รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 8”

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการ

 

ผู้เข้าร่วมเสวนา

  1. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-net)
  2. เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

 

          สสส.เสวนาทัศนะครั้งนี้เกาะติดสถานการณ์การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสส.พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และข้อเสนอจากไอลอว์หรือภาคประชาชน รวม 7 ฉบับ ได้แก่

1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

  1. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายวิรัช รัตนเศรษฐกับคณะ เป็นผู้เสนอ)
  2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 259 และยกเลิกมาตรา 272 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

  1. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 279 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
  2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
  3. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 และมาตรา 279 และยกเลิกหมวด 16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 มาตรา 159 วรรคแรก มาตรา 162 วรรคแรก มาตรา 252 วรรคสอง มาตรา 256 และมาตรา 269 และเพิ่มหมวด 17 (นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน หรือ ฉบับไอลอว์เป็นผู้เสนอ)

(รายละเอียดปรากฏตามกราฟฟิก)

 

ภาพ 1 สาระสำคัญของญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ : พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล

 

 

 

 

ภาพ 2 ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน ของไอลอว์

 

 

ผลการประชุมร่วมรัฐสภาปรากฏว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการ ร่างที่ 1 ซึ่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์กับคณะ และร่างที่ 2 ซึ่งนายวิรัช รัตนเศรษฐกับคณะ เป็นผู้เสนอ ในประเด็นการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาร่าง รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ญัตติที่ 1 และ 2 แก้ไขมาตรา 256 ของ พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนน เห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า 366 เสียง และได้คะแนน ส.ว. มากกว่า 82 เสียง ขณะที่ญัตติที่ 3-7 ของพรรคฝ่ายค้านและ ไอลอว์ ไม่ผ่าน ความเห็นชอบในวาระแรก เนื่องจากได้เสียง ส.ว. ไม่ถึง 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 82 คน

          อย่างไรก็ตาม สสส.เสวนาทัศนะยังคงเห็นว่าข้อเสนอของร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ยังคงมีสาระสำคัญ หลายประการที่ควรนำมาบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการ ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าอะไรที่ เป็นส่วนดีของไอลอว์จะนำมา พิจารณาด้วย แต่เราย้ำเสมอว่าไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึง ประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา เราจะไม่ยุ่ง[1]

ข้อเสนอของไอลอว์ 5 ยกเลิก 5 แก้ไขนี้ จะถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการหรือยัง

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์นี้ ถูกรัฐสภาตีตกไปแล้ว อยู่ที่ว่าคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.ตามที่รัฐสภาได้รับหลักการร่างของสส.พรรคฝ่ายค้านและสส. ฝ่ายรัฐบาลจะหยิบยกประเด็นต่างๆที่ตกไปขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา พิจารณาใหม่ ไม่ใช่การแก้ไขรายมาตรา ซึ่ง สสร.อาจหยิบยกประเด็นว่า นายกต้องมาจากสส. หรือสว.ควรจะมี ต่อไปหรือไม่ หรือจะให้สว.มีที่มาอย่างไร เป็นต้น ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทบทวนข้อเสนอต่างๆ ที่ควรบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ หลายประเด็นของไอลอว์อาจมองไปถึงอนาคตที่ไม่จำต้องไปดูบริบทเดิม เช่น ข้อเสนอเรื่องยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. อาจไม่ได้รับการนำมาพิจารณาเพราะเป็นประเด็นที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่อาจพิจารณานำเสนอประเด็นใหม่ๆที่เป็นการรื้อ ซ่อม สร้าง ในบริบท New Normal ก็เป็นได้ เพราะเป็นการ ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ดังนั้นประเด็นข้อเสนอต่างๆ ของไอลอว์ 5 ยกเลิก 5 แก้ไขนี้ ขอให้ไปดำเนินการ ในชั้น สสร.ที่จะจัดตั้งขึ้นจะดีกว่า

เมธา มาสขาว ข้อเสนอของไอลอว์นั้นมีความแตกต่างจากอีก 6 ร่างของพรรคการเมืองอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ ไอลอว์เสนอให้นายกมาจากสส. ประการที่สอง ยกเลิกสว.แต่งตั้งให้สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และ ยกเลิก

องค์กรอิสระให้มีกระบวนการสรรหาใหม่ทั้งหมด ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น การการยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ ก็ตกไปซึ่งน่าเสียดาย แต่ข้อดีก็คือ ข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 แต่เดิมที่ คาดการณ์กันว่าจะแก้ไขได้ยากเนื่องจากผู้ร่างได้เขียนไว้ให้มีความซับซ้อนมาก แต่ปรากฏว่ารัฐสภาได้ผ่าน ความเห็นชอบหลักการถึงสองร่าง คือ การยอมรับให้มี สสร. เพราะเมื่อมีการตั้งสสร.ตามที่จะผ่านในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไปนั้น เรายังสามารถผลักดันประเด็นต่างๆที่อยากให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญผ่าน สสร.ที่จะเป็นผู้ร่าง รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งข้อเสนอต่างๆ ที่ตกไปแล้วจากร่างของฝ่ายค้านและไอลอว์ก็สามารถนำมานำเสนอต่อ สสร. ได้อีกครั้งหนึ่ง

          แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าเราไม่ควรมีสว.อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมา สว.มาจากการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจ มีแค่ ครั้งเดียวคือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สว.มาจากการเลือกตั้ง และเมื่อพิจารณาบทบาทที่ผ่านมา สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เป็นส่วนที่ขัดขวางกฎหมายที่ดีๆ และขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยหลายอย่าง อีกเหตุผลก็คือ สภาผู้แทน ราษฎรมีศักยภาพเพียงพอในการผ่านร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบัน ต้องยิ่ง เพิ่มบทบาทให้ สส.มากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องมีสว.เหมือนในอดีตที่จะให้สว.เป็นพี่เลี้ยง สส.อีกต่อไป

การมีสสร.จะช่วยทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ถ้าเราจะย้อนกลับไปในการจัดทำรัฐธรรมนูญในอดีตจะเห็นว่า สสร.มีความสำคัญ ในการจัดทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังเห็นได้จากการ มีสสร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากการปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ปี 2535 จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 40 สสร.มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 200 คน  กลุ่มองค์กรด้านสิทธิสตรี WEMove ก็เสนอให้มีสสร.เริ่มจาก จังหวัดละ 2 คน แต่ไม่ได้เสนอให้มีจำนวน 200 คน โดยให้แต่ละจังหวัดต้องมีผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน เพราะ จำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย จึงควรให้โอกาสผู้หญิงเข้ามามีบทบททางการเมืองด้วย ส่วนจังหวัดไหนมีประชากร มากก็ไปคิดสัดส่วนของประชากรเพิ่มจำนวน สสร.ไป ดังนั้นในร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้การมีสสร.ที่มาจากการ เลือกตั้งทั้งหมดจึงเป็นส่วน สำคัญที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดเลือกผู้จะมาทำหน้าที่ร่าง รัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองนั้น หมายถึงการต้องให้ประชาชนมีส่วน ร่วมทุกขั้นตอน

          ประเด็นที่ถกเถียงกันต่อไปก็คือ สสร. 200 คนนี้จะร่างรัฐธรรมนูญเป็นหรือไม่ หรือต้องมีคุณสมบัติในการ เขียนรัฐธรรมนูญเป็น ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก จึงมีข้อเสนอว่าทางเลือกที่หนึ่ง ให้ สสร. 200 คน ตั้งผู้เชี่ยวชาญมาเป็น ที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ หรือทางเลือกที่สอง ตามญัตติของสส.ฝ่ายรัฐบาล คือ ให้มีสสร.มาจากการเลือกตั้งจำนวน 150 คน แล้ว สสร.อีก 50 คน มีที่มาจากการให้รัฐสภาไปคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีคัดเลือก 20 คน และ กกต.คัดเลือกนิสิต นักศึกษา จำนวน 10 คนเข้ามา เป็น สสร.ด้วย นี่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องไปผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน

เมธา มาสขาว สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้ง 200 คน แม้ว่าจะมีข้ออ่อนในแง่ที่ว่า สสร.อาจไม่ สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้ หรือมีการพูดกันไปว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้ สสร. ไปทำรัฐธรรมนูญตามใจตัวเองก็ตาม แต่อย่าลืมว่า สสร.ที่มาจากประชาชนจะต้องรับฟังข้อเสนอของประชาชน จึงตีเช็คเปล่าได้และที่จริงเป็นเรื่องที่น่า เสียดายว่า เราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเลยก็ได้ ถ้ารัฐสภารับรองญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่าย รัฐบาล ฝ่ายค้านและไอลอว์เสนอ เพราะข้อเสนอแก้ไขมีไม่กี่มาตรา เช่น ความขัดแแย้งปัจจุบันอยู่ที่นายกมาจาก การเลือกของรัฐสภาคือรวมวุฒิสภาด้วย ถ้าแก้ไขให้เป็นว่า นายกมาจากการคัดเลือกของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีวุฒิสภาเกี่ยวข้องก็จะแก้ปัญหาที่ดำรงอยู่ขณะนี้ได้ หรือการให้ยกเลิกการสืบทอดอำนาจ คสช. ยกเลิก แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้สามารถแก้ไขได้รายมาตราเลย ทางที่สองคือ การแก้ไขให้มีสสร. ก็คงจะเป็นไปตามที่ประชุมในชั้นคณะกรรมาธิการแปรญัตติ ซึ่งเป็นการตั้ง กรรมาธิการเต็มสภาว่าจะให้มีการเลือกสสร.แบบญัตติของฝ่ายค้าน คือ เลือกตั้งทั้งหมด 200 คน หรือจะเลือกตั้ง แค่ 150 คนแล้วที่เหลืออีก 50 คน ก็ดำเนินการตามญัตติของฝ่ายรัฐบาลก็ได้ หากเป็นการเลือกตั้ง 200 คน ก็ไป คำนวณสัดส่วนประชากรว่าประชากรจำนวนเท่าใดเลือกสสร.ได้ 1 คน จังหวัดไหนมีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง มากก็มีสิทธิเลือกสสร.ได้เพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมติรัฐสภาบอกให้เลือกสสร. ภาคประชาชนและไอลอว์ก็สามารถไปยื่นความเห็น ในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ในชั้นกรรมาธิการตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ปัญหาจะตามมาอีก หากพรรคร่วมรัฐบาล หรือสว.ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่รัฐสภาลงมติรับหลักการแก้ไขแบบนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หากศาล รัฐธรรมนูญตีความว่าขัด การแก้ไขก็ทำไม่ได้ อีกด่านหนึ่งคือ หากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เมื่อรัฐธรรมนูญผ่าน วาระที่สาม ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธยต้องมีการทำประชามติก่อน หากรัฐบาลจริงใจก็คงให้ผ่าน ประชามติได้ แต่หากไม่จริงใจ รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องตกไป เมื่อดูช่วงเวลาของการจัดทำรัฐธรรมนูญ อาจจะเป็นว่ากว่าจะได้ สสร. สมมติกลางปีหน้า กว่าจะร่างเสร็จจนถึงการทำประชามติอาจใช้เวลายาวนาน ถึงสองปี ซึ่งนานเกินไปจึงเสนอว่าเมื่อได้ สสร.แล้ว ควรเอารัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตุ๊กตาในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่หรือนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้เลย ก็จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวดเร็วขึ้น

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ข้อกังวลของคุณเมธาก็น่าเป็นห่วงว่าหากศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าการเสนอญัตติแก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ก็น่าจะเป็นปัญหาของบ้านเราที่ถูกเกมการเมืองทำมาให้ถึงจุดนั้น เพราะปัญหาความขัดแย้งต่างๆในปัจจุบันมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และกำลังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น ประชาธิปไตยมากขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้วทำไม่ได้ ก็หวังว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมองเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหา และต้องร่วมกันคลี่คลาย มิเช่นนั้นจะเกิดความบาดหมางลึกขึ้น จนอาจเกิดความ รุนแรงไม่สิ้นสุด เพราะเรามีบทเรียนของวงจรอุบาทว์มาตั้งแต่ ตุลา 2516 หรือย้อนไปถึง 2475 เลยก็ได้ ที่ไม่ อยากให้เกิดขึ้นซ้ำ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง แม้ว่าโดยหลักการศาล รัฐธรรมนูญต้องเป็นกลางในการทำหน้าที่ถ่วงดุลเป็นหลัก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านการวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

เมธา มาสขาว ดูเหมือนว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ทางฝ่ายรัฐบาลจะไม่ค่อยมีความจริงใจ เพราะสว. บางส่วนและสส.พรรคร่วมรัฐบาลบางคน เช่น คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปแล้วให้ตีความว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี สสร.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ[2] โดยเสนอให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะเสนอเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อนุญาตให้ทำได้ โดยหากจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ต้องเป็นร่างฯที่ผ่านวาระ 3 แล้วกำลังรอเสนอให้จัดทำประชามติ ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญรับลูกตีความตามนี้ คือตีตกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยิ่งจะพังกันใหญ่ พังทั้งศาลรัฐธรรมนูญและพังทั้งประเทศ แต่ก็เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงจะไม่ทำเช่นนั้น และในความเป็นจริง สส.พรรคร่วมรัฐบาลและสว.ควรเป็นองค์กรที่ช่วยแก้ไข ความขัดแย้ง เพราะตัวชี้วัดความจริงใจของรัฐบาลก็คือ สส.พรรคพลังประชารัฐ และสว.ซึ่งที่ผ่านมาจากการโหวต ต่างๆ ในสภาฯจะเห็นได้ว่ารัฐบาลยังหวงอำนาจอยู่ ไม่อยากให้มีใครมาแทนที่อำนาจตัวเอง ทั้งๆที่รัฐบาลเอง เป็นตัวสร้างความขัดแย้งเสียเอง ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสสร. จะเป็นประเด็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานในรัฐบาลนี้ เพื่อสร้างให้ระบอบประชาธิไปไตยเดินหน้าต่อไป

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ขอเสริมนิดเดียว แม้ว่าเราจะพูดคุยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมาอย่างยาวนาน มีการใช้รัฐธรรมนูญมาระยะหนึ่งก็เกิดรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่และประกาศใช้อีกหลายครั้งแล้วก็ตาม ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องของทุกๆคน คือทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ทุกภาคส่วน จะได้เข้าถึงได้ง่าย หากยังกินไม่ได้ประชาชนก็ต้องมีความยากลำบากกันต่อไป จึงอยากจะฝากไปถึงผู้มีอำนาจ ทั้งหลายในบ้านเมืองทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ก้าวข้ามอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ไม่คิดถึงตัวเอง แต่มอง ถึงอนาคตของชาติของลูกหลาน การร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสสร.ในครั้งนี้จะเป็นการก้าวข้ามและยุติความขัดแย้ง ทั้งหมดและเป็นการแสดงความจริงใจในการสร้างมิติใหม่ในทางการเมืองที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน ยังต้องเหนื่อยต่อไปในการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมตัวเองผ่านการร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร. ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า สสร.จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการ ควรเป็นอย่างไร

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ คือต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐธรรมนูญ คือ ข้อตกลงความสัมพันธ์ของอำนาจเพื่อจัดสรร ปันส่วนว่าอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของชาติควรเป็นของคนกลุ่มใดบ้าง  เพราะประเทศชาติมีหลากหลาย กลุ่มที่มีผลประโยชน์ เราจะแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ของชาติ อย่างไร ให้แก่กลุ่มใด ให้เกิดความเป็นธรรม ให้คนอยู่ร่วมกันได้ ก็ต้องหาคนมาจัดสรรผลประโยชน์เหล่านั้นให้เกิดความเป็นธรรม นี่คือ หัวใจของการร่าง รัฐธรรมนูญ หรือการจัดทำรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คนที่จะเข้ามาสู่อำนาจในการ จัดสรรผลประโยชน์นั้นต้องมีที่มา จากการเลือกตั้ง ซึ่งหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สส. สว. แม้แต่ผู้พิพากษาศาลฎีกา อัยการก็มาจาก การเลือกตั้งของประชาชน เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน ฝ่ายต่างๆที่มาสู่อำนาจ ต้องตอบสนองความต้องการ ของประชาชน เช่น เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องออกกฎหมายอย่างไร ให้ตอบสนองในการจัดสรรทรัพยากรมิให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน รัฐบาลก็ต้องบริหารการจัดการ ทรัพยกรให้เป็นธรรมให้เกิดความเท่าทียมกันในหมู่ประชาชนหลายฝ่าย นี่คือหลักการทั่วไป ดังนั้นสิ่งสำคัญ ที่ควรปรากฏในรัฐธรรมนูญ ก็คือที่มาของสส. ที่มาของสว.คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ โดยองค์กรอิสระนี้ มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พยายามผลักดันให้มีขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมามีการผูกขาดอำนาจไว้ที่รัฐราชการ การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระก็เพื่อถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ – กสม.ขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นไปตามหลัก กฎหมายและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีกกต.ไว้เพื่อตรวจสอบการได้มาของ สส.สว. เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดย สุจริต เที่ยงธรรม ไม่ให้มีการโกงหรือมีการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเป็นปัญหามาก แม้ในยุคปัจจุบันสถานการณ์ ทางสังคม การเมืองในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากก็ตาม องค์กรอิสระต่างๆก็ยังควรต้องมีอยู่ต่อไป เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ อย่าง กกต. ต้องมีเพื่อให้การแข่งขัน ในการเข้าสู่อำนาจนิติบัญญัติและเป็นรัฐบาลมีความเที่ยงธรรม เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ สสร.ในการจัดทำ รัฐธรรมนูญใหม่เพื่อดำเนินการว่าองค์กรอิสระเหล่านี้จะมีภารกิจ มีอำนาจ หน้าที่อย่างไรต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหา ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง และเหมาะสมกับบริบทสังคมไทยด้วย

เมธา มาสขาว รัฐธรรมนูญ คือกติกาหรือกฎหมายสูงสุดของการอยู่ร่วมกันในสังคม  โดยมีกฎหมายเป็นกติกา ขั้นต่ำของการประกันการอยู่ร่วมกันอย่างสงบในสังคม รัฐบาลเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองให้มีการบังคับใช้กฎหมายของ เจ้าหน้าที่ให้ใช้อำนาจเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่ผ่านมาความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติ ตามหน้าที่ดังกล่าว เราเกิดรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการร่างของประชาชนเพราะเกิดการรัฐประหารหลายครั้ง จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 เท่านั้นที่ร่างโดยประชาชน และก็หวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่นี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้การออกแบบรัฐธรรมนูญดีกว่าฉบับที่จัดทำโดยทหารที่มาจากการรัฐประหาร เราเคยมีรัฐธรรมนูญ 2475 รัฐธรรมนูญ 2489 แล้วก็มาปี 2517 หลัง 14 ตุลา และปี 40 ที่ดูเหมือนเป็นรัฐธรรมนูญที่มีโครงสร้างและเนื้อหาดี ส่วนรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการนั้นจะเป็นอย่างไร ต้องดูบริบทของสังคมในยุคนั้นๆว่าสังคมมีความขัดแย้ง ในประเด็นใดบ้าง ที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรมในสังคม แล้วรัฐธรรมนูญไปออกแบบเพื่อตอบโจทย์ ปัญหานั้นๆ  ซึ่งหากไปติดตามดูรัฐธรรมนูญของประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกามีรัฐธรรมนูญตั้งแต่สร้างประเทศแค่ 7 มาตรา[3]  รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯเขียนให้กระชับในเรื่องสำคัญๆเพื่อให้สามารถตีความรัฐธรรมนูญอย่างกว้าง ขวาง มีการแก้ไขบ้างเพื่อสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม อังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลาย ลักษณ์อักษร แต่ใช้ระเบียบประเพณีเป็นรัฐธรรมนูญให้ยึดถือปฏิบัติ ประเทศเหล่านี้ก็ยังมีความเจริญก้าวหน้า มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนของไทยได้ชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลกหรือเปล่า เพราะมีกว่า 300 มาตรา และมี มากมายหลายฉบับ ความจริงรัฐธรรมนูญไม่ต้องเขียนเยอะ และไม่ต้องไปเขียนให้กฎหมายสามารถตีความได้เหนือ รัฐธรรมนูญ เช่น ไปเขียนท้ายมาตราว่า”ทั้งนี้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้อง จัดวางความสัมพันธ์ของอำนาจให้เกิดความสมดุลระหว่างรัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น กำหนดที่มาของอำนาจ หรือแม้กระทั่งเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงได้หรือไม่ แต่ยังให้คงรูปแบบการปกครองแบบเดิมคือ เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ที่มาของหัวหน้าฝ่ายบริหารจะให้เป็นการเลือกตั้งโดยตรง หรือผ่านพรรคการเมืองแบบปี 60 หรือองค์กรอิสระต่างๆยังควรมีเพื่อเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลกับรัฐบาล แต่ที่มาขององค์กรอิสระ ต้องเขียนให้ชัดเจนเพื่อมิให้พรรคการเมืองหรือฝ่ายทุนใหญ่ๆส่งคนของตัวเองเข้ามาเป็น องค์กรอิสระ ซึ่งจะไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ ดังเช่นรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ที่มาขององค์กรอิสระทุกหน่วย งานมาจาก 7 อรหันต์ ซึ่งไม่มีความหลากหลายและประชาชนไม่มีส่วนร่วม และอย่างน้อยต้องให้สภาผู้แทน ราษฎร เป็นให้ความผู้เห็นชอบ มิใช่ให้ผู้แทนของฝ่ายบริหารหรือสว.ที่แต่งตั้งโดยฝ่ายทหารเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ องค์กรอิสระเช่นคณะกรรมการสิทธิฯยังมีความจำเป็นอยู่ในสังคมไทย เพราะสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้

          เมื่อพูดถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราควรเรียนรู้รูปแบบ รัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองแบบมีกษัตริย์คล้ายของเรา เช่น นอร์เวย์ สวีเดน หรือรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สามารถฟื้นฟูประเทศให้มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข มีรัฐสวัสดิการ เพื่อประชาชนอย่างดีเยี่ยม  มีการกระจายอำนาจทางการเมืองสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นปกครองกันเอง แต่ไม่ใช่รัฐอิสระ

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญต้องเขียนให้มีการจัดความสัมพันธ์ของอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในการจัดการทางเศรษฐกิจที่เรามีความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นด้วย โดยบัญญัติให้ชัดเจนถึงที่มาของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้ท้องถิ่นระดับจังหวัดจัดการกันเองได้หรือไม่ การโอน ย้ายตำรวจ การปฏิรูปกองทัพ เหล่านี้ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อจัดความสัมพันธ์ของอำนาจใหม่ ให้ประชาชนเข้ามามีโอกาสจัดการทั้งด้านทรัพยากร การจัดการปกครองท้องถิ่น การศึกษา คือ กำหนดประเด็น สำคัญๆประมาณ 10 เรื่อง หลักๆ อาจจะมี 10 หมวด ประมาณ 100 มาตราก็พอ บัญญัติให้ชัดเจนไว้ใน รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นค่อยไปออกกฎหมายในรายละเอียด ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ  เช่น พรรค การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่มีนายทุนสนับสนุนพรรค แต่ควรเป็นที่รวมของประชาชนที่มีอุดมการณ์ สส.ต้อง มาจากการเลือกตั้ง องค์กรที่ไม่ควรมีเลยคือ สว. เพราะจากประวัติศาสตร์การมีสว. คือให้เป็นพี่เลี้ยง ของสส. ในช่วงหลังปี 2475 ที่เราเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง สส. ยังไม่มีความชำนาญในการนิติบัญญัติตามภารกิจ จึงต้องมี สว.เป็นพี่เลี้ยงที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นดังกล่าว

อีกประเด็นหนึ่ง คือเรืองการตีความรัฐธรรมนูญควรเป็นอำนาจหน้าที่ของสส.ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สส.มีบทบาทมากขึ้นในการสร้างบรรทัดฐานว่ากรณีใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งในบริบทสังคมปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญ อีกต่อไป ซึ่งในช่วงที่ ผ่านมาก็พิสูจน์ แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคและสร้างความขัดแย้งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและไม่ยืนอยู่บนหลักนิติรัฐ นิติธรรมหลายเรื่องหลายประเด็น การแก้ไขและสร้างหลักประกันความขัดแย้ง ควรเป็นหน้าที่ ของสภาผู้แทน ราษฎร เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์  เห็นด้วยกับคุณเมธาว่า รัฐธรรมนูญควรเขียนให้กระชับไม่ต้องมีหลายร้อยมาตรา รายละเอียดสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ไปถกเถียงกันในการจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญควรเขียนไว้แต่หลักการสั้นๆก็เพียงพอแล้ว เช่น เรื่องการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายบริหาร นายกมาจาก การเลือกตั้งโดยตรง (สมมติ) ไม่ต้องมีสว.  สส.มาจากการเลือกตั้ง ส่วนจะเลือกตั้งแบบไหน อย่างไร ไปบัญญัติ รายละเอียดไว้ในกฎหมาย เพื่อมิให้เมื่อเกิดความขัดแย้งกันก็จะฉีกรัฐธรรมนูญอีก การจัดการตนเองของท้องถิ่น เขียนลงไปเลยให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งทุกระดับ นอกนั้นไปเขียนไว้ในกฎหมาย 

ดังนั้นเรื่องหลักๆที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ที่มาของอำนาจ การเข้าสู่อำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ความสัมพันธ์ของอำนาจ การจัดสรรปันส่วนในการจัดการทรัพยากร ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ ไม่มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการจัดการ น้ำมัน แร่ ป่า ที่ดิน งบประมาณแผ่นดิน ฯลฯ  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ต้องถกเถียงกันให้ชัดในการจัดทำรัฐธรรมนูญของ สสร. ข้อถกเถียงเหล่านี้จะนำไปสู่การจัดการกรณีการขัดกัน ของผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชน เรื่องเหล่านี้ต้องตกผลึกก่อน เพื่อให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลและจัดสรร จัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง รวมไปถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนให้บัญัติไว้โดยอิงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดว่าจะคุ้มครอง ตั้งแต่เกิดจนตายทุกมาตรา จะคุ้มครองอะไร อย่างไร ไปบัญญัติไว้ในกฎหมาย

 

___________________________

[1] จากเว็บไซด์หนังสือพิมพฺ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563  https://www.posttoday.com/politic/news/638366

[2] นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แถลงถึงกรณีการเสนอญัตติ เพื่อให้รัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ ที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)เพื่อจัด ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐสภาไม่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 10 พฤศจิกายน 2563  https://www.thaipost.net/main/detail/83362

[3]  รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาสั้น กระชับ มีแค่ 7 มาตรา อ่านเพิมเติมได้ที่ : 

chrome extension://oemmndcbldboiebfnladdacbdfmadadm/https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=35648