แถลงการณ์

เรื่อง  ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับนายอานนท์ นำพาและนายภาณุพงศ์ จาดนอก และคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน

 

           สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยมีข้อเรียกร้องกับรัฐบาล 3 ข้อคือ 1.หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน 3.รัฐบาลต้องยุบสภา และภายหลังจากการชุมนุมดังกล่าว  ได้ทำให้เกิดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องหลายสถาบันการศึกษา ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องสามข้อดังกล่าว

           แต่ภายหลังการชุมนุมนักเรียน นิสิต นักศึกษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมกลับถูกข่มขู่คุกคามทั้งในที่เปิดเผยและในที่ลับ อันเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ครูอาจารย์ และผู้บริหารสถาบันการศึกษา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการควบคุมตัวนายอานนท์ นำพา ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ นายภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยตามหมายจับของสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ โดยระบุข้อกล่าวหาทั้งหมด 8 ข้อหา เช่น ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เป็นต้น เนื่องจากการเป็นแกนนำจัดการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ดังกล่าวนั้น

           สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เห็นว่าการการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการคุกคามประชาชน      ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นการแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 45 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลต้องมีหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองการใช้เสรีภาพดังกล่าว ทั้งรัฐบาลต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) 

            สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) จึงมีข้อเรียกร้อง ต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

  1. ขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ทันที เพราะเป็นการใช้เสรีภาพการการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560
  2. ขอให้รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีควบคุมเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง และผู้บริหารสถานศึกษาที่มีนักเรียนนักศึกษาจัดการชุมนุมไม่ให้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา หรือประชาชน หากมีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลใดกระทำการคุกคามเสรีภาพ นักเรียน นักศึกษ หรือประชาชนจะต้องมีการลงโทษ
  3. รัฐบาลต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ที่จะเคารพการแสดงออกของประชาชนโดยยึดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าแกนนำและประชาชนที่ร่วมชุมนุม จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามความเป็นส่วนตัว ไม่มีการจับกุมมาซ้อมทรมาน การบังคับให้บุคคลสาบสูญจะต้องไม่เกิดขึ้น  หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำทุกกรณี
  4. ขอให้นายกรัฐมนตรีมารับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ รวมถึงเร่งดำเนินการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ และการสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

8 สิงหาคม 2563