แถลงการณ์

ขอความร่วมมือสื่อทุกแขนงระมัดระวังเนื้อหาสร้างความเกลียดชัง

ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แรงงานข้ามชาติ

            การระบาดแพร่เชื้อโควิด 19 ครั้งใหม่ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 สร้างความเสียหายให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยอย่างมหาศาล ทั้งคนไทย คนต่างชาติ หรือแรงงานข้ามชาติที่มาจากเพื่อนบ้าน การไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดจากฝั่งประเทศเมียนมาร์ที่ทราบมาก่อนแล้วว่ามีการระบาดทั่วประเทศซึ่งอาจจะลามมาถึงประเทศไทย จากความประมาทของหลายฝ่ายที่มิได้เสริมกำลังพลเข้าสกัดการลักลอบการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายแต่เริ่มแรกเจ้าหน้าที่รัฐมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่บังคับใช้กฎหมายกับนายหน้าคนกลาง นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ บ่อนการพนัน รวมถึงประชาชนที่ใช้ชีวิตข้ามชายแดนไปมาโดยไม่ผ่านด่านกลั่นกรอง กักตัว ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม การแพร่เชื่อไวรัสโควิดจึงกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว

               การกระทำผิดดังกล่าวส่งสัญญาณอันตรายจากเหตุการณ์คนไทยข้ามไปเที่ยวหรือให้บริการที่สถานบันเทิงใน จ.ท่าขี้เหล็ก ฝั่งเมียนมาร์ มีการเข้าออกชายแดนทาง จ.เชียงราย โดยไม่มีการตรวจสอบเชื้อโควิด ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563  พบว่าบุคคลดังกล่าวติดเชื้อไวรัสโควิดและได้เดินทางไปยังที่ต่างๆในจังหวัดเชียงรายสร้างความตื่นตระหนกให้คนท้องถิ่นอย่างมาก แต่สถานการณ์การแพร่เชื้อเป็นที่น่ากังวลมากขึ้นเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 พบว่ามีแรงงานพม่าติดเชื้อโควิดซึ่งอาจเป็นผู้แพร่เชื้อไปยังผู้คนจำนวนมาก (Super Spreaders) เพราะอยู่ในตลาดกลางมหาชัย จ.สมุทรสาคร ที่มีแรงงานพม่าทำงานและอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมายกว่า 3 แสนคน โดยที่พักอาศัยของแรงงานอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด เป็นที่มาของการระบาดอย่างรวดเร็ว โดยผู้เข้าออกตลาดได้นำเชื้อไปแพร่ในอีกหลายจังหวัดรวมเกือบ 2 พัน คนใน 45 จังหวัดในเวลาไม่กี่วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2563)

               นอกจากผลกระทบในการระบาดของไวรัสโควิดรอบ 2 ของไทยขณะนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคอาหารทะเลในประเทศ ส่งผลต่อธุรกิจด้านอื่นๆตามมาอย่างมหาศาลแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสังคม ความสัมพันธ์ในวงกว้างระหว่างคนไทยและคนพม่าอย่างมากเช่นกัน กล่าวคือเกิดการตำหนิ ประณาม ด่าทอ แรงงานพม่าในไทย ผ่านสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก สื่อออนไลน์ จนไม่สามารถสกัดกั้นได้ แม้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้พยายามทำความเข้าใจกับคนไทยเพื่อยุติความเกลียดชังไปมากแล้วก็ตาม

               สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากภาคประชาสังคมจะใช้ความพยายามอย่างสูงเพื่อทำความเข้าใจ ใช้เหตุและผลในการพิจารณาปัญหาครั้งนี้ในลักษณะที่ร่วมกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน ไม่ให้คนไทยต้องเกลียดชังคนพม่าดังเช่นที่เกิดมาแล้วในอดีตอีก สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ปรารถนาที่จะให้สื่อทุกแขนงของไทยหลีกเลี่ยงการพาดหัว การใช้คำพูด ข้อความ ที่ดูถูกเหยียดหยาม ส่งเสริมโทสะวาจา (Hate Speech) หรือบ่มเพาะความเป็นชาตินิยม (Nationalism) ที่อาจนำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) อย่างไร้สติ ดังเช่นคำว่า ผีน้อยพม่า แรงงานเถื่อน หม่องยึดเมืองสยาม พม่าตีกรุงแตก กินบนเรือนขี้บนหลังคา ฯลฯ การสร้างความแตกแยกดังกล่าว อาจนำไปสู่ความรุนแรงในระดับชุมชน หรือปัจเจกบุคคล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้นายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน ขบวนการค้ามนุษย์ ให้มีความฮึกเหิมมากกว่าเดิม

              สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ขอเรียกร้องสื่อมวลชนทุกแขนงทั้ง online และ offline ยึดมั่นในข้อบังคับต่างๆว่าด้วยจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ ทำหน้าที่สื่ออย่างมืออาชีพ สร้างทัศนคติ (mindset) ที่ถูกต้อง ดังเช่นที่ปรากฏในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2559 ข้อ 13 หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีอัตลักษณ์แตกต่างในสังคม

               ในขณะเดียวกันไม่ทำข่าวที่เต็มไปด้วยอารมณ์เพื่อดึงจำนวนผู้ชมผู้ฟังผู้อ่าน เพิ่มพื้นที่การขายข่าวเพื่อความอยู่รอดขององค์กรจนลืมหลักการสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และจะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่มีการกำหนดไว้แล้วในข้อ 20 (2) ว่า การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ที่ยั่วยุให้เกิดการเลือกประติบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

               จึงหวังว่าสื่อสารมวลชนจะทำหน้าที่บนพื้นฐานมนุษยธรรม และเคารพสิทธิมนุษยชน เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติไม่ตำหนิแรงงานข้ามชาติ หรือคนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร

 

เชื่อมั่นและศรัทธา

28 ธันวาคม พ.ศ. 2563