ความเหลื่อมล้ำ – ประชากรกลุ่มเปราะบาง – สิทธิมนุษยชน
วรภัทร วีรพัฒนคุปต์

 

บทคัดย่อ
          “ความเหลื่อมล้ำ” หมายถึง ความไม่เสมอภาค ความแตกต่างกัน แบ่งแยก มีช่องว่างระหว่างกลุ่มชนชั้น
มักจะเป็นการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง “ผู้มีโอกาส” กับ “ผู้ขาดโอกาส” ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนให้
ความสำคัญต่อผู้ขาดโอกาสที่ขอเรียกว่า “ประชากรกลุ่มเปราะบาง” อันหมายถึงประชากรที่มีความอ่อนแอ หรือ
อ่อนด้อยในการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม เปรียบเสมือนสิ่งของที่เปราะบางเสียหายง่าย
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเปราะบางของประชากรประกอบด้วยลักษณะทางธรรมชาติและสุขภาพ การเป็นชน
กลุ่มน้อย การถูกจองจำหรือจำกัดอิสรภาพ ความยากจน และความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้าง ซึ่งประชากรเหล่านี้
มักไม่ได้รับการปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน
          ผลที่เกิดขึ้นคือ ศักยภาพหรือความสามารถที่แฝงเร้นอยู่ในประชากรกลุ่มนี้มักไม่ได้แสดงออกมา เพราะไม่
มีโอกาสหรือไม่มีพลังหรือเพราะเสี่ยงเกินไปที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ ความเหลื่อมล้ำจึงทำลายทั้งศักยภาพของบุคคลของ
กลุ่มต่างๆและของสังคมประเทศชาติโดยรวม ดังนั้นเราจึงต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้วยการปฏิบัติต่อประชากร
อย่างเสมอภาคบนหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นการปลดปล่อยพลังการผลิตของสังคมออกมา
          ในที่นี้ ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าการจะเสริมความเข้มแข็งให้ประชากรกลุ่มเปราะบาง ต้องเริ่มที่การทำ
สวัสดิการของรัฐให้เป็น “สิทธิ”ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเสมอหน้า ไปพร้อมกับการใช้ระบบ “ภาษี
ทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า” เพื่อคืนกำไรส่วนเกินมาเป็นสิทธิของประชากรระดับชั้นรองลงมาที่มีฐานะเป็นทั้งแรงงาน
การผลิตและเป็นผู้บริโภค
          นอกจากนี้ยังต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลวงกับท้องถิ่นต่างจังหวัด ด้วยการกระจายอำนาจทาง
การเงินภาษีให้เข้าท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่บริบทของท้องถิ่น ไปพร้อม
กับการปฏิรูปโครงสร้าง ลดขนาดราชการส่วนภูมิภาคเท่าที่จำเป็น พร้อมกับจัดตั้งสภาพลเมืองเพื่อให้ทุกภาคส่วนมี
ส่วนร่วมในการกำหนดคุณภาพชีวิตตนเองอย่างเสมอหน้า
          นอกจากนี้เรายังต้องส่งเสริมค่านิยมการมองคนอย่างเสมอภาคและตระหนักในสิทธิของตนเองผ่านการจัด
การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Civic Education) ไปพร้อมๆกับการแก้ไขโครงสร้างระบบกฎหมายที่ไม่เป็น
ธรรม หรือเปิดช่องเอื้อต่อการเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวง
          ทั้งหมดนี้เพื่อให้ประชากรกลุ่มเปราะบางมีพลัง มีความเข้มแข็ง หลุดพ้นจากภาวะความกลัวทั้งปวงเพื่อ
เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development
Goals/SDGs)

ปฐมบท : “ความเหลื่อมล้ำ” นำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน
          “ความเหลื่อมล้ำ” (Inequality) อันหมายถึงความไม่เสมอภาค ความแตกต่างกัน แบ่งแยก มีช่องว่าง
ระหว่างกลุ่มชนชั้น คือบริบทที่อยู่คู่กับสังคมโลกมาช้านาน เป็นปัญหาระดับโลกที่ทำให้องค์การสหประชาชาติ
(United Nations) ต้องหยิบยกมาเป็นวาระสำคัญของประชาคมโลก ในนามของ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
(Sustainable Development Goals หรือ SDGs) (องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย, ออนไลน์, ม.ป.ป.)
ทั้งหมด 17 เป้าหมาย
          เป้าหมายลำดับที่ 10 ของ SDGsคือ “ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ” เพื่อย้ำถึง
ความสำคัญว่า “ความเหลื่อมล้ำ” อันเป็นรากเหง้าของปัญหาต่างๆที่กลายมาเป็นเป้าหมายพึงต้องแก้ไขให้ลุล่วงอีก
17 เป้าหมาย
          จากความหมายของคำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ผู้เขียนได้อธิบายคำนิยามไว้ข้างต้น เราสามารถขยาย
รายละเอียดต่อไปได้อีกว่า ความเหลื่อมล้ำมักจะเป็นการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง “ผู้มีโอกาส” กับ “ผู้
ขาดโอกาส”
          ซึ่งคำว่า “โอกาส” ในที่นี้ เราหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงการมีอำนาจต่อรอง มีสิทธิในการจัดการ
ทรัพยากรต่างๆในสังคม
          ความเหลื่อมล้ำนั้น บางครั้งอาจเป็น “เหตุ” และอาจเป็น “ผล” ในตัวเอง กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำนั้น
เป็นเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมทางสังคม และในอีกทางหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่า เพราะมนุษย์เกิดขึ้นมาโดยไม่มีความเท่า
เทียมกัน จึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นมา
          รูปแบบความเหลื่อมล้ำนั้น สามารถสรุปภาพรวมหลักๆได้ ดังนี้
          1) ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ (Wealth and Income Inequality) ซึ่งเกิดจากการ
การพัฒนาที่มีลักษณะไม่สมดุลหรือกระจุกตัวในบางพื้นที่หรือบางสาขาการผลิต ส่งผลให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาก
การพัฒนากระจายไปไม่ทั่วถึงในเชิงพื้นที่และเชิงบุคคล
          2) ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายโอกาส (Opportunity Inequality) ในการเข้าถึงโครงสร้างและ
บริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการสังคม และการเข้าถึงแหล่งทุนหรือปัจจัย
การผลิต
          3) ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ (Power Inequality) ทั้งด้านสิทธิทางการเมือง อำนาจต่อรองในการ
เข้าถึงทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและใน
ระดับท้องถิ่น ส่งผลให้การจัดทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม และอาจเกิดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination)
ต่อกลุ่มที่มีอำนาจในสังคมน้อย (อติวิชญ์ แสงสุวรรณ, 2558, หน้า 2)
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ยังเคยสรุปเรื่องความเหลื่อมล้ำไว้ ประกอบด้วย ความเหลื่อมล้ำด้าน
รายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ และด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้ง 5 มิตินี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
เพราะความเหลื่อมด้านหนึ่งก็อาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆด้วย
(สำนักงานปฏิรูป สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, 2555, หน้า14)
          เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น ย่อมมีประชาชนที่ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคและเป็นธรรม อย่างที่พึง
สมควรจะได้รับตามหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human
Rights หรือ UDHR)
ที่เราอาจเรียกประชากรเหล่านี้ได้ว่าเป็น “กลุ่มเปราะบางทางสังคม” ที่ขาด
โอกาส ไร้อำนาจต่อรองทางสังคม หรือมีสถานะเป็น “คนชายขอบ” (Marginal People)
ทั้งนี้เราอาจจะสรุปความได้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น เป็นผลพวงจากโครงสร้างสังคมไทยที่
ไม่คำนึงในหลักการสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ระดับแนวนโยบายสาธารณะ การบริหารราชการแผ่นดินของภาครัฐ ที่
เอื้อต่อระบบทุนแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก อำนาจของท้องถิ่นที่จะจัดการผลประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ท้องถิ่น การจัดสรรงบประมาณรายจังหวัดที่ขาดความเป็นธรรมภายใต้อำนาจราชการรวมศูนย์จากส่วนกลาง มา
จนเรื่องมายาคติ ค่านิยมของสังคมในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง ทั้งการกดขี่ แบ่งแยกด้วยเหตุแห่งความยากจน
แบ่งแยกด้วยเหตุแห่งความเป็นกลุ่มชนที่ไร้อำนาจต่อรอง อันหมายถึงกลุ่มเปราะบางทางสังคม ดังจะกล่าวถึงใน
บทถัดไป
          สภาวะสังคมที่เหลื่อมล้ำอย่างมากนั้นจะทำลายศักยภาพ หรือความสามารถที่แฝงเร้นอยู่ไม่ให้ได้แสดง
ออกมา
เพราะไม่มีโอกาสหรือไม่มีพลังหรือเพราะเสี่ยงเกินไปที่จะริเริ่มสิ่งใหม่ ความเหลื่อมล้ำจึงทำลายทั้ง
ศักยภาพของบุคคลของกลุ่มต่างๆและของสังคมประเทศชาติโดยรวม
          การจะปฏิรูปสังคมที่เหลื่อมล้ำจึงต้องมุ่งปลดปล่อยพลังการผลิตของสังคม ซึ่งไม่ได้หมายเพียงการผลิต
ด้านสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเท่านั้น แต่รวมถึงการผลิตสิ่งที่เป็นคุณค่า เช่น ศิลปะ วิชาความรู้ สติปัญญาและ
ด้านจิตวิญญาณของสังคมด้วย (สำนักงานปฏิรูป สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, 2555, หน้า15)

“ประชากรกลุ่มเปราะบาง” ผู้ถูกปฏิบัติโดยละเลย/ละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้บริบทสังคมไทยเหลื่อมล้ำ
          ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ไว้ดังข้างต้น ในบทนี้ ผู้เขียนขอให้ความสำคัญมุ่งประเด็นไปที่
กลุ่มประชากร ที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “ประชากรกลุ่มเปราะบาง” เนื่องด้วยเป็นกลุ่มที่ถูกแบ่งแยก กดทับ ละเลย
และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในสังคมที่เหลื่อมล้ำ
          การนิยามประชากรผู้ไร้อำนาจในสังคมที่เหลื่อมล้ำว่าเป็น “กลุ่มเปราะบาง” น่าจะเป็นการนิยามที่เข้าใจ
ง่ายและชัดเจนที่สุด เพราะคำว่าเปราะบาง เมื่อเราเอามาใช้อธิบายสภาพสิ่งของ ก็จะเห็นภาพว่าสิ่งของนั้นไม่ทน
ต่อสิ่งที่มากระทบ เสียหายแตกหักง่าย
          เมื่อเอาคำว่า “เปราะบาง” มาอธิบายเป็นนิยามลักษณะของประชากรโดยนัยทางสังคมศาสตร์ ความ
เปราะบางก็คือสภาพที่ทำให้ประชากรอ่อนแอ หรืออ่อนด้อย ไม่มีกำลังและความสามารถมากพอที่จะรับมือกับ
ปัญหาที่เข้ามากระทบ รวมทั้งไม่สามารถจะคาดการณ์หรือวางแผนล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพว่าเมื่อเกิด
ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นจะจัดการอย่างไร และเมื่อได้รับผลกระทบจากปัญหาจนอยู่ในสภาพที่เสียหลักล้มหรือ
“บอบช้ำ” แล้ว จะสามารถ “ลุกขึ้น” และกลับคืนสู่สภาพที่เป็นปกติได้อย่างไร (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560, หน้า 156)
          ทั้งนี้มีปัจจัยที่ทำให้มีประชากรกลุ่มเปราะบาง ดังต่อไปนี้
                    1. ลักษณะทางธรรมชาติและสุขภาพร่างกาย – ในหลายกรณี ความเปราะบางอาจเนื่องมาจาก
ธรรมชาติของชีวิต ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย ในแง่นี้คนที่มีความเปราะบางอาจจะเป็นเด็ก
ผู้
พิการแต่กำเนิด ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ(LGBT+) มากกว่าคนที่อยู่ในสถานภาพ
อื่น แต่ก็มีไม่น้อยที่ความเปราะบางเกิดเหตุการณ์ที่บุคคลได้ประสบ เช่น อุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยที่ทำให้พิการ
ทางกายและทางจิต รวมถึงการติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งอาจทำให้บุคคลถูกตีตราได้รับการ
ปฏิบัติเสมือนเป็นคนชายขอบ
                    2. การเป็นชนกลุ่มน้อย ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม — ไปจากประชากรส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งประชากร
ในนิยามนี้อาจหมายถึงชาวเขา ชาวเล ชนชาติพันธุ์ ผู้อพยพมาจากประเทศอื่น แรงงานต่าง
ด้าว โดยเฉพาะที่หนีเข้าเมือง
ผิดกฎหมาย ผู้อพยพหนีภัยความเดือดร้อนในถิ่นเดิมของตนเข้ามาในประเทศไทย
รวมถึงคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย
แต่กลับมีสถานะเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไม่มีสถานะประชากรในทางกฎหมาย
กลุ่มชนเหล่านี้มักถูกแบ่งแยก กีดกัน
เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ไม่ได้รับบริการสาธารณะในมาตรฐาน
เดียวกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
                    3. การถูกจำกัดอิสรภาพ หรือกักขังจองจำ — ซึ่งนอกจากทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพแล้ว ยังเสีย
สิทธิบางอย่าง และขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการที่เคยได้รับเหมือนคนปกติทั่วไป อีกทั้งมักถูกมองด้วยความรู้สึก
แบ่งแยก ด้วยสภาพเช่นนี้ คนใน “ทัณฑสถาน” จึงมีความเปราะบาง และบางครั้งแม้จะพ้นโทษ หรือได้รับ
พระราชทานอภัยโทษไปแล้ว แต่คนเหล่านี้ก็สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ยาก เพราะถูกสังคมตีตรา แบ่งแยก รังเกียจ
กีดกันไปแล้ว
                    4. ความยากจน – ความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในสภาพเปราะบาง
ทั้งนี้เพราะความยากจนเป็นต้นเหตุของความอ่อนด้อยหลายด้าน ครอบครัวยากจนมักจะมีชีวิตอยู่ในบ้านเรือน
และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สุขภาพไม่ดี เด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนส่วนมากได้รับการศึกษาน้อย มี
โอกาสที่จะได้รับการฝึกทักษะอาชีพน้อยกว่า ต้องทำงานที่หนักและเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่า มีรายได้น้อยกว่า มี
ปัญหาสุขภาพมากกว่า และเมื่อเติบโตขึ้น เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสมากที่จะเป็นคนยากจนเหมือนรุ่นพ่อ
แม่ เพราะโดยมากแล้ว ความยากจนมักถูก “ส่งต่อ” จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง โดยนัยนี้ ความยากจนก็โอกาสที่
จะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้เช่นเดียวกัน ในประเทศส่วนมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย คนยากจนคือคนกลุ่ม
เปราะบางที่ใหญ่ที่สุด และเป็นประชากรส่วนมากของประเทศ
                    5. โครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม – โครงสร้างสังคมในกรณีนี้อาจเปรียบได้เหมือนฐานที่รองรับ
ทุกอย่างในสังคม ฐานรองรับนี้มีหลายส่วนที่ประกอบกันอยู่ ที่สำคัญได้แก่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน
(เศรษฐกิจ) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดระบบความสัมพันธ์พึ่งพากันของผู้คน ส่วนที่เกี่ยวกับระบบการดูแลรักษา
สุขภาพ การเข้าถึงการศึกษา และอื่นๆอีกหลายส่วน โครงสร้างแต่ละส่วนที่ว่านี้หากไม่มีความเป็นธรรมจะเกิด
ผลกระทบมากมาย หนึ่งในนั้นคือจะทำให้คนบางกลุ่มมีสถานะที่ได้เปรียบ ขณะที่กลุ่มคนที่เหลือกลายเป็นผู้
เสียเปรียบในทุกด้าน เช่น ถ้าโครงสร้างส่วนที่เกี่ยวกับระบบการทำมาหากินไม่เป็นธรรม ผลของการพัฒนาที่รัฐ
ลงทุนไป ก็มีโอกาสที่จะไปตกอยู่กับกลุ่มที่ได้เปรียบกว่ากลุ่มอื่นๆ ในเรื่องการศึกษาก็เช่นเดียวกัน โครงสร้างระบบ
การศึกษาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้คนกลุ่มเปราะบางได้รับการศึกษาที่ดีและเพียงพอได้ยากลำบากกว่ากลุ่มอื่น เมื่อเป็น
เช่นนั้นกลุ่มที่อยู่ล่างสุดที่มีความได้เปรียบน้อยก็จะกลายเป็นกลุ่มเปราะบาง เพราะสาเหตุนี้โดยมาก ก็คือ “ความ
ยากจน” นั่นเอง (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560, หน้า156-157)
          ทั้งนี้ผู้เขียนขอลงรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นพิเศษในเรื่องของความยากจน อันเป็นทั้งเหตุต้นและผลลัพธ์ที่
ชัดเจนที่สุดของ “ความเหลื่อมล้ำ” อันเป็นประเด็นหลักในการเขียนบทความนี้ เมื่ออ้างอิงจากรายงานของ
ธนาคารแห่งประเทศไทย จะพบว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูง โดยปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 38 แม้จะ
ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2534 ที่อยู่ระดับร้อยละ 46 แต่ความแตกต่างของรายได้กลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุดกับกลุ่มที่มี
รายได้ต่ำที่สุดอยู่ที่ 10.3 เท่า ซึ่งกลุ่มรายได้สูงสุดมีรายได้รวมกันเกินร้อยละ 50 ของประชากรไทย (ชุตินันท์
สงวนประสิทธิ์, ออนไลน์, 2562)
          แปลความได้ว่า กลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุดลำดับต้นๆของประเทศ มีรายได้รวมกันแล้ว มากกว่ารายได้
รวมกันของประชากรร้อยละ 50 ของประเทศที่มีฐานะระดับล่างลงมา
          และจากการจัดกลุ่มสาเหตุแห่งความ “เปราะบาง” ทั้ง 5 ข้อ เป็นสาเหตุที่ทำให้มีประชากรกลุ่มเปราะบาง
เกิดขึ้นหลายกลุ่ม ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้หญิง เด็ก คนเร่ร่อน/คนไร้บ้าน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทาง
เพศ
ผู้พิการทางกายและจิต คนที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและการเรียน ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์
คนที่มีปัญหา
สถานะบุคคล คนไร้รัฐไร้สัญชาติ คนพลัดถิ่น ผู้ต้องขังใน ทัณฑสถาน คนยากจน
และแรงงานต่างด้าว
(สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560, หน้า 157)
          ความเหลื่อมล้ำที่มีหลายด้านอันเชื่อมโยงสัมพันธ์ส่งผลต่อกัน ยังส่งผลให้บางคนอาจเป็นประชากรกลุ่ม
เปราะบางในบริบทที่ทับซ้อนกันได้อีก เช่น เป็นผู้หญิงข้ามเพศ (Trans Women)ที่ประกอบอาชีพพนักงาน
บริการทางเพศ (Sex Worker) เป็นต้น
          นอกจากสภาวะความเปราะบางที่ทับซ้อนให้บุคคลคนหนึ่งมีความเปราะบางได้หลายปัจจัยแล้ว ความ
เหลื่อมล้ำแต่ละด้านก็สามารถเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ เช่น การเป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender) ที่ทำให้
โอกาสทางการงานไม่เท่าเทียมบุคคลที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด การเป็นชาวเลที่ไม่มีสถานะพลเมืองไทย
ทำให้ไม่สามารถถือครองที่ดิน รับบริการจากรัฐ ไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อจ้างงานชาวเลด้วยกัน การที่เพศหญิงถูก
ผู้ชายกระทำความรุนแรงในครอบครัวสุ่มเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เกิดภาระค่ารักษาพยาบาล สูญเสียรายได้จากการ
ต้องหยุดงานหรือความสามารถในการผลิตลดลงในการทำงาน การมีกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีที่ทำให้
มูลค่าทางเศรษฐกิจที่รัฐพึงได้หายไปเพราะการถูกเจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์กับพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker)
การถูกกีดกันทางสังคมของผู้เคยต้องโทษจำคุกทำให้ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ แล้วต้องกลับสู่วงจร
อาชญากร
ภาวะยากจนที่ทำให้เกิดคนไร้บ้าน การเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่ดินที่ทำให้เกษตรกรต้องเช่าที่ดินเป็นภาระ
ต้นทุนเพิ่มสูง
แต่รายได้ต่ำหรือต้องยอมเข้าสู่ภาวะเสียเปรียบในระบบเกษตรพันธสัญญา นโยบายป่าไม้ที่ทำให้ชน
ชาติพันธุ์ไม่สามารถ
ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากป่าไปพร้อมกับการอนุรักษ์ตามวิถีภูมิปัญญาของตน นโยบาย
ส่งเสริมอุตสาหกรรม
ขนาดใหญ่ที่ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตอาหารธรรมชาติไม่สามารถดำรงวิถีการผลิตส่งผลต่อความ
มั่นคงทางอาหาร 
(Food Security) หรือต้องมีภาระการรักษาพยาบาลความเจ็บป่วยอันเป็นผลจากมลภาวะ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผล
กลับมาที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมทั้งสิ้น
          ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องแก้โครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชากรกลุ่มเปราะบางสามารถปลดปล่อย
ศักยภาพของตนออกมาได้อย่างเต็มที่ และมีอำนาจต่อรองทางสังคมอย่าง เสมอหน้า อันจะ
นำไปสู่การพัฒนาอย่าง
ยั่งยืนและความปรองดอง สันติสุขของสังคม

ก้าวข้าม “ไทยเหลื่อมล้ำ” สู่ “ไทยเสมอหน้า” การพัฒนาต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          ผู้เขียนเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปสังคมไทยด้วยข้อเสนอดังต่อไปนี้
          1) รัฐสวัสดิการเพื่อสังคมเสมอหน้า
บ่อยครั้งที่เราพูดถึงการดำเนินนโยบายสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง เรามักจะนึกถึงการ “สงเคราะห์”
ในรูปแบบที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นไปในลักษณะแนวดิ่ง โดยผู้รับ คือผู้อยู่เบื้องล่าง แต่การเป็น “รัฐ
สวัสดิการ” (Welfare State)
นั้นคือสิ่งที่มากกว่าการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างครบวงจรตั้งแต่มนุษย์อยู่
ในครรภ์จนวันที่สิ้นลมหายใจ แต่ยังหมายถึง การมีสวัสดิการสังคมเป็นหลักรองรับแก่ประชาชนทุกคน ไม่ว่ายากดีมี
จน บนฐานคิดที่ว่ารัฐต้องดูแลมนุษย์ทุกคน เป็น “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีโอกาสใช้ร่วมกันได้ทันทีที่เป็น
มนุษย์ตั้งแต่ในครรภ์ เติมเต็มต้นทุนมนุษย์ให้เต็มเพียงพอแก่การที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อเป็น
ฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อความเป็นคนที่เท่าเทียมเสมอหน้ากัน
          ทั้งนี้ผู้เขียน ขอเสนอว่าควรดำเนินการจัดสวัสดิการโดยอ้างอิงหลักทางการทางสังคม-สงเคราะห์ศาสตร์
ให้จัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบสวัสดิการแบบพหุลักษณ์ (Pluralism Model) คือการจัดสวัสดิการที่คำนึงถึง
ความหลากหลายความต้องการของมนุษย์ ซึ่งต้องเชื่อมโยงงานต่างๆให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างเป็นองค์
รวม ความหลากหลายของวิธีการทำงาน รวมทั้งความหลากหลายเจ้าภาพ อาทิ บริการสวัสดิการสังคมที่จัดโดย
ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานความหลากหลายของสหวิชาชีพ หน่วยงาน
องค์การ และภาคีทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหา บนความสัมพันธ์เสมอภาคในรูปแบบหุ้นส่วนการ
พัฒนา (จิตติ มงคลชัย อรัญญา, ชินชัย ชี้เจริญ และ พงษ์เทพ สันติกุล ,2549, หน้า6)
          อีกหลักคิดสำคัญ คือการทำงานบนหลักการ “Help Them to Help Themselves” หรือการ
ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และอาจยกระดับมาเป็นเครือข่ายในการร่วมพัฒนา
ช่วยเหลือผู้อื่นได้ต่อไปอีก โดยใช้การเสริมพลัง (Empowerment) เปลี่ยนจากผู้ต้องรับการสงเคราะห์ในแนวดิ่ง
มาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในความสัมพันธ์แนวราบ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบของการมาเป็นเครือข่ายสนับสนุน
ประคับประคองประชากรกลุ่มปัญหาเดียวกัน ไปจนถึงการเป็นคณะกรรมการในการกำกับนโยบายในสัดส่วนที่มี
เสียงเพียงพอในการต่อรองกับภาครัฐได้
          ทั้งนี้ผู้เขียนอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทย มีตัวอย่างรูปธรรมของสวัสดิการถ้วนหน้าที่เป็นรูปธรรม
ความสำเร็จในการทำลายกำแพงแห่งความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(บัตรทองรักษาทุกโรค) อันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ผู้เขียนยังสนับสนุนข้อเสนอสวัสดิการที่
ภาคประชาชนกำลังร่วมกันเสนออย่างแข็งขัน อาทิ กองทุนบำนาญแห่งชาติฉบับประชาชน
(บำนาญถ้วนหน้าและไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน) เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า (ปัจจุบันนโยบายนี้ดำเนินการ
อยู่โดยมีระบบคัดกรองความยากจน) เป็นต้น
          นอกจากนี้ รัฐยังพึงควรสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมของชุมชนหรือภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็ง
เพื่อเป็นแนวร่วมสนับสนุนรัฐ เช่น กองทุนสัจจะออมทรัพย์ เป็นต้น
          ทั้งนี้บทเรียนของประเทศสวีเดน การเป็นรัฐสวัสดิการ หาได้ทำให้ประชาชนเกียจคร้าน ตรงกันข้าม
ประชาชนมีความตั้งใจทำงานเพื่อมีเงินจ่ายภาษี หากตกงานก็มีเงินอุดหนุนเพียงพอจนกว่าจะมีอาชีพใหม่ (มี
เงื่อนไขกำหนด) ผู้คนจึงมีความกล้าที่จะคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่กลัวความล้มเหลว เพราะมีโครงข่ายรองรับ
ทางสังคมที่ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ จนสวีเดนนับเป็นประเทศประสบความสำเร็จในการส่งเสริมเกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ
          2) ลดช่องว่างทางรายได้ โอกาส ทรัพยากร
          เมื่อเรานึกถึงประเทศที่เป็นต้นแบบรัฐสวัสดิการของโลก สิ่งที่ต้องพูดถึงโดยขาดไม่ได้ ก็คือเรื่อง “ภาษี
ทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า”
ซึ่งแน่นอนว่าคือการหาเงินมาเพื่อทำสวัสดิการของรัฐ ซึ่งประสบการณ์ของประเทศที่มี
ระบบภาษีแบบนี้ก็สามารถทำสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครบวงจรจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนออกมาได้ดี
แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของระบบภาษีแบบนี้ คือการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” โดยตั้งอยู่บนฐานคิดว่า
ประชากรทุกคนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ใช้แรงงานเป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่า
นายทุนเจ้าของเงิน จึงเป็นการเหมาะสมที่จะแบ่งส่วนต่างกำไรในมือนายทุนมาคืนเป็น “สิทธิ” ของประชากรผู้ที่
เป็นทั้งแรงงานและผู้บริโภค กระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม
          ที่ประเทศสวีเดน หนึ่งในประเทศต้นแบบรัฐสวัสดิการของโลก มีบทเรียนน่าสนใจเรื่องการใช้กลไกภาษี
อัตราก้าวหน้าอยู่ตรงที่ คนที่เสียภาษีมากที่สุดในสวีเดนก็คือชนชั้นกลางทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่นักธุรกิจร้อยล้านที่อยู่
บนยอดสุดของปิรามิด ในทางกลับกันคนรวยก็ยังคงใช้สิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ระบบ
บริการสุขภาพ และศูนย์ดูแลเด็กที่ดี นอกจากนี้ ภาษีถูกจ่ายไปให้ท้องถิ่นก่อนเป็นหลัก ซึ่งเป็นผู้จัดสวัสดิการด้าน
การศึกษา สาธารณสุข และการคมนาคม เพราะฉะนั้นคนสวีดิชจึงมีความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นของตัวเองอย่าง
มาก (เกตน์สิรี ทศพลไพศาล, ออนไลน์, 2562)
          นอกจากนี้ หากนำภาษีอัตราก้าวหน้ามาปรับใช้กับเรื่องของการถือครองที่ดิน นอกจากได้เงินเข้ารัฐแล้ว ก็
ยังจะนำไปสู่การกระจายการถือครอง “ที่ดิน” อันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตและเป็น “ปัจจัยการผลิต”
สำคัญในทางเศรษฐศาสตร์ ลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้เก็งกำไรของกลุ่มทุน ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่ทุกวันนี้มี
หน่วยงาน “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)” อยู่แล้ว หากเร่งเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้ง
“ธนาคารที่ดิน” ตามหลักการที่ภาคประชาชนวางไว้แต่แรก เราจะสามารถจัดหาที่ดินที่ถูกถือครองโดยไม่ได้ใช้
ประโยชน์ มาจัดสรรให้คนไร้ที่ดินสามารถถือครองร่วมกัน แล้วกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินต้องใช้
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ เช่น ต้องทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เป็นต้น
          3) คืนอำนาจให้ท้องถิ่น เดินหน้า “จังหวัดจัดการตนเอง”
          ดังที่ผู้เขียนได้หยิบยกประสบการณ์การลดความเหลื่อมล้ำของสวีเดนมาอ้างอิงในข้อเสนอข้อที่ 2 ว่า เรื่อง
การจัดการภาษีนั้น สวีเดนลำดับความสำคัญให้ท้องถิ่นเป็นลำดับแรกนั้น นี่คือการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมือง
หลวงกับท้องถิ่นนอกเขตเมืองหลวงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยการให้อำนาจในการเก็บเงินภาษีที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น เป็นอำนาจในมือของท้องถิ่นเพื่อการจัดสวัสดิการสังคมได้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น
ซึ่งหากมาปรับใช้กับประเทศไทย ก็จะเป็นการกระจายอำนาจให้เกิดท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในนาม “จังหวัดจัดการ
ตนเอง”

          จังหวัดจัดการตนเอง หมายถึง การที่ประชาชนในจังหวัดมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนด ทิศทางการ
พัฒนา การบริหารจัดการจังหวัดของตนเองในทุกด้าน ทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ สังคมปัญญา ที่สอดคล้องกับปัญหาและความ
ต้องการของประชาชน เมื่อเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสังคม ก็สามารถจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆใน
ท้องถิ่นได้ด้วยตนเองและเท่าทันกับสถานการณ์ ซึ่งการกระจายอำนาจให้ลงไปถึงประชาชนอย่างแท้จริงนั้น
จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจโดยการกระจายอำนาจบริหารจัดการจากรัฐบาลไปสู่ท้องถิ่น และกระจาย
อำนาจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ประชาชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ซึ่งรูปแบบโครงสร้างการ
กระจายอำนาจดังกล่าวจะนำไปสู่รูปแบบ “จังหวัดปกครองตนเอง” อันเป็นโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นสอง
ระดับ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน คือ “จังหวัดปกครองตนเอง” และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ระดับล่าง คือ “เทศบาล” และ “องค์การบริหารส่วนตำบลที่มีเขตพื้นที่การปกครองบางส่วนของจังหวัด”

(ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ, ออนไลน์, ม.ป.ป.)
          นอกจากนี้ ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นในรูปแบบ “สภาพลเมือง” ในท้องถิ่นทุกระดับเพื่อ
ยกระดับประชาชนในการจัดการอนาคตท้องถิ่นของตนเอง ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร รวมถึงการกำหนดผลประโยชน์ที่
ท้องถิ่นพึงควรได้รับจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตน และที่สำคัญคือ เพื่อ
การเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มภาคภูมิ
          4) การศึกษาที่ส่งเสริมความเป็นพลเมือง (Citizenship)
          ภาครัฐ และภาคประชาสังคม และชุมชน ควรมีบทบาทร่วมกันในการจัด “การศึกษาเพื่อสร้างความเป็น
พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” (Civic Education)
เพื่อให้ประชากรของเรามีสำนึกความเป็นพลเมืองใน
ระบอบประชาธิปไตย(Citizenship) ที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนบนโลกพึงมีเท่ากันโดยมิอาจละเมิดได้
ยอมรับในเกียรติภูมิความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของบุคคลและมีเคารพตนเอง
ตระหนักในสิทธิ และหน้าที่ที่ตนพึงมีต่อสังคม
          5) แก้ไขความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง สู่ความเป็นสังคมฅนไทยที่เท่าเทียม
          อีกประการสำคัญคือ เราต้องทำงานกับการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายที่ทำให้ฅนไม่เท่ากัน กฎหมายที่
ปิดกั้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า กฎหมายที่ทำให้ประชากรกลุ่มเปราะบางไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนได้ เป็นต้น
ว่า การขับเคลื่อนแก้ไขกฎหมายที่ผู้เขียนกำลังให้ความสนใจอันเกี่ยวข้องกับข้อเสนอของผู้เขียนนั้น มีทั้งเรื่องการ
คัดค้านความพยายามที่จะแก้กฎหมายที่จะนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืชไว้ในมือกลุ่มทุนใหญ่ ลิดรอนสิทธิการ
เก็บเมล็ดพันธุ์ของประชาชน การเรียกร้องยกเลิกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่เป็นช่องทางให้
ผู้มีอิทธิพลในเครื่องแบบหาประโยชน์จากพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) การผลักดันกฎหมายรับรองเพศ
สภาพ เพื่อให้บุคคลสามารถใช้คำนำหน้านามได้ตามเพศวิถีอันหมายถึงการที่บุคคลเพศทางเลือกจะไม่ถูกกีดกัน
เลือกปฏิบัติในการเข้าถึงบริการสาธารณะ การสมัครงาน โอกาสการเติบโตในหน้าที่การงาน การดำเนินการคืน
สัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น ฯลฯ
          และเรื่องหนึ่งที่รัฐไทยได้ดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้วในปี 2562 ที่ผ่านมา คือ การคุ้มครองสิทธิให้บุคคลที่
พ้นโทษคุมขังสามารถประกอบอาชีพหมอนวดแผนไทยได้ทันทีที่ได้รับโทษครบตามกำหนดแล้วโดยไม่ต้องรอเว้น
ระยะเวลา 1 ปี ก็นับเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ดีในข้อเสนอนี้ ด้วยเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดกับบุคคลที่ถูกกีด
กันออกจากสังคมด้วยเหตุที่เคยต้องโทษคุมขัง
          อีกประการสำคัญที่สังคมไทยจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ นั่นคือเรื่องของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้ง
ระบบ อันเป็นอีกวาระสำคัญที่เป็นความเหลื่อมล้ำฝังรากในสังคมไทยมาช้านาน จนกระทั่งมีคำเปรียบไว้ว่า “คุกมี
ไว้ขังคนจน” ด้วยที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวคดีความต่างๆมากมายที่ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามถึง “มาตรฐาน” ของ
กระบวนการยุติธรรมที่ใช้ดำเนินการในคดีของคนรวยกับคนจน ข้อครหาในเรื่องมาตรฐานการทางคดีที่ใช้กับคดี
ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีมานี้ ยังไม่นับถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดโดยเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่
รัฐรู้เห็นเป็นใจหรือเป็นผู้กระทำเสียเอง ทั้งการซ้อมทรมานบุคคลเพื่อให้รับสารภาพในข้อกล่าวหาที่ถูกยัด การ
บังคับบุคคลให้บุคคลหายสาบสูญที่เกิดขึ้นต่อประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งของรัฐ รวมถึงการข่มขู่ คุกคาม แม้กระทั่ง
ใช้กลไกการฟ้องร้องคดีเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในกระบวนการ
ยุติธรรมที่มักเกิดกับคนจนผู้มีอำนาจต่อรองทางสังคมน้อย อันพึงจะต้องได้รับการแก้ไข ปรับปรุงระบบกฎหมายทั้ง
ระบบเพื่อขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป

ปัจฉิมบท : หยุดความเหลื่อมล้ำ = ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน
          การแก้ไขความเหลื่อมล้ำลำดับแรกสุดคือเรื่องความมั่งคั่งและรายได้ เราไม่อาจหวังการอำนวยให้กลุ่มทุน
ใหญ่สะสมความมั่งคั่งให้ได้มากที่สุดแล้วมาดึงกลุ่มชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจขึ้นไปได้อย่างที่เคยเชื่อกันมา แต่เราต้อง
หาทางนำกำไรส่วนเกินที่มีมากเกินไป กลับมากระจายคืนเป็น “สิทธิ” ที่ประชาชนระดับล่างผู้ซึ่งเป็นทั้งแรงงาน
และผู้บริโภค ให้เข้าถึงการเติมต้นทุนมนุษย์ส่วนที่พร่องลงไปให้เต็ม ให้ประชากรกลุ่มเปราะบางเพราะความเหลื่อม
ล้ำทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงโอกาสทางสังคมอย่างเพียงพอในฐานะพลเมือง ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการมุ่งกระจาย
ทรัพยากรขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี อย่าง “ที่ดิน” ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องความเป็นธรรมแล้ว นี่ยังเป็นโอกาสในการ
ส่งเสริมศักยภาพการเป็นประเทศผู้ผลิตของไทย กระจายความเติบโตของเศรษฐกิจจากที่ถูกผูกขาดโดยคนไม่กี่กลุ่ม
ไม่กี่ตระกูล ให้มีหลากหลายกลุ่มหลากหลายขนาด หลายรูปแบบธุรกิจดังเช่นประเทศสวีเดน
          ขณะเดียวกันเรายังมีความเหลื่อมล้ำในด้านโอกาสและอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐและภาคประชาสังคมต้อง
รวมพลังในการทำงานเพื่อแก้ไข ด้วยการส่งเสริมการเป็นเครือข่ายของประชากรกลุ่มเปราะบางให้เชื่อมร้อย
สนับสนุนกัน พร้อมองค์ความรู้ในการทำงานพิทักษ์สิทธิโดยอาศัยพลังของ “สหวิชาชีพ” และยกระดับสู่การ
รณรงค์เปลี่ยนแปลงค่านิยมที่แบ่งแยก ยอมรับความชอบธรรมของภาวะเหลื่อมล้ำ ผลักดันการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
นโยบาย กฎหมาย บนหลักการสิทธิมนุษยชน
          เป้าหมายสูงสุดที่เราจะต้องไปให้ถึงคือสังคมที่ฅนเสมอหน้ากันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงโอกาส
ของประชากรกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่มที่จะสามารถมีชีวิตที่มั่นคง หลุดพ้นจากภาวะกลัวความอดอยากหิวโหย
เจ็บป่วย ความไม่เป็นธรรมทั้งปวง เด็กไทยทุกคนต้องเติบโตพร้อมโอกาสที่จะพัฒนาตนเองตามศักยภาพเฉพาะตน
ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย รวมถึงเลือกเพศวิถีได้ด้วยตนเอง เมื่อเติบใหญ่เข้าสู่การเป็นแรงงานก็ได้รับค่าจ้างที่เป็น
ธรรม ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยรุ่นใหม่ต้องสามารถเริ่มความฝันได้โดยไม่ต้องกลัวการล้มเพราะมี
ระบบสวัสดิการสังคมที่พร้อมรองรับ คนที่ค้นพบเพศวิถีของตนต้องสามารถรับสิทธิบริการทางสาธารณสุขเพื่อการ
มีเพศสภาพตรงตามวิถีของตนได้ มีสถานะทางกฎหมายตรงตามเพศวิถี มีสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวเสมอชาย-
หญิง แรงงานสตรี/ผู้มีความหลากลายทางเพศต้องได้รับค่าตอบแทนและโอกาสในการเจริญก้าวหน้าทางงานเสมอ
กับบุรุษเพศ คนวัยเกษียณได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเหมาะสม สังคมสงบสุขด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ยึดหลัก
สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการที่สังคมท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการกำหนดอนาคตของตนเอง และที่สำคัญคือประเทศ
ไทยจะต้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ครบ 17เป้าหมายให้จงได้
          ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่วางไว้ในคำปรารภในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
          “…ปฏิญญาสูงสุดของสามัญชน ได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด
และความเชื่อถือและอิสรภาพพ้นจากความหวาดกลัว และความต้องการ”
(สำนักงานคณะกรรมการสิทธิ
มนุษยชนแห่งชาติ, 2550, หน้า 4)

เอกสารอ้างอิง
เกตน์สิรี ทศพลไพศาล. (2562). รัฐสวัสดิการสวีเดน ความอุ่นใจในชีวิต ที่ช่วยให้คนผลักดันประเทศ
          ไปข้างหน้า. สืบค้น 8 มิถุนายน 2563, จาก https://workpointtoday.com/sweden-welfare-tax/
โครงการสุขภาพคนไทย. (2560). เสริมพลังกลุ่มเปราะบาง สร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน. สุขภาพคนไทย
          2560 (น.156-157). นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
จิตติ มงคลชัยอรัญญา, ชินชัย ชี้เจริญ และ พงษ์เทพ สันติกุล. (ม.ป.ป.). แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี สร้าง
          สวัสดิการสังคมไทย ความหวังใหม่เพื่อสังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน. (ม.ป.ท.): (ม.ป.พ.)
ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์. (2562). ตีแผ่ปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นไปได้แค่ไหนที่จะลดช่องว่าง
          ระหว่างคนจนและคนรวย. สืบค้น 5 มิถุนายน 2563, จาก https://thestandard.co/thai-inequality/
แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (พิมพ์ครั้งที่ 2).
          (2555). (น 14-.15). นนทบุรี: สำนักงานปฏิรูป สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ.
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. (2550). (น. 4). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการ
          สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.
ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ. (ม.ป.ป.). จังหวัดจัดการตนเอง. สืบค้น 12 มิถุนายน 2563, จาก
          http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=จังหวัดจัดการตนเอง
องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ
          ไทย. สืบค้น 1 มิถุนายน 2563, จาก
          https://www.un.or.th/globalgoals/th/the-goals/
อติวิชญ์ แสงสุวรรณ. (ม.ป.ป.). ความเหลื่อมล้ำ. กรุงเทพฯ: รัฐสภาไทย. สืบค้น 1 มิถุนายน 2563,
          จาก https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-052.pdf