สรุปสสส.เสวนาทัศนะ

ครั้งที่ 9/2563

หัวข้อ รัฐธรรมนูญกับการปกครองส่วนท้องถิ่น

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม  2563 

เวลา 14.00 -15.30 น.

 

ผู้เข้าร่วมเสวนา

1. นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสสส.

2. ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์

 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ.และสมาชิกสภาองค์การ บริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากห่างหายไปนานถึง 6 ปี เนื่องจากมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 และโดยที่การปกครองท้องถิ่น เคยได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 แสดงให้เห็นว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญต่อการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ รายการสสส.เสวนาทัศนะ เห็นเป็นโอกาสดีที่จะทำความเข้าใจ หลักการและบริบทของการปกครองท้องถิ่นในฐานะของการกระจายอำนาจการปกครองและการกำหนดสาระ สำคัญของอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ควรบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการ อยู่ในรัฐสภาขณะนี้ จึงกำหนดจัดเสวนา หัวข้อ รัฐธรรมนูญกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ในครั้งนี้

ประวัติศาสตร์และสถานะของการปกครองท้องถิ่นก่อนและหลังยุคคสช.

ไพโรจน์ พลเพชร  การปกครองท้องถิ่นของไทยนั้นมีมาตั้งแต่ปี 2476 ในรูปของเทศบาล ซึ่งเป็นยุคหลังการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งยุคนั้นมีแนวคิดว่าการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญเพื่อให้ประชาธิปไตย เข้มแข็ง ต่อมีในปี 2537 การปกครองท้องถิ่นได้มีรูปแบบเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และในปี 2540 ถึงมี องค์การบริหารส่วนจังหวัด จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้วางหลักการสำคัญของการปกครอง ท้องถิ่นในฐานะของรูปแบบการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไว้อย่างชัดเจนที่สุด 2 ส่วน ๆ แรก กล่าวถึงการจัด วางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน ส่วนที่สองกล่าวถึงการกำหนด ความสัมพันธ์ของอำนาจระหว่างส่วนท้องถิ่นกับประชาชนในท้องถิ่น

ส่วนแรกรัฐธรรมนูญ 2540 ได้จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักการสำคัญไว้ประมาณ 5 เรื่อง ประการแรก คือ กำหนดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิ กำหนดชะตาชีวิตของตนเองตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยที่เราเป็นรัฐเดี่ยวภายใต้หลักการนี้ส่วนกลางสามารถ กำกับ ดูแลการบริหารจัดการขององค์กรปกครองท้องถิ่นได้ภายใต้หลักการสองหลักการ คือ หลักการแรก ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น และหลักการที่สองคือการบริหารจัดการของท้องถิ่นต้องไม่ ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการแล้วส่งผลกระทบต่อ ประโยชน์ของคนในท้องถิ่นหรือส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม ส่วนกลางสามารถเข้าไปแทรกแซง หรือกำกับให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องได้

ประการที่สอง กำหนดอำนาจหน้าที่ระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ว่าส่วนกลางทำอะไร ท้องถิ่นทำอะไร

ประการที่สาม กำหนดรายได้จากภาษีอากรของประเทศ โดยประเมินสัดส่วนที่จะมอบให้ท้องถิ่นว่าควรมี รายได้เท่าไร ซึ่งคำนวณแล้วกำหนดให้ประมาณ 30 % ของภาษีเงินได้ทั้งประเทศเป็นของท้องถิ่น ในส่วนนี้มีการ กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[1] ทำหน้าที่ในการกำหนดภารกิจในการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นและกำหนดสัดส่วนของการกระจายรายได้จาก งบ ประมาณแผ่นดินให้แก่ท้องถิ่น

ประการที่สี่ รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ท้องถิ่นมีการบริหารงานบุคคลได้อย่างอิสระ

ประการที่ห้า กำหนดเรื่องการจัดการการศึกษาที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นและประการสุดท้ายกำหนด ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          นี่คือสาระสำคัญของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และต้อง เข้าใจตรงกันด้วยว่าเมื่อพูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออปท.นั้น หมายถึงการปกครองท้องถิ่นทุกรูปแบบ จาก 5 แบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานครและ เมืองพัทยา โดยมีหลักการสำคัญว่าต้องให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินภารกิจต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้โดยอิสระ

ส่วนที่สอง รัฐธรรมนูญ 2540 ยังกำหนดความสัมพันธ์ของอำนาจระหว่างส่วนท้องถิ่นกับประชาชนในท้องถิ่น โดยประการแรกกำหนดให้ที่มาของฝ่ายบริหารของท้องถิ่น คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี ของเทศบาล นายกอบต. นายกเมืองพัทยาและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในท้องถิ่น รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติของท้องถิ่น คือสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกระดับ ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ประการที่สอง ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีการอำนาจตรวจสอบ โดยการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ประการต่อมาให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อออกข้อบัญญัติท้องถิ่น ต่อมาท้องถิ่นต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการติดตามตรวจสอบ

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2540 ยังกำหนดต่อไปว่าเพื่อให้การปกครองท้องถิ่นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ให้มี กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้มีคณะกรรมการ แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทุกๆ 10 ปี ซึ่งตามแผนฯนี้กำหนดให้ ส่วนกลางโอนอำนาจการดำเนิน การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใน 10 ปี เริ่มใช้แผนแรกในปี 2544 ประเด็นที่ขอตั้งเป็นข้อสังเกต คือ แม้จะ มีคณะกรรมการแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจแล้วก็ตาม ส่วนกลางโดยกระทรวงมหาดไทยก็ไปจัดตั้งหน่วยงาน ระดับกรมขึ้นมากำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้เป็นอีกกลไกหนึ่ง ส่วนการดำเนินงาน ของกรมจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันในช่วงต่อไป

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ขอเพิ่มเติมเรื่องกรอบกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ที่ออกมาในปี 2542 กฎหมาย ฉบับนี้กำหนดสาระสำคัญไว้ 3 ประการ คือ หนึ่งให้มีคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการฯ ทำหน้าที่กำหนดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำหน้าที่อะไรบ้างในการ ดูแลประชาชน ประการต่อมาดูว่าท้องถิ่นแบบไหนที่ควรมีภารกิจเพิ่มขึ้นตามความสามารถ เช่น อบจ.สมุทรปราการ เห็นว่าจังหวัดสมุทรปราการควรมีรถไฟฟ้าเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะแบบเดียวกับที่ กรุงเทพฯ และจะทำส่วนต่อขยายจากกรุงเทพฯ อบจ.สมุทรปราการก็ทำเรื่องขอความเห็นมาที่คณะกรรมการฯ ซึ่ง คณะกรรมการฯก็ให้ความเห็นชอบให้เดินหน้าได้ ประการต่อมาคือกระบวนการถ่ายโอนภารกิจที่ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาว่าภารกิจไหนที่ส่วนราชการทำแล้วติดขัด ล่าช้าก็อาจพิจารณามาให้ท้องถิ่นดำเนินการแทน ซึ่งในกฎหมาย ก็เขียนไว้มากมายว่าภารกิจใดบ้างที่จะโอนจากส่วนกลางไปให้ท้องถิ่น และสุดท้ายคณะกรรมการ ฯ มีอำนาจ ออกกฎหมายลูกที่เรียกว่าแผนการกระจายอำนาจ แผนนี้ทำทุก 5 ปี มีมาแล้ว 2 แผน เริ่มแผนแรกปี 2544 จบปี 2549 แต่เนื่องจากติดขัดปัญหาทางการเมืองเรื่อยมา เช่น เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศก็เข้ามา ควบคุมความเป็นอิสระของท้องถิ่น ถ้าจำกันได้คือกรณีมีการตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแบบ CEO ตามนโยบาย”ผู้ว่าคิด ท้องถิ่นทำ” ความตั้งใจที่จะให้ท้องถิ่นเป็นอิสระจึงเปลี่ยนทิศทางไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ลดบทบาทของท้องถิ่น เห็นงานท้องถิ่นเป็นงานที่ให้ผู้ว่าฯดูแลตามที่รัฐบาลต้องการ มติอะไรต่างๆของคณะกรรมการกระจายอำนาจจึงมัก ไม่ค่อยได้รับการนำไปดำเนินการ ไม่มีสภาพบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายเพราะส่วนราชการก็เริ่มตั้งคำถามว่า แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจเป็นกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีเป็นกฎหมายลำดับใด เพื่อหาประเด็นโต้แย้งเพื่อจะไม่ ปฏิบัติตาม การดำเนินงานเรื่องการกระจายอำนาจจึงมีช่องว่างไม่สัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 และมาสดุดทางการเมืองอีกจากการรัฐประหารในปี 2549 แผนสองจึงออกมาในปี 2551 และควรจะออกแผนสาม ในปี 2554 หรือ 55 ก็เจอปัญหาทางการเมืองอีก จนถึงปัจจุบันกระบวนการจัดทำแผนสาม ร่างฯผ่านคณะกรรมการ กระจายอำนาจเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอ ต่อคณะรัฐมนตรี โดยในแผนสามนี้มีแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่ให้รัฐหรือคณะกรรม การกระจายอำนาจเป็นฝ่ายกำหนด ภารกิจฝ่ายเดียวให้ท้องถิ่นทำ แต่เพิ่มเติมให้ท้องถิ่นใดที่ได้รับภารกิจในการถ่าย โอนอำนาจหน้าที่มาดำเนินการ แต่เผชิญปัญหาเร่งด่วนและต้องการจัดการปัญหานั้นด้วยตนเอง ก็ให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทำเรื่องเสนอ มาที่คณะกรรมการกระจายอำนาจ ถ้าคณะกรรมการฯเห็นด้วยกับหลักการและเหตุผล ดังกล่าวก็เห็นชอบให้ ดำเนินการได้ เราเรียกกระบวนการนี้ว่า การขยายขอบเขตอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ก็กำลังรอดูว่า กฎหมายจะผ่านหรือไม่ เนื่องจากทิศทางของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่วางหลักการใหม่ในเรื่องการปกครองท้องถิ่น อันนำมาสู่การมีร่างกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่จะออกมาแทนฉบับเดิมที่ออกในปี 2542 ร่างกฎหมายใหม่นี้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วในปี 2561 และมีการปรับเปลี่ยนสาระสำคัญ หลายประการในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังไม่มั่นใจว่าแผนการ กระจายอำนาจฉบับที่สาม จะออกมาได้หรือไม่ หรือจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ประเด็นต่อมา ขอเสริมในเรื่องอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดการทรัพยารธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมที่อำนาจหน้าที่เช่นนี้จะดำเนินการได้ อปท.ต้องมีเครื่องมือเพียงพอที่จะดำเนินการได้ จึงมีการกำหนดใน แผนการกระจายอำนาจว่างบประมาณแผ่นดินต้องจัดให้ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 35% ต่อปี ซึ่งในแผนฯ 1 กำหนดไว้ ชัดเจนว่าให้ดำเนินการจัดสรรให้แล้วเสร็จภายในปี 2549 แต่ปรากฏว่าในปี 2549 เกิดวิกฤติทางการเมืองทำให้ งบประมาณที่จะจัดสรรให้ท้องถิ่นต้องยืดออกไป

ประเด็นต่อมาการมีคณะกรรมการกระจายอำนาจมีความตั้งใจให้เป็นอิสระทำหน้าที่กำกับทิศทางการ กระจายอำนาจและหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จ มิได้มาควบคุมมิให้ท้องถิ่นไม่เป็นอิสระ ดังนั้นโครงสร้างของคณะกรรมการจึงเป็นแบบไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย หนึ่งจากองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ตั้งแต่ อบต. เทศบาล อบจ. กทม. เมืองพัทยา รวม 12 คน ฝ่ายที่สองอีก 12 คน จากส่วน ราชการที่เกี่ยวข้อง เช่นมหาดไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนภารกิจไปให้ท้องถิ่น เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายที่สามคือคนกลางเป็นนักวิชาการบ้าง เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมี องค์ความรู้ด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากโครงสร้างเช่นนี้ท้องถิ่นจะค่อนข้างทำงานได้อย่างเป็นอิสระ ภายใต้ การกำกับของคณะกรรมการกระจายอำนาจ โดยมีรัฐบาลสนับสนุน ซึ่งต้องยอบรับว่ากลไกนี้ทำงานได้ผลดีในช่วง แรกๆ ของการดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามีการสดุดอยู่เมื่อพรรคไทยรักไทยเข้ามาเปลี่ยน เป้าหมายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ไพโรจน์ พลเพชร  ในช่วงที่มีการสดุดลงของงานกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ช่วงที่พรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล เสียงข้างมากนั้น ส่วนราชการหลายส่วน เริ่มเอาอำนาจคืนจากที่เคยจะโอนให้ท้องถิ่น เช่นกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข พยายามดึงงานที่ควรจะโอนไปให้ห้องถิ่นทำกลับคืนมาอยู่ที่กระทรวง เอาสถานีอนามัย ที่ควรโอนให้ท้องถิ่นบริหารกลับมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข หรือการทำถนนภายในท้องถิ่น ก็มีกรมทางหลวงชนบทขึ้นมาแย่งงานไปจากท้องถิ่น การดึงภารกิจกลับไป สู่ส่วนกลางนี้เริ่มมีมาตั้งแต่หลังปี 2544 ส่งผลให้ท้องถิ่นขาดความเข้มแข็ง โดยเฉพาะตั้งแต่การจัดตั้งกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่นขึ้นมาในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในปี 2545 กรมนี้จึงมีบทบาทภารกิจสำคัญในการกำกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกด้าน ทั้งด้านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การบริหารงานบุคคล การเงินการคลัง และการบริหารจัดการ อีกทั้งเมื่อมีการยึดอำนาจในปี 2549 และได้จัดทำรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ตัวรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางของการปกครองท้องถิ่น อีก 2 ประการสำคัญ คือ ขยายวาระของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากที่รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้เกษียณอายุที่ 60 ปี ไปเป็นตลอดชีพ และขยายกรรมการหมู่บ้านเพื่อให้จัดทำ แผนของตำบล แทนที่ควรจะเป็นงานของ อบต. นอกจากนี้ยังกำหนดว่าให้แผนงานของ อบต. ต้องได้รับอนุมัติ จากคณะกรรมการหมู่บ้าน การดึงอำนาจกลับไปสู่ส่วนกลางอีกประการ ก็คือ การที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจ กำกับดูแลข้าราชการที่ส่วนราชการต่างๆ ส่งไปทำงานในจังหวัด  จนกระทั่งในยุครัฐบาล คสช. ในปี 2557 ก็มีการ ดองหรือแขวนมิให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับเป็นระยะเวลานานกว่า 7 ปี เพิ่งจะเปิดให้มีการเลือกตั้ง อบจ.และ สอบจ. ในปี 2563 นี่เอง นับเป็นเรื่อง แปลกมากที่ คณะรัฐประหารไปแตะต้องเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการยึดอำนาจทุกครั้งที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจาก กทม.นี่เองว่า เมื่อผู้ว่ากทม.หมดวาระ คสช.ก็แต่งตั้งผู้ว่าฯคนใหม่มาแทน โดยแช่แข็งไว้ไม่ให้มีการเลือกตั้ง จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้หยุดชงักลง

          สิ่งที่อยากจะขอตราไว้ก็คือ รัฐธรรมนูญ 2550 เปิดช่องให้จังหวัดที่มีความพร้อมสามารถจัดการตนเองแบบ กรุงเทพมหานครได้ จึงเกิดกระแสสังคมเรื่องจังหวัดจัดการตนเองขึ้นมาระยะหนึ่ง แต่ประเด็นนี้ก็ถูกตัดออกจาก รัฐธรรมนูญ 2560 อีก จึงเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา ถูกแช่แข็งมาโดยตลอด เนื่องจากสาเหตุทางการเมืองจากการรัฐประหาร และการที่ส่วนกลางยึดอำนาจคืนไปจากท้องถิ่น

สาเหตุที่ราชการส่วนกลางไม่ยอมปล่อยให้ท้องถิ่นบริหารงานอย่างเป็นอิสระ

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ หากนับแต่ปี 2557 เป็นต้นมาพอจะวิเคราะห์สาเหตุได้ 2 ประการ คือ หนึ่งท้องถิ่นเติบโตมา เป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปี 2544 ดังนั้นในระหว่างข้าราชการส่วยกลางด้วยกันจึงเกิดการแข่งขันกันในการให้บริการแก่ ประชาชน ท้องถิ่นกลายเป็นคู่แข่งของส่วนกลาง ที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน ทำให้อาจต้องลดบทบาทของส่วนกลางเพราะ ท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่า บริการได้เร็วกว่า ส่วนกลางอาจเกิดความรู้สึกต้องการพื้นที่คืน ต้องการคง สถานภาพของตนเอาไว้ เมื่อมีพื้นที่ในการให้บริการก็จะตามมาด้วยตำแหน่งและงบประมาณ หากให้ท้องถิ่นเติบโต งาน งบประมาณและคนในส่วนนี้ก็ต้องลดลงหรือสูญหายไปเพราะท้องถิ่นทำเองได้ ซึ่งกล่าวในส่วนของงบประมาณ ที่แม้ท้องถิ่นจะมีอยู่สูงมากพอควรก็ตาม แต่คงไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการส่วนกลางจนมีนัยสำคัญถึงกับ ต้องการไม่ให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณ และโดยที่รัฐบาลยุค คสช.เป็น รัฐบาลทหาร ต้องการให้มีการดำเนินการ ตามคำสั่ง สั่งได้ แต่ถ้าท้องถิ่นไม่ฟังคำสั่งแล้วจะบริหารงานกันอย่างไร ดังที่เราเคยเห็นผู้ว่าสุขุมพันธ์ของกทม. แข็งขืนคำสั่ง คสช.มาแล้ว เพราะถือว่า กทม.มีงบประมาณ บริหารงานเองได้อย่างอิสระ คสช.จะมาสั่งโน่น สั่งนี่ ไม่ได้ ส่วนเหตุผลที่สองอาจมาจากการเมืองสองขั้ว ที่เกิดขึ้นในเวลานี้มาจากฐานการเมืองในท้องถิ่น เพราะท้องถิ่น มีการเลือกข้างทางการเมือง ส่วนกลางและคสช.จึงทึกทักเอาเองว่า งั้นตัดตอนหรือแช่แข็งท้องถิ่นสักระยะ อาจช่วย ให้สถานการณ์ความขัดแย้งแบ่งขั้วคลี่คลายลงได้ ซึ่งเป็นความจริงในระดับหนึ่งที่การเมืองท้องถิ่น ผูกพันยึดติดกับ การเมืองระดับชาติ การตัดแข้งตัดขาท้องถิ่นจะส่งผลถึงการเมืองระดับชาติ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายลงค่อยปล่อย ให้ท้องถิ่นกลับคืนสถานภาพเดิม เราจึงเห็นการปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับจังหวัดในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้

ไพโรจน์ พลเพชร ขอเพิ่มเติมนิดเดียวที่บอกว่าการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติผูกพันกันนั้น เราจึงเห็นได้ว่า ระยะหลังนักการเมืองระดับชาติลงไปสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นมากขึ้น โดยมีเหตุผลสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง ตนเองสามารถทำงานให้ท้องถิ่นได้เพราะผ่านงานระดับชาติมาแล้ว เป็นสส.หรือตำแหน่งอื่นๆมาแล้ว อีกเหตุ ผล ก็คือการบริหารงบประมาณที่หากได้ลงมาทำงานท้องถิ่นก็จะได้เห็นตัวเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดีกว่าตอนเป็น สส. ที่เห็นงบประมาณเป็นตัวเลขในกระดาษที่ตนจับต้องไม่ได้ เช่น ท้องถิ่นบางแห่งมีงบประมาณมากถึง สองพันล้าน บาท

เราตัดราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกได้หรือไม่ (ทำไมไม่มีแค่ราชการบริหารส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่น)

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ความจริงรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในโลกนี้มีหลายรูปแบบ (โมเดล) เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา หรืออินโดนีเซียก็คล้ายกับบ้านเรา โมเดลแบบญี่ปุ่นนั้นมีการปกครองส่วนกลางแล้วลงไปสู่ท้องถิ่นเลย การปกครองแบบภูมิภาคไม่มี ซึ่งทำได้ดีมากเพราะใช้การสื่อสารทางเทคโนโลยีประสานงานไปที่ท้องถิ่นเลย ส่วนอินโดนีเซียเคยมีระบบแบบบ้านเราคือมีการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น แต่ในปี 2541 (1987) มีการปฏิรูปขนานใหญ่ที่เรียกว่า Big Bang decentralization [2] ยกเลิกส่วนภูมิภาค ให้ผู้ว่ามาจาก การเลือกตั้ง เปลี่ยนจังหวัดให้เป็นการปกครองท้องถิ่นเต็มรูป การปกครองส่วนภูมิภาคจริงๆของอินโดนีเซียคือ เปลี่ยนจังหวัดให้เล็กลงจากเดิมเคยมีประมาณ 50 จังหวัด ก็ทำให้เหลือแค่ สิบจังหวัดที่เป็นเหมือนมณฑลหรือโซน เป็นศูนย์กลางของภาคที่ดูแลเกาะต่างๆรอบๆนั้น จังหวัดเป็นตัวประสานงานจากส่วนกลาง ไม่ทำงานซ้อนกับ ท้องถิ่น เมื่อดูผลลัพธ์ของโมเดลแบบญี่ปุ่นและอินโดนีเซียที่เริ่มการปกครองท้องถิ่นใกล้ๆเรา ญี่ปุ่นอาจมากกว่า เพราะท้องถิ่นญี่ปุ่นบริหารงานเองมานานกว่า 70 ปี อินโดนีเซียอาจแค่ประมาณ 20 ปี แต่ทั้งสองประเทศนี้ท้องถิ่น เจริญก้าวหน้ากว่าไทยมาก

ไพโรจน์ พลเพชร ในช่วงที่ทำงานในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)นั้น มีความพยายามปฏิรูปท้องถิ่นให้สอด คล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่าท้องถิ่นใดมีความพร้อมก็สามารถจัดการบริหารจัดการตนเองแบบ กทม.ได้ จึงมีแนวคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัด โดยศึกษาโมเดลจากญี่ปุ่น คือราชการส่วนภูมิภาคไม่มี ให้ราชการส่วนกลางเป็นตัวประสานงานกับจังหวัด สอดส่องกำกับ และถ่ายทอด เทคโนโลยีให้จังหวัด ส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยงให้จังหวัดสามารถดำเนินการบริหารเองได้ทุกอย่าง แต่เว้นให้ส่วนกลาง ดำเนินการเองเพียง 4 เรื่อง คือ การต่างประเทศ การทหาร การเงินการคลังและกระบวนการยุติธรรม หากดำเนินการได้แบบนี้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงทบวงกรมต่างๆก็ต้องปรับตัวโดยไม่ต้องมีการปฏิรูประบบราชการ อีก เพราะจะมีการถ่ายโอนอำนาจไปให้ท้องถิ่นดำเนินการ ท้องถิ่นบ้านเราจะก้าวหน้าไปมากกว่านี้ หรือหากปล่อย ให้คณะกรรมการกระจายอำนาจดำเนินการเป็นผู้กำหนดทิศทางการบริหารท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องมาตั้งปี 2540 คิดว่าท้องถิ่นของเราคงจะเจริญก้าวหน้ามากกว่านี้ หมายความว่าภารกิจต่างๆกว่า 300 เรื่อง ก็มอบให้ท้องถิ่น ดำเนินการ กล่าวโดยสรุป ถ้าปล่อยให้ทุกจังหวัดสามารถบริหารตัวเองได้แบบกทม. โดยไม่สะดุดหยุดลงเพราะ ปัญหาการเมือง เชื่อว่าท้องถิ่นของเราจะเจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก เนื่องจากเมื่อดูพัฒนาการ ทางการเมืองและผู้คนในท้องถิ่นที่มีความตื่นตัวมากขึ้นในรอบ 20 ปีนับจากปี 2540 มีคนหลายพวกหลายกลุ่ม คนหนุ่มคนสาวพยายามที่จะเข้ามาบริหารท้องถิ่นตัวเองให้เจริญก้าวหน้าซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดี

วิจารณ์การเลือกตั้งอบจ.และสอบจ.

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ขอเพิ่มเติมประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 อยากเห็นท้องถิ่นทุกจังหวัดพัฒนาให้เป็นแบบ กทม.นั้น เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่พอเรามีรัฐธรรมนูญ 2560 เจตนารมณ์ดังกล่าวถูกตัดออกอย่างสิ้นเชิงเปลี่ยนแปลง รูปแบบการปกครองท้องถิ่นไม่ให้เติบโตตามความต้องการของประชาชนท้องถิ่น ไม่ให้ท้องถิ่นเป็นอิสระที่จะคิดที่จะ บริหารงานได้เอง เขียนกว้างๆไว้เพียงให้ท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจภายใต้กรอบกฎหมายแบบระบบราชการ รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจในการที่จะไปออกกฎหมายมาจำกัดความเป็นอิสระของท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมไปเป็นการ ให้รับฟังจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังมาก สำหรับประเด็นเรื่องการวิจารณ์การเลือกตั้งอบจ.และสอบจ.นั้น ขอแสดงความเห็นเป็น 2-3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก การเตรียมการจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งนี้ดำเนินการอย่างรีบเร่ง เป็นไปตามจังหวะทางการเมือง คือ ช่วงเกิด คสช.ก็ไม่เคยมีท่าทีว่าจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นตามวาระ และไม่รู้ว่าจะจัดเมื่อใด แต่พอจะ ปล่อยก็ปล่อยทันที เร่งรัดมาก ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันขึ้นมาหรือไม่ แต่ในแวดวง วิชาการมองว่าการจัดเลือกตั้งแบบรีบเร่งเช่นนี้ไม่มีผลดีต่อการปกครองท้องถิ่นหรือไม่เห็นสัญญานทางบวกเท่าใดนัก เพราะเป็นการแค่บอกว่ารัฐบาลยอมรับให้มีการกระจายอำนาจ ในระดับจังหวัดเท่านั้น หรือยอมให้การปกครอง ส่วนภูมิภาคยังคงมีอยู่ต่อไป แต่จะหมายรวมไปถึงว่า อบจ.คือภาคีหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองหรือไม่ หรือ อบจ. จะเป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาของจังหวัดได้ดีหรือไม่นั้น ยังไม่เห็นสัญญานที่ดี นอกจาก นี้การกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวานี้ ส่งผลให้กลุ่มการเมืองใหม่ๆที่อยากจะมีบทบาทในการแก้ไขจัดการ ปัญหาของจังหวัดตัวเองเตรียมตัวไม่ทันแน่นอน เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างชัดเจน คนที่รู้วงในหรือคนฝ่าย รัฐบาลอาจได้เปรียบมากกว่า ประเด็นต่อมาก่อนคสช.ลงจากอำนาจประมาณต้นปี 2562  ได้มีการแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น[3] ใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การกำหนดให้ผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้จะใช้สิทธิ เลือกตั้งในท้องถิ่นต้องปฏิบัติตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายปปช.[4] และกำหนดว่า ห้ามผู้ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นต่อไป ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สองวาระติดต่อ กัน บทบัญญัตินี้ถือว่าผู้ร่างกฎหมายเห็นว่ากรอบกฎหมายสำคัญกว่าเจตนารมณ์ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในท้องถิ่น และทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลที่มาจากประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีมาตั้งแต่ปี 2540 ที่ประชาชนสามารถถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ หากมีการประพฤติไม่ชอบ หรือทำหน้าที่ ได้ไม่ดี และทำให้การทำงานเพื่อท้องถิ่นเกิดความอ่อนแอ เพราะเมื่อผู้บริหารคนใดทราบว่าสมัยต่อไปตนไม่สามารถ ทำงานต่อได้แล้ว (เพราะอยู่ครบ 8 ปี) ก็อาจมีการทิ้งทวนทำในสิ่งที่ตนไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อ ท้องถิ่นโดยรวม เราอย่าไปกลัวว่าหากให้ผู้บริหารอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆแล้วจะผู้ขาดการใช้อำนาจ หรือดำเนิน นโยบายหรือมีการฝังรากสร้างอิทธิพลในท้องถิ่น เพราะอย่าลืมว่ากลไกการตรวจสอบท้องถิ่นโดยประชาชนนั้น มีความเข้มข้นขึ้น จะเป็นตัวถ่วงดุล และสร้างความเข้มแข็งในการบริหารงานท้องถิ่นอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง ชอบธรรม  นอกจากนี้ยังมีกลไกของ ปปท. ปปช. ในระดับชาติอีกที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบ ของกลไกเหล่านี้ ชาวบ้านจะเป็นผู้เป็นหูเป็นตาในการบริหารท้องถิ่น เพราะอยู่ในพื้นที่ ยกตัวอย่าง อบจ.กระบี่ ผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 4 สมัยแล้วเพราะไม่มีคู่แข่ง แต่ชาวบ้านก็ยังให้ความไว้วางใจผู้บริหารชุดเดิมอยู่ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง

ไพโรจน์ พลเพชร ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่กำหนดวาระของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองท้องถิ่นเช่นกัน ตามที่ อ.วีระศักดิ์ ได้ให้ความเห็น ซึ่งพอจะมองออกได้ว่าผู้ร่างกฎหมายมีอคติต่อการเมืองท้องถิ่นและพยายามจะบอกว่าการอยู่ในตำแหน่งนานๆจะ กลายเป็นการสร้างอิทธิพลหรือมุ่งไปสู่การทุจริตโดยง่าย หรือจะก่อให้เกิดการผูกขาดแบบสภาครอบครัว ซึ่งแท้จริง แล้วถ้าเราดูพัฒนาการของการเลือกตั้งในท้องถิ่นที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าอคติแบบนั้นไม่เป็นจริง เพราะไม่ว่าคุณจะ เป็นเจ้าพ่อในท้องถิ่นหรือมีอิทธิพลมากแค่ไหน ก็สอบตกมาแล้วทั้งนั้น ถ้าคุณไม่ทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ประชาชนในท้องถิ่น คนในท้องถิ่นจะเห็นเอง รู้ได้เองว่าตนได้รับประโยชน์หรือไม่ ทำงานรวดเร็วหรือไม่

รัฐธรรมนูญควรบัญญัติเรื่องสำคัญไว้อย่างไรในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ จากบทเรียนที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ที่วางรากฐานไว้ค่อนข้างชัดเจน ในเรื่องการปกครองท้องถิ่นมาจนถึงปี 2550 ก็มีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่จุดหักเหมากที่สุดคือรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าหากจะร่างรัฐธรรมนูญให้ท้องถิ่นเข้มแข็งก็ไม่ต้องเขียนอะไรให้วุ่นวายมากมาย เขียน หลักการแค่ 2-3 มาตรา ที่เป็นหัวใจของการปกครองท้องถิ่นและต้องให้มีความเชื่อมโยงกับสิทธิขั้นพื้นฐานของ ประชาชน ดังนี้ หลักการข้อ 1 ชุมชนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิเรียกร้องอำนาจในการจัดการวิถีชีวิตตนเอง ในเรื่องการ บริการสาธารณะที่จำเป็นต่อวิถีชีวิต การศึกษา สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน รัฐจะ ดำเนินการอะไรที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนก่อน หลักการข้อที่ 2 โครงสร้างของการจัดการตนเองเป็นอำนาจของท้องถิ่น ท้องถิ่นมีสิทธิในการจัดการตนเองได้ในรูปแบบใดก็ได้ อาจเป็นรูปแบบ กทม. หรือรูปแบบอื่นๆ เช่นเป็นเมืองพิเศษหรืออะไรก็แล้วแต่ แค่สองหลักการนี้ก็สามารถนำไป บริหารจัดการได้หลากหลายประการเพื่อทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งได้ตามที่ประชาชนในท้องถิ่นต้องการ ไม่ต้องไประบุว่า ท้องถิ่นมีหน้าที่กว่า 100 อย่างแบบรัฐธรรมนูญในอดีตอีกต่อไป หลักการเช่นนี้จะทำให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดการ บริหารจัดการได้ตามสภาพของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อาจเพิ่มหลักการอีกข้อก็ได้ว่า รัฐต้องให้อำนาจท้องถิ่น ในการออกกฎหมายที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตนเอง โดยอาจเรียกว่ากฎบ้านก็ได้หรือกฎชุมชนก็ได้ และให้ รัฐส่วนกลางสนับสนุนการจัดการตนเองของท้องถิ่น หรือชุมชน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ งบประมาณต่างๆดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นต้น อีกประเด็นก็คือ อาจเขียนว่าหากท้องถิ่นจะดำเนินการใดที่จะส่งผล กระทบต่อประเทศชาติก็ต้องห้ามดำเนินการเหล่านั้นว่าทำไม่ได้ เช่น ห้ามดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อการเงิน การคลังของชาติ หรือกระทบต่อการต่างประเทศ หรือการศาล ต้องห้ามกระทำ แต่ที่เหลือถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของท้องถิ่น สุดท้ายเขียนให้มีกลไกในการตรวจสอบการดำเนินงานของท้องถิ่น เช่น การถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ออกจากตำแหน่ง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน และรัฐส่วนกลางสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ในกรณีจำเป็น

ไพโรจน์ พลเพชร ต้องเขียนรับรองสิทธิของประชาชนท้องถิ่นในการจัดการตนเองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเสียก่อน จากนั้นให้เขียนรับรองว่าท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดการตนเองได้ทุกเรื่อง ยกเว้น 4 เรื่องที่กล่าวมาแล้ว คือ การเงินการคลัง การทหาร การต่างประเทศ การศาลหรือกระบวนการยุติธรรม ต่อมาต้องเขียนให้ชัดเจนว่ารายได้ ของท้องถิ่นมาอย่างไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง เรื่องใดใช้งบประมาณของส่วนกลางหรือการใช้งบประมาณร่วมกัน ส่วนที่ ต้องเพิ่มไว้อีกเรื่องในรัฐธรรมนูญคือ ต้องเขียนให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิในการถอดถอน การตรวจสอบผู้บริหาร ท้องถิ่น มีการทำประชามติในท้องถิ่นได้ในบางประเด็น และที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องเขียนในบทเฉพาะกาลว่า ให้ท้องถิ่นจัดการตนเองได้ โดยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ที่ขัดขวางการดำเนินการตามหลักการของ รัฐธรรมนูญนี้ เช่น กฎหมายที่ให้ส่วนกลางเข้าไปกำกับ หรือดึงอำนาจกลับไปอยู่ส่วนกลางซึ่งมีอยู่มากมายจากการ เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคที่ผ่านมา

คำถามจากผู้ชม ควรมีการจัดตั้งสภาท้องถิ่นและกระทรวงว่าด้วยกิจการท้องถิ่นหรือไม่

ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ มีการพูดคุยประเด็นนี้กันในช่วงประมาณก่อนปี 2550 เนื่องจากมองเห็นว่ากลไกขับเคลื่อน การปกครองท้องถิ่นที่มีอยู่ในขณะนั้น คือคณะกรรมการกระจายอำนาจยังทำงานได้ไม่สัมฤทธิ์ผลนัก เนื่องจาก นโยบายของรัฐเปลี่ยนแปลงไปในช่วงปี 2545 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้โครงสร้างของคณะกรรมการ กระจายอำนาจไม่สามารถดำเนินการได้จริง จึงเกิดแนวคิด 2 กระแส ที่จะทำให้ท้องถิ่นทำงานได้จริง แบ่งเป็น ๆ หนึ่ง เห็นว่าควรจัดทำกฎหมายว่าด้วย สภาท้องถิ่นแห่งชาติขึ้นโดยให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้ใช้กลไกนี้ ประสานงานกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อ ส่งเสริมให้ท้องถิ่นทำงานได้ คล้ายๆกับรูปแบบของ สภาพัฒน์หรือ กพร.- คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งถ้าดำเนินการได้จริงก็มีข้อดีอยู่ คือ การที่ได้ใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจ คือนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ยังถกเถียงกันก็คือตัว สภาท้องถิ่นฯนี้จะเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กับองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างไร สภาท้องถิ่นแห่งชาติจะขับเคลื่อนได้จริงหรือไม่ เพราะหากดูตัวอย่างจากสภาพัฒน์ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ก็ยังเห็นว่าทำงานได้ยากมากในการประสานงานกับหน่วยราชการ อีกกระแสหนึ่งมองเห็นว่าถ้าท้องถิ่นยังขับเคลื่อนไม่ได้ ก็ควรทำให้งานท้องถิ่นเป็นเนื้อเดียวกับการบริหารราชการ แผ่นดินไปเลย จึงเสนอให้จัดตั้งกระทรวงการบริหารท้องถิ่นขึ้นมา ซึ่งก็มีข้อดีคือสามารถมีงบประมาณในการ ดำเนินการ มีตัวตนชัดเจนขึ้น ประสานงานกับอปท. ได้ดีขึ้น แต่ข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลกว่า คือ หลักการปกครอง ตนเองของท้องถิ่น คือการทำให้ท้องถิ่นมีการบริหารงานโดยอิสระ ดังนั้นจึงไม่ควรมีโครงสร้างเป็นระบบราชการ ที่ครอบท้องถิ่นลงไป ถ้าเราได้รัฐมนตรีที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่น การบริหารงาน การประสานงานก็ราบรื่นไปได้เร็ว แต่หากตรงกันข้ามนักการเมืองมาครอบงำท้องถิ่นได้เพราะมีอำนาจสั่งการโดยตรงก็จะเป็นผลเสียที่รุนแรงมากกว่า ดังนั้นทิศทางการดำเนินงานท้องถิ่นในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว จะไม่พยายามมีโครงสร้างอะไรที่ไปครอบความ เป็นอิสระในการบริหารท้องถิ่น โครงสร้างที่ดีที่คือการเสนอให้ท้องถิ่นมีรูปแบบญี่ปุ่นที่ส่วนกลางเป็นตัวประสาน งานให้ท้องถิ่นดำเนินการเอง หรือเป็นตัวกำหนดมาตรฐานบางอย่างให้ท้องถิ่นปฏิบัติ ถ้าติดขัดอะไรส่วนกลาง จึงเข้าไปแก้ปัญหา หรือถ้าจะเป็นสภาท้องถิ่นแห่งชาติก็ควรให้ทำหน้าที่แค่การประสานงานกับท้องถิ่น แบบนี้อาจ ทำได้ดีกว่าเป็นการครอบงำแบบเป็นกระทรวง

ไพโรจน์ พลเพชร ความจริงตามคำถามนี้คงต้องการรูปแบบการประสานงานเพื่อให้ท้องถิ่นดำเนินการได้ และมี ความเชื่อมโยงกับส่วนกลาง ดังนั้นหากจะมีโครงสร้างอย่างไรก็ควรเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญก็ได้ว่า ให้มีกลไก การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นให้ชัดเจน โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่หมายความว่าต้องให้ ท้องถิ่นเป็นอิสระก่อน แล้วเขียนให้ส่วนกลางปรับตัวให้เข้ากับความเป็นอิสระของท้องถิ่น

 

//////////////////

[1] ความเป็นมาคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สืบค้นจากเว็บไซด์สำนักงานคณะกรรมการ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : http://www.odloc.go.th/web/?page_id=2259

[2] ชำนาญ จันทร์เรือง: มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ ค้นจากเว็บไซด์ประชาไทย https://prachatai.com/journal/2018/09/78591 และ โปรดดู บทสัมภาษณ์วีระศักดิ์ เครือเทพ “การเมืองท้องถิ่น กระจายอำนาจ 4 ปี คสช. ก้าวหน้าvsถอยหลัง” สืบค้นจากเว็บไซด์มติชน :  https://www.matichon.co.th/politics/special-interview/news_1105381

[3] โปรดดู พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.  ๒๕๖๒ บทเฉพาะกาล มาตรา 142 ในการ เลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว  ให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติดังต่อไปนี้  เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการงดการจัด ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น  และกำหนดวิธีการได้มา ซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นสิ้นผลบังคับสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น …

[4] เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ คือ โดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง และผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภา ท้องถิ่น หรือกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ เลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้อง คำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้