รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 4”

วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๓

หัวข้อ เสรีภาพในการชุมนุมกับประชาธิปไตย

ผู้เข้าร่วมเสวนา

1.ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว

อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

    1. นายไพโรจน์ พลเพชร

ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

3.นางสาววรรณนิษฐา ธีรโชตินวนันท์

นิสิตภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมที่ผ่านมามีชุมนุมของนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนหลายครั้ง ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และต่อมารัฐบาลได้ใช้กฎหมายอาญา เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ทำแถลงการณ์ รวมทั้ง จดหมายเปิดผนึกถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติ การใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นการใช้เสรีภาพเรียกร้องโดยสงบ หน้าสถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย กรณีที่ไปทวงถามให้รัฐบาลกัมพูชาติดตามสอบสวนกรณีมีชายฉกรรจ์อุ้ม นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นรถตู้ขับหายไป จดหมายเปิดผนึกขอให้สภาทนายความยกคำกล่าวหา ของนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรณีขอให้ลบชื่อนายอานนท์ นำภา ออกจากทะเบียนทนายความ จดหมาย เปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เรียกร้องให้ศาล ใช้ดุลพินิจโดยอิสระในการ กลั่นกรองหลักฐานที่ใช้ในการขอออกหมายจับของตำรวจ และควรใช้ ดุลพินิจไต่สวนเหตุที่จะออก หมายจับ ตามที่บัญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจรณาความอาญา เป็นต้น ดังนั้น สสส.เสวนาทัศนะ ในวันนี้ จึงขอนำเสนอในหัวข้อ “เสรีภาพในการชุมนุมกับประชาธิปไตย”

อย่างไรคือเสรีภาพในการชุมนุม อย่างไร ที่เรียกว่าประชาธิปไตย

วรรณนิษฐา ธีรโชตินวนันท์ การชุมนุมเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ต้องกระทำตามกฎหมาย โดยไม่ลิดรอนสิทธิผู้อื่น ซึ่งรัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อย เช่น ไม่เข้า ไปอยู่ในที่ชุมนุมเพื่อเป็นการคุกคามผู้ชุมนุม ไม่ติดตามผู้ชุมนุมถึงบ้านภายหลังการชุมนุม เป็นต้น ซึ่งส่วนตัวไปร่วมชุมนุมที่จุฬา ฯ โดยยังไม่เคยเจอการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจแต่ ได้ยินข่าว การคุกคามเกิดขึ้นกับนักเรียน นักศึกษาในต่างจังหวัด  และเพื่อนเล่าให้ฟังว่าหลังจากการชุมนุม ในมหาวิทยาลัยเสร็จแล้วเดินออกมานอกรั้วจะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเยอะมาก รู้สึกว่ามาทำไมกัน เยอะแยะ ทำให้รู้สึกว่านี่คือ การคุกคาม การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีเฉพาะนักเรียน หรือเยาวชน มีคนทำงาน คนที่เคยเข้าร่วมชุมนุมในอดีต กลุ่มสมัชชาคนจน แต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาจะออกมา เรียกร้องมากมายนั้น อยากให้มองว่าคนเหล่านี้กำลังออกมาเรียกร้องหา อนาคตของพวกเขา ถ้าไม่สู้ ตอนนี้ก็จะต้องอยู่ต่อไปแบบนี้ และขอให้มองว่าการชุมนุมของนักเรียน ไม่ได้อันตรายเลย เช่นม็อบแฮม ทาโร่ มีการร้องเพลง มีการผู้โบว์ขาวที่ผมหรือกระเป๋า ทั้งๆที่เมื่อก่อน เป็นกฎด้วยซ้ำว่าห้ามนักเรียน ผูกโบว์สีอื่นนอกจากสีขาวหรือดำ ห้ามสีฉูดฉาด แต่ไม่เข้าใจว่าพอ นักเรียนนำโบว์ขาวมาผูกเป็น สัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ ทำไมจึงถูกห้าม เพราะนี่คือการทำตามระเบียบ ทำให้สงสัยว่าใครเป็น ผู้กำหนดว่าห้ามนั่น ห้ามนี่ จะยกเลิกเมื่อไรก็ได้อย่างนั้นหรือ ซึ่งไม่น่าถูกต้อง

ประเด็นต่อมาการที่เด็กและเยาวชนออกมาเรียกร้องนั้น ไม่ใช่การไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่เชื่อฟัง พ่อแม่หรือครู แต่เป็นเพราะการแสดงออกนั้นเด็กเพิ่งตระหนักว่าการแสดงความเห็น หรือการชุมนุม เป็นสิทธิของเราอยู่แล้ว แต่ถูกกดไว้โดยผู้ใหญ่ที่เคยชินกับการใช้อำนาจไม่ยอมให้เด็กแสดงออก ตามสิทธิ เสรีภาพที่มีอยู่ของพวกเขา ในโรงเรียนเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าครูมีอำนาจจะทำอะไร จะออกคำสั่ง อย่างไรให้เด็กต้องทำตามก็ได้ แสดงถึงการใช้อำนาจนิยมไม่ใช่ด้วยเหตุด้วยผล เช่น มีเหตุผลอะไรทำไม นักเรียนต้องเข้าแถวกลางแดด แต่ครูอยู่ในตึกที่ร่ม หรือห้ามนักเรียนใส่รองเท้า ขึ้นตึก แต่ครูใส่ได้ หรือทำไมนักเรียนต้องทานอาหารในโรงอาหาร แต่ครูทานในห้องพักครู ในสถาบัน ครอบครัวก็เช่นกัน ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถหาเหตุผลมาโต้แย้งได้ ก็บอกว่าอย่ามาเถียงนี่พ่อนะ นี่แม่นะ คือ ในสังคมที่เด็ก พบเจอล้วนแต่มีแต่ความไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องการใช้อำนาจฝ่ายเดียว ซึ่งอาจเป็น เพราะในสังคมยุคเก่า ผู้ใหญ่ในยุคนั้นไม่ชอบโต้แย้ง แต่จะประนีประนอม เวลาโต้เถียงกันก็ยอมๆกันไป แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว เด็กต้องออกมาพูดความในใจที่ต้องได้รับผลกระทบจากการไม่มีเหตุผลของผู้ใหญ่ เพื่อให้ทราบว่า เด็กต้องการอนาคตที่รับฟังเขาไม่ต้องการให้ใช้อำนาจ กลายเป็นว่าเด็กมีวุฒิภาวะ มากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก ซึ่งเป็นอนาคตที่ผู้ใหญ่ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับประเด็นที่ว่าในโลกโซเชียลมีเดียมีการใช้ถ้อยคำตอบโต้กันไปมา จนอาจกลายเป็นการ สร้างความเกลียดชังกันจนถึงขั้นจะทำร้ายกันได้นั้น เป็นเพราะที่ผ่านมาคนในโลกโซเชียลไม่เข้าใจ หลักของการถกเถียงว่าไม่สามารถละเมิดความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายได้ ที่ผ่านมามีการตอบโต้กัน ในโลกออนไลน์ทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่าเมื่อมีฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับการใช้ถ้อยคำรุนแรง กับอีกฝ่าย แต่ไม่มีการห้ามปรามกัน จึงกลายเป็นเข้ามาเห็นด้วยกับการใช้ถ้อยคำรุนแรงนั้น

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว  การออกมาชุมนุมเรียกร้องของเด็กเยาวชนถือเป็นการใช้เสรีภาพในระบอบ ประชาธิปไตย แต่คนทั่วไปยังไปใช้คำว่า Mob หรือ ม็อบ ซึ่งเป็นศัพท์ทางสังคมวิทยา หมายถึง ความชุลมุนวุ่นวาย หรือฝูงชนที่บ้าคลั่งอะไรไป ความจริงไม่ใช่ การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนครั้งนี้ ถือเป็นการท้าทายระบบอำนาจนิยมที่ยังฝังรากลึกในสังคมไทย ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียนและประเทศ แต่ผู้ใหญ่เกิดความหวาดกลัว จนกลายเป็นการใช้กฎหมายคุกคามการชุมนุม คุกคามผู้ชุมนุม เนื่องจากมีการไปติดใจถ้อยคำของผู้อภิปรายในที่ชุมนุม หรือป้ายข้อความว่ามีความ รุนแรง พูดจาจาบจ้วง ซึ่งอันที่จริงมันเป็นสิ่งที่ผิดปกติไปจากระบอบประชาธิปไตย เพียงเพราะถัอยคำ ในการอภิปราย เนื่องจากประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่หมายถึงวัฒนธรรมการเปิดรับฟัง ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายของทุกฝ่าย ซึ่งต้องอดทน อดกลั้นและมีความใจกว้าง แต่ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในระบอบที่เสียงของคนคิดต่าง ไม่ได้รับการรับฟัง ซึ่งเมื่อมีความเห็นที่แตกต่างออกไป เอาเรื่องซุบซิบที่ทุกคนอยากรู้มาพูดในที่สาธารณะจึงกลายเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นความจาบจ้วง รับไม่ได้ ในสังคมที่ควรต้องรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง  คนที่รับฟังความเห็นที่แตกต่างไม่ได้แล้วออกมาห้าม คนไม่ให้พูด ห้ามการแสดงความเห็น คนเหล่านี้ คือปัญหาของระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าการตอบโต้ กันไปมาทางโซเชียลมีเดียระหว่าง คนที่คิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันแล้วโต้แย้ง ถกเถียงกันถือว่า เป็นเรื่องปกติในสังคม แม้แต่การเรียกฝ่ายหนึ่งว่า “สลิ่ม” หรือ “ควายแดง” มันจะถือว่าเป็นการ ไม่เคารพศักดิ์ศรีมนุษย์กันอย่างไร แต่หากจะมีเส้นแบ่งอยู่บ้างก็คืออย่างน้อย การตอบโต้กันนั้นต้องไม่ใช่ การยุยงให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน

นายไพโรจน์ พลเพชร นับเป็นเรื่องที่ดีที่มีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาที่เกิดขึ้นในตอนนี้สร้างกระแส ตื่นตัวให้เกิดขึ้นในสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาเยาวชนไม่เคยมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น อย่างตรงไป ตรงมาในสังคมได้เลย ขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทายสังคมครอบครัว โรงเรียน และฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งที่ ผ่านมามีแต่ผู้ใหญ่ที่แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ สังคมไทยไม่ยอมรับว่าเมื่อเด็กพูดถือเป็นการแสดง ความเห็น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ห้ามพูด ซึ่งไม่ใช่ พอเด็กๆ และเยาวชนออกมาพูด สังคมเลยช็อค ตกใจ ต่อปรากฏการณ์นี้ จนเกิดการออกมาปราม โรงเรียนและครูซึ่งไม่เคยเห็น ปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน ก็ออกมาแสดงอำนาจ เพราะสังคมไทยโดยรวมไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง และมองเห็นคนที่คิดต่าง เป็นศัตรู จนลดทอนศักดิ์ศรีกันไปด้วยคำพูดหยาบคาย เป็นสัตว์เป็นอะไรต่างๆ ยกตัวอย่าง “ทัวร์ลง” คำว่า “ควายแดง” และ“สลิ่ม” กลายเป็นถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังกัน ไม่ยอมรับความคิดเห็น ที่แตกต่าง อันจะนำ ไปสู่การใช้ความรุนแรงทางกายต่อกัน ในอดีตโลกโซเชียลมีเดีย ช่วง 6 ตุลา 19 ก็มีการใช้สื่อวิทยุกล่าวหานักศึกษาว่าไม่ใช่คนไทย เป็นญวน ดังนั้น เมื่อคุณไม่ใช่คนไทย จะทำอะไรกับคุณ ก็ได้ จึงมีการใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา เพราะเข้าใจว่าทำร้ายได้หรือฆ่าได้ เป็นต้น ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ใช่ วิถีทางประชาธิปไตยในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

เสรีภาพในการชุมนุม ขอบเขตและข้อจำกัด : หลักสากล รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว  หลักการสากลที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ค.ศ. 1966 ซึ่งขอเรียกสั้น ๆ ว่า ICCPR และความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตาม ICCPR ฉบับที่ 37 ตัวกติกา ICCPR นี้บัญญัติให้รัฐต้องเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพ ในการชุมนุมอย่างสงบ ห้ามรัฐขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุม

คำว่า “ชุมนุมโดยสงบ”ตามข้อเสนอแนะทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกติกา ICCPR มักจะรวมถึงการไม่ใช้กําลังทางกายภาพของผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อผู้อื่นที่อาจนําไปสู่ การบาดเจ็บ การเสีย ชีวิต หรือความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพย์สิน การไม่ใช้ความรุนแรง ทางกายภาพต่อผู้อื่น หรือสถานที่ คือ การชุมนุม มีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับการชุมนุมที่มีการใช้ ความรุนแรงอย่างร้ายแรงและเป็น วงกว้าง ตัวอย่างคําว่า “โดยสงบ” และ “โดยไม่ใช้ความรุนแรง” เช่น การชุมนุมที่มีเพียงแต่การผลัก หรือดันกัน หรือการขัดขวางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะ หรือผู้คนบนทางเท้า หรือทํากิจวัตรประจําวัน ไม่นับว่าเป็น “ความรุนแรง” ตามความเห็นนี้ หรือ การที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งไปตีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความสงบ เรียบร้อยในที่ชุมนุม ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรง เพราะไม่ใช่ความร้ายแรงและไม่เป็น วงกว้าง แต่ถ้าผู้ชุมนุมลุกฮือกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ จนได้รับบาดเจ็บ และขยายการใช้ความรุนแรงออกไปในวงกว้าง ทั้งจังหวัด ทั้งอำเภอหรือทั่วประเทศ แบบนี้จึงถือเป็นชุมนุมไม่สงบ อีกประการหนึ่งมีการพูดกันไปต่อๆกัน ว่าอย่าไปชุมนุมเลย เดี๋ยวจะเกิดความรุนแรง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาปราบปราม หรือมีฝ่ายที่ ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมเข้ามาทำร้ายผู้ชุมนุม ก็ไม่ทำให้การชุมนุมกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบไปได้ เพราะความรุนแรงไม่ได้เกิดจากผู้เข้าร่วมการชุมนุม

หลักการประการต่อมาคือหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ รัฐมีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยไม่ห้าม ไม่จำกัด สอง รัฐมีหน้าที่ ไม่ละเมิด สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเสียเอง หรือยอมให้ผู้อื่นเข้าขัดขวางการชุมนุมโดยสงบ ของประชาชน เช่น รัฐต้องไม่ไปจับกุมผู้ชุมนุมทั้งก่อนหน้าและภายหลังจาการชุมนุม เหมือนที่เกิดขึ้น ในปัจจุบัน ที่มีการไปถึง บ้านเยาวชนที่ปราศรัยบนเวที เข้าไปอยู่ในโรงเรียนขณะนักเรียนจัดการชุมนุม หรือต้องไม่ปล่อยคลื่นเสียง รบกวนการใช้เครื่องเสียงบนเวที เป็นต้น และสาม รัฐต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือได้รับ ประโยชน์ในการใช้สิทธิเสรีภาพนั้น เช่น ต้องอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อย ดูแล ความปลอดภัยในการชุมนุม จัดหาห้องสุขาให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเหมาะสม เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเรามักเข้าใจ แต่เพียงว่ารัฐต้องดูแล ไม่ขัดขวางการชุมนุม หรือต้องเอื้อให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพ ในการชุมนุมได้ โดยต้องถือว่ารัฐต้องมีความเป็นกลาง ในการอำนวยการให้ชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม ของฝ่ายใด

ประเด็นต่อมา คือ การชุมนุมภายใต้สถานการณ์พิเศษ สถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องโควิด  ซึ่งก่อนอื่น ขอให้เข้าใจก่อนว่า รัฐจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเรื่องใดต้องมีเหตุผล ต้องเป็นการชั่วคราวเพื่อความ จำเป็นจริงๆ ได้สัดส่วนกันระหว่างการห้ามกับเสรีภาพที่ถูกจำกัด ห้ามการเลือกปฏิบัติ ซึ่ง  ICCPR ข้อ 4 บัญญัติจำกัดสิทธิ ของรัฐไว้ว่า ห้ามรัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมแม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อนุญาต ให้รัฐสามารถจำกัดสิทธิบางประการได้เมื่อเกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติ อย่างไรก็ตามก็ได้ระบุ สิทธิบางประการที่รัฐต้องคุ้มครอง แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้แก่ สิทธิในชีวิต การห้ามการทรมาน หรือการ ปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี การห้ามนำบุคคลเป็นทาส การค้าทาส การบังคับให้ตกอยู่ในภาวะเยี่ยงทาส  การห้ามการใช้กฎหมายลงโทษย้อนหลัง สิทธิของ บุคคลที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหน สิทธิที่จะมีเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา ถามว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงโควิดนี้ เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคาม ความอยู่รอดของชาติอย่างไร ทั้งๆที่ตั้งแต่ประกาศใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม และขยายการบังคับใช้มาเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงหรือไม่มีเลยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จำเป็นหรือไม่เกิดเหตุที่คุมคาม ความอยู่รอดของชาติอย่างไร

ไพโรจน์ พลเพชร ขอแทรกตรงนี้นิดนึง คือ ต้องถือว่าภัยจากโควิดเป็นภัยต่อการคุกคาม ความอยู่รอดของชาติ เพราะคุกคามมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งรัฐทุกรัฐสามาถจำกัดสิทธิของประชาชนบางประการ ได้ เช่น เสรีภาพในการเดินทาง การประกอบอาชีพ แต่ของไทยนั้นรัฐไปห้ามการชุมนุมซึ่งเป็นเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งห้ามไม่ได้เพราะประชาชนชุมนุมเพื่อสะท้อนความยากลำบากในการ ดำเนินชีวิต อันเนื่องมาจากการจำกัดสิทธิในการเดินทาง หรือการประกอบอาชีพ เพื่อให้รัฐปรับปรุงหรือ ยกเลิกการห้ามนั้น ซึ่งเห็นด้วยว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ความรุนแรงของการแพร่ระบาด ลดน้อยลง จึงไม่ควรห้ามการชุมนุม และดูเหมือนรัฐบาลได้ยกเลิกการห้ามชุมนุมไปแล้ว

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว  ความหมายของ “ความอยู่รอดของชาติ” หรือ “ประโยชน์แห่งความมั่นคง ของชาติ” ที่สามารถ ใช้เป็นเหตุแห่งการจํากัดสิทธิ ตามข้อเสนอแนะทั่วไป ข้อ 37 ของคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินั้น มิใช่ให้รัฐตีความเอาเองอย่างไรก็ได้ แต่ต้องตีความเพื่อให้สามารถ ใช้สิทธิเสรีภาพได้ ซึ่งหมายถึง การมีความจําเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อจะคงไว้ซึ่งความสามารถของรัฐในการ ปกป้องการดํารงอยู่ของชาติ บูรณภาพแห่ง ดินแดน หรืออํานาจอธิปไตยทางการเมืองจากภยันตราย ที่น่าเชื่อว่าอาจเกิดขึ้นจริงหรือจากการใช้กําลัง

การคุ้มครอง “ความปลอดภัยของสาธารณะ” จะสามารถถูกนํามาใช้เป็นเหตุแห่งการจํากัด การชุมนุมโดยสงบได้ก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่า การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดอันตรายอย่างมีนัยสําคัญขึ้นจริง ต่อความปลอดภัยของบุคคล (ต่อชีวิตและต่อบูรณภาพทางร่างกาย) หรือความเสี่ยงที่คล้ายคลึงกัน ต่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพย์สิน

“ความสงบเรียบร้อย” คือบรรดากฎทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประกันว่าสังคมจะสามารถดําเนิน ไปอย่างเป็นปกติ หรือหลักการพื้นฐานต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานของสังคมซึ่งเคารพสิทธิมนุษยชน และหมาย รวมถึงสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รัฐภาคีไม่ควรจะกล่าวอ้าง“ความสงบเรียบร้อย”ซึ่งเป็นคําที่มีความ คลุมเครือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจํากัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีการชุมนุมโดยสงบอาจส่งผลกระทบไม่ว่าโดยธรรมชาติหรือโดยตั้งใจทําให้จําต้องใช้ความ อดทน อดกลั้นอย่างมีนัยสําคัญ

คําว่า “ความสงบเรียบร้อย” (public order) และ “กฎหมายและความสงบ” (law and order) มิได้มีความหมายเดียวกัน การห้ามการก่อ “ความ ไม่สงบเรียบร้อย” (public disorder) ภายใต้กฎหมาย ภายในประเทศไม่ควรถูกใช้โดยมิชอบเพื่อจํากัดการชุมนุมโดยสงบ

คำว่า “การคุ้มครองศีลธรรมอันดี”อาจถูกนํามาใช้เพื่อเหตุผลด้านการจํากัดสิทธิในการชุมนุม โดยสงบได้ในกรณีพิเศษ เหตุในการจํากัดสิทธินี้ต้องไม่ถูกนําไปใช้เพื่อปกป้องการตีความศีลธรรมที่อ้างอิง จากขนบธรรมเนียมทางสังคมปรัชญา หรือศาสนาใดเพียงขนบเดียว ซึ่งการจํากัดสิทธิใด ๆ จะต้องถูก ตีความภายใต้กรอบของหลักสิทธิมนุษยชน หลักพหุนิยม และหลักการไม่เลือกปฏิบัติอันเป็นสากล การจํากัดสิทธิ ในเรื่องนี้ไม่อาจตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคัดค้านการแสดงออกทางเพศ หรืออัตลักษณ์ ทางเพศได้

ส่วนที่ว่าภายใต้สถานการณ์พิเศษ ห้ามการเลือกปฏิบัตินั้น อาจเปรียบเทียบกรณีการห้ามชุมนุม ได้ว่า ห้ามกลุ่มคัดค้านรัฐบาล แต่ไม่ห้ามอีกกลุ่มที่สนับสนุนรัฐ ห้ามกลุ่มศานากลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ห้ามอีก ความเชื่อหนึ่ง

นายไพโรจน์ พลเพชร ผมยกตัวอย่างที่โรงเรียนห้ามเด็กแสดงความคิดเห็น ห้ามผูกโบว์ขาว ห้ามชู สามนิ้ว หรือตามไปคุกคามที่บ้าน ไปหาพ่อแม่เด็ก ก็อาจถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะอายุ และเป็น ความไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยด้วย เพราะโรงเรียนต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยให้เด็กได้แสดงความคิด เห็นอย่างเสรี ดีกว่าออกไปนอกโรงเรียน

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว  ปัญหาของครูในยุคนี้ คือ การไม่อธิบายให้เด็กฟังว่าการผูกโบว์ขาว หรือการชู 3 นิ้ว มีความหมายอย่างไร เป็นความผิดอย่างไร ทำไมไม่ควรทำ

นายไพโรจน์ พลเพชร ตามที่ได้อ่านจากสื่อมวลชน ครูและบางโรงเรียนพยายามอธิบายว่า เป็นเรื่องทางการเมืองที่เด็กไม่ควรเข้าไปยุ่ง อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือ แค่นั้นเอง

การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกนั้นไม่ใช่สิทธิสมบูรณ์ มีข้อจำกัดได้ ตามกฎหมาย เช่น ไม่ละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย แต่การไปข่มขู่คุกคาม การไปตามจับที่บ้านเป็นการใช้ กฎหมายเพื่อปิดปากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่ ต้องพิจารณาดู เพราะสามารถโต้แย้งกันได้ ตามหลักฎหมายของไทย รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้แก่การชุมนุม ให้ผู้ชุมนุมสามารถใช้สิทธิได้ อย่างเรียบร้อยตามหลักสากลที่ระบุใน ICCPR แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันว่า อย่างไรคือความมั่นคงของชาติ อย่างไรคือการกระทบกับความมั่นคงของชาติ เพราะรัฐก็มีชุดความคิดและแนวปฏิบัติอีกชุดหนึ่งที่ไม่ตรง กับผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 การชุมนุมภายในมหาวิทยาลัย สามารถกระทำได้ไม่มีข้อห้าม แต่ถ้าเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะอื่นๆ ต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่ดูแล พื้นที่นั้นทราบภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม  ไม่ใช่การต้องไปขออนุญาต เพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวย ความสะดวกให้ผู้ชุมนุม รัฐต้องป้องกันมิให้ฝ่ายอื่นไปขัดขวางการชุมนุม  ปัญหาคือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยมักเผชิญกับการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม คนทั่วไปจึงมักเข้าใจว่าการชุมนุมเป็นความรุนแรง เสมอ ซึ่งไม่ใช่เพราะเราต้องเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดวัฒนธรรม ของการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกด้วยการชุมนุมอย่างสงบให้ได้ ไม่ใช่ว่า พอจัดชุมนุมแล้วไปตามจับแจ้งข้อหาชุมนุมมั่วสุมกันเกินสิบคนก่อความวุ่นวายขึ้น ในบ้านเมือง ในอดีตเมื่อปี 2551 สมัยการรัฐประหาร 24549 ผมและเพื่อนๆ ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากเราไปปีนรัฐสภายื่นจดหมายคัดค้านให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติ การพิจารณาร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในสภาฯไว้ก่อน ช่วงนั้นประธานสภาฯสั่งปิดประตู ไม่ให้เข้า และใกล้ จะมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยใช้เหตุผลว่า การปีนเข้าไปในสภาเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออก ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อส่วนรวม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามีความผิด ให้ลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง พอมาถึงศาลฎีกา ศาลกลับใหม่ว่ามีความผิด ให้ลงโทษ แต่ให้รอการกำหนดโทษไว้ เพราะไม่มีเจตนา และเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ความจริงคำพิพากษาเช่นนี้เป็นการขัดขวาง การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา จึงเราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบอบ ประชาธิปไตยด้วย

สื่อสารมวลชนจะมีส่วนร่วมในการพัมนาประชาธิปไตยได้อย่างไร

ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ในยุคที่สังคมมีความขัดแย้งกันทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างในการใช้เสรีภาพในการ ชุมนุมนั้น ทั้งสื่อมวลชนทั้งสื่อออนไลน์และสื่ออื่นๆ ควรมีบทบาทในการสร้างพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยน ความเห็นในระบอบประชาธิปไตย อันนี้คงพูดได้โดยหลักการเท่านี้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนต้องไม่สร้างภาวะ ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างฝ่ายต่างๆ ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ สื่อเลือกข้างเพราะรัฐอาจเข้ามาแทรกแซง ควบคุมและจำกัดการนำเสนอข่าว แต่ถ้าสื่อมวลชนช่วยกัน นำเสนอข้อเท็จจริงที่ลดการเผชิญหน้ากัน ก็เท่ากับว่า สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นเวทีสำคัญที่ทำให้เกิดการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในสังคมประชาธิปไตย

นายไพโรจน์ พลเพชร ตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2548 เป็นต้นมา เราจะพบว่ามีสื่อเลือกข้าง นำเสนอข่าวทางการเมืองด้านใดด้านเดียวในประเด็นการเคลื่อนไหวฝ่ายการเมืองที่ตัวเองเลือก ไม่นำเสนอ ข้อเท็จจริงฝ่ายการเมืองตรงข้าม แม้จะมองดูว่าสื่อมวลชนที่เลือกข้างนั้นไม่ได้เป็นทั้งช่องทีวีหรือหนังสือ พิมพ์ทุกฉบับ อาจเป็นแค่คอลัมน์นิสต์ในหนังสือพิมพ์หรือรายการทีวีนั้น  แต่ในทางปฏิบัติสื่อมวลชน ควรเป็นเวทีที่นำเสนอข้อเท็จจริงทุกฝ่ายภายใต้การควบคุมของจริยธรรมสื่อ โดยมี กสทช.เป็นหน่วยงาน คอยกำกับ แต่ยังไม่มีใครใช้ช่องทางนี้ในการตรวจสอบสื่อมวลชน

บทสรุป เราจะสร้างพื้นที่การเคารพความเห็นต่างในสังคมประชาธิปไตยได้อย่าางไร

ไพโรจน์ พลเพชร ประเด็นแรกคือสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้องคงต้องแสดงบทบทในเรื่องนี้ เช่น สื่อมวลชน ที่เราคุยกันมาแล้ว สถาบันการศึกษาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริม ให้มีเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นและการแสดงออก ตัวอย่างเช่นการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการชุมนุม 2 กลุ่มๆ โดยใช้พื้นที่เดียวกัน คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มแรกเป็นกลุ่มอาชีวะที่มีชุดความคิดทางการเมือง แบบหนึ่ง อีกกลุ่มคือกลุ่มประชาชนปลดแอกที่ขยายมาจากกลุ่มนักศึกษาปลดแอก สองกลุ่มนี้ก็แยกกัน ชุมนุม กลุ่มอาชีวะก็จัดชุมนุมตอนเช้าแล้วเลิก กลุ่มนักศึกษาประชาชนมาจัดในช่วงบ่าย นี่เป็นตัวอย่าง การจัดชุมนุมที่เคารพกัน เพราะยอมรับให้ทุกฝ่ายได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ อำนวยความสะดวกให้การชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่จริงนอกจากสื่อมวลชนแล้วเราทุกคน แต่ละคนก็สามารถมีส่วนในกรสร้างกติกาให้เกิดการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือผ่านการแสดงความเห็นในสื่อของตนเอง ซึ่งดีกว่าในยุคก่อนๆที่ไม่มีสื่อออนไลน์