บทคัดย่อ
บทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอ 1) สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางในสถานการณ์
ปัจจุบัน 2) รากเหง้าปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม 3) ข้อเสนอแนะหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อ
ลดความเหลื่อมล้ำ องค์ความรู้ที่ได้จากบทความชิ้นนี้ผู้เขียนหวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ผู้เขียนได้
ทำการค้นคว้า และรวบรวมข้อมูล จะสร้างความตระหนักให้กับสังคมในในการลดความเหลื่อมล้ำของทางสังคม
ประกอบกับข้อเสนอแนะ วิธีการแก้ไข หรือทางออกที่อาจให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้แก้ไข ปัญหาได้
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
“ความเหลื่อมล้ำ” คือ ความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) ซึ่งเนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันปรากฏในทุกๆ
เรื่อง ทุกๆพื้นที่ ทุกๆภาคส่วน และทุกๆเวลา ดังนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจจะขจัดให้หมดสิ้นไปได้ ความ
เหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการผลิตซ้ำที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย
ร่วมกันโดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่มคนเปราะบาง คนชายขอบ ที่ยังคงเป็นตัวแสดงหลักที่รับบทเป็นผู้
ที่ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน และถูกตีตราอยู่เสมอไป ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดๆก็ตาม ภาพสถานการณ์ในปัจจุบัน
เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำได้ชัดตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่อุบัติขึ้นทั่วโลก
อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้สังคมในทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ
เป็นอย่างมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคราวนี้จึงเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
ในสังคมอีกระลอก และดูเหมือนระลอกนี้จะมีระยะเวลาที่ยาวนานสร้างความสาหัสให้กับผู้คนเป็นจำนวนไม่น้อย
ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การเว้นระยะห่างทาง
สังคม หรือ social distancing การประกาศใช้เคอร์ฟิว (curfew) ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด การ
ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การปิดสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานบันเทิง ฯลฯ เพื่อที่จะสร้างความ
ปลอดภัยในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างก็ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิต
และครอบครัวของพวกเขา หลังจากที่บริษัท ห้างร้าน หรือกิจการต่างๆได้ปิดทำการชั่วคราว กลุ่มคนเหล่านี้จึงตก
งานทันที เท่ากับขาดรายได้ไปโดยปริยาย จึงเป็นเหตุที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา หรือดิ้นรน
หางานเพื่อประคองตนเองให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์นี้ไปให้ได้ แต่สำหรับคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ได้รับความ
เดือดร้อนมากนักในการดำเนินชีวิต มีการทำงาน และมีรายได้ที่เท่าเดิม แต่กลับมีผู้คนบางส่วนนำเอาอำนาจทาง
ฐานะทางเศรษฐกิจมาทำร้ายคนอื่น เกิดวาทกรรมมากมายต่อกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง เช่น การนำวาทกรรม
“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มาเพื่อเป็นสโลแกนการดำรงชีวิตในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ว่า
ทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว แต่ทำไมมีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมปฏิบัติตามทำไมไม่หยุดอยู่บ้าน
“ออกมาข้างนอกทำไม” “ทำไมต้องเดินทางกลับต่างจังหวัด” “แบบนี้ทำให้เชื้อโรคยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่”
วาทกรรมเหล่านี้ถูกหยิบยกเข้ามาเพื่อโจมตีกลุ่มคนที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิตและครอบครัวของพวก
เขา แต่คนที่หยิบยกวาทกรรมนี้ออกมาไม่เคยตั้งคำถามว่ามีอาชีพใดบ้างที่สามารถทำตามมาตรการที่รัฐกำหนดได้
และถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นไม่ดิ้นรนและหยุดอยู่แต่ในที่พักของตนเอง ใครที่จะส่งอาหารเพื่อประทังชีวิตในวันที่
เขาขาดรายได้ รัฐมีมาตรการอะไรที่มารองรับพวกเขาหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ สิ่งที่พวกเขาต้องดิ้นรนหางานทำ
เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์โรคระบาดทำให้หลายคนหมด
หวังกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคม ที่เข้าไม่ถึงสิทธิและไม่ได้รับ
การจัดสรรสวัสดิการจากรัฐในสถานการณ์นี้
ภายหลังของการเกิดสถานการณ์ดังกล่าว รัฐได้พยายามที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยการออก
มาตรการต่างๆ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา โครงการ
จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จัดที่พักอาศัยพร้อมอาหารให้กับคนไร้บ้าน โครงการพัก
ชำระหนี้ของสถาบันการเงิน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ แต่ถึงอย่างไรก็ตามมาตรการของรัฐยังไม่อาจเยียวยาผู้
ที่รับผลกระทบได้ทั้งหมด และยังมีกลุ่มคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ เช่น ในกรณีของโครงการเราไม่
ทิ้งกันมีประชาชนบางส่วนออกมาร้องเรียนกับกระทรวงการคลังถึงเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยา
คนละ 5,000 บาทสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือเกิดข้อถกเถียงต่างๆที่เกิดจากมาตรการดังกล่าวว่าไม่มีความ
ยุติธรรมในการคัดกรอง ในขณะที่มีผู้คนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน แต่กลับมีคนบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
รากเหง้าของปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยเกิดจากระบบเศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญ เราพบว่าการ
แข่งขันในภาคเอกชนถูกลดลง อำนาจทางธุรกิจมีความกระจุกตัวอย่างมาก การทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นโดยง่าย
โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงมีอีกหลายมิติ เช่น ความ
เหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์ ความเหลื่อมล้ำทางผิวสี ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพ ความเหลื่อมล้ำเพราะถิ่นที่อยู่
อาศัย ความเหลื่อมล้ำด้านอายุ สังคม โอกาส และรวมถึงความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (การดู
ถูกหรือรังเกลียดคนจน) ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจตามมา และถ้าหาก
ปัจจัยดังกล่าวยิ่งมีมากเท่าไรความเหลื่อมล้ำยิ่งมีความทวีคูณมากยิ่งขึ้น
เด็กและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ช่องว่างของระดับการศึกษาที่เกิดขึ้นในวงการศึกษาไทย ปัญหาที่เราพบคือเด็กมีโอกาสทางการศึกษาที่ไม่
เท่ากัน กล่าวคือหากเป็นลูกของครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีจะมีโอกาสได้เข้าเรียนสถาบันการศึกษาชั้นนำ
ของประเทศที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคลากร และมีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ถ้าเป็นเด็กที่มาจากฐานะทาง
ครอบครัวที่ยากจนโอกาสที่จะเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีแทบจะไม่มีเลย สังคมมีการแบ่งเกรดหรือจัดอันดับ
สถาบันการศึกษาซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับการแบ่งแยกชนชั้นของเด็กในสังคม จึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
และเกิดการเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่เรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงและเด็กที่เรียนในสถาบันการศึกษาที่อยู่ตาม
ชนบท ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้เรียนในอนาคต เมื่อเด็กเหล่านี้จบการศึกษาแล้วหากไปหางานทำ จะ
พบว่ามีบางหน่วยงานที่เลือกรับเฉพาะสถาบันที่มีชื่อเสียง ทั้งที่ความเป็นจริงนั้นเด็กควรได้รับสิทธิทางการศึกษาที่
เท่าเทียมกัน และมีคุณภาพเหมือนกัน แต่สังคมปัจจุบันกลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหมด ในช่วงสถานการณ์
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เราจะเห็นได้ว่าเด็กจำนวนมากขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาจากภาวะเศรษฐกิจ
หลายคนต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะต้องช่วยครอบครัวทำงานเพื่อแลกกับความอยู่รอด อีกทั้งการนำระบบ
การเรียนแบบออนไลน์มาใช้ เด็กที่มีฐานะยากจนบางคนไม่มีแม้แต่อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการเรียน
อีกทั้งผู้ปกครองยังไม่มีประสบการณ์ในการเรียนการสอนในรูปแบบนี้จึงไม่สามารถให้คำแนะนำแก่ลูกหลานของ
ตนเองได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ของเด็กลดลง ทั้งที่เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาที่ดี
ความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าระบบการบริหารจัดการทาง
สาธารณสุขไทยเราจะอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งถือเป็นลำดับต้นๆของโลก แต่ถ้ามองย้อนกลับมาแล้วยังพบว่า
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรามีความเหลื่อมล้ำทางการให้บริการทางสาธารณสุขอยู่พอสมควร ความเหลื่อมล้ำในการ
เข้าถึงและได้รับบริการที่มีคุณภาพและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมาก จนเป็นปัญหาสำหรับประชาชนและระบบกองทุนเพื่อ
สุขภาพ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่เจริญขึ้นนั้น อาศัยความรู้ทางเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่รับมาจากต่างประเทศ
เป็นหลัก จึงเป็นความก้าวหน้าบนฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้เพิ่มสมรรถนะ และเป็นประโยชน์มากขึ้นใน
การรักษาพยาบาล ช่วยชีวิตผู้ป่วย เป้าหมายอยู่ที่บริการผู้ป่วย สภาพของระบบบริการสุขภาพดังนี้ จึงมีผลให้ค่า
จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยรวดเร็ว ขาดกลไกการควบคุมค่าใช้จ่าย ผู้ที่เจ็บป่วยร้ายแรงต้องเผชิญกับ
ค่าใช้จ่ายจนกลายเป็นคนยากจน ระบบทุนเพื่อใช้รักษาโรคให้แก่ประชาชนต้องใช้เพิ่มขึ้นจนเกินกำลังทางการเงิน
ของชาติ ระบบที่ด้อยประสิทธิภาพและมีทรัพยากรไม่เพียงพอนี้ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ประชาชนได้รับจาก
บริการสุขภาพ นับเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ร้ายแรง คนรวยจะมีโอกาสได้รับการบริการทางสุขภาพในระดับ
ที่ดีกว่าคนจน มีคนคอยให้บริการอย่างสะดวกสบาย ซึ่งต่างจากคนจนหากเกิดการเจ็บป่วยกลับกลายเป็นผู้ได้รับ
บริการทางสุขภาพในฐานะที่เป็นพลเมืองอีกชั้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเช่น หากมีคนไข้ที่มีอาการเดียวกันแต่เข้ารับ
การรักษาโดยใช้สิทธิที่ต่างกันก็จะพบกับการให้บริการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ความเหลื่อมล้ำการจัดสวัสดิการของรัฐ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรควิด 19 มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากภาครัฐจึงมีความ
พยายามที่จะออกมาตรการเพื่อจะช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด
ดังกล่าว โดยมาตรการที่เห็นได้ชัดคือ มาตรการเยียวยากลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ
ประกันสังคม ตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบหลักในโครงการนี้ โดยจะมีการ
ชดเชยรายได้คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน เมษายน ถึง มิถุนายน 2563 ผ่าน
การลงทะเบียนทาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งในช่วงแรกรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
จำนวนเพียง 3 ล้านราย และได้เพิ่มมาเป็น 9 ล้านรายในเวลาต่อมา แต่พบว่ามีผู้ลงทะเบียนจำนวนมากถึง 27
ล้านกว่าคน การดำเนินการของรัฐตามโครงการดังกล่าวพบว่า ค่อนข้างมีอุปสรรคอย่างมาก กล่าวคือในภาวะ
วิกฤตนี้เรากลับพบว่าระบบข้อมูลของภาครัฐค่อนข้างต่างจากความจริงทำให้ประชาชนหลายคนพลาดสิทธิ รวมถึง
ระบบการคัดกรองด้วยระบบ AI ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพทำให้ประชาชนบางส่วนต้องเดินทางมาร้องเรียนที่
กระทรวงการคลังเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการลงทะเบียนดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้
เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีเพื่อลงทะเบียน และถือได้ว่าเทคโนโลยียิ่งทำให้เกิดความ
เหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าว รวมถึงกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้
พิการ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และคนไร้บ้าน ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวนี้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง
ของมนุษย์ มีโครงการช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางแน่นอนแล้ว 13 ล้านคน โดยแจกเงินให้คนพิการ ผู้สูงอายุ
เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี เพิ่มอีกคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เช่น เดิมได้รับเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท ก็จะ
เพิ่มเป็นเดือนละ 2,000 บาท และผู้สูงอายุจะได้เพิ่มจากเบี้ยอีกคนละ 1,000 บาท ขณะที่คนไร้บ้านจะไม่แจกเป็น
เงินแต่จะช่วยหาที่พักอาศัย และอาหารการกินให้แทน จากข้อเท็จที่รัฐเพิ่มเงินเยียวยาให้กับกลุ่มคนดังกล่าว
ผู้เขียนมองว่ารูปแบบของการจัดสวัสดิการดังกล่าวของรัฐของสังคมไทยจะเป็นการจัดสวัสดิการในรูปแบบ
“สงเคราะห์” มากกว่าการให้แบบถ้วนหน้า ถ้าเทียบกันแล้วกลุ่มผู้เปราะบางเหล่านี้ยังไม่อาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดก็ตาม รัฐควรจัดระบบสวัสดิการที่ถ้วนหน้าอย่าง
แท้จริงให้กับกลุ่มคนดังกล่าวและให้ได้รับสวัสดิการที่พร้อมและเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆที่เดือดร้อน ไม่ใช่ว่าจะต้องให้
มีการเรียกร้องออกมาก่อน
ความท้าทายและโอกาส
ถึงแม้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำจะเป็นปัญหาที่น่ากังวลสำหรับในปัจจุบันหรืออนาคต ก็ตาม ซึ่งปัญหา
เหล่านี้คือความท้าทายที่รัฐและทุกคนในฐานะที่เป็นพลเมืองควรร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหา โดยสิ่งที่เป็นแนวทาง
สำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่รัฐได้กำหนดขึ้น คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.
2561-2580) โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคโดยรัฐได้กำหนดเป้าหมาย
ในด้านต่างๆ เช่น เป้าหมายด้านการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ได้แก่ การปรับโครงสร้าง
เศรษฐกิจฐานราก การกระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร การเพิ่มผลิตภาพและคุ้มครองแรงงาน
ไทย ให้เป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยในการทำงาน การสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและ
เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย การลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส การ
สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส การสร้างความ
เป็นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง และถ้าหากรัฐสามารถดำเนินงานตามที่ระบุไว้ใน
ยุทธศาสตร์นี้ได้ภายใน 20 ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำได้โดยปริยาย แต่ถึงอย่างไร
ก็ตามผู้เขียนมองว่าความท้าทายดังกล่าวนี้อาจเป็นไปได้ยาก แผนการดังกล่าวอาจเป็นเพียงหลักการที่ดูสวยหรู
หากรัฐไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้เลย
บทสรุป
รากเหง้าปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเพียงแค่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว
ความเหลื่อมล้ำเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การกำเนิด ชาติพันธุ์ ผิวสี เพศสภาพ ถิ่นที่อยู่อาศัย อายุ สังคม โอกาส
และรวมถึงความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทาง
เศรษฐกิจตามมา และถ้าหากปัจจัยดังกล่าวยิ่งมีมากเท่าไรความเหลื่อมล้ำยิ่งมีความทวีคูณมากยิ่งขึ้น ความเหลื่อม
ล้ำที่เราเห็นได้ชัดในปัจจุบัน เช่น เรื่องการศึกษาที่เด็กได้รับโอกาสและการศึกษาไม่เท่าเทียมกันกล่าวคือเด็กที่มี
ฐานะครอบครัวดีจะได้เรียนในสถาบันการศึกษาชั้นนำ เด็กที่มีฐานะยากจนแทบไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงระบบ
การศึกษาที่ดี ในด้านการบริการทางสาธารณสุขเช่นกัน ในยุคที่การรักษาหรือการบริการทางสาธารณสุขมี
ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น คนที่จะมีโอกาสได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพคือคนรวยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ส่วนคนธรรมดา
ทั่วไปจะได้รับการรักษาหรือบริการในอีกระดับ และการจัดสวัสดิการของรัฐที่ปัจจุบันยังเป็นการจัดสวัสดิการแบบ
ไม่ถ้วนหน้า เช่น ในกลุ่มคนพิการ เด็ก หรือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
เชื้อโควิด 19 กลุ่มคนเหล่านี้ต้องออกมาเรียกร้องรัฐจึงมีการจัดสวัสดิการเพิ่ม เปรียบเสมือนได้ว่าเป็นการ
สงเคราะห์มากกว่า ซึ่งปัญหาที่กล่าวมานี้ถือได้ว่าเป็นความท้าทายว่ารัฐจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร
และภายในอีก 20 ปีข้างหน้ายุทธศาสตร์ของประเทศไทยเราจะบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ
หรือไม่
ข้อเสนอแนะ
1. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำประการแรกคือการเปลี่ยนทัศคติที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หากทุกคน
มองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล จะ
ทำให้มนุษย์เข้าใจความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น
2. รัฐควรเริ่มจากความใส่ใจและตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับทุกชีวิต ให้ทุกคนได้รับสิทธิ
ที่เป็นขั้นพื้นฐานโดยที่ไม่ต้องให้เกิดการเรียกร้อง
3. การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนอกจากตัวชี้วัดแล้วจะต้องมาพร้อมกับวิธีการ
ดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมสามารถปฏิบัติได้จริง
4. รัฐควรให้ความสำคัญกับรากเหง้าของปัญหา โดยเฉพาะระบบการศึกษาของเด็ก พัฒนาความรู้ และ
ศักยภาพของเด็กให้มีความเท่าเทียมเพื่อสร้างโอกาสทางศึกษา และสามารถการแข่งขันได้ในอนาคตอย่างมี
ประสิทธิภาพ
เอกสารอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (18 มิถุนายน 2563). เฮ! ‘เงินเยียวยา’ กลุ่มเปราะบาง งวดแรกเตรียมรับเงิน
ทีเดียว 2,000 บาท. สืบค้น 15 กรกฎาคม 2563, จาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/885624
ฐานเศรษฐกิจ. (17 เมษายน 2563). ดูชัดชัด เทียบสถิติความแข็งแกร่ง “สาธารณสุขไทย” สู้ศึก
โควิดป่วนโลก. สืบค้น 15 กรกฎาคม 2563, จาก https://www.thansettakij.com/content/430180
ไทยโพสต์. (30 พฤศจิกายน 2562). จี้จุดกับดักซ่อน : พบความเหลื่อมล้ำเข้าถึงบริการสุขภาพ.
สืบค้น 15 กรกฎาคม 2563, จาก https://www.thaipost.net/main/detail/51771
วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (1 มิถุนายน 2561). ความเหลื่อมล้ำ คืออะไร ทำความเข้าใจ ความไม่
เท่าเทียมกัน. สืบค้น 12 กรกฎาคม 2563, จาก https://www.prachachat.net/columns/news-
168380
สถาบันพระปกเกล้า. (2562). ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ : ความท้าทายของสังคมไทย. กรุงเทพฯ:
สถาบันพระปกเกล้า.
VOICE ONLINE. (14 เมษายน 2563). เมื่อเงินเยียวยา 5,000 (จำกัด) ความเดือนร้อนของคน.
สืบค้น 15 กรกฎาคม 2563, จาก https://voicetv.co.th/read/cxGc3i3UH
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)