รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 3” วันที่ สิงหาคม 2563

หัวข้อ คดีทายาทกระทิงแดง : จะปฏิรูปตำรวจและอัยการอย่างไร

 

ผู้เข้าร่วมเสวนา

1.ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดี  ศาลแขวงสุพรรณบุรี

  1. 2. นายนิกร วีสเพ็ญ ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  2. 3. ดร.อุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์

กรณีทายาทกระทิงแดง : ปัญหาเรื่องระบบการค้นการความจริงในคดีอาญา

          นายนิกร วีสเพ็ญ  ในหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น การสอบสวน หมายถึง การรวบรวมพยานหลักฐานทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้ต้องหา เพื่อนำมาประกอบเป็นสำนวน ก่อนเสนอต่ออัยการว่าสมควรฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ซึ่งในกรณีทายาทกระทิงแดงนี้มีปัญหาของพยาน หลักฐานสำคัญหลายประการที่ยังเป็นที่เคลือบแคลงอยู่มาก เช่น เรื่องความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหา ขับขี่ในขณะเกิดเหตุว่ามีความเร็วเท่าใดแน่ ในครั้งแรกมีผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาให้ความเห็นต่อ พนักงานสอบสวนว่า ความเร็วขณะขับขี่ คือ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่พนักงานสอบสวน นำข้อมูลของพยานผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งมาใช้เป็นหลักฐานในสำนวนว่าผู้ต้องหาขับรถด้วยความเร็ว เพียง  77-78 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงประเด็นว่าใครคือผู้เชี่ยวชาญ อยู่ที่ดุลพินิจว่าจะเลือกคนนั้น ไม่เอาคนนี้ หรือผู้เชี่ยวชาญต้องมีใบอนุญาตที่ไม่ขาดอายุความด้วยหรือไม่ด้วย ซึ่งหากผู้เชี่ยวชาญ มีใบอนุญาตแต่ขาดอยุความ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญคนนั้นจะยังรับฟังหรือใช้ประกอบสำนวน ได้หรือไม่ด้วย อันนี้ยังมีประเด็นทางกฎหมายอยู่ เป็นต้น หลักฐานบางอย่างมีแค่เอกสารแผ่นเดียว อาจถูกนำเข้าหรือออกจากสำนวนการสอบสวนก็ได้ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดสิ่งที่ประชาชนเรียกว่า สำนวนอ่อน สำนวนแข็ง ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่การสอบสวนของพนักงานสอบสวนยังทำให้ สังคมเกิดความสงสัย  อย่างไรก็ตาม ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ระบบการสอบสวนที่ พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อสอบเสร็จแล้วจึงส่งมาให้พนักงานอัยการ ซึ่งในคดีนี้ทำให้พนักงานอัยการแถลงข่าวเมื่อ วานนี้ว่า ตำรวจส่งสำนวนที่มีหลักฐานแค่ไหน อัยการก็สั่งคดีไปตามหลักฐานที่ตำรวจส่งมาให้ จุดนี้เองที่ทำให้การสอบสวนในคดีใหญ่ๆ มีปัญหา เพราะพนักงานอัยการ ไม่เห็นข้อเท็จจริงมาแต่ต้น พนักงานสอบสวนจะใส่ข้อเท็จจริงอย่างไรมาแล้ว ส่งให้อัยการก็ได้ ที่ผ่านมามีปัญหาเพราะตำรวจ และอัยการใช้ดุลพินิจในการสอบสวน จะรวบรวม หลักฐานอย่างไร อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่อยู่ที่ ดุลพินิจซึ่งไม่ถูกต้อง ที่จริงควรเป็นการสอบสวน ที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล คานอำนาจซึ่งกันและกัน ดังนั้น สสส.จึงมีข้อเสนอให้พนักงานอัยการ เข้ามาสอบสวนตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุอาญาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะได้มีเวลาหาพยานหลักฐาน ไปพร้อมๆ พนักงานสอบสวน และทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งน่าจะทำให้ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

ระบบการค้นหาความจริงของไทย

ดร.อุดม รัฐอมฤต ก่อนอื่นผมคงไม่ขอไปหาคำตอบที่หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงกระบวนการสอบสวน ในคดีนี้ว่าทำไมมีการตั้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหา แล้วภายหลังบอกว่าคดีฟ้องไม่ทันขาดอายุความ แล้วมาดำเนินการสั่งฟ้องเพียงข้อหาเดียวว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย นำมาสู่คำถามว่ากรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาเกี่ยวข้อตรวจสอบได้อย่างไร จนกระทั่ง มีคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการเพราะมีพยานหลักฐานใหม่ แต่ผมขอเสนอประเด็นว่ากระบวนการ หาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของเรามีปัญหาอย่างไร จึงไม่สิ้นกระแสความ ตั้งแต่การรวบรวมพยาน หลักฐานในชั้นตำรวจและระบบการสั่งคดีของพนักงานอัยการ

          เราต้องเข้าใจว่าระบบของบ้านเราในกระบวนการยุติธรรมนั้น สามารถกระทำโดยรัฐ คือ ให้ตำรวจสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการ อัยการส่งฟ้องศาล และระบบให้ผู้เสียหายดำเนินการฟ้องคดี ด้วยตนเอง ซึ่งกระบวนการให้ผู้เสียหายดำเนินคดีเองคงทำได้ยาก เพราะในคดีที่ซับซ้อนแบบคดีนี้การ แสวงหาพยานหลักฐานโดยผู้เสียหายค่อนข้างยากทำได้ยากหรือทำเองไม่ได้เลย จึงต้องให้รัฐเป็น ผู้ดำเนินการให้ ระบบการดำเนินคดีต่างๆในโลกนี้มีสองระบบ คือระบบให้ศาลลงมาหาข้อเท็จจริง แบบเปาบุ้นจิ้น และระบบที่ให้ตำรวจและอัยการเข้ามาคุมทิศทางของคดี แต่บ้านเราใช้ระบบให้ ตำรวจสอบสวนหรือริเริ่มคดีแล้วอัยการเป็นคนรับสำนวนจากตำรวจมาดำเนินการว่าจะสั่งฟ้องตาม นั้นหรือไม่ ซึ่งนอกจากคดีใหญ่ๆ อัยการอาจมีการสั่งให้สอบสวนพิ่มเติมหรือลงมาหาข้อเท็จจริง ด้วยตนเอง หรือกรณีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม อัยการก็จะเข้ามาตรวจดูพยานหลักฐาน ในสำนวนอย่างละเอียด ซึ่งเมื่อมาตรวจดูจะพบว่าระบบแบบที่ดำเนินการอยู่นี้ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะตำรวจก็สอบสวนไปตามรูปคดี อัยการก็รับสำนวนมาสั่งฟ้องตามรูปคดีที่ตำรวจรวบรวมมา ในสำนวน แต่หากคดีใหญ่มีความซับซ้อน หรือเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีการร้องเรียน ขอความเป็นธรรม สื่อมวลชนสนใจ ปัญหาของคดีแบบนี้ขอสรุปว่า มาจากการดำเนินคดีที่แยกส่วน ต่างคนต่างทำระหว่างตำรวจและอัยการ เช่นในคดีทายาทกระทิงแดงนี้เราจึงเห็นว่าที่อัยการ แถลงว่าตำรวจทำสำนวนมาอย่างไร อัยการก็ต้องพิจารณาหลักฐานตามสำนวนที่ตำรวจเสนอมา นี่คือปัญหาที่เป็นอยู่

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ปัญหาแบบที่ต่างคนต่างทำนี้ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นในคดีนี้เท่านั้น เมื่อหลายวันก่อน คดีบ่อนพระราม 3 พยานหลักฐานต่างๆ ในคดี โต๊ะ เครื่องมือในการพนัน กล้องวงจรปิด ถูกถอดออก จากที่เกิดเหตุ โจรธรรมดาทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะกล้องเป็นหลักฐานสำคัญในคดี คนที่จะทำแบบนี้ได้ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปถึงที่เกิดเหตุก่อนแล้วจัดการทำลายหลักฐานเสียเอง เรากำลังอยู่ในสังคม ที่เจ้าหน้าที่รัฐทำลายพยานหลักฐาน ถ้าตำรวจสอบสวนโดยไม่มีหลักฐานอะไรเลย หายไปหมด อัยการจะสั่งสอบอะไรหละครับ จะเอาผิดใครได้ ผมถามว่าถ้าคดีบ่อนนั่นมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง อัยการ เข้ามาถึงที่เกิดเหตุทันที หลักฐานไม่มีทางหาย และขอเรียนด้วยว่าปัญหา การค้นหาความจริงไม่ใช่เป็นปัญหาตัวบุคคล หรือเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สุจริต  แต่เป็นที่ระบบ ที่เราต้องให้มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาถึงที่เกิดเหตุในขั้นต้นเลย หากจะถามว่าแล้วจะให้ปฏิรูป อัยการอย่างไรนั้นก็คือ การอบรมให้อัยการมีสำนึกของการค้นหาความจริง ในที่เกิดเหตุทันที เพื่อความเป็นธรรม

ระบบการสอบสวนเพื่อถ่วงดุลระหว่างตำรวจกับอัยการ

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ประเด็นที่ต้องพิจารณากันต่อไปคือ เรื่องการพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งในต่างประเทศ ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเป็นอิสระขึ้นกับท้องถิ่น แต่ในระบบของไทยตำรวจพิสูจน์หลักฐานอยู่ภายใต้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ผู้กำกับการตำรวจท้องที่หรือท้องถิ่นสามารถสั่งให้พิสูจน์หลักฐาน หาหลักฐานอย่างไรก็ได้ ไม่เป็นอิสระ ตรงนี้เองต้องมีการถ่วงดุลโดยต้องแยกให้กองพิสูจน์หลักฐาน ของตำรวจเป็นอิสระ ผู้กำกับโรงพักไม่สามารถสั่งการชี้ซ้ายชี้ขวาให้หาหลักฐานตามใจได้ ประการต่อมา คือต้องมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายสามารถเข้ามาถึงที่เกิดเหตุได้ทันที อาจจะเป็น ฝ่ายปกครอง หรืออัยการ และกองพิสูจน์หลักฐาน พร้อมตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เพื่อร่วมกัน เก็บหลักฐานอย่างผู้เชี่ยวชาญแล้วนำส่งให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสำนวน ซึ่งการจะ ดำเนินการเช่นนี้ได้ ต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 มาตรา คือ เมื่อมีเหตุ อาชญากรรมเกิดขึ้นในท้องที่ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของท้องที่แจ้งไปยังพนักงานฝ่ายปกครอง และอัยการในพื้นที่ให้เข้ามาตรวจสถานที่เกิดเหตุทันที และอีกมาตราหนึ่ง คือ ให้พนักงานอัยการ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง ในทางปฏิบัติอาจมีหลายฝ่ายโต้แย้งว่า คดีอาญามีมากมาย เป็นคดีเล็กคดีน้อย เกี่ยวข้องกับการจับกุม การควบคุมตัวผู้ถูกจับ การฝากขัง ทำไมต้องแจ้งให้อัยการ เข้าไปถึงที่เกิดเหตุทันทีและเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน อัยการจะทำหน้าที่ฝากขังได้อย่างไร เป็นการเพิ่มภาระให้พนักงานอัยการ ฯลฯ ซึ่งข้อโต้แย้งเหล่านี้มีหลักการว่าคดีที่จะให้อัยการ เป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงนั้น หมายถึง คดีที่อัยการสามารถพิจารณาได้เองว่า จะเข้ามาสอบสวนคดีใดหรือไม่ ไม่ใช่เข้ามาทุกคดี หรือไม่จำเป็นต้องสอบสวนพยานทุกปาก ในคดีเล็กๆน้อยๆ อัยการก็ปล่อยให้ตำรวจดำเนินการตามปกติเองได้ เพียงแต่แจ้งให้อัยการทราบ โดยต้องไม่ลืมว่า แม้เป็นคดีเล็กคดีน้อยที่ตำรวจทำเองได้ก็จริง ต้องถือว่าทุกคดีเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ ร่วมกันในการค้นหาความจริงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่ถ้าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ คดีที่มี ความร้ายแรง หรือเป็นคดีที่มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรม หรือผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาเห็นว่า ตำรวจไม่ดำเนินการสอบสวนพยานต่างๆตามที่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาเสนอแล้วร้องขอ ความเป็นธรรม อัยการจึงจะเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนเพื่อดำเนินการหาพยานหลักฐานเอง สอบพยานทุกปากเอง หาพยานผู้เชี่ยวชาญเองจนกว่าจะมีความน่าเชื่อถือ ฯลฯ เช่นคดีทายาท กระทิงแดง หรือคดีบ่อนพระราม 3 แล้วการให้อัยการมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงนั้น ก็ไม่ได้ตัดอำนาจ การสอบสวนของตำรวจ นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างจากการสอบสวน ตามกฎหมายเด็กและเยาวชน หรือคดีเกี่ยวกับเพศที่เกิดกับเด็กหรือเยาวชนที่เป็นการบังคับ ให้อัยการต้องอยู่สอบสวนต่อหน้าเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ซึ่งในทางปฏิบัติหลายฝ่ายอาจมองว่ามีความยุ่งยากต้องรอทุกฝ่ายมาพร้อมกันจึงสอบสวนได้

นายนิกร วีสเพ็ญ เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้อัยการและพนักงานหลายฝ่ายเข้ามาถึงที่เกิดเหตุ และร่วมกันคเนหาพยานหลักฐาน เพื่อให้เกิดการดุลอำนาจระหว่างหน่วยงาน เพราะเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย จะเห็นพยานหลักฐานพร้อมกันหมด ประเด็นต่อมาเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย เรื่อง ให้อัยการ มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงนั้น มีความเห็นเพิ่มเติม คือ ในเมื่อปัจจุบันการสอบสวน ต่างคนต่างทำเป็นท่อนๆ คล้ายไส้กรอก จึงขอเสนอให้ใช้คำว่า ให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบ กำกับดูแลพนักงานสอบสวนในคดีอาญาทั้งปวง เพื่อให้อัยการสามารถเข้ามาในคดีได้แต่ต้นทาง เมื่อเกิดเหตุจนกระทั่งหาพยานหลักฐานต่างๆได้ ซึ่งจะเป็นดุลอำนาจที่แท้จริง

การรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญและระยะเวลาของการสอบสวน

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ในต่างประเทศเช่น อังกฤษและอเมริกา มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายเลยว่า พยานผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ ถ้าเป็นคดีฆาตกรรมต้องมีแพทย์นิติเวช เข้ามาชันสูตรพลิกศพ ถ้าถูกวางยาหรือได้รับสารพิษ ต้องส่งให้นักเคมี อาจารย์ผู้สอนวิชาเคมี ในมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ด้านพิษวิทยา ถ้าเป็นกรณีอย่างทายาทกระทิงแดง ต้องไปหานักฟิสิกส์ สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมาคำนวณความเร็วของรถ คือ เมื่อตั้งต้นว่ามีเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เข้ามาสอบสวนในคดีแล้วมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงมีการจับกุม เพราะฉะนั้นการสอบสวนและสั่งฟ้องของพนักงานอัยการในต่างประเทศจะมีความรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้หาหลักฐานนานถึง 5-6 ปี แล้วจึงส่งสำนวนมาถึงอัยการ ซึ่งหลักฐานต่างๆก็สูญหาย ไปหมดแล้ว หรือ แม้สงสัยในผลการวิเคระห์ของพยานผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่สามารถบอกให้สอบเพิ่มเติมได้

          ขอเพิ่มเติมอีกประเด็น คือ การที่มักมีการพูดว่า คดีนี้ประชาชนมีสิทธิฟ้องเอง เช่นคดีทายาท กระทิงแดงนี้ ผมถามว่าประชาชนจะมีอำนาจอะไรไปหาข้อเท็จจริงที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ มันต้องเป็นหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายในการ่วมการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่ออำนวย ความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ดร.อุดม รัฐอมฤต โดยปกติการรวบรวมพยานหลักฐานต้องจัดทำโดยคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นๆ พยานหลักฐานใดที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหรือมีความเฉพาะ ซับซ้อนทางวิชาการก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ด้านนั้น ในคดีทายาทกระทิงแดงนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องอยู่แล้วที่ไปนำอาจารย์ ที่ให้ความเห็นเรื่องความเร็วรถ เพราะผู้เชี่ยวชาญต้องมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ แต่ประเด็น ผู้เชี่ยวชาญไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญกว่าความเป็นอิสระของการหาข้อเท็จจริง เพราะเจ้าหน้าที่ ตำรวจในคดีนี้ไม่มีอิสระในการหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไปหาใครมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ อยู่ดีๆก็มีพยานที่รู้เห็น เหตุการณ์เข้ามาในสำนวนได้อย่างไร เหตุเกิดไปแล้วตั้ง 5-6 ปี หรือทำไมไม่ตรวจหาสิ่งเสพติด ในร่างกายตั้งแต่ต้น แล้วปล่อยให้หนีไปต่างประเทศได้อย่างไร เหล่านี้เป็นความไม่ปกติของการหา ข้อเท็จจริง ทั้งตำรวจและอัยการ ทำอย่างไรไม่ให้มีการสั่งมาจากผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้

การร้องเรียนขอความเป็นธรรม

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง การร้องเรียนต่ออัยการเพื่อขอความเป็นธรรมนั้น เป็นเรื่องที่อัยการมีระเบียบ ออกมาเพื่อให้มีการรับฟังพยานหลักฐานโดยรอบด้านและรอบคอบในการสั่งคดี เพราะเนื่องจาก สำนวนที่มาถึงอัยการเป็นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ตำรวจหามาได้ แต่ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา อาจมีความเห็นว่า หลักฐานที่มีอยู่ในสำนวนนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ ของตน หรือไม่ใช่หลักฐานสำคัญเพียงพอ จึงนำเสนอพยานหลักฐานอื่นๆที่ผู้ร้องเรียนเห็นว่าสำคัญ มาให้อัยการช่วยตรวจสอบหรือนำเข้ามาในสำนวน ซึ่งอัยการมีหน้าที่พิจารณาดูว่าพยานหลักฐาน ที่เสนอมาในคำร้องเรียนเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่ ผู้ร้องเรียนอาจร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งก็ได้ แต่อัยการจะกลั่นกรองเองว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องดำเนินการสอบสวนพยานตามที่ ผู้ร้องเรียนเสนอทุกครั้ง เนื่องจากอาจกลายเป็นการประวิงคดีเพื่อให้ระยะเวลาของคดีล่าช้า อัยการก็จะไม่สอบเพิ่ม

จะปฏิรูประบบการสอบสวนชั้นตำรวจและอัยการอย่างไร

ดร.อุดม รัฐอมฤต ในฐานะมี่เป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย เห็นว่าควรมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียน การสอนให้มีภาคปฏิบัติมากขึ้น เพราะความจริงการเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นการสอนเชิงทฤษฎี มากกว่า ทำให้นำไปปฏิบัติได้ยากหรือมีข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่เรียนมา แต่ต้องไม่ลืมว่า การปฏิบัติดีอย่างไรก็ต้องไม่ใช่ให้เกิดการกระทำอย่างที่เคยทำมาในอดีต ไม่มีการยืดหยุ่น กลายเป็นอคติในวิชาชีพ เป็นเรื่องน่ากังวลไปอีกแบบ

          สำหรับการปฏิรูปตำรวจนั้น ตามที่มีข้อเสนอจากหลายภาคส่วนให้มีการปรับปรุงโรงเรียน นายร้อยตำรวจให้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบใหม่ สอนเรื่องระบบการสอบสวนแบบมืออาชีพ เข้าใจว่าขณะนี้มีการปรับปรุง ไปมากแล้ว และยังไม่คิดว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหาทำให้ระบบ การสอบสวนของตำรวจไม่โปร่งใส ไม่เป็นมืออาชีพ ผมเป็นห่วงเรื่องระบบการขึ้นสู่ตำแหน่ง การบังคับบัญชาแบบระบบอุปถัมภ์มากกว่าที่เป็นปัญหา คุณจะขึ้นตำแหน่งสูงอยู่ที่นายเห็นชอบ หรือต้องเอาใจนาย ใครขัดนายก็ไม่ได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ระบบอุปถัมภ์และความไม่เป็น อิสระเช่นนี้ เป็นที่มาของความไม่โปร่งใสในการสอบสวน ในคดีทายาทกระทิงแดงความเกรงใจ ผู้มีอำนาจ เช่น เป็นนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หรือคนมีเงิน  การสร้างวัฒนธรรมแบบนี้น่ากลัวกว่า

นอกจากนี้ขอให้ช่วยกันติดตามร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว อยู่ในชั้นการพิขารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันให้เป็นกฎหมายต่อไปนั้น มีสาระสำคัญที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ คือ ให้อัยการเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม และคดีที่อุกฉกรรจ์ แม้ถ้อยคำอาจไม่ตรงตามที่อัยการน้ำแท้เสนอ แต่ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการกฏิรูปงานสอบสวนต่อไป

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง นส่วนของอัยการระบบการรับบุคคลากร ระบบการพัฒนาบุคล และระบบ การพิจารณาความดีความชอบ จะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความเป็นอิสระ เคยมีข้อเสนอว่าให้รับผู้จะเป็นอัยการเริ่มต้นที่อายุ 35 ปี ขึ้นไป เพื่อให้มีประสบการณ์ทางปฏิบัติ มาก่อน ในชั้นผู้พิพากษาก็เช่นกัน เคยมีข้อเสนอให้ผู้พิพากษามีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังไม่มีการ เปลี่ยนแปลง เพราะมีบางท่านโต้แย้งว่า กว่าจะสอบเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาได้อายุก็จะเกือบ 35 ปีเข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปกำหนดเกณฑ์เรื่องอายุกันอีกเลย เรื่องนี้เลยเงียบหายไป

          ส่วนเรื่องความเป็นอิสระของอัยการนั้น ขอเรียนว่าในการสั่งคดีของอัยการจะต้อง เป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ ซึ่งจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องต้องมีเหตุผลตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่มีการสั่งด้วยวาจาทำให้ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ตลอดเวลา จึงถือว่ามีความโปร่งใสมาก ในระบบของต่างประเทศ จะไม่ค่อยเห็นว่ามีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะเนื่องจากเมื่อเกิดเหตุตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครองไปถึง ที่เกิดเหตุพร้อมกัน เมื่อตำรวจหาหลักฐานมาถึงอัยการ อัยการเห็นแล้วว่า มีข้อเท็จจริงอะไร ขาดหายไป ก็สั่งให้ตำรวจไปหาเพิ่มเติม ผู้ว่าการรัฐเห็นว่ามีหลักฐานอื่น อาจตกหล่นอีก ก็สั่งตำรวจให้หาเพิ่มเติม ระบบแบบนี้จึงไม่มีทางที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง เพราะตนเอง เป็นผู้หาข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น และคดีแต่ละคดีมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาร่วมกันหาข้อเท็จจริง จนอัยการมั่นใจว่าคดีนี้ได้ตัวผู้กระทำผิดตัวจริง มีหลักฐาน พยานที่ได้มาครบถ้วนจากทุกฝ่ายที่ เมื่อฟ้องไปแล้วจะทำให้ผู้พิพากษา ลงโทษ อัยการจึงสั่งให้ตำรวจจับจำเลย ซึ่งตำรวจก็จะนำ ความเห็นของอัยการไปขอหมายจับจากศาล เมื่อศาลออกหมายจับผู้ต้องหา อัยการจึงสั่งฟ้องทันที คดีก็ดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว จะไม่มี การที่ตำรวจจับผู้ต้องหามาเอง ขังไว้เอง แจ้งข้อหาเองแล้วมา หาหลักฐานทีหลังแบบที่ประเทศไทยทำอยู่ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ตำรวจจับ แจ้งข้อหา ขังไว้ก่อนทุกขั้นตอนแบบนี้

ความเห็นจากผู้ชม ตามที่มีข้อเสนอว่าให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวนร่วมกับตำรวจนั้น จะเป็นการให้คนถือปืนกับคนถือกฎหมายร่วมกันใช้อำนาจค้นหาความจริง ไม่เท่ากับเป็นการ ยิ่งบิดเบือนให้มีการใช้อำนาจเกิดขึ้นจนยากที่ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรม หรือไม่

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง จริงๆแล้วประชาชนอาจเกรงกลัวไปได้ตามที่สอบถามมา ความจริงถ้าระบบ การสอบสวนมีการเปลี่ยนแปลงไปให้มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามารับทราบข้อเท็จจริงแต่ต้น มันจะเป็นระบบที่ยากที่จะมีใครกล้าทุจริตหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ต้องกลัวว่าเจ้าหน้าที่ไม่ดี จะทำให้ข้อเท็จจริงผิดไปจากความเป็นจริง เพราะใครจะกล้าบิดข้อเท็จจริง เนื่องจกาทุกคนเห็น ข้อเท็จจริงพร้อมกัน ผมว่าเราอย่ากลัวที่จะทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน คดีทายาทกระทิงแดงนี้ เห็นได้ชัดว่า ถ้าอัยการเข้ามาในคดีแต่ต้น สำนวนคดีจะไม่ใช่แบบนี้ จะเป็นเหมือนที่เราคุยกันมา ตั้งแต่ต้นครับ