ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยกับสิทธิมนุษยชน :
วิกฤตโควิด พิษการศึกษา
นางสาวนันทัชพร ศรีจันทร์

 

บทคัดย่อ
          ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมานานนับทศวรรษ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
เป็นปัญหาที่เด็กไทยนั้นไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้พอที่จะสนับสนุนการทำงานในอนาคต ซึ่งอาจเกิดจาก
ครอบครัวแบกรับภาระทางการเรียนไม่ไหว ทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน หรือจำต้องได้รับการศึกษาใน
รูปแบบพิเศษ เนื่องจากความพิเศษของสภาพร่างกาย แต่หาได้มีหลักสูตรรองรับการเรียนรู้ไม่
          บทความนี้พยายามจะสื่อถึงการเชื่อมโยงเหตุแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับความเหลื่อมล้ำทาง
การศึกษานั้นมีรากฐานมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคม ดังนั้นไม่สามารถใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับ
นักเรียน นักศึกษาทุกคน ทุกประเภทได้ เนื่องจากการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาของแต่ละบุคคลนั้นย่อมแตกต่างกัน
ไปตามสภาพคล่องในแต่ละครัวเรือน
          เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวบทความนี้จะแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนแรก ในส่วนนี้จะกล่าวถึงข้อมูล
และประเด็นสำคัญอันเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันมีเหตุเชื่อมโยงถึงการละเมิดสิทธิในการศึกษา
รวมถึงวัตถุประสงค์ของบทความที่ผู้เขียนต้องการให้ตระหนักถึง ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่รับรองสิทธิในการศึกษา
ทั้งกฎหมายจารีตประเพณี ระหว่างสนธิสัญญาอันเกี่ยวกับการศึกษาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเป้าหมายระดับ
สากลอย่างเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งหลักการคุ้มครองสำคัญที่บังคับตาม
สิทธิมนุษยชนเพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิในการศึกษา ส่วนที่สอง จะชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาการศึกษาใน
ปัจจุบันที่เป็นเหตุหลักในทัศนะของผู้เขียนอันทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งทา้ ยที่สุดแล้วนั้นทำ
ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการศึกษา และส่วนสุดท้ายเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบายในการปรับปรุงแก้ไข
เยียวยาช่องว่างการละเมิดสิทธิในการศึกษาอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และการเยียวยาแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจาก
ระบบการศึกษา

บทนำ
          เด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือเด็กที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่
ไม่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ด้อยโอกาสจากการมองข้ามของรัฐ ซึ่งแนวทางการพัฒนาประเทศใน
ปัจจุบันอาจมองว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นภาระของประเทศ เป็นประชากรตกชั้น ไม่มีส่วนในการช่วยขับเคลื่อน
ประเทศ จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ
ทางการศึกษา ทำให้เด็กเหล่านั้นหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเท่ากับว่าเด็กนั้นถูกจำกัดโอกาสในการ
ประกอบอาชีพหรือความเจริญก้าวหน้าของอนาคต ไม่เพียงเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเรื้อรังต่อไป
ยังอาจนำมาซึ่งปัญหาสังคมได้อีกมากมาย เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และปัญหา
การก่ออาชญากรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน
ยิ่งทำให้เกิดรอยร้าวความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นกว้างมากขึ้น
          สิ่งที่ต้องชี้ให้เห็นในบทความความเหลื่อมล้ำกับสิทธิมนุษยชนคือ การสะท้อนปัญหาให้เห็นเหตุแห่งความ
เลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบันนั้นว่าเชื่อมโยงกับพิษเศรษฐกิจเรื้อรัง สภาพคล่องทางการเงินในแต่ละครัวเรือน
ว่าเงินกระแสหลักที่นำมาจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบันนั้นมาจากช่องทางใด มาจากพ่อแม่ที่รับจ้างรายวัน หรือมาจาก
เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุของตายาย สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่นั้นเอื้ออำนวยต่อการศึกษาทางไกลหรือไม่
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงจุดเกิดเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสังคม ในท้ายที่สุดอาจ
นำมาซึ่งการละเมิด หรือ ลิดรอนสิทธิในการศึกษา ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเป็นปัญหาที่แก้ไม่รู้จัก
จบสิ้น จึงแสดงให้เห็นว่ารัฐบกพร่องต่อการให้หลักประกันสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน
          ซึ่งการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวนั้นต้องมีการกำหนดนโยบายควบคุมสภาพปัญหามิให้เกิด
รอยร้าวแห่งความเหลื่อมล้ำที่กว้างไปมากกว่าเดิม เหตุเนื่องจากเด็กแต่ละคนนั้นมีศักยภาพในการเข้าถึง
การศึกษาที่แตกต่างกัน ทั้งปัจจัยภายนอกในทัศนะของอุปกรณ์ และปัจจัยภายในในทัศนะของเรื่องประสิทธิภาพ
ทางร่างกาย ซึ่งรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการและมาตรฐานรองรับเด็กในทุกประเภท หากรัฐไม่มี
มาตรการหรือนโยบายมาแก้ไข ร้อยละของเด็กที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษานั้นย่อมมีมากขึ้น เป็นที่
ประจักษ์ว่า เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้านั้นนั้น กลับถูกชาติลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาเสียเอง
อันส่งผลให้เด็กคนนั้นถูกจำกัดความเจริญก้าวหน้าของอนาคต ท้ายที่สุดเด็กเหล่านั้นก็จะกลายเป็นกลุ่มเปราะบาง
กลายเป็นประชากรตกชั้น รวมทั้งปริมาณแรงงานล้นตลาดก็เพิ่มมากขึ้น

1.บทบัญญัติกฎหมายที่รับรองสิทธิในการศึกษา
          1.1 กฎหมายจารีตประเพณีด้านสิทธิมนุษยชน
          บุคคลใดไม่ว่าอยู่ในโลกนี้ย่อมได้รับการประกันสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็น
มาตรฐานขั้นต่ำสุดในการเป็นมนุษย์ ซึ่งแม้มิได้มีผลบังคับทางกฎหมายเหมือนอย่างสนธิสัญญา หรือข้อตกลง
ระหว่างประเทศ แต่ก็มีพลังสำคัญอย่างศีลธรรม จริยธรรม ที่รัฐควรตระหนักถึงตั้งแต่รากฐานอันจะส่งผลให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงของชาติ ในอนาคต อย่างเช่น สิทธิในการศึกษา
          ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา ดังปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 26 ได้ให้รายละเอียดไว้ว่าการศึกษา
นั้นจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษานั้นต้องเป็นการบังคับ การศึกษา
ทางเทคนิควิชาชีพต้องเป็นการทั่วไป และการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบน
พื้นฐานความเหมาะสม โดยการศึกษานั้นจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ โดยผู้ปกครอง
ย่อมมีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกประเภทการศึกษาให้แก่บุตรของตน ทั้งนี้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 25
ยังระบุรายละเอียดไว้ว่าเด็กทั้งปวงไมว่ ่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
          1.2 สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี
          กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในการศึกษามากที่สุด คือ เด็ก เนื่องจากเด็กนั้น
เปรียบเสมือนรากฐานของอนาคต โดยประเทศไทยนั้นได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในปี
ค.ศ. 1992 สิทธิเด็กนั้นเป็นสิทธิสากล และเป็นสิทธิเด็ดขาดที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง และการรับรองตาม
พันธกรณีระหว่างประเทศ โดยสาระสำคัญในการคุ้มครองของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนี้แบ่งออกเป็น 5 ส่วน
ซึ่งสอดประสานกับสิทธิที่ได้รับการรับรองในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี อันได้แก่
คุ้มครองบุคคลซึ่งเป็น “เด็ก” คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมาย
เป็นผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิต่างๆภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กล่าวคือ รัฐบาลมีพันธุผูกพันที่จะ
ดำเนินการให้เด็กทุกคนในประเทศไม่ว่าใครก็ตามให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
ทั้งยังต้องรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ
          “สิทธิที่จะมีชีวิตรอด” เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเกิด มีสิทธิที่จะมีชื่อ มีสัญชาติ รวมทั้ง
การได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมโดยรัฐมีหน้าที่ประกันสิทธิเหล่านี้โดยการจัดหาบริการพื้นฐานเพื่อให้
เด็กมีชีวิตรอด และเติบโตอย่างแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสาธารณสุข ด้านโภชนาการ เป็นต้น
          “สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง” เด็กเมื่อเกิดและรอดชีวิตมาแล้วนั้นย่อมต้องได้รับความคุ้มครอง
จากการใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ โดยรวมไปถึงการคุ้มครองจากการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย
การทำงานอันเป็นอันตราย การขัดขวางการศึกษา กาคุ้มครองจากการค้ามนุษย์ การล่วงละเมิดทางเพศ และการ
แสวงหาประโยชน์กับเด็กในทุกรูปแบบ โดยรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจกลับสู่สังคมอย่างมี
ศักดิ์ศรี นอกจากนั้นในกระบวนการพิจารณาคดีรัฐจะต้องถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ มีการจัด
นักจิตวิทยาสำหรับเด็กในการสอบปากคำการสืบพยานเด็ก เป็นต้น
          “สิทธิในการได้รับการพัฒนา” เนื่องจากเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กต้องได้รับการบริการพัฒนาปฐมวัย
และต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่หลากหลาย หากเด็กมีความจำเป็นพิเศษ เช่น
เด็กพิการ ก็ต้องได้รับการดูแลให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังสามารถเติบโตพึ่งพาตนเองได้
อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนมีส่วนร่วมในชุมชน โดยสิทธิด้านการพัฒนานี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาความสามารถ
ทางด้านร่างกาย จิตใจ
          “สิทธิที่จะมีส่วนร่วม” เด็กนั้นสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้อย่างเสรี หรือเข้ามา
มีบทบาทในเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเด็กเอง โดยภาครัฐนั้นมีหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กให้เข้า
มาแสดงความเห็นและใช้ศักยภาพของตนเองเปลี่ยนแปลงสังคม แต่อย่างไรก็ดีความเห็นของเด็กเช่นว่านั้นต้อง
ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังตามสมควรแก่อายุ และวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น
          1.3 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals –
SDGs )

          สหประชาชาติเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้มีการออกเอกสารอันเป็น
กรอบดำเนินการของรัฐบาลทั่วโลก โดยเอกสารนั้นถูกอ้างอิงถึงในการทำงานภาคประชาสังคมจำนวนมาก
ฉบับแรก ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) ซึ่งรัฐบาล
และหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยแย้งว่าไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย จึงได้มีการพัฒนามาเป็นเป้าหมายการ
พัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs ) แต่อย่างไรก็ดีเอกสารทั้งสองฉบับมิได้มีการ
ผูกพันกับรัฐโดยตรงเช่นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีการลงนามร่วมผูกพัน แต่เนื้อหาในเอกสารทั้งสองฉบับนั้น
เป็นการนำหลักการสำคัญทั้งหลายที่มีอยู่ในกฎหมายสนธิสัญญาอื่นๆที่รัฐนั้นร่วมผูกพันอยู่แล้ว การอ้างอิงเอกสาร
ทั้งสองฉบับนี้จึงเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามในลักษณะที่สนับสนุนสิทธิในการศึกษาแก่ประชากรในรัฐนั้นๆ
ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็น
ภาคี อาทิ เป้าหมายที่ 4 SDGs ที่ต้องการการรับรองการศึกษาที่เท่าเทียม และทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
แก่ทุกคน ก็สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 25 และข้อ 26 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และยังเป็นไป
ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กว่าด้วยการมีสิทธิในการพัฒนาตนเอง
          ดังนั้นการอ้างอิงเป่าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา
กฎหมายและนโยบายๆเพื่อจัดบริการสาธารณะ และสนับสนุนส่งเสริมสิทธิในการศึกษาให้แก่เด็กอันเป็นอนาคต
ของชาติ จึงเป็นการกล่าวอ้างบนฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยเป็นภาคี และมีผลผูกพันอยู่
ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนั้นเอง

2.หลักการคุ้มครองและบังคับตามสิทธิมนุษยชนเพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิในการศึกษา
          หลักการสำคัญในการบังคับตามสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนาในสิทธิด้านการศึกษา เป็นการสร้าง
มาตรการรองรับทางสังคมให้แก่บุคคลผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอันเนื่องจากความเหลื่อมทางโอกาสในการได้รับสิทธิใน
การศึกษา ตามหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งจะสะท้อนออกมาในกระบวนการที่อิงสิทธิเป็นพื้นฐาน
(A right-based Approach) ให้มีการยอมรับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสี่ยงโดยรัฐต้องประกันสิทธิให้เพิ่มขึ้น
ตามลำดับ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ หลักการที่สำคัญของกระบวนการประกอบด้วย

  • หลักการห้ามเลือกปฏิบัติ
  • หลักการมีส่วนร่วม
  • หลักการส่งเสริมการมีส่วนร่วม

          กระบวนการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายได้มีโอกาสเข้าร่วมกำหนดนโยบาย
บังคับใช้ และตรวจสอบ ส่งผลให้ปัจเจกชนผู้ได้รับผลกระทบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำในโอกาสการได้รับสิทธิใน
การศึกษาจากการเพิกเฉย หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถอ้างให้รัฐ เคารพ ปกป้องและมอบความเป็นธรรม
แก่สิทธิมนุษยชนให้แก่ตนและกลุ่ม อันจะทำให้การบังคับใช้สิทธินั้นมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เริ่มจากการ
สร้างความมั่นคงแก่เด็กผู้ยากไร้ แรงงานเด็ก ผู้ซึ่งด้อยโอกาสในการศึกษา เครื่องข่ายประชาสังคม ไปสู่การ
ตอบสนองของภาครัฐ ออกมาในรูปแบบของมาตรการอ้างอิงสิทธิ (Right-based Approach) โดยการแก้ปัญหา
สิทธิมนุษยชนนั้นต้องเริ่มการบวนการจากประชาชนไปสู่การตอบสนองของภาครัฐ คือ เริ่มจากการเสริมสร้างความ
มั่นคงของปัจเจกชน กลุ่ม ชุมชน เครือข่ายประชาสังคม ไปสู่การตอบสนองของภาครัฐ ออกมาในรูปแบบ
กระบวนการที่อิงสิทธิมนุษยชน (Human Right-based Approach)

3.สภาพปัญหาการศึกษาในสังคมปัจจุบัน
          3.1 การศึกษาที่มีคุณภาพนั้น คือโอกาสที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ในระยะยาวได้ ขณะเดียวกัน
นั้นการเข้าถึงการศึกษานั้นแตกต่างกันไปตามสถานะทางเศรษฐกิจ และสังคมของครอบครัว เขตที่อยู่อาศัย เช่น
ชาวไทยภูเขา ชาวชายขอบ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อโลกเผชิญกับสภาวะวิกฤต
กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การเรียนออนไลน์ และการเรียนทางไกลผ่านโทรทัศน์ จึงเป็นทางออกใน
การแก้ปัญหาการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการนำมาปรับใช้ตามแนวคิด “การเรียนรู้นำการศึกษา โรงเรียนอาจ
หยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้” แต่ในอีกทัศนะกลับพบว่ามีประชากรจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงนโยบายการเรียน
ออนไลน์นี้
          จากการสำรวจพบว่าความพร้อมของครอบครัวที่มีความพร้อมแก่ลูกในการเรียนออนไลน์ นั้นมีเพียงร้อย
ละ 12 เท่านั้น เนื่องจากการเรียนออนไลน์นั้นมีปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านอุปกรณ์ที่จะใช้เรียน
ออนไลน์ ด้านสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ใช้เชื่อมต่อสัญญาณโทรทัศน์ หรือแม้แต่ตัวเครื่องโทรทัศน์เสียเอง ยังมีหลาย
หลังคาเรือนที่ไม่มีแม้กระทั่งโทรทัศน์ไว้ใช้ในการเรียนออนไลน์ หากแต่พึ่งพาโทรทัศน์ของเพื่อนบ้านในละแวก
เดียวกัน ในบางพื้นที่อาจมีอุปกรณ์ในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์พร้อม แต่คนในครอบครัวอาจไม่พร้อม
กล่าวคือ หากสภาพครอบครัวที่พ่อแม่ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัวนั้นมีอาชีพเป็นเกษตรกร หาเช้ากินค่ำ รับจ้าง
รายวัน หรือเด็กบางคนอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ ยิ่งยากที่จะประคับประคองให้ลูกหลานนั้นเรียนทางออนไลน์ หรือ
เรียนทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          จากการสำรวจข้างต้นทำให้มองเห็นช่องโหว่ในการได้รับการศึกษาของเด็ก อันล้วนมีรากฐานมาจาก
สภาพปัญหาเศรษฐกิจในสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพการเงินของครอบครัว บางครอบครัวไม่มีอุปกรณ์ ก็
จำต้องซื้อให้ลูกหลานได้เรียนออนไลน์ หรือบางพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือไฟฟ้าดับเป็นประจำ หรือบางครอบครัว
มีบุตรหลายคนหลายระดับชั้นก็ไม่สามารถมีอุปกรณ์ที่เพียงพอต่อการเรียนออนไลน์ หรือ เรียนทางไกลของบุตรทุก
คน ทั้งนี้การศึกษายังไม่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มชนบางกลุ่ม เช่น ชาวมุสลิม ทั้งยังไม่มีนโยบายที่สอดรับสนับสนุนแก่ผู้ที่
อยู่ในกลุ่มการศึกษาพิเศษ ผู้พิการ ผู้ที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ นักเรียนหรือเด็กเล็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถ
เลี้ยงได้ นักเรียนที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไม่เกื้อหนุนต่อการเรียนรู้
          3.2 ปัญหาในสถานศึกษา ส่วนใหญ่นั้นเป็นปัญหาในมิติสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน การที่นักเรียนและ
คุณครูได้มีปฏิสัมพันธ์ถามตอบระหว่างกัน มีการแสดงความคิดเห็น กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ย่อมทำให้มี
ประสิทธิภาพในการเรียนมากกว่าการเรียนผ่านออนไลน์ หรือการเรียนทางไกล ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับ
การล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาบ่อยครั้งขึ้น โดยการล่วงละเมิดทางเพศนั้นเกิดจากบุคลากรในสถานศึกษานั้น
เสียเอง เหตุการณ์ชี้ให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยในสถาบันการศึกษาอันเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่เด็ก อาจส่งผล
กระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก อาจทำให้เด็กอับอายและเกรงกลัวที่จะบอกเล่าเหตุการณ์ออกไป รวมถึงการ
กลั่นแกล้งทางสังคมที่อาจเป็นผลตามมา ท้ายที่สุดเด็กก็จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และทำให้รอยร้าวความ
เหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นมาตรฐานของครูผู้สอนนั้นก็เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ทางการศึกษาเช่นกัน กล่าวคือ มีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ครูคนเดียวสอนหลายวิชา เหตุเนื่องจากครูมีไม่พอ ผล
ที่ตามมาจึงทำให้ตัวครูผู้สอนนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความรู้ที่แจ้งชัดในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง จึงทำให้เด็กด้อย
ประสิทธิภาพลงด้วย
          3.3 นโยบายของทางภาครัฐไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของเด็กทุกคน ปัจจุบันการบริหารจัดการของ
ภาครัฐนั้นเป็นแบบบนลงล่าง กล่าวคือ เป็นการร่างนโยบายในลักษณะที่ใช้กับเด็กทุกคน หรือใช้มาตรฐานเสื้อตัว
เดียวสำหรับคนหลายขนาด(one-size-fit-all) เป็นการรักษามาตรฐานการศึกษาให้อยู่ในระดับเดียวกันก็จริง แต่
รูปแบบการสอนนั้นมิได้ปรับให้เข้ากับความต้องการของเด็กที่มีความพิเศษ อาจเป็นผู้มีความบกพร่องทางการ
เรียนรู้ ผู้พิการ และอาจมิได้เหมาะสมกับเด็กทุกวัย ในทุกโรงเรียน หรือทุกพื้นที่
          การเรียนออนไลน์ หรือ เรียนทางไกล รวมทั้งการเลื่อนเปิดเทอมนั้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับการ
รับมือในสถานการณ์ที่เผชิญกับโรคระบาดเช่นนี้ การเรียนออนไลน์นั้นอาจไม่กระทบแก่นักศึกษาในระดับชั้น
มหาวิทยาลัยมากนัก แต่อาจกระทบต่อเด็กเล็กในระดับชั้นอนุบาล และประถมศึกษามากกว่าเนื่องจากยิ่งเด็กเล็ก
เพียงใดการใส่ใจดูแลประคับประคองในการเรียนยิ่งต้องมีมากขึ้นเท่านั้น และในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็ก
ต่อห้องและจำนวนเด็กต่อโรงเรียนน้อยอยู่แล้ว ทั้งมิได้อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ การเปิดการเรียนการสอนตามปกติ
อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเรียนออนไลน์
          3.4 การตอบรับการเข้าทำงานในตลาดแรงงานของประเทศ ในปัจจุบันมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่จบออก
มาแล้วไม่มีงานทำจึงกลายเป็นภาวะคนล้นตลาด เหตุเนื่องจากการรับนักศึกษาเข้าศึกษาของสถาบันการศึกษานั้น
มีในปริมาณที่มาก การเรียนการสอนย่อมมิได้คุณภาพไปด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการรับนักศึกษาที่เน้นปริมาณ
ไม่เน้นคุณภาพ จึงทำให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานของประเทศ

บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
          เด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ล้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกละเมิด
สิทธิและมีอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการทางการศึกษา ด้วยเหตุเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญหน้ากับนโยบายทางการ
ศึกษาของรัฐที่ใช้มาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วน การมองข้ามความหลากหลายของตัวเด็กนั้น นำมาซึ่ง
การลิดรอนสิทธิในการศึกษาในลักษณะกลายเป็นส่วนเกินของสังคมเมื่อมีปัญหากับคนรอบข้างมักถูกตราบาปว่า
เป็นฝ่ายผิด อาจส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย และเป็นตราบาปในใจแก่เด็กคนนั้น ท้ายที่สุดสถานการณ์อาจบีบ
บังคับในเด็กคนหนึ่งออกจากระบบการศึกษาไป ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุด
ด้วยผลการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการทำงานของกลไกที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิด
องค์ความรู้ที่สามารถนำไปส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาแก่เด็กผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
โดยข้าพเจ้าได้สังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน
ประเด็นพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนในการได้รับสิทธิการศึกษา ดังต่อไปนี้
          1.รัฐบาล
                    1.1 รัฐบาลอาจปรับกรอบการทำงานให้เป็นรูปแบบเชิงปฏิบัติมากขึ้น จัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้อง
กับกลุ่มคนที่เปราะบางทางสังคม เพื่อจะได้ประคับประคองการทำงานด้านบริการทางวิชาการ
                    1.2 พิจารณาให้มีการร่างกฎหมายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาของผู้ด้อย
โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รับการคุ้มครองและพัฒนาที่ตรงกับ
สภาพปัญหาและความต้องการมากที่สุด
                    1.3 รัฐบาลอาจเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาเป็นส่วนร่วมจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้อง
กับภารกิจของหน่วยงานที่ปฏิบัติการด้านสวัสดิการ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วน
งานพัฒนาองค์ความรู้ ขีดความสามารถ และระบบการบริหารจัดการด้านการพัฒนาสังคม เฝ้าระวัง ติดตาม
ประเมินผล โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี

          2.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
                    2.1 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อาจทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้อง
กับความต้องการของเด็กไปยังรัฐบาล และจัดเก็บรวบรวมข้อมูลความต้องการของเด็กแต่ละพื้นที่ ประสานกับ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดหานโยบายที่พัฒนาองค์ความรู้ ขีดความสามารถ และระบบการบริหารจัดการ
ด้านพัฒนาสังคมได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของเด็กแต่ละพื้นที่
                    2.2 อาจประชาสัมพันธ์และดึงภาคีเข้าร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างขีดความ
สามารถของนักเรียน นักศึกษา เช่น การสร้างโอกาสและช่องทางในการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาอย่าง
เหมาะสมกับ
ตัวเอง
                    2.3 ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในการศึกษาแก่ผู้ปกครอง ครู รวมถึงคนรุ่นใหม่ โดย
เปิดโอกาสทางความคิดให้แก่เด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทางเลือก ทางออกที่หลากหลายและสามารถ
นำไปปฏิบัติได้จริง และเปิดพื้นที่ใหม่ๆกับคนรุ่นใหม่ซึ่งใส่ใจประเด็นสังคม

          3.กระทรวงศึกษาธิการ
                    3.1 กระทรวงศึกษาธิการอาจร่วมมือกับสำนักงานเขตขั้นพื้นฐาน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่น แต่ละภูมิภาคจัดทำการสำรวจการเข้าถึงการศึกษาของเด็กในแต่ละภูมิภาค และจัดทำนโยบายเน้นการ
ปฏิบัติการเพื่อประคับประคองเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา อันเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำในอันเหตุ
จากอุปกรณ์ การขาดแคลนครูผู้สอนที่เชี่ยวชาญ ทั้งการอยู่สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาให้ได้รับความเป็น
ธรรมในการเข้าถึงสิทธิในการศึกษา
                    3.2 ให้อิสระในการบริหารจัดการแก่สำนักงานเขตขั้นพื้นฐานในแต่ละพื้นที่ และสถานศึกษาทุก
ระดับทุกประเภท เพื่อที่จะได้บริหารจัดการนักเรียน หรือนักศึกษาที่อยู่ในขอบเขตการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากยิ่งขึ้นโดยสามารถปรับรูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับศักยภาพ หรือข้อจำกัดของแต่ละบุคคล และอาจ
ประชาสัมพันธ์เพื่อดึงสมาชิกองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นภาคีร่วมมือกันยกระดับคุณภาพชีวิต และ
ขีดความสามารถของนักเรียน นักศึกษา
                    3.3 ปรับการบริหารตั้งแต่กระบวนการผลิตครูให้ได้ตามมาตรฐานเหมาะสมแก่การเป็นครูผู้สอน
ในแต่ละสาขาวิชานั้น และจัดระบบเงินเดือนอย่างเหมาะสม เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินผลความประพฤติของครู
โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี
                    3.4 ปรับหลักสูตรการศึกษาให้ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงานของประเทศ โดยเน้นที่
คุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยอาจจะกำหนดจำนวนนักศึกษาที่เข้ารับการศึกษาในแต่ละสาขาวิชาของแต่ละ
สถาบันการศึกษา

          4.องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs)
                    4.1 สามารถนำหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนเป็นฐานในการเรียกร้องสิทธิโดยผลักดันข้อเสนอแนะ
หรือนโยบายตามแนวกระบวนการที่อ้างสิทธิที่เป็นพื้นฐาน(A right based-approach) เพื่อ
แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
                    4.2 ใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ(SDGs) เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้
อย่างครบครัน และมีผลผูกพันรัฐให้ปฏิบัติตาม เนื่องจากเนื้อหาของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นรวบรวมมา
จากพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบันอยู่แล้ว

          5.กระทรวงมหาดไทย
          5.1 บริหารจัดการรายได้ และการจ่ายเงินของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีงบประมาณ
สนับสนุน ทั้งในอุปกรณ์ ค่าเล่าเรียน ทุนการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีประสิทธิภาพทัดเทียมกันทุกสถานศึกษาใน
ประเทศ โดยการจัดสรรงบประมาณนั้นขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา จุดบกพร่องที่ในแต่ละสถานศึกษานั้นประสบพบเจอ
          5.2 จัดให้มีการสนับสนุนทุนทางด้านการศึกษาต่อ หรือด้านพัฒนาศักยภาพในการทำงาน รวมถึง
การรับสมัครงานในตำแหน่งที่หลากหลายในแต่ละองค์กรเพื่อที่จะเป็นที่ดึงดูด และรองรับตลาดแรงงาน ทั้งยัง
แก้ไขภาวะแรงงานล้นตลาดในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
ไพสิฐ พาณิชย์กุล, ทศพล ทรรศนกุลพันธ์, เขมชาติ ตนบุญ, สรชา สันตติรัตน์, ชัชวิน วรญญาภา,
          บงกช ดารารัตน์, . . . ,วัชลาวลี คำบุญเรือง. (2560). โครงการศึกษาและวิเคราะห์สภาพปัญหาและ
          ส นับ ส นุน อ งค์ค ว า ม รู้ท า งก ฎ ห ม า ย เพื่อ พัฒ น า คุณ ภ า พ ชีวิต ค น ไร้บ้า น . สืบ ค้น จ า ก :
          https://penguinhomeless.com/wp-content/uploads/2018/01/
นณริฏ พิศลยบุตร. (2559). ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย : อีกหนึ่งปัญหาที่ภาครัฐควรใส่ใจ.
          สืบค้นจาก : https://thaipublica.org/2016/05/pier-4/
ภูมิศรันต์ ทองเลี่ยมนาค. (2563). รับมือการศึกษาในยุคCOVID-19 : ความเหลื่อมล้ำและทรัพยากรของผู้เรียนยิ่ง
          สำคัญ. สืบค้นจาก : https://www.the101.world/covid-19-and-inequality-in-education/
ธันยพร บัวทอง. (2563). เรียนออนไลน์ : การเรียนทางไกลในยุคโรคระบาด กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา.
          สืบค้นจาก : https://www.bbc.com/thai/thailand-52766138
ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย. (2563). เปลี่ยน “เหลื่อมล้ำ”เป็น“เสมอภาค”มองปัญหาการศึกษาไทยกับ ดร.ไกรยส
          ภัทราวาท. สืบค้นจาก : https://today.line.me/th/article/