จากจอร์จฟลอยด์ถึงวันเฉลิม : จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร ?
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จัดรายการ สสส.เสวนาทัศนะ” ผ่าน Facebook Live โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อสร้างความตระหนัก และแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดสิทธิมนุษยชนกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนร่วมกันของสมาชิกและกลุ่มต่างๆในสังคมตลอดจนสาธารณชน เพื่อสนับสนุนสมาชิก สสส. และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนได้มีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และแนวคิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อเผยแพร่ผลสรุปการเสวนาในรูปแบบต่างๆ ทางสื่อออนไลน์ทุกช่องทาง
การจัดเวที “สสส.เสวนาทัศนะ”ครั้งนี้เป็นครั้งแรก จึงนำประเด็นกรณีการเหยียดผิวชายแอฟริกัน – อเมริกัน นายจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งเสียชีวิตขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม และการหายสาบสูญ ของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย ที่ถูกชายฉกรรจ์อุ้มขึ้นรถตู้ หายตัวไป เหตุเกิดที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง รากเหง้าของปัญหาการเหยียดผิวในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสรุปได้ว่ามีปัจจัยหลายประการ
ปัจจัยแรกเป็นปัจจัยทางประวัติศาสตร์ในการสร้างชาติของสหรัฐในอดีตที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ เข้ามาทำมาหากินในดินแดนแห่งนี้ เมื่อมีคนมากก็ต้องการกำลังแรงงานมาใช้งาน คนขาวจึงไปเอาคนจากแอฟริกามาเป็นทาสรับใช้ทำงานหนักในไร่นาและทำงานบ้าน คนผิวขาวจึงดูถูกเหยียดหยามคนผิวดำ เพราะเห็นว่าเป็นคนป่าเถื่อน ไร้การศึกษา คนขาวจะทำอะไรคนผิวดำก็ได้เพราะเป็นนาย จึงปล่อยให้ทำงานหนัก ไม่ดูแลยามเจ็บป่วย ไร้สิทธิไร้เสียง ใครเป็นทาสก็ต้องเป็นตลอดชีวิต
จนกระทั่งมีคนผิวขาวชั้นนำบางส่วน เช่น อับราฮัม ลินคอร์น ไม่พอใจระบบนี้ จึงประกาศเลิกทาส ฝ่ายที่ต้องการมีทาส คือชาวนาในมลรัฐฝ่ายใต้ที่ยังต้องการทาสทำงานในไร่นา สวน และการปศุสัตว์ ก็ไม่เห็นด้วยเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างคนในมลรัฐทางเหนือที่เห็นว่าทาสไม่จำเป็นเพราะรัฐทางเหนือจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม ไม่ต้องการทาส
ในยุคนั้นเกิดมีขบวนการคนสวมหน้ากาก เข้าทำร้าย เข่นฆ่า และเผาบ้านคนดำ คือ พวก Ku Klux Klan หรือ KKK แต่เมื่อเลิกทาสได้สำเร็จ ก็มีการปรับปรุง รัฐธรรมนูญ มีการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนทุกคนในอเมริกาให้มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ให้คนผิวดำมีงานทำ มีการศึกษา ได้รับสวัสดิการทางสังคมต่างๆ เช่นคนผิวขาว
แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เป็นจริง คนผิวดำยังถูกกดขี่ กีดกัน ถูกเลือกปฏิบัติต่างๆนานา จนเกิดผู้นำคนผิวดำ คือ ดร.มาร์ติน ลูเธ่อร์คิงส์ จูเนีย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงออกมาเรียกร้องสิทธิแก่คนผิวดำและผิวสีอื่นๆ จนถูกลอบสังหาร ปัจจัยสำคัญต่อมา คือ เรื่องเศรษฐกิจและการแบ่งแยกอำนาจทางการเมือง เนื่องจาก ความหลากหลายแตกต่างกันของผู้คนในอเมริกาอันสืบเนื่องมาจากปัจจัยแรกของการก่อสร้างรัฐชาติ ทำให้แต่ละรัฐสามารถออกกฎหมายมาบังคับใช้ในรัฐตนเองตามความต้องการของคนในรัฐได้
ดังนั้น แต่ละรัฐจะมีการเลือกตำรวจของรัฐตัวเอง ตำรวจแต่ละรัฐจึงมีอำนาจมาก เพราะเป็นที่ยอมรับ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ประชาชนอุ่นใจที่ตำรวจสามารถขจัดปัญหาโจร ขโมย จี้ ปล้น ได้ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นท่อแตก งูเข้าบ้าน ชาวบ้านก็เรียกตำรวจมาจัดการ ซึ่งตำรวจทำงานได้อย่างรวดเร็วมาก โทรศัพท์ไปบอก ไม่ถึง 5 นาที ก็มาถึงบ้านแล้วชาวบ้านจึงชอบใจ และอุ่นใจ
ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่คนผิวดำว่างงานมาก และมักก่อปัญหาอาชญากรรม จนคนผิวขาวเกิดความวิตกกังวล และกลายเป็นการสร้างภาพว่าความน่ากลัวต่าง ๆ เกิดขึ้นจากคนดำ การเหยียดผิวจึงกลับมาอีกรอบในยุคโอบามา ที่ผู้คนเกิดความตื่นตัวมากขึ้นว่าคนผิวดำ ได้เป็น ประธานาธิบดี เหมือน 14 ตุลา ในบ้านเรา แต่โอบามาอยู่ได้แค่ 8 ปี ฝ่ายขวาก็ผนึกกำลังกันต่อต้านการให้สิทธิเสรีภาพที่มากขึ้นแก่คนผิวดำในยุคโอบามา รวมทั้งบุคลากรในกระบวนการ ยุติธรรม ทั้งศาล อัยการ และตำรวจ
ประชาชนเริ่มใช้ชีวิตกีดกันคนผิวดำอย่างเงียบๆ และคิดว่าการกีดกันคนผิวดำและผิวสีอื่น ๆ จะยังคงอยู่ต่อไป จึงทำให้เมื่อเกิดกรณีนายจอร์จ ฟลอยด์ ผ่านสื่อมวลชนที่เห็นการลุแก่อำนาจของตำรวจ จึงมีผู้คนทุกผิวสีออกมาประท้วงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้ท้ายตำรวจ และประชาชนรู้สึกว่าอำนาจรัฐอเมริกาตอนนี้ทั้งกฎหมาย เศรษฐกิจ กำลังรวมตัวกันกดขี่คนจำนวนหนึ่งที่ขาดโอกาส กดขี่คนที่มาจากที่อื่น กดขี่คนที่เพิ่งตั้งตัวใหม่และคนที่มาอยู่ก่อนเช่นคนผิวดำ
ทางออกของประเด็นการเหยียดผิว ศ.ธเนศ เสนอว่า ระบบการรักษาความปลอดภัยในระดับท้องถิ่น ควรจัดการด้วยคนท้องถิ่นเอง เพราะสังคมอเมริกันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า การมอบอำนาจให้รัฐ คนของรัฐเป็นตัวแทนในการรักษาความสงบเรียบร้อยนั้นประสบความล้มเหลวมายาวนานเป็น ร้อยปี การที่โครงสร้างถูกกำหนดมาให้ผู้บัญชาการสูงสุดฝ่ายตำรวจมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ตำรวจสูงสุดในรัฐมาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าการรัฐ ซึ่งเข้าไม่ถึงประชาชน ประชาชนต้องดูแลกันเองได้แล้ว ระบบดูแลกันเองแบบการสาธารณสุขในบ้านเราที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น สังคมอเมริกาต้องพัฒนาไปถึงจุดนี้ ให้ได้จากบทเรียนกรณีของนายจอร์จ ฟลอยด์
นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษา สสส.กล่าวถึงกรณีการหายสาบสูญโดยการถูกอุ้มหาย
นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนในประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสนใจมาก เพราะสิทธิในชีวิตเป็นสิทธิสำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชน “ทุกคนที่เกิดมาต้องมีชีวิตรอด”
เมื่อมีชีวิตรอดสิทธิอื่นๆจึงตามมาในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ว่าชีวิตรอดนั้นจะมีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม เป็นอย่างไร จะยากดีมีจน จะพิการหรือไม่ จะมีผิวสีอะไร มีความเชื่อหรือถือศาสนาใด พูดภาษาอะไร แต่งกายอย่างไรก็ไม่สำคัญ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ที่ คนอื่นไม่มีความชอบธรรมในการทำร้ายหรือทำลายชีวิต
ดังนั้น การทำร้าย ทรมานหรือ ทำให้หายสาบสูญ หรือในภาษาที่เราเรียกง่ายๆว่า “อุ้มหาย” จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างร้ายแรง ยิ่งถ้ารัฐเป็นผู้กระทำแล้ว ต้องถือว่าการ “อุ้มหาย”เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ
การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิในชีวิตของบุคคลทั่วโลก สมัชชาสหประชาชาติ จึงได้รับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2553 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555
แม้ว่ารัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันจึงยังไม่มีผลผูกพันโดยตรง แต่รัฐบาลไทยมีพันธะต้องปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว
หลักการสำคัญของอนุสัญญาการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีหลายประการ ขอสรุปย่อๆ ดังนี้
1.อนุสัญญาฉบับนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย และต่อต้านไม่ให้ อาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหายอยู่เหนือกฎหมาย โดยไม่นำตัวคนทำผิดมาลงโทษ จนกลายเป็น “คนทำผิดลอยนวลพ้นผิด”
2.ห้ามไม่ให้มีการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิทธิเด็ดขาด โดยไม่มีข้ออ้างความชอบธรรมใด เพื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่ว่าในภาวะสงครามที่อยู่ในสถานการณ์สู้รบ ภาวะที่มีภัยคุกคามของสงคราม ภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง การชุมนุมประท้วง หรือสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การประกาศกฎอัยการศึก
3. นิยามของการบังคับสูญหาย หมายถึง การจับกุม กักขัง ลักพาตัว หรือการกระทำในรูปแบบใด ก็ตามที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพ ทั้งนี้ โดยการการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งดำเนินการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ และมีการปฏิเสธว่ามิได้มีกระทำการนั้น หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น จนส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมาย
4. การบังคับบุคคลให้สูญหายต้องเป็นฐานความผิดตามกฎหมายอาญา ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาต้องกำหนดกฎหมายอาญาภายประเทศให้ถือว่าการบังคับให้สูญหายเป็นการกระทำความผิดอาญา
5.การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดต่อเนื่อง การบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดเวลา โดยให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่การกระทำความผิดฐานการบังคับบุคคลให้สูญหายสิ้นสุดลง โดยการเปิดเผยชะตากรรมหรือการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว ด้วยเหตุนี้สำหรับประเทศไทย หากมีกฎหมายกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญา การอุ้มหายทั้งหลายที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ และยังไม่ได้เปิดเผยชะตากรรมหรือปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ย่อมเป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาในเวลาที่กฎหมายใหม่เริ่มมีผลใช้บังคับ
6. การบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หากเป็นการกระทำอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ
7.ผู้บังคับบัญชาจะมีความผิดทางอาญา ในกรณีที่มีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจ ควบคุมดูแล การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวบุคคล และรู้หรือเจตนาละเลยข้อมูลว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ภายใต้อำนาจและการควบคุมของตนได้กระทำหรือจะกระทำความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย และไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมตามอำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการ หรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย
สำหรับมาตรการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหายนั้น เมื่อประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี ยอมรับอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลสูญหายฯ จึงควรผลักดันให้มีกฎหมายภายในต่อต้านการทรมาน และการอุ้มหาย ซึ่งขณะนี้ รฐบาลได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่เห็นชอบกับร่างดังกล่าว รัฐบาลจึงต้องยืนยันเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ในขณะเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ฉบับประชาชน โดยการทบทวนและปรับปรุงร่างกฎหมายเดิมที่เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
โดยได้มีการระดมความคิดจากผู้ได้รับความเสียหาย นักกฎหมาย และคนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมือง และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตรวจสอบร่างกฎหมายทั้งของรัฐบาล และของภาคประชาสังคมว่า สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการบังคับบุคคลให้สูญหายที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
เชิญติดตามครั้งต่อไป วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ตั้งแต่เวลา13.30-15.30 ซึ่งจะเสวนา ว่าด้วยเรื่อง “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” โปรดติดตามผ่าน https://www.facebook.com/uclthailand
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union for Civil Liberty (UCL.)