รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 6”

วันที่ 13 ตุลาคม 2563

เรื่อง โทษประหารแก้ปัญหาอาชญากรรมได้จริงหรือ

 

ผู้เข้าร่วมเสวนา

1.ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์    อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

2.นายพัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ อดีตนักโทษประหาร/เจ้าของธุรกิจส่วนตัว

3.สมศรี หาญอนันทสุข  กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

เกริ่นนำ การจัดเสวนาในวันนี้เนื่องในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้มากนัก หรืออาจจะไม่อยากกล่าวถึง เพราะเห็นว่าการเรียกร้อง ให้ยุติโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่สุดโต่ง เข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมการลงโทษ ผู้กระทำผิดในสังคมไทย แม้ทั่วโลกมีการยกเลิกโทษประหารฯ สำหรับคดีอาญาทุกประเภทไปแล้ว 106 ประเทศ (Abolitionist Countries) มี 28 ประเทศที่ยกเลิกในทางปฏิบัติแต่ยังไม่ยกเลิกในทาง กฎหมาย  ส่วนประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอยู่ 56 ประเทศ (Retentionist Countries)  หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย วันยุติโทษประหารชีวิตสากล ถูกกำหนดจากการประชุม ร่วมกันขององค์กรต่างๆ ที่พบปะกันที่กรุงโรมประเทศอิตาลีเมื่อปี 2543 และมีมติกำหนดให้วันที่ 10  ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่ทั่วโลกรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงข้อเสียของโทษดังกล่าวและเรียกร้องให้ทุกประเทศลงนามในพิธีสารเลือกรับ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ฉบับที่ 2 เพื่อการยุติ โทษประหารฯ (Second Optional Protocol to the ICCPR, aiming at the abolition of death penalty) ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี[1]

 

ประสบการณ์ของผู้เคยต้องโทษประหาร

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ         ผมเพิ่งเรียนจบด้านการบริหารโรงแรมและเพิ่งกลับมาช่วยงานโรงแรมของครอบครัว ถูกจับกุมดำเนิคดีในข้อหาจ้างวานฆ่าผู้จัดการโรงแรมของผม เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับคนร้ายได้ ซึ่งคนร้ายนี้เคยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงแรมที่ถูกผมไล่ออกเพราะความประพฤติ ไม่เรียบร้อย ก่อนถูกไล่ออกก็กล่าวคำอาฆาตผมไว้ว่า จะทำให้ผมเจ็บแสบที่สุดในชีวิตอะไรทำนองนั้น ผู้จัดการคนนี้คงมีปัญหากับพนักงานรักษาความปลอดภัย ทำให้เกิดความไม่พอใจ พอผมไล่ออก ก็ผูกใจเจ็บจึงซัดทอดว่าได้รับการจ้างวานจากคุณพัทธ์อิทธิ์ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษา ประหารชีวิต แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง รวมระยะเวลาที่ต่อสู้คดี ประมาณ 4 ปีกว่า

          กระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีนี้มีปัญหาหลายขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการในชั้นจับกุม คือ แม้ว่าตำรวจจะจับมือปืนได้และรับสารภาพว่าได้รับค่าจ้างจำนวน 3000 บาท แต่ทนายความของผม ไม่สามารถซักถามหรือซักค้านมือปืนได้ เพราะมือปืนถูกควบคุมตัวในเรือนจำบางขวาง และต่อมา เสียชีวิตในห้องขังของเรือนจำ ซึ่งเค้ากำลังเขียนหนังสือเล่าเหตุการณ์ว่าเค้าไม่ใช่มือปืน และถูกซ้อม ให้รับสารภาพ ต่อมาเสียชีวิตเสียก่อน จึงไม่สามารถนำตัวมาซักค้านได้และในชั้นอุทธณ์ศาลก็ไม่รับฟัง ข้อเขียนที่มือปืนรับสารภาพ ผมจึงถูกพิพากษาประหารในชั้นอุทธรณ์ตามศาลชั้นต้น แต่มาถึงชั้นศาล ฎีกา ศาลไม่เชื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ตามมาตรา 227 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา[2] จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาพยานของฝ่ายจำเลย จึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งหลักการตาม มาตรา 227 นี้ ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในทางระบบกฎหมายสากล ที่เรียกว่า proof beyond reasonable doubt คือ โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นโดยปราศจากเหตุอันควรสงสัย

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ ผมยื่นขอประกันตัวตลอดเวลากว่า 20 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ ประกันตัวได้ โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาอาจหลบหนีและอาจไป ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แม้ว่าผมจะใช้หลักทรัพย์ถึง 20 ล้าน ก็ตาม

 

โทษทางกฎหมายและปัญหาของการใช้โทษประหารชีวิต

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์   โทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา[3] 5  ประการนั้น ยังถือว่ามีความ จำเป็นในการใช้ลงโทษทางอาญาที่ทุกประเทศทั่วโลกก็ยังใช้โทษเหล่านี้อยู่ แม้ว่าหลายประเทศ จะยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วหรือมีแต่ไม่ได้ใช้ เนื่องจากมีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วเราสามารถจัดกลุ่มประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตอยู่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังใช้จริง กลุ่มที่ยกเลิกไปแล้ว และกลุ่มอย่างประเทศเราคืองดเว้นการใช้มาใกล้ครบ 10 ปี ซึ่งในทางสากลถือว่าจะกลายเป็นประเทศกลุ่มที่ไม่ใช้โทษประหารเลย

จากการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยพบว่าในสมัยสุโขทัย ไม่มีบันทึกใดระบุว่า ประเทศไทยมีโทษประหาร ยกเว้นกรณีทหารที่หนีทัพก็ใช้กฎอาญาศึกที่แม่ทัพสามารถสั่งประหาร ทหารหนีทัพได้ แต่ในสมัยอยุธยากลับมีการประหารด้วยวิธีพิศดารหลากหลายมากกว่า 30  วิธี เช่น เผาทั้งเป็น ใช้ม้าแยกร่าง เจาะกะโหลก ฯลฯ จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก็ใช้วิธีตัดคอ ยิงเป้า มาถึงยุค ปัจจุบัน ฉีดสารพิษ ซึ่งแนวโน้มในทางสากลก็จะยกเลิกโทษประหารกันไปแล้ว อย่างในเยอรมนี ใช้วิธี จำคุกตลอดชีวิตอย่างจริงจังและยาวนาน ของไทยก็มีกฎหมายอาญาบัญญัติให้มีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่เราไม่เคยจำคุกได้จริง ซึ่งโทษจำคุกตลอดชีวิตหมายถึงจะมีกำหนดเท่าไรไม่มีการบัญญัติไว้ ในกฎหมาย แต่มีในเรื่องการลดโทษ โดยบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 53 ที่บัญญัติว่า ในการลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้เปลี่ยนโทษ จำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปี ซึ่งในฐานะคนที่สอนกฎหมายเห็นว่า การจำคุกตลอดชีวิต มีความน่ากลัวกว่าการถูกยิงเป้าหรือการประหารชีวิต เพราะเราจะรู้ตัวว่าเราจะต้องตาย ในวันที่ถูก นำตัวไปประหาร แต่ถ้าถูกจำคุกตลอดชีวิตนี่ต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานมาก จึงน่ากลัวกว่า

 

โทษประหารชีวิตในต่างประเทศและทางออก

สมศรี หาญอนันทสุข ในฐานะที่สมาคมฯได้ดำเนินการรณรงค์ให้ประเทศไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต มานานกว่า 20 ปี เราพบว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมากสำหรับสังคมไทย ทั้งๆที่หลาย ประเทศในโลกได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้วและมีแนวโน้มว่าจะมีการยกเลิกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการ เข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR และพิธีสาร เลือกรับฉบับที่ 1 ของกติกาฯนี้ ว่าด้วยการยกเลิกโทษประหาร ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเฉพาะตัว ICCPR แต่ยังไม่เป็นภาคีพิธีสารฯฉบับที่ 1

          ในการยกเลิกโทษประหารในแต่ละประเทศนั้นเท่าที่ได้พูดคุยในการเข้าร่วมสัมมนาระหว่าง ประเทศพบว่า ถือเป็นเจตจำนงค์ของรัฐนั้น โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชนหรือไม่ต้องมีการทำ ประชามติ เพราะเรื่องของชีวิตคนนั้นรอไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราคำนึงถึงชีวิตของผู้จะถูก ประหารชีวิต เพราะเขาอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน แต่เราเข้าใจดีและคำนึงถึงผู้เสียหายที่ได้รับ ผลกระทบจากการประกอบอาชญากรรมที่อาจมีการประทุษร้ายต่อชีวิตของเหยื่อด้วย คือทั้งสองฝ่าย ก็ต้องได้รับการเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจและการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐ

          อย่างในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ EU นั้นถือว่าการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นเรื่อง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้แทนโทษประหาร โดยประเทศใน EU นั้นจำคุกตลอดชีวิต หมายถึง ตลอดชีวิตจริงๆ โดยมีกระบวนการตรวจสอบและประเมินตลอดเวลาว่านักโทษผู้นั้นมีความพร้อม หรือมีพฤติกรรมดีขึ้นตามลักษณะของการกระทำผิด หรือหากป่วยทางจิตก็ต้องเข้ารับการบำบัด รักษา โดยไม่มีการลดโทษตามวาระต่างๆ เช่นที่เรามี ดังนั้นระบบของเขาจะไม่มีการที่เมื่อปล่อยตัว ไปแล้วผู้นั้นจะไปกระทำผิดซ้ำ เพราะได้ผ่านกระบวนการประเมินพฤติกรรมอย่างรอบด้านแล้ว

          ประเทศอังกฤษยกเลิกโทษประหารมานานแล้ว ติมอร์ เลสเต้ ก็ยกเลิกแล้ว

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ   ช่วงที่ผมถูกจำคุกไม่เคยมีการประเมินพฤติกรรมเลย แถมถูกตีตรวนตลอดเวลา เนื่องจากนักโทษประหารถือเป็นโทษหนัก จริงๆแล้วผมอาจเห็นต่างว่าระบบการประเมินพฤติกรรม นั้น อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก เพราะกระบวนการต่างๆของบ้านเราอาจไม่ได้มาตรฐานว่าจะนำไปสู่อะไร สู้นำเอาไปปรับปรุงกระบวนการจับกุม การสอบสวนตั้งแต่ในชั้นต้นน้ำจะดีกว่า เพราะเท่าที่ได้พูดคุย กับนักโทษด้วยกันในช่วงที่ถูกจำคุกอยู่ก็มักเจอคนที่บอกว่าไม่ได้ทำผิด แต่ไม่รู้จักทนายความ ไม่มีเงิน ในการต่อสู้คดี แต่ก็มีบางคนที่พยายามยกตัวเองว่าไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ คือขี้โม้เล่าพฤติกรรมตนเอง ในการไปประกอบอาชญากรรม ก็มี

          ส่วนประเด็นเรื่องเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกโทษประหารนั้น เห็นว่าจริงๆแล้วเราไม่ต้อง ยกเลิกก็ได้เพราะในทางปฏิบัติไม่มีการประหารจริง คือไม่ค่อยมีใครถูกประหารจริง พอถึงเวลาก็ได้รับ การอภัยโทษ ลดโทษในวาระนั้นวาระนี้ บางคนอยู่ไม่นานก็ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่เห็นด้วยกับ อ.ธานีที่ว่าการจำคุกตลอดชีวิตนั้นเป็นโทษที่หนักที่สุด ถ้าถูกจำคุกตลอดชีวิตจริงๆ เพราะนักโทษ จะมองไม่เห็นอนาคตว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด ไม่เหมือนการถูกประหารที่พอปิดประตูห้องขัง ในเวลาบ่าย 3 หากถูกเบิกตัวออกไปจากแดนตอน 4 โมงเย็น หรือพอเห็นคอมมานโดเข้ามาในห้อง ก็ทราบชตากรรมตนเองทันที และอีกประการ เราน่าจะไปจัดการที่ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่การจับกุมและสอบสวนเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดตัวจริง มากกว่านำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง กันในศาล อย่างผมดูข่าวหลายวันก่อน ตำรวจจับรถบรรทุกขนยาบ้า แต่บังเอิญคนขับมีกล้องหน้ารถ ก็เห็นพฤติกรรมตำรวจหยิบยามายัดใส่ในรถ พอเรื่องไปถึงศาลก็ยกฟ้อง เพราะเห็นหลักฐานหมด อย่างนี้เป็นต้น เรื่องยาเสพติด ยาบ้านี่ก็ต้องมีโทษเยอะไว้ก่อน จับไว้ก่อน ถ้าคดีนี้เค้าไม่มีกล้อง จะทำอย่างไร ก็คงติดคุกฟรี ซึ่งในคุกที่ผมเคยเจอ หลายคดีก็โดนคดีอื่น แต่พ่วงด้วยยาบ้าเต็มไปหมด แล้วพอจับคนบริสุทธิ์มาติดคุก เช่น คดีเชอรี่แอนด์ เค้าตายในเรือนจำ แล้วมาพิสูจน์ภายหลัง ว่าเป็นแพะ จับผิดตัว เราจะชดเชยเค้าอย่างไร ผมไม่ทราบตอนนี้มีกฎหมายเรื่องนี้หรือเปล่า แต่คดีแบบผมแม้ศาลฎีกายกฟ้อง ก็ไม่มีค่าชดเชยอะไร ผมติดอยู่ในเรือนจำ 4 ปีกว่า ไม่มีรายได้ อะไรเลย แล้วถ้าเป็นคนยากคนจนจะให้ถูกจำคุกฟรี ใช้ได้เหรอ ผมเห็นว่าควรแก้ที่ปัญหาการจับกุม สอบสวนตั้งแต่ต้นน้ำ ดีกว่า

 

ข้อถกเถียงเรื่องความจำเป็นของการมีโทษประหาร

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ ตามรายงานการวิจัยเรื่องเหตุผลที่ควรมีโทษประหารต่อไปของสำนักงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2562 ผลการวิจัยสรุปว่า ผู้ที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า เป็นการลงโทษที่สาสมและสามารถชดเชยความรู้สึกทรมานให้แก่ผู้เสียหายได้ และเป็นเครื่องมือยับยั้ง การกระทำความผิดและสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม นั้น ก็ไม่เชิงทีเดียว เพราะในบ้านเราไม่มี การบังคับใช้โทษประหารมาเป็นเวลานาน เพราะเราไม่ได้ประหารทุกคน โดยมีทางออกหลายอย่าง เช่นนักโทษสามารถทูลเกล้าถวายฎีกาให้ลดโทษลงได้ และอีกประการคือ ไม่มีเครืองมือใดที่บ่งบอก ว่า ใช้โทษประหารแล้วจะมีประสิทธิภาพ บ้านเราไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนว่าคดีแบบไหนจึงสมควร หรือไม่สมควรถูกประหาร ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหาร และควรไปใช้โทษจำคุก ตลอดชีวิตอย่างจริงจังดีกว่า

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์  ขอเสริมที่คุณพัทธ์อิทธิ์เสนอเรื่องต้องแก้ไขที่ต้นน้ำนิดนึงว่า จริงๆแล้วใน ต่างประเทศการจะเอาตัวคนไว้ในอำนาจรัฐ หรือหมายถึงการจะจับกุมใคร การจะออกหมายจับนั้น จะมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายเข้ามากลั่นกรองด้วย ทั้งผู้พิพากษาที่ไม่ใช่ผู้พิจารณาคดีนั้น อัยการ ตำรวจ เพื่อประเมินว่าจะจับใครและผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดตัวจริง ไม่ใช่แพะ ในเยอรมนีคดีเล็กๆก็ให้ตำรวจ สอบสวนเอง แต่ถ้าเป็นคดีใหญ่มีความซับซ้อน อัยการกับตำรวจจะร่วมกันในการค้นหาข้อเท็จจริง หรือทำการสอบสวนร่วมกัน ผู้พิพากษาศาลแขวงก็จะลงมาร่วมสอบสวนด้วย ตั้งแต่ต้นทางเลย ไม่ใช่ ปล่อยให้คดีมาถึงศาลแบบคดีคุณพัทธ์อิทธิ์ ซึ่งมันเสียเวลาและเอาคนบริสุทธิ์มาขังไว้ มันผิดหลักการ ฝรั่งเศสก็ให้ผู้พิพากษาลงมาสอบสวนด้วยเช่นกัน

จริงๆแล้วงานวิจัยต่างๆเรื่องโทษประหารขึ้นอยู่กับการเข้าถึงข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แล้วเราไปทำลายชีวิต ทำลายเหตุ ของธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก หลายๆงานวิจัยก้าวข้ามประเด็น เรื่องควรหรือไม่ควรมีโทษ ประหารไปแล้วเพราะหลายประเทศก็มีการนำโทษประหารกลับมาใช้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในสังคม ดังนั้นการศึกษาอย่างรอบด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม จะเป็นตัวสำคัญที่จะนำมาดูสาเหตุของการกระทำความผิดแล้วไปดูว่าความผิดแบบนี้มีสาเหตุ มาจากปัจจัยเหล่านี้ จึงค่อยมากำหนดเรื่องโทษตามสัดส่วนของการกระทำความผิดที่เชื่อมโยงกับ บริบทแวดล้อมของการกระทำ มิใช่ดูแค่ว่าผิดกฎหมายมาตรานั้นเท่านั้น ครบองค์ประกอบความผิด ฐานนั้นแล้วตามกฎหมาย ประเด็นเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ความสุขในชีวิตต่างๆ ต้องนำมาพิจารณา ประกอบเพราะ ไม่มีใครอยากกระทำความผิด อย่างเช่น ถามว่าคนทำที่ผิดฐานฆ่าคนตายจริง ถ้าไม่ดูบริบทอื่นๆถึงสาเหตุของการกระทำ แล้วรัฐ มีเหตุผลใดจึงออกกฎหมายมาประหาร ผู้ที่ฆ่าคนอื่น ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ขณะเดียวกันปรัชญาของการลงโทษสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจาก เมื่อร้อยปีก่อนแล้ว เดิมใช้ระบบการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือระบบการแก้แค้นทดแทน มาสู่การคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำอย่างไรให้ผู้กระทำผิดปรับตัวให้เข้าไปอยู่ร่วมกับสังคมได้ ทำอย่างไรจึงจะ”แก้ไข” ให้ผู้นั้นไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำเพราะปัญหาความยากจน หรือ ไปทำร้ายผู้อื่นเพราะความโมโห อารมณ์ชั่ววูบ ใจร้อน หรือไปข่มขืนเพราะมีฮอร์โมนผิดปกติ ปรัชญาการลงโทษสมัยใหม่บอกให้รัฐทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นให้กลับมาเป็นพลเมืองปกติให้ได้ ซึ่งเป็นหลักการที่กำลังดำเนินการอยู่ในเยอรมันในขณะนี้ โดยไปบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย โทษทางอาญาหรือการบังคับโทษที่เหมาะสมสำหรับบุคคล จะเปรียบเสมือนเป็น “โรงงานซ่อมมนุษย์” เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอยู่ในสังคมต่อไปได้ รัฐจะไม่มีการตัดคนๆนั้นออกไป จากสังคมดังแต่ก่อนอีกต่อไป แต่ยังคงต้องมีโทษเพื่อให้สังคมอยู่รอดด้วย โดยการใช้โทษจำคุก ตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต

          กรณีที่กฎหมายราชทัณฑ์บัญญัติให้มีการลดชั้นของนักโทษได้นั้น ทำให้มีความเข้าใจผิดว่า จะใช้กรณีนี้กับนักโทษประหารด้วย ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าเมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ต้องเข้าใจ ว่าคือให้อยู่ในเรือนจำตลอดไป จะพักโทษ ลดโทษไม่ได้เลย แต่มีคนไปเข้าใจว่าโทษประหารคือ โทษจำคุกตลอดชีวิต แล้วคิดว่าหมายถึงโทษจำคุก 50 ปี แล้วไปลดโทษให้ตามเกณฑ์ปกติ ซึ่งไม่ใช่ ต้องเข้าใจว่า ผู้ต้องขังที่ได้รับโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิตลงมาเท่านั้น จึงจะได้รับการลดชั้น ตามกฎหมายราชทัณฑ์ ในต่างประเทศนักโทษที่ถูกจำคุกตลอดชีวิต เช่นในสิงคโปร์ หรือเยอรมัน จะมีคณะกรรมการประเมินพฤติกรรมและทางจิตว่ามีการยอมรับคำตัดสินพร้อมที่จะออกไปสู่สังคมได้หรือยัง และจะต้องประเมินด้วยการออกไปทำงานรับใช้สังคมด้วย หรือทำงานให้กับภาคเอกชน ที่มาจ้างให้ผู้ต้องขังทำงาน อาจเป็นงานด้านคอมพิเตอร์ อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ

สมศรี หาญอนันทสุข สสส.ดำเนินการเรื่องการปฏิรูปงานสอบสวนมาหลายปีแล้วเช่นกัน รวมถึงการปฏิรูปตำรวจด้วย คือ การรณรงค์ให้อัยการเข้ามาเป็นหลักในการสอบสวนร่วมกับตำรวจ อันนี้เห็นด้วย

          ประเด็นเรื่องโทษประหารก็เช่นกัน สสส.ผลักดันมาหลายสิบปี จากการศึกษาประเทศ ในอาเซียน ก็พบว่าฟิลิปปินส์ก็ยกเลิกโทษประหารมานานเพราะเป็นประเทศคาทอลิก แต่พอมาในยุค ประธานาธิบดีดูแตเต้ ที่วิสามัญคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเยอะมากเป็นหมื่นๆ คน คนฟิลิปปินส์ ก็เรียกร้องให้นำโทษประหารกลับมา แต่ศาสนาเค้าเข้มแข็งก็ยังไม่เปลี่ยน ในกัมพูชายกเลิกโทษ ประหารมานานแล้ว คนกัมพูชาไม่ทราบว่าไทยยังมีโทษประหาร และไม่อยากนำกลับมาใช้ เพราะเหตุว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตก็ทรมานมากพอแล้ว ติมอร์ เลสเตก็ยกเลิกแล้ว ให้ใช้โทษจำคุก ตลอดชีวิตแทน หรือ EU จะกำหนดเลยว่าประเทศใดจะเข้าเป็นสมาชิกต้องยกเลิกโทษประหาร จะเห็นว่าประเทศที่กระบวนการยุติธรรมและศาสนาเข้มแข็งจะไม่มีโทษประหาร แต่ถ้ากระบวน การยุติธรรมอ่อนแอ และไม่เคร่งครัดทางด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ก็จะมีการใช้โทษประหารอยู่

          ในประเทศไทยเป็นตัวอย่างซึ่งดิฉันทำวิทยานิพนธ์เรื่องโทษประหาร กลับพบว่าพระสงฆ์ไทย สนับสนุนให้ใช้โทษประหาร เนื่องจากตีความศีลห้าข้อที่หนึ่งไม่ได้ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพียงแต่ให้ ละเว้น และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็มาจากคนธรรมดา ประเทศเราก็อ่อนแอด้านการปฏิบัติศาสนา ซึ่งถ้าศาสนาอ่อนและกระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ก็อาจมีปัญหายังเห็นว่าควรใช้โทษประหารอยู่ ถ้าไม่มีก็จะมีอาชญากรมากขึ้น จริงๆแล้วถ้ายึดถือตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้อภัย ต่อองคุลีมาลแล้วจะเห็นว่า หลักธรรมของพุทธศาสนาที่ให้มีเมตตา ให้อภัยคนทำผิด น่าจะทำให้คนที่ถือหรือเชื่อมั่นหลักธรรมนี้มีความเคร่งครัดต่อการละเว้นต่อชีวิต แต่กลับไม่ใช่

โดยส่วนตัวคนที่เป็นนักโทษ และทำผิดจริงๆ ก็ควรทำการศึกษาวิจัยหรือไม่ว่าควรให้คนเหล่านี้ ทำงานบางอย่างตามศักยภาพของคนๆนั้นได้ เช่นมีความรู้เรื่องไฟฟ้า ก็ควรให้เค้าแก้ปัญหา ระบบไฟในเรือนจำ หรืองานแบบอื่นๆตามที่ถนัด ไม่ใช่ให้ติดคุกอยู่แล้วฝึกงานที่ใช้ประโยชน์ในชีวิต ไม่ได้ หรือเอาไปประหาร คนภายอกก็ไม่ควรไปชี้นิ้วประณามคนที่อยู่ในคุก ควรพัฒนาศักยภาพ คนเหล่านี้ให้ออกมาอยู่ร่วมกับคนภายนอกได้ ถ้าเขาพร้อมก็ควรปล่อยเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่า สภาพสังคมเรามีสิ่งเร้าทั้งจากสื่อมวลชน โซเชียลมีเดีย เป็นจำนวนมากที่ทำให้คนกระทำผิด แต่ควรให้โอกาสพวกเค้าออกมาอยู่ในสังคมได้ด้วย

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ การที่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำโดยที่เราไม่สมควรไปอยู่ตรงนั้น อยู่ในนั้น 4 ปี 1 เดือน 12 วัน โดยไม่ได้อะไรเลย จนเกิดสั่งสมความคับแค้นต่อระบบความยุติธรรมในบ้านเรา อยากทำร้ายคนที่ทำให้เราต้องมาอยู่ในจุดนี้ แต่เมื่อมาเจอพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ ท่านสอนให้เราคลายปมตรงนี้จนคิดได้ว่าความคั่งแค้นเกิดจากในใจเรา ต้องชำระที่ใจของเราไม่ใช่ ไประบายใส่คนอื่น ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ผมเคยคิดจะแก้แค้นคนที่จับกุมเรา ผู้พิพากษา ที่ตัดสินประหารเรา ก็เข้าใจว่ามันทำไม่ได้ จึงเริ่มปฏิบัติธรรมและศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ความคั่งแค้นต่างๆ ได้คลายปม ลง จนก่อตั้งสถานภาวนาบ้านธรรมทาน จนกระทั่งนัดตีกอล์ฟกับนายตำรวจ และผู้พิพากษาที่ทำคดี เราได้อย่างไม่มีความแค้นใดๆ ผมได้ศึกษาจนเข้าใจความคิดและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างถ่องแท้ และการตั้งบ้านธรรมทานก็ได้ช่วยเหลือหลายๆคนให้กลับมาสู่หลักธรรมซึ่งอาจเป็น ทางอ้อมที่ทำให้คนไม่หันไปประกอบอาชญากรรม หรือหากคิดที่จะกระทำผิดยับยั้งชั่งใจ อยู่กับ ความเป็นจริงของชีวิต คนที่มาที่บ้านธรรมทานมีหลายประเภท ทั้งนักธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ คนทั่วไป มาฝึกปฏิบัติธรรมจนเรียนรู้ธรรมะ และอาจพูดได้ว่าการเข้าถึงธรรมะจะช่วยให้ไม่มีใคร ต้องถูกประหารชีวิตก็เป็นได้

ข้อเสนอ/บทสรุป โทษประหารแก้อาชญากรรมได้หรือไม่

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์  ไม่ได้แน่นอนครับ เราควรเปลี่ยนโทษประหารเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต เราไม่ควรประกาศว่าจะยกเลิกโทษประหาร คนทั่วไปจะต่อต้าน แต่จากการทำงานวิจัย พบว่า การให้การจำคุกตลอดชีวิตจริงๆ เป็นโทษที่ปฏิบัติจริงให้สังคมเห็น ให้สังคมเชื่อมั่นว่านักโทษจะ ถูกขังไว้จนตาย คนทั่วไปจะเปลี่ยนความคิดไปเอง ไม่งั้นจะถกเถียงกันไม่รู้จบว่าถ้าเลิกโทษประหาร จะมีอาชญากรเต็มบ้านเต็มเมือง หรือการประหารคือการฆ่าผิดศีล โหดร้าย ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

          สำหรับเมืองไทยนั้นการปรับแก้เรื่องโทษให้หลากหลายเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรทำให้โทษ เป็นกรณีที่ศาลสามารถใช้ดุลพินิจได้ จะดีกว่าให้ลงโทษเท่านั้นเท่านี้เลย

          ส่วนที่ว่าการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารแล้วผู้นั้นไม่ได้รับสิทธิในการลดโทษ

หรืออภัยโทษนั้น จะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่นั้น เห็นว่ากรณีนี้ไม่ถือว่าผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ได้รับการเลือกปฏิบัติจากนักโทษในคดีอื่น ๆ เพราะ ในคดีอื่นๆการรับโทษมีกำหนดโทษชัดเจนว่า ได้รับโทษ กี่ปี กี่เดือน เป็นที่แน่นอนจึงสามารถได้รับการลดโทษหรืออภัยโทษได้ แต่โทษจำคุก ตลอดชีวิต คือตลอดชีวิตของผู้รับโทษ ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะอยู่ได้นานกี่ปีกี่เดือน

สมศรี หาญอนันทสุข การที่จะแก้ไขให้มีการใช้โทษอื่นๆเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้น เช่น การบริการ สังคม ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ในคดีอุกฉกรรจ์นั้นควรให้จำคุกตลอดชีวิต โดยมีการประเมินพฤติกรรมของ ผู้ต้องโทษเป็นระยะ เหมือนที่ประเทศในยุโรปกำลังดำเนินการอยู่ และให้นำวิธีการชลอการประหารไว้ ไม่ประหารทันทีก็เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปในระหว่างที่ยังไม่มีการยกเลิกโทษประหาร

          อีกประการคือการลงโทษต้องได้สัดส่วนกับการกระทำผิดนั้น ควรนำมาพิจารณาแก้ปัญหา ด้วยในการพิจารณาพิพากษาทุกคดี ไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติด หรือการป้องกันตัวกรณีที่ภรรยา ทนสามีทุบตีหรือซ้อมไม่ไหว ก็แทงสามีเพียงครั้งเดียวแต่บังเอิญไปถูกจุดทำคัญเสียชีวิต คดีเหล่านี้ หากจะลงโทษหรือกำหนดโทษต้องพิจารณาสัดส่วนของการกระทำด้วย

          สุดท้ายควรมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้ผู้ที่ต้องคดีอุจฉกรรจ์ เช่น โทษประหารแล้วต่อ มาศาลพิพากษายกฟ้อง ต้องได้รับการเยียวยาจากรัฐอย่างเหมาะสม เพราะถือว่ารัฐมีความบกพร่องที่ นำคนไม่ผิดหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอจับกุมคุมขังตั้งแต่ต้น และตลอดกระบวนการก็ไม่สามารถพิสูจน์ ความผิดได้ จนกระทั่งศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย เช่น กรณีของคุณพัทอิทธ์ รัฐต้องเยียวยาอย่างเป็นธรรมด้วย

 

—————————–

[1] สมศรี หาญอนันทสุข คนไทยกับวันยุติโทษประหารชีวิตสากล  อ้างในเว็บไซด์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  https://www.amnesty.or.th/latest/blog/828

[2]  มาตรา 227  ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

[3] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 18  โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด มีดังนี้

(1) ประหารชีวิต

(2) จำคุก

(3) กักขัง

(4) ปรับ

(5) ริบทรัพย์สิน

โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอด ชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี