จดหมายเปิดผนึกถึงสถาบันตุลาการ

ประธานศาลฎีกา  อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และศาลยุติธรรมทั่วประเทศ

 

เผยแพร่ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๓

 

                       จากกรณีประชาชน นิสิต นักศึกษา ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง  สื่อมวลชนได้รายงานข่าวว่ามีการออกหมายจับบุคคลจำนวน ๓๑ รายชื่อ และได้มีการจับกุมบุคคลตามหมายจับ อาทิ นายอานนท์ นำภา , นายภาณุพงศ์ จาดนอก , นายพริษฐ์ ชิวารักษ์  ต่อมาในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ ได้มีการจับกุมนายอานนท์ นำภา อีกครั้ง ขณะไปปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ณ ศาลอาญา จากการปราศรัยเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ รวมทั้งได้จับกุมบุคคลผู้มีรายชื่อตามหมายจับอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งวันนี้   โดยเจ้าพนักงานตำรวจยื่นคำร้องขอออกหมายจับต่อศาลโดยไม่ได้ออกหมายเรียกบุคคลก่อนแต่อย่างใด  ทั้งที่ความปรากฏเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่านายอานนท์ นำภา และประชาชนผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม มีเจตจำนงค์ในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ  ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และแสดงออกชัดเจนว่าหากมีหมายเรียกจากเจ้าพนักงานตำรวจ จะเข้าพบแต่โดยดี และเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ ผู้มีรายชื่อตามหมายจับทั้งหมดยังได้ไปแสดงตัวกับเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์

                        สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรที่ร่วมลงนามท้ายจดหมายฉบับนี้ เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ถูกพัฒนาให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ จากเดิมที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับ  ต่อมา “ศาล” เป็นเพียงองค์กรเดียวที่มีอำนาจตามกฎหมายในการออกหมายอาญาได้  ทั้งนี้ เนื่องจากการออกหมายอาญา โดยเฉพาะหมายจับ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง  การใช้ดุลพินิจของศาลในการอนุญาตหรือยกคำร้องขอออกหมายอาญา จึงถือเป็นกลไกการสำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจ สสส. และองค์กรที่ร่วมลงนาม จึงมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

                        ประการแรก ศาลควรใช้ดุลพินิจโดยอิสระในการกลั่นกรองหลักฐานตามสมควรอันเป็นเหตุในการออกหมายจับหรือหมายค้น เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่จากสถิติในการออกหมายจับและหมายค้นของศาลทั่วราชอาณาจักรในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๘ พบว่าศาลได้อนุญาตออกหมายจับตามคำร้องเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๙๔.๓๗ และอนุญาตออกหมายค้นตามคำร้องเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๙๕.๙๐ จากคำขอทั้งหมด  จึงชี้ให้เห็นว่าศาลอาจจะใช้แทบจะมิได้ใช้ดุลพินิจในการกลั่นกรองหลักฐานตามสมควรอันเป็นเหตุในการออกหมายจับหรือหมายค้นโดยละเอียดอีกชั้นหนึ่งแต่อย่างใด[1] และเช่นเดียวกับสถิติการออกหมายจับของศาลระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ๒๕๖๒  มีคำร้องขอออกหมายจับจำนวน ๓๒,๖๒๘ คำร้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาต ๒๙,๓๑๕ คำร้อง (๙๐%) ไม่อนุญาต ๒,๔๕๑ คำร้อง (๘%) อยู่ระหว่างพิจารณา ๕๗๑ คำร้อง ผู้ร้องขอยกเลิก/เพิกถอน ๒๙๑ คำร้อง[2]

                        ประการที่สอง ศาลควรใช้ดุลพินิจเหตุที่จะออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๖ (๒) วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น และวรรคสอง  “ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี”  ซี่งในหลายกรณีที่ผ่านมา รวมถึงกรณีของบุคคลผู้ถูกจับโดยหมายศาลดังกล่าวข้างต้น  แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอาศัยเหตุแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๖(๑) เพียงประการเดียวก็ตาม  แต่ในการใช้ดุลพินิจของศาลในการออกจับตามคำร้องของพนักงานสอบสวนที่จะมีขึ้นในอนาคต  สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ศาล” ในฐานะ “สถาบันตุลาการ” จะใช้ดุลพินิจกลั่นกรองเหตุในการออกหมายจับของเจ้าพนักงานตำรวจให้เคร่งครัดมากขึ้น  และหากพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๖ ประกอบกับเจตนารมณ์แท้จริงแห่งกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้บังคับตายตัวว่าศาลต้องอนุญาตให้ออกหมายจับหากเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีตามมาตรา ๖๖(๑)  เพราะหากเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่าในคดีที่มีอัตราโทษสูงเกิน ๓ ปี ศาลต้องออกหมายจับตามคำร้องฯ ซึ่งการตีความในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นการละเลยสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง  สสส. เห็นว่านอกจากมาตรา ๖๖(๑) แล้ว  มาตรา ๖๖(๒) ได้เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาออกหมายจับหรือยกคำร้องขอออกหมายจับของเจ้าพนักงานตำรวจได้

                        ประการที่สาม  ดุลพินิจของศาลในการอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของเจ้าพนักงานตำรวจ  เป็นดุลพินิจที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง  เพราะต้องปรากฏเหตุและพฤติการณ์อันจำเป็นในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ  แต่เมื่อพิจารณาจากฐานความผิดที่ถูกกล่าวหา ส่วนใหญ่เป็นการปราศรัยต่อสาธารณะ ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานการปราศรัยได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจศาลในการฝากขังแต่อย่างใด  หากศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งที่ไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์อันจำเป็นเพียงพอ ย่อมเป็นการใช้อำนาจศาลรับรองการใช้อำนาจที่ล้นเกินของเจ้าพนักงานตำรวจ ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้     

                        ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีการอาศัยอำนาจของสถาบันตุลาการในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐโดยปราศจากเหตุอันสมควรอย่างแท้จริง  อันถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐที่คุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง  และมีข้อสงสัยอันเชื่อได้อย่างชัดเจนว่าเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์ แต่ทำตามคำสั่งรัฐบาล  สสส. และองค์กรที่ร่วมลงนาม จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สถาบันตุลาการ จะทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างเป็นอิสระ ปราศจากอคติทั้งปวง ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ  หมวด ๑ ว่าด้วยอุดมการณ์ของผู้พิพากษา กำหนดหน้าที่ของผู้พิพากษาไว้ในข้อ ๑ ไว้ว่า 

                        “หน้าที่สําคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี  ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี  ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

 

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

มูลนินิธผสานวัฒนธรรม (CrCF)

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

สำนักกฎหมายเอ็น เอส พี

สำนักงานทนายความเดอทเวันตี้โฟร์ลอว์เยอร์

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน(CRC)
ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม

 

 


[1] “การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกรณีการใช้ดุลพินิจออกหมายค้น หมายจับ โดยศาล” โดย ฐิตชัย  มุ่งสันติ , ๒๕๕๗

[2] https://oppb.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/2101/iid/169819