พลังประชารัฐจะได้เสียงสส.มากจนจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวอาจไม่เป็นจริง เพราะอาจมีพรรคอื่นรวมกันเป็นพันธมิตรไปดึงสส.บัญชีรายชื่อจากพปชร.มาลงในพรรคตน แต่ความท้าทายมิได้มีแค่ 24 พรรคที่มีในสภาปัจจุบัน เพราะยังมีตัวแปรจากพรรคกล้า และพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ นอกจากนี้จะเกิดการตัดคะแนนกันเอง เช่น ระหว่างเพื่อไทยกับอนาคตใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าไม่ง่ายเลยที่ พปชร.จะสามารถได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล นอกเสียจากจะมีอภินิหารทางการเมืองเกิดขึ้น

ดังนั้นหากจะนำประเด็นเรื่องการเลือกตั้งมาเป็นตัวตั้งต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ขอเสนอให้มีการแปรญัตติเพิ่มจำนวนจำนวนสส.บัญชีรายชื่อขึ้นมาเป็น 150 สส.เขต 350 เพื่อให้พรรคขนาดกลางที่มีนโยบายดีๆต่อประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาสู่สภาเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในบ้านเราขณะนี้ เนื่องจากโอกาสที่พรรคใหญ่พรรคเดียวจะจัดตั้งรัฐบาลได้นั้นมีน้อยมาก ขณะเดียวกันเป็นการลดโอกาสการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การมีพรรคขนาดกลางเข้ามาจะช่วยสร้างความสมานฉันท์ระหว่างพรรคการเมืองได้ 

ประเด็นต่อมาหากจะทำให้รัฐธรรมนูญมีประโยชน์ต่อประชาชน คือการลดจำนวนพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งไม่ถึง 5% ตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยกำหนดให้อาจจะเหลือแค่ 1 หรือ 2% หรือ 3% เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลมีจำนวนไม่มากเกินไปเป็นเบี้ยหัวแตก จะได้มีเอกภาพในการบริหารงาน ซึ่งจะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มีพรรคร่วมถึง 19 พรรค ต่อมาเหลือ 18 เพราะคุณไพบูลย์ยุบพรรคตัวเองมาสังกัด พปชร. และเราก็จะเห็นว่ามีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากที่มีสส,เพียงคนเดียวที่แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในสภา นอกจากนี้หากจะปฏิรูประบบเลือกตั้งควรเปิดโอกาสให้สส.ระบบเขตสามารถมีชื่อในระบบบัญชีรายชื่อได้ด้วย เพื่อให้สามารถเลือกว่าถ้าได้รับเลือกในระบบเขตก็จะสละตำแหน่งในบัญชีรายชื่อให้ลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาหรือหากไม่ได้รับการเลือกตั้งในระบบเขต ก็ยังมีที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อ และเพื่อมิให้มีการทะเลาะกันภายในพรรค  เช่น กรณีนางอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนีเป็นสส.เขตและเป็นหัวหน้าพรรค หรือจาซินดา อาร์เดิร์นของนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ข้อเสนอต่อไปคือ ควรเอาเรื่องระบบเลือกตั้งออกจากรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องตัวเลขของสส.แบบสัดส่วนและระบบเขต ซึ่งจะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้นในระดับหนึ่งภายใต้บริบททางสังคม 

สำหรับภาพรวมของรัฐธรรมนูญนั้นเชื่อว่าพลวัตรของสังคมปัจจุบันเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่.   ทั้งฉบับ เราไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ในระยะยาวอีกต่อไปได้เพราะประเทศชาติจะล่มสลาย เดิมรัฐธรรมนูญ ถูกมองว่าเป็นสัมพันธภาพของอำนาจว่าใครจะเข้ามาสู่อำนาจทางการเมือง ในแง่นี้จึงอยากเห็นรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อสะท้อนความต้องการของสังคม ดังนั้นจึงต้องมาพิจารณาดูว่าอะไรเป็นปัญหาร่วมกันของสังคมทั้งปัจจุบันและในอนาคต อย่าเพียงเอาปัญหาปัจจุบันเป็นตัวตั้ง เราจะอยู่กันอย่างไรในขณะนี้ที่สังคมแบ่งขั้วเลือกข้างกัน ใครเห็นต่างก็ไล่ให้ออกไปอยู่นอกประเทศ ดังนั้นขอให้กลับมาดูว่าหลักการอะไรที่สำคัญบ้างของการอยู่ร่วมกันแล้วยึดหลักการนั้นในการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 47 เรื่องโควิด บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าตีความตามนี้หมายความว่าเราทุกคนต้องได้รับวัคซีนคุณภาพฟรี ไม่ใช่ต้องให้มาจองซื้อโมเดอนน่า ถามว่ารัฐทำหรือไม่ อันนี้คือหลักการร่วมกัน หรือกรณีไฟไหม้โรงงานที่กิ่งแก้ว ในแนวนโยบายแห่งรัฐระบุว่ารัฐมีหน้าที่ โน่นนั่นนี่ รัฐทำหรือยัง นี่เป็นตัวอย่างหลักการร่วมที่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐไม่ทำตาม เราก็ฟ้องรัฐเพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ ถ้าเราตกลงหลักการกันได้ เรื่องอื่นๆ   ก็ไม่ต้องไปเขียนอะไรไว้

ประเด็นที่สำคัญต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแน่ๆ คือ สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 60 ตัดออกไป คือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมที่สำคัญที่ต้องใส่ไว้ เช่น การประชามติ และต้องเป็นประชามติที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ใช่ว่าเข้าชื่อกันแล้วเท่านี้ต้องรอให้รัฐบาลหรือครม.อนุมัติ เสมือนหนึ่งเป็น gate keeper ที่เอาลูกเข้า-ออก จากประตูได้ การเข้าชื่อกันจะมากหรือจำนวนเท่าใดก็แล้วแต่ แต่ต้องเป็นเสียงที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่เสียงที่มีใครไม่รู้มาใช้สิทธิแทน เช่นในสวิสต์เซอร์แลนด์ มีประชากร 7  ล้านคน การประชามติก็กำหนดให้มีคนเข้าชื่อกัน 1 ล้านคน เป็นต้น ซึ่งประชามติเคยอยู่ในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ซึ่งนอกจากประชามติแล้วการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ถูกตัดออกในรัฐธรรมนูญ 60 ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น วิธีการถอดถอนก็มาคุยกันว่าจะเอาแบบไหน จะมาลงชื่อแบบอเมริกาหรือไม่เพราะประชาชนอาจไม่กล้ามาลงชื่อก็ได้ นอกจากนี้สิทธิ

บางอย่างแม้บัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติ เช่น สิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม หรือการกระจายอำนาจ เรื่องการโอนงบประมาณให้ท้องถิ่น 35% ผ่านไปกว่าสิบปีแล้วกลับโอนให้แค่ 11% เป็นต้น แถมภูมิภาคยังดึงอำนาจกลับมาจากท้องถิ่นอีก ตัวอย่างจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา อปท.มีอาสาสมัครจัดการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดได้ดีมาก ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดในฐานะราชการส่วนภูมิภาคลอยตัวไม่ทำอะไรเลย ประเด็นต่อมาการบัญญัติเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐนั้นเขียนไว้อย่างหลวมๆ และบางเรื่องน่าจะมีปัญหา    เช่น รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท จะเห็นได้ว่าเขียนแบบนี้เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนา เพราะทำไมต้องเป็นพุทธอย่างเดียวและเป็นเถรวาทด้วย แล้วศาสนาอื่นจะทำอย่างไร ซึ่งมีหลายมาตราในหมวดนี้ที่มีปัญหา ควรตัดออกทั้งหมวด แต่หมวดหน้าที่ของรัฐซึ่งหมายถึงถ้ารัฐไม่ทำตามหมวดนี้ประชาชนสามารถฟ้องรัฐได้ ประเด็นนี้ต้องคงไว้โดยเขียนให้คลอบคลุมทุกด้านโดยไม่ต้องแยกแยะออกเป็นข้อๆหรือมาตราต่างๆซึ่งก็คงเอาไว้ได้ แต่ควรจะไปเขียนไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพมากกว่าว่าประชาชนมีสิทธิอะไรบ้าง เพราะการรับรองสิทธิของประชาชนสำคัญกว่า

ประเด็นสุดท้ายที่อยากให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็คือ การสร้างดุลยภาพระหว่างอำนาจอธิไปไตยทั้ง 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ต้องมีการยึดโยงกับประชาชนและมีการตรวจสอบถ่วงดุล และแสดงความรับผิดต่อภารกิจที่ตัวเองมีภาระหน้าที่ตามกฎหมาย และภาระหน้าที่นั้นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน. ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น สว.และศาลรัฐธรรมนูญควรจะมีหรือไม่ อันนี้อยากให้ไปดูบริบทว่ามีความจำเป็นอย่างไร โดยมีกรอบบังคับให้มีภารกิจเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยไม่มีการขยายขอบเขตภารกิจให้กว้างเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนองค์กรอิสระอื่นๆบางองค์กรอาจตัดออกไปได้ เพราะมีมากเกินไป และมีบางองค์กรทำงานซ้ำซ้อนกัน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และความจริงหลายเรื่องศาลปกครองก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว

 ไพโรจน์ พลเพชร จริงๆแล้วควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเขียนให้ส่วนราชการเข้ามากำกับประชาชน โดยเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญของฝ่ายที่ชนะเพื่อจำกัดบทบาทนักการเมืองที่ประชาชนเลือกและสถาปนาระบบรัฐราชการที่ถูกยึดไปโดยรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ถ้าสนใจว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีเจตนารมณ์อย่างไรดังที่กล่าวมาก็ลองไปอ่านคำปรารภก่อนมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นที่ว่าควรบัญญัติสาระสำคัญอะไรบ้างไว้ในรัฐธรรมนูญ ขอให้เราย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นฉบับปฏิรูปการเมืองที่สำคัญ กล่าวคือ ปฏิรูปโครงสร้างของความสัมพันธ์ของสถาบันที่มาของอำนาจ ปฏิรูปสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปฏิรูปการมีส่วนร่วมของประชาชนและปฏิรูปกลไกองค์กรอิสระทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ เช่น กกต. ปปช.ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิฯหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน การปฏิรูปโครงสร้างและก่อตั้งสถาบันเหล่านี้เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ทีนี้พอมาในรัฐธรรมนูญ 50 ก็ปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ 40 แต่พอเกิดรัฐธรรมนูญ 60 ก็กลับไปเป็นเหมือนก่อนปี 40 คือระบบราชการเป็นใหญ่ และพยายามกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่มีส่วนราชการเข้ามากำกับ ดังนั้นถ้าจะถามว่าอยากเห็นอะไรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจที่มาของรัฐสภา องค์กรอิสระต่างๆจะมีที่มาอย่างไร แบบเก่าเป็นอย่างไรของใหม่อยากให้เป็นอย่างไร ต้องมีงานศึกษาวิจัยสนับสนุน ไม่ใช่นึกอยากจะปรับแก้ไขอย่างไรก็ทำไปตามความรู้สึกของใครบางคน ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ 40 ได้วางรากฐานเรื่องการกระจายอำนาจไว้อย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น เหตุว่าการกระจายอำนาจเป็นรากฐานของประชาธิปไตยขั้นแรกที่ประชาธิปไตยถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง โดยลดทอนอำนาจส่วนกลางและทำให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น ดังนั้นในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องตั้งต้นพูดถึงหลักการแบบนี้ที่มีงานวิจัยรองรับ และไปดูได้มีงานวิจัยเปรียบเทียบมากมายเรื่องของรัฐธรรมนูญ 40 50 และ 60 ที่ทบทวนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการมีส่วนร่วม

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปสิ่งที่ต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญที่ขาดไม่ได้คือเรื่องสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 40 มีข้ออ่อนคือ สิทธิที่รัฐธรรมนูญรองรับต้องไปออกเป็นกฎหมาย จึงจะมีผลบังคับ แล้วมาแก้ไขในรัฐธรรมนูญ 50 ว่าประชาชนอ้างสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองได้เลยในการต่อสู้คดีหรือฟ้องร้องปกป้องการละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่พอมาในรัฐธรรมนูญ 60 ก็เขียนรับรองสิทธิไว้ว่าอะไรที่ไม่ห้ามประชาชนมีสิทธิและไปเพิ่มในหมวดหน้าที่ของรัฐว่า ถ้าอะไรที่ประชาชนมีสิทธิก่อให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้สิทธินั้นได้บรรลุผล ดังนั้นควรเขีบนรับรองสิทธิเสรีภาพให้ชัดเจน ประเด็นต่อมาคือแนวนโยบายของรัฐ เดิมรัฐธรรมนูญ 40 บัญญัติว่าสิทธิใดไม่ได้บัญญัติไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพก็ให้ไปบัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพราะรัฐมีทรัพยากรจำกัด หากเป็นแนวนโยบายก็ให้รัฐไปออกกฎหมาย ดังนั้นหากจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องปรับปรุงหมวดนี้ใหม่ ประเด็นต่อมาที่สำคัญมากคือเรื่อองค์กรอิสระ มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ 50 และ 60 ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการได้มาขององค์กรอิสระให้ปลอดจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง เลยให้ศาลและผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือกการเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรอิสระหลายองค์กร โดยคิดว่าศาลจะเป็นกลางในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม.            แต่กลายเป็นว่าเป็นการก่อให้เกิดการครอบงำโดยฝ่ายราชการ ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงระบบคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระใหม่ เพื่อให้มีความหลากหลายของคณะกรรมการสรรหาในแต่ละองค์กร มิใช่ทุกองค์กรใช้คณะกรรมการสรรหาชุดเดียวกันหมด 

ประเด็นสุดท้ายคือการปกครองท้องถิ่น แม้ร่างฯของประชาธิปัตย์จะเขียนไว้อย่างลวกมากๆ แต่ข้อดีคือนำหลักการเดิมที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 50 กลับมาใหม่ นั่นคือ เปิดให้จังหวัดใดที่มีความพร้อมให้สามารถจัดการปกครองตนเองได้ตามเจตจำนงของคนในจังหวัด ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 ตัดประเด็นนี้ออกไป หลักการนี้เป็นที่มาของจังหวัดจัดการตนเอง ประเด็นต่อมาคือ อำนาจหน้าที่ การที่ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ในทุกเรื่องยกเว้นการศาล การเงินการคลัง การทหารหรือการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของส่วนกลาง นอกนั้นท้องถิ่นทำเองได้ทุกเรื่อง ประเด็นต่อมา คือ ต้องปรับการกำกับท้องถิ่นเพราะที่ผ่านมา อปท.ถูกควบคุมโดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น สังกัดกระทรวงมหาดไทย ต้องปรับใหม่ให้มีองค์คณะขึ้นมาคณะหนึ่งทำหน้าที่จัดความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง และระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเอง รวมทั้งขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ต้องให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง และขอตั้งข้อสังเกตว่า การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมานี้ได้ยึดอำนาจการปกรองท้องถิ่น โดยการยุบบทบาท อปท.แช่แข็งไม่ให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นตามวาระ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการยึดอำนาจการปกครองที่ยึดอำนาจท้องถิ่นด้วย แสดงว่าท้องถิ่นเริ่มมีพลังและอำนาจต่อรองมากขึ้น

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จริงๆแล้วไม่ได้เห็นต่างจากทั้ง 2 ท่านที่กล่าวมาแล้ว เพียงแต่อยากจะตั้งข้อสังเกตว่า เราเพียงต้องการรัฐธรรมนูญที่ออกมาให้มีเนื้อหาสมบูรณ์ ที่มีทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจ ที่มาขององค์กรอิสระต่างๆ การมีส่วนร่วมของประชาชน เท่านี้เอง มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นธรรมและอิสระ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้อย่างยาวนานและสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ทุกเมื่อ ถ้าสิ่งที่ใช้อยู่นั้นยังมีปัญหาไม่ครอบคลุม การอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยอย่างสันติ แต่ประเด็นคือ การจะไปสู่สิ่งที่คาดหวังดังกล่าว ตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะมีการขัดขวางโดยสว. โดยพรรคพลังประชารัฐ และศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในระหว่างทางจะไปถึงที่หมายนี้ ต้องมีการรื้อถอนอำนาจขององค์กรที่ขัดขวางไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะรื้อถอนอำนาจของสว. ศาลรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ถือเป็นเกมการเมืองที่วางไว้โดย พปชร.ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยไขว้เขว เพราะฝ่ายนั้นก็จะออกมาประกาศว่าเห็นไหมอยากแก้รัฐธรรมนูญ ก็แก้ให้แล้ว แบบนี้ๆ ซึ่งนี่เป็นหมากที่วางไว้ให้แก้ในประเด็นเล็กๆน้อยๆ ไม่มีทางจบ เราอยากเห็นกระบวนการร่างใหม่ที่เป็นธรรม มีสสร.มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการร่างมีประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ส่วนในรายละเอียดว่าสิทธิเสรีภาพจะเขียนอย่างไร การปกครองท้องถิ่นจะเขียนอย่างไร ไปดำเนินการกันในชั้น สสร.จะดีกว่า ส่วนว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการร่างที่เป็นธรรมแล้ว จะได้เนื้อหาอย่างที่วิทยากรคนอื่นแสดงความเห็นไว้หรือไม่ ก็ไม่ว่ากัน เราก็ทดลองใช้รัฐธรรมนูญไป แล้วปรับแก้ไขกันไป

ข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร 

ไพโรจน์ พลเพชร ถ้าอยากเห็นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ในเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าต้องเสนอร่างฯแก้ไขเข้าสู่รัฐสภาอีกนั้นไม่สามารถกระทำได้ หากเราอยากให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสสร.หนทางเดียวที่เป็นไปได้คือต้องทำประชามติว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งตามพรบ.ประชามติฉบับใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ กำหนดเงื่อนไขการทำประชามติไว้ 4 รูปแบบ คือ 1.การจัดทำรัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติ 2. ครม.เป็นผู้เสนอ หมายถึงรัฐบาลเห็นว่าเรื่องใดสำคัญที่ควรทำประชามติก็ให้รัฐบาลเป็นผู้เสนอ 3. รัฐสภาเป็นผู้เสนอ และ 4 ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ ซึ่งรูปแบบที่ประชาชนเป็นผู้เสนอน่าจะเป็นจริงได้มากที่สุด โดยเสนอให้ทำประชมติไปเลยว่า จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร.เห็นด้วยหรือไม่ ถามแบบนี้ให้ชัดเจน แล้วไปรณรงค์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการไปลงประชามติ โดยไม่ต้องไปทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 60 ก่อน

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ขอเสริมประเด็นเรื่องการทำประชามติโดยภาคประชาชนเข้าชื่อกัน 5 หมื่นรายชื่อตามพรบ.ประชามติฉบับใหม่นั้น เมื่อได้รายชื่อประชาชนมาแล้วต้องผ่านความเห็นชอบของครม.ก่อน แสดงว่าประชาชนยังไม่สามารถเสนอให้ทำประชามติได้เองต้องผ่าน gate keeper คือ ครม.เสียก่อน จึงเสนอว่าคงต้องหารายชื่อให้ได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายสิบเท่า เช่น อาจรวบรวมให้ได้เกิน 1 ล้านชื่อ เสนอให้ครม.ยอมรับให้มีการทำประชามติ นอกจากนี้พรบ.ประชามติฉบับใหม่ยังมีบทบัญญัติให้ลงประชามติได้ทางไปรษณีย์ แต่คงยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ ส่วนการรณรงค์ให้มีการทำประชามตินั้น น่าจะเป็นหนทางนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เพราะประชาชนหลายภาคส่วนมองเห็นไปในทิศทางเดียวกันเช่นนี้ ดังนั้นหากจะทำประชามติขอเสนอเป็นตัวอย่างให้ตั้งคำถามเป็น 2 คำถาม 1. เห็นด้วยหรือไม่ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้จัดทำโดยสสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ขออนุญาตยกตัวอย่างประเทศชิลีที่มีการทำประชามติ ในปี 2020 ชิลีมีการประท้วงในปี 2019 โดยนักเรียนมัธยมเรื่องการขึ้นราคารถไฟใต้ดินที่นำไปสู่การประท้วงขนาดใหญ่มีผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงกว่า 1 ล้านกว่าคนในเมืองหลวงซานดิเอโก ในขณะที่ชิลีมีประชากรประมาณ 19 ล้านคน จนรัฐบาลต้องประกาศให้มีการทำประชามติ โดยมีการตั้งคำถาม 2 คำถามที่คล้ายๆกับบ้านเราถ้าจะเสนอให้ทำประชามติ คือ คำถามแรก ควรยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารปิโนเช่ คำถามที่ 2 มีสองคำถามย่อย หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญโดยสสร.2.1 เห็นด้วยหรือไม่ที่ให้สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือ 2.2 สสร.ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง อีกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ผลการประชามติเสียงส่วนใหญ่เลือกให้สสร.มาจากการเลือกตั้ง โดยครึ่งหนึ่งของสสร.เป็นผู้หญิง และมีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อยในสสร.ด้วย 

ประเด็นต่อมาคือควรมีบทบัญญัติให้มีการทบทวนรัฐธรรมนูญเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าให้มีการทบทวนรัฐธรรมนูญทุกๆ 8 หรือ 10 ปี เพื่อไม่ให้มีการฉีกทิ้ง โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาหรือกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

ประเด็นสุดท้ายไม่ควรใส่อะไรมากๆไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหากระชับ เนื้อหาไม่ต้องมากเป็นร้อยๆ มาตรา เอาหลักการต่างๆมาบัญญัติไว้ก็พอ รายละเอียดต่างๆไปเขียนไว้ในกฎหมาย และการทำประชามติต้องทำให้ได้ไม่ว่าจะทำก่อนและหลังการมีรัฐธรรมนูญ อย่าอ้างว่าสิ้นเปลืองงบประมาณหรืออ้างเหตุใดๆมาเป็นข้อจำกัดมิให้ประชาชนได้ลงประชามติ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ขออนุญาตเห็นต่างจากอ.สิริพรรณเล็กน้อย คือไม่เห็นด้วยที่ให้มีการทำประชามติก่อนมีรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่าศาลไม่ห้ามการมีสสร. ตรงกันข้ามศาลบอกว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และต้องมีการจัดทำประชามติก่อนการจัดทำและภายหลังเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จ ไม่ใช่ก่อนการลงมติวาระแรก คำถามคือ ถ้าทำประชามติก่อนผ่านวาระแรกแล้วผลออกมาว่าให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสสร.ได้ จะมีปัญหาในทางกฎหมายทันทีว่าเมื่อรัฐภารับหลักการในวาระที่หนึ่งให้มีสสร.แล้วจะให้สภาอภิปรายอะไรในวาระที่ 2 และ 3 เพราะประชาชนบอกว่าให้มีสสร.แล้ว อาจจะแก้ไขเล็กน้อยเรื่องคุณสมบัติและที่มาของสสร. และจะยิ่งยุ่งกันไปอีกหากในวาระที่สองและสามรัฐสภาไม่ผ่านมติให้มีสสร.ตามผลของประชามติ แล้วเราจะถือผลของการดำเนินการอย่างไรจึงจะปฏิบัติได้ สมมติว่ารัฐสภาผ่านมติให้มีสสร. ก็ต้องไปทำประชามติอีกครั้งว่าควรมีสสร.ตามมติที่รัฐสภาพิจารณาหรือไม่ เกิดว่าผลการประชามติออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐสภา ก็จะมีคำถามต่อมาว่าไม่เห็นด้วยในเรื่องอะไร ไม่เห็นด้วยที่จะมีสสร. หรือไม่เห็นด้วยในเรื่องเนื้อหาของสสร.ตามที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แล้งยังจะมีคำถามต่อไปอีกว่า ประชามติครั้งแรกที่เห็นด้วยให้มีสสร. กับประชมติครั้งที่สองว่าไม่เห็นด้วย จะถืออะไรเป็นคำตอบสุดท้ายในทางกฎหมายคงจะตีความกันมั่วไปหมด ระบบนิติศาสตร์ ระบบรัฐสภา ไม่มีคำอธิบาย ไม่มีคำตอบในประเด็นเหล่านี้ ดังนั้นจึงไม่ควรมีการทำประชามติในครั้งแรกว่าควรมีสสร.หรือไม่ แต่ควรถามเช่นว่าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเอารัฐธรรมนูญ 40 มาบังคับใช้ชั่วคราว 2-3 ปี ก่อนการจัดทำฉบับใหม่เสร็จ เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าถามแบบนี้รัฐสภาจึงจะสามารถพิจารณาต่อไปได้ ดีกว่าที่จะถามว่าถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรให้สสร.เป็นผู้จัดทำหรือไม่

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คือ ถ้าเราไม่ทำประชามติก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ เราจะไม่สามารถดำเนินการให้สิ่งที่เราอยากเห็นในรัฐธรรมนูญเป็นจริงได้เลย เพราะการทำประชามติแต่ต้นเป็นการสถาปนาอำนาจประชาชนและเป็นกระบวนการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดของการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมการทำประชามติถือเป็นกระบวนหนึ่งที่หลายประเทศใช้อยู่ และเห็นด้วยว่าการตั้งคำถามก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญว่าในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญให้นำรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดมาใช้บังคับก่อนอาจเป็นการบังคับใช้บางมาตรา ไม่ใช้บางมาตรา และไม่ควรใช้บังคับชั่วคราวนานถึง 2-3 ปี ขอแค่ 6-9 เดือนก็พอ

ไพโรจน์ พลเพชร ประเด็นเรื่องประชามติดูเหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญของการให้ประชาชนมีบทบาทในการใช้อำนาจสถาปนาการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นที่จะทำประชามติเสียก่อนที่จะมีการตกผลึกในการตั้งคำถามเพื่อการประชามติ มิฉะนั้นจะเกิดเหตุการณ์มัดมือชกถามคำถามชี้นำแบบการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ต้องไม่ลืมว่าการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นการประชามติที่เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่