คนไทยกับวันยุติโทษประหารชีวิตสากล
October 10th, World Day against Death Penalty
สมศรี หาญอนันทสุข
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
เดือนตุลาคมของทุกปี มีวันสำคัญของประเทศไทยหลายวัน แต่มีวันสำคัญในระดับสากลอยู่วันหนึ่งที่คนไทยไม่ให้ความสำคัญคือวัน “ยุติโทษประหารชีวิตสากล” คือวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้มากนัก หรืออาจจะไม่อยากกล่าวถึง เพราะเห็นว่าการเรียกร้องให้ยุติโทษประหารชีวิตเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่สุดโต่ง เข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมการลงโทษผู้กระทำผิดในสังคมไทย แม้ทั่วโลกมีการยกเลิกโทษประหารฯ สำหรับทุกคดีอาญาทุกประเภทไปแล้ว 106 ประเทศ (Abolitionist Countries) มี 28 ประเทศที่ยกเลิกในทางปฏิบัติแต่ยังไม่ยกเลิกในทางกฎหมาย ส่วนประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอยู่ 56 ประเทศ (Retentionist Countries) หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย เมื่อยังมีหลายประเทศที่มีโทษประหารฯเหมือนไทย ประเทศไทยจึงไม่ใช่ประเทศเดียวในโลก และผู้นำไทยส่วนใหญ่จึงขอให้เราเป็นประเทศท้ายๆที่จะยกเลิกการลงโทษประหารชีวิต
แม้ไทยมีกฎหมายคงโทษประหารชีวิตไว้อยู่ก็จริง แต่ก็ไม่มีการบังคับใช้โทษในทางปฏิบัติมากเท่าประเทศจีน อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอารเบีย หรืออีกหลายๆ ประเทศ และบางปีไม่มีการฉีดยาประหารใครเลย นักโทษประหารชีวิตของไทยที่มีอยู่ 333 คน ในขณะนี้ (เป็นชาย 290 คนและหญิง 43 คน ข้อมูล กรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2563 ) จึงยังมีชีวิตอยู่ แต่จะมีความทุกข์ทรมานเพียงใด พวกเขาเท่านั้นที่รับรู้ได้อย่างแท้จริง จำนวนดังกล่าวถือว่าไม่มากหากเทียบกับนักโทษทั่วประเทศ 358,369 คน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องโทษคดียาเสพติด (สถิติจากกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563)
วันยุติโทษประหารชีวิตสากล ถูกกำหนดจากการประชุมร่วมกันขององค์กรต่างๆ ที่พบปะกันที่กรุงโรมประเทศอิตาลีเมื่อปี 2543 และมีมติกำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่ทั่วโลกรณรงค์เรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต สร้างการรับรู้ถึงข้อเสียของโทษดังกล่าวและเรียกร้องให้ทุกประเทศลงนามในพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ฉบับที่ 2 เพื่อการยุติโทษประหารฯ (Second Optional Protocol to the ICCPR, aiming at the abolition of death penalty) ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่เข้าเป็นภาคี แต่ไทยเข้าเป็นภาคี ICCPR ฉบับหลัก โดยการภาคยานุวัติ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2539 และมีผลใช้บังคับกับไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2540
ต่อมามีการรวมตัวกันจัดงานระดับโลกโดยกลุ่มแนวร่วมที่เรียกว่าthe World Coalition Against the Death Penalty ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยมีสมาชิกเข้าร่วมถึง 150 องค์กร รวมทั้งองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนในทุกมุมโลกจนเป็นผลให้หลายประเทศทยอยยกเลิกโทษประหารฯและเปลี่ยนมาเป็นการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนในปัจจุบัน แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกาก็ทยอยยกเลิกไปแล้ว 21 รัฐ เช่นกัน
เหตุผลที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ยังคงเรียกร้องให้นำโทษจำคุกตลอดชีวิตมาใช้บังคับโทษแทนการประหารชีวิตนั้นเพราะเห็นว่า
ในโอกาสของวันยุติโทษประหารชีวิตสากลที่ไม่มีการไปชุมนุมรวมตัวกันระดับโลกเพราะอุปสรรคจากการระบาดของไวรัส COVID 19 จึงไม่มีตัวแทนประเทศไทยเดินทางไปประชุมเหมือนทุกปี แต่มีข้อเสนอที่น่าสนใจว่า “เมื่อประเทศไทยกำลังมีการผลักดันให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างแข็งขัน เหตุใดเราจะไม่ปฏิรูปการลงโทษทางอาญาไปด้วย ทั้งที่ “โทษประหารชีวิต” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นสากล ให้เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ ขณะเดียวกันการเยียวยาผู้เคราะห์ร้ายหรือเหยื่ออาชญากรรม รัฐก็ต้องดูแลพวกเขาหรือครอบครัวผู้สูญเสียทั้งกายและใจ มีการชดเชยอย่างจริงจัง ทั้งสองส่วนนี้ต้องทำไปด้วยกัน ไม่ถูกละเลย” นายนิกร วีสเพ็ญ ประธาน สสส.กล่าว
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)