แถลงการณ์
ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสภาต้องหาทางออกให้ประเทศ
ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้อำนาจเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และมีการจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวน 22 คน ทั้งที่แกนนำได้ประกาศจะยุติการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับในเวลาหกนาฬิกา นั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) เห็นว่า
- การชุมนุมและการเดินขบวนของคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการถกเถียงกันอย่างอารยะ อันเป็นการแสดงออกตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย
- การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยอ้างว่า “มีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน” แต่โดยข้อเท็จจริงการชุมนุมของคณะราษฎร2563 เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ หากมีผู้ชุมนุมมีการกระทำผิดกฎหมายใดก็ควรใช้กฎหมายปกติเอาผิดกับผู้กระทำผิดนั้นๆ ได้อยู่แล้ว นอกจากนี้การชุมนุมซึ่งเป็นเหตุการณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการภาวะฉุกเฉินตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ต้องเกิดภัยคุกคาม “ความอยู่รอดของชาติ” ซึ่งต้องเป็นสถานการณ์เกี่ยวข้องกับคนทั้งชาติ และการดำเนินชีวิตของประชาชนถูกคุกคาม และต้องเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถใช้มาตรการปกติดำเนินการควบคุมสถานการณ์ได้ อีกทั้งไม่เป็นไปตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพราะการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ไม่ได้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลแต่ประการใดและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีแต่ประการใด
- การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ดังเช่น การห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน ห้ามเสนอข่าวของหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ห้ามใช้เส้นทาง หรือยานพาหนะ ห้ามใช้ เข้าไปหรืออยู่ในอาคาร อีกทั้งเป็นการให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบของสถาบันตุลาการ เช่น การจับกุมและควบคุมตัว การสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว การสั่งยึดหรือ อายัดอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารหรือการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การสั่งห้ามไม่ให้บุคคลกระทำหรือให้ทำการใดๆ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
- นายกรัฐมนตรีต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติมีการใช้กฎหมายปกติ
- สถาบันรัฐสภาต้องมีบทบาทในการหาทางออกให้ประเทศ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยสันติ โดยให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วน
- สถาบันตุลาการต้องตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใดๆ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์และการชุมนุมโดยชอบธรรม ดังกรณี การพิจารณาอนุญาตให้ออกหมายจับ หรือการพิจารณาการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันตุลาการเป็นสถาบันสำคัญในการหาทางออกให้ประเทศตามกรอบอำนาจหน้าที่
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
16 ตุลาคม 2563