รายการ “สสส.เสวนาทัศนะ ครั้งที่ 2” วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563
หัวข้อ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวน”
ผู้เข้าร่วมเสวนา
บทบาทของ สสส.ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวน
คุณศยามล ได้กล่าวถึงการผลักดันของ สสส.ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเห็นว่าประเด็นสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สอดคล้องกับนโยบายและแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมี 2 ประเด็น คือ
1) การปฏิรูประบบการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องคดีหรือชั้นเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นกระบวน การยุติธรรมก่อนการดำเนินคดีอาญา เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ หรือเหยื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญา
2) การปรับปรุงระบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งจะปลดภาระของประชาชนและภาระของหน่วยงานของรัฐที่ต้องสูญเสียทั้งเวลาและงบประมาณเป็นจำนวนมากในชั้นก่อนการดำเนินคดีอาญา
สำหรับการปฏิรูประบบการดำเนินคดีอาญาชั้นก่อนฟ้องคดีหรือชั้นเจ้าพนักงานนั้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ การจับกุม ควบคุมตัว ขัง ปล่อยชั่วคราว สอบสวน ชันสูตรพลิกศพ และไต่สวนมูลฟ้อง เหตุผล คือ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการละเมิดมนุษยชนของประชาชน หรือเป็นช่องทางให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ การแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหา การออกหมายอาญา การจับกุม การควบคุมตัว การค้น ที่ยังมีช่องว่างได้ อีกทั้งยังพบปัญหาสำคัญในเรื่องประสิทธิภาพ ในการตรวจสอบค้นหาความจริง อันเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีการแยกการสอบสวนและฟ้องคดีออกจากกันเด็ดขาด ระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ เนื่องจากพนักงานอัยการไม่ได้เข้าไปรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่เกิดเหตุ อันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกลั่นกรองคดี และวางแนวทางการดำเนินคดี และยังพบว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ และไต่สวนการตาย ก็ยังมีปัญหาและข้อขัดข้องบางประการ ทำให้กระบวนการดังกล่าวไม่สามารถ ช่วยให้เกิดการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการตายได้อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้กลไกทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบค้นหาความจริง สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ปัจจุบัน สสส.ได้นำเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ต่อ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แล้ว
ตัวอย่างประเด็นสำคัญในร่างพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ของ สสส.
– เสนอแก้ไขนิยามการสอบสวน โดยเพิ่มให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการสอบสวน
– เพิ่มเติมเรื่องสิทธิของผู้ถูกจับกุมและผู้ต้องหา แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7/1 ให้
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่นของรัฐซึ่งควบคุมตัวหรือรับมอบตัวผู้ถูกควบคุมตัวหรือ ผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้ต้องหานั้นทราบถึงสิทธิได้รับแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้ วางใจทราบถึงการควบคุมตัวและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัว และปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ สิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน สิทธิได้รับการเยี่ยม หรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร สิทธิในการรักษาพยาบาลโดยเร็ว เมื่อเกิดการเจ็บป่วย โดยให้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงในขณะแจ้งไว้ด้วย และให้จัดให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว หากไม่สามารถติดต่อญาติหรือบุคคลที่ผู้ถูก ควบคุมตัว หรือผู้ต้องหาไว้วางใจได้ ให้บันทึกวิธีการติดต่อ พร้อมทั้งเหตุขัดข้องในการติดต่อนั้นไว้
– กำหนดให้พนักงานอัยการกำกับดูแลการสอบสวนคดีต่าง ๆ ได้ทุกขั้นตอน และให้มีอำนาจ สอบสวนคดีสำคัญ
– กำหนดให้ผู้ต้องหา และผู้เสียหายมีสิทธิในการเข้าถึงพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน โดยเฉพาะพยานเอกสาร พยานวัตถุ และพยานหลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ได้ทันที
– เพิ่มเติมบทบาทของพนักงานอัยการในการขอให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา
– กำหนดให้การแจ้งสิทธิ การแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบสวน ต้องมีการบันทึกภาพ เคลื่อนไหวและเสียงอย่างต่อเนื่องไว้ด้วย
– กำหนดให้ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ห้ามพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนนำผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหาไปแถลงข่าวหรือกระทำการใดในลักษณะเป็นการประจาน
รายละเอียดของข้อเสนอ สามารถเข้าถึงได้ในเว็บไซด์ของสสส.
ปัญหาของการค้นหาความจริงในชั้นสอบสวน
นายรัษฎา ในฐานะทนายความ ยกตัวอย่างการค้นหาข้อเท็จจริงฝ่ายเดียวของพนักงาน สอบสวน ในคดีวิสามัญฆาตกรรม 2 คดี คือ คดีวิศวกรที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในรถฮอนดาแจ๊ส ที่จังหวัดสกลนคร และกรณีนายชัยภูมิ ป่าแส ชาติพันธุ์ลาหู่ เยาวชนนักกิจกรรมทางสังคม ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต โดยระบุว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง
กรณีวิศวกรที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในรถฮอนดาแจ๊ส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2554 ผู้ตายพร้อมแฟนสาว และพี่ชาย ขับรถไปร้านอาหารหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร ระหว่างทางถูกสกัดจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นาย ที่ได้รับรายงานจากสายลับที่แฝงตัวเป็นคนล่อซื้อยาเสพติดให้เบาะแสว่า ผู้ต้องสงสัยขับรถยนต์ฮอนด้าแจ๊สสีขาว ตรงกับรถที่ผู้ตายขับขี่ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้น ผู้ตายได้ขับรถหนี เจ้าหน้าที่จึงสกัดจับ เมื่อรถของผู้ตายหยุดไปต่อไม่ได้ ผู้ตายจึงขับถอยหลังพยายามพุ่งชนตำรวจ เจ้าหน้าที่จึงยิงสกัดถูกผู้ตาย ทางด้านหลัง กระสุนเข้าท้ายทอยทะลุคอเสียขีวิต ซึ่งพี่ชายและแฟนสาวต่างยืนยันว่า ผู้ตายไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและสงสัยว่าตำรวจยิงผิดตัว และมีข้อพิรุธในการสอบสวนที่ทางฝ่ายญาติผู้ตายสงสัย เช่น พบก้อนวัตถุสีดำเป็นยาบ้าวาง อยู่หว่างขาของผู้ตาย แต่เมื่อนำศพมาถึงโรงพยาบาล พยาบาลยืนยันไม่พบเทปกาวที่จะติดยาบ้า ในกางเกงบ๊อกเซอร์ของผู้ตาย หรือไม่มีคราบเมือก ที่บ่งบอกว่าหลุดมาจากทวารของผู้ตาย และหากผู้ตายหนีบยาบ้าไว้ ในโคนขาหนีบ เมื่อถูกยิงเส้น กล้ามเนื้อจะคลายออก ซึ่งจะทำให้วัตถุร่วงลงได้ แต่ทั้งหมดไม่มีเลยกลับไปพบในกางเกงบ๊อกเซอร์ ญาติจึงเชื่อว่า ทั้งหมดเป็นการสร้างหลักฐานเพื่อให้มีการจับกุมผู้ตายในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อพ่อผู้ตายไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึงความไม่ชอบมาพากลในชั้นสอบสวนของตำรวจ กลับถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าพนักงาน รวมทั้งมวลชนที่รายงานข่าวนี้ก็ถูกดำเนินคดีด้วย
เมื่อมีการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีข้อเท็จจริงมาสู่ศาลแตกต่างจากหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อ้างว่าเหตุที่ยิงผู้ตายเป็นการป้องกันตัว ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต ไม่เชื่อว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางการจับกุม คดีนี้ญาติจึงฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในข้อหาความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดหมิ่นประมาท ซึ่งได้ต่อสู้กันถึงศาลฎีกา และศาลมีคำพิพากษาจำคุก นายดาบตำรวจที่เป็นผู้ยิงผู้ตาย 7 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 5 คน พิพากษาคำยกฟ้อง
กรณี นายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาวลาหู่วัย 18 ปี นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง แก้ปัญหาเยาวชนไร้สัญชาติ กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม ถูกทหารจุดตรวจสกัด ยาเสพติด บ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วิสามัญฆาตกรรม โดยอ้างว่านายชัยภูมิ พยายามขัดขืนต่อสู้การจับกุม โดยจะปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่หลังถูกตรวจพบว่ามียาเสพติด ซุกซ่อนอยู่ในรถ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560
คดีนี้ก็คล้ายๆกับกรณีวิศวกร เป็นกรณีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพ โดยเจ้าพนักงาน 4 ฝ่าย คือ พนักงานสอบสวน แพทย์ประจำพื้นที่ พนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง แต่ในการทำสำนวนเพื่อเสนอต่อศาลให้มีการ ไต่สวนการตาย ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียวเป็นผู้ทำสำนวน พนักงานอัยการไม่มีส่วน เข้ามารับผิดชอบในการสอบสวนหาพยานหลักฐานต่างๆที่ต้องรวบรวมในชั้นการไต่สวนการตาย จึงมีปัญหาหลายอย่างที่เจ้าหน้าที่ ตำรวจในพื้นที่ ไม่นำพยานหลักฐานเข้ามารวมในสำนวน เช่น หลักฐานจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ปืนและระเบิดที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุมาได้อย่างไร ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งว่า “พฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้าน นอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย”
มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก คดีอยู่ระหว่าง การสืบพยานในศาล
อัยการน้ำแท้ เพิ่มเติมข้อมูลว่า จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 คดี มีปัญหาในการหาข้อเท็จจริง ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียว จึงมักมีปัญหาเรื่องพยานหลักฐานที่พบและนำมาใช้ ในสำนวนการสอบสวน เพื่อพิสูจน์การกระทำความผิด โดยเฉพาะถ้าเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ๆไม่ พลุกพล่าน ไม่มีพยานรู้เห็น ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ หรือทำได้ยาก หากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทุจริต ก็อาจมีการกระทำ เช่น ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า ยาบ้าที่พบ ในที่เกิดเหตุเป็นของผู้ตาย หรือตรวจจับพบยาบ้า 1 หมื่นเม็ด อาจทำคดีเป็นครอบครองร้อยเม็ด ของกลางที่เหลืออีกเก้าพันเม็ดหายไปไหน หรือพบอาวุธปืนตกอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยอ้างว่าเป็นอาวุธ ของผู้ตายที่ใช้ในการต่อสู้ขัดขวางการจับกุม เพราะสมัยนี้ปืนเถื่อนหาได้ง่ายๆทุกแห่งหน เพราะเราขาดการตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ต้น ทำให้คนผิดกลายเป็นหลุดพ้นคดี คนบริสุทธิ์ติดคุก เป็นเหตุให้เราต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้อัยการเข้ามาร่วมรับรู้ใน การรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุตั้งแต่เกิดเหตุ เพื่อให้มีหลายฝ่ายเข้ามาในคดี
การปฏิรูปการสอบสวนให้อัยการเข้ามาในคดีตั้งแต่เกิดเหตุ
อัยการน้ำแท้ กล่าวถึงกรณีต่างประเทศ ทั้งอเมริกา ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น กฎหมายกำหนดไว้ เลยว่าเมื่อมีเหตุคดีอาญาเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแจ้งให้อัยการทราบเพื่อให้มาถึงที่เกิดเหตุ จะได้เห็นข้อเท็จจริงร่วมกัน หรือถ้าผู้เสียหายไปแจ้งความแล้วตำรวจไม่ทำคดี ไม่มีความคืบหน้า ก็ไปแจ้งอัยการได้ อัยการจะเริ่มสอบสวนแทนตำรวจได้ตามกฎหมาย
ประเทศไทยในอดีตก่อนปี 2534 การสอบสวนตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น มีฝ่ายปกครอง ปลัดอำเภอ อัยการ ตำรวจ มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อก่อนตำรวจ อัยการและฝ่ายปกครองอยู่ ภายใตักระทรวงมหาดไทย การสอบสวนก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ควบคุม สั่งการให้ตำรวจและอัยการร่วมกันหาข้อเท็จจริง หากจะมีการทุจริตก็ทำได้ยากเพราะต้องติดสินบน หลายหน่วยงาน พอมาในปัจจุบันมีการแยกกัน เป็นอิสระ ตำรวจและอัยการเป็นอิสระ ทำให้การสอบสวนแยกกันเป็นส่วนๆ ไม่ประสานงานกัน ต่างคนต่างทำ ตามขั้นตอน ประชาชนจึงได้รับผลกระทบมาก แม้จะมีการเสนอว่า หากจะให้อัยการ เข้ามาในคดีตั้งแต่เกิดเหตุ และสอบสวนหาหลักฐานร่วมกับตำรวจ แต่มีเงื่อนไขว่าเฉพาะในคดี ที่มีโทษจำคุกสูงตั้งแต่ 5 ปี หรือ 10 ปีขึ้นไป ก็ยังไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้เต็มที่ เพราะต้องเป็นคดีใหญ่ๆเท่านั้นหรืออย่างไร อัยการจึงเข้ามาสอบสวนได้ หรือเขียนให้อัยการเข้ามา ในคดีเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม อัยการก็แย่สิครับ หากทุกคดีมีแต่การร้องเรียน ไม่ว่าคดีเล็กน้อยหรือคดีใหญ่ ทางที่ดี คือ เสนอให้แก้ไขกฎหมายให้อัยการเข้ามาในคดีตั้งแต่เกิดเหตุ ซึ่งอัยการสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่า หากเป็นคดีไม่ซับซ้อน หาพยานหลักฐานต่างๆได้โดยง่าย และเป็นคดีที่ไม่มีปัญหาอิทธิพล หรือการร้องเรียนใดๆ พนักงานสอบสวนก็สามารถแสวงหา ข้อเท็จจริงได้โดยลำพัง แต่ถัาเป็นคดีที่ซับซ้อน หรือมีอิทธิพล อัยการก็จะพิจารณาเข้ามาร่วม สอบสวนกับตำรวจ ก็จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง
ประเด็นต่อมา คือ กำหนดให้พนักงานอัยการ และพนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ มีอำนาจสอบสวน โดยสามารถเริ่มต้นสอบสวนดำเนินคดี และสามารถส่งสำนวนสอบสวน ให้พนักงาน อัยการได้โดยตรง ทั้งนี้โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่รักษาการ ตามพระราชบัญญัติต่างๆ เช่น ป่าไม้ ศุลกากร อุตสาหกรรม ควบคุมอาคาร มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ กล่าวโทษ และสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายที่ตนรักษาการ และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากตรวจพบในคราวเดียวกัน แนวทางนี้สนับสนุนการกระจายอำนาจและหน้าที่ ในการสอบสวน เป็นการช่วยลดภาระงานของพนักงานสอบสวนตำรวจ และส่งเสริมการพัฒนา ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้นมา เพราะเจ้าหน้าที่ที่รักษาการตามกฎหมายเฉพาะเหล่านั้น ย่อมมีความรู้ความชำนาญในกฎหมายต่างๆที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนยิ่งกว่าพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในทางคดีให้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยขจัดปัญหาการคอรัปชั่น ป้องกันการบิดเบือนและทำลายพยานหลักฐาน เพราะจะเกิดการตรวจสอบระหว่างหน่วยงานกันเอง อย่างไรก็ดีแนวทางนี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ซึ่งยังคงมีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ทั้งปวงอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนให้มากขึ้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนโดยเจ้าพนักงานสังกัดหน่วยงานใด การสอบสวนนั้นจะถูกกำกับดูแล โดยพนักงานอัยการ ขณะเดี่ยวกันหากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น สอบสวนตามอำนาจ หน้าที่แล้ว ไปพบความผิดอาญาอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ป่าไม้ตรวจจับการขนไม้ผิดกฎหมาย แต่พบยาเสพติดบนรถบรรทุกขนไม้ด้วย ก็สอบสวนคดีตามอำนาจกฎหมายป่าไม้และสอบสวน คดียาเสพติดไปด้วยพร้อมกัน อย่าไปคิดว่าเจ้าพนักงานป่าไม้ไม่รู้สาระสำคัญของกฎหมายอื่น เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับเรื่องไม้ได้ ก็ต้องรายงานและปรึกษาให้อัยการเข้ามาในคดีตั้งแต่ต้น กระบวนการจะรวดเร็วมากขึ้นด้วย เพราะอัยการไม่ต้องรอให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ส่งสำนวนมาถึงตน ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีการการแต่งนิยายอะไรมาในสำนวนนั้น เพราะตนรู้เห็นหลักฐาน และรู้ข้อเท็จจริงมาแต่ต้น
กล่าวโดยสรุป คือ ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในเรื่องกระบวนการ ค้นหาความจริง โดยให้พนักงานอัยการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญา เป็นผู้มีอำนาจสอบสวน พร้อมทั้งปรับปรุงให้มีการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและผู้เสียหายเพิ่มขึ้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)