รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 5”

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2563

เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

 

ผู้เข้าร่วมเสวนา

1. ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ ฝ่ายบริหาร

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์

2. ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

3. สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

 

 

ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของต่างประเทศ

          ประเทศเยอรมนี องค์กรตำรวจในเยอรมนีเป็นระบบที่ดีมาก ในภาคทฤษฎี โรงเรียนตำรวจนอกจากสอน วิชากฎหมายแบบที่เรียนที่สอนกันในคณะนิติศาสตร์แล้ว ผู้เรียนจะได้รับความรู้ด้านสังคมวิทยาด้วย มีการทดสอบ ทัศนคติผู้จะเป็นตำรวจก่อนการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย ตำรวจเยอรมนีเป็นมิตรและเป็นที่รักใคร่ของประชาชน จะถาม เส้นทางก็อธิบายอย่างดี ช่วยเหลือเด็ก คุยกับทุกคนที่เข้ามาหา ระบบการค้นหาข้อเท็จจริงและสอบสวน คืออัยการ ไม่ใช่ตำรวจ ตำรวจจะเป็นผู้ช่วยเหลือในการหาข้อเท็จจริงร่วมกับอัยการ และมีกฎหมายรองรับ ตำรวจเป็นแขนขา ของอัยการ ยกเว้นบางคดีการสอบสวนจะตกไปอยู่ที่หน่วยงานนั้น เช่น ภาษี ศุลกากร แต่คดีความผิดจราจร ไม่ใช่ คดีอาญา ใครทำผิดกฎจราจรก็แค่ผิดระเบียบเรียบร้อยในสังคมเท่านั้น

           เนื่องจากเยอรมนีแบ่งการปกครองออกเป็น 16 รัฐ  และขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารในรัฐนั้นๆ  โดยประชาชน สามารถร้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่ชอบต่อผู้บังคับบัญชาได้ หากตำรวจทำผิดทางอาญาก็เข้าสู่กระบวนการสอบสวน เป็นคดีอาญา การทำงานของตำรวจเยอรมันจะแบ่งเป็นแผนกอย่างชัดเจน แผนกหนึ่งจะเป็นแค่การตอบคำถาม ของประชาชนที่มาขอคำปรึกษา อีกแผนกหนึ่งก็ทำหน้าที่ด้านการจราจร การสอบสวนอาชญากรรมจะอยู่อีก แผนกหนึ่ง

          โครงสร้างองค์กรตำรวจเยอรมัน เป็นแบบกระจายอำนาจให้รัฐทั้ง 16 รัฐ รับผิดชอบบริหารจัดการงาน ตำรวจภายในอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยของแต่ละรัฐ แต่มิได้กระจายอำนาจลงไปถึงระดับเมืองหรือหน่วย การปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับเล็กลงไป แต่ละรัฐมีกฎหมายตำรวจของตนเอง ระบบตำรวจเยอรมันจึงเป็นการ กระจายอำนาจที่มีระดับการกระจายอำนาจอยู่ตรงกลางระหว่างระบบแบบรวมศูนย์ กับการกระจายอำนาจออกเป็น ส่วนๆ ให้ตำรวจไปขึ้นกับหน่วยปกครองท้องถิ่นระดับเล็กสุดแบบสหรัฐอเมริกา

          ระดับสหพันธรัฐ (Federal State) มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 2 หน่วย คือ

          1) ตำรวจสหพันธรัฐ (Federal State) มีอำนาจหน้าที่เช่น ป้องกันชายแดน ตำรวจรถไฟ รักษาความ ปลอดภัยทางเรือและอากาศยาน อาชญากรรมองค์กรและการก่อการร้าย

          2) สำนักงานตำรวจทางอาญา หรือมีชื่อย่อในภาษาเยอรมัน BKA เป็นหน่วยสืบสวนสอบสวนกลาง มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างสหพันธรัฐ และ 16 รัฐ ในการสืบสวนสอบสวนคดี ปราบปรามคดีสำคัญๆ

          ระบบการสอบสวนของเยอรมันไม่มีปัญหาเกี่ยงงานกันระหว่างตำรวจกับอัยการเพราะอัยการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ตำรวจเป็นผู้ช่วย จึงไม่มีปัญหาว่าทุกคนงานยุ่ง ไม่อยากลงไปตรวจที่เกิดเหตุ หรือไม่มี ปัญหาว่าอัยการจะมาคุมตำรวจได้ยังไงไม่ไว้ใจตำรวจหรือ ไม่มีปัญหานี้  เยอรมันจะมีแนวปฏิบัติว่าคดีเล็กๆน้อยๆ ตำรวจสามารถสอบสวนเองได้ไม่ต้องแจ้งอัยการ แต่เมื่อครบ 10 สัปดาห์เมื่อไรต้องส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ เพื่อสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง โดยคดีเล็กๆ หมายถึงคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี คดีปานกลางหมายถึงคดีที่มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี อีกเหตุผลหนึ่งที่อัยการต้องทำหน้าที่รับผิดชอบการสอบสวนคดีอาญาก็คือ เพราะอัยการทำหน้าที่ กึ่งตุลาการ หมายความว่า อัยการมีอำนาจสั่งคดีได้โดยอิสระไม่ต้องอยู่ภายใต้อาณัติของใคร ต่างจากตำรวจที่มีระบบ การบังคับบัญชาหลายชั้นที่พนักงานสอบสวนไม่มีอิสระในการสอบสวน มีพรรคพวกแวดล้อมมากมาย จึงอาจได้รับ อิทธิพลต่างๆจากสิ่งรอบข้างไม่มากก็น้อย อีกทั้งต้องรับอาณัติจากผู้กำกับโรงพักหรือผู้กำกับการระดับภาค หรือส่วนกลางอีกชั้นหนึ่ง จึงไม่ค่อยเป็นอิสระ

          องค์กรอัยการของเยอรมัน ขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ผู้จะเป็นอัยการต้องเรียนกฎหมายเป็นเวลา 6 ปี แล้วจึงจะมีสิทธิเข้าสอบ การสอบอัยการเป็นการสอบระดับรัฐมี 2 ครั้ง ต้องผ่านทั้งสองครั้ง หากผ่านแค่ครั้งเดียว ก็มีสิทธิเป็นแค่ทนายความ เมื่อสอบผ่านรอบแรก ต้องไปฝึกงานอีก 4 สถานี ได้แก่ ฝึกงานกับตำรวจ อัยการ ศาล และให้เลือกอิสระอีกหนึ่งสถานี ซึ่งอาจไปฝึกงานอีก 3  เดือนกับสถานทูต เอ็นจีโอ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือ EU ก่อนมาสอบระดับรัฐครั้งที่สอง เมื่อผ่านแล้วจึงมีสิทธิสมัครเข้าทำงานกับศาลที่มีตำแหน่งว่าง จึงจะสามารถ เป็นอัยการได้

อัยการเยอรมันมีจำนวน 5,000 – 6,000 คน ตำรวจมีจำนวน 320,000 คน ผู้พิพากษามี ประมาณ 20,000 คน ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกับบ้านเรา แต่ประชากรเยอรมันมีมากกว่าเราประมาณ 20 ล้านคน สิ่งที่อัยการ เยอรมัน ทำหน้าที่แตกต่างจากอัยการของเราก็คือ อัยการเยอรมันนอกจากมีหน้าที่สอบสวนและสั่งฟ้องคดีแล้ว ยังมี ภารกิจด้านการบังคับโทษด้วย หมายความว่าอัยการจะเป็นผู้เสนอต่อศาลว่าคดีนี้ควรลงโทษจำเลย อย่างไร จะมีข้อเสนอตามเหตุบรรเทาโทษอย่างไร ซึ่งศาลมักพิพากษาตามข้อเสนอบังคับโทษของอัยการ

          หน้าที่ในการสั่งฟ้องคดีนั้น มีกฎหมายบัญญัติว่าถ้ามีข้อเท็จริงตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อัยการต้อง สั่งฟ้องทุกกรณี ไม่ฟ้องไม่ได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักความเสมอภาคต่อหน้าศาล เพราะในคดีที่มีฐานความผิด เดียวกันตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ต้องฟ้องทุกเรื่อง แต่ระบบของไทยอัยการสั่งฟ้องคดีตามหลักการใช้ดุลพินิจ ที่หากอัยการพิจารณาว่าฟ้องคดีต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมก็ไม่ฟ้องได้ แต่ระบบของเยอรมันจะไม่มีคดีรกศาล

เพราะหากจะฟ้องทุกคดีตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แปลว่าอัยการและตำรวจมีหลักฐานที่เพียงพอที่จะทำให้ศาล ลงโทษจำเลยได้ จึงไม่มีคดีคั่งค้าง

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ ปัญหาขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมไทย

          องค์กรตำรวจ เดิมที่ตำรวจของไทยและอัยการขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นเวลามีปัญหา การสอบสวน อัยการก็สั่งให้ตำรวจดำเนินการเพิ่มเติมได้ง่าย เพราะอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกระทรวง มหาดไทยแล้วแต่กรณี แต่พอมีการแยกแต่ละหน่วยงานเป็นอิสระต่อกัน จึงทำให้การสอบสวนต่างคนต่างทำ ตำรวจ สอบสวนเสร็จก็ส่งให้อัยการใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งฟัองหรือไม่ กลายเป็นกระบวนการแยกเป็นส่วนๆ ไม่เชื่อมโยงกัน แทนที่ในระดับสากลกระบวนการสอบสวนและฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวที่อัยการรับผิดชอบการสอบสวน อย่างที่ อ.กรรภิรมย์ อธิบายระบบแบบเยอรมัน คือตำรวจเป็นแขนขาในการหาข้อเท็จจริงร่วมกับอัยการทุกขั้นตอน เพราะฉะนั้นในระบบแบบสากลจะไม่ค่อยมีการจับผิดตัว เพราะอัยการและตำรวจพิจารณาสำนวนร่วมกันตั้งแต่ต้น หาหลักฐานด้วยกัน ตรวจที่เกิดเหตุด้วยกัน รับทราบข้อเท็จจริงร่วมกัน จึงไม่มีปัญหา และคดีดำเนินการได้รวดเร็ว ด้วย เพราะศาลก็จะพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้รับการกลั่นกรองมาแล้วสองชั้น คือ ตำรวจกับอัยการ เมื่อมาถึงศาล ก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน

          ประเด็นต่อมาคือ หากจะถามว่าควรมีพระราชบัญญัติตำรวจหรือไม่ ก็ควรมี ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไร กำหนดไว้ในกฎหมายต้องมาพิจารณาร่วมกันเพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการบริหารภายในองค์กร ที่สำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติการสอบสวนต่างหาก เพราะกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเรามีบทบัญญัติ ไม่กี่มาตราที่มีปัญหาในเรื่องการสอบสวน ต้องไปแก้ไขวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ต้องจัดทำเป็นกฎหมายฉบับใหม่

          องค์กรตำรวจของไทยมีบุคลากรประมาณ 200,000 คน จึงใช้งบประมาณด้านบุคลากรมาก ควรลด งบประมาณลงและไปเพิ่มเรื่องประสิทธิภาพในการสอบสวน จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันตำรวจใช้งบประมาณในการ สอบสวนมาก เอาคนมาขังไว้ก่อนเป็นเวลานานซึ่งเปลืองงบประมาณมาก กระบวนการยุติธรรมไม่ควรราคาแพง แต่ควรไปดูแลเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีของผู้ต้องหา ผู้เสียหาย เมื่อสอบสวนเสร็จส่งให้อัยการในเวลาจำกัด อัยการ ไม่มีโอกาสได้สอบสวน ผู้ต้องหาเลย บางคดีไปเจอกันในศาลด้วยซ้ำ ดังนั้นควรปรับปรุงระบบการสอบสวน ให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน ซึ่งจริงๆแล้วการบอกว่าให้อัยการรับผิดชอบการสอบสวน ไม่ได้หมายความ ว่าอัยการจะลงไปสอบทุกคดี แต่มีการกระจายไปยังตำรวจที่มีอำนาจ แต่อัยการต้องเข้ามาตรวจสอบการออกหมาย อาญาเพื่อให้มีความรัดกุม รอบคอบว่าจะไม่จับผิดตัว และทำให้คดีรวดเร็ว บิดเบือนคดีได้น้อยลง เพราะบ้านเรา มีปัญหาความล่าช้าที่เสียเวลาไปกับการส่งกันไป-มา ระหว่างตำรวจกับอัยการ หากจะสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องให้ผบ.ตร. หรืออัยการสูงสุดเป็นผู้สั่ง ซึ่งใช้เวลานานมาก หากเป็นกรณีที่อัยการเข้ามาสอบสวนแต่ต้น จะทำให้ทราบได้ว่า ผู้ต้องหาคนนี้คววรถูกฟ้องต่อศาลหรือไม่ การคุมขังไว้ระหว่างสอบสวนก็อาจไม่จำเป็น จะไม่เกิดกรณีถูกขังฟรี ระหว่างสอบสวนและพิจารณา ซึ่งระบบอัยการเป็นผู้สอบสวนคดี ก็มีทั้งในยุโรปเช่นอังกฤษ หรือในเอเชีย เช่นญี่ปุ่น ก็ใช้ระบบเช่นนี้

          องค์กรอัยการ ปัญหาของระบบอัยการบ้านเรา คือ ไม่มีสำนวนการสอบสวนส่งไปพร้อมคำฟ้อง บางคดี ศาลต้องร้องขอจากอัยการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำเลยไม่ค่อยได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรม ประการต่อมาไม่มีการนำเข้าสู่คดีเพื่อให้ศาลเห็นภาพของข้อเท็จจริง และพฤติการณ์แห่งคดีที่เราเรียกว่า แถลงการณ์เปิดคดี และเมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว ไม่ค่อยมีการสรุปว่าข้อกล่าวหานั้น เป็นไปตามที่ได้เรียบเรียงมา ให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามพยานหลักฐานที่อัยการเสนอต่อศาล เพื่อสรุปให้ศาลเห็นว่าควรพิพากษา ลงโทษจำเลย ที่เรียกว่าแถลงการณ์ปิดคดี กระบวนการนี้บ้านเราไม่ค่อยทำกัน แม้จะมีบทบัญญัติรับรองไว้ ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประเด็นนี้เป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งในกระบวนการ ยุติธรรมของไทย เพราะศาลจะ ไม่เห็นเบื้องหลังการได้ข้อมูลที่อยู่ในสำนวนว่าหลักฐานในสำนวนได้มาอย่างไร แต่มักมีการบอกกันว่าให้ฟ้องไปก่อน ผิดถูกไปว่ากันในศาล ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกจับ หรือประชาชน

          ประเด็นต่อมาในชั้นศาล เมื่อมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งแม้ในกฎหมาย จะเขียนว่าคำพิพากษาให้เผยแพร่สาธารณะก็ตาม และแม้จะมี 2 องค์กรที่นำคำพิพากษาไปเผยแพร่ คือ เนติบัณฑิต และสำนักส่งเสริมงานตุลากร แต่ก็เป็นการคัดเลือกบางคำพิพากษาที่น่าสนใจไปเผยแพร่

          องค์กรศาล อยากเห็นการปรับปรุงในเรืjองการใช้กฎหมายของศาลอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น ศาลต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องด้วย คือกฎหมายเขียนไว้แต่เพียงว่าศาล จะไต่สวนมูลฟ้องก็ได้[1] ซึ่งทำให้มีการเลี่ยงไม่ใช่กฎหมายมาตรานี้ เพราะ การไต่สวนมูลฟ้องเป็นกระบวนการ ตรวจสอบของศาลว่าเรื่องที่นำมาสู่ศาลนั้นได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบฐานความผิดที่ฟ้องโดยไม่มีข้อพิรุธอันเป็นที่ประจักษ์ชัดก็ฟังได้ว่าความผิดฐานนั้นมีมูล ส่วนข้อเท็จจริงที่ได้ความจะเป็นความจริงหรือไม่เป็นข้อที่จะต้อง พิสูจน์กันอีกชั้นหนึ่งในชั้นพิจารณา คือหากเราอยากให้กระบวนการจับกุมสอบสวน และฟ้องร้องเป็นกระบวนการ เดียวกัน ต้องให้ศาลทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องที่นำมาสู่ศาลด้วยว่ามีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสมควรนำไปสู่ การพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธื์ในชั้นพิจารณาคดีหรือไม่  หรือในกฎหมายบัญญัติให้ศาลมีหน้าที่ค้นหา ความจริงด้วย ดังนั้นในทางหลักการศาลต้องมีหน้าที่ถามพยานให้ได้ความจริงด้วย แต่รายงานวิขัยหลายชิ้นของไทย ศาลไทยไม่กล้าสอบถามหรือไต่สวนพยานเพราะเกรงว่าาจะเป็นการไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรมเพราะไปเข้าข้าง ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตรงนี้ต้องแก้ไขกฎหมาย ทำให้ศาลไทยยังไปไม่ถึงขั้นนี้

          อีกกรณีหนึ่งคือต้องปฏิรูปให้ศาลอุทธรณ์สามารถไต่สวน เรียกพยานมาสอบถามเพื่อให้ข้อเท็จจริงยุติ ในชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกาศาลพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมาย

          สมศรี หาญอนันทสุข ขอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ตามพรบ.ตำรวจฉบับใหม่ จะมีการโอนภารกิจของตำรวจ 3-4 หน่วย ให้ไปขึ้นกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจ จราจรบางส่วน งานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เดิมที สสส.และองค์กรเครือข่ายได้เสนอให้มีการ โอนย้ายหน่วยงานที่ตำรวจต้องรับผิดชอบในงานสอบสวน จำนวน 11 หน่วย ไปให้หน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับ ไปดำเนินการ เช่น ศุลกากร สรรพสามิต งานอนุญาต อนุมัติ ต่างๆ งานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งถ้าทำได้ ตามข้อเสนอของ สสส.และเครือข่าย จะเป็นประโยชน์มากขึ้นเป็นการแบ่งเบาภาระของ สตช. เพราะงานบางส่วน สามารถกระจายไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ลดภารกิจและบุคลากรที่มีจำนวนมากมายเกินความจำเป็นและเป็นภาระของงบประมาณแผ่นดินด้วย แต่เห็นด้วย ในการแบ่งส่วนราชการตามร่างพรบ.ตำรวจแห่งชาติ ตามสายงานใหม่เป็น 5 กลุ่มคือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสาย งานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพ เฉพาะ ให้เจริญก้าวหน้าในสายงานตัวเอง เห็นด้วยที่ให้มีกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ข้าราชการตำรวจ เพื่อให้ตำรวจที่ถูกกลั่นแกล้งจากผู้บังคับบัญชาได้มีที่พึ่ง เห็นด้วยที่กำหนดให้มีกองทุนเพื่อการ สืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา โดยอาจใช้งบประมาณในการจัดซื้อ เครื่องบันทึกวิดีทัศน์ในการสอบสวน หรือจัดให้มีพนักงานสอบสวนสตรี สำหรับการสอบสวนคดีที่สตรีที่เป็น ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา นอกจากนี้อาจใช้เงินจากกองทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในงานสอบสวน เช่นเครื่อง คอมพิวเตอร์พกพา อาวุธปืนพกประจำกายสำหรับฝ่ายปราบปราม ฯลฯ แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ ร่างฯนี้ไม่พูดถึง การสอบสวนต้องเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพที่ให้อัยการเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามระบบสากล เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่แพง ไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชน ไม่เกิดความ เหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม หากสามารถปรับปรุงร่างฯนี้ได้ก็เสนอให้มีการดำเนินการ ให้อัยการเข้ามาสอบสวนในคดีตั้งแต่ต้น ซึ่งไม่ใช่ทุกกคดีก็ได้ โดยเริ่มจากคดีที่มีโทษตั้งแต่  5 ปี หรือ 10 ปี ขึ้นไป ก็ได้ เพื่อลดปัญหา ความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับอัยการ

 

บทบาทภาคประชาสังคมกับการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์

การมีส่วนร่วมของประชาชนอาจพิจารณาจากที่มาของอัยการอาจต้องมีการปฏิรูปโดยเรียนรู้จากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อัยการมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องหมายความว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนด ตำรวจอเมริกา ก็มาจากการเลือกตั้งโดย ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้พิพากษาแม้จะมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว ก็ต้องได้รับการผ่าน การโหวตโดยมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนซึ่งทำให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมใกล้ชิดหรือยึดโยงกับประชาชน ประชาชนร้องเรียน หรือถอดถอนได้

          นอกจากนี้เราอาจต้องพิจรณานำระบบลูกขุนมาใช้ในคดีอาญาหรือไม่ เพราะลูกชุน ก็คือประชาชน ในชุมชนที่สมัครกันมาเข้าคิวเพื่อรอการคัดเลือกให้ทำหน้าที่โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง

          ระบบที่เราใช้กันอยู่และดีแล้ว คือ การมีผู้พิพากษาสมทบในคดีแรงงานและครอบครัว แต่อาจต้อง พิจารณาที่มาให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งระบบผู้พิพากษาสมทบมีหลายประเทศ ดำเนินการอยู่และมีประสิทธิภาพมาก เช่น ญี่ปุ่น มีระบบ Saiban-in[2] ในระบบการพิจารณาคดี

ตามกฎหมายลูกขุน The Lay Assessor Act 2004 ได้กำหนดองค์คณะของศาล Saiban-in ไว้สองรูปแบบคือ รูปแบบเต็มองค์คณะซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษา 3 คนและกำหนดจำนวนลูกขุนไว้ 6 คน รวมเป็นองค์คณะของศาล Saiban-in ทั้งหมด 9 คน

ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งเป็นรูปแบบที่มีองค์คณะผู้พิพากษาและจำนวนลูกขุนที่มีจำนวนน้อยกว่า ประกอบด้วย ผู้พิพากษา 1 คนและลูกขุนจำนวน 4 คนซึ่งจะใช้ในกรณีที่ข้อเท็จจริงที่เข้ามาในชั้น พิจารณาคดีนั้นมาจาก พยานหลักฐานที่รวบรวมได้ในชั้นก่อนพิจารณามีความน่าเชื่อถือมากและแทบ ไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายถึงคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพนั่นเอง

การคัดเลือกลูกขุนและการกำหนดคุณสมบัติของลูกขุนหลักการคัดเลือกลูกขุนมาทำหน้าที่พิจารณาคดี ในศาลนั้นอยู่ที่การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาทำหน้าที่ลูกขุนได้ เพราะการพิจารณาปัญหา ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องสามัญสำนึกของคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องอาศัย นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญข้อกฎหมาย ดังนั้นในการคัดเลือกลูกขุน จึงใช้วิธีสุ่มจากผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามแต่ละเขตพื้นที่ เพราะเป็นฐาน การเลือกจากประชาชนที่กว้างไม่ตัดโอกาสบุคคลทั่วไป ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ลูกขุน และอาจมีการกำหนดคุณสมบัติบางประการเพื่อความเหมาะสม ในการปฏิบัติหน้าที่

          ผศ.ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน ในเยอรมันไม่มีระบบการเลือกตั้งผู้พิพากษาและอัยการเหมือนในสหรัฐ การมีส่วนร่วมของ ประชาชนในกระบวนการยุติธรรมมี 2 แบบ คือ การร้องเรียนฝ่ายบริหาร แบบที่เราคุ้นเคย คือร้องเรียนต่อ ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้น ซึ่งระบบของเยอรมันมีประสิทธิภาพมาก ตรงไปตรงมา ไม่มีการไว้หน้ากัน หรือเห็นแก่ใคร และคณะกรรมการที่ทำการสอบสวนเรื่องร้องเรียนก็ไม่มีภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม เพราะเยอรมันเชื่อมั่นและใช้ระบบตรวจสอบแบบนี้มาอย่างยาวนานแล้ว อีกกรณีหนึ่งคือ การฟ้องคดีได้เองของผู้เสียหาย ซึ่งระบบนี้กฎหมายไทยนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

          แต่เยอรมันมีระบบผู้พิพากษาสมทบที่ไม่ใช่ลูกขุน โดยชุมชนเป็นผู้คัดเลือกคนในชุมชน ให้ศาลนั้น เป็นผู้แต่งตั้ง ศาลจะมีรายชื่อผู้พิพากษาสมทบที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด แล้วจับฉลากว่าใครควรจะไปอยู่ใน องค์คณะใด โดยผู้พิากษาสมทบอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ระบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถนั่งบนบัลลังก์ในศาลพร้อมกับผู้พิพากษาอาชีพ โดยใช้อัตราส่วน 2 : 1 หมายความว่า ในคดีใดที่มี องค์คณะผู้พิพากษา 2 คน จะมีผู้พิพากษาสมทบ 1 คน คดีไหนมีผู้พิพากษา 4 คน จะมีผู้พิพากษาสมทบ 2 คน ซึ่งใช้ระบบนี้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น โดยผู้พิพากษาสมทบ มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาทั้งข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงด้วย มีประเด็นเดียวที่ผู้พิพากษาสมทบทำไม่ได้ คือ การประทับรับฟ้อง ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

          นอกจากนี้ในเยอรมันยังมีระบบที่ให้ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อศาล กรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ตน เป็นผู้เสียหาย ถ้าศาลเห็นด้วยก็จะสั่งให้อัยการสั่งฟ้อง โดยต้องเปลี่ยนตัวพนักงานอัยการที่รับผิดชอบคดีใหม่

          ในเยอรมันนั้นการดำเนินคดีอาญาต้องกระทำโดยเปิดเผยอย่างเคร่งครัด เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบ ได้ ดังนั้นประชาชนคนไหนจะเข้าฟังการพิจารณาคดีย่อมเข้าได้ทุกคดี

สมศรี หาญอนันทสุข

          ประเด็นที่อยากเสนอให้พิจารณา คือ องค์กรอัยการควรเปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปีที่อัยการสูงสุด ต้องไปชี้แจงต่อรัฐสภา โดยเฉพาะคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในคดีอาญาที่ต้องเผยแพร่เหตุผลต่างๆที่นำมาใช้ในการ มีคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ดังกรณีคดีลูกกระทิงแดงที่ผ่านมา อัยการมาแถลงต่อ สาธารณะว่าจะไม่ฟ้องคดีนี้ต่อไป จึงเกิดกระแสต่อต้านจากสังคม ซึ่งหากดำเนินการเผยแพร่คำสั่งมาแต่แรก จะทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างรวดเร็วจากสังคม และทำให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นการตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

          ส่วนการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปศาลนั้นอาจต้องพิจารณาที่มาให้ยึดโยงกับประชาชนบ้าง นอกจากมี ความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินดคีแล้ว ผู้พิพากษาควรมีความรับรู้ต่อคดีบางประเภทในการพิพากษา ลงโทษบุคคลที่เป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมไม่ให้ครอบครัวต้องได้รับความเดือดร้อน เช่น ถ้าจำคุกกรณีผู้หญิงถูกจับ เพราะยาเสพติดพร้อมสามีแล้วลูกจะอยู่กับใคร เป็นต้น

          นอกจากนี้มีข้อเสนอให้ผู้จะมาเป็นผู้พิพากษาต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี เพื่อให้มีประสบการณ์ ในชีวิตมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

          การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมนั้น ต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้กระบวนการยุติธรรม ของไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับระดับสากล กรณีคดีนายบอสเป็นตัวอย่างของการตรวจสอบของภาคประชาชน และสังคมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง และอาจไม่จำเป็นต้องรับฟังบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเอง เพราะอาจมีการ ปกป้องสถานะและยังไม่พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามนับเป็นเรื่องที่ดีที่มีการเรียกร้องให้บุคลากร ในกระบวนการยุติธรรมมีการเสียสละและเข้าใจถึงระบบความยุติธรรมที่เหมาะสมในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างเสนอหน้ากันในปัจจุบันเพื่อการปฏิรูปให้ดีขึ้นในอนาคต

[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๒  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

               (๑) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (๒)

               (๒) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

               ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

[2] ระบบศาล Saiban-in ของประเทศญี่ปุ่นกับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้แก่ศาลยุติธรรมไทย, ธีรทัย  เจริญวงศ์,เอกสารวิชาการการศึกษาอบรมหลักสูตร“กฎหมายแพ่งและกระบวนวิธีพิจารณา : ศึกษาเปรียบเทียบระบบ กฎหมายญี่ปุ่น” สิงหาคม – กันยายน๒๕๖๐ ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการและมหาวิทยาลัยริทซึเมคัง เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น สืบค้นจาก : chrome-extension://oemmndcbldboiebfnladdacbdfmadadm/https://oia.coj.go.th/th/file/get/file/20190131e095805edbd12030af2ba2c8662a6582104416.pdf