ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย : ปัจจัยสำคัญของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายอติรุจ ดือเระ

 

บทคัดย่อ
          ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาช้านานและเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้การละเมิดสิทธิ
มนุษยชนกลายเป็นสิ่งปกติสามัญ โดยเหตุแห่งความไม่เท่าเทียมด้านความมั่งคั่งของทรัพย์สินและรายได้ ความไม่
เทียมด้านสิทธิและโอกาส และความไม่เท่าเทียมด้านอำนาจ ได้ก่อผลร้ายแรงคือการสถาปนาพลเมืองในสังคมไทย
เป็นสองชนชั้น คือชนชั้นที่หนึ่งซึ่งมีสิทธิมีเสียงมากกว่าชนชั้นที่สอง และผลจากการมีสิทธิ์มีเสียงไม่เท่ากันนี่เองที่
นำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมิติต่าง ๆ ตั้งแต่สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ไปจนถึงสิทธิทางสังคม สำหรับ
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องแก้ไขควบคู่กันไป และต้องกระทำให้ครบ
อย่างรอบด้านมิใช่มุ่งเป้าไปที่ความเหลื่อมด้านความมั่งคั่งของทรัพย์สินและรายได้เพียงมิติเดียวเฉกเช่นที่ผ่านมา

บทนำ
          ห้วงขณะปัจจุบันผู้คนทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกต่างตื่นตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น ใน
หลากหลายลักษณะวิธีการ ตั้งแต่การเดินขบวนประท้วงเรียกร้อง การดำเนินการผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึง
การท้าถามผ่านงานวิชาการ กระนั้นก็ดีแม้ผู้คนบางส่วนจะเคลื่อนขยับเรื่องดังกล่าวกันไม่น้อย แต่ปัญหาการละเมิด
สิทธิมนุษยชนก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งผ่านข่าวโทรทัศน์บ้าง สื่อออนไลน์บ้าง การถากทางเพื่อถามหา
ต้นเหตุหรือปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พึงกระทำยิ่ง เพราะเมื่อทราบ
ถึงปัจจัยเกื้อหนุนรอบด้านแล้ว การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็น่าจะตรงจุดและเกิดผลในทิศทางที่ก่อการ
เปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น
          ทั้งนี้เฉพาะสังคมไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนนับว่าเป็นปัญหาลำดับแรก ๆ ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่าง
จริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบ บางการละเมิดเกิดขึ้นซ้ำ
แล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง อาทิ การอุ้มหายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนแล้วคนเล่าบ้างก็หายสาบสูญ
ไร้ร่องรอย บ้างกลายเป็นศพโผล่น้ำ , การรุกล้ำและยึดครองที่ดินทำกินของชาวบ้าน , การใช้กระบวนการยุติธรรม
อย่างไม่เท่าเทียมเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก เปลี่ยนถูกให้เป็นผิดจนเกิดกรณี “แพะรับบาป” ขึ้นมากมายที่ถูกบังคับให้
เข้าไปใช้ชีวิตที่ขาดอิสระในเรือนจำทั้งที่ไม่ได้ก่อกรรมทำผิดใด ๆ และรวมไปถึงการละเมิดชื่อเสียงผ่านโลก
ออนไลน์ เป็นต้น
          สำหรับบทความนี้มุ่งเผยเปิดให้เห็นถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยโดยการอธิบายที่มุ่งเน้นให้
เห็นถึงความสัมพันธ์ของปัญหาความเหลื่อมล้ำกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการแตกย่อยประเด็น
ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1) ความเข้าใจว่าด้วยคำว่าสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทราบถึงนิยามความหมาย
ประเภท และปัจจัยที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2) สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อเผยให้
เห็นว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำรูปแบบใดบ้าง 3) กรณีตัวอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิ
2
มนุษยชน เพื่อให้แจ่มแจ้งอย่างประจักษ์ว่าความเหลื่อมล้ำที่สั่งสมอยู่ในสังคมไทยนั้นส่งผลต่อการละเมิดสิทธิ
มนุษยชนมากน้อยเพียงใดและอย่างไรบ้าง 4) แนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยการนำแนวนโยบายของรัฐที่ดำเนินในปัจจุบันมาทบทวน หยิบยกแนวทางของนักวิชาการมากล่าวถึง และ
นำเสนอแนวทางอันเกิดจากความคิดเห็นของผู้เขียนเอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงหนทางที่พอจะเป็นไปได้สำหรับการ
แก้ปัญหาดังกล่าว

ความเข้าใจว่าด้วยคำว่า “สิทธิมนุษยชน”
          “สิทธิมนุษยชน” มิใช่สิ่งแปลกใหม่ที่เพิ่งจะถูกให้ความสำคัญ หากแต่พลเมืองโลกล้วนรู้จักมักคุ้นและให้
คุณค่ามาหลายทศวรรษ การประท้วงเพื่อทวงคืนสิทธิมนุษยธรรมก็เป็นประจักษ์หลักฐานให้เห็นชัดเจนแล้วว่าชน
ในทุกภูมิภาคต่างตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนโดยทั่วกัน ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจถึงความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่าง
ชัดเจนมากขึ้น ประการแรกเราควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงนิยามและประเภทต่าง ๆ ของสิทธิมนุษยชน
เสียก่อน
          สำหรับนิยามอาจเข้าใจได้ว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องได้รับในฐานะที่เป็นคน เพื่อ
ทำให้คน ๆ นั้น มีชีวิตอยู่รอดได้และมีการพัฒนา สิทธิมนุษยชนจึงมี 2 ระดับ ระดับแรกเป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่
กำเนิด อาทิ สิทธิในชีวิต สิทธิในความเชื่อมโนธรรมหรือลัทธิศาสนา เป็นต้น ระดับที่สองเป็นสิทธิที่ต้องได้รับการ
รับรองในรูปของกฎหมายหรือต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ อาทิ การได้รับสัญชาติ การได้รับความคุ้มครอง
แรงงาน การมีงานทำ สิทธิของเด็กหรือผู้พิการ เป็นต้น ขณะที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้อธิบายถึงคำ
ว่าสิทธิมนุษยชนไว้ว่า “โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัว และสิทธิเท่าเทียมกันและโอนมิได้ของบรรดา
สมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษยชนเป็นหลักการพื้นฐานแห่งอิสรภาพความยุติธรรมและสันติภาพโลก” (“ชุด
ความรู้สิทธิมนุษยชน,” 2563, หน้า 3)
          ส่วนประเภทของสิทธิมนุษยชนสามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) สิทธิพลเมือง ได้แก่ สิทธิใน
ชีวิตและร่างกาย เสรีภาพและความมั่นคงในชีวิต ไม่ถูกทรมานทำร้ายหรือฆ่า สิทธิในการได้รับสัญชาติ การนับถือ
ศาสนา รวมไปถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 2) สิทธิทางการเมือง ได้แก่ สิทธิในการเลือกวิถีชีวิตของตนทั้ง
การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
และการแสดงออก การมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการเลือกตั้งอย่างเสรี 3) สิทธิทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สิทธิ
ในการมีงานทำ ได้เลือกงานอย่างอิสระและได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 4) สิทธิ
ทางสังคม ได้แก่ สิทธิในการได้รับการศึกษา การได้รับหลักประกันด้านสุขภาพ รวมถึงการมีเสรีภาพในการเลือก
คู่ครองและครอบครัว 5) สิทธิทางวัฒนธรรม ได้เเก่ การมีเสรีภาพในการใช้ภาษาท้องถิ่นของตน สิทธิในการ
เป็นอยู่ การแต่งกาย การกิน และการแสดงออกตามวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นหรือความเชื่อทางศาสนา รวมถึง
การพักผ่อนหย่อนใจด้านศิลปะบันเทิงโดยไม่มีใครมาบังคับ (เพิ่งอ้าง, หน้า 4)
          อย่างไรก็ดีแต่ไหนแต่ไรมาตั้งแต่อดีตตราบจนถึงปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ถูกละเมิด
กดทับ และฉุดกระชากอยู่เสมอ กล่าวคือ บุคคลหรือบางกลุ่มบุคคลที่ตั้งตนเป็นผู้ถืออภิสิทธิ์เหนือกว่า มีอำนาจ
บารมี หรือทรัพย์สินมากกว่า ก็มักจะฉกฉวยความได้เปรียบเพื่อกดขี่ข่มเหง ล่วงละเมิดต่อผู้ที่อ่อนแอกว่าในสังคม
พฤติการณ์ดังกล่าวอาจอ้างอิงไปถึงทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน ที่กล่าวถึงการคัดสรรโดยธรรมชาติ ผู้ที่
แข็งแกร่งจะอยู่รอดและผู้อ่อนแอจะล้มหายตายจากไป สำหรับผู้เขียนแล้วระอิดระอาต่อคำอ้างถึงข้างต้นไม่น้อย
เนื่องจากแลเห็นว่าเป็นการอธิบายเหตุผลประกอบที่ปราศจากความเห็นอกเห็นใจและขาดจิตวิญญาณของความ
เป็นมนุษยธรรม เพราะโลกของความเป็นจริงมนุษย์ซึ่งมีสติปัญญารู้คิด สามารถพินิจ และใช้วิจารณญาณในการ
เลือกหรือไม่เลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นย่อมแยกแยะว่าประการใดบ้างที่จะละเมิดหรือสร้างความเดือดร้อนแก่
ชีวิตอื่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงมิควรมีคำอธิบายสวยหรูใด ๆ มากไปกว่าการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วน
ตนเป็นสำคัญ
          ทั้งนี้หากพิจารณาถึงแก่นแกนของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านแล้ว จะพบว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนที่
สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) กฎหมาย กล่าวคือในสังคมที่กฎหมายกะพร่องกะแพร่งไม่บัญญัติอย่างชัดเจนถึงการ
รับรองประเด็นสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นไปได้ว่าชนผู้อันธพาลทั้งที่ปรากฏกายในรูปชายฉกรรจ์ ข้าราชการคอปกขาว
หรือนักธุรกิจสวมสูทต่างก็สามารถใช้ช่องโหว่อันอำนวยทางกฎหมายละเมิดผู้อื่นได้เสมอ 2) ความยุติธรรม อัน
เป็นส่วนต่อขยายภายหลังการบัญญัติกฎหมาย กล่าวคือ ในสังคมที่ความยุติธรรมบกพร่องหรือผู้ใช้อำนาจศาลเอียง
ข้างก็ย่อมเป็นที่น่ากังวลว่าจะเปิดช่องว่างให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื้อรัง โดยเฉพาะกับคนมีฐานะหรือมี
อำนาจบาตรใหญ่ย่อมเหิมเกริมมิเกรงกลัวโทษทัณฑ์ และอาจหาญที่จะเดินหน้าละเมิดสิทธิของผู้อื่นต่อไป 3)
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุยชน ประการนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพราะสังคมที่ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง
สิทธิมนุษยชนย่อมตระหนักรู้อยู่เสมอว่าสิ่งใดบ้างที่เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิของตน การประท้วง เรียกร้องและถาม
หาความเป็นธรรมจะปรากฏขึ้นโดยวิจารณญาณของประชาชนเองโดยทันที กลับกันหากประชาชนขาดความรู้
ความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน เมื่อมีสิ่งใดที่มากระทบหรือละเมิดต่อสิทธิของตนก็ย่อมเพิกเฉยหรือบางทีแทบ
จะไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาว และเมื่อรู้ตัวอีกทีก็สายเกินจะทักท้วงสิทธิของตนเสียแล้ว 4) ความเหลื่อมล้ำ ประการนี้เป็น
ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างจะยุ่งเหยิงและซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่หนึ่งมีผลให้เกิดความ
เหลื่อมล้ำที่สองต่อกันเป็นทอด ๆ และความเหลื่อมล้ำทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นเสมือนต้นธารสำคัญที่ทำให้การละเมิด
สิทธิมนุษยชนปรากฏอยู่ในสังคม

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
          ความเหลื่อมล้ำคือสภาวะความไม่เท่าเทียมกันในสิ่งหรือสิทธิอันพึงจะเท่าเทียม โดยมีบุคคล หรือกลุ่ม
บุคคลที่ได้รับประโยชน์ มีอภิสิทธิ์ หรือเสียงที่ดังกว่ากลุ่มบุคคลอื่นในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นสภาวะที่สังคมทั่วโลก
เกือบทุกประเทศต้องเผชิญเพียงแต่มีระดับที่รุนแรงต่างกันไป ทั้งนี้หากเพ่งพินิจเฉพาะสังคมไทยคงไม่อาจปฏิเสธได้
เลยว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาแรก ๆ ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏ
แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้
          หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้ (Wealth and Income Inequality) พิจารณาจาก
ข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ที่นับเฉพาะด้านความมั่งคั่งจะพบว่าไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลก
มาตลอด โดยจากที่เคยได้อันดับสามในการสำรวจเมื่อปี 2016 ขยับมาแซงทั้งรัสเซียและอินเดียเป็นอันดับหนึ่งใน
ปี 2018 โดยปี 2016 คนไทย 1% แรก (5 เเสนคน) มีทรัพย์สินรวม 58.0 % ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ ขณะที่
ปี 2018 คน 1% มีเพิ่มเป็น 66.9% แซงรัสเซียที่ลดจาก 78% เหลือเพียง 57.1% นอกจากนี้หากพิจารณาตาม
ข้อมูลยังพบอีกว่าคนไทยที่จนที่สุด 10% มีทรัพย์สิน 0% สะท้อนความน่ากังวลว่าคนครึ่งประเทศเป็นคนหาเช้ากิน
ค่ำหรือไม่ก็เดือนชนเดือนไม่มีเหลือเก็บเหลือออม (อันดับ 1 โลกไทยเบียดรัสเซีย, 2561, ออนไลน์ ) ขณะที่
รายงานของ World Economic Forum (2018) ระบุว่าความไม่เสมอภาคของไทยอยู่อันดับที่ 25 จาก 107
ประเทศ สำหรับสาเหตุที่เอื้อให้เกิดความเหลื่อมล้ำรูปแบบนี้ขึ้น ประกอบด้วยปัจจัย 2 มิติ ได้แก่ 1) มิติเชิงพื้นที่
กล่าวคือ ไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก ส่งผลให้โอกาสในการ
สร้างรายได้ การจ้างงานต่างกับพื้นที่อื่น สะท้อนจากพื้นที่ในหลายภูมิภาคของไทยซึ่งมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า
กรุงเทพฯมาก เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ต่ำกว่าถึง 9 เท่า 2) มิติอาชีพ อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาของ
ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในกลุ่มอาชีพเกษตรกรอยู่ในระดับที่น่ากังวลกว่าอาชีพ
อื่น ๆ (ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์, 2562, ออนไลน์)
          สอง ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิและโอกาส (Rights and Opportunity Inequality) อันได้แก่การ
เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการสังคมและการ
เข้าถึงแหล่งทุนหรือปัจจัยการผลิต โดยในทางความหมายอาจเข้าใจได้ในสองลักษณะคือความเหลื่อมล้ำระหว่าง
คนที่ควรมีสิทธิเดียวกันแต่ในความเป็นจริงกลับไม่มี หรือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีสิทธิเดียวกันแต่มีโอกาส
และความสามารถในการใช้สิทธินั้นได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้จะกล่าวถึงสิทธิและโอกาส 3 ประการสำคัญเพื่อเป็น
ตัวอย่างประกอบให้ฉายชัดขึ้นดังนี้ 1) สิทธิและโอกาสในการรับบริการสาธารณะ จะเห็นได้ชัดเจนว่าบริการ
สาธารณะที่มีความรวดเร็วและทันสมัยอย่างรถไฟฟ้ากระจุกตัวอยู่เพียงเมืองหลวง ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายเพื่อ
บริการขนส่งสาธารณะดังกล่าวก็ราคาแพงไม่น้อย และเมื่อหันไปหาตัวเลือกที่พอจะช่วยประหยัดได้มากที่สุดอย่าง
รถโดยสารประจำทางก็พบว่าคุณภาพและความปลอดภัยค่อนข้างต่ำมาก ๆ 2) สิทธิและโอกาสในการได้รับความ
ยุติธรรม อาทิ สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง การมีหลักประกัน
พื้นฐานในการได้รับการพิจารณาคดีความโดยเปิดเผย รับทราบข้อเท็จจริงในการสอบสวน เป็นต้น ซึ่งตัวอย่าง
ข้างต้นล้วนแต่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริงคือกระบวนการ
ยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำอยู่มากระหว่างคนจนกับคนรวยเข้าทำนอง “สองมาตรฐาน” ที่สะท้อนถึงความไม่เท่ากันของ
โอกาสในกระบวนการยุติธรรม 3) สิทธิและโอกาสของเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส
บุคคลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางโดยธรรมชาติและสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม ที่ผ่านมา
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ได้รับรองสิทธิให้บุคคลดังกล่าวเพิ่มขึ้นและสถานการณ์เข้าถึงสิทธิพื้นฐานก็เป็นไปใน
ทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดีมีบางกลุ่มที่ยังเป็นผู้ด้อยสิทธิ เช่น แรงงานนอกระบบและผู้ไร้สัญชาติ (สมมิตร โตรัก
ตระกูล, ม.ป.ป., หน้า 7) ท้ายที่สุดความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มเปราะบางต้องเผชิญเมื่อฟักตัวนาน ๆ ก็แตกไข่ไปเป็น
ปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตตามมา
          สาม ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ (Power Inequality) อันได้แก่สิทธิทางการเมือง อำนาจต่อรองใน
การเข้าถึงทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
ส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม และอาจมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมน้อย
(อติวิชญ์ แสงสุวรรณ, 2558, หน้า 1) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกปิดกั้นในการออกเสียงหรือแม้จะออกเสียงได้แต่ก็มักถูก
เพิกเฉย ละเลย อย่างเลือกปฏิบัติจากรัฐ

กรณีตัวอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน
          ดังที่กล่าวถึงไปแล้วในเบื้องต้นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในส่วนนี้จะนำเสนอ 3 กรณีตัวอย่างซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทย เพื่อให้เห็นภาพความสัมพันธ์ที่ชัดเจนและ
ครอบคลุมมากขึ้นระหว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
          หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิพลเมือง กรณีตัวอย่างการละเมิดสิทธิในกระบวนการ
ยุติธรรม : กรณีนี้มีสองประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเด็นแรก คือ การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ต่างกัน โดย
ที่ตั้งของศาลในบางจังหวัดที่ห่างไกลผู้คน เดินทางลำบาก บริการขนส่งสาธารณะมีน้อยหรือเข้าไม่ถึงย่อมซ้ำเติมให้
คนยากคนจนมีความลำบากมากขึ้นในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคนที่ไม่มียานพาหนะเป็นของ
ตัวเอง โดยส่วนใหญ่มักจะต้องอาศัยยานพาหนะของเพื่อนบ้านหรือญาติมิตรซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นไปอีก
ประเด็นที่สอง คือ การเชือดไก่ให้ลิงดู โดยปกติไก่ที่ถูกเชือดมักจะไม่ใช่คนชั้นสูงแต่เป็นคนไร้อำนาจต่อรองในสังคม
อาทิ กรณี “ไผ่ ดาวดิน” จากการถูกขับคุกและถอนสิทธิประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีในความผิดกฎหมายอาญา
มาตรา 112 ที่ไผ่เหมือนเป็นไก่ซึ่งถูกเชือด ขณะที่คนแชร์ข่าวเดียวกันอีกร่วม 2,000 คน และสื่อบีบีซีซึ่งเป็นต้นทาง
เผยแพร่ข่าวกลับไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ ทั้งสองประเด็นล้วนสะท้อนให้ถึงการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมรวม
ไปถึงสิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตที่ประสบแก่คนชนชั้นกลางถึงล่างซึ่งปราศจากอำนาจต่อรองในสังคม
(สุรพศ ทวีศักดิ์, 2560, ออนไลน์)
          สอง ความเหลื่อมล้ำส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิทางการเมือง กรณีตัวอย่างโครงการนิคมอุตสาหกรรม
จะนะ : กล่าวคือสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญของคนอำเภอจะนะนั้นไม่ได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดย
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะได้รับการอนุมัติโดยมิได้ฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ก่อน และแม้จะมีการทำ
ประชาพิจารณ์เกิดขึ้นตามมาภายหลังแต่ก็มีลักษณะที่เป็นเพียงพิธีกรรมสร้างความชอบธรรมเนื่องจากประชาชน
ส่วนใหญ่ซึ่งคัดค้านมิได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิในการเลือกวิถีชีวิตและ
จัดสรรทรัพยากรของคนในชุมชน อันเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจที่กลุ่มทุนทางธุรกิจได้รับเหนือกว่า
ชาวบ้านปกติธรรมดาทั่วไป
          สาม ความเหลื่อมล้ำส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิทางสังคม กรณีตัวอย่างบริการด้านสาธารณสุขและ
การศึกษา : กรณีแรกด้านสาธารณสุข กล่าวคือ ช่องว่างระหว่างรายได้และความมั่นคงซึ่งส่งผลให้สิทธิของคนจน
กับสิทธิคนรวยไม่เท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดความต่างระหว่างคุณภาพของการรักษาที่คนรวยได้รับจากโรงพยาบาล
เอกชนซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าโรงพยาบาลรัฐที่คนจนต้องมาเข้าแถวรอกันแต่เช้าตรู่ หลายครั้งหลายหนเตียงผู้ป่วยก็
มิพอต้องล้นออกมาริมระเบียง อีกหนึ่งปัญหาคือความเหลื่อมล้ำในการเลือกปฏิบัติในบางโรงพยาบาลของรัฐที่
กำหนดให้มีห้องพิเศษสำหรับคนในวงศ์ตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นการเฉพาะซึ่งบริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาล กรณี
ที่สองด้านการศึกษา อาจแบ่งย่อยหลัก ๆ ได้เป็นสองประเด็น หนึ่งคือสิทธิทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่าง
เด็กในเมืองและเด็กในชนบท โดยโรงเรียนในเมืองมีอุปกรณ์การเรียนที่ครบครัน และระบบขนส่งสาธารณสุขที่
สะดวกสบายกว่าซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายและกว้างขวางมากขึ้น สองคือการละเมิดสิทธิในโอกาสที่จะเข้า
รับการศึกษา โดยการทุจริตรับสินบนซึ่งยื่นโดยผู้ปกครองที่มีรายได้มากกว่าเพื่อซื้อที่นั่งพิเศษในโรงเรียนให้บุตร
หลานของตน ส่งผลให้เด็กที่ต้องดิ้นร้นพยายามจะสอบเข้าโรงเรียนเดียวกันอาจเสียสิทธิเพราะการแข่งขันที่ไม่เป็น
ธรรม

แนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
          ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กล่าวถึงข้างต้นคงจะคาราคาซังไปอีกนานหากมิถูกแก้ไขให้ตรงจุด ในส่วนนี้
ผู้เขียนจึงมุ่งหมายที่จะเผยเปิดให้เห็นว่าสังคมไทยควรจะหยิบแนวทางใดมาใช้ เริ่มต้นกันจากการทบทวนแนวทาง
ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายตอนหนึ่งว่า
“รัฐบาลมุ่งมั่นจะพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง มีการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง
แก้ปัญหาปากท้องและสร้างรายได้แก่ประชาชนให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งเป็นส่วนที่
สะท้อนว่ารัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยรูปธรรมของแนวทางถูกกำหนดไว้เป็น 1 ใน
หกด้านของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ผ่านมาตรการใน 2
รูปแบบ คือ การจัดสรรสวัสดิการเพื่อประชาชนให้กลุ่มต่าง ๆ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นต้นและการเพิ่ม
โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการในลักษณะดังกล่าวรวม ๆ ประมาณ 40 โครงการ
(เวิร์กพอยท์, 2561, ออนไลน์) จากข้อมูลข้างต้นนี้อาจกล่าวได้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมุ่งเป้าแต่
เฉพาะเรื่องสวัสดิการทางสังคมเป็นสำคัญ และมิครอบคลุมด้าน อื่น ๆ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่น่าจะ
ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมมากขึ้น
          ต่อมาเป็นแนวทางของนักวิชาการที่หยิบยกมากล่าวถึงคือ สมชัย จิตสุชน (2563, ออนไลน์) ซึ่งเขียนถึง
แนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไว้ 10 ประการ โดยสรุป ได้แก่ 1) ทุกนโยบายสำคัญของรัฐบาลต้องคำนึงถึง
มิติความเหลื่อมล้ำเสมอ จะใช้แนวคิดเดิมว่าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแล้วทุกอย่างจะดีเองไม่ได้ ควรต้องศึกษาอย่า
จริงจังว่านโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมาสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ 2) ต้องแบ่งหน้าที่ระหว่างภาครัฐ
และเอกชนให้ดี สิ่งที่ทำได้คือการลดบทบาทในภาคการผลิตของรัฐบาล เน้นเอื้อให้เอกชนเป็นหัวจักรแทนด้วยการ
ยกเลิกกฎระเบียบที่มากมายและเป็นปัญหาในการทำธุรกิจ ลดขนาดรัฐวิสาหกิจ เช่นนี้จะช่วยให้รัฐเหลือ
งบประมาณด้านสังคมมากขึ้น 3) การกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลังออกจากส่วนกลาง พร้อมทั้ง
ยกระดับธรรมาภิบาลของการบริหารภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนด
นโยบาย 4) ยกเครื่องความสามารถในการควบคุมการผูกขาด โดยการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าต้อง
เห็นผลสัมฤทธิ์มากกว่าปัจจุบัน 5) ลดช่องว่างคุณภาพการศึกษาโดยลูกคนรวยต้องไม่ล้ำหน้าเกินลูกชนชั้นกลาง
ล่างหรือรากหญ้าจนยากรับได้เช่นปัจจุบัน 6) ยกระดับการประกันสุขภาพ โดยสิทธิประโยชน์จากสามกองทุนต้อง
ไม่ห่างกันมากและขยับเข้าใกล้บริการเอกชน โดยต้องมีความยั่งยืนทั้งทางด้านการเงินการคลังและด้านการ
ให้บริการ คือต้องตอบทั้งโจทย์ของคนไข้และของผู้ให้บริการ 7) วางแนวทางเตรียมตัวสู่สังคมอายุยืนที่ไม่ใช่เพียง
รอให้คนสูงอายุแล้วมาแก้ปัญหา ควรเป็นนโยบายเชิงรุกมากกว่า 8) ดูแลผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำของ
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง 9) สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อ “คน
จนและผู้ด้อยโอกาส” เสียใหม่ ไม่มองว่าเขาเหล่านั้นเป็นขี้เกียจ ไม่รักดี ต้องมองว่าเขาเป็นคนเหมือนเรา 10)
สังคมต้องมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ คือประชาธิปไตยที่รับรองสิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของพลเมืองทุกคนอย่าง
เท่าเทียมกัน ลดทอนการครอบงำทางการเมืองของผู้มีอำนาจและอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นอำนาจเงินหรืออำนาจใด ๆ
          สำหรับผู้เขียนมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำจะต้องได้รับการแก้ไขใน
ลักษณะที่คู่ขนานกันไป ด้วยแนวทาง 3 ประการ ได้แก่ 1) การเสริมสร้างเสรีประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งใน
สังคม เพื่อลดทอนความเป็นเผด็จการอันเป็นอำนาจที่ใช้บังคับโดยมิชอบและนำมาสู่การละเมิดสิทธิประชาชน
บ่อยครั้ง 2) การยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเข้าถึงง่ายขึ้น 3) การ
เสริมสร้างความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ชาวบ้านในชุมชนและเยาวชนเกิดความเข้าใจและตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น โดย
อาจจำเป็นต้องอาศัยนักวิชาการในพื้นที่เริ่มต้นสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เรื่องดังกล่าวขึ้น ตลอดรวมไปถึงหลักสูตร
การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการก็ควรปรับให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะมีห้องเรียนหรือคาบ
เรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปเลยด้วยซ้ำ

บทสรุป
          โดยสรุปดั่งที่ได้เน้นยำไปในหลายประโยคก่อนหน้าแล้วว่า “ความเหลื่อมล้ำคือปัญหาที่เอื้อให้การละเมิด
สิทธิมนุษยชนยังคงอยู่” เพราะความเหลื่อมล้ำจะทำให้คนในสังคมนั้น ๆ ไม่เท่าเทียมกันและแบ่งคนออกเป็นสอง
กลุ่ม หนึ่งคือคนที่มีอำนาจมากกว่า ถืออภิสิทธิ์เหนือกว่า สองคือคนที่ไม่มีอำนาจใด ๆ หรือมีอำนาจน้อยในการ
ต่อรองทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยโครงสร้างของสังคมไทยให้ที่ทางและสิทธิพิเศษบางประการทั้งที่
มองเห็นอย่างแจ่มชัดและมองไม่เห็นอีกจำนวนมากแก่คนกลุ่มแรก และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าสิทธิพิเศษเหล่านั้น
กระทบอย่างจังต่อสิทธิอันพึงจะได้รับของคนกลุ่มที่สอง ซ้ำร้ายหนักกว่านั้นคือการที่คนกลุ่มแรกใช้สิทธิพิเศษของ
ตนกดทับ เบียดขับและละเมิดสิทธิของคนกลุ่มแรกอย่างแทบจะเป็นเรื่องปกติสามัญ
          การเดินหน้าแก้ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำและละเมิดสิทธิมนุษยชนให้หายหดหมดไปหรือบรรเทาระดับ
ความรุนแรงลงคงมิอาจกระทำได้ด้วยเพียงอาศัยบุคคล องค์กร หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งเป็นการเฉพาะ
เนื่องจากปัญหาประการนี้เกี่ยวพันกับโครงสร้างทางสังคมและจำต้องอาศัยพลวัตจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง
กล่าวคือ ภาคส่วนของรัฐบาลก็ต้องออกนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรมในการจัดการกับปัญหา โดย
ดำเนินการให้มีความครอบคลุมความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ภาคส่วนตุลาการก็จำเป็นจะต้องผดุงความยุติธรรมตัดสิน
คดีความโดยปราศจากการครอบครอบงำจากอำนาจเงินและอิทธิพลมืด ภาคส่วนนิติบัญญัติก็ให้ปรึกษาหารือ
ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการขจัดความเหลื่อมล้ำและคุ้มครองมิให้เกิดการ
ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ภาคประชาชนก็ควรศึกษาทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิด
การตระหนักรู้อย่างจริงจรัง พร้อมกันนั้นจะต้องมิยอมให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมาละเมิดสิทธิไปด้วยเงินจำนวน
เพียงน้อยนิด เพราะหากเป็นเช่นนั้นแม้จะปรากฏนโยบายที่จัดการความเหลื่อมล้ำมากมายหรือมีกฎหมายคุ้มครอง
สิทธิออกมาสักกี่ฉบับปัญหาทั้งสองประการก็อาจจะยังคงอยู่ จนกว่าประชาชนที่ถูกกดทับและถูกละเมิดสิทธิจะเข้า
มีบทบาทเป็นพลวัตในการแก้ปัญหาด้วยการยืนหยัดต่อสู้และละทิ้งการหมอบกราบให้แก่อำนาจเงินอย่างจริงจัง

เอกสารอ้างอิง

ชุดความรู้สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิ
          มนุษยชนที่ประเทศไทยภาคี. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม. สืบค้นจาก
          http://www.rlpd.go.th/rlpdnew/images/rlpd_1/HRC/nhr.pdf
ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์. ตีแผ่ปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นไปได้แค่ไหนที่จะลดช่องว่างระหว่าง
          คนจนและคนรวย. (13 ธันวาคม 2562).The Standard. สืบค้นจาก https://thestandard.co/thaiinequality/
นายกฯ แนะเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติในรายการศาสตร์พระราชาฯ. (22 ธันวาคม 2561).
          เวิร์กพอยท์ทูเด. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/นายกฯ-แนะเร่งแก้ปัญหาคว/
สุรพศ ทวีศักดิ์, “แพะ-ไก่ กระบวนการยุติธรรม”. (23 มกราคม 2560). สืบค้นจาก
          http://www.lokwannee.com/web2013/?p=254745
สมชัย จิตสุชน, ความเหลื่อมล้ำ 2020 (ตอน 2) : เราควรทำอะไร . (30 มกราคม 2563). สืบค้นจาก
          https://tdri.or.th/2020/01/thai-inequality-what-we-should-do/
สมมิตร โตรักตระกูล .ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมด้านสิทธิและโอกาสในสังคมไทย.
          สืบค้นจาก http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/doc_pr/ndc_2560-2561/PDF/8548e/8548สม
          มิตร%20โตรักตระกูล.pdf
อติวิชญ์ แสงสุวรรณ. (2558). ความเหลื่อมล้ำ. กรุงเทพฯ : สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภา
          ผู้แทนราษฎร.
อันดับ 1 โลก ไทยเบียด ‘รัสเซีย’ ขึ้นแชมป์เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ. (6 ธันวาคม 2561).
          ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/society/1438630