ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) หรือเรียกโดยย่อว่า ธรรมนูญกรุงโรม เป็นสนธิสัญญาซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการจัดตั้งและจัดเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐต่าง ๆ ณ การประชุมทางการทูตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 โดยนับแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 มีรัฐเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญนี้แล้ว 108 ราย และอีกสี่สิบกว่าราย รวมทั้งประเทศไทย ที่ลงนามในธรรมนูญแล้ว (ไทยลงนามเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543) แต่ยังมิได้ยื่นสัตยาบันสาร สารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร ที่กำหนดให้รัฐเหล่านี้ต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของธรรมนูญกรุงโรม  ต่อมาในปี 2545 รัฐสองรายในรัฐทั้งสี่สิบดังกล่าวคือ สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ได้ถอนการลงนาม ประกาศว่าไม่ต้องการเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรมอีกต่อไป และเป็นรัฐที่โจมตีธรรมนูญกรุงโรมและศาลอาญาระหว่างประเทศมาโดยตลอด

พันธมิตรเพื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (Coalition for the International Criminal Court – CICC) เป็นองค์กรเครือข่ายระหว่างประเทศขององค์กรเอกชนที่มาร่วมมือกันทำงานเพื่อสนับสนุนให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินงานได้อย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเป็นอิสระ  CICC ก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 มีสมาชิกกว่า 2,500 องค์กรทั่วโลก รวมทั้งสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

วันที่ 28 เมษายน 2563 องค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมทั่วโลก 108 องค์กร รวมทั้ง สสส. ด้วยการชักชวนของ CICC ได้ส่งจดหมายร่วมถึงรัฐภาคีและรัฐที่ร่วมลงนามในธรรมนูญกรุงโรมทุกรัฐ เรียกร้องให้ออกมาแสดงท่าทีอย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมในการปกป้องและสนับสนุนระบบธรรมนูญกรุงโรมและศาลอาญาระหว่างประเทศจากการโจมตีที่มีถี่ขึ้นในช่วงหลังนี้ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล

สสส.จึงขอนำจดหมายดังกล่าวอันเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในการสนับสนุนกลไกระหว่างประเทศที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน มาเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกันดังนี้

 

เรียน ฯพณฯ ………

เรา องค์กรที่มีรายนามข้างท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐของท่านและรัฐภาคีทั้งหมดของธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ให้การสนับสนุนต่อระบบธรรมนูญกรุงโรมและศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ศาลนี้กำลังเผชิญกับการคุกคามความเป็นอิสระและอำนาจที่ได้รับการมอบหมาย ถึงแม้ว่าการคุกคามต่อความยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งในบริบทการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การปกป้องคุ้มครองศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นพิเศษในวันนี้เมื่อศาลต้องเผชิญกับการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์มากขึ้น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นการทำหน้าที่เสริมบทบาทหลักของศาลในประเทศต่างๆ เราทราบมาว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับการทำหน้าที่ของตน แต่การให้หลักประกันเรื่องความเป็นธรรม มีประสิทธิผล และเป็นอิสระของศาล ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากรัฐภาคี  เรายินดีกับคำยืนยันจากรัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศที่ “ยึดมั่นและปกป้องหลักการและคุณค่าที่เทิดทูนไว้ในธรรมนูญกรุงโรม และรักษาบูรณภาพของธรรมนูญกรุงโรมไว้โดยไม่หวั่นไหวต่อการคุกคามใดๆที่มีต่อศาล”   เราขอเรียกร้องให้รัฐภาคียึดมั่นต่อระบบธรรมนูญกรุงโรมด้วยการแสดงท่าทีที่เข้มแข็งเป็นรูปธรรมสนับสนุนและพิทักษ์ปกป้องศาลนี้ด้วยการประณามอย่างแจ่มแจ้งต่อการคุกคามที่เกิดขึ้น  การท้าทายที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเผชิญอยู่ต้องการการตอบสนองที่ไม่น้อยไปกว่านี้แม้แต่นิดเดียว

หลายท่านทราบดีว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 หนึ่งเดือนหลังจากที่อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศประกาศว่าสถานการณ์ในปาเลสไตน์สมควรมีการสอบสวน นายเบนยามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เรียกร้องให้มีการใช้ “มาตรการประท้วงลงโทษศาลอาญาระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ อัยการ และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับศาลนี้”   เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 นายไมเคิล อาร์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาขู่ว่าจะใช้มาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสของศาลอาญาระหว่างประเทศที่มีการระบุชื่อชัดเจนสองคน เจ้าหน้าที่อื่นๆของศาลนี้ และครอบครัวของพวกเขา  นายปอมเปโอกล่าวเช่นนี้หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศสั่งให้มีการสอบสวนสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน กรณีทั้งสองนี้เป็นกรณีล่าสุดของการโจมตีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเพื่อบ่อนทำลายตัวศาลเองและข่มขู่เจ้าหน้าที่ศาล ทิ้งความยุติธรรมระหว่างประเทศไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมือง การคุกคามดังกล่าว ประกอบกับนโยบายการไม่ออกวีซ่าเข้าประเทศของสหรัฐอเมริกา มุ่งบั่นทอนความสามารถของศาลที่จะหยิบยื่นความยุติธรรมให้ผู้ตกเป็นเหยื่อ หากรัฐไม่สนใจหรือไม่สามารถสอบสวนอย่างแท้จริงและส่งเรื่องฟ้องร้องดำเนิน คดีกับอาชญากรรมที่ธรรมนูญกรุงโรมครอบคลุมไปถึง  ศาลอาญาระหว่างประเทศต้องเป็นอิสระที่จะดำเนินงานตามพันธกิจของตนได้ โดยไม่ต้องเกรงกลัวหรือเลือกข้างสนับสนุนฝ่ายใด บนพื้นฐานข้อกำหนดทางกฎหมายที่อธิบายไว้อย่างละเอียดในธรรมนูญกรุงโรม ไม่ใช่บนพื้นฐานของข้อพิจารณาทางการเมืองใดๆ

ในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ประเทศของท่านได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างชัดเจนว่าจะยุติความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากผู้ก่ออาชญากรรมไม่ได้รับโทษ ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ว่าผู้ก่ออาชญากรรมนั้นจะมีสัญชาติใด  การปกป้องความเป็นอิสระของศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คำมั่นสัญญานี้บรรลุได้จริง เราขอเรียกร้องให้ท่านแสดงเจตจำนงร่วมกับรัฐภาคีอื่นๆในการเชิดชูอาณัติสัญญาและความเป็นอิสระของศาลแห่งนี้ไว้สูงสุด และยึดมั่นเจตจำนงที่บริสุทธ์ของธรรมนูญกรุงโรมให้คงอยู่ด้วยการ:

  1. แสดงท่าทีมุ่งมั่นอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องของรัฐบาลท่านในการยืนหยัดเคียงข้างศาลอาญาระหว่างประเทศ ในบทบาทการฟ้องร้องดำเนินคดี และความเป็นอิสระของศาลนี้ ในเวทีทวิภาคี พหุภาคี และเวทีสาธารณะทั้งหลาย ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ต่อไป
  2. เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายไม่ออกวีซ่าให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ และไม่โจมตีศาลแห่งนี้ รวม ทั้งเจ้าหน้าที่ และครอบครัวของพวกเขา ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม
  3. เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลเลิกล้มการเรียกร้องที่ให้มีบทลงโทษศาลอาญาระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ศาล
  4. แสดงอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะปณิธานของรัฐบาลท่านที่จะร่วมมืออย่างเต็มที่กับศาลอาญาระหว่างประเทศในการทำงานทุกด้าน
  5. เรียกร้องผู้ที่มีปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมมือในการสอบสวนสถานการณ์ในอัฟกานิสถานและการสอบสวนใดที่เป็นไปได้ต่อสถานการณ์ในปาเลสไตน์
  6. ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงว่าด้วยสิทธิพิเศษและการคุ้มครองของศาลอาญาระหว่างประเทศ (Agreement on the Privileges and Immunities of the International Criminal Court -APIC) หากยังไม่ได้ให้ไว้แล้วก่อนหน้านี้
  7. ทำให้ธรรมนูญกรุงโรมมีกฎหมายภายในประเทศรองรับ หากยังไม่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้
  8. ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับศาลอาญาระหว่างประเทศทั้งหมด (เช่น ข้อตกลงเรื่องการปกป้องคุ้มครองพยานและเหยื่ออาชญากรรม การปล่อยตัว รวมทั้งการปล่อยตัวชั่วคราว และการบังคับใช้กฎหมายตามคำพิพากษา)

ขอขอบคุณความมุ่งมั่นและการสนับสนุนของท่านต่อระบบธรรมนูญกรุงโรมและศาลอาญาระหว่างประเทศ

 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 


Download