สรุปสสส.เสวนาทัศนะ
ครั้งที่ 3/2564
หัวข้อ ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติกับการปฏิรูปตำรวจ
วันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564
เวลา 11.00-12.30 น.
ผู้ร่วมเสวนา
เกริ่นนำ
รายการสสส.เสวนาทัศนะ เคยจัดเสวนาเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบมาหลายครั้ง และข้อเสนอหนึ่งคือการปฏิรูปตำรวจ แต่ประเด็นการปฏิรูปตำรวจที่ สสส.เคยเสนอต่อรัฐบาล เป็นประเด็นเรื่อง การสอบสวน ในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …ได้เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร และมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นว่า ร่างฯฉบับนี้ไม่เป็นไปตามเจตนานารมณ์ของการปฏิรูปตำรวจเพราะมี หลายประเด็นถูกตัดออกไปและมีหลายประเด็นเพิ่มเติมเข้ามา สสส.เสวนาทัศนะ จึงขอนำเสนอการเสวนา ในหัวข้อ ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติกับการปฏิรูปตำรวจ ในครั้งนี้
หลักการและประเด็นสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ
คำนูณ สิทธิสมาน คงต้องตั้งต้นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศไว้ ประมาณ 11 ด้าน และมีเพียง 2 ด้าน ที่ระบุกระบวนการปฏิรูปและกำหนดระยะเวลาบังคับไว้ คือเรื่องการปฏิรูป การศึกษาระบุให้จัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และการปฏิรูปตำรวจให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 ปี ตามมาตรา 258 ง.ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ให้ปฏิรูปโดยการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจและภารกิจของตำรวจ ให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของตำรวจ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมาตรา 260 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี คณะกรรมการคณะหนึ่งในการจัดทำกฎหมายให้
เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. (4) โดยมีประธานที่ไม่ใช่ตำรวจ กรรมการครึ่งหนึ่งเป็นตำรวจและอีก ครึ่งหนึ่งไม่ใช่ตำรวจ ซึ่งก็คือชุดของพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ คณะกรรมการชุดนี้ได้นำเสนอร่างพรบ.แก้ไข ปรับปรุงพรบ.ตำรวจแห่งชาติ ต่อคณะรัฐมนตรีทันตามกำหนด 1 ปี ตามรัฐธรรมนูญ และครม.ก็รับหลักการ จากนั้นในเดือนเมษายน 2561 นายกฯได้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษตามพรบ.การบริหารราชการ แผ่นดินให้พิจารณาร่างฯของชุดพล อ.บุญสร้าง โดยมีกรรมการจากคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่งและคนนอก อีกครึ่งหนึ่ง มี อ.มีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธาน ผมอยู่ในกรรมการชุดนี้ กรรมการชุด อ.มีชัยนี้มีมติให้จัดทำร่าง พรบ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ ด้วยเหตุผลว่าร่างฯของพล อ.บุญสร้างเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพียงเล็กน้อยซึ่งไม่ ตอบโจทย์การปฏิรูปจึงเสนอให้ร่างใหม่ทั้งฉบับแต่ก็ยังอาศัยเค้าโครงจากร่างฯแก้ไขของพล อ.บุญสร้าง ชุดของ อ.มีชัยได้จัดทำเสร็จปลายปี 2562 ส่งให้นายกฯนำเข้าครม. ซึ่งตอนนั้นมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ครม.ก็ ส่งเวียนร่างฯนี้ให้ส่วนราชการและ สตช.และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเป็นชุดที่สาม โดยมี อ.มีชัยฯ เป็น ประธานอีก แต่กรรมการหลายคนเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีรองฯวิษณุ เครืองาม หรือผมซึ่งต้องไป เป็นสว. สตช.ตอบ กลับมาว่าไม่เห็นด้วยกับร่างฯของอ.มีชัยกว่าสิบประเด็น นายกฯเลยมอบให้ สตช.ไปปรับ แก้ไขร่างฯพรบ.ตำรวจ แห่งชาติแล้วส่งกลับมาที่ ครม.ปลายปี 2563 เข้าใจว่า ครม.มีมติในวันที่ 13 กันยายน เห็นชอบตามที่ สตช.เสนอ ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จ ส่งกลับมาให้ครม. มีมติ ในวันที่ 19 มกราคม 2564 จึงเป็นที่มาของร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติที่มีหลักการ บางประการแตกต่างไปจากร่างฯ ของอ.มีชัยฯ ที่เรากำลังเสวนากันในวันนี้
ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะ พนักงานสอบสวนที่ต้องมีความเป็นอิสระ ดังนั้นการวางกรอบโครงสร้างการดำเนินงานภายในสตช.ตามร่างพรบ.นี้ จะเป็นตัวชี้วัดว่างานสอบสวนจะมีความเป็นอิสระได้อย่างไร
นิกร วีสเพ็ญ สสส.ติดตามเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากว่า 2 ปีแล้ว เพราะตำรวจคือต้นธาร ของกระบวนการยุติธรรม และสสส.ได้เคยยื่นจดหมายถึงรัฐบาลมาแล้วว่าในการปฏิรูปตำรวจนั้นให้รับฟังเสียงของ ประชาชน อย่ารับฟังแต่เสียงของตำรวจเท่านั้น สสส.เคยเสนอหลักการ 2-3 ประการเพื่อการปฏิรูปตำรวจ ได้แก่ ให้มีการกระจายอำนาจให้สตช.ส่วนกลางเล็กลง แต่ให้อำนาจของตำรวจในแต่ละจังหวัดขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งต้องถามว่าในร่างฯฉบับนี้บรรจุเรื่องการกระจายอำนาจไว้หรือไม่ หลักการที่สองคือเรื่อง ธรรมาภิบาล ในประเด็นสายงานบังคับบัญชาที่ต้องไม่มีการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง คือทุกระดับมีอิสระในการ ปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะการสอบสวน ไม่มีการยัดเยียดหรือเปลี่ยนหลักฐาน เช่น คดีลูกกระทิงแดงเป็นตัวอย่าง ที่สำคัญการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆต้องเป็นไปตามสายงาน ควาสามารถอาวุโส ไม่ต้องวิ่งเต้นใช้เงินซื้อตำแหน่ง แล้วจะเอาเงินมาจากไหนถ้าไม่ทุจริตรีดไถหรือรับจากธุรกิจผิดกฎหมาย หลักที่สามคือเรื่องการถ่วงดุลอำนาจที่คน ภายนอกสามารถตรวจสอบได้ หรือการมีคณะกรรมการในระดับนโยบายต้องมีนักวิชาการหรือภาคประชาสังคม เป็นกรรมการด้วย หลักการที่สี่ คือการยึดโยงกับประชาชน อันเป็นหลักการปฏิรูปที่สำคัญสำหรับการปฏิรูปทุก หน่วยงาน เพื่อให้ตัดวงจรของการวิ่งเข้าสู่ผู้มีอำนาจโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน
ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามหลักการอย่างไร
คำนูณ สิทธิสมาน ขอเปรียบเทียบให้เห็นอย่างน้อย 3-4 ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา
258 ง. (4) ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้าย ต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ โดยตามร่างของ อ.มีชัยในเรื่องของการโยกย้ายตำแหน่ง ต่างๆ ให้ตำรวจแต่ละนายจะมีคะแนนประจำตัว 100 คะแนน แบ่งเป็นอาวุโส 45 คะแนน ความรู้ความสามารถ 25 คะแนน ความพึงพอใจของประชาชน 30 คะแนน คะแนนเหล่านี้จะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาโยกย้าย ตำแหน่ง ใครไม่พอใจก็สามารถร้องเรียนและขอดูคะแนนได้โดยเปิดเผยมีคณะกรรมการกำกับดูแล แต่ร่างของ สตช.ที่ผ่านครม.นั้น ตัดมาตรานี้ออกไปใช้ระบบเดิมคือ ถ้าตำแหน่งว่าง 100 ตำแหน่งก็ตัดไปใช้เกณฑ์อาวุโส 33 ตำแหน่งเลย ที่เหลือก็พิจารณาความรู้ความสามารถ ซึ่งจะไม่ตรงกับที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ประเด็นที่สองคือเรื่องเกณฑ์การห้ามโยกย้ายข้ามกองบัญชาการ ข้ามจังหวัด ซึ่งมีอยู่ในร่างของอ.มีชัย แต่ในร่างสตช. ก็ปรับปรุงให้เบาลง
ประเด็นที่สามคือในสายงานสอบสวนจะมีแท่งสายงานการบังคับบัญชาของตัวเอง มีผู้บังคับบัญชาของ ตัวเองดูแลเฉพาะสำนวนสอบสวน ทำหน้าที่ควบคู่กับสายงานบังคับบัญชาตามปกติ
นอกนั้นก็จะมีประเด็นที่สำคัญลดหลั่นลงไป เช่น กตร.ร่างของอ.มีชัยเสนอให้มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เข้ามาเป็นกรรมการมากกว่าตำรวจ รวมทั้งเกณฑ์เรื่องผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ อ.มีชัยเสนอ ให้ขยายวงให้กว้างไปถึงการพิจารณาเลือกจากนายตำรวจทุกคนได้ ตั้งแต่ระดับรองสารวัตร และให้ กกต.เข้ามาจัด การเลือกตั้ง กตร.ด้วย เพื่อประกันความบริสุทธิ์ยุติธรรม ประเด็นเรื่องการอารักขาบุคคลสำคัญ ต้องมีประกาศ ให้ชัดเจนถึงคุณสมบัติและระยะเวลาการไปปฏิบัติหน้าที่ โดยมีการย้ายไปขึ้นอยู่กับสันติบาลเพื่อมิให้มีการ เอาเวลาราชการไปติดตามหรืออารักขาบุคคลสำคัญเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมในชั้นคณะกรรมธิการ ที่ผ่านมา 2 ครั้ง มีการเสนอให้นำร่างของ อ.มีชัยมาประกอบการพิจารณาประกอบกับร่างของพลอ.บุญสร้าง เพื่อความรอบด้านของการแปรญัตติ ขณะนี้ระยะเวลาของการแปรญัตติหมดลงแล้ว มีสมาชิกรัฐสภาหลายท่าน ก็ขอสงวนคำแปรญัตติให้นำร่างของ อ.มีชัยมาใช้ในบางประเด็น ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงเพราะ บางประเด็นก็เป็นเรื่อง ปลีกย่อยที่ยังไม่ได้ไปดูในรายละเอียด เช่นเรื่อง ที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. หรือ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ หรือ ก.ร.ตร. เป็นต้น ซึ่งเป็น ประเด็นที่คณะกรรมาธิการต้องไปพิจารณา โดยร่างฯของรัฐบาลก็มีทั้งสองส่วน แต่องค์ประกอบอาจ แตกต่างกัน กับร่างฯของ อ.มีชัย จึงยากที่จะคาดเดาว่าคณะกรรมการต่างๆตามร่างฯพรบ.ตำรวจจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะกรรมาธิการมีจำนวน 46 คน มาจากทั้งจากวุฒิสภาและพรรคการเมืองต่างๆในสภาผู้แทนราษฎร
ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ การปฏิรูปตำรวจโดยภาพรวมนั้นในวันนี้ถ้าตามร่างฯนี้คงยังทำไม่ได้ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนและ พอมีความหวังได้คือการปฏิรูปโครงสร้างงานสอบสวนที่แยกออกมาเป็นแท่งเฉพาะที่มีสายงานบังคับบัญชาเป็น ของตนเอง ที่แยกจากสายงานปราบปราม งานสืบสวน น่าจะทำให้เกิดการปฏิรูปที่ชัดเจนขึ้น สิ่งที่น่าจับตาคือ ร่างฯนี้นำตำรวจ 2 กลุ่มที่สายงานบังคับบัญชาควรแยกจากกันมารวมกัน คือสายงานด้านการปราบปรามและสาย งานด้านการอำนวยความยุติธรรมหรือการสอบสวน ซึ่งโดยหลักการแล้วต้องแยกออกจากกัน เป็นหน้าที่ของ กรรมาธิการที่จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินการดังกล่าวแยกการบริหารออกจากกัน อาจกล่าวได้ว่า ประเทศต่างๆทั่วโลกให้อำนาจการสอบสวนอยู่ที่อัยการไม่ใช่มอบให้ตำรวจฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงต้องดำเนินการให้ ตำรวจสายสอบสวนมีสายงานบังคับบัญชาของตัวเอง เพื่อจะไม่ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายปราบปรามหรือหัวหน้า ตำรวจที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร เพื่อมิให้เกิดปัญหาถูกแทรกแซงอย่างที่เราทราบกัน ไม่ว่าจะในคดีเชอรี่แอน หรือคดี บอสกระทิงแดง และต้องเติบโตเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตามสายงานของตัวเอง ที่สำคัญตำรวจสายสอบสวนไม่ควร มีชั้น ยศแบบทหารเพื่อให้งานสอบสวนหรือการค้นหาความจริงในคดีอาญาดำเนินการโดยผู้มีความรู้ความเชี่ยว ชาญในการค้นหาความจริงมาทำหน้าที่ จึงไม่ต้องมียศ ที่สำคัญพอมียศแล้วอาจถูกสั่งให้ทำนั่น ทำนี่หรือการ แทรกแซงสำนวนการสอบสวนได้ เพราะพนักงานสอบสวนจะมียศต่ำกว่าหัวหน้าสำนักงานหรือผู้กำกับโรงพัก นอกจากนี้การไม่มีชั้นยศก็เพื่อป้องกันการวิ่งเต้นให้ตัวเองมีชั้นยศที่สูงขึ้น ซึ่งร่างฯ ของอ.มีชัยก็ระบุไว้ว่าบางสาย งานไม่มีชั้นยศ ลองดูร่างฯฉบับนี้ในมาตรา 47 มีชั้นยศถึง 14 ชั้น สายปราบปรามจะมีชั้นยศก็ไม่เป็นไร ส่วน ประเด็นที่ว่าทำไมไม่เพิ่มเรื่องการให้อัยการเข้ามารับผิดชอบการสอบสวนเสียเลยเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจสอบสวนของตำรวจนั้น เนื่องจากร่างฯนี้เป็นเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงาน ภายในของตำรวจ ไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจในภาพใหญ่ ประเด็นเรื่องการให้อัยการเข้ามารับผิดชอบการสอบสวน ควรไปบรรจุไว้ในร่าง พรบ.สอบสวนให้ชัดเจนมากกว่า
อีกประเด็นที่ขอฝากไว้คือในร่างฯฉบับนี้มีบทลงโทษทางวินัยกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำผิดมีเรื่องการกักขังด้วยซึ่งควรใช้มาตรการอื่นแทนเพราะการกักขังคงไม่ช่วยให้สามารถแก้ไขสาเหตุของปัญหาได้
คำนูณ สิทธิสมาน ประเด็นเรื่องการปฏิรูปตำรวจในภาพใหญ่เรื่องการกระจายอำนาจตำรวจจากส่วนกลางไปสู่ ภูมิภาคก็ดี หรือการปรับปรุงอำนาจการสอบสวนก็ดี มีหลายฝ่ายเข้ามาแสดงความเห็นซึ่งสามารถถกเถียงกันได้ แต่ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติที่เรากำลังเสวนากันตอนนี้เป็นเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานภายในของ ตำรวจ ไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจในภาพใหญ่ เพราะร่างฯนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. (4) เกี่ยวกับการ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่า ข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้ายและการพิจารณา บำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจนเท่านั้น
นิกร วีสเพ็ญ เห็นด้วยว่าร่างฯฉบับนี้มุ่งไปที่การจัดการโครงสร้างภายในของตำรวจ และเห็นว่าถือเป็นเรื่องที่ดีที่มี หมวดว่าด้วยคุณธรรมจริยธรรมตามหลักธรรมาภิบาลเพราะหากเราจัดการให้ได้ตำรวจที่มีคุณธรรมเข้ามาทำหน้าที่ย่อมทำให้การทำงานต่างๆตามหน้าที่บำบัดทุกย์บำรุงสุขให้ประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หากการเข้ามาสู่ ตำแหน่งของตำรวจมาโดยการวิ่งเต้นใช้เงิน ใช้ผลประโยชน์ เราจะรับประกันได้อย่างไรว่า ประชาชนจะได้รับ ประโยชน์จากเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ดังนั้นการจะควบคุมคุณธรรมจริยธรรมของตำรวจให้เป็นจริงได้อยู่ที่ ก.ตร. หรือคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งร่างฯของอ.มีชัยมาตรา 15 ระบุให้มีคนนอกเข้ามาเป็น ก.ตร. ซึ่งกรรมการ คนนอกมีจำนวนมากว่ากรรมการที่เป็นตำรวจ ซึ่งจะสามารถคานและดุลอำนาจของกรรมการที่เป็นตำรวจได้ จะทำให้เราได้คนดีมาทำงาน แต่พอมาดูร่างฯฉบับนี้กลับปรากฏว่า ก.ตร.มีแต่ตำรวจเทียบได้กับการรวมศูนย์ อำนาจไว้ที่ตำรวจเหมือนจอมแห ประเด็นต่อมา คือการจัดโครงสร้างภายในของตำรวจมีเรื่องการกระจายอำนาจ หรือไม่ นี่เป็นอีกประเด็นหลักประเด็นหนึ่ง มีการถ่วงดุลอำนาจหรือไม่ มิฉะนั้นคนดีจะเข้าสู่อำนาจได้ยาก ประเด็น ที่สองเรื่องพนักงานสอบสวนไม่มีใครอยากทำหน้าที่นี้ เพราะเป็นงานยาก ไม่มีเวลาที่แน่นอน ค่ำคืนดึกดื่นมี เหตุเกิดขึ้นก็ต้องออกไปตรวจสถานที่ ออกไปรวบรวมพยานหลักฐาน จึงเห็นด้วยว่าพนักงานสอบสวนควรมาจาก บุคลากรที่หลากหลายมีความรู้ความสามารถในการค้นหาความจริงจากพนยานหลักฐานจากแหล่งต่างๆ และต้อง ไปดูร่างพรบ.สอบสวนว่ามีการบัญญัติในเรื่องเหล่านี้ไว้หรือไม่
คำนูณ สิทธิสมาน คือถ้าอยากจะให้เรื่องการสอบสวนมาอยู่ในร่างฯ ฉบับนี้ได้ประเด็นหนึ่งคือการไปแปรญัตติให้ งานสอบสวนมีการเติบโตในแท่งการบริหารของตนเอง ไม่รวมกับสายงานปราบปรามและสายบริหาร โดยให้การ ดูแลสำนวนการสอบสวนเป็นหน้าที่โดยเฉพาะของพนักงานสอบสวนขึ้นตรงต่อสายงานบังคับบัญชาของตนเอง ที่ผู้กำกับโรงพักหรือสายงานอื่นไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็สอดคล้องกับร่างฯของอ.มีชัย แต่จะเป็นเช่นนี้ได้หรือไม่ก็ไม่แน่ใจเพราะฝ่ายตำรวจก็ค่อนข้างคัดค้านประเด็นนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหา ทางการบริหาร เพราะร่างฯอ.มีชัยบัญญัติให้ในโรงพักหนึ่งมีผู้กำกับสองคน คือผู้กำกับสถานีตำรวจและผู้กำกับ สอบสวน และในกองบัญชาการภาคก็มีผู้บัญชาการภาคและผู้บัญชาการสวนสวนภาค เป็นต้น ส่วนร่างพรบ. สอบสวนคดีอาญาเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่เอาเข้าคณะรัฐมนตรีโดยเร็วนี้เพราะฝ่ายตำรวจต้องคัดค้านแน่นอน เนื่องจาก ต้องการไปแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหมวดการสอบสวนทั้งระบบ ดังนั้นเรื่องที่เราคุยกันว่า อยากให้งานสอบสวนรับผิดชอบโดยอัยการอะไรต่างๆนี้ คงไปอยู่ในร่างแก้ไขป.วิ.อ.
สุดท้ายนี้ผมยังพอจะมีความหวังในชั้นคณะกรรมาธิการแปรญัตติร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติที่สตช.แก้ไข และผ่านมติครม.นี้ เนื่องจากกรรมาธิการซีกรัฐบาลมีบุคคลภายนอก 2 คน คือ อ.วิชา มหาคุณ และพล.ต.อ. อำนวย นิ่มมโน โดยอ.วิชาเคยเป็นประธานกรรมการตรวจสอบคดีบอส ที่พอจะมีข้อมูลลึกในด้านตำรวจ และใน วันสุดท้ายที่อยู่ในตำแหน่งนอกจากรายงานสรุปโดยมีข้อเสนอ 5 ข้อ ในคดีบอสแล้ว ยังให้สัมภาษณ์ว่าสนับสนุน ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติชุดอ.มีชัย ส่วน พล ต.อ.อำนวย นอกจากเคยเป็นตำรวจแล้วยังเป็นกรรมการในชุด อ.มีชัย ทั้งสองชุด ดังนั้นในการชี้แจงแสดงความเห็นในกรรมาธิการนั้นทั้งสองท่านจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ ได้รับการยอมรับ จากกรรมาธิการเป็นอย่างมาก ทำให้คำชี้แจงมีน้ำหนักน่ารับฟังเพราะไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง แต่ก็ต้องคำนึง ด้วยว่ากรรมาธิการฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาหรือแม้แต่จากสภาผู้แทนราษฎรเองก็มีฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างฯฉบับนี้ของตำรวจอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามหากมีการโหวตแพ้ในชั้นกรรมาธิการ ก็ยังมีการประชุมในรัฐสภาใหญ่ที่มีกรรมาธิการ หลายคนที่เห็นด้วยกับร่างของอ.มีชัยและจะสงวนคำแปรญัตติไว้ตามที่ได้คุยกัน แล้วหลายคน เช่น สว.วันชัย สอนศิริ ขณะนี้การประชุมในชั้นกรรมาธิการกำหนดไว้สัปดาห์ละ 2 วัน คือ วันพฤหัสบ่ายและวันศุกร์เช้า แต่ สัปดาห์นี้ต้องเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า เพราะมีการประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญ และไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด แต่คณะกรรมาธิการมีข้อสรุปคร่าวๆว่าจะเร่งประชุมในระหว่างปิดสมัยประชุมให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ต้องดูการพิจารณารายมาตราก่อนว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน โดยร่างฯนี้มีทั้งหมด 171 มาตราก็จริง แต่จะมี มาตราสำคัญๆเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ตอนนี้ยังกำหนดอะไรไม่ได้และขอเสนอเพิ่มเติมตอนท้ายนี้ว่าหากภาค ประชาชนมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างฯนี้อย่างไรก็ทำความเห็นมายังประธานคณะกรรมาธิการฯ หรือเข้า มาร่วมรับฟังการประชุมกรรมาธิการก็สามารถทำได้เพื่อช่วยกันตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐสภาในกระบวน การนิติบัญญัติก็จะเป็นอีกทางหนึ่ง
จริงๆแล้วอยากสรุปร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติของอ.มีชัยว่าเป็นร่างฯที่แก้ปัญหา 2 ส่วน คือ แก้ทุกข์ของ ตำรวจและทุกข์ของประชาชน ในส่วนตำรวจนั้น คือแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้เกิด ความเป็นธรรม ไม่ต้องวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง ตำรวจไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพราะมีงบประมาณ สนับสนุน เพราะเราจะเห็นตำรวจต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในงานสอบสวนมาใช้เองหรือเอาของส่วนตัวมาใช้ ปืนพกก็ต้องจัดหามาเองหรือผ่อนซื้อกับหน่วยงาน เป็นต้น ถ้าตำรวจทำงานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นไปโดยชอบธรรมมีกติกาและระบบที่ชัดเจนก็จะมีขวัญกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ส่งผลต่อการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
จะปรับปรุงแก้ไขร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจให้เป็นจริงได้อย่างไร
นิกร วีสเพ็ญ สสส.ดำเนินการรับฟังความเห็นประชาชน 9 ภูมิภาค ในเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจัดทำข้อเสนอเป็นเอกสารส่งให้รัฐบาล เรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงานและกฎหมาย กองทุนยุติธรรม โดยสสส.เสนอหลักการสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือ “การนำผู้กระทำความผิด ที่แท้จริงมารับผิดชอบในสิ่งที่กระทำและปกป้องผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการ ยุติธรรม” ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอ เช่น ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในประเด็น การจับกุม ควบคุมตัว ขัง ปล่อยชั่วคราว สอบสวน ชันสูตรพลิกศพ และไต่สวนมูลฟ้อง ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (การฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ) และการปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ส่วนข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปตำรวจ สสส. เตรียมจัดเสวนา เรื่อง ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติประชาชนได้อะไร ในวันที่ 24 มีนาคม เวลา 9.00 น. ที่ โรงแรมสุโกศล พญาไท กรุงเทพฯ มีการถ่ายทอดสด โดยมีศ.พิเศษวิชา มหาคุณ ปาฐกถาพิเศษ เรื่องการปฏิรูปตำรวจ ขอเชิญทุกท่านที่ชมรายการ ในวันนี้เข้ารับชมการถ่ายทอดสดในวันและเวลาดังกล่าวทาง facebook live ของสสส. ในวันนั้นคงมีข้อเสนอที่จะ ตอบโจทย์การบำบัดทุกข์ของประชาชนได้บ้างไม่มากก็น้อย
ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ถ้าจะว่ากันถึงการปฏิรูปตำรวจที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการสอบสวนนั้น แม้ขณะนี้บ้านเรายัง ไปไม่ถึงแบบที่นาๆอารยะประเทศดำเนินการอยู่ คือให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบการรวบรวมพยานหลักฐานและส่ง ฟ้องต่อศาลก็ตาม แต่ร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้ มีนักกฎหมาย นักการเมือง นักวิชาการที่ ติดตามประเด็นนี้อยู่ยังพอเห็นว่า ถ้าโครงสร้างของการสอบสวนแยกออกมาเป็นอาจจะเรียกว่าเป็นอิสระจากฝ่าย อื่นของสตช.ได้ ก็จะทำให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาการ สอบสวนมีความบิดเบี้ยวไปจากหลักการที่ควรจะเป็น ดังที่ทราบกันอยู่หลายคดีที่ผ่านมา การรวบรวมช้อเท็จจริง ต่างๆ ไม่เป็นไปตามป.วิ.อ.มากมาย เช่น ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งที่เป็นข้อพิสูจน์ที่ผลดีและผลร้ายต่อผู้ต้องหา
ส่วนประเด็นที่เรากังวลใจว่าหัวใจของการปฏิรูปตำรวจหรือกระบวนการยุติธรรมคือการปฏิรูประบบงานสอบสวนซึ่งอยู่ในร่างพรบ.สอบสวน ไม่อยู่ในร่างฯพรบ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ เพราะร่างพรบ.สอบสวนอาจยังไม่ เข้าสู่การพิจารณาในครม. ก็ตาม ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็เห็นว่ายังมีร่างแก้ไขป.วิอาญา ที่มีหลายประเด็นกำลังได้รับ การปรับปรุงให้ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่งคืออำนาจหน้าที่และองค์ประกอบของ กตร.ที่ร่างฯฉบับนี้กำหนดให้มีสัดส่วนของตำรวจในคณะกรรมการมากกว่าฝ่ายอื่นๆ เป็นประเด็นที่น่าจะได้รับการ ถกเถียงกันมากในชั้นกรรมาธิการ เพราะ กตร.เป็นผู้มีอำนาจในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง พิจารณาความดี ความชอบ พิจารณาชั้นยศและกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานของตำรวจ หรือเพิ่มตำแหน่งต่างๆ สั่งการพนักงาน สอบสวนได้ ต้องติดตามกันให้ดี
ประเด็นอื่นๆที่คิดว่าน่าจะต้องช่วยกันติดตามการพิจารณาของกรรมาธิการก็คือ การกำหนดแท่งเฉพาะ การสอบสวน การเลื่อนตำแหน่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาตามความอาวุโสและความสามารถประกอบกัน แต่ร่างฯนี้ไปแบ่งเป็นคะแนนอาวุโส 50 คะแนน และความรู้ความสามารถ 20 คะแนน แบบนี้คงไม่ได้ กฎหมายลูก จะไปบัญญัติให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนประเด็นที่ว่าจะให้มีประเด็นสัดส่วนที่ประชาชนเห็นชอบหรือ มีความพึงพอใจต่อผู้นั้นด้วยได้หรือไม่ก็ต้องไปพิจารณากันต่อไป
ประเด็นต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานสอบสวนทั้งสิ้น เพราะจะถูกย้าย เมื่อไรก็ได้ กระทบต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานและจะไม่มีใครอยากเป็นพนักงานสอบสวน อยากให้ดูลักษณะ ของผู้ที่จบมาจากนายร้อยสามพรานนั้นจะออกมาเป็นตำรวจฝ่ายปราบปรามและบริหารมากกว่า โรงเรียนนายร้อย ตำรวจเพิ่งจะสอนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเมื่อไม่นานมานี้ ผู้จบจากสามพรานไม่ทำงานสอบสวน แต่คน เป็นพนักงานสอบสวนรับมาจากผู้จบนิติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะทางธรรมชาติ (Nature) ของทั้งสอง สายนี้จึงแตกต่างกัน ควรต้องใช้ระบบบริหารที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ใช้ระบบร่วมกันแบบเดียว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา ที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการแทรกแซงการสอบสวน การเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายข้ามหน่วย ฯลฯ
นิกร วีสเพ็ญ มีคำถามว่าจะปฏิรูปโรงเรียนนายร้อยตำรวจและการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างไร ในแท่งของการสอบสวนตามร่างฯนี้ ความจริงต้องแยกกันพิจารณา เพราะการพิสูจน์หลักฐานนั้นเกี่ยวข้องกับ การสอบสวนอย่างแยกกันไม่ได้ การสอบสวนคือการค้นหาความจริง ก่อนที่ผู้พิพากษาจะตัดสินอย่างไรนั้นขึ้นอยู่ กับพยานหลักฐานที่มาอยู่ต่อหน้า ซึ่งพยานหลักฐานชั้นต้นได้มาจากการรวบรวมของพนักงานสอบสวน เช่น หลักฐานจากกล้องวงจรปิดมักจะถูกทำลายหรือสูญหายหรือกล้องเสีย เช่นคดีการพนันไม่นานมานี้ กล้องในห้อง พนันหายไปไหนเกลี้ยงเลยได้อย่างไร ประเด็นนี้สสส.มีข้อเสนอยื่นไปที่คระกรรมาธิการ การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และยื่นกับ อ.วิชา มหาคุณ และสสส.คงจะไปประเมินดูว่ามีประเด็นอะไรบ้าง ที่ควรพิจารณาปรับปรุงในชั้นกรรมาธิการ เพื่อให้ร่างพรบ.ตำรวจสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการปฏิรูปการ สอบสวนที่ สสส.ถือเป็นนโยบายสำคัญ
ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ เรื่องการพิสูจน์หลักฐานก็ดีเรื่องโรงเรียนนายร้อยก็ดีมีความเกี่ยวพันกันในประเด็นของการ ปฏิรูประบบงานสอบสวน โดยเฉพาะเรื่องพิสูจน์หลักฐานมีการเสนอว่าให้เป็นหน่วยที่ไม่มียศแบบทหาร เพื่อให้ผู้ รับผิดชอบในการค้นหาหลักฐานสามารถมีอิสระในการเก็บรวบรวมหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา เช่น คราบเลือด เขม่าดินปืน วิถีกระสุน ฯลฯ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานต้องมีอิสระในการทำงานโดยไม่ต้องฟังคำสั่งใคร ใครก็ แทรกแซงไม่ได้ นอกจากฟังคำสั่งสายงานบังคับบัญชาของตนเองโดยตรง จึงควรให้สายงานพิสูจน์หลักฐานอยู่ใน แท่งของ การสอบสวนที่เจ้าหน้าที่ในแท่งสอบสวนเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องมียศและรับบุคลากรจากผู้เรียนจบทางสาย วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง
นิกร วีสเพ็ญ ขอฝากประเด็นเรื่องโรงเรียนนายร้อยตำรวจว่าให้ดำเนินการตามหลักการ 3-4 ประการ หนึ่งหลัก กระจายอำนาจ สองหลักธรรมาภิบาล สามการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและสี่หลักอิสระ โดยบุคลากรของ โรงเรียนนายร้อยตำรวจต้องอยู่ในกระบวนการผลิตที่ผ่านหลักการเหล่านี้ อยากให้มีการตรวจสอบหลักสูตร ในโรงเรียนนายร้อยว่าตั้งอยู่บนฐานของหลักเหล่านี้หรือไม่ ถ้ายังก็ต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตำรวจ เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ การจัดทำร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาตินี้ ต้องเข้าใจว่าเป็นการจัดโครงสร้างให้ตำรวจสามารถ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ดังนั้นการปรับปรุงครั้งนี้ย่อมไม่ใช่เพื่อการปรับเลื่อนยศ หรือจัดโครงสร้างของตำแหน่งอย่างเดียว แต่หมายถึงการปรับระบบการจัดการภายในของตำรวจให้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะต้องมิให้ตกหล่นประเด็นในชั้นกรรมาธิการ คือ เรื่องการแยกแท่งการบังคับ บัญชาระหว่างสายปราบปราม และสายสอบสวนเป็น 2 สายให้ได้ มิฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังพูดคุยกันในวันนี้จะไม่มี ผลสำเร็จใดๆในการปฏิรูป ตำรวจตามที่ประชาชนต้องการ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)