สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 4/2564

หัวข้อ บทบาทสตรีไทยกับการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ 40 ถึง 60

วันอังคารที่ 30 มีนาคม 2564

เวลา 14.00-15.30 น.

 

ผู้ร่วมเสวนา

  1. สุธิลา ลืนคำ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม  (JELI)
  2. แม่หลวงหน่อแอลิ ทุ่งเมืองทอง เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย
  3. อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ
  4. เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ

เกริ่นนำ เนื่องจากวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล รายการ สสส.เสวนาทัศนะจึงขอ นำเสนอการเสวนา ในหัวข้อ บทบาทสตรีไทยกับการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ 40 ถึง 60 เพื่อ สำรวจตรวจสอบสถานะและบทบาท ของสตรีไทยในรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนผ่านจาก 2540 จนถึง 2560 โดยสำรวจบทบาทของสตรีผ่านกลุ่มต่างๆได้แก่ กลุ่มแรงงาน กลุ่มสตรีในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ กลุ่มสตรีผู้พิการและกลุ่มสตรีชาติพันธุ์

สถานะปัจจุบันของสิทธิสตรีในบริบท ต่างๆ ในสังคม 

สุธิลา ลืนคำ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม  (JELI) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ด้านวิชาการที่ทำงานกับ คนทำงานหรือผู้ใช้แรงงานผ่านงานวิจัย งานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วมี 2 เรื่อง ๆ แรก คือ “แพลตฟอร์มอีโคโนมี และ ผลกระทบต่อแรงงาน ภาคปริการ” อีกเรื่องคือ งานวิจัยเกี่ยวกับคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ทำงานผ่าน แอปพลิเคชั่น เรื่อง“รูปแบบงานใหม่ ของคนขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม” เป็นการจ้างงานโดยอาศัยต้นทุน ของผู้รับจ้าง เช่น ต้องมีมอเตอร์ไซด์และหาอุปกรณ์เสริมเอง ไม่มีประกันอุบัติเหตุ ไม่มี สวัสดิการเพราะนายจ้าง ต้องการลดต้นทุนและจ้างคนทำงานเยอะๆ เพื่อให้แข่งขันกัน ใครทำงานได้ตามเป้าก็จะจ้างต่อ ปัจจุบันมีงานวิจัย เกี่ยวกับแรงงานผู้หญิง 3 กลุ่มอาชีพ คือ แม่บ้าน พนักงานนวด และคนดูแลผู้สูงอายุ คนงานเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้ กฎหมายแรงงาน ทำงานผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เป้าหมายคือการนำข้อค้นพบจากปัญหาไปเสนอทางออกเชิงนโยบาย ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรวมกลุ่มและนำเสนอกฎหมายเพื่อคุ้มครองคนทำงานเหล่านี้ ขณะนี้อยู่ระหว่าง ดำเนินการศึกษาและใกล้จะจบโครงการแล้ว ส่วนการติดตามความเคลื่อน ไหวของสหภาพแรงงานนั้น ก็ยังดำเนินการ อยู่ เพราะเราเคยเป็นประธานสหภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมาก่อน ทราบดีว่าเมื่อคนงานในภาคอุตสาหกรรม ถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถอยู่ได้โดยอาศัยเศรษฐกิจพอเพียง เพราะคนงานอยู่ได้จากการทำงานล่วงเวลา เมื่อถูกเลิกจ้าง ก็ไม่มีต้นทุนไปทำอย่างอื่น ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดสองสามปีมานี้ก็ถูกลดวันทำงาน ถูกลดค่า จ้างถูกบีบให้ลาออก ถูกเลิกจ้าง ซึ่งผู้ถูกกระทำมักเป็นแรงงานผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียว กันผู้หญิงยังต้องแบกรับภาระภายในบ้านด้วย จึงมีปัญหามากยิ่งขึ้น งานในภาคอุตสาหกรรม ผู้หญิงจะถูกให้อยู่ข้างหลัง ไม่ได้เป็นหัวหน้างาน ไม่ได้เป็นช่างเพราะ ระบบชายเป็นใหญ่ต้องให้ผู้ชายเป็นหัวหน้า ทั้งๆที่ผู้หญิงสามารถทำงานได้หลายอย่าง งานซ่อมงานช่างก็ทำได้ บริหาร งานอะไรต่างๆ ก็สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ได้รับความไว้วางใจ

แม่หลวงหน่อแอลิ ทุ่งเมืองทอง เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี โดยประสานงานกับ 15 ชนเผ่าในประเทศ ทางภาคเหนือซึ่งมีตั้งแต่ปกากะยอ ม้ง ลาหู่ อาข่า  ลีซู ลัวะ เมี่ยน ไทยใหญ่ และภาคใต้ซึ่งมี ชนเผ่าอุรักละโว้ย มอแกน และมอแกรน ที่อยู่และทำ มาหากินในทะเล เครือข่ายฯทำงานกับผู้หญิงที่ไม่มีโอกาส ออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อให้ ผู้หญิงชนเผ่าที่ถูกสังคมทั่วไปและภายในชนเผ่ากันเองที่มีความเชื่อและวัฒนธรรม ปิดกั้น ให้สามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะประเพณีที่ว่าชายเป็นใหญ่ เช่น ชาวปกากะยอมีประเพณีว่า ผู้หญิงไม่มีศักยภาพในการทำงานอื่น ไม่สามารถเป็นผู้นำครอบครัว การสืบตระกูลเป็นเรื่องของลูกผู้ชาย หรือชาวม้ง สมัยก่อนหากชอบผู้หญิงคนไหนก็มีประเพณีฉุดเอามาที่บ้านเลย เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เครือข่ายฯ จึงทำงานเพื่อ เสริมพลังผู้หญิงชนเผ่าและครอบครัว โดยทำงานร่วมกับผู้ชายเพื่อทำให้เห็นว่าหากผู้นำตามธรรมชาติทำงานร่วมกับ ผู้หญิง จะสามารถทำให้งานของชุมชนเดินหน้าไปได้ และในสังคมสมัยใหม่ประเพณีบางอย่าง อาจไม่เหมาะสมกับยุค ปัจจุบันต้องยกเลิก ทำให้ตอนนี้สถานการณ์ในหมู่สตรีชนเผ่าได้รับการพัฒนาและยอมรับมากขึ้น

อัญชนา หีมมิหน๊ะ  “กลุ่มด้วยใจ” ตั้งขึ้นในปี 2553 ทำงานกับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจาก การใช้กฎหมายเกี่ยวกับ ความมั่นคง 3 ฉบับ คือพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พรก.การบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพรบ.การ รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่ทำให้สามีถูกจับ คุมขังหรือได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือบุคคลในครอบครัว หลบหนีหรือหายสาบสูญไป เราเรียกร้องให้บุคคลเหล่านั้นได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย หรือได้รับการเยียวยา อย่างเป็นธรรม และส่งเสริมให้ผู้หญิงที่สูญเสียเหล่านี้เปลี่ยนบทบาทจากการทำงานในบ้านมาเป็นผู้นำในครอบครัว และเป็นผู้นำในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครอบครัว เราประสานงาน ให้ ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับ ผลกระทบจากกฎหมายครอบครัวและมรดกที่ประกาศใช้เฉพาะสำหรับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสตูล ซึ่งเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้หญิงเป็นอย่างมาก เช่น การแบ่งมรดกตามกฎหมาย อิสลาม กรณีที่พ่อหรือสามีตายจะมีสัดส่วนของมรดกให้แก่ลูกผู้ชายก่อนและมากกว่าลูกผู้หญิง ถ้าสามีตายและยังมีพ่อ ทรัพย์สินจะตกทอดแก่พ่อของสามีก่อน ภรรยาอาจไม่ได้รับมรดกของสามี เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่หลัก ศาสนา นอกจากกรณีที่เราให้ความช่วยเหลือหญิงที่ตกเป็นผู้เสียหายเพราะสามีหรือบุคคลในครอบครัวได้รับผล กระทบจากกฎหมายความมั่นคงแล้ว เรายังให้ความช่วยเหลือหญิงที่ตกเป็นผู้ต้องหาจากคดีความมั่นคง เช่นให้ที่พักพิง แก่สามี หรือพ่อของตนเองถูกคุมขังตามพรก.ฉุกเฉิน 7-30 วัน เพื่อหาข้อมูลความเกี่ยวข้องกับผู้ก่อความไม่สงบ ถูกปิดล้อมตรวจค้นในยามวิกาล เด็กหญิงถูกทหารถ่ายภาพโดยไม่ทราบว่าถ่ายไปทำอะไร คือเราจะกังวลกับการ นำภาพไปใช้ในทางแสวงผลประโยชน์ทางเพศ pornografie  ถูกตรวจ DNA โดยไม่สมัครใจเพื่อหาความเกี่ยวข้อง เป็นญาติ บางครั้งก็จะเก็บจากน้องสาว พี่สาวของผู้ที่ถูกจับ หรือของผู้ต้องสงสัย แต่บางครั้งก็มาเก็บจากภรรยา เพราะสามีถูกจับ ทั้งๆ ที่ไม่สามารถตรวจ DNA ได้ เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือบางครั้งก็ไปเก็บ จากลูก ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

จากสถิติตั้งแต่ปี 2547 – 2563 มีผู้หญิงเสียชีวิตไปแล้ว 583 คน ได้รับบาดเจ็บกว่า 5 พันคน พิการ 100 กว่าคน และเป็นหม้ายกว่า 3 พันคน

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย เนื่องจากได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในกรรมการสิทธิคนพิการ ตาม อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิ ของคนพิการทำให้ต้องมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 เดือน เริ่ม ดำเนินงานผ่าน zoom เพราะติดสถานการณ์ โควิด มาตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม โดยเป็นการ ประชุมเพื่อตรวจรายงานของประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญาฯ และต้อง สืบเสาะข้อเท็จจริงจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรหรือหน่วยงานที่พิทักษ์สิทธิคนพิการ เพื่อเปรียบเทียบกับ รายงานของรัฐบาลว่ามีการดำเนินงานตามที่อนุสัญญาฯระบุไว้ หรือไม่ เพื่อวิเคราะห์ และสัง เคราะห์นำเสนอเป็น รายงานความคิดเห็นและข้อสังเกต (conclude of the  observation) ก่อนจัดทำเป็นข้อแนะนำทั่วไป (general recommendation) ต่อรัฐบาลนั้นๆ นอกจากนี้ หากมีความเห็นและข้อสังเกตแล้ว คณะกรรมการสามารถเชิญ ผู้แทนของรัฐนั้นมาให้ข้อเท็จ จริงจากรายงานที่คณะกรรมการยังสงสัยก็ได้ โดยคณะกรรมการฯจะยึดถือบทบัญญัติ ตามอนุสัญญาฯเป็นหลัก เวลาพูดถึงคนพิการตามอนุสัญญาฯมิได้หมายถึงคนที่มีอัตลักษณ์ภายนอกพิการเท่านั้น แต่รวมถึงคนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด เป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย แรงงาน ข้ามชาติ ผู้สูงอายุ และอยู่ในท้องถิ่น ห่างไกล มีสีผิวต่างๆ คนข้ามเพศ LGBT ฯลฯ ซึ่งเรา เรียกว่าเป็น cross cutting หรือ intersexuallity เพราะคน แต่ละคนอาจมีหลายอัตลักษณ์ที่ตัดขวางกัน เช่น เป็นทั้งผู้หญิง สูงอายุและพิการอีก เป็นต้น หากไม่มีอนุสัญญาฯ มาคอยกำกับบุคคลเหล่านั้นจะได้รับการเลือกปฏิบัติถึง 3 ชั้น โดยอนุสัญญาฯระบุชัดเจนว่าคนพิการ ก็คือคนต้อง ได้รับการขจัดอุปสรรคจากภายนอกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ตลอดจนการแก้ไข ความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการซึ่งก่อให้เกิด การเลือกปฏิบัติและขัดขวางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ขอให้ดูข้อบทที่ 3 เป็นหลักการทั่วไป ที่ว่าให้เคารพศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด ไม่ดูถูกเหยียดหยาม เคารพ เสรีภาพ ในการตัดสินใจด้วยตนเองอย่างอิสระของบุคคล การไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ การมีส่วนร่วม ของคนพิการ เคารพความแตกต่าง ยอมรับคนพิการว่าเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างของ มนุษยชาติและความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมของโอกาส ความเสมอภาคระหว่างชายกับหญิง การเคารพเด็กพิการที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการ ห้ามเลือกปฏิบัติต่อคนพิการหรือความ พิการไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 เพิ่งจะมาเพิ่มเติมในปี 2550 ที่เกิด จากการเรียกร้อง ของคนพิการเองและประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯแล้ว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมุมมองด้าน คนพิการให้เป็นฐานสิทธิมนุษยชน จากฐานเดิมที่เป็นแค่เรื่องการสังคมสงเคราะห์ ดังนั้นจึงขอ สรุปว่าอนุสัญญาฯ จัดทำขึ้นเพื่อลดการตีตรา ลดการเหมารวมและการเลือกปฏิบัติต่อคน พิการทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีและอื่นๆที่ฝังรากลึกในมโนสำนึก และทัศนคติของผู้คนรอบตัวเราในทุกสังคมทั่วโลกและคืนความเป็นมนุษย์ ให้กับคนพิการ

กลไกของรัฐและสังคมที่มีอยู่ทำให้สิทธิสตรีได้รับการพัฒนาอย่างไร 

สุธิลา ลืนคำ  จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็นผู้หญิงและมีเชื้อสายไทยใหญ่ด้วย พบปัญหา คล้ายคลึงกับที่แม่หลวง และอ.เสาวลักษณ์ได้พูดไปแล้วว่าคือ สังคมไทยนั้นวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่จะแข็งแรงมาก ยิ่งโดยเฉพาะเป็นผู้ใช้ แรงงานสตรีจะเจอปัญหาการเติบโตในสายงานระดับบริหารถูกสกัดกั้นโดยทัศนคตินี้ การมีส่วนร่วมของสตรีในสาย แรงงานจะมีไม่มาก เช่น การร่างรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายแรงงานที่จะมาใช้บังคับกับผู้ใช้แรงงานเอง สตรีไม่ค่อยมีส่วนร่วม ไม่ค่อยได้รับรู้กระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนที่ประกาศว่าทุกคน มีส่วนร่วมในกระบวน การตรากฎหมายก็ตาม คนงานและคนงานสตรีไม่ค่อยทราบและไม่มี ส่วนร่วม ทั้งๆที่เราออกมาเรียกร้องตลอดเวลา แม้แต่วันที่  8 มีนา เราเรียกร้องให้เป็นวันหยุด หรือวันลาที่ผู้หญิงปวดประจำเดือนขอลาหยุด ก็จะถูกนายจ้าง ตั้งคำถามว่าทุกคนก็มีประจำเดือนทำไมต้องหยุด ผู้หญิงมีส่วนแค่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงหรือโหวตผ่านกฎหมายต่างๆ แต่ไม่ทราบเนื้อหาในกฎหมายนั้นๆว่าดีหรือไม่

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดเรื่องความเสมอภาคและห้ามการเลือกปฏิบัติ จะเห็นว่า มีการเพิ่มเรื่องห้ามการเลือกปฏิบัติกับคนพิการ  ซึ่งต่อมาก็มีการออก เป็นกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 การมีกฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรายอมรับกติกาสากล ในการนำมา จัดทำกฎหมายภายใน แม้จะยังมีปัญหาในทางปฏิบัติแต่ต้องถือว่าเป็นการยอมรับหลักการดีๆ มาบังคับใช้ก่อน เพราะ ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาฯจะต้องถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการตามอนุสัญญา หาก เราทำอะไรผิดไปจากที่ อนุสัญญาฯกำหนด แม้คณะกรรมการฯจะไม่สามารถลงโทษประเทศหรือรัฐบาลได้ แต่ก็สามารถ sanction ทางสังคม ได้ เช่น อาจไม่สั่งซื้อหรือแบนน์สินค้าจากบ้านเราที่ผลิตโดยการละเมิดสิทธิคนพิการ ส่งผลต่อเครดิตของประเทศ ในเวทีการค้าระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง

เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับที่ดีพอสมควร แต่เป็นการเขียนไว้สวยหรูในกระดาษ เช่น มาตรา 27 เขียนว่า บุคคลทุกคนเสมอกันโดยกฎหมายและต้องได้รับความ คุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ซึ่งตรงกับ อนุสัญญาฯ คนพิการที่ว่า recognition as a person before the law แต่ในทางปฏิบัติคนพิการที่นั่งรถเข็นไม่มี กฎหมายรองรับให้ต้องมี ทางพิเศษให้รถเข็นสามารถเดินทางได้สะดวก แปลว่าต้องมีกฎหมายเสียก่อนคนพิการจึงจะมี สิทธิเท่าเทียมคนอื่นรึเปล่า หรือหากรัฐมีนโยบายให้สิทธิด้านบริการสาธารณสุขแก่ทุกคนหรือ เป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูง อายุหรือคนพิการ แต่ถามว่าคนไร้สัญชาติที่ทำงานในไทยจะได้รับสิทธินั้นหรือไม่ ซึ่งไม่ได้รับแน่นอน ถามว่าคนทุกคน เสมอกันในกฎหมายจริงหรือไม่ ตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเองที่เป็นทั้งคนพิการและเป็นผู้หญิง อนาคตใกล้ๆนี้ก็จะ เป็นผู้สูงอายุอีก ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้โดยง่ายเพราะยังไม่มีกฎหมายที่มารองรับความเป็น คนพิการ หรือยกตัวอย่างคนหูหนวกจะไปขึ้นศาลอย่างไรถ้าไม่มีล่าม แม้กฎหมายเขียนไว้ว่าถ้าไม่ เข้าใจภาษาไทย ให้มีล่าม หรือไม่สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้และไม่มีล่ามภาษามือ ให้พนักงานสอบสวน พนักงาน อัยการ หรือ ศาล จัดหาล่ามภาษามือให้ แต่คนหูหนวกก็เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี เราจึงเห็นคนทุกกลุ่ม ที่เป็นคนพิเศษต่างๆ นอกจาก คนพิการ คนไร้สัญชาติ ผู้สูงอายุแล้ว ยังมีกลุ่ม LGBT กลุ่มคนข้ามเพศ ข้าม gender ต้องเรียกร้องการเข้าถึงบริการสาธารณะ ฉะนั้นที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าบุคคลทุกคนเสมอกัน ในกฎหมายและได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันนั้นยังไม่เป็นจริง ทั้งนี้เกิดจาก ยังไม่มีกฎหมายรองรับและการปฏิบัติของ เจ้าหน้าที่รัฐหรือภาคบริการอื่นๆในสังคม เราจึงเห็น คนข้ามเพศที่ถือบัตรประชาชนเป็นนาย แต่การแต่งกายและการ แสดงออกเป็นหญิง คนเหล่านี้ยังถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 เขียนว่า รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อย โอกาสให้สามารถ ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าว ถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและ เยียวยาผู้ถูก กระทำการดังกล่าว ถามว่าทำได้หรือไม่ ทำหรือยัง อันนี้เขียนไว้ ในหมวดแนวนโยบายของรัฐ ใช้คำว่า “รัฐพึง” แปลว่ารัฐจะทำหรือไม่ทำตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ก็ได้ หรือจะทำตาม มาตรฐานขั้นต่ำของสากลก็ย่อมทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาคนพิการเข้าไม่ถึงบริการของรัฐเพราะต้อง รอให้รัฐจัดให้ นี่คือ ปัญหาใหญ่ของคนพิการ แทนที่รัฐธรรมนูญจะเขียนให้สิทธิคนพิการมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองร่วมกับรัฐ  เราอยากเห็นตรงนี้มากกว่า จะได้ไม่ต้องรอรัฐจัดให้ จึงต้องไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญ

แม่หลวงหน่อแอ่ริ ทุ่งเมืองทอง ในมุมมองของชนเผ่านั้นกว่า 60% ยังไม่รู้จักเลยว่ากฎหมาย คืออะไร ดังนั้นจึงเป็น การยากที่จะตอบว่ากฎหมายที่มีอยู่ก็ดีหรือกลไกของรัฐที่มีอยู่ก็ดีเป็น ประโยชน์ในการพัฒนาชนเผ่า หรือสตรีชนเผ่า หรือไม่ ทั้งนี้เพราะชนเผ่าไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านยังไม่ได้แล้วจะให้ไปอ่านภาษากฎหมายที่ยุ่งยากยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญ เรื่องความเสมอภาคยิ่งเข้าไม่ถึงกันใหญ่ ชนเผ่าที่อยู่ห่างไกลบนที่สูง บนภูเขาอยู่ห่างไกล ความเจริญทุกอย่าง การศึกษา อินเตอร์เน็ต อะไรต่างๆ อยากให้มีกฎหมายเฉพาะเรื่องของ ชนเผ่า แม้จะมีมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้รัฐคุ้มครองชนเผ่าให้มีสิทธิดํารงชีวิต ในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข แต่ในความเป็นจริงยังมีปัญหา เช่น หากชนเผ่าจะทำไร่หมุนเวียนตามสิทธิในการ ดำรงชีวิตตามประเพณีดั้งเดิม กลับถูกจับตามกฎหมายแล้วจะให้ทำอย่างไร การใช้การตีความกฎหมายของรัฐบาล ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ชนเผ่าจึงเข้าใจยากว่าทำไมเขียนแบบนึง แต่ปฏิบัติอีกแบบนึง จึงเห็นว่ากลไก ทางกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่เอื้อให้ชนเผ่าได้พัฒนาตามศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ หรืออย่างเรื่องการศึกษา แม้เราจะได้เรียนฟรี แต่บางพื้นที่กรณีที่ นักเรียนมีไม่ถึง 100 คน ทำให้ต้องถูกยุบรวมไปเรียนอีกหมู่บ้าน ทำให้ต้องมี ค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทาง หากเดินทางไปเรียนระยะทางไม่เกิน 5-6 กิโลเมตร ก็สามารถไป กลับได้ค่าใช้จ่ายก็ไม่มาก อีกประเด็นคือหากชนเผ่าจะจัดการศึกษาเองตามอัธยาศัย มีหลายชนเผ่า หลายหมู่บ้านอยากจัดการศึกษาเอง โดยมี การใช้ภาษาของเผ่าและเรียนวิชาหลักๆ แต่ไม่มีการ รับรองจากทางราชการเมื่อจบม. 6 ก็ไม่สามารถออกไปเรียนต่อ ในระบบได้ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เคยมีตัวอย่างของชุมชนในอำเภอแม่ริมเด็กที่จบม. 6จะขอให้ทางกศน.ออกใบรับรองให้ แต่ กศน.ก็ออกให้ไม่ได้เพราะไม่ได้รับทราบมาแต่ต้นว่าเรียนหรือสอนอะไรกันอย่างไร ปัญหาต่อมา คือการถูกเลือก ปฏิบัติในการทำงานเมื่อต้องออกจากหมู่บ้านไปทำงานในเมือง ชนเผ่าจะถูก เลือกปฏิบัติถึง 3 ชั้น คือ 1 เป็นชนเผ่า 2 เป็นผู้หญิง 3 เป็นคนยากจนขาดโอกาสทางการ ศึกษา จึงทำให้ถูกเลือกปฏิบัติจากการได้รับค่าแรง ถูกเอาเปรียบ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 กว่า บาทต่อวัน พอเป็นชนเผ่าก็จะได้ไม่ถึงอย่างมากคือได้แค่ 200-250 บาท/วัน ปัญหาต่อมาของ ชนเผ่าคือต้องการการพัฒนาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชนเผ่าเอง ชนเผ่าก็อยากมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ในการทำงาน มีผู้หญิงบางส่วนก็ไปเป็นคนทำงานในโรงงานอุตสหกรรม แต่ เราก็อยากทำงานใกล้กับชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงไม่อยากออกจากหมู่บ้านไปไกลๆ เพราะต้องดูแลครอบครัวและทำงานส่งเสริมคนในชุมชนด้วย ผู้หญิงชนเผ่าอยากจะอบรมสั่งสอนลูกหลานให้มีจิตใต้สำนึกของการรักเผ่าของตนเอง รักอัตลักษณ์ทางประเพณี วัฒนธรรมของเผ่าตนเอง เพราะเราพบว่าคนที่มีการศึกษาสูงมักเอาเปรียบคนที่ไม่มีโอกาสในการศึกษา เราจึง อยากสอนลูกหลานให้เมื่อมีการศึกษาแล้วต้องกลับมาช่วยกันพัฒนาชุมชนของตนไม่ให้มีใคร มาเอาเปรียบพวกเราได้ ยิ่งถ้ามีการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างคนในสังคมได้ ประการสุดท้ายคือปัญหาการเข้าถึงสุขภาพของชนเผ่า แม้จะมีโรงพยาบาลในชุมชนหรือในอำเภอก็ดี แต่ยังไม่มีล่าม ที่ช่วยเหลือในการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะชนเผ่าบางส่วนยังไม่สามารถเข้าใจภาษาไทย นี่เป็นปัญหา ใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของชนเผ่าที่กลไกของรัฐยังไม่เอื้อให้ชนเผ่าสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับสสส.ด้านสุขภาพได้จัดอบรมให้ ผู้หญิงของชนเผ่าเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข ในการดูแลแนะนำด้านสุขภาพ ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

อัญชนา หีมมิหน๊ะ นับแต่ประเทศไทยไปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้านเด็กและสตรี ต่อคณะกรรมการ สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ส่งผลให้ศูนย์อำนวยการ บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ – ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – พม. ได้จัด ตั้งศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรี จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือและรับเรื่อง ร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีจากการได้รับความรุนแรง หรือจากการถูกเลือกปฏิบัติ ต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติยังมีปัญหานี้อยู่มาก นอกจากปัญหาสิทธิในชีวิตและร่างกาย การตรวจ ค้น จับกุมสตรีตามด่าน ต่างๆแล้ว ผู้หญิงมุสลิมที่ต้องคลุมหน้าตามหลักศาสนา (ฮิญาบ)กลับถูก ห้ามสวมฮิญาบมาทำงาน หรือปฏิเสธที่จะ รับเข้าทำงานหรือในโรงเรียนบางแห่งห้ามสวมฮิญาบในโรงเรียน ทั้งๆที่นี่คือการใช้เสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา ตามความเชื่อที่ได้รับการรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะแก้ไขระเบียบเรื่องกา แต่งกาย ของนักเรียน ที่ให้นักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามสามารถเลือกแต่งกายตามหลักศาสนาได้โดยสมัครใจ แต่มีข้อยกเว้น ว่าสถานศึกษาที่วัดหรืออยู่ในที่ธรณีสงฆ์ให้เป็นไปตามข้อตกลงของสถานศึกษาและวัดซึ่งแปลว่ากระทรว ศึกษาธิการ กำลังละเมิดรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา

ในยุคเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจะทำให้สิทธิสตรีพัฒนาขึ้นได้อย่างไร

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย สิ่งที่ควรบัญญัคิไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ การเขียนให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิทธิ อะไรคือหน้าที่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น หน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ แปลว่าต้องมีคนหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้ให้เรา แต่ถ้าเป็นสิทธิ หมายความว่าเรามีสิทธิที่จะได้รับการเรียนรู้ซึ่งรัฐต้องจัดการให้เราได้รับสิทธินั้นและเราในฐานะประชาชน ต้องสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้นั้นได้ด้วย สิทธิจึงหมายถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการทุกองคาพยพในฐานะที่เป็นพลเมือง ทั้งในมิติของสิทธิพงเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม ถ้าเราตั้งหลักในประเด็นเหล่านี้ได้แล้ว กฎหมายลูกจะต้องจัดการออกมาให้เป็นไปตามสิทธิต่างๆที่รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐธรรมนูญอาจมีบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยการพัฒนาสตรีไว้หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกมารองรับหรือไม่ เพราะยุคสมัยนี้มีหลายเพศแล้ว แตกต่างจากเพศกำเนิด  ซึ่งอาจเขียนว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่ได้อีกต่อไป แต่ให้คำนึงถึงเพศทีมีความหลากหลายด้วย

สุธิลา ลืนคำ จริงๆแล้ว ควรเขียนเรืองความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540และ 2550 แต่พอมาในรัฐธรรมนูญ 2560 คำเหล่านี้หายไป เช่นในเรืองค่าจ้างค่าตอบแทนไปเขียนไว้ว่า ให้ได้รับอย่างเหมาะสมแก่การดำรงชีพ ที่วัดไม่ได้ จะใช้เกณฑ์อะไรวัดว่าแค่นี้เหมาะสม ประเด็นต่อมาคือสิทธิในการรวมตัว ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยสามารถมีสิทธิในการรวมตัว เช่นสิทธิในการรวมตัวของคนงานเป็นสหภาพแรงงาน ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ที่เพื่อนบ้านเรารับรองไปหมดแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่รับรองเป็นภาคี เพราะรัฐไปมองว่าเป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นควรเขียนให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญเรื่องโครงสร้าง ค่าจ้าง การคุ้มครอง การเข้าถึง สวัสดิการ ของทุกกลุ่มทุกเพศ และเห็นด้วยว่าต้องให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพสามารถมีส่วนร่วมในสิทธิต่างๆได้อย่างทั่งถึงและเท่าเทียมกัน ที่สำคัญแม้จะมีการพูดกันว่ารัฐธรรมนูญของเราดีแล้ว กฎหมายต่างๆคุ้มครองดีแล้ว แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญยังไปไม่ถึง คนงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆตามที่เขียนไว้ในกฎหมายได้ ดังนั้นเราจึงขอให้ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดโครงสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของหญิง ชาย เด็ก เยาวชน คนสูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ คนทำงาน ฯลฯ อย่าให้ใครก็ไม่รู้มาเป็นผู้เขียนหรือร่างรัฐธรรมนูญอีกเลย เช่น คนทำงาน 20 กว่าล้านคนต้องมีตัวแทนคนงานเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วย

แม่หลวงหน่อ แอริ ทุ่งเมืองทอง เห็นด้วยว่าควรมีส่วนร่วมของบุคคลหลายกลุ่มเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ไม่เคยเห็นตัวแทนของชนเผ่าเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญและอีกเรื่องหนึ่งที่อยากเห็นคือสิทธิชุมชนที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แต่รัฐธรรมนูญ 60 นี่ไปปรากฏในแนวนโยบายของรัฐ ซึ่งแปลว่ารัฐจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ไม่ใช่เรื่องสิทธิของประชาชน ดังนั้นต้องเขียนให้ชัดไปเลยว่าชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีสิทธิอะไรบ้าง และต้องอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ไม่ใช่ไปใส่ไว้ในหมวดอื่น อยากให้ชนเผ่ามีกฎหมายที่จะดูแลสิทธิของตนเองเพราะจำนวนประชากรชนเผ่าทั่วประเทศก็ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ไม่ควรนำไปเขียนรวม ๆ ไว้กับกลุ่มอื่นๆ บางครั้งรู้สึกน้อยใจนะว่าเราเป็นประชากรดั้งเดิมในพื้นดินนี้ แต่ถูกมองว่าเป็นผู้อาศัย ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้ไปศึกษาจากประวัติศาสตร์ก็ได้ 

อัญชนา หีมมิหน๊ะ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็เขียนไว้ดีพอสมควรแล้ว แต่อยากเป็นแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังไม่เข้าใจชนชาวมุสลิม- มลายู ที่มีภาษาและศาสนา วัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชาวมุสลิม- มลายู ในการร่างรัฐธรรมนูญ คือ อยากเห็นตัวแทนของประชาชนมุสลิมเข้าไปร่วมร่างด้วยนอกจากตัวแทนจากสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งอาจไม่เข้าใจคนในท้องถิ่นภาคใต้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับที่ออกตามรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายมรดกครอบครัว การแต่งงาน การแต่งงานเด็ก การข่มขืน ยังคงมีปัญหาที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล หากมีสตรีมุสลิมในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงมุสลิมและประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ จะทำให้โครงสร้างและการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสตรีมุสลิมและชาวมุสลิมมากขึ้น