แถลงการณ์

เรียกร้องเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในการจัดจ้างรับสมัครบุคคลเข้าทำงาน

 

          ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จากความคิดเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนฝ่ายต่างๆที่เป็นผลสืบ เนื่องจากการรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จนปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก พร้อมกับข้อเรียกร้องอื่นๆ ดังที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

          เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การแบ่งแยกของคนในสังคมกันอย่างชัดเจน และมีผลกระทบไปถึงการกระทำที่ละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ รวมถึงการเลือกปฏิบัติด้วยนั้น ทางสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีความวิตกกังวลว่าสถานการณ์ด้านสิทธิด้านแรงงานจะได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากมีข้อมูลข่าวสารว่า นายจ้างบางคนได้เลิกการจ้างงานลูกจ้างหรือผู้ใต้บังคับบัญชา และมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยเหตุผลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง สถานประกอบการเอกชนบางแห่งเริ่มมีการออกเอกสารใบรับสมัครงาน โดยขอข้อมูลการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ส่วนบุคคลของผู้ที่สมัครงาน  ขณะที่สถานประกอบการบางแห่งให้ผู้สมัครงานกรอกข้อมูลทัศนคติทางสังคม การเมือง มีการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ทำการตรวจสอบข้อมูลการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของบุคคลที่จะรับเข้ามาทำงาน โดยมีทัศนคติที่เป็นลบต่อบุคคลผู้สมัครงานที่แสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตน

          ทั้งนี้ สสส. เห็นว่าแนวนโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์ดังที่กล่าวมานี้ จะเข้าข่ายการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural RightsICESCR)  หลักการทั่วไปและแนวทางปฏิบัติการเพื่อการจัดหางานที่เป็นธรรม (General principles and operational guidelines for fair recruitment)  และรวมถึงขัดต่อหลักการชี้นำของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ด้วยเป็นการนำเหตุแห่งความแตกต่างทางด้านทัศนคติทางการเมืองมาทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการที่ระบุถึงการจ้างงานไว้ทั้งปวง

          ความกังวลดังกล่าวทำให้ สสส. ต้องออกมาเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

          1)  รัฐบาลควรมีมาตรการชัดเจนเพื่อยับยั้งสถานประกอบการทั่วประเทศที่เลิกจ้างงาน หรือมีข้อกำหนดกีดกันให้คนที่เห็นต่างทางการเมืองไม่สามารถสมัครงานได้ การนิ่งเฉยที่ผ่านมาอาจจะทำให้เข้าใจได้ว่ารัฐบาลเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

          2) กระทรวงแรงงาน จะต้องเปิดรับข้อร้องเรียนจากประชาชนเรื่องสถานประกอบการที่ละเมิดรุกล้ำข้อมูลและทัศนคติส่วนบุคคลของผู้สมัครงาน และมีมาตรการในการควบคุมไม่ให้สถานประกอบการต่างๆกระทำการใดๆ ที่ละเมิดต่อเสรีภาพทางความคิดเห็น สิทธิทางการเมืองของแรงงานและผู้สมัครเข้าทำงาน

           3)  รัฐสภา ควรดำเนินการอย่างจริงจัง ที่จะให้มีกฎหมายรองรับสิทธิทางการเมืองของแรงงาน และรวมไปถึงให้มีการคุ้มครองทางกฎหมายแก่ลูกจ้าง ไม่ให้ถูกนายจ้างก้าวล่วงความเป็นส่วนบุคคลบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง

          สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เชื่อมั่นว่า หากรัฐสามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ นอกจากจะส่งผลให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในสายตาประชาคมโลกดีขึ้นแล้ว  ยังจะเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุนิยม อันจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลเองอีกด้วย

 

ด้วยความเชื่อมั่นหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

10  พฤศจิกายน 2563