ความเห็นทางกฎหมายต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ 

ถึงประธานศาลฎีกา และกระบวนการยุติธรรมไทย

 

ตามที่ศาลอาญา  ได้เป็นผู้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ โดยมีคำสั่งว่าพิเคราะห์แล้ว  ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง 

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่าคำสั่งของศาลอาญา เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้นำเหตุและพฤติการณ์ตามคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่ทนายความได้ระบุไว้โดยละเอียด อันจะเป็นเหตุให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาพิจารณาประกอบการทำคำสั่งเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเหตุผลเรื่องสภาพร่างกายที่อยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต  ซึ่งทนายความได้ระบุในคำร้องไว้ชัดเจนว่าที่มากไปกว่านั้น ปัจจุบันพริษฐ์มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เกิดภาวะขับถ่ายเป็นเลือดและมีเศษบางอย่างคล้ายเนื้อเยื่อออกมาด้วย คาดว่าน่าจะเกิดจากร่างกายเริ่มย่อยกระเพาะอาหาร ถือเป็นความเจ็บป่วยรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  จำเลยจึงขอศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ทั้งนี้ หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ขอศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย โดยจำเลยยินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาล และหากศาลเห็นสมควรจะทำการไต่สวนจำเลยก็ขอศาลได้ออกหมายเบิกตัวจำเลยมาไต่สวนหรือทำการไต่สวนผ่านระบบออนไลน์ต่อไป  หากมีการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจะพบว่า จำเลยเจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้ปล่อยจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๗๑ วรรคสาม แต่กลับไม่ได้มีการไต่สวนคำร้อง ละเลยไม่นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณา อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุผลในคำสั่งว่าเหตุใดศาลจึงไม่นำข้อเท็จจริงเรื่องอาการขั้นวิกฤตของนายพริษฐ์ ตามคำร้องมาประกอบการพิจารณา  ทั้งที่สามารถพิจารณาทำคำสั่งโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ได้  

คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ปราศจากเหตุผลที่สามารถเข้าใจได้  ปราศจากหลักกฎหมาย และปราศจากมนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง  การทำคำสั่งโดยอ้างคำสั่งเดิมของศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ว่าเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาก่อน ย่อมเป็นการทำลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยลงอย่างสิ้นเชิง  เพราะเป็นการประกาศต่อสังคมว่าหากศาลเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว  เมื่อมายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีก ก็จะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว  เช่นนี้ย่อมขัดต่อหลักการและทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  มาตรา ๑๑๙ ทวิ ที่บัญญัติว่า  ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่  ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอีกต่อไป

สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้ศาลทบทวนและปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจในการปล่อยชั่วคราว ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย และยุติการทำคำสั่งในลักษณะที่ระบุว่าศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว  จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม…” เพราะคำสั่งลักษณะดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ปราศจากเหตุผล ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย   ไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด ๑ อุดมการณ์ของผู้พิพากษา ข้อ ๑ ที่ระบุว่าหน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผ้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่า ตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน  เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเอง และเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ 

หากนายพริษฐ์ชิวารักษ์ต้องเสียชีวิตในเรือนจำภายใต้คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาล  นั่นไม่ใช่เพราะการอดอาหาร แต่เพราะไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวตามหลักการขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม 

จึงขอให้มีการทบทวนกระบวนพิจารณาหลักการและวิธีการดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 

30 เมษายน 2564